Splashing Theatre : กลุ่มละครเวทีของเด็กรุ่นใหม่ที่พร้อมสาดกระจายความขบถแบบวัยรุ่นใส่คนดู

เราเชื่อในพลังของวัยรุ่น

โดยเฉพาะวัยรุ่นที่รู้ตัวว่าหลงรักสิ่งใดแล้วตั้งใจทำเต็มที่โดยไม่ได้มองผลตอบแทนเป็นเรื่องหลัก มากไปกว่าแค่ได้ทำในสิ่งที่รัก และได้บอกในสิ่งที่เป็นตัวเอง

พลังนั้นส่งมาถึงเราอย่างชัดเจนระหว่างที่นั่งสนทนากับ เฟิร์ส-ธนพนธ์ อัคควทัญญู และ แมค-ธงชัย พิมาพันธุ์ศรี สองหนุ่มในวัย 20 ต้นๆ ที่รวมตัวกันในชื่อ Splashing Theatre ที่สร้างสรรค์ละครเวทีโรงเล็กแต่จัดเต็มทั้งเนื้อหา นักแสดง และแนวทางการกำกับอย่างเนื้อชั้นไม่ซ้ำใคร

เกริ่นสั้นสำหรับใครที่ไม่เคยชิมผลงานของพวกเขา, 5 เรื่องในระยะเวลา 3 ปีน่าจะพอการันตีความต่อเนื่องและเอาจริงเอาจังได้ ส่วนเรื่องคุณภาพ ผลงานอย่าง Whaam! (A Brief History of Unknown Astronaut) (2015) ว่าด้วยเรื่องราวของนักบินอวกาศผู้กำลังจะเดินทางไปยังสถานที่อันไกลโพ้น หรือ The Disappearance of the Boy on a Sunday Afternoon (2016) ก็สามารถคว้ารางวัลละครเวทียอดเยี่ยมจากชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดงในปีนั้นๆ ไปครอง

ความกล้าบ้าบิ่นในเนื้อหาที่ท้าทายขนบ ตัวละครชายขอบที่ลุกขึ้นมาขบถกฎเกณฑ์อึดอัดสักอย่างของสังคม บทสนทนาลึกซึ้งคมคายที่เกิดจากการทำการบ้านมาอย่างหนัก คือภาพรวมที่เราในฐานะคนดูเฝ้าติดตามและชื่นชมงานของ Splashing Theatre มาตลอด

ในวาระที่ละครเรื่องใหม่ชื่อเรื่องแสนยาว Teenage Wasteland : Summer, Star and the (Lost) Chrysanthemum กำลังจะจัดแสดง เลยเป็นโอกาสอันดีที่เราจะชวนกลุ่มคนทำละครเลือดใหม่สุดแอ็กทีฟนี้มาพูดคุยยาวๆ ถึงวิถีและวิธีการทำงานของคนทำละครเวทีโรงเล็กในประเทศที่ที่ทางของศิลปะการละครยังไม่เปิดกว้าง

ถ้าไม่ใช่รายได้เป็นสำคัญ พวกเขาหลงใหลมันเพราะอะไร?

รู้มาว่าทั้งสองคนเจอกันที่ชุมนุม TU Drama ตอนเรียนอยู่ธรรมศาสตร์ เล่าให้ฟังหน่อยว่าเป็นมายังไงและชมรมนี้ทำอะไรบ้าง
เฟิร์ส: เราเรียนคณะวารสารศาสตร์ฯ แพสชันของเราอย่างเดียวก่อนเข้ามหา’ลัยคือทำหนัง แต่ตอนปี 1 รุ่นพี่เรียกไปแคสติ้งแล้วก็ได้แสดงละครเวทีของคณะ ทำไปทำมารู้สึกสนุกเลยมาเข้าชุมนุม คิดว่ามาทางนี้ดีกว่า ตัดสินใจแล้วก็ไม่กลับไปทำหนังอีกเลย

แมค: ก่อนเข้ามหาวิทยาลัยไม่รู้จักละครเวทีเลย ไม่คิดด้วยว่าตัวเองจะได้มาทำ ที่คณะรัฐศาสตร์ปกติไม่ได้มีละครเวที แต่ปีที่เราเข้าไปดันมีและรุ่นพี่ผู้กำกับที่อยู่ในชุมนุมเรียกให้เราไปแคสติ้ง จนได้เล่น และก็สนุกกับมัน เลยมาเข้าชุมนุมตอนปี 2

เฟิร์ส: ชุมนุมจะมีโปรเจกต์ประจำปีอยู่ประมาณหนึ่ง อย่างงานรับเพื่อนใหม่ มีโปรดักชันประจำปี แต่พอมาเจอแมคก็เริ่มคิดว่าแค่นี้ยังไม่พอ ปีนึงได้ทำแค่ 3 เรื่องเอง เลยคิดโปรเจกต์หลายอย่างขึ้นมา ทำเวิร์กช็อป ชวนรุ่นพี่ที่จบไปแล้วกลับมาช่วยสอน ความพิเศษของชุมนุมเราคือไม่มีหลักสูตรว่าต้องทำละครแบบนี้ๆ ไม่ได้เรียนละครเวทีโดยตรงด้วยซ้ำ เราคิดว่าน่าจะเป็นแบบไหนก็ด้นสดกันไปแล้วรอฟังฟีดแบ็กจากคนดู นั่นคือการเรียนรู้การทำละครในรูปแบบของเรา

แสดงว่าช่วงที่เรียนอยู่ก็ได้เริ่มทำละครเวทีของตัวเองกันบ้างแล้ว
แมค: ตอนนั้นโชคดีที่มีเทศกาลหลายอย่างเกิดขึ้นเยอะ อย่างง่ายสุดก็เทศกาลละครกรุงเทพ (Bangkok Theatre Festival) เทศกาลศิลปะนานาพันธุ์ หรือเทศกาลละครสั้นของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว)

เฟิร์ส: งานที่เราเริ่มรู้จักรุ่นพี่ในวงการละครเวทีคือตอนปี 3 ที่ธรรมศาสตร์ครบรอบ 80 ปี ก็ได้ทำงานกับพี่ตั้ว-ประดิษฐ ประสาททอง ซึ่งเป็นรุ่นพี่ชุมนุม จากตรงนั้นก็ได้เปิดโลกเข้ามาในวงการละครเวทีโรงเล็กเลย เราไปทำงานกับกลุ่มพระจันทร์เสี้ยว ส่วนแมคก็ไปเวิร์กช็อปกับ B-Floor

พอขึ้นปี 4 เลยคิดว่ามาตั้งกลุ่มละครกัน เพราะจบไปก็น่าจะทำกันต่อ มีเรา แมค และรุ่นน้องอีกคนชื่อปัท ชื่อกลุ่มมาจากละครที่เราทำกันตอนปี 3 เรื่อง Splash!!! เอาความรู้สึกของนักแสดงมาเป็น performance ให้ทุกคนระบายเรื่องราวที่ไม่พอใจ อะไรบางอย่างที่พูดข้างนอกไม่ได้ออกมาผ่านการสาดสี เรื่องนั้นสนุกและฟีดแบ็กดีพอให้คนเริ่มรู้จักเรา และชื่อก็เหมาะกับคาแรคเตอร์ของละครที่เราอยากจะทำ เลยกลายมาเป็น Splashing Theatre

เฟิร์สบอกว่าตอนแรกมีแพสชันกับภาพยนตร์มากๆ แล้วทำไมสุดท้ายเปลี่ยนมาทำละครเวทีเต็มตัว
เฟิร์ส: น่าจะเป็นเพราะกระบวนการตอนทำ ตอนทำหนังเรารู้สึกเราเป็นเครื่องจักรบางอย่าง แต่ไม่ได้เกลียดหนังนะ แค่รู้สึกว่าคนรอบข้างไม่ใช่คนเท่าไหร่ แต่เวลาทำละคร เราได้อยู่ได้คุยกับคนจริงๆ อาจจะส่วนตัวด้วยว่าก่อนเข้ามหา’ลัยเราเป็นคนค่อนข้างปิด คุยกับคนไม่เป็น แต่หลังจากทำละคร ก็คุยกับคนเป็นมากขึ้น อย่างน้อยเวลานั่งแท็กซี่เขาถามทาง เราก็ไม่อ้ำอึ้ง แล้วรู้สึกว่ามันอิสระกว่าด้วยครับ ละครโรงเล็กยังไม่เป็นอุตสาหกรรม เราสามารถทำอะไรก็ได้ แค่เสียเงินหน่อย

แมค: หรือเข้าเนื้อหน่อย (หัวเราะ) อย่างเราเอง ตอนเด็กๆ ไม่เหมือนเฟิร์สที่ไม่ค่อยมีทัศนคติต่ออะไร แต่พอได้มาแสดงละคร เรารู้สึกว่าเรากำลังช่วยให้คนบางคนได้พูดสิ่งที่เขาอยากพูด แต่พูดออกมาไม่ได้ เราทำตัวเป็นภาชนะของเขา

เฟิร์ส: สำหรับเรามันเป็นพื้นที่ให้ระบายอะไรที่เราพูดไม่ได้ อัดอั้นตันใจ ไม่รู้จะพูดกับใคร

เป็นเหตุผลให้เนื้อหาของละครมักพูดถึงคนตัวเล็กๆ ที่อยากพูดอะไรออกมาด้วยหรือเปล่า
เฟิร์ส: ความสนใจหลักของเราอยู่ที่วัยรุ่นธรรมดาทั่วไปที่พยายามจะขบถ ต่อต้านอะไรสักอย่าง เราเห็นภาพคนแบบนั้นตลอดเวลาที่เราเขียนบท เราเป็นวัยรุ่นอยู่เลยอยากพูดเรื่องวัยของเรา เป็นบทบันทึกต่อความรู้สึก ต่อสังคม ต่อตัวเองในช่วงนั้นของเรา หลายงานก็เกิดจากป๊อปอัพเล็กๆ ดูหนังแล้วชอบ อยากทำภาพแบบนี้เป็นละคร มีอาร์ตไดเรกชันแบบนี้ อย่างตอนทำ Whaam! แค่อยากทำละครไซไฟแอคชันท่องอวกาศ แต่พอเขียนไปเขียนมาดันกลายเป็นเรื่องตัวเอง มีเศษเสี้ยวประวัติศาสตร์ของตัวเองอยู่ในนั้น

ทำการบ้านต่อจากไอเดียเล็กๆ นั้นยังไง
เฟิร์ส: ดูหนังเกี่ยวกับสิ่งนั้น หรืออ่านหนังสือเกี่ยวกับสิ่งนั้น เป็นช่วงรีเสิร์ชประมาณ 1 – 2 เดือน ดูๆๆ อ่านๆ ไม่ได้จดอะไร แต่ทำงานในหัวแล้วค่อยเขียนออกมา ดูได้ 20 – 30 เรื่อง แล้วพอเริ่มเขียนก็ต้องมีสมาธิมากๆ อย่างแรกคือต้องไม่มีคนรอบข้างมาคุย ปกติจะนั่งสมาธิแป๊บนึงแล้วเราจะอยู่ใลกใบนั้น เป็นตัวละครนั้นไปเลย ก็ค่อนข้างอยู่กับบทเยอะระดับหนึ่ง

ละครแต่ละเรื่องก็ค่อนข้างเป็นโลกแฟนตาซีด้วย ทำไมถึงต้องสร้างโลกใบใหม่ขึ้นมาทุกๆ เรื่อง
เฟิร์ส: เพราะว่าชอบได้มั้ย (หัวเราะ) อาจจะเป็นรสนิยมเราด้วยที่ไม่ชอบทำงานเรียลิสติก เราดูงานเรียลิสติกได้นะ แต่เราสนใจช่วงกึ่งกลางระหว่างความจริงกับไม่จริง การสร้างโลกใหม่ในละครเลยตอบโจทย์สิ่งที่เราสนใจ โลกนี้จริงหรือไม่จริง เราสนใจโลกแบบนั้น

พอคิดเรื่องจากตัวเองเข้าไปในบท แล้วมีวิธียังไงให้สิ่งนี้ส่งไปถึงคนดูเขาสนใจหรืออินด้วย
เฟิร์ส: ปกติจะบิดมันครับ เราไม่ได้เอาเรื่องส่วนตัวเต็มร้อยไปทำ มันเป็นแค่ 50 – 60 เปอร์เซ็นต์ เราเอาก้อนความรู้สึกของเรามาโยน หาสถานการณ์ บทพูดหรือเทคนิคบางอย่างที่เลือกใช้มาส่งต่อก้อนนั้นออกไป

นักแสดงล่ะมีฟีดแบ็กยังไงบ้างตอนอ่านบท
แมค: ไม่รู้เรื่องเลย ต้องการจะพูดอะไร อ่านไม่เข้าใจ (หัวเราะ)

เฟิร์ส: แต่เราก็พยายามอธิบายนะ

แมค: ใช่ๆ ด้วยความที่บทของเฟิร์สบางครั้งมันละเอียดมาก ความหมายที่มีอยู่ในเรื่อง นักแสดงอาจไม่จำเป็นต้องเข้าใจทั้งหมดก็ได้ แค่เข้าใจว่าเราต้องทำอะไรในซีนนั้น ส่วนบางไลน์ที่มีความหมายลึกซึ้ง ตัวเราเองคิดไปก็คิดไม่ออก

เฟิร์ส: เวลาส่งบทให้ใครอ่านเราจะมีชุดคำถามไว้นิดหนึ่ง รู้สึกยังไง ชอบไหม ตรงนี้หม่นไปไหม แต่ส่วนใหญ่เวลาเช็คจริงๆ ก็เป็นกับคนดูมากกว่าเพราะเป็นกลุ่มใหญ่และสนุกกว่า คนนี้เห็นแบบนี้ คนนี้ไม่รู้เรื่อง คนนี้เข้าใจตรงนี้ได้ ทำให้เราเอาไปพัฒนางานต่อๆ ไป

ถ้าคนดูเข้าใจก็แปลว่าสิ่งนี้ดีแล้ว
เฟิร์ส: ไม่ๆ ถ้าเข้าใจเราก็แค่รู้สึกว่าอย่างน้อยเราพูดให้คนดูบางคนเข้าใจได้ หรือถ้าตรงไหนคนดูไม่เข้าใจเลย ก็จะมานั่งถามตัวเองว่าเราต้องการอย่างนี้หรือเปล่า มีงานบางงานที่เราแค่อยากให้เขารู้สึกถึงมวลอะไรบางอย่างแต่ไม่ต้องเข้าใจ คนดูรู้สึกตามที่เราคิดไว้ไหม บางฉากเราแค่ต้องการภาพที่แปลกออกไป แล้วปล่อยให้คนดูไปคิดเองว่ามันคือประโยคความหมายอะไร เหมือนสร้างหมอกขึ้นมาแล้วให้คนดูเดินเข้าไปในนั้น

คิดว่าละครเวทีของกลุ่มเราดูยากไหม
เฟิร์ส: เราไม่เชื่อเรื่องความดูยากหรือดูไม่ยาก เหมือนเวลาไปกินอาหารแปลกๆ อย่างเนื้อจระเข้ เนื้อห่าน ละครเราคงเป็นประมาณนั้นมั้ง ถ้ากินไปสักพักคนอาจจะเก็ต บางคนอาจยังจูนไม่ติดกับงานสไตล์เราหรือยังไม่คุ้นตามากกว่า เราไม่รู้เหมือนกันว่างานเราแปลกกว่างานคนอื่นขนาดนั้นไหม เราแค่พยายามจะเป็นตัวเรามากที่สุด ไม่ได้คิดจากพื้นฐานว่าต้องทำให้ดูไม่รู้เรื่อง แต่เราจะเล่าเรื่องนั้นออกมาในแบบที่อยากเล่า แบบที่เราคิดว่ามันต้องเล่าแบบนี้ถึงจะนำเสนอสิ่งที่เราคิดออกมาได้เท่านั้น

โอเค แล้วพอได้บทมาแล้วเราทำงานกับนักแสดงต่อยังไง
เฟิร์ส: เราจะยังไม่เขียนบทจนกว่าจะมีนักแสดง เราจะดีลนักแสดงให้ครบก่อนแล้วเขียนบทหลังจากนั้น

ปกติไม่ใช่ว่าต้องมีบทก่อนถึงจะรู้ว่ามีตัวละครอะไรบ้างเหรอ
แมค: เฟิร์สเป็นคนที่ต้องเห็นก่อนว่านักแสดงเขาทำอะไรได้ เวลาที่เราแสดงทุกครั้ง เราจะรู้สึกว่าเฟิร์สเขียนบทโดยขุดเอาจากนักแสดง ทีนี้กระบวนการเลือกนักแสดง ยังไม่มีบทก็จริง แต่เฟิร์สกับเราต้องเห็นร่วมกันว่าคนนี้น่าสนใจ อยากเห็นเขาเล่นประมาณไหน อย่าง Teenage Wasteland ก็ใช้นักแสดงหลายคน เราลิสต์ตั้งแต่แรกเลยว่าอยากให้ใครมาเล่นบ้าง นักแสดงผู้ใหญ่กี่คน เด็กกี่คนแล้วค่อยชวนมา”

เฟิร์ส: เราชอบทำความรู้จักนักแสดงก่อน ถ้าคนไหนที่เพิ่งชวนมายังไม่ค่อยสนิทก็ต้องนั่งคุยก่อนหลายวันเลยถึงเริ่มเขียนบท ไม่รู้ทำไมเหมือนกัน

แมค: ทำละครกับเฟิร์สเลยตื่นเต้น ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เคยมีนักแสดงคนหนึ่งบอกว่าเหมือนอยู่ในซีรี่ส์ที่ไม่รู้ว่าจะจบตรงไหน วันนี้ได้บทใหม่มาเรื่อยๆ ในฐานะนักแสดงเราก็รู้สึกว่ามันสดใหม่และสนุกมาก วันนี้ได้บทใหม่ว่ะ เป็นไงบ้างวะ

เฟิร์ส: แต่ปกติจะมีโครงอยู่แล้วว่าเริ่มต้นกับจบยังไงตั้งแต่แรกนะ ไม่ได้ปล่อยไหล

โดยคร่าวๆ ละครหนึ่งโปรดักชันเราใช้เวลาทำงานตั้งแต่รีเสิร์ช เขียนบท ซ้อมกันเท่าไหร่
เฟิร์ส: 3 – 4 เดือน เราไม่ชอบให้ช่วงเวลายาวเป็นปีๆ เพราะไอเดียมาแล้ว ถ้านานไปจะไม่สดและเราจะไม่อยากทำอีกแล้ว

แต่ก็มีไอเดียใหม่ๆ มาทุกปีด้วย ทำไมถึงขยันขนาดนี้
เฟิร์ส: เพราะไม่มีอะไรทำ (หัวเราะ) รู้สึกว่ายังทำได้ ยังมีแรงและไฟลุกโชนอยู่ เราไม่รู้เลยว่าไฟเราจะมอดเมื่อไหร่ จะเหนื่อยเมื่อไหร่ เลยอยากทำให้มากที่สุดเพราะไม่รู้ว่าเราจะเป็นอัลไซเมอร์วันไหน ก็คงทำไปเรื่อยๆ จนกว่าจะโดนสั่งปิด (หัวเราะ)

ในอนาคตได้ตั้งเป้าหมายไว้ไหมว่า Splashing Theatre จะเป็นกลุ่มละครหนึ่งที่พูดถึงเรื่องอะไรโดยเฉพาะ อย่างกลุ่ม B-Floor ที่ค่อนข้างชัดเจนในเรื่องการเมือง
เฟิร์ส: ไม่ได้ตั้งเลยครับ เคยคิดกันว่าคาแรกเตอร์ของพวกเราคือแบบไหน สุดท้ายก็ไม่รู้ คิดแค่ว่าเราอยากให้ทุกคนที่ได้ทำงานกับกลุ่มเราได้เป็นตัวเอง ได้สร้างงานที่เขาอยากทำจริงๆ อยากให้เขาสนุก มีความสุข และอิสระ

กลุ่มละครเวทีเล็กๆ ในบ้านเราก็มีไม่เยอะ มีการช่วยเหลือหรือสื่อสารระหว่างกันยังไงบ้าง เข้าใจว่าน่าจะรู้จักกันเกือบหมด
แมค: ช่วงที่เราเข้ามาแรกๆ รุ่นพี่ก็มาช่วยดู ช่วยคอมเมนต์ให้ วงการละครถึงจะเล็กแต่ว่าอบอุ่นนะ เป็นคนที่มีแพสชันเหมือนกันมารวมตัวกัน

เฟิร์ส: แต่ทุกคนก็ไม่ได้อยากให้มันเล็กอย่างนี้มั้งครับ เราอยากให้กว้างขึ้น เลี้ยงตัวเองให้ทำสิ่งที่รักได้โดยไม่ลำบาก ส่วนตัวคิดว่าเราต้องการคนที่ไม่ใช่ศิลปินเข้ามาผลักดันให้พวกเราเป็นที่รู้จักมากขึ้น เพราะรู้กันอยู่ว่าศิลปินจะทำงานอย่างเดียว เราก็เป็น บางทีเราก็คิดเรื่องพวกนี้ไม่ออก มีบ้างเวลาที่เราลำบาก ไม่รู้จะไปซ้อมละครที่ไหน ไปหาคนดูจากไหน หาเงินจากไหนมาทำ สุดท้ายเราก็ต้องจ่ายเอง ไปซ้อมตามบ้านคนนู้นคนนี้ เราแค่อยากหาบ้านที่เป็นหลักเป็นแหล่ง นี่คือสิ่งที่เฟิร์สอยากได้นะ

แมค: เราทั้งคู่เพิ่งไปออดิชันละครเวทีของผู้กำกับชาวญี่ปุ่นที่ร่วมมือกับเจแปนฟาวน์เดชั่น เขาก็ได้รับการสนับสนุนจากประเทศเขานะ กลับมามองที่ศิลปินไทย ไม่มีใครได้งบให้มาทำละครในเมืองไทยเอง ส่วนใหญ่จะมีแต่รุ่นพี่ที่มีประสบการณ์แล้วได้งบมาจากต่างประเทศ

เฟิร์ส: มันก็คงมีให้แหละ แต่ขึ้นอยู่กับว่าเรามีชื่อเสียงขนาดไหนด้วย ก็คงต้องเหนื่อยกว่าปกติครับ พอถึงจุดหนึ่งเราคงต้องทำอะไรสักอย่างให้อยู่ได้ ให้เราได้ทำต่อไป

ตัดเรื่องเงินออกไปแล้ว ความสุขของการได้ทำละครเวทีคืออะไรที่ทำให้ยังอยากทำต่อ
เฟิร์ส: ละครเวทีเป็นพื้นที่บางอย่างที่ตรงกับแฟนตาซีของเรา เรามีความสุขที่เรื่องเล่าของเราได้ไปอยู่ในพื้นที่นั้นตรงหน้า สิ่งที่เวลามันเล่นแล้วทุกคนอยู่ด้วยกัน มันเป็นอิสระ มันมีอะไรมากมายที่เราอยู่กับมันแล้วมีความสุข ตอบโจทย์การมีอยู่ของชีวิตเรา เราเลยรักมัน และทำมันต่อ

แมค: ทุกคนที่มาทำละครมีความรักต่อละคร ทุกคนรักสิ่งที่ตัวเองทำ เราชอบที่ได้อยู่ในบรรยากาศนั้น ต้องเป็นคนพวกนี้เท่าน้ันที่มารวมตัวกันแล้วทำสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา ไม่ใช่แค่มีเงินแล้วก็ไปจ้างคนนี้มา เราชอบความรู้สึกที่ทุกคนมาทำสิ่งนี้ด้วยกัน

ส่วนตัวเราชอบตอนที่เราเป็นนักแสดงที่สุด เราสนุกกับตรงนั้นมาก เรามีชีวิตอยู่จริงๆ เพราะชีวิตปกติเราจะไม่ค่อยมีสติเท่าไหร่ แต่เวลาเราอยู่บนเวที มันเรียกร้องให้เรารับรู้และอยู่กับโมเมนต์นั้นตั้งแต่ต้นจนจบ ทุกครั้งที่เราเล่น เรารู้สึกว่าเราเป็นตัวเองไม่ว่าจะสวมคาแรกเตอร์อะไรไป สุดท้ายมันทำให้เราได้รู้จักตัวเองมากขึ้น เราขยับแบบนี้ได้ว่ะ เราทำสิ่งนี้ได้ มันคือการรู้สึกถึงตัวเองอยู่เสมอ

การรู้จักตัวเองมากขึ้นจะทำให้เราเป็นคนแบบไหน
เฟิร์ส: เป็นผู้ใหญ่มากขึ้นมั้งครับ โตขึ้น ทุกวันนี้เราคิดว่าตัวเองยังไม่โต แต่ถ้าทำไปเรื่อยๆ สักวันเราคงโตนะ

คำถามสุดท้ายแล้ว ทำไมต้องตั้งชื่อละครทุกเรื่องยาวๆ ด้วย
เฟิร์ส: เออ ทำไมต้องยาวด้วยวะ

แมค: เป็นลายเซ็นไง

เฟิร์ส: คำตอบเดียวกับดูรู้เรื่องหรือไม่รู้เรื่องเลยครับ คือไม่ได้คิดมาก่อน แค่รู้สึกว่ามันต้องเป็นชื่อนี้ มันต้องยาวก็เลยยาวไง

พิสูจน์การเติบโตผ่านผลงานของพวกเขาได้ในละครเวทีชื่อยาวเรื่อง Teenage Wasteland : Summer, Star and the (Lost) Chrysanthemum แสดงตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม – 3 กันยายน และ 6 – 10 กันยายน รอบ 19.30 น. ที่ Creative Industries ชั้น 2 โรงละคร M Theatre จองบัตรได้แล้วในเพจอีเวนต์ด้านบน

อ่านบทวิจารณ์จากเราได้ที่นี่

ขอบคุณสถานที่ สถาบันปรีดี พนมยงค์

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย