สามสิบกว่าปีก่อน Simone Rocha เกิดที่ประเทศไอร์แลนด์ในปี 1986 ด้วยความที่ John Rocha พ่อชาวฮ่องกงของเธอเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์อยู่ก่อนแล้ว โรชาจึงเติบโตขึ้นมาในห้องเสื้อของพ่อ คลุกคลีอยู่กับการออกแบบเสื้อผ้าจนตกหลุมรักแฟชั่นในที่สุด
ในบทสัมภาษณ์หนึ่ง โรชาเล่าว่า “ความทรงจำแรกเกี่ยวกับแฟชั่นของฉัน คือตัวฉันอยู่ในสตูดิโอของพ่อซึ่งเต็มไปด้วยม้วนผ้า ซึ่งในขวบวัยนั้นฉันมองว่าเป็นเครื่องเล่นสำหรับปีนป่ายที่สนุกมาก”
กระทั่งเมื่อโรชาเติบโตขึ้นและมุ่งมั่นอยากจะเรียนแฟชั่นอย่างจริงๆ จังๆ ก็เป็นพ่อนี่เองที่บอกว่า หากลูกสาวของเขาจะเอาดีในด้านแฟชั่น เธอจะต้องได้รับการศึกษาที่ดีที่สุดจากมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุด ทั้งยังต้องเรียนให้จบในระดับปริญญาโทด้วย นั่นจึงเป็นเหตุผลให้โรชาสมัครเข้าเรียนด้านแฟชั่นดีไซน์ที่วิทยาลัยศิลปะและการออกแบบแห่งชาติที่เมืองดับลิน ก่อนจะมาเรียนต่อระดับปริญญาโทด้านแฟชั่นดีไซน์ที่ Central Saint Martins สถาบันการออกแบบที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในโลก โดยในระหว่างที่เรียนอยู่ที่นี่ โรชาได้อยู่ภายใต้การดูแลของ Louise Wilson ผู้เป็นอาจารย์ของดีไซเนอร์ชื่อดังระดับโลกอย่าง Alexander McQueen, Jonathan Saunders และ Sophia Kokosalaki
กระทั่งปี 2010 ชื่อของโรชาก็ได้กลายเป็นที่รับรู้ในวงการแฟชั่นจากการได้เดบิวต์ผลงานที่ London Fashion Week ในปีเดียวกับที่เธอเรียนจบจาก Central Saint Martins แฟชั่นไดเรกเตอร์แห่งสำนักข่าวแฟชั่น Grazia UK อย่าง Kenya Hunt อธิบายว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เสื้อผ้าของโรชากลายเป็นที่จับตาในช่วงเวลานั้น เป็นเพราะผลงานของเธอมีลักษณะของความเปราะบางและเยาว์วัย สวนทางกับเทคนิคการพิมพ์ดิจิทัลกราฟิกที่กำลังเป็นกระแสหลักของวงการแฟชั่น โรชาเล่าว่า “สุนทรียะของฉัน ณ ตอนนั้นสวนทางกับทิศทางของวงการแฟชั่นสุดๆ แต่ฉันกลับรู้สึกว่านี่แหละคือตัวตนของฉันจริงๆ ”
Lulu Kennedy แฟชั่นไดเรกเตอร์แห่ง Fashion East–องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่มีเป้าหมายในการค้นหาและให้การสนับสนุนแฟชั่นดีไซเนอร์รุ่นใหม่–เป็นอีกคนที่หลงรักผลงานของโรชาทันทีเมื่อได้เห็น เคนเนดีกล่าวว่า “ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรสนิยม เรเฟอเรนซ์ต่างๆ และวัสดุที่โรชาเลือกใช้ ล้วนอยู่ในระดับที่สูงมากๆ” เขาเล่า
เพียงไม่กี่ปีหลังจากนั้น ชื่อของโรชาก็กลายเป็นที่พูดถึงในวงกว้าง เมื่อในปี 2013 เธอสามารถคว้ารางวัล best emerging designer บนเวที British Fashion Awards มาได้ในเวลาเพียงสั้นๆ
ความเป็นผู้หญิงหัวขบถของซีโมน โรชา
ความเป็นผู้หญิงคือจุดเด่นของเสื้อผ้าที่โรชาออกแบบ นิตยสารแฟชั่นบางแห่งถึงขนาดเรียกสไตล์ของเธอว่า ‘ultrafeminine’ จากความเป็นผู้หญิงที่สูงมากๆ
ในท่อนหนึ่งของบทสัมภาษณ์โรชาใน ELLE UK ดีไซเนอร์สาวชาวไอริชเล่าว่า “มันไม่ใช่ว่าอยู่มาวันหนึ่งฉันก็เกิดความคิดว่า ‘ฉันอยากจะโฟกัสที่ผู้หญิง’ แต่มันมีพลังบางอย่างที่เกิดจากการที่ผู้หญิงออกแบบเสื้อผ้าให้กับผู้หญิง สอดแทรกบุคลิกภาพและความรู้สึกลงไปในสิ่งที่ฉันสร้างขึ้นมา อาจารย์ของฉันมักจะบอกเสมอว่า งานของฉันนอกจากจะเต็มเปี่ยมไปด้วยความเป็นผู้หญิง (feminine) แล้ว ก็ยังให้ความรู้สึกเข้มแข็ง (strong) และความเป็นสมัยใหม่ (modern) ด้วย ฉันจึงพยายามจะแสดงสามสิ่งนี้ผ่านผลงานของตัวเองอยู่เสมอ”
ความเป็นผู้หญิง ความเข้มแข็ง และความเป็นสมัยใหม่ คือสามคุณลักษณะที่กลายเป็นบุคลิกลักษณะของเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายที่เธอออกแบบ ซึ่งพอเราได้ลองพิจารณาผลงานต่างๆ ที่เธอออกแบบก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า คุณลักษณะทั้งสามนี้ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนบนเสื้อผ้าของเธอจริงๆ
ผู้หญิงของแบรนด์ซีโมน โรชา นั้นดูละม้ายคล้ายกับว่าเพิ่งจะผ่านพ้นเข้าสู่วัยผู้ใหญ่แค่เพียงหมาดๆ ต้องเข้มแข็ง และเคร่งขรึมขึ้นต่อการรับรู้เรื่องระเบียบและความกดดันต่างๆ ของสังคม แต่ในขณะเดียวกันก็ยังเยาว์วัย ขบถ และเปี่ยมล้นไปด้วยชีวิตชีวา ดีไซเนอร์สาวมักจะให้ความสำคัญกับ ‘สมดุล’ ของ ‘เค้าโครงของเสื้อผ้า’ (silhouette) ‘ประเภทของผ้า’ (fabrication) และ ‘เครื่องประดับ’ (embellishment) หากลองสังเกตดูเราจะพบว่าภายใต้เสื้อผ้าที่ดูอ่อนหวานและพลิ้วไหว โรชากลับซุกซ่อนรายละเอียดสนุกๆ ที่ช่วยให้ผลงานของเธอน่าสนใจ
ในแง่นี้ เสื้อผ้าของซีโมน โรชา จึงมักจะเป็นการผสมผสานกันระหว่างลูกไม้ (lace) ผ้าชีฟอง (chiffon) และลวดลายของดอกไม้นานาพันธุ์ กับโบว์ ไข่มุก มงกุฎ และเครื่องประดับแวววาวกรุบกริบ เสื้อโค้ตโอเวอร์ไซส์ตัวโคร่งใหญ่ ไปจนถึงการแต่งหน้านางแบบที่บางครั้งก็คล้ายจะเปลือยเปล่า ดูขัดแย้งกับความพองฟูของเสื้อผ้าอย่างน่าสนใจ ภายใต้ภาพลักษณ์ที่ชวนให้นึกถึงเจ้าหญิงในเทพนิยาย โรชาก็ได้สอดแทรกความขี้เล่นและขัดแย้งอย่างเป็นธรรมชาติแบบเด็กผู้หญิงที่พร้อมจะท้าทายต่อขนบธรรมเนียมต่างๆ รอบตัว
หนึ่งในตัวอย่างผลงานที่สะท้อนความเป็นผู้หญิงในแบบของโรชาคือ ‘ต่างหูรูปคนห้อย’ (hanging sculpture) สองคู่ในปี 2019 ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากประติมากรรมของ Louise Bourgeois ศิลปินชาวฝรั่งเศส-อเมริกันที่มีอิทธิพลต่อโรชาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะต่อประเด็นเรื่องเพศและร่างกายที่ปรากฏอยู่ในสารพัดผลงานของบูร์ชัวส์
ทั้งนี้ แรงบันดาลใจของต่างหูรูปคนห้อยทั้งสองคู่ของโรชามาจาก Spiral Woman (2003) และ Untitled (1995) และใช้ทอง 24 กะรัตในการผลิต โดยที่ต่างหูทั้งสองแบบผลิตออกมาเพียงแบบละ 250 คู่เท่านั้น
ผ่านต่างหูรูปคนห้อยคู่นี้ โรชาเล่าว่าเธอต้องการจะแสดงให้เห็นความหลากหลายของความเป็นผู้หญิง “ความเป็นผู้หญิงหมายถึงอะไรหลายๆ อย่างนะ มันอาจเป็นความน่าเกลียด ความสวยงาม ความสกปรก อารมณ์พลุ่งพล่าน หรือกระทั่งเรื่องของกายภาพ ฉันต้องการจะแสดงให้เห็นว่าความเป็นผู้หญิงน่ะมันหลากหลาย และเราก็ไม่จำเป็นต้องไปอธิบายใครต่อใครว่าเราเป็นผู้หญิงแบบไหน ฉันคิดว่าผู้หญิงทุกคนต่างก็อยู่ในรูปลักษณ์ที่ดีที่สุดของพวกเขาแล้ว”
ผลผลิตจากสองวัฒนธรรม
พ้นไปจากความเป็นผู้หญิงแล้ว อีกจุดเด่นหนึ่งที่ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดในบางคอลเลกชั่นของซีโมน โรชา คือการผสมผสานกันระหว่างสองวัฒนธรรม นั่นคือไอริชและจีน อย่างที่กล่าวไปว่าพ่อของเธอเป็นชาวฮ่องกงโดยกำเนิด ชีวิตของเธอจึงเรียกได้ว่าเป็นผลผลิตระหว่างโลกตะวันออกและโลกตะวันตกที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ในบทสัมภาษณ์หนึ่งโรชาเล่าว่า ในทุกๆ วันอีสเตอร์ เธอจะเดินทางไปฮ่องกงเพื่อเยี่ยมครอบครัวฝั่งพ่อ และแม้ว่าเกือบทั้งชีวิตดีไซเนอร์สาวจะอยู่บนเกาะไอร์แลนด์ ทว่าเธอก็รู้สึกผูกพันและเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมบนเกาะฮ่องกงเป็นที่สุด
“ทั้งไอร์แลนด์และฮ่องกงต่างก็เป็นเกาะด้วยกันทั้งคู่ ฉันพบว่าเกาะทั้งสองมีอะไรที่คล้ายกันอยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิธีการแต่งตัวของผู้คน มันมีความซุกซนอยู่ในนั้น แต่ก็ไม่ใช่ว่ามันจะขี้เล่นไปเสียทั้งหมด ที่สำคัญที่สุดฉันคิดว่าผู้คนบนเกาะทั้งสองต่างก็ให้ความสำคัญกับครอบครัว และให้ความเคารพกับบรรพบุรุษของพวกเขามากๆ”
หนึ่งในคอลเลกชั่นที่สะท้อนความเชื่อมโยงระหว่างเกาะฮ่องกงและวัฒนธรรมจีนกับโรชาได้อย่างน่าสนใจคือ ‘Qing Ming, Team Ming, Ming Thing’ คอลเลกชั่น spring/summer 2019 ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากเทศกาลเชงเม้ง ซึ่งโรชาอธิบายว่าเป็นช่วงเวลาที่จะได้เฉลิมฉลองและตระหนักถึงความสำคัญของบรรพบุรุษไปพร้อมๆ กับการได้ใช้เวลาร่วมกับครอบครัว คอลเลกชั่นนี้ยังได้แรงบันดาลใจมาจากเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายในสมัยราชวงศ์ถัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากภาพวาดของนางคณิกาที่โรชาเล่าว่าไปเจอในตลาดของเก่าโดยบังเอิญ หนึ่งในไอเทมที่น่าสนใจที่สุดในคอลเลกชั่นนี้จึงเป็นหมวกทรงกว้างที่มีผ้าคลุมระโยงระยางลงมาปิดใบหน้า พร้อมลูกไม้ประดับประดาที่อ้างอิงมาจากหมวกในสมัยราชวงศ์ถัง
คอลเลกชั่นนี้ยังมีไอเทมอื่นๆ ที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นเดรสพิมพ์ลายภาพวาดสมัยราชวงศ์ถัง และรองเท้าสีโปร่งใสที่ประดับประดาด้วยดอกไม้ เพราะโรชาอยากจะให้ผู้สวมรองเท้านี้ดูเหมือนว่ากำลังเดินเท้าเปล่า ทั้งที่จริงๆ แล้วยังคงใส่รองเท้าอยู่
ก้าวออกจากกรอบ
แม้ว่าโรชาจะดีไซน์เสื้อผ้าผู้หญิงอยู่เสมอ ทว่าในการร่วมงานกันระหว่างซีโมน โรชา และ H&M ในคอลเลกชั่นล่าสุดที่จะวางขายในวันที่ 11 มีนาคมนี้จะเป็นครั้งแรกที่โรชาได้ออกแบบเสื้อผ้าให้กับผู้ชายและเด็ก ซึ่งนับว่าเป็นอีกก้าวที่น่าสนใจ
ในบทสัมภาษณ์กับ Harper’s Bazaar ต่อคำถามที่ว่า อะไรทำให้เธอตัดสินใจว่าถึงเวลาแล้วที่จะออกแบบเสื้อผ้าให้กับเด็กและผู้ชายสักที โรชาตอบว่า “มันเป็นจังหวะที่ดีมากๆ ที่ฉันจะได้ขยายพรมแดนของตัวเอง ฉันมักจะถูกถามอยู่เสมอเรื่องเสื้อผ้าเด็ก เพราะฉันตัดเย็บเสื้อผ้าให้กับลูกสาวของฉันอยู่แล้ว ส่วนเพื่อนผู้ชายของฉันก็ชอบถามอยู่เรื่อยๆ ว่าเมื่อไหร่ฉันจะออกแบบเสื้อผ้าสำหรับผู้ชายบ้าง ฉันคิดว่าการร่วมงานกับ H&M ในครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ดีไซน์เสื้อผ้าสำหรับทุกคนจริงๆ ซึ่งจริงๆ แล้วฉันมองว่าคอลเลกชั่นนี้เป็นการออกแบบเสื้อผ้าสำหรับครอบครัวหนึ่งเลยนะ”
สำหรับโรชา ความเป็นผู้หญิง ครอบครัว และการผสมผสานกันระหว่างวัฒนธรรมตะวันตกและตะวันออกคือเอกลักษณ์ที่ไหลเวียนอยู่ในผลงานของเธอเสมอ เฉกเช่นเดียวกับเครื่องประดับแวววาว เดรสยาวพองฟู และเครื่องหัวประดับมุก ภายใต้ภาพลักษณ์ที่แม้ว่าจะอ่อนหวานแต่ก็มักซุกซ่อนรายละเอียดเล็กๆ ของความไม่อ่อนน้อมยอมตาม จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยว่าทำไมบรรดาคนดังไม่ว่าจะเป็น Alexa Chung, Rihanna และ Lady Gaga จึงชื่นชอบแบรนด์นี้ หรือแม้กระทั่งเราเองก็ชักจะเริ่มตกหลุกรักผลงานของซีโมน โรชา อย่างโงหัวไม่ขึ้นแล้วเหมือนกัน
อ้างอิง