เจ้าพ่อป๊อปอาร์ต ป๋าดันวงอินดี้ และนักจัดปาร์ตี้ผู้ไม่พี้ยา 16 บทบาทของแอนดี้ วอร์ฮอล

Highlights

  • Andy Warhol คือศิลปินชาวอเมริกันผู้เป็นที่รู้จักในฐานะเจ้าพ่อป๊อปอาร์ต เจ้าของภาพพิมพ์ซิลค์สกรีนซุปกระป๋องแคมป์เบลล์และมาริลิน มอนโรอันโด่งดัง
  • แต่นอกจากผลงานป๊อปอาร์ตเหล่านั้น ศิลปินผู้นี้ยังสวมหมวกอีกหลายบทบาท ไม่ว่าจะเป็นเจ้าพ่อแฟชั่นในลุคผมแพลตตินัมบลอนด์ ผู้กำกับหนังแนวทดลองที่ถ่ายเพื่อนๆ กิน นอน ไปจนถึงมีเซ็กซ์ หรือนักจัดปาร์ตี้เคร่งศาสนาผู้ไม่เคยพี้ยาและอาศัยอยู่กับแม่ตลอดชีวิต

“ในอนาคต ทุกคนจะมีโอกาสมีชื่อเสียงในระดับโลกกันคนละ 15 นาที”

ประโยคข้างต้น เป็นคำทำนายเชิงเสียดสีที่ศิลปินคนหนึ่งกล่าวเอาไว้ในปี 1968 ศิลปินผู้นี้เป็นศิลปินที่สร้างสรรค์ผลงานศิลปะในแนวทางที่บ่งบอกถึงสัจธรรมของสังคมได้เป็นอย่างดี หรือที่เรียกกันว่า ‘ป๊อปอาร์ต’ และถึงแม้เขาจะไม่ใช่ผู้ให้กำเนิดศิลปะแนวทางนี้ แต่ศิลปินผู้นี้ก็เป็นผู้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้ศิลปะแนวทางนี้เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในโลกจวบจนถึงปัจจุบัน จนถูกขนานนามว่าเป็น ‘เจ้าพ่อป๊อปอาร์ต’

ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า Andy Warhol

andy warhol

ภาพจาก pictify.saatchigallery.com

แอนดี้ วอร์ฮอล ไม่เพียงเป็นศิลปินภาพพิมพ์อย่างที่หลายคนรู้จัก แต่ยังเป็นจิตรกร ดีไซเนอร์ นักวาดภาพประกอบ ผู้กำกับภาพยนตร์ โปรดิวเซอร์ และอื่นๆ อีกมากมาย ผลงานของเขาท้าทายขนบและนิยามเดิมๆ ทางศิลปะ และโอบรับวัฒนธรรมสมัยนิยมและกระบวนการเชิงพาณิชย์ด้วยการสร้างผลงานศิลปะที่เข้าถึงคนทุกชนชั้น กล้าท้าทายสื่อและเทคนิคการทำงานใหม่ๆ และเป็นผู้บุกเบิกการทำงานสร้างสรรค์ในแทบจะทุกรูปแบบ

ผลงานของเขาถูกพบเห็นได้แทบจะทุกหนแห่ง ถูกต่อยอด เลียนแบบ ทำซ้ำมากมายนับไม่ถ้วน ทั้งในงานโฆษณา ภาพยนตร์ โทรทัศน์ หนังสือ นิตยสาร สินค้า ไปจนถึงเสื้อผ้า ของแต่งบ้านและไลฟ์สไตล์จนแทบจะเรียกว่าใครได้เห็นงานของเขาเป็นต้องร้องอ๋อ! เพราะแม้จะไม่รู้จักชื่อศิลปิน แต่ย่อมต้องเคยผ่านตาผลงานของเขาแน่ๆ

และต่อจากนี้คือบทบาทต่างๆ ที่วอร์ฮอลได้รับตลอดช่วงชีวิตของเขา

 

1. ลูกชายของผู้อพยพ

แอนดี้ วอร์ฮอล มักจะโกหกคนอื่นเกี่ยวกับอายุจริงของเขาเพื่อให้ตัวเองหนุ่มอยู่เสมอ บางครั้งเขาอ้างว่าเกิดในปี 1930 บางครั้งก็บอกว่าตัวเองเกิดในปี 1933 แต่อย่างน้อยที่สุด เขาก็ไม่โกหกเรื่องสถานที่เกิดของตัวเอง

ศิลปินซูเปอร์สตาร์ผู้นี้ลืมตาดูโลกที่เมืองพิตส์เบิร์ก รัฐเพนซิลวาเนีย ในวันที่ 6 สิงหาคม 1928 แอนดี้ หรือชื่อเดิมคือ Andrew Warhola Junior เป็นลูกคนที่สามของครอบครัว Ondrej Warhola พ่อของเขาเป็นคนงานเหมืองและช่างก่อสร้างผู้อพยพมาจากประเทศสโลวาเกีย (ส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีในเวลานั้น) มาอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาในปี 1912 ส่วน Julia แม่ของเขาตามมาในอีก 9 ปีให้หลัง ต่อมาพ่อของเขาเสียชีวิตลงในปี 1942 ทำให้ครอบครัววาร์โฮล่าต้องมีชีวิตอย่างอัตคัดขัดสน พี่ๆ ของเขาต้องออกไปทำงานขายผักผลไม้ในตลาดตั้งแต่ยังเด็ก บางครั้งแอนดรูว์น้อยก็ต้องติดสอยห้อยตามไปด้วย

 

2. นักเรียนศิลปะ

ช่วงวัยเด็ก แอนดรูว์ทุกข์ทรมานจากอาการป่วยจากโรคทางระบบประสาท ที่จะส่งผลให้สุขภาพของเขาอ่อนแอและมีผิวสีซีดไปตลอดชีวิต เขาใช้ชีวิตส่วนใหญ่บนเตียงที่บ้านและโรงพยาบาล ในช่วงนั้น แม่ของเขามักจะให้การ์ตูนและสมุดระบายสีให้เขาวาดเล่นแก้เหงา “เวลาผมระบายสีเสร็จหน้าหนึ่ง แม่ของผมมักจะให้ช็อกโกแลตเฮอร์ชีส์ผมหนึ่งแท่ง” สิ่งนี้ส่งผลให้เขามีความชื่นชอบในการวาดรูป (พอๆ กับความชอบในขนมหวาน) ในภายหลัง เมื่อมีใครถามเขาว่าผลงานศิลปะชิ้นแรกที่เขาทำคืออะไร เขามักบอกว่าเป็นภาพที่เขาวาดเล่นในช่วงเวลานี้นี่เอง

พรสวรรค์ด้านการวาดภาพของเขาฉายแววจนไปเตะตาครูโรงเรียนประถม ทำให้เขาได้รับคัดเลือกให้เข้าคอร์สศิลปะของพิพิธภัณฑ์ศิลปะ Carnegie สำหรับเด็กผู้มีพรสวรรค์ทางศิลปะ ในช่วงไฮสคูล แอนดรูว์ค้นพบความลุ่มหลงอีกอย่างนั่นคือภาพยนตร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพยนตร์ฮอลลีวูด เขาหลงใหลในดาราซูเปอร์สตาร์อย่าง Liz Taylor, Marilyn Monroe และเซเลบชื่อดังอีกหลายคน ซึ่งเขาได้ถ่ายทอดความหลงใหลเหล่านี้ลงในผลงานของเขาในเวลาต่อมา

ในปี 1945 แอนดรูว์เข้าเรียนการออกแบบพาณิชย์ศิลป์และประวัติศาสตร์ศิลปะที่สถาบัน Carnegie Institute of Technology ในพิตส์เบิร์ก ว่ากันว่าตอนที่อาจารย์ตั้งโจทย์ให้วาดภาพสิ่งที่โปรดปรานที่สุดด้วยประสบการณ์จากความยากไร้ในวัยเยาว์ วอร์ฮอลจึงวาดรูปธนบัตรดอลลาร์ส่งอาจารย์ไป จนในปี 1962 เขาก็สร้างผลงานในชุดธนบัตรดอลลาร์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่เขาโปรดปรานที่สุดขึ้นมาเป็นครั้งแรก

 

3. นักวาดภาพประกอบ

ในช่วงที่เรียนอยู่ เขากับเพื่อนสนิท Philip Pearlstein (ผู้กลายเป็นศิลปินผู้มีชื่อเสียงในเวลาต่อมา) ออกเดินทางไปเที่ยวนิวยอร์กและนั่งรถประจำทางตระเวนเอาแฟ้มผลงานไปโชว์ให้บริษัทหลายแห่งทั่วนิวยอร์ก งานของแอนดรูว์บังเอิญไปเตะตาอาร์ตไดเรกเตอร์ของนิตยสารชื่อดังอย่าง Glamour จนทำให้เขาได้งานฟรีแลนซ์ตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ งานแรกของเขาคือการวาดภาพรองเท้าลงนิตยสาร

 

4. นักออกแบบรองเท้า

หลังจากเรียนจบในปี 1949 เขาย้ายไปนิวยอร์ก และทำงานเป็นนักวาดภาพประกอบในนิตยสารชื่อดังอีกหลายเล่มอย่าง Vogue, Harper’s Bazaar และ The New Yorker เขายังเป็นนักออกแบบรองเท้าให้แบรนด์ชื่อดังอย่าง I. Miller ในเวลาเดียวกันเขาก็ยังทำงานศิลปะ และเคยมีงานแสดงในพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่แห่งนิวยอร์ก (MoMA) ในปี 1956 ในช่วงนี้เองที่เขาเปลี่ยนนามสกุลจาก ‘วาร์โฮลา’ เป็น ‘วอร์ฮอล’ เพื่อให้คนจดจำได้ง่ายๆ

 

5. จิตรกร

ในช่วงยุค 60s วอร์ฮอลตัดสินใจหันเหเส้นทางจากการเป็นนักวาดภาพประกอบและคนทำงานออกแบบโฆษณา มาสู่การเป็นศิลปินอิสระเต็มตัว ด้วยแรงบันดาลใจจากการได้ชมนิทรรศการของศิลปินอังกฤษกลุ่มหนึ่งที่มาจัดแสดงในนิวยอร์ก ที่หยิบยกเอาเรื่องราวใกล้ตัวเช่นรูปการ์ตูน ใบปลิวโฆษณา โปสเตอร์ดารา ภาพถ่ายเก่าๆ มาทำเป็นงานศิลปะ (เขามารู้ทีหลังว่ามันเรียกว่าป๊อปอาร์ต) รวมถึงแรงบันดาลใจจากงานของศิลปินหัวก้าวหน้าในดวงใจของเขาอย่าง Marcel Duchamp

เขาเริ่มต้นหาแนวทางศิลปะของตัวเองด้วยการหยิบเอาภาพการ์ตูนอย่างซูเปอร์แมน, แบทแมน, ดิ๊คเทรซี, ป๊อปอาย และภาพการ์ตูนช่องสั้นๆ ในหนังสือพิมพ์ มาเป็นแบบวาดภาพแต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่นัก

หลังจากนั้นเขาก็หันมาหยิบเอาผลิตภัณฑ์สินค้าที่คนคุ้นตาและพบได้รอบตัวอย่างขวดโคคาโคล่า และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกระป๋องซุปแคมป์เบลล์มาวาดลงบนผืนผ้าใบ เพราะนอกจากซุปกระป๋องแคมป์เบลล์จะเป็นอาหารโปรดที่เขากินเป็นอาหารกลางวันทุกวันเป็นเวลาเกือบ 20 ปี  ภาพกระป๋องซุปที่ถูกวางเรียงรายกันอย่างสวยงามบนชั้นวางในซูเปอร์มาร์เก็ตยังติดตาตรึงใจ ผลงานชุดนี้บังเอิญไปเตะตานักค้างานศิลปะและเจ้าของแกลเลอรีอย่าง Irving Blum จนต้องเอามาแสดงในหอศิลป์ของเขาในลอสแอนเจลิสในปี 1962 น่าเสียดายที่ในเวลานั้น ผลงานชุดนี้ไม่ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ชมงานและบรรดานักวิจารณ์ศิลปะเท่าไหร่นัก คงเป็นเพราะคนเหล่านั้นอยากดูภาพวาดอะไรที่เป็นเรื่องเป็นราวมากกว่าที่จะมาดูรูปกระป๋องซุปธรรมดาๆ ที่เห็นอยู่ดาษดื่น

ในจำนวนคนดูเหล่านั้น มีเพียงไม่กี่คนที่สนใจซื้อภาพเขียนของวอร์ฮอลไปในราคาเพียงภาพละ 100 ดอลลาร์สหรัฐ จนกระทั่งวันสุดท้ายของการแสดงงาน เออร์วิง บลัม เจ้าของแกเลอรีก็ตัดสินใจซื้อภาพเขียนที่เหลือของวอร์ฮอลไว้เองทั้งหมดในราคาเหมาจ่ายเพียง 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ และเป็นการจ่ายแบบผ่อนส่งเดือนละ 100 ดอลลาร์สหรัฐ โดยไม่รู้ล่วงหน้าเลยว่าอีกหลายปีต่อมาหลังจากที่แอนดี้ วอร์ฮอล เสียชีวิตไปแล้ว ภาพเขียนชุดกระป๋องซุปที่ไม่มีใครต้องการเหล่านี้จะกลายเป็นหนึ่งในภาพเขียนที่ถูกหมายปองมากที่สุดจากนักค้างานศิลปะ หอศิลป์ และพิพิธภัณฑ์ชั้นนำทั่วโลกและมีราคาประมูลสูงกว่า 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ!

andy warhol

Campbell’s Soup Cans (1962) สีอะคริลิกบนผ้าใบ

andy warhol

Campbell’s Soup Cans (1962) สีอะคริลิกบนผ้าใบ

6. ศิลปินภาพพิมพ์

หลังจากไม่ค่อยประสบความสำเร็จนักกับภาพวาดชุดสินค้าโภคภัณฑ์ วอร์ฮอลก็หวนกลับไปหาเทคนิคที่เขาเคยเรียนรู้ในช่วงที่ทำงานออกแบบและงานโฆษณาอย่างเทคนิคการพิมพ์ซิลก์สกรีนที่สามารถผลิตผลงานได้คราวละมากๆ รวมถึงเทคนิค Blotted Line (การใช้กระดาษลอกลายคัดลอกลายเส้นจากภาพในนิตยสาร ใช้หมึกที่วาดตามลายเส้นในด้านตรงกันข้ามของกระดาษลอกลาย และถ่ายทอดภาพลายเส้นนั้นลงบนกระดาษอีกที) ซึ่งเป็นเทคนิคที่เขาพัฒนาขึ้นจากภาพพิมพ์ขั้นพื้นฐานของเด็กๆ ด้วยเทคนิคนี้ วอร์ฮอลสามารถสร้างภาพแบบง่ายๆ ซ้ำๆ กันขึ้นมาเป็นจำนวนมาก ทั้งยังช่วยลดทอนรูปทรงและรายละเอียดของภาพที่เขานำเสนอให้เหลือแต่ความเรียบง่ายและลักษณะที่คนจดจำได้ง่าย อีกทั้งยังสามารถสร้างภาพซ้ำเหล่านั้นออกมาในสไตล์และสีสันต่างๆ อย่างไม่รู้จบ

ด้วยเทคนิคภาพพิมพ์ซิลก์สกรีน เขาสร้างผลงานชุดภาพพอร์เทรตของเหล่าเซเลบ ซูเปอร์สตาร์ ด้วยการหยิบเอาภาพถ่ายของเหล่าบรรดาเซเลบซูเปอร์สตาร์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในยุคนั้นอย่าง มาริลิน มอนโร, Elvis Presley, Elizabeth Taylor, Mick Jagger, James Dean, Jacqueline Kennedy ซึ่งเป็นบุคคลที่เขาหลงใหลบูชา มาถ่ายทอดด้วยสีสันฉูดฉาดบาดตาแบบเดียวกับงานโฆษณา จนกลายเป็นที่นิยมในหมู่สาธารณชนอย่างมหาศาล เมื่อนั้น ชื่อเสียงของแอนดี้ วอร์ฮอล จึงเริ่มเจิดจรัสในวงการศิลปะในที่สุด ปัจจุบันภาพวาดเซเลบของวอร์ฮอลเหล่านี้ก็ได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งวัฒนธรรมป๊อปที่ถูกจดจำมากที่สุดในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพเซ็กซ์ซิมโบลอย่างมาริลิน มอนโร

andy warhol

Untiteld (1967) © The Andy Warhol Foundation for the Visual Arts, Inc./ARS, NY and DACS, London 2014 ภาพพิมพ์ซิลก์สกรีน

andy warhol

Untitled from Marilyn Monroe 1967 © 2016 Andy Warhol Foundation for the Visual Arts / Artists Rights Society (ARS), New York ภาพพิมพ์ซิลก์สกรีน

ในปี 1963 วอร์ฮอลและ Gerard Malanga ผู้ช่วยคนสำคัญของเขา ย้ายสตูดิโอไปตั้งที่โรงงานเก่าแห่งหนึ่งในย่านมิดทาวน์ แมนฮัตตัน บนถนนสาย 47 ของนิวยอร์ก โดยตั้งชื่อว่า ‘The Factory’ และเกณฑ์กลุ่มคนหนุ่มสาวผู้เปี่ยมสีสันมาร่วมกันผลิตผลงานไม่ว่าจะเป็นผลงานจิตรกรรม, ภาพพิมพ์ซิลก์สกรีน, ประติมากรรมจัดวางที่ส่งอิทธิพลต่อวงการศิลปะและศิลปินรุ่นหลังอย่างเหลือคณานับ

ที่โรงงานศิลปะแห่งนี้ วอร์ฮอลกลับมาทำผลงานชุดผลิตภัณฑ์โภคภัณฑ์อย่างซุปกระป๋องแคมป์เบลล์, โคคา โคล่า, แผ่นล้างจานบริลโล และพีชกระป๋องเดล มองเต้ อีกครั้งด้วยเทคนิคซิลก์สกรีนและสร้างงานประติมากรรมขึ้นจากซิลก์สกรีนบรรจุภัณฑ์เหล่านี้

ช่วงนี้เอง เขายังทำผลงานที่ประสบความสำเร็จในด้านรายได้อย่างท่วมท้นอย่างภาพพิมพ์ซิลก์สกรีนรูปดอกไม้อันเรียบง่าย สีสันฉูดฉาด ดึงดูดความสนใจของสาธารณชนมากมายและขายดีเป็นเทน้ำเทท่า

andy warhol

The Souper Dress (1966-1967)

Brillo Box Dress (1964)

Flowers (1964-1970) ภาพพิมพ์ซิลสกรีน, ภาพจาก italianopopart.tumblr.com

 

7. ป๋าดันวง The Velvet Underground

วอร์ฮอลยังสร้างสรรค์ผลงานด้านอื่นอย่างหลากหลาย เขาเป็นโปรดิวเซอร์ให้กับวงดนตรี The Velvet Underground ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้วงดนตรีรุ่นใหม่มาจนถึงปัจจุบัน

ปกอัลบั้มชุดแรกของวงที่เขาออกแบบเป็นรูปกล้วยหอมสีเหลืองอันเรียบง่ายบนปกแผ่นเสียงสีขาวสะอาดตา ที่พิเศษก็คือรูปกล้วยที่ว่านี้แท้จริงแล้วเป็นสติกเกอร์ที่สามารถลอกออกได้ เมื่อแฟนเพลงซื้อแผ่นเสียงไปแล้วลอกสติกเกอร์รูปกล้วยสีเหลืองออกก็จะพบเนื้อกล้วยสีชมพูสดใสอยู่ข้างใต้ (ที่ดูแล้วเหมือนอะไรก็คงไม่ต้องบอกให้เสียเวลา) นัยทางเพศโจ๋งครึ่มบนปกอัลบั้มของวอร์ฮอลนี้เองที่เป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้ The Velvet Underground ได้รับความสนใจอย่างมากจากสาธารณชน

นอกจากนั้น กล้วยยังเป็นสิ่งของธรรมดาสามัญที่พบเห็นได้รอบๆ ตัวทั่วไปและเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่แพร่หลายในชีวิตประจำวันของคนอเมริกัน แสดงออกถึงวัฒนธรรมบริโภคนิยมอันเป็นสัญลักษณ์อันโดดเด่นในผลงานของวอร์ฮอลตลอดมา

ปกอัลบั้ม The Velvet Underground & Nico

 

8. ผู้จัดคอนเสิร์ต

วอร์ฮอลยังคิดค้นการแสดงในรูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า ‘Exploding Plastic Inevitable’ (EPI) ที่ผนวกการแสดงดนตรีสด แสง สี เสียง ร่วมกับการฉายหนังของเขาบนเวทีซึ่งได้กลายเป็นรากฐานของการแสดงสดแบบมัลติมีเดียในเวลาต่อมา

 

9. ผู้กำกับหนังทดลอง

ในช่วงนี้เองที่เขาหันมาหลงใหลการทำภาพยนตร์ จนถึงกับเคยประกาศว่าจะหยุดทำงานศิลปะ และหันมาทุ่มเทเวลาให้กับการทำภาพยนตร์อย่างเดียว วอร์ฮอลทำหนังออกมานับร้อยเรื่อง โดยมีเหล่าเพื่อนๆ ที่เขาอุปโลกน์ให้เป็น ‘ซูเปอร์สตาร์’ มาร่วมเล่นในหนังสารคดีขนาดสั้นสุดพิลึกพิลั่นที่ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการถ่ายภาพเพื่อนๆ เหล่านั้นในอิริยาบถต่างๆ ทั้ง กิน นอน ไปจนถึงประกอบกิจทางเพศ รวมถึงภาพยนตร์ขนาดยาวด้วย

ในช่วงที่ผู้คนมากหน้าหลายตาผลัดเปลี่ยนเข้ามาในโรงงานศิลปะของเขา ทั้งเหล่าบรรดาเพื่อนฝูงผู้มีชื่อเสียงทั้งนักดนตรีอย่าง Bob Dylan, Jim Morrison ศิลปินตัวพ่ออย่างมาร์แซล ดูชองป์ และ Salvador Dalí และเหล่าดาราฮอลลีวูดรวมถึงหนุ่มสาวหน้าใหม่ผู้แสวงหาชื่อเสียงและโอกาสและบรรดาขาปาร์ตี้และขี้ยาทั้งหลาย วอร์ฮอลใช้กล้องถ่ายหนังบันทึกภาพของผู้คนเหล่านี้เอาไว้แทบทุกคน

เขายังเป็นป๋าดันให้กับคนทำหนังโนเนมอย่าง Paul Morrissey ที่สร้างผลงานหนังประหลาดๆ ออกมา ซึ่งกลายเป็นต้นธารให้กับภาพยนตร์อันเดอร์กราวนด์และภาพยนตร์ทดลองในปัจจุบัน

 

10. คนทำนิตยสาร

วอร์ฮอลยังเป็นผู้ก่อตั้งนิตยสารที่บุกเบิกนิตยสารแนวไลฟ์สไตล์ยุคใหม่อย่าง Andy Warhol’s Interview ที่มีจุดเด่นในการลงบทสัมภาษณ์ของเหล่าเซเลบซูเปอร์สตาร์โดยไม่มีการเรียบเรียงหรือตัดต่อเลยแม้แต่น้อย (ปัจจุบันนิตยสารยังคงตีพิมพ์ในชื่อ Interview) เขายังมีรายการทีวีเป็นของตัวเอง และสนับสนุนศิลปินหน้าใหม่อย่างสม่ำเสมอ เช่น ศิลปินรุ่นน้องที่เขาปลุกปั้นกับมืออย่าง Jean-Michel Basquiat ก็กลายเป็นศิลปินระดับซูเปอร์สตาร์ในวงการศิลปะ

 

11. แฟชั่นไอคอน

นอกจากเป็นผู้ทรงอิทธิพลในวงการศิลปะ วอร์ฮอลยังเป็นผู้ทรงอิทธิพลในวงการแฟชั่น ผลงานของเขามีความเกี่ยวพันอย่างแนบแน่นกับแฟชั่น ไม่ว่าจะเป็นการทำงานโฆษณาในยุค 50s ให้กับดีไซเนอร์ระดับตำนานและเพื่อนสนิท Halston เขายังเป็นคนที่แต่งตัวได้อย่างเปี่ยมสไตล์และเป็นผู้นำเทรนด์อย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นผมสีแพลตตินัมบลอนด์, เสื้อยืดลายทางแถบกว้าง, แว่นตาแฟชั่นกรอบใส, แจ็กเก็ตสองชั้น, แจ็กเก็ตซาฟารี, แจ็กเก็ตหนังแกะ, การแต่งชุดดำล้วน และบอดี้เพนต์ ซึ่งกลายเป็นสไตล์การแต่งตัวอันอมตะไร้กาลเวลา

นอกจากตัวเขาจะเป็นแฟชั่นไอคอนเองแล้ว เขายังเคยทำงานแฟชั่นอย่างชุดเดรสลายพิมพ์ซิลก์สกรีนรูปกระป๋องซุปแคมป์เบลล์และกล่องบริลโลซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าของเขาด้วย วอร์ฮอลยังเคยเอาภาพของ Yves Saint Laurent พระเจ้าแห่งวงการแฟชั่นในวัยหนุ่มมาทำเป็นงานภาพพิมพ์ซิลก์สกรีนในสไตล์ป๊อปอาร์ต ภาพนี้เองก็กลายเป็นสัญลักษณ์และภาพจำของดีไซเนอร์ผู้ยิ่งใหญ่ผู้นี้ตลอดมา

The Portrait of Yves Saint Laurent ภาพพิมพ์ซิลก์สกรีน

 

12. นักบรรยาย

ด้วยความที่แอนดี้ วอร์ฮอล เป็นศิลปินที่ค่อนข้างเก็บตัว และไม่ค่อยให้สัมภาษณ์หรือออกบรรยายต่อหน้าสาธารณชนเท่าไหร่ นักสัมภาษณ์ส่วนใหญ่ที่ไปสัมภาษณ์เขาก็มักจะได้รับคำตอบจากเขาแบบถามคำตอบคำ เยสๆ โนๆ หรือแม้แต่เวลาที่เขาต้องไปบรรยายที่ไหน เขาก็มักจะเอาแต่ยืนอมพะนำ  ไม่พูดไม่จา ปล่อยให้เพื่อนๆ ที่มาด้วยพูดเสียเป็นส่วนใหญ่

วันหนึ่งในปี 1967 เขาได้พบกับ Allen Midgette อดีตนักแสดงในหนังของ Bernardo Bertolucci และ Pier Paolo Pasolini วอร์ฮอลและเพื่อนๆ จึงจ้างวานให้มิดเจตต์แต่งตัวสวมรอยเป็นตัวเขาเพื่อเดินสายขึ้นเวทีบรรยายตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วอเมริกา ซึ่งมิดเจตต์ก็สวมบทบาทได้อย่างคล่องแคล่วจนผู้ฟังทุกคนให้การต้อนรับอย่างดี โดยไม่มีใครสงสัยเลยว่าตานี่คือแอนดี้ วอร์ฮอล ตัวปลอม

แต่ในที่สุด ในระหว่างการบรรยายในมหาวิทยาลัยยูทาห์และโอเรกอน ความลับก็ดันเกิดแตกขึ้นมา เพราะมีผู้ชมบางคนเกิดความสงสัยในความคล่องเกินไปของผู้บรรยายและสืบรู้ความจริงในภายหลังจากการเปรียบเทียบด้วยรูปถ่าย จนนำไปสู่การเปิดโปงและขอค่าบรรยายคืนในที่สุด วอร์ฮอลแก้ตัวว่าที่เขาทำแบบนั้นก็เพราะเขาพูดไม่ค่อยเก่ง และไม่มีอะไรจะพูด เลยส่งคนที่มีเรื่องอยากพูดเยอะแยะไปแทน ซึ่งมิดเจตต์ก็เป็นคนแบบที่ทุกคนคาดหวังจะได้เจอและชอบฟังเขาพูดไม่ใช่หรือ

แอนดี้ วอร์ฮอล ตัวปลอม (อัลเลน มิดเจตต์)

 

13. ผู้รอดชีวิต

ในปี 1968 เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น เมื่อแอนดี้ วอร์ฮอล ถูกบุกเข้ากระหน่ำยิงโดย Valerie Solanas หญิงสาวที่เคยเป็นผู้ร่วมงานในหนังหลายเรื่องของเขา โดยเธอสารภาพหลังจากมอบตัวว่าทำไปเพราะต้องการแก้แค้นวอร์ฮอลที่ลดคุณค่าของผู้หญิงในหนังของเขา (ดูรายละเอียดได้ในหนังเรื่อง I Shot Andy Warhol, 1995) โชคยังดีที่เขายังรอดชีวิตมาได้ หลังจากถูกยิง วอร์ฮอลเพิ่มความระมัดระวังในสตูดิโออย่างมาก เขาติดกล้องนิรภัยทั่วสตูดิโอแห่งใหม่และไม่อนุญาตให้ใครแวะเวียนเข้า-ออกได้อย่างอิสระอีกต่อไป

 

14. ศิลปินแอ็บสแตรกท์

ในช่วงปลายยุค 1970 วอร์ฮอลหันมาทดลองทำงานจิตรกรรมนามธรรมในผลงานชุด Oxidation ที่ทำขึ้นด้วยการปูผืนผ้าใบเคลือบสีทองแดงลงบนพื้นสตูดิโอและเชิญชวนให้ผู้ช่วยและผู้คนที่มาเยี่ยมเยือนสตูดิโอของเขาปัสสาวะรด กรดยูริกในฉี่จะทำปฏิกิริยากับโลหะที่อยู่ในสีทองแดงที่เคลือบไว้จนได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นสีสันและร่องรอยแบบนามธรรมอันแปลกตาขึ้นมา

Oxidation (1977–1978) © The Andy Warhol Foundation for the Visual Arts, Inc., NY, ภาพโดย Phillips/Schwab, ภาพจาก artspace.com

 

15. นักจัดปาร์ตี้เคร่งศาสนา

ถึงแม้วอร์ฮอลจะเป็นศิลปินชื่อเสียงโด่งดัง และใช้ชีวิตรายล้อมด้วยเหล่าบรรดาเซเลบ (และวอนนาบีเซเลบ) ที่เวียนว่ายวกวนอยู่กับชื่อเสียง แฟชั่น ปาร์ตี้ และยาเสพติด แต่ตัวตนที่แท้จริงของเขากลับเป็นคนสมถะ เรียบง่าย เขาอาศัยอยู่กับแม่ของเขาตลอดชีวิต และเป็นคนที่ศรัทธาในศาสนาอย่างลึกซึ้ง ตลอดชีวิต เขาสวดภาวนาทุกวันในโบสถ์ และมักจะทำการกุศลกับคนไร้บ้านในนิวยอร์กเป็นประจำ

ช่วงบั้นปลายของชีวิต ในยุค 80s วอร์ฮอลหันมาทำงานในเชิงศาสนา ด้วยการหยิบเอาภาพวาดทางศาสนาของจิตรกรชั้นครูยุคโบราณอย่าง Leonardo da Vinci และ Raphael มาทำเป็นงานภาพพิมพ์ซิลก์สกรีนในสไตล์ป๊อปอาร์ต แต่ถึงกระนั้นวอร์ฮอลก็ยังคงความยียวนไม่เว้นวาย เมื่อนักข่าวถามเขาว่า เหตุผลที่เขาหยิบภาพวาด The Last Supper ของ ดา วินชี มาทำนั้นเป็นเพราะเขาซาบซึ้งกับวัฒนธรรมอิตาลีหรือ? วอร์ฮอลตอบว่า “โอ วัฒนธรรมอิตาลีเหรอ ผมรู้จักแค่สปาเก็ตตีน่ะ แต่มันก็วิเศษจริงๆ นะ!”

 

16. เจ้าพ่อป๊อปอาร์ตผู้เป็นตำนาน

ถึงแม้จะมีร่างกายทรุดโทรมจากอาการป่วยและการบาดเจ็บเรื้อรังจากการถูกยิง แต่วอร์ฮอลก็ยังคงหักโหมทำงานหนักราวกับเป็นเครื่องจักร จนกระทั่งในปี 1987 หลังจากทุกข์ทรมานด้วยอาการแทรกซ้อนจากการผ่าตัดถุงน้ำดี แอนดี้ วอร์ฮอล ก็เสียชีวิตอย่างไม่คาดฝัน ในวัย 58 ปี ร่างของเขาถูกฝังเคียงข้างหลุมศพแม่ของเขาในบ้านเกิดที่พิตส์เบิร์ก เหลือทิ้งไว้แต่เพียงผลงานศิลปะและงานสร้างสรรค์จำนวนนับไม่ถ้วน และแรงบันดาลใจมากมายที่ส่งผ่านไปยังศิลปินและคนทำงานสร้างสรรค์รุ่นหลังในแทบจะทุกวงการ จนกล่าวได้ว่าเขาเป็นหนึ่งในศิลปินผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในยุคหลังศตวรรษที่ 20


ใครอยากดูผลงานที่กล่าวมาด้านบน สามารถตามไปดูผลงานชิ้นออริจินัลได้แบบไม่ต้องถ่อไปดูถึงต่างประเทศให้เสียเวลาและค่าตั๋วเครื่องบินในนิทรรศการ ANDY WARHOL: POP ART ที่ขนงานของเจ้าพ่อป๊อปอาร์ตมาแสดงกว่า 128 ชิ้น ทั้งภาพถ่ายบุคคล, ภาพพิมพ์ซิลก์สกรีนรูปเซเลบและซูเปอร์สตาร์อันลือลั่น, ผลงานซุปกระป๋องแคมป์เบลล์และสินค้าโภคภัณฑ์สไตล์ป๊อปอันโด่งดัง, ปกนิตยสารและปกแผ่นเสียงของแท้ในตำนาน

นิทรรศการ ANDY WARHOL: POP ART เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม – 24 พฤศจิกายน 2563 ณ RCB Galleria ชั้น 2 River City Bangkok ซื้อบัตร early bird ราคาพิเศษได้ถึงวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2563 ผ่าน ticketmelon.com/rivercitybangkok/andywarhol


อ้างอิง

หนังสือ ANDY WARHOL โดย Isabel Kuhl

หนังสือ Secret Lives of Great Artists โดย Elizabeth Lunday

theartstory.org

AUTHOR