Eat like artists ‘ทาร์ตแอปเปิลจากสวนหลังบ้าน ข้าวอบหญ้าฝรั่น สตูว์ปลาไหล’ ศิลปินระดับโลกกินอะไรในแต่ละมื้อ

Highlights

  • สำรวจอาหารประจำวัน เมนูสุดโปรด และเรื่องเล่าบนโต๊ะอาหารของ 5 ศิลปินระดับโลกที่กลายมาเป็นงานศิลปะอันโด่งดัง

Eat like artistsทาร์ตแอปเปิลที่ใช้วัตถุดิบจากสวนหลังบ้านของ Claude Monet ข้าวอบหญ้าฝรั่นที่ต้องกินกับเหล้าเตกีล่าของ Frida Kahlo หรือจะเป็นสตูว์ปลาไหล เมนูโปรดของ Pablo Picasso อาหารเหล่านี้ล้วนเป็นหนึ่งในวัตถุดิบชีวิตของศิลปินระดับโลกทั้งนั้น

Eat like artistsอาหารการกินบอกเล่าทั้งเรื่องชีวิต ความคิด และหลายครั้งยังกลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินทำงานศิลปะจนโด่งดัง เพราะนักสร้างสรรค์เหล่านี้ไม่ได้กินเพื่ออยู่เพียงอย่างเดียว แต่กินเพื่อได้ทำงานศิลปะ กินเพื่อสื่อสารถึงความรัก และกินเพื่อสรรเสริญถึงคุณค่าของอาหารด้วย

เมนูไหนถูกเสิร์ฟขึ้นโต๊ะอาหารโมเนต์ เมนูไหนเป็นสูตรลับของฟรีด้า หรือเมนูโปรดของ Andy Warhol คืออะไร ลองไปดูกันได้เลย ส่วนใครจะลองหยิบสักเมนูไปปรุงอาหารกินเองบ้างก็ไม่ว่ากัน 

Eat like artists

กินอาหารมังสวิรัติฉบับศตวรรษที่ 15 ของ Leonardo Da Vinci

ภาพพระเยซูนั่งกินอาหารมื้อสุดท้ายใน The Last Supper เป็นหนึ่งในผลงานขึ้นชื่อของ Leonardo Da Vinci แต่เคยสงสัยไหมว่าแล้วมื้ออาหาร (ที่ไม่ใช่แค่มื้อสุดท้าย) ของดาวินชีเป็นยังไง

ดาวินชีให้ความสำคัญกับอาหารมากพอๆ กับศาสตร์ต่างๆ ที่เขาศึกษา ทั้งยังเคยเขียนบันทึกแนะนำการกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพเอาไว้ เช่น ไม่แนะนำให้กินเมื่อเราไม่หิวหรือถ้าหิวก็ให้กินอาหารเบาๆ เคี้ยวให้ละเอียด อาหารที่ปรุงขึ้นมาต้องรสชาติดี มีส่วนผสมเรียบง่าย ถ้ากินเสร็จแล้วให้ยืนย่อยสักพัก

นักประวัติศาสตร์หลายคนบอกว่าศิลปินชื่อดังคนนี้เป็นมังสวิรัติ อ้างอิงจากจดหมายที่ Andrea Corsali นักสำรวจส่งถึง Giuliano de’Medici ผู้อุปถัมภ์ของดาวินชี เขาเขียนอธิบายถึงการได้พบชาวมังสวิรัติในอินเดียว่า “คนเหล่านี้รักสัตว์อย่างอ่อนโยนจนไม่กินสิ่งที่มีเลือดและไม่ยอมให้ใครทำร้ายสัตว์ เหมือนกับดาวินชีของเราเลย” 

เราคงนึกภาพกันไม่ออกว่าการกินอาหารแบบมังสวิรัติในยุคศตวรรษที่ 15 นี่มันเป็นยังไง โชคดีที่คนชอบบันทึกอย่างดาวินชีเขียนถึงวัตถุดิบ รายละเอียดของบางเมนู พร้อมบันทึกการจับจ่ายใช้สอยอาหารเอาไว้ เช่น ผัดมะเดื่อกับถั่ว ถั่วปรุงในนมอัลมอนด์ ซุปถั่ว และอัลมอนด์พุดดิ้ง

จริงๆ หลายคนพยายามโต้แย้งว่าบันทึกของดาวินชีพูดถึงอาหารก็จริงแต่ไม่เคยมีส่วนไหนที่เขาระบุชัดเจนว่าตัวเองไม่กินเนื้อสัตว์ (แม้ว่าเขาจะบอกว่ารักสัตว์มากก็ตาม) เพราะบางส่วนในบันทึกยังพูดถึงราคาของปลาหรือเนื้อด้วย แต่ Leonard Beck อดีตคิวเรเตอร์ประจำห้องสมุดสภาคองเกรสผู้เข้าใจภาษาลาตินพยายามยืนยันว่าดาวินชีไม่กินเนื้อจริงๆ “ถ้าคุณอยากรู้ว่าเขากินอะไร ลองอ่านจากบันทึกอาหารของดาวินชีสิ”

Eat like artists

ลิ้มรส Eggs Orsini และจิบแอปเปิลไซเดอร์ในสวนหลังบ้านของ Claude Monet

ใครชอบดูรูปสวนสีสันสดใส หรือภาพคนนั่งสังสรรค์กินมื้อกลางวันกลางสวนของ Claude Monet แล้วเกิดอยากกระโจนเข้าไปอยู่ในภาพบ้าง เราอยากชวนไปนั่งกินมื้อเที่ยงที่บ้านสวนของเขากัน 

ปี 1883 คือช่วงที่โมเนต์ย้ายถิ่นพำนักจากปารีสสู่จิแวร์นีเมืองที่ทำให้เขาได้ตกแต่งหลังบ้านด้วยดอกไม้ ปลูกพืชพรรณนานาชนิดจนกลายเป็นสวนสวยๆ แน่นอนว่ามันเป็นต้นแบบให้ศิลปินฝรั่งเศสคนนี้ตวัดฝีแปรงลงผ้าใบ แต่เขาไม่ได้สร้างสวนมาเพื่อวาดรูปอย่างเดียว ชายผู้รักในการทำงานกลางแจ้งอย่างโมเนต์ใช้พื้นที่กว่า 6 ไร่เป็นพื้นที่ปลูกวัตถุดิบชั้นดีสำหรับปรุงอาหารแต่ละมื้อของตัวเองและแขกผู้มาเยือนด้วย 

ไม่ว่าจะเป็นต้นแอปเปิลที่ปลูกไว้หลังบ้านที่เขาให้คนหยิบมาทำ Tarte Tatin หรือทาร์ตแอปเปิลซึ่งได้สูตรมาจากโรงแรมที่เคยไปพัก มีเมนูไข่หลากหลายจากไก่ในบริเวณบ้าน แต่ที่เป็นไฮไลต์คือ Egg Orsini เมนูที่เกิดจากการตีไข่ขาวจนเป็นฟองนุ่ม ปรุงรสด้วยเกลือ โปะด้วยไข่แดง พร้อมโรยชีส และนำเข้าไปอบในเตาด้วยอุณหภูมิพอเหมาะ กินคู่กับขนมปัง พร้อมเครื่องดื่มที่ขาดไม่ได้บนโต๊ะอาหารของโมเนต์นั่นคือแอปเปิลไซเดอร์

ในฐานะที่เป็นคนสำคัญในขบวนการศิลปะอิมเพรสชันนิสม์ เพื่อนพ้องในวงการจึงมักแวะมาเยี่ยมที่บ้านบ่อยๆ และโมเนต์ก็มักชวนกินมื้อเที่ยงกันที่สวน เพื่อนๆ ต่างรู้กันดีว่าความรักในอาหารสำคัญกับชีวิตของโมเนต์ไม่ต่างจากความรักในงานศิลปะ (อันที่จริงอาจจะเรียกว่าเป็นคุณลักษณะร่วมของชาวฝรั่งเศสก็ได้) บนโต๊ะอาหารจึงแทบจะไม่มีรสชาติของงานศิลปะติดปลายลิ้นของใครเลยเพราะศิลปินเอกจะชวนคุยเรื่องการทำสวนกับอาหารมากกว่า

หลายครั้งโต๊ะอาหารก็กลายมาเป็นต้นแบบของภาพวาดของเขา เช่น Luncheon On The Grass, The Luncheon (Monet’s Garden At Argenteuil), Lunch under the Canopy, Still life With Melon หลายคนสันนิษฐานว่าของอร่อยๆ น่าจะมีส่วนช่วยเยียวยาใจของโมเนต์ในช่วงที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าไม่น้อย คนจึงสนใจความเกี่ยวพันระหว่างชีวิตของเขา งานศิลปะ และอาหารเป็นอย่างมากถึงขนาดที่เกิดเป็นหนังสือรวบรวมเมนูโปรดของศิลปินเจ้าของภาพ Impression, sunrise อยู่หลายเล่ม  

กินคอร์นเฟลกตอนเช้า ดื่มช็อกโกแลตปั่นตอนเที่ยง ใช้ชีวิตหนึ่งวันแบบ Andy Warhol

Andy Warhol อาจเคยสร้างภาพจำว่าเขารักการกินแฮมเบอร์เกอร์ด้วยการรับบทพรีเซนเตอร์ให้กับ Burger King แต่เอาเข้าจริง ตลอดชีวิตป๊อปๆ ของเขา วอร์ฮอลไม่ได้สนใจการกินโปรตีนขนาดนั้นแต่กลับรักการกินของหวานเป็นชีวิตจิตใจอย่างที่เขาเคยตั้งปณิธานในวัยเด็กว่าจะโตไปทำงานหาเงินมาซื้อขนมหวาน! 

ว่ากันว่าแต่ในละวัน มื้อแรกของวอร์ฮอลเริ่มต้นด้วยการนั่งกินคอร์นเฟลกกับนม พร้อมจิบชาเปปเปอร์มินต์ กัดมัฟฟินอังกฤษทาแยมสักหน่อย และเมนูที่ขาดไม่ได้คือซุปกระป๋องยี่ห้อ Campbell’s ซึ่งวอร์ฮอลเรียกว่า “อาหารแห่งชีวิต” 

เทียบกับโมเนต์แล้ว จะบอกว่าวอร์ฮอลเป็นฝั่งตรงกันข้ามในเรื่องการกินก็ไม่แปลก ในขณะที่โมเนต์ดื่มด่ำสำราญไปกับอาหาร วอร์ฮอลเคยบอกว่าอาหารเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยในชีวิต และเพราะอยากควบคุมน้ำหนักตัวเองให้คงที่เขาจึงต้องกินให้น้อยที่สุด หรือถ้าจะกินก็ขอเลือกกินของชอบอย่างช็อกโกแลตปั่นจากร้าน Serendipity (บางทีก็กินเป็นมื้อเที่ยงแล้วก็ไม่กินอะไรอีกเลย) กล้วย โค้ก ขนมปังสองแผ่นประกบช็อกโกแลต (วอร์ฮอลเรียกเมนูนี้ว่าเค้ก) ที่สำคัญเจ้าพ่อป๊อปอาร์ตยังกินยา Amphetamine Obetrol เพื่อไม่ให้อยากอาหารและกระตุ้นให้เกิดพลังในการทำงานด้วย

วอร์ฮอลไม่ได้อยู่ในตำแหน่งผู้บริโภคเพียงอย่างเดียว เพราะเขาเป็นศิลปินที่สนใจสินค้าระดับ mass-produced จึงเอาทุกสิ่งที่กินมาเป็นวัตถุดิบของงานศิลปะชิ้นดัง เช่น งาน Supermarket ที่เขาทำกล่องไม้เลียนแบบกล่องคอร์นเฟลกและลังซอสมะเขือเทศ ใช้เทคนิคที่ถนัดมืออย่างภาพพิมพ์แปะโลโก้ยี่ห้อลงบนกล่อง แถมยังซื้อกระป๋องซุป Campbell’s มาเซ็นชื่อตัวเองลงไปและขายในนิทรรศการซึ่งจัดแสดงที่ Stable Gallery ในปี 1964 เรียกเสียงขบขันจากผู้ชมและทำให้เขามีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะศิลปินป๊อปอาร์ต

งานเหล่านี้ยังไม่นับรวมผลงานอื่นที่กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของป๊อปอาร์ตในเวลาต่อมา ทั้ง 32 Campbell’s Soup Can, รูปกล้วยสีเหลืองบนปกอัลบั้ม The Velvet Underground, Green Coca-Cola bottles รวมถึงงานวิดีโออาร์ตทั้งหลายที่วอร์ฮอลถ่ายคนนู้นคนนี้นั่งกินเห็ด กล้วย และอีกสารพัดวัตถุดิบในชีวิตประจำวัน

หลังจากถูกลอบยิงโดยนักแสดงอย่าง Valerie Solanas วอร์ฮอลต้องหันมาดูแลตัวเองด้วยการกินน้ำแคร์รอตและชาจากร้านอาหารเพื่อสุขภาพ ช่วงเกือบบั้นปลายชีวิต วอร์ฮอลตรวจพบเจอโรคถุงน้ำดี และเพราะช่วงหลังๆ เขาลองกลับไปกินเนื้อสัตว์บ้างเป็นครั้งคราว โรคถุงน้ำดีจึงกำเริบจนเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของเขา 

เพนต์รูปตัวเองด้วยสีสดๆ แล้วเข้าครัวปรุงรสอาหารเม็กซิกันกับ Frida Kahlo

ไม่ว่าจะในฐานะศิลปิน ภรรยาศิลปินอย่าง Diego Rivera หรือนักเคลื่อนไหวคอมมิวนิสต์ เมื่อถึงมื้ออาหารเมื่อไหร่ Frida Kahlo ก็จะเข้าครัวไปปรุงเมนูรสชาติแบบเม็กซิกันแท้ๆ เสมอ

สูตรเด็ดเคล็ดลับของฟรีด้าส่วนหนึ่งมาจากหนังสือชื่อ The New Mexican Cook ที่แม่ของเธอเขียนขึ้น อีกส่วนมาจากการเรียนรู้จากภรรยาคนแรกของ Rivera นอกจากเรื่องการทำอาหาร ฟรีด้ายังเรียนรู้ที่จะไปตลาดเพื่อซื้อวัตถุดิบมาตุนไว้เป็นประจำไม่ว่าจะเป็น พริกแห้ง แป้งตอร์ติญ่าสด หรือน้ำตาล piloncillo ของชาวเม็กซิกัน 

ฟรีด้าปรุงอาหารด้วยความรักที่มีต่อสามี ยามใดที่ Rivera อยู่ในช่วงหงุดหงิด อาหารที่ฟรีด้าทำเองจะช่วยทำให้เขารู้สึกดีขึ้นทั้งเมนูข้าวอบหญ้าฝรั่น, ซุปพริก, Oaxaca Mole หรือเครื่องแกงเม็กซิกันแบบดั้งเดิมของเมือง Oaxaca ที่มีทั้งส่วนผสมและรสชาติหลากหลาย ในส่วนของฟรีด้า มื้อไหนไม่ได้ดื่มเหล้าเตกีล่าไปพร้อมๆ กัน มื้อนั้นคงไม่สมบูรณ์เพราะเธอบอกไว้ว่า “ฉันไม่สามารถหนีออกจากความมึนเมาได้หรอก” 

ศิลปินชาวเม็กซิโกคนนี้ยังได้รับคำชมจากเพื่อนว่าเมื่อใดที่ฟรีด้าจัดโต๊ะให้สามี เธอเหมือนกำลังวาดภาพนิ่งอยู่ เว้นเสียแต่ว่ามันไม่เหมือนภาพวาดเพราะในชีวิตจริงมักมีสัตว์เลี้ยงคอยมานั่งข้างๆ ร่วมมื้ออาหารด้วยเท่านั้น

เรื่องราวที่ว่าด้วยชีวิตการเป็นศิลปิน ภรรยา และการทำอาหารของฟรีด้ายังไม่หมดเท่านี้ แต่มีบอกเล่าอย่างละเอียดในหนังสือ Frida’s Fiestas: Recipes and Reminiscences of Life with Frida Kahlo รับประกันความน่าเชื่อถือเพราะ Guadalupe Rivera ลูกสาวของ Diego Rivera ที่เกิดกับภรรยาคนแรกของเขาก็เขียนหนังสือเล่มนี้ด้วย

กินอาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียนแล้วแวะไปนั่งในคาเฟ่กับ Pablo Picasso

Picasso เป็นศิลปินคิวบิสม์ผู้เติบโตมาในครอบครัวชนชั้นกลางและสนับสนุนให้เขาเป็นศิลปินมาตั้งแต่เด็ก แน่นอนว่าชีวิตที่พออยู่พอกินย่อมทำให้เขาได้ลิ้มรสอาหารที่ดีเป็นปกติ ถึงอย่างนั้นสิ่งที่เขาทำตลอดคือการกินอาหารง่ายๆ อย่างไส้กรอก เบคอน ไข่ และกระเทียม ซึ่งเมนูง่ายๆ แบบนี้เป็นต้นแบบให้เขาทำงานศิลปะอย่าง Trompe-l’oeil หรือเซรามิกรูปไข่ดาวและไส้กรอกบนจาน

ใครๆ ก็ว่าปิกัสโซ่กินอาหารไม่ค่อยหลากหลายเท่าไหร่ โดยเฉพาะช่วงอายุ 50 ที่เขาวนเวียนกินแต่ปลา ผัก องุ่น และพุดดิ้งข้าว ในยุคนี้เราเรียกวิธีเลือกกินอาหารนี้ว่าไดเอตแบบเมดิเตอร์เรเนียน แต่เขาไม่ได้ต้องการควบคุมน้ำหนักแบบวอร์ฮอลหรอกนะเพราะอาหารทำให้เขาได้พลังงานไปทำกิจกรรมหลายอย่าง ทั้งวาดภาพ พบเจอเพื่อนๆ ในสังคม ไปจนถึงเกี้ยวพาราสีสาวๆ

แต่ปิกัสโซ่ก็ยังให้ศิลปะมาเป็นอันดับหนึ่งเสมอ Jacqueline Roque หนึ่งในภรรยาของเขาเคยพูดไว้ว่า “เขาอยากวาดรูปสตูว์ปลาไหลมากกว่าจะกินมันซะอีก” แม้นั่นจะเป็นเมนูสุดโปรดของเขาก็ตาม ในขณะที่ Alice B.Toklas นักเขียนชาวอเมริกันเล่าไว้ในหนังสืออาหารของเธอเมื่อปี 1954 ว่าวันหนึ่งที่ปิกัสโซ่จะมากินมื้อกลางวันด้วยกัน เธอเตรียมอาหารพิเศษไว้เป็นปลาที่ตกแต่งด้วยพืชผักหน้าตาใกล้เคียงกับงานศิลปะของเขา​ซึ่งถ้าเห็นแล้วเขาต้องขบขันแน่ๆ เมื่อปิกัสโซ่มาเห็นเขาก็คิดถึงงานศิลปะจริงๆ แต่เป็นงานของคนอื่น “ผมภูมิใจกับเชฟของเรามาก ปลาถูกตกแต่งมาอย่างสวยงาม แต่มันน่าจะเหมาะกับงานของ Henri Matisse มากกว่า”

นอกจากการดื่มด่ำกับอาหารง่ายๆ ปิกัสโซ่ยังชอบแวะเวียนไปนั่งในคาเฟ่และบาร์ในกรุงปารีสและเมืองอื่นๆ เช่น La Rotonde แหล่งรวมคนดังในวงการต่างๆ ซึ่งปิกัสโซ่มาวาดรูปให้ในช่วงที่อายุน้อยเพื่อแลกกับอาหารและเครื่องดื่ม ผลงาน Bottle of Pernod (Table in a cafe) ของเขาก็เป็นภาพที่มีต้นแบบจากเครื่องดื่มสุดโปรดในบาร์ของศิลปิน ส่วน Cafe in Royan ฉายภาพคาเฟ่ใน Royan เมืองท่องเที่ยวชายทะเลแอตแลนติก ซึ่งปิกัสโซ่ชอบไปเยือนบ่อยๆ

 


อ้างอิง

Apollo-magazine.com
Artsy.net
britannica.com 
latimes.com 
npr.org
nytimes.com
Metrotimes.com 
Ridakahlo.it
pds.org
Sunsentinal.com 
travelbyart.com 
Treehunger.com 
The Art Assignment  

AUTHOR

ILLUSTRATOR

JARB

นักวาดภาพประกอบเจ้าของเพจ JARB ผู้ที่ยังไม่แน่ใจว่าสไตล์ตัวเองจริงๆ คืออะไร แต่ก็ยังรู้สึกสนุกกับการทำงานหลากหลายสไตล์ โดยหวังว่าสักวันจะเจอสไตล์ที่ชอบจริงๆ สักที