ในแง่ข้อเท็จจริง บะหมี่–ประภาวี เหมทัศน์ ไม่ได้ทำร้านอาหาร เธอมีอาชีพเป็นตัวแทนจำหน่ายคราฟต์เบียร์ไทยในชื่อบริษัท Group B Beer แม้เป็นอาชีพที่เกี่ยวพันกันอยู่บ้าง แต่ว่ากันตามตรงก็ไม่จำเป็นเลยที่บะหมี่ต้องออกมาผลักดันแคมเปญ ‘กูจะเปิดมึงจะทำไม’ เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
อธิบายให้เข้าใจอย่างง่าย เพราะเธอเห็นว่ามาตรการปิดร้านอาหารนั้นเป็นการกระทำที่เกินจำเป็น หนำซ้ำยังเป็นการผลักภาระให้ผู้ประกอบการโดยไร้การเยียวยา เมื่อมาตรการล็อกดาวน์ทำท่าว่าจะเกิดขึ้นอีกครั้ง บะหมี่จึงเลือกออกมาผลักดันแคมเปญนี้เพื่อให้รัฐเห็นว่าการจัดการจากเบื้องบนนั้นห่างไกลจากคำว่ามีประสิทธิภาพ
หลังจากที่เธอโพสต์ออกไป ผลปรากฏว่าร้านอาหารจากทั่วประเทศรวมถึงประชาชนทั่วไปเห็นด้วยกับไอเดียนี้เยอะมาก จนเกิดเป็นเครือข่ายย่อมๆ ที่พร้อมจะขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหาที่พวกเขากำลังเผชิญ
แม้สุดท้ายแคมเปญนี้จะไม่เกิดขึ้นเพราะความรุนแรงของโรคระบาดที่รัฐไร้ประสิทธิภาพในการควบคุม แต่หนึ่งเสียงในวันนั้นของบะหมี่ก็ทำให้เกิดแรงกระเพื่อม คอนเนกชั่นที่เธอสร้างกำลังก่อให้เกิดประโยชน์ต่อร้านที่เข้าร่วม รวมถึงยังทำให้ความไม่เป็นธรรมเป็นที่พูดถึงมากขึ้นในโมงยามที่ประเทศขับเคลื่อนด้วยการส่งเสียงเช่นนี้
จากสิ่งที่ทำบะหมี่ทำทั้งหมดนี้เอง เราจึงติดต่อไปพูดคุยกับเธอเพื่ออัพเดตถึงสถานการณ์ปัจจุบันที่ร้านอาหารและแวดวงคราฟต์เบียร์ไทยต้องเจอ รวมถึงคำถามสำคัญที่ว่าอะไรคือแรงผลักดันให้เธอออกมาสู้และพูดในประเทศที่คนเห็นต่างจากรัฐมักถูกเพ่งเล็งอยู่เสมอ
น่าเสียดายที่การสนทนาของเราต้องเกิดขึ้นผ่านระบบออนไลน์เพราะการระบาดของโรคภัย แต่ถึงอย่างนั้น เรื่องที่เราคุยกันล้วนเกี่ยวข้องกับโลกออฟไลน์ทั้งสิ้น
โลกที่กำลังมีคนลำบากจริง เจ็บจริง และตายจริง ยอดผู้เสียชีวิตนั้นไม่ได้เป็นเพียงตัวเลขเล็กๆ ในกรอบสีพื้นๆ อย่างที่เบื้องบนพยายามสื่อสาร
โลกที่แม้เรื่องของพวกเขาอาจไม่เกี่ยวกับคุณ แต่มันจำเป็นเหลือเกินที่คุณต้องรู้ว่าข้างนอกนั่นกำลังมีเพื่อนมนุษย์ที่ลำบากและอยู่รอดได้ยากเพราะการบริหารงานอันล้มเหลวของรัฐ
เริ่มต้นโดยย้อนความกันสักนิดหนึ่ง งานของคุณเกี่ยวข้องกับร้านอาหารขนาดไหน
เราทำธุรกิจโดยเป็นตัวแทนจำหน่ายคราฟต์เบียร์ไทย ดังนั้นลูกค้าหลักของเราเลยเป็นร้านอาหาร ร้านคราฟต์เบียร์ หรือร้านกาแฟ นับรวมๆ แล้วก็ 200-300 ร้านทั่วประเทศ โดยเราเพิ่งลาออกจากงานประจำมาทำบริษัทเต็มตัวเมื่อช่วงกลางปี 2562 นี้เอง เพราะเป็นช่วงที่วงการคราฟต์เบียร์ไทยกำลังโตพอดี บริษัทเริ่มมีที่ทาง เริ่มจับจุดได้ จนทำยอดขายแตะ new high เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ก่อนที่เดือนมีนาคมจะเกิดการสั่งปิดร้านอาหาร ยอดขายเราตกลงมา 70 เปอร์เซ็นต์ทันที และลากยาวมาจนถึงตอนนี้
ในฐานะของคนที่ต้องร่วมงานกับร้านอาหารและบาร์เกือบทั่วประเทศ คุณเห็นอะไรบ้างในภาวะที่เกิดขึ้นตลอดปีที่ผ่านมานี้
เราเห็นผู้ประกอบการหลายคนมากที่ประสบปัญหาจนเข้าขั้นวิกฤต โดยเฉพาะร้านที่อยู่ในสเกลเล็กแต่กำลังโตหรือร้านที่กำลังขยายสาขา พวกเขาพยายามปรับตัวแล้ว แต่ด้วยข้อจำกัดด้านทุนและอาหารที่เขาทำมันก็ทำให้หลายร้านต้องเจอปัญหาอยู่ดี
ซึ่งถึงแม้จะเป็นแบบนั้น แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมาทุกร้านเชื่อฟังมาตรการของรัฐบาลมาตลอดนะ หลายร้านยังคงรักษาคนของตัวเองอย่างมีคุณภาพ น้อยคนมากที่ยอมปิดหนี เพราะการสร้างร้านอาหารขึ้นมาได้มันเป็นเครื่องพิสูจน์อยู่แล้วว่าเจ้าของร้านเป็นคนที่มีความรับผิดชอบขนาดไหน นี่ไม่ใช่อาชีพที่ทำเล่นๆ ได้ ดังนั้นจึงแทบไม่มีเจ้าของคนไหนเลยที่ปล่อยให้ร้านอาหารและคนของตัวเองที่สร้างมากับมือต้องจบลงไปง่ายๆ
แต่ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ร้านที่เราพูดถึงนี้หลายๆ ร้านต้องปิดตัวลงแล้ว พวกเขาไม่ไหวแล้ว เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นมันไม่ใช่แค่เรื่องของค่าเช่า ค่าจ้าง หรือรายรับ-รายจ่าย แต่เราว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดเรื่องนี้มันคือความรู้สึกในใจมากกว่า พวกเขาถึงขีดสุดแล้วจริงๆ
เหมือนยอมแพ้
ไม่ใช่แบบนั้น ใช้คำว่าหยุดพักดีกว่า เพราะจากที่เราคุยมากับหลายๆ ร้าน แทบทุกร้านอยากทำอาชีพนี้ต่อ แต่เขาไม่ไหวกับมาตรการรอบล่าสุดเลยขอหยุดพักก่อน เพราะค่าใช้จ่ายในช่วงนี้มันไม่มีทางคุ้มแน่ๆ แต่เราเชื่อว่าพวกเขาไม่ยอมแพ้หรอก สู้มาขนาดนี้ ยอมกัดเนื้อตัวเองมาขนาดนี้ แทบทุกคนยืนยันว่าจะสู้ต่อ เพราะถ้าไม่สู้ สิ่งที่อดทนกันมามันก็จะไม่เหลืออะไรเลย
แล้วคุณรู้สึกยังไงเวลาเห็นคนมาคอมเมนต์ร้านอาหารที่ต้องปิดว่า ‘ก็แล้วทำไมไม่ปรับตัว ทำไมไม่ทำเดลิเวอรี’
โดยส่วนตัวเราว่าคนที่พูดแบบนี้คือคนที่ไม่เคยลองเอาตัวเองมามองในมุมคนอื่น เพราะในความเป็นจริงคือหลายร้านมากๆ ที่ปรับตัวแล้ว ลองมองไปในตลาดเดลิเวอรีตอนนี้สิ คุณมีตัวเลือกมากขึ้นกว่าพันร้านเลยนะ ดังนั้นเชื่อเถอะว่าร้านอาหารปรับตัวแล้ว แต่คุณอยากให้เขาปรับไปแค่ไหนอีกล่ะ นี่ยังไม่ได้พูดถึงคนที่ร่ำเรียนมาเพื่อขายอาหารจานละ 200 แต่ต้องปรับมาขายข้าวผัดจานละ 50 นะ หรือร้านที่ประเภทอาหารมันทำเดลิเวอรีไม่ได้จริงๆ คุณเคยคิดถึงความเจ็บปวดของพวกเขาบ้างไหม
(นิ่งคิด) แต่เราว่าตอนนี้คนไม่น่าจะพูดถึงประเด็นนี้แล้วแหละ เพราะหลายคนที่เคยคอมเมนต์แบบนั้นก็กำลังเจอปัญหาแบบเดียวกันกับอาชีพตัวเองแล้ว
ในมุมคุณเอง คุณมีความเห็นต่อมาตรการสั่งปิดร้านอาหารของรัฐว่ายังไงบ้าง
ถ้ามองที่มาตรการล็อกดาวน์ครั้งแรกช่วงต้นปีที่แล้ว เราว่ารัฐใช้มาตรการที่รุนแรงเกินไป เพราะจากตัวอย่างในต่างประเทศ ถ้าผู้ติดเชื้อยังไม่ถึงหลักพัน มันมีอีกหลายวิธีการที่รัฐสามารถควบคุมได้โดยไม่ต้องสั่งปิดร้านอาหารหรือห้ามขายเหล้า-เบียร์ เหมือนรัฐใช้ยาแรงในช่วงที่ไม่จำเป็นต้องใช้ แต่ผู้ประกอบการก็ยอมให้ความร่วมมือจนหมดความอดทนหรือเรี่ยวแรงที่ควรจะใช้ในช่วงที่หนักจริงๆ อย่างตอนนี้
ระหว่างที่ปัญหาทั้งหมดเกิดขึ้น รัฐมีมาตรการเยียวยาให้กับผู้ประกอบการร้านอาหารบ้างไหม
ถ้าแบบโดยตรงก็ไม่เคยมี แต่ที่ชัดเจนคือ ‘เราไม่ทิ้งกัน’ ที่เยียวยา 3 เดือน เดือนละ 5,000 บาทที่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้ มันเป็นการเยียวยาที่มีเงื่อนไขที่โคตรงง คล้ายๆ กับการชิงโชค ทั้งที่ในความเห็นเราคือทุกคนควรได้และต้องได้อย่างเหมาะสมด้วย
ทั้งหมดนี้เลยเป็นที่มาของแคมเปญ ‘กูจะเปิดมึงจะทำไม’
(พยักหน้า) ทั้งหมดนี้ทำให้เราโกรธมาก เพราะเรารู้สึกว่าไอ้ความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้นมันไม่แฟร์เลย ทุกคนคือคนที่ทำมาหากินและเสียภาษีให้คุณ หนำซ้ำมันก็พิสูจน์มาหลายรอบแล้วว่าการปิดร้านอาหารไม่ได้ช่วยให้ยอดผู้ติดเชื้อลดลง วันหนึ่งด้วยความโกรธเราเลยลองพยายามร่างแคมเปญนี้ขึ้นมา ลองคุยกับพี่ๆ เพื่อนๆ ที่ทำร้านอาหารว่าสามารถทำอารยะขัดขืนต่อมาตรการได้ไหม จนเราได้แผนงานคร่าวๆ ที่เป็นเหมือนกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ เราจึงโพสต์ออกไป ก็กลายเป็นว่าคนแชร์ต่อกัน มีหลายคนมาร่วมลงชื่อสนับสนุน
แม้สุดท้ายแผนทั้งหมดต้องหยุดไปก่อน เพราะด้วยสถานการณ์ตอนนี้ปัญหาของโรคมันลุกลามไปไกลและร้ายแรงกว่าเดิมในหลายมิติแล้ว แต่เราก็ไม่ได้ปล่อยให้มันจบไปเสียทีเดียวนะ เรายังเอารายชื่อที่เป็นเหมือนเครือข่ายร้านอาหารตรงนี้ไปใช้ต่อ เช่น เอาไปเข้าแคมเปญช่วยเหลือของแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรีที่กำลังจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ เป็นต้น
แม้จะไม่เกิดขึ้นจริงแต่ก็สร้างประโยชน์ได้
ใช่ และอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญคือมันทำให้คนหันมาสนใจปัญหานี้เยอะขึ้น เราเองก็ได้ด่ารัฐบาลออกสื่อทุกวัน อันนี้เป็นความดีใจส่วนตัว (หัวเราะ)
ในส่วนของวงการคราฟต์เบียร์ไทยที่คุณทำอยู่ล่ะ มีผลกระทบอะไรที่คนภายนอกนึกไม่ถึงบ้างไหม
เราว่าต้องเปรียบเทียบกับเจ้าใหญ่ที่ทำเบียร์ในไทย หลายคนน่าจะนึกออกว่าเจ้าใหญ่นั้นเขามีแหล่งกระจายสินค้าที่มากกว่าอยู่แล้ว นอกจากร้านอาหารพวกเขายังมีร้านชำ ร้านสะดวกซื้อ หรือห้างสรรพสินค้า ต่างจากธุรกิจคราฟต์เบียร์ที่ช่องทางหลักคือร้านอาหารหรือบาร์ที่คิดเป็น 90 เปอร์เซ็นต์ของยอดขาย ดังนั้นพอภาครัฐสั่งให้ปิด รายได้เราหายไปทันที และยิ่งด้วยธรรมชาติของสินค้าเราที่คนมักเลือกเพื่อเสพบรรยากาศร้าน การซื้อแบบ take away จึงเป็นไปได้ยากกว่าด้วย
รวมถึงในแง่การนำเข้า ที่ปกติกรมศุลกากรจะเก็บภาษีนำเข้าก่อนสินค้ามาถึง เราเลยต้องจ่ายไปก่อน เพื่อจะพบว่าพอคราฟต์เบียร์มาถึงเราแทบจะไม่มีช่องทางการขาย ยิ่งคราฟต์เบียร์เป็นสินค้าที่มีอายุสั้น ผลกระทบเลยเกิดกับเราในเรื่องนี้ด้วย ซึ่งแน่นอนว่ารัฐบาลไม่ได้รับผิดชอบอะไร แม้เราจะจ่ายภาษีไปแล้วก็ตาม
นี่เลยเป็นที่มาที่ทำให้กลุ่มคราฟต์เบียร์ไทยรวมตัวกันเพื่อยื่นหนังสือต่อรัฐตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว เรียกได้ว่ายื่นก่อนชาวบ้านเลย เพราะในขณะที่คนอื่นยังพออดทนได้ แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเรามันหนักตั้งแต่แรก คนทำคราฟต์เบียร์ไม่สามารถโพสต์ขายออนไลน์ได้ด้วยซ้ำเพราะผิดกฎหมาย เราจึงพยายามพูดเรื่องนี้มาตลอด และพยายามยื่นเรื่องเข้าสภาเพื่อแก้กฎหมาย เพราะมันไม่มีความเป็นธรรมเลยในการทำอาชีพนี้ในบ้านเมืองนี้
ยิ่งย้อนคิดก็ยิ่งรู้สึกแย่มากนะ ด่าจนไม่รู้จะด่าว่าอะไรแล้ว
คุณเห็นทางออกของเรื่องเหล่านี้บ้างไหม
ถ้านับถึงตอนนี้สารภาพว่าเราไม่ได้คิดถึงตรงนั้นเท่าไหร่ เพราะที่พยายามสื่อสารอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะมันเป็นช่องทางการแสดงออกไม่กี่อย่างแล้วที่ประชาชนอย่างเราสามารถทำได้ อย่างแคมเปญ ‘กูจะเปิดมึงจะทำไม’ ก็ถือว่าใช่ นี่เป็นการใช้สิทธิในการอารยะขัดขืนที่ปกติมากในสังคมโลก
เพราะในเมื่อไม่มีทางไหนแล้ว ยื่นหนังสือกันมาเป็นร้อยรอบแล้ว ต่อสู้ด้วยกฎหมายมาก็แล้ว ร้านอาหารออกมาพูดก็แล้ว หรือมีคนฆ่าตัวตายแล้ว แต่ถ้าถึงขนาดนี้ภาครัฐยังไม่ทำอะไร เราคิดว่าการจับมือกันของภาคประชาชนเป็นทางเดียวแล้วที่เราจะอยู่รอดได้ ดังนั้นเมื่อคิดได้แบบนี้เราก็ทำ เราจะสู้แบบหมาจนตรอก เราจะกล้าพูดในสิ่งที่ทุกคนก็คิด
แล้วถ้าการเมืองดี สิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นกับร้านอาหารและวงการคราฟต์เบียร์ไทยตอนนี้จะเป็นยังไง
รัฐควรออกมาตรการที่คำนึงถึงมิติเศรษฐกิจและความอยู่รอดของคนอย่างเท่าเทียมมากกว่านี้ ไม่ใช่แค่การเลือกปฏิบัติต่อบางสถานที่หรือบางกลุ่มคนเหมือนเช่นปัจจุบัน
ยืนยันอีกครั้งว่าเราไม่ได้ต่อต้านการปิดนะ ถ้าการระบาดของโรคมันควบคุมไม่ได้แล้วต้องปิด เราเชื่อว่าร้านอาหารทุกร้านยินดีให้ความร่วมมือ ยิ่งถ้าสั่งปิดแล้วมีการเยียวยาทันที เราว่าปัญหามันจะจบเลย ไม่มีคนออกมาเรียกร้องอะไรหรอก แต่ความเป็นจริงตอนนี้คือการเยียวยามันจิ๊บจ๊อยหอยมดมาก ดังนั้นถ้าไม่มีปัญญาเยียวยา เราว่าคุณก็ปล่อยให้ร้านอาหารดูแลตัวเองไหม เราปรับตัวกันได้อยู่แล้ว และคนเขาก็รู้กันแล้วว่าทุกวันนี้ที่ติดกันเยอะๆ เพราะอะไร ไม่ใช่ปล่อยให้ผิดที่คนรวยแต่มาซวยที่คนจนแบบนี้
มันแย่ไปหมดเลย ซึ่งนี่ยังไม่นับถึงวัคซีนอีก แต่เรื่องนี้เดี๋ยวให้ฝ่ายหมอเขาด่าแล้วกัน
การมีแพสชั่นในบ้านเมืองที่รัฐโคตรจะไม่เอื้อต่อความฝันแบบนี้ทำให้คุณรู้สึกยังไง
(ถอนหายใจยาว) ก่อนหน้านี้เราไม่ใช่คนแบบนี้เลยนะ เราเป็นคนที่รู้สึกกับเรื่องต่างๆ ช้าด้วยซ้ำ เราไม่เคยเข้าใจความโกรธและความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์รอบตัวเลย จะโกรธและเจ็บปวดก็ต่อเมื่อมีคนมาทำต่อเราโดยตรงเท่านั้น แต่กลายเป็นว่าทุกวันนี้มันไม่ใช่แล้ว เพราะด้วยสถานการณ์ในประเทศที่หนักมาก เราได้เรียนรู้ถึงความเจ็บปวดและความอัดอั้นแล้วจากการที่ต้องเห็นปัญหาแต่ทำอะไรไม่ได้ ซึ่งมันมากกว่าความเจ็บปวดที่มีต่อตัวเองหลายเท่า ซึ่งพอคิดและรู้สึกแบบนี้ เราเลยไม่เข้าใจว่าทำไมเบื้องบนเขาถึงมองไม่เห็นวะ
เพราะคิดดูสิว่าถ้าเขาเห็น ชีวิตเขา ชีวิตลูกหลานเขา หรือชีวิตของคนในประเทศที่มีความฝันจะดีมากกว่านี้ได้ขนาดไหน แต่นี่ทำไมถึงไม่เห็น คุณไม่เห็นได้ยังไง จิตสำนึกคุณไปไหน เราไม่เข้าใจเลย มันทำให้เราเจ็บปวด โกรธ และตั้งคำถามมากกว่าเดิมว่าทำไมเราต้องทนกับอะไรแบบนี้ด้วย ทำไมต้องมาสู้ในเรื่องที่โคตรจะไม่เมกเซนส์ นี่ถ้าเราอยากทำอาชีพนี้ต่อเราต้องย้ายประเทศเหรอ ช่วงนี้เราเลยตั้งคำถามด้วยความโกรธและความเจ็บปวดเยอะแยะไปหมดเลย
แล้วคุณตอบตัวเองได้หรือยังว่าที่สู้อยู่ทุกวันนี้เพราะอะไร
(นิ่งคิดนาน) เราเพิ่งตกผลึกเรื่องนี้จากการฟังครูลูกกอล์ฟพูดคุยกับกับอาจารย์ประจักษ์และอาจารย์เข็มทองในเฟซบุ๊กเรื่องประชาธิปไตยเมื่อไม่นานมานี้เอง ว่าไอ้ความรู้สึกทั้งหมดที่เกิดขึ้นนี้มันเป็นเหมือนด่านทดสอบว่าเราจะยึดถือหลักการประชาธิปไตยได้นานแค่ไหน
ถึงทุกวันนี้เราจะคิดว่ามันมีทางที่จะทำให้รัฐเผด็จการออกไปโดยวิธีที่ไม่ถูกต้อง แต่นั่นก็เท่ากับเราทิ้งหลักการประชาธิปไตยของตัวเอง ดังนั้นเราเลยจำเป็นต้องสู้ต่อ เราอยากใช้ชีวิตต่อในสังคมนี้โดยยังคงเดินตามเกม เดินตามกฎ เพื่อเฝ้ารอดูคนที่มันไม่เดินตามกฎเกณฑ์สะดุดขาตัวเองล้มตาย
แน่นอนว่ามันจะเป็นการรอคอยที่เจ็บปวดตลอดทางแน่ๆ แต่เราก็ไม่อยากทำอะไรที่เกินกติกา เพราะเราไม่อยากกลายเป็นแบบเดียวกับเขา
ถ้าให้สรุปในฐานะของคนที่เคยออกมาผลักดันแคมเปญจนมีประชาชนทั่วไปเข้าร่วมด้วย คุณว่าในโมงยามนี้การที่คนออกมาพูดถึงปัญหาแม้ไม่ใช่เรื่องของตัวเอง มันสำคัญยังไง
เราคิดว่าด้วยวัฒนธรรมไทย ก่อนหน้านี้มันทำให้เวลาเราจะพูดถึงปัญหาเราต้องพูดอ้อมๆ พูดแบบน้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรงเหรง แต่พอมาถึงยุคปัจจุบันที่ปัญหามีมากมายขนาดนี้ เราว่าการที่ออกมาพูดถึงปัญหาอย่างตรงไปตรงมา ใช้ข้อมูลและเหตุผล มันกลายเป็นเรื่องสำคัญมากขึ้นทุกทีแล้ว
มันหมดยุคของการเตะโต๊ะแล้วไปด่าโต๊ะว่าทำให้เราเจ็บ คุณจะด่าคนอื่นได้ก็ต่อเมื่อมีคนมาเตะคุณ ดังนั้นเราว่าคุณออกมาพูดเถอะแม้มันจะไม่เกี่ยวกับคุณ เพราะแม้ยังไม่มีใครเตะคุณแต่ในขณะเดียวกันมันก็มีคนนิสัยไม่ดีที่ไล่เตะคนอื่น ลองดูจากสิ่งที่เราทำอยู่ก็ได้ที่ตอนแรกมีแค่กลุ่มคราฟต์เบียร์ที่ไปเรียกร้อง แต่พอกลุ่มอื่นๆ เดือดร้อนถึงค่อยๆ เริ่มมีคนออกมาพูด ซึ่งบางทีมันอาจช้าเกินจนเกิดผลแบบที่เห็นทุกวันนี้ ดังนั้นถ้าเป็นไปได้คุณออกมาพูดเถอะ เพราะแม้จะไม่ใช่เรื่องของคุณแต่ถ้าวันหนึ่งปัญหามาถึงตัวคุณ ตอนนั้นก็ไม่รู้แล้วว่าคุณจะยังแก้มันได้ไหม
และคนเราอยู่กันเป็นระบบนิเวศ ดังนั้นเชื่อเถอะว่าถ้าปล่อยปัญหาไว้ ยังไงมันก็มาถึงคุณในสักวัน
Call Out By Your Name คือซีรีส์ที่รวมการต่อสู้เรียกร้องในนามประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากรัฐในช่วงวิกฤตการณ์โควิด-19 ติดตามตอนต่อไปที่หน้าเว็บไซต์และทุกช่องทางของ a day