“ถ้าสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ ยังไงมันก็คุ้ม“ ว่าด้วยศิลปะและการเมืองกับทีมศิลปะปลดแอก

แท้จริงแล้ว ‘ศิลปะปลดแอก’ มีความหมายยังไง

ถ้ายึดในแง่คำศัพท์ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน คำว่า ‘ศิลปะ’ หมายถึง การแสดงออกซึ่งอารมณ์ให้ประจักษ์ด้วยสื่อต่างๆ ส่วนคำว่า ‘ปลดแอก’ หมายถึง การทำให้พ้นจากอำนาจการกดขี่หรือเป็นอิสระ ดังนั้นศิลปะปลดแอกก็น่าจะหมายถึง การแสดงออกซึ่งอารมณ์ให้ประจักษ์ด้วยสื่อต่างๆ เพื่อเป้าหมายในการพ้นจากอำนาจที่กดขี่และเป็นอิสระ

ฟังดูเข้าที แต่ถ้าเราเปลี่ยนจากความหมายของคำบนหน้าพจนานุกรมมามองความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยตอนนี้ล่ะ

แท้จริงแล้ว ศิลปะปลดแอกมีความหมายยังไง?

ศิลปะปลดแอก

ในการเรียกร้องช่วงปีที่ผ่านมา ศิลปะปลดแอก คือชื่อของกลุ่มคนทำงานด้านศิลปะที่มารวมตัวกันเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยผ่านเครื่องมือที่พวกเขาถนัด หลายคนอาจคุ้นชื่อพวกเขาจากกิจกรรมที่ชวนประชาชนมาแสดงออกทางการเมืองโดยใช้สีชอล์กและสเปรย์ในการประท้วงที่ราชประสงค์และห้าแยกลาดพร้าว การจัดทำแคมเปญสร้างการรับรู้ของการใช้มาตรา 112 อย่างไม่เป็นธรรม รวมไปถึงการระลึกถึงเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงผ่านภาพประกอบและวิดีโอในโลกออนไลน์

จากจุดเริ่มต้นของความพยายามขับเคลื่อนประเด็นทางการเมืองโดยศิลปินไม่กี่คน พวกเขาค่อยๆ ดึงคนที่สนใจมาเข้าร่วม จนเกิดเป็นคณะทำงานขนาดย่อมที่มักไปปรากฏตัวตามที่ชุมนุมและโลกออนไลน์ เพื่อใช้ศิลปะแสดงสัญลักษณ์ในการต่อต้านรัฐเผด็จการอยู่เสมอ

บางแคมเปญเป็นที่พูดถึงในวงแคบ บางแคมเปญสร้างการรับรู้ในวงกว้างระดับประเทศ แต่ทุกงานที่ออกมาในนามศิลปะปลดแอกล้วนมีเมสเซจและเจตจำนงที่ชัดเจนต่อบ้านเมืองนี้ทั้งนั้น

จากผลงานและความตั้งใจนี้เองที่ทำให้เราติดต่อทีมศิลปะปลดแอกเพื่อมาสนทนากัน ก่อนที่ในวันจริง เอ๋–ภาวิณี สมรรคบุตร, เต้–อดิศักดิ์ จันทร์ชัยภูมิ, บิว–รุ้งทอง กสิกุล, สินา วิทยวิโรจน์, เฟิร์ส–ธนพนธ์ อัคควทัญญู และ กระเดื่อง–พิสิฎฐ์กุล ควรแถลง (ไม่ปรากฏในรูป) จะปรากฏตัวเพื่อตอบคำถามที่เราสงสัย

ความเป็นมาของทีมและงานแต่ละชิ้นคืออะไร พวกเขามีอุดมการณ์แบบไหน 

และแท้จริงแล้ว ‘ศิลปะปลดแอก’ มีความหมายยังไง

คำตอบของพวกเขารออยู่ในบรรทัดต่อจากนี้

ศิลปะปลดแอก

ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นกันหน่อย พวกคุณมารวมกลุ่มกันได้ยังไง

เอ๋ : ถ้าในนามศิลปะปลดแอก เรามารวมกันครั้งแรกเพราะจะจัดงาน ‘Act สิ Art เทศกาลศิลปะ ที่จะไม่ทน!’ เพื่อแสดงจุดยืนว่าด้วยสถานการณ์ตอนนั้นมีศิลปินที่ถูกคุกคามเนื่องจากการแสดงออกทางประชาธิปไตย จากตรงนั้นมันเลยเกิดการรวมกันของคนทำงานสร้างสรรค์ในหลายวงการ กลายเป็นเครือข่ายคณะทำงานที่พอจบงานก็ยังขับเคลื่อนกันต่อ พร้อมกับการดึงคนเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงตอนนี้

กระเดื่อง : แต่ถ้านับจากก่อนหน้านั้นมันก็เกิดจากว่าเราอยากให้กลุ่มศิลปินออกมา call out บวกกับพอเราเริ่มไปม็อบเราก็เริ่มรู้สึกว่าม็อบขาดกิจกรรมอื่นๆ นอกจากการปราศรัย เลยคุยกับเพื่อนๆ ว่าศิลปินและคนทำงานสร้างสรรค์น่าจะเข้ามาร่วมในส่วนนี้ เราเลยเริ่มประกาศหาคนและเชิญคนที่สนใจมาประชุมกัน จนเกิดเป็นงาน ‘Act สิ Art เทศกาลศิลปะ ที่จะไม่ทน!’ อย่างที่เอ๋เล่า

ทำไมถึงคิดอยากให้กลุ่มศิลปินออกมา call out แล้วตอนนั้นศิลปะปลดแอกเข้ามาช่วยตรงนี้ยังไง

สินา : ตอนนั้นผมยังไม่เข้าไปในกลุ่มศิลปะปลดแอก แต่ในมุมมองผม ช่วงนั้นก็เริ่มมีคนที่ทำงานสร้างสรรค์เกี่ยวกับการเมืองแล้วนะ ในแวดวงภาพประกอบที่ผมทำก็เริ่มมีเยอะแล้ว แต่ละคนเริ่มหยิบจับสิ่งที่ตัวเองถนัดมาถ่ายทอด เพียงแต่ปัญหาสำคัญคือเราไม่มีพื้นที่มากกว่า เรามีแค่ความรู้สึกร่วมกันของสังคมที่อยากมีปากเสียงทางการเมืองแต่ไม่รู้จะรวมกันยังไง

เฟิร์ส : วงการละครที่ผมอยู่ก็คล้ายพี่สินา ผมเริ่มเห็นคนพูดถึงและไปม็อบ แต่มันก็เจอปัญหาคล้ายๆ กันคือเราไม่รู้ว่าช่วยอะไรได้บ้าง การเกิดขึ้นของศิลปะปลดแอกเลยเป็นเหมือนช่องทางที่มาช่วยตรงนี้

บิว : อย่างเราก็คล้ายๆ กับทุกคน ตอนแรกเราเป็นแค่ผู้ร่วมชุมนุมด้วยซ้ำเพราะไม่รู้ว่าตัวเองทำอะไรได้บ้าง เราเป็นแค่อดีตนักศึกษาศิลปะที่จบมาทำงานเอเจนซี แต่ทีนี้พอมีการชักชวน เราอยากร่วมด้วยเลยเข้ามาช่วย ซึ่งก็ได้ทำงานในแง่การเขียนและเรียบเรียงคอนเทนต์ ศิลปะปลดแอกเลยเป็นเหมือนช่องทางที่ทำให้เราและคนอื่นๆ แสดงออกได้หลายรูปแบบมาก ได้ทุกแขนงเลย

เหมือนการรวมตัวกันช่วยเพิ่มพื้นที่การแสดงออก

กระเดื่อง : มันช่วยให้ทุกคนมีอะไรทำ (ทุกคนหัวเราะ) ซึ่งเราว่าเพราะมันให้พลังที่ต่างกัน เวลาทำงานส่วนตัวเราก็จะมีพลังแบบหนึ่ง แต่พอเป็นงานกลุ่มที่ต้องแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและช่วยกันพัฒนา แต่ละคนจะใช้พลังทำงานแค่ในส่วนตัวเองไม่ได้แล้ว มันต้องอุดรูรั่วของกันและกัน ช่วยกันจนงานเสร็จโดยที่ทุกคนรู้สึกมีส่วนร่วมในงานนั้น

ถ้าให้วิเคราะห์ จุดร่วมที่ทำให้พวกคุณทำงานร่วมกันได้คืออะไร

กระเดื่อง : น่าจะเป็นความโกรธ (หัวเราะ) เราไม่ได้มีแพสชั่นว่างานของเราต้องเปลี่ยนแปลงสังคมอะไรขนาดนั้น เพราะเราเชื่อกันว่าสังคมมันเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว สิ่งที่ขับเคลื่อนเราเลยเป็นความโกรธและความโมโหที่ถูกกระทำมากกว่า มันทำให้เรายอมทำทุกอย่างแม้บางงานจะโหดมากก็ตาม เช่น การประชุมกันถึง 6 โมงเช้าแล้วตื่น 8 โมงไปลุยงานต่อ ความโกรธทำให้เราทำได้ขนาดนั้นเลย

ศิลปะปลดแอกเลือกประเด็นในการออกมาสื่อสารแต่ละครั้งยังไงบ้าง

เอ๋ : มันมีทั้งแบบที่เลือกไม่ได้เพราะเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนั้น ซึ่งกำลังต้องการแนวร่วมเรื่องนี้ กับอีกแบบที่เลือกได้ ซึ่งเราจะเลือกประเด็นทางการเมืองที่สนใจร่วมกันและต้องเป็นประเด็นที่มีที่มาที่ไป มีคำถาม มีเหตุที่เกิด และมีผลที่ยังคงอยู่ 

เฟิร์ส : ยกตัวอย่างโปรเจกต์รำลึกถึงเหตุการณ์การสลายการชุมนุมช่วงเดือนพฤษภาคม 2553 ก็ได้ครับ ประเด็นนี้เราเลือกกันเองเพราะอยากทำงานที่บันทึกเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะรายงานหรือสถิติของเรื่องนี้มันไม่เคยถูกนำเสนอในด้านที่เข้าถึงง่ายเลย พวกเราเลยเอาตรงนี้เป็นแรงผลักดันที่มีร่วมกันเพื่อบันทึกเหตุการณ์ให้คนไม่ลืม สุดท้ายก็ได้ไอเดียแรกว่าจะทำ live performance ณ สถานที่จริง เวลาจริง เพื่อบอกเล่าเรื่องที่เกิดขึ้น

ทำไมถึงเลือกนำเสนอด้วย live performance 

เอ๋ : เรามองว่ามันสามารถทำให้เหตุการณ์ที่ผ่านมานานกว่า 10 ปีน่าสนใจขึ้นได้ ถ้าเราอยากพาคนดูย้อนกลับไปไกลขนาดนั้นเพื่อนึกถึงคนที่เสียชีวิต การพาพวกเขาไปอยู่ในเวลาและสถานที่จริงน่าจะช่วยได้ แต่พอทำไปเรื่อยๆ ก็พบว่าทำอย่างเดียวไม่ได้ ข้อมูลบางอย่างไม่ชัด ตีกันไปมาว่าอะไรคือความจริงกันแน่ เพราะยิ่งรีเสิร์ชไปเรื่อยๆ เราจะพบว่า fact บางอย่างที่เราเคยเชื่อว่าจริงเมื่อ 10 กว่าปีก่อน แต่พอมาฟังตอนนี้คืออะไรก็ไม่รู้ เช่น ประกาศของ ศอฉ. (ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน) ที่ฟังแล้วจะอ้วก

สินา : ตรงนี้ถามเต้ต่อได้ เขาเป็นคนตัดคลิปทีเซอร์และคลิปออนไลน์ในกิจกรรมนี้

เต้ : ต้องออกตัวก่อนว่าพ่อกับแม่ผมเป็นเสื้อแดงอยู่แล้ว แต่ตอนนั้นผมไม่ได้รู้ลึกอะไรขนาดนั้น รู้แค่ว่ามีคนเสียชีวิต และด้วยความที่พ่อแม่เป็นเสื้อแดงผมเลยคิดแค่ว่าพวกเขาไม่ใช่ฝ่ายผิด ทำให้ผมเห็นต่างกับเด็กคนอื่นมาตลอดเลย เวลาเถียงกับเพื่อนก็เอาอะไรไปสู้ไม่ได้เพราะหลักฐานไม่มี แต่พอได้ทำงานนี้ผมได้เห็นฟุตเทจจากหลายๆ แหล่งที่อยู่ในเหตุการณ์วันนั้น ต้องไล่ดูฟุตเทจทุกอัน เห็นภาพศพ ภาพคนโดนยิง มีทุกอย่างเลย ซึ่งระหว่างที่นั่งไล่ดูฟุตเทจก็รู้สึกว่ามันไม่ควรมีวิดีโอแค่ตัวเดียว สุดท้ายนอกจากคลิปทีเซอร์สำหรับ live performance ผมเลยทำคลิปออนไลน์ออกมาด้วย

คลิปแรกเริ่มคือช่วงเมษาฯ เลือดที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ผมก็เอาเสียงคนที่ร้องทุรนทุรายทั้งหมดมาใส่ ประกอบภาพปัจจุบันที่เป็นถนนร้างเพราะโควิด-19 ให้คนจำได้ว่าพื้นที่ตรงนี้มันเคยมีเสียงกรีดร้อง เคยมีวิญญาณ และเคยมีคนตาย

ส่วนคลิปที่สองคือการบันทึกโมเมนต์ว่าทุกคนต้องเคยผิดพลาด ผมก็ไปใช้วิธีเข้าไปสแนปคอมเมนต์หรือโพสต์ในตอนนั้นที่หลายคนกระหน่ำด่าคนเสื้อแดง มันเต็มไปด้วยการเหยียดและมองคนไม่เท่ากันสูงมาก ประกอบกับที่ฝ่ายรัฐก็ออกข่าวโจมตีว่านี่คือพวกป่วนเมือง ผมเลยอยากบันทึกไว้ว่าที่รัฐมีคำสั่งฆ่า พวกคุณก็เป็นส่วนหนึ่งในคำสั่งนั้น อันนี้คือจัดเต็มเลย

ส่วนที่อยู่นอกเหนือจากนี้จะเป็นคลิปที่ผมทำเพิ่มเติมโดยการไปรวบรวมคำพูดของโฆษก ศอฉ.ในตอนนั้น ตัดคลิปสลับกับความเป็นจริงเพื่อให้เกิดการย้อนแย้ง ผมคิดกับตัวเองว่าถ้าปัจจุบันคนยังด่าเสื้อแดงอยู่ อะ ไปดูคลิปนี้ซะ จะได้เข้าใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจริงแม่งคืออะไร คุณแค่ดูและใช้วิจารณญาณพอ ผมย่อยมาให้หมดแล้ว

เรียกได้ว่าขับเคลื่อนการทำงานด้วยความแค้นเลยครับ

บิว : นี่แหละค่ะคือจุดร่วมของเรา

พวกคุณมีเพดานในการนำเสนอเนื้อหาไหม

กระเดื่อง : ถ้าเรื่องนั้นเป็น fact ก็ไม่น่ามีเพดานเท่าไหร่นะ 

สินา : ผมว่าเพดานเราไปพร้อมกับการชุมนุมด้วย เพราะเราเชื่อว่าสิ่งที่ม็อบทำไว้ไม่ผิด เราก็ไม่อยากนำเสนออะไรที่เป็นเหมือนการลดเพดานหรือเพิ่มเพดานเพื่อสร้างความเกลียดชัง

 เอ๋ : เราว่าเพดานไม่ใช่สิ่งที่เราคิดถึงเป็นอย่างแรกหรอก เราไม่ได้คิดถึงข้อจำกัด แต่พวกเราแค่มองว่าบางเรื่องก็จำเป็นต้องรื้อหรือตั้งคำถามจริงๆ เพื่อไปต่อ เพราะถ้าประวัติศาสตร์ไม่ได้บันทึกเรื่องจริงเราก็ต้องเอามาชำระกัน ซึ่งถ้าตรงนั้นคือสิ่งที่เรียกว่าเพดาน เราว่ามันก็ต้องแตะเพดานให้ได้

แล้วอย่างการนำเสนอที่เป็นประเด็นที่เกิดขึ้นปัจจุบันทันด่วนล่ะ พวกคุณมีวิธีเลือกประเด็นและนำเสนอแตกต่างจากแบบที่วางแผนล่วงหน้าไหม เช่น กรณีของเพนกวิน (พริษฐ์ ชิวารักษ์) ที่อดอาหารประท้วงในเรือนจำ

เอ๋ : อย่างเรื่องเพนกวิน ประเด็นที่เร่งด่วนสำหรับพวกเราคือชีวิตของเขา ดังนั้นมันตั้งต้นจากโจทย์ว่าทำยังไงไม่ให้เขาตาย เราเริ่มจากตรงนี้ก่อน แล้วถามตัวเองต่อว่าในฐานะศิลปะปลดแอกเราทำอะไรได้บ้าง สุดท้ายก็ตกลงกันว่าอยากชวนคนให้รู้สึกถึงความเป็นมนุษย์ของสิ่งที่เพนกวินทำ

บิว : เราโฟกัสไปที่การอดอาหาร ตั้งคำถามว่าแล้วที่จริงเขาอดอาหารเพื่ออะไร เราเลยเขียนคอนเทนต์และวาดรูปทุกวันตั้งแต่วันที่เพนกวินอดอาหารวันแรก เพื่อสื่อว่ากำลังมีคนคนหนึ่งอดอาหารเพื่อประท้วงและถามหาความยุติธรรม เขากำลังทำในวิถีทางของเขา เราก็ทำในวิถีทางของเราคือเป็นกระบอกเสียงให้คนรับรู้ว่ามีความไม่ยุติธรรมเกิดขึ้น โดยในแต่ละโพสต์ก็จะมีคำบอกเล่าของแม่ น้อง และทนายของเพนกวินที่เราได้พบเจอ ทำขึ้นเพื่อให้เขารู้สึกร่วมว่านี่ไม่ใช่การต่อสู้คนเดียว

เต้ : ซึ่งนอกจากรายละเอียดคอนเทนต์ที่ทำเอง เราก็พยายามจะแมสนะ อย่างกรณีนี้เราก็อยากให้คนสนใจเพราะเพนกวินมีสิทธิตายได้ทุกวัน ดังนั้นนอกจากคอนเทนต์ เราก็มีการต่อยอดอื่นๆ บ้าง เช่นการส่งเรื่องไปที่สำนักข่าวหรือชูป้าย

ที่บอกว่าพยายามจะแมส แสดงว่าคุณคิดถึงทุกกลุ่มเป้าหมายเลยไหม แม้กระทั่งคนที่เห็นต่างกับคุณ

เต้ : เราคิดถึงพวกเขาอยู่ตลอดแหละครับ (ทุกคนหัวเราะ)

เอ๋ : เราไม่เคยคิดจะปิดกั้นการสื่อสารเลยนะ ไม่เคยมองว่ากูจะไม่คุยกับมึง ชาตินี้อย่ามาเจอหน้ากันอีก แม้กระทั่งคนที่เข้ามาด่า เราก็อยากสื่อสารกับเขา

เต้ : เราพยายามทำเยอะมากนะ ไอ้การแฮ็กอัลกอริทึมเนี่ย

แฮ็กอัลกอริทึม?

เต้ : (พยักหน้า) เพราะส่วนใหญ่พวกเขาจะเชื่อตามหมู่เพื่อนหรือข้อมูลจากฝั่งตัวเอง ต่อให้มีข้อมูลจากสื่อหัวอื่นก็ไม่สามารถหักล้างได้ ดังนั้นการจะสื่อสารกับคนกลุ่มนี้จึงเป็นเรื่องยากมาก เราเลยคิดว่าสิ่งที่ทำได้และน่าจะเกิดผลที่สุดคือสื่อสารกับคนที่อยู่ตรงกลางมากกว่า กลุ่มนี้ผมว่าน่าจะเป็นกลุ่มที่เราอยากพูดคุยด้วยมากที่สุด

สินา : ซึ่งนั่นทำให้เราใช้วิธีสื่อสารแบบที่ธรรมดาที่สุดนั่นเอง อย่างเรื่องของเพนกวิน เราก็แค่บอกว่าเขาอดมากี่วันแล้ว เพื่อให้คนที่เข้ามาอ่านเริ่มรู้สึกอะไรบ้าง แต่ถ้าไม่อ่านเราก็ไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์ เพราะพอเราทำงานโดยวางตัวแบบนี้ หลายครั้งเราก็ต้องพูดด้วยน้ำเสียงกลางๆ เข้าไว้

เฟิร์ส : แต่บางครั้งก็ไม่ ก็แล้วแต่สถานการณ์ด้วย

บิว : เหมือนศิลปะปลดแอกเป็นคนหนึ่งที่มีหลายน้ำเสียงได้ เพราะในบางทีสิ่งที่เราพูดมันจะรุนแรงหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับผู้เสพ บางโพสต์เป็น fact ธรรมดาแต่คนกลับเข้ามาด่ากันยับ ดังนั้นมันอยู่ที่คนเสพเองด้วยว่าเชื่อข้อมูลแบบไหนก็ให้เขาตัดสินเองได้เลย แต่พวกเราเลือกแสดงออกแบบนี้

แล้วพวกคุณคิดเห็นยังไงกับการเลือกแสดงออกทางศิลปะอย่างที่ตัวเองตั้งใจ แต่กลับโดนคุกคามทางกฎหมายแบบทุกวันนี้

กระเดื่อง : ไม่ใช่แค่เรื่องศิลปะหรอก ตอนนี้ทำอะไรก็โดนได้ทั้งนั้น เพราะมันผิดปกติตั้งแต่กฎหมายแล้ว ดังนั้นผมว่าเราควรจะมองที่ตัวกฎหมายมากกว่า ส่วนที่ว่าเป็นหรือไม่เป็นศิลปะมันไม่ได้สำคัญขนาดนั้น เพราะอย่างที่พวกเราทำอยู่ก็ไม่ใช่การรวมตัวกันเพื่อทำงานศิลปะนะ แต่มันคือการรวมกลุ่มของคนที่สนใจการเมืองเพื่อทำงานผ่านความคิดสร้างสรรค์เฉยๆ

ถ้างั้นศิลปะปลดแอกในความหมายของคุณคืออะไร

สินา : ไม่รู้คนอื่นคิดยังไงนะ แต่ความเข้าใจของผม ศิลปะปลดแอกคือการเอาศิลปะมาใช้เพื่อการปลดแอก ดังนั้นโจทย์ไม่ใช่การสร้างศิลปะ โจทย์คือการปลดแอก ส่วนศิลปะเป็นเครื่องมือของการปลดแอกเท่านั้น

บิว : อีกอย่างคือศิลปะไม่ได้จำกัดให้ศิลปินใช้อย่างเดียว ไม่ใช่แค่ศิลปินที่ทำงานศิลปะได้ ดังนั้นถ้าเรามีเรื่องที่อยากเล่า พวกเราก็มีสิทธิใช้คำว่าศิลปะในการเคลื่อนไหว

เน้นความหมายของสิ่งที่ทำ ไม่ใช่วิธีการ

เฟิร์ส : (พยักหน้า) เน้นการทำให้เห็น เพียงแค่เราทำแบบนี้อยู่ แล้วคุณล่ะ ทำอะไรอยู่

สินา : ผมว่าทุกคนเข้าใจเรื่องนี้ตรงกันนะ เพราะจากประสบการณ์ที่เจอกับผู้ชุมนุม ผมไม่เคยได้ยินบทสนทนาที่ถกกันเรื่องศิลปะด้วยซ้ำ ทุกคนเข้าใจโดยทันทีว่าเรื่องนั้นมันไม่ได้มีความหมายเท่ากับจุดประสงค์ของสิ่งที่เราทำ

ศิลปะปลดแอก

ถ้าอย่างนั้น พวกคุณมองศิลปะปลดแอกอยู่ตรงไหนของขบวนสังคมในปัจจุบัน

เต้ : ผมมองว่าพวกเราเป็นเหมือนฝ่ายซัพพอร์ตมากกว่า เช่น ถ้าที่ไหนมีม็อบก็ทักเรามาได้ เผื่อจะช่วยเหลือทำอะไรร่วมกัน และถ้าเกิดมีประเด็นด่วนอย่างเรื่องของเพนกวิน เราก็จะหยิบขึ้นมาเล่าเพื่อเพิ่มมิติความสนใจของสื่อผ่านเครื่องมือศิลปะ

สินา : แต่ทั้งหมดนี้ก็ไม่ใช่การวางแผนหรืออะไรนะครับ ส่วนใหญ่ที่ทำกันมาเป็นกรณีของการที่เรารู้ตัวว่ามีเครื่องมือที่จะช่วยเหลือคนอื่นได้ เราก็ทำเลยโดยที่ยังใช้ศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการ

บิว : อีกอย่างคือเรารู้สึกว่าการเคลื่อนไหวในปัจจุบันมันแทบไม่รู้แล้วนะว่ารูปขบวนอยู่ตรงไหน ดังนั้นเราไม่ได้วางตัวเองอยู่ในจุดไหนของการเคลื่อนไหวขนาดนั้น แต่ถ้าใครอยากขอความช่วยเหลือจากเรา ยกมือแล้วตะโกนเรียกศิลปะปลดแอก เราก็จะไป หรือถ้ามีโปรเจกต์ที่อยากพูดถึง เราก็แค่ยกมือ ดังนั้นเรารู้สึกว่ามันไม่มีรูปขบวนที่ชัดเจนนะ

เฟิร์ส : สรุปคือศิลปะปลดแอกกำลังเดินทางและเติบโตไปพร้อมกับขบวนเคลื่อนไหวของประชาชนนั่นแหละครับ

ศิลปะปลดแอก

ทราบมาว่ามีทีมงานของศิลปะปลดแอกกำลังถูกดำเนินคดีเพราะการแสดงออกอยู่ด้วย เหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบต่อพวกคุณไหม ต้องลดเพดานหรือเปล่า

เอ๋ : คงไม่มีการลดเพดาน แต่ก็มีการประเมินความเสี่ยงมากขึ้นว่าเรื่องที่เราอยากสื่อสารมันคุ้มหรือไม่คุ้ม ซึ่งคุ้มในที่นี้หมายถึงว่าถ้าโดนจับเข้าคุกไปสัก 10 ปี แต่ถ้ามันเปลี่ยนแปลงอะไรได้นี่ก็อาจจะคุ้ม แต่ถ้าเกิดว่าเข้าคุกไปแล้วไม่เกิดอะไรขึ้น บางทีอยู่ข้างนอกอาจทำประโยชน์มากกว่า เราเลยระมัดระวังตัวมากขึ้น แต่เรื่องที่ควรต่อสู้อย่างกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม พวกเราก็ยังเลือกออกมาสื่อสารเหมือนเดิมแม้จะเสี่ยงก็ตาม

อะไรผลักดันให้พวกคุณยอมเสี่ยงขนาดนั้น

บิว : สำหรับเรา ในเมื่อกฎหมายสามารถถูกใช้แบบผิดๆ ได้ ดังนั้นมันมีโอกาสที่จะลามไปเรื่องอื่นๆ ได้เช่นกัน ถึงเลือกที่จะไม่เสี่ยงมันก็ไม่มีอะไรการันตีว่าวันหนึ่งกฎหมายจะมาถึงเราไหมอยู่ดี ดังนั้นเราเลือกทำดีกว่า ถึงทำไปแบบระมัดระวังแต่ไม่ใช่เพราะกลัว เพราะว่ากันตามจริงเราไม่กลัวโดนจับนะ แต่เราแค่ระมัดระวังเพื่อปิดช่องไม่ให้เขาใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมกับเราเท่านั้นเอง

สินา : แต่สำหรับผมมันเป็นเรื่องง่ายมากเลยนะ คือถ้าเชื่อว่าสิ่งที่ทำมันถูกต้อง ผมก็ทำ จบ

ถ้าต้องการหยุดการใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมหรือสถาบันต่างๆ ในสังคมที่มีปัญหา ถึงคนอื่นจะมองด้วยแว่นตาว่าไม่พูดดีกว่า ปลอดภัยกว่า แต่ผมไม่อยากใส่แว่นตานั้น เพราะถ้าทุกคนคิดแบบนั้น ศิลปะปลดแอกคงไม่เกิดขึ้นมาแบบทุกวันนี้

ก่อนหน้านี้ผมเคยอยู่ในกลุ่มที่พยายามดึงศิลปินที่พูดเรื่องการเมืองมารวมกันหลายกลุ่มเลยนะ แต่ทุกครั้งมันล้มหมดเพราะไปติดเพดานหรือการแปะป้ายของบางคนต่องานศิลปะ แต่พอมาเจอศิลปะปลดแอก สิ่งเหล่านั้นมันหายไปแล้ว ทุกคนคือคนเท่ากัน ถึงมีบางทีที่เราถกเถียงกันแต่ทุกคนก็เชื่อในการลงมือทำมากกว่า

คำถามสุดท้าย ถ้าให้สรุปในนามของการเป็นส่วนหนึ่งในศิลปะปลดแอก สิ่งเหล่านี้เติมเต็มพวกคุณได้ยังไงบ้าง

เต้ : โดยส่วนตัวผม ผมคิดว่าถ้าไม่ใช่ช่วงเวลานี้ที่จะแสดงออก มันก็ไม่มีช่วงเวลาไหนแล้ว สิ่งที่ทำตรงนี้เป็นอิสระของผมจริงๆ ที่จะได้พูดเรื่องที่ไม่สามารถคุยกับใครได้มานาน มันทำให้ชีวิตผมไม่ซึมเศร้านัก

สินา : ผมว่ามันทำให้ผมรู้สึกไม่เหงา อย่างตอนที่เราเกรี้ยวกราดทางการเมืองมากๆ ศิลปะปลดแอกทำให้ผมรู้สึกว่ามีคนที่คิดเหมือนกันอยู่รอบๆ มันทำให้รู้สึกไม่เดียวดาย และยิ่งเราได้ช่วยทำอะไรบางอย่างในฐานะประชาชนคนหนึ่ง มันทำให้ผมรู้สึกว่าตัวเองมีประโยชน์

บิว : เรารู้สึกเติมเต็มนะ เพราะถ้าจินตนาการว่าเราทำทั้งหมดนี้ด้วยตัวคนเดียว เราว่ามันเหนื่อยและท้อเกินไป แต่พอรวมกลุ่มกันทำ พลังที่จะทำให้ทุกอย่างสำเร็จก็เกิดขึ้น เราชอบในจุดนี้

เฟิร์ส : เมื่อก่อนเวลาทำงานเรามีปัญหาเรื่อง self-sensitive คือไม่กล้าพอที่จะพูดถึงเรื่องการเมืองอย่างตรงไปตรงมาในตัวงาน แต่พอมาอยู่ศิลปะปลดแอก ทุกอย่างในนี้ทำให้เรากล้ามากขึ้น เราสามารถพูดสิ่งที่อยากพูดได้ คล้ายกับที่นี่เสริมพลังให้เรา

เอ๋ : ที่นี่สร้างช่วงเวลาให้เรารู้สึกว่าตัวเองได้เจอคนเก่งมากมายไปหมด แล้วยังเป็นคนกลุ่มที่มีเป้าหมายต่อสังคมและมีชีวิตที่ใกล้เคียงกันอีก ทุกอย่างผลักดันเราให้ไปไกลกว่าที่ตัวเองเคยคิดว่าจะไปได้ ยิ่งเราเป็นศิลปินคนหนึ่งที่ใช้ศิลปะการละคร เรารู้สึกว่าไม่มีช่วงเวลาไหนอีกแล้วที่จะได้ทำงานในพื้นที่จริง คนดูจริง และมีคนที่ได้รับพลังจากผลจากงานของเราอยู่จริงๆ แบบตอนนี้

ดังนั้นไม่มีเวทีไหนสำคัญกับชีวิตเรามากเท่าเวทีนี้อีกแล้ว ทั้งในฐานะศิลปินและประชาชนคนหนึ่ง

ศิลปะปลดแอก

Call Out By Your Name คือซีรีส์ที่รวมการต่อสู้เรียกร้องในนามประชาชนผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรมในสังคมและได้รับผลกระทบจากรัฐในช่วงวิกฤตการณ์โควิด-19 ติดตามตอนต่อไปที่หน้าเว็บไซต์และทุกช่องทางของ a day

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย