‘หยุดความรุนแรงต่อชาวเอเชีย’ 4 แบรนด์แฟชั่นที่ประสานเสียงพร้อมกันว่า #StopAsianHate

แม้ว่า #StopAsianHate จะเป็นแฮชแท็กที่ร้อนแรงที่สุดในสัปดาห์นี้ ทว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับชาวเอเชียในสหรัฐอเมริกาก็ไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่เพิ่งเกิดแต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ปรากฏการณ์เหยียดสีผิว เชื้อชาติ และสถิติความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับชาวเอเชียในสหรัฐอเมริกาพุ่งสูงขึ้นในระดับที่น่าตกใจ

สถิติจาก Stop AAPI Hate องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2020 เพื่อหยุดยั้งความรุนแรงต่อคนเอเชียระบุว่า ในระหว่างเดือนมีนาคมถึงธันวาคมปี 2020 พวกเขาได้รับรายงานว่ามีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นกับชาวเอเชียมากถึง 2,800 กรณี ในขณะเดียวกัน สถิติจากกรมตำรวจรัฐนิวยอร์ก (NYPD) ก็ระบุว่าในปี 2020 เพียงแค่ปีเดียว อาชญากรรมจากความเกลียดชัง (hate crime) ที่พุ่งเป้าไปที่ชาวเอเชียในเมืองนิวยอร์กพุ่งสูงถึง 1,900 เปอร์เซ็นต์

ท่ามกลางบรรยากาศที่ชาวเอเชียในวงการต่างๆ ของสหรัฐอเมริกาไม่ว่าจะเป็นนักแสดงหรือศิลปินต่างพากันออกมาประสานเสียงร้องว่า #StopAsianHate แฟชั่นคืออีกหนึ่งวงการที่แฟชั่นดีไซเนอร์เชื้อสายเอเชียต่างพากันออกมาเป็นกระบอกเสียงต่อต้านความรุนแรงต่อชาวเอเชีย เราจึงขอพาไปรู้จักกับแฟชั่นดีไซเนอร์และแบรนด์แฟชั่นที่เลือกจะไม่ปิดปากเงียบ และยืนหยัดต่อต้านความเกลียดชังชาวเอเชียที่ยังคงฝังรากลึกในสังคมอเมริกัน

3.1 Phillip Lim

#StopAsianHate

Phillip Lim เกิดที่ประเทศไทยในครอบครัวชาวจีน ก่อนจะอพยพไปสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ยังเด็กๆ และก่อตั้งแบรนด์ 3.1 Phillip Lim ที่ผ่านมาลิมเป็นกระบอกเสียงสำคัญในการต่อต้านความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับชาวเอเชียอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่โควิด-19 เพิ่งจะระบาดในสหรัฐอเมริกา นำไปสู่ความเกลียดชังชาวจีนในสหรัฐอเมริกาที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ “เมื่อเราเห็นผู้คนที่หน้าตาเหมือนกับเรา เพื่อนและสมาชิกในครอบครัวของเราถูกทำร้าย เราจะนิ่งเงียบไม่ได้อีกต่อไป”

นอกจากจะสื่อสารข้อความและจุดยืนผ่านอินสตาแกรมของตัวเอง ลิมยังพยายามก่อตั้งกลุ่มแฟชั่นดีไซเนอร์ที่ต้องการหยุดยั้งความเกลียดชังทางเชื้อชาติในวงการแฟชั่นและความรุนแรงต่อชาวเอเชียที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 ด้วย

ในบทสัมภาษณ์หนึ่ง ลิมเล่าว่า “นานมากแล้วที่คำถามทำนองว่า ‘ทำไมถึงไม่มีใครมองเห็นเราเลย ทำไมเรื่องราวของพวกเราถึงไม่เคยถูกบอกเล่า ทำไมเราถึงรู้สึกว่าตัวเองกำลังล่องหน’ ไม่เคยได้รับคำตอบ ผมคิดว่า นั่นเป็นเพราะชาวเอเชียมองว่าวัฒนธรรมเป็นเรื่องที่เราต้องเคารพและเชื่อฟัง แต่พอคุณโยนคุณค่าของวัฒนธรรมลักษณะนี้ลงในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างออกไปอย่างโลกตะวันตก คุณค่าเหล่านี้กลับกลายเป็นความอ่อนน้อม เฉยชา และปราศจากการโต้แย้งใดๆ ทั้งที่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่เลยด้วยซ้ำ ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องตระหนักว่าชาวเอเชียที่อยู่ในเอเชียกับชาวเอเชียที่อยู่ในสหรัฐอเมริกาพบเจอประสบการณ์ที่แตกต่างกัน เราจำเป็นต้องพูดถึงประเด็นนี้และยืนยันคุณค่าของพวกเรา”

PRIVATE POLICY

#StopAsianHate

PRIVATE POLICY คือแบรนด์แฟชั่นของ Haoran Li และ Siying Qu สองดีไซเนอร์ชาวจีนในนิวยอร์กที่หลังจากได้เห็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับชาวเอเชียในช่วงโควิด-19 พวกเขาก็ตัดสินใจผลิตคอลเลกชั่นเสื้อผ้าที่ได้รับอิทธิพลจากแรงงานอพยพชาวจีนในช่วงศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการก่อสร้างรางรถไฟในสหรัฐอเมริกา

“สิ่งที่พวกเราทั้งคู่พอจะทำได้คือการเป็นกระบอกเสียงต่อต้านความรุนแรงต่อชาวเอเชียในสหรัฐอเมริกา” Qu เล่า “คอลเลกชั่นนี้คือหนึ่งในความพยายามของเราที่จะสื่อสารกับผู้คนว่าคนเอเชียเป็นฟันเฟืองหนึ่งในการพัฒนาสหรัฐอเมริกามาแล้วเนิ่นนาน” 

แน่นอนว่าการเรียนรู้ เข้าใจ และยอมรับความแตกต่างทางวัฒนธรรมคือกุญแจสำคัญในการล้มล้างความเกลียดชังต่อผู้คนที่ต่างไปจากเรา ซึ่งเป้าหมายของ PRIVATE POLICY คือการสื่อสารความเข้าใจผ่านแบรนด์ของพวกเขา “ฉันคิดว่า ยิ่งเราสามารถชักชวนให้ผู้คนอยากเรียนรู้และทำความเข้าใจวัฒนธรรมที่แตกต่างได้มากขึ้นเท่าไหร่ พวกเขาก็จะยิ่งมองเห็นว่าจริงๆ แล้วความแตกต่างทางวัฒนธรรมไม่ได้นำไปสู่ความแตกแยก แต่นำไปสู่การเคารพและมองเห็นคุณค่าของความแตกต่างต่างหาก”

Oscar de la Renta

#StopAsianHate

หลายคนอาจรู้จักแบรนด์ Oscar de la Renta จากเดรสและหน้ากากลายดอกไม้สะพรั่งที่ Taylor Swift สวมใส่บนเวที GRAMMY Awards 2021 และแม้แฟชั่นดีไซเนอร์ผู้ก่อตั้งจะเป็นชาวโดมินิกัน ไม่ใช่ชาวเอเชียอย่างแบรนด์อื่นๆ ในลิสต์นี้ ถึงอย่างนั้น Laura Kim แฟชั่นดีไซเนอร์ชาวเกาหลีและครีเอทีฟไดเรกเตอร์ของแบรนด์ก็เป็นคนหนึ่งที่เป็นกระบอกเสียงสำคัญในการหยุดยั้งความรุนแรงต่อชาวเอเชีย

คิมเล่าว่าเมื่อก่อนเธอเองก็ไม่กล้าออกมาพูดเรื่องนี้ในพื้นที่สาธารณะ แต่หลังจากเหตุการณ์ที่วิชา รัตนภักดี ชาวไทยวัย 84 โดนทำร้ายจนเสียชีวิตในแคลิฟอร์เนียซึ่งสั่นสะเทือนจิตใจคิมอย่างรุนแรง ดีไซเนอร์สาวก็ตัดสินใจออกมาเคลื่อนไหวผ่านพื้นที่ส่วนตัว

“ฉันคงยอมรับไม่ได้ถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับพ่อแม่และคนที่ฉันรัก ฉันคิดว่าการออกมาแสดงจุดยืนและเรียกร้องให้ความรุนแรงเหล่านี้หยุดลงคือสิ่งที่จำเป็นต้องทำ” คิมเล่า ในขณะที่แบรนด์ Oscar de la Renta เองก็ไม่ได้ปล่อยให้พนักงานของตัวเองเปล่งเสียงเรียกร้องโดยลำพัง แต่ยังออกมาเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียงในการเรียกร้องให้หยุดความรุนแรงต่อชาวเอเชียไปพร้อมๆ กันผ่านอินสตาแกรมของแบรนด์

Prabal Gurung

#StopAsianHate

Prabal Gurung คือแฟชั่นดีไซเนอร์ชาวเนปาล-อเมริกัน ผู้ก่อตั้ง Prabal Gurung แบรนด์แฟชั่นที่โดดเด่นด้านการดีไซน์เสื้อผ้าผู้หญิงซึ่งแม้แต่คนดังอย่าง Oprah Winfrey และ Michelle Obama ก็เคยสวมใส่ 

กูรังถือเป็นอีกหนึ่งเสียงสำคัญในวงการแฟชั่นที่เรียกร้องให้ยุติความรุนแรงทางเชื้อชาติ ในช่วงที่เกิดการชุมนุมประท้วงจากกรณี George Floyd เขาได้เขียนบทความแสดงความคิดเห็นตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ The Washington Post ในหัวข้อ ‘ถึงเวลาแล้วที่ชาวเอเชียน-อเมริกันจะกำจัดมายาคติเรื่อง ‘model minority’ และยืนข้างจอร์จ ฟลอยด์’ (It’s time for Asian Americans to shed the ‘model minority’ myth and stand for George Floyd.)

model minority หรือ ‘ผู้อพยพตัวอย่าง’ คือมายาคติที่มองว่าคนเอเชียมักจะเป็นคนเงียบๆ อดทนกับความลำบากได้ ไม่ค่อยมีปัญหากับใคร ซึ่งกูรังมองว่ามายาคติเช่นนี้ไม่เพียงแต่จะลดทอนคุณค่าของคนเอเชียลงไป แต่ยังกลายเป็นส่วนหนึ่งในการสร้าง ‘สภาวะเงียบงัน’ ในกลุ่มชาวเอเชียด้วยกัน และนั่นจะไม่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีใดๆ ทั้งต่อชาวเอเชีย ต่อชาวแอฟริกัน-อเมริกัน และต่อสังคมอเมริกัน กูรังจึงเรียกร้องให้ชาวเอเชียน-อเมริกันออกมายืนข้างชาวแอฟริกัน-อเมริกันในการประท้วง ต่อสู้ และเรียกร้องความเท่าเทียมร่วมกัน

AUTHOR