“ถ้าไม่เชื่อมั่นว่ามีหวัง เราไปตายดีกว่า” Baphoboy ศิลปินผู้ตั้งคำถามต่ออำนาจด้วยรอยยิ้ม เลือด และเซ็กซ์

“เคนอาจจะคุยไม่ค่อยลื่นเท่าไหร่นะครับ เพราะช่วงที่การเมืองหนักๆ เคนอยู่ค่ายทหาร โคตรแย่ ตอนนี้เพิ่งออกมา อาจจะไม่รู้มุมมองหลายอย่างในช่วงที่เกิดประเด็นแบบเรียลไทม์จัดๆ”

เคน–สิปปกร เขียวสันเทียะ พูดขึ้น ก่อนเราจะทันเอ่ยคำถามมากมายที่เตรียมมาเพื่อสนทนากับเขาถึงบทบาทการเป็นศิลปินการเมือง

ถ้าใครที่ติดตามภาพวาดในเพจ Baphoboy คงจำเขาได้ดี จากภาพวาดจิกกัดผู้มีอำนาจที่ประกอบด้วยรอยยิ้มสยดสยองและเฉดสีสดใสที่เต็มไปด้วยคราบเลือดและความรุนแรง

นี่คือผลงานที่เคนเริ่มทำมาตั้งแต่ตอนเรียนปีสุดท้ายในมหาวิทยาลัย หลังจากทำทีสิสเรื่อง 6 ตุลาฯ ด้วยความยากลำบาก เขาจึงสร้างเพจ Baphoboy ขึ้นมาในปี 2018 เพื่อระบายความอัดอั้น และใช้งานศิลปะเรียกร้องทางการเมืองเรื่อยมาจนถึงตอนนี้

ปีที่แล้วเขาประกาศลงเพจเพื่อบอกผู้ติดตามกว่า 50,000 คนว่าอาจจะไม่ได้ลงผลงานใหม่ๆ มากนัก เพราะจำเป็นต้องเข้าเกณฑ์ทหารตามกำหนด

แน่นอน เรื่องนี้กลายเป็นคำถามใหญ่ทันทีว่า ทำไมศิลปินที่ออกมาวิพากษ์ระบบทหารอย่างเขาถึงตัดสินใจเกณฑ์ทหาร แล้วงานศิลปะของเขาต่อจากนี้จะเป็นยังไงต่อไป

ในบทสนทนาที่ได้คุยกัน เคนย้ำในจุดยืนว่าแม้ก่อนหน้านี้ตัวจะอยู่ในรั้วลายพรางแต่ใจเขาเจ็บปวดกับเหตุการณ์ทางการเมืองทั้งหมด และเมื่อใดก็ตามที่เขามีโอกาสได้ออกมาพ้นเขตรั้วแล้ว Baphoboy ก็ยังคงผลิตศิลปะออกมาร่วมขบวนเคลื่อนไหวด้วยเสมอ

หวังว่าเรื่องราวที่เจ้าตัวจะเล่าให้ฟังต่อไปนี้ จะช่วยให้ทุกคนทำความเข้าใจได้ว่าอะไรคือเชื้อเพลิงที่จุดกำเนิดให้ศิลปินวัย 25 ปีตั้งคำถามกับอำนาจในสังคมไทย ทั้งยังคงหล่อเลี้ยงอุดมการณ์ไว้อย่างเข้มแข็ง แม้จะต้องสวมหมวกของอาชีพที่เขาวิพากษ์วิจารณ์ก็ตาม 


มนุษย์ผู้ถูกครอบงำและไร้ทางเลือก

“เคนคิดว่าระบบหลายอย่างในประเทศไทยอยากกลืนให้เราทุกคนเหมือนกัน ทำให้เราไม่มีทางเลือก ไม่ใช่แค่เรื่องทหาร ย้อนกลับไปตั้งแต่เคนเด็กๆ เคนเป็นเด็กต่างจังหวัด เป็นลูกคนเดียวที่พ่อแม่ไม่เคยสั่งหรือบังคับให้อยู่ในกรอบอะไรเลย

“แต่พอไปโรงเรียนกลายเป็นว่าทุกอย่างมีกรอบเต็มไปหมด เคนตั้งคำถามกับหลายอย่างมาก เช่น ทำไมจะต้องตากแดดเข้าแถว ทำไมต้องใส่ถุงเท้ายาว ทำไมต้องมาสั่งให้เราทำนู่นทำนี่ด้วย ทำไมต้องเรียนหนักขนาดนี้ ในเมื่อเรารู้แล้วว่าเราอยากเรียนอะไร ภาพลักษณ์เคนเลยเหมือนคนไม่ฟังคนอื่น พอเรียน ม.ปลาย เรารู้ว่าอยากทำอะไรก็จะฉีกออกมา ไม่ยอมทำอะไรที่ไม่มีเหตุผล เช่น ไม่เข้าแถว ไม่ตัดผม 

“แล้วเคนอยากเรียนคณะศิลปะมาก ก็ไม่สนใจวิทย์-คณิตเลย ตั้งใจติวจนสอบติดจิตรกรรมฯ ศิลปากร เข้ามาก็เจอระบบโซตัสรับน้องเลย กลายเป็นว่าตัวตนที่เราชอบตั้งคำถามกับกรอบมันถูกทำลายไป เพราะเราถูกโซตัสทำให้กลัว กลัวไม่มีเพื่อนคบ กลัวไม่ได้รับการยอมรับ กลัวไม่ได้เรียน 

“ตอนนั้นคิดว่าพยายามสอบเข้าให้ได้แทบตาย ทนมันอีกสักหน่อยจะเป็นอะไร มันทำให้เรารู้สึกว่าไม่มีทางเลือก สุดท้ายเราต้องกลืนตัวตนจนอินกับรับน้องไปเลย ฟังแล้วเหมือนจะดูย้อนแย้ง ตอนนี้มาพูดถึงแล้วทำให้เราอายมากว่าทำไมเราอยู่ในระบบนั้นตั้งแต่ปี 1 ถึงปี 2” 

2
ศิลปะของการตั้งคำถาม, ตั้งคำถามด้วยศิลปะ

“พอเรียนปี 3 เราได้เห็นว่าโลกศิลปะมันมีมากกว่าที่รู้จัก เพราะได้เรียนรู้แนวคิดของศิลปินระดับโลก งานที่สนุกคืองานที่มันตั้งคำถาม หรืองานที่ยิงไปสู่อะไรที่ตั้งตระหง่านอยู่

“มันทำให้เรารู้สึกว่า เฮ้ย สิ่งที่เป็นอยู่ไร้สาระว่ะ ไอ้การรับน้องนี่ห่วยแตกมาก เพราะศิลปินที่ประสบความสำเร็จคือหัวขบถทั้งหมด ช่วงปี 3 เราเลยตั้งคำถามหลายอย่าง แต่ยังไม่ก้าวเข้ามาเรื่องการเมือง เริ่มจากเรื่องที่เราสนใจก่อน อย่างเช่นมีงานหนึ่งในวิชาครีเอทีฟ เราทำงานศิลปะที่เกี่ยวกับความเป็น LGBT ของเรา ด้วยการไปตรวจ HIV แล้วเอาผลตรวจมาปรินต์แปะทั่วคณะ เพื่อพูดถึงประเด็นที่ว่าเวลาเราพูดว่าเป็นเกย์ คนมักล้อเรื่องโรคด้วย

“อาจารย์เราคอมเมนต์ว่าประเด็นนี้เก่ามาก ใครเขาทำกัน มันล้าหลังแล้ว เคนเลยตั้งคำถามว่ามันเก่าได้ยังไง ในเมื่อเพื่อนในห้องยังล้ออยู่เลยว่าเราเป็นเหรอ ทั้งๆ ที่ผลออกมาเป็น negative แล้วอีกอย่างถ้าจะบอกว่าเรื่องนี้เก่า แล้วพวกเรื่องคิดถึงบ้านชนบท ความรัก ความรู้สึกภายในจิตใจ จิตวิญญาณ มันเป็นอมตะเหรอ ทำได้ทั้งชีวิตเหรอ เราสงสัยมากเลยนะ

“ต่อจากนั้นงานเคนก็เริ่มแปลกจากคนอื่น แล้วก็โดนอาจารย์ว่าว่าทำงานแบบนี้ได้ไง เพื่อนก็ขำเรา หลังๆ มันทำให้รู้สึกแปลกแยกจากสังคม บางครั้งก็ถูกสั่งห้ามทำงานเกี่ยวกับการเมือง จนเคนตั้งคำถามว่าทำไมทำงานการเมืองไม่ได้วะ แล้วเราอยากเอาชนะ เลยไปอ่านหนังสือให้เยอะ พัฒนาตัวเองให้มากๆ เราไปตามหาว่ามีใครเป็นแบบเราบ้างไหม รู้สึกแปลกแยกจากสังคมแบบนี้ เลยได้อ่านงานของจิตร ภูมิศักดิ์ อ่านงานปรีดี พนมยงค์ อ่านเรื่อง 6 ตุลา แล้วมันเหมือนเป็นการผลักเราให้ออกมาข้างนอกคณะเพื่อเห็นเรื่องการเมือง สังคม กลายเป็นใบเบิกเนตรให้เห็นความทุเรศของระบบหลายๆ อย่าง

“ตอนนั้นคิดเลยนะว่ายิ่งห้ามทำการเมือง เราก็จะทำ ทีสิสของเคนเลือกทำเรื่อง 6 ตุลาฯ เลย เพราะภาพแขวนคอสะดุดตามากจนเอาออกจากหัวไม่ได้ ตอนนั้นเคนเอามาทำงานภาพพิมพ์ สิ่งที่ได้ฟีดแบ็กจากอาจารย์คือยับเยินมาก (เน้นเสียง) เจ๊งไปเลย โดนอาจารย์ตีกลับ เขาบอกว่ารู้ได้ไงว่าเหตุการณ์เป็นแบบนั้น คุณเกิดไม่ทันหรอก คุณจะไปสัมผัสได้ยังไง

“แต่เคนก็พยายามทำ ต้องเหนื่อยกว่าคนอื่น 3-4 เท่า เคนพัฒนาจนมาถึงชุดที่ 4 ก็ยังโดนเยอะมาก ที่ปรึกษาไล่ออก ไม่เอาเราแล้วในวันที่จะเสนอทีสิสอีกแค่ไม่กี่วัน จนเคนต้องไปบากหน้าขออาจารย์อีกคนเป็นที่ปรึกษาแทน สุดท้ายเขาโทรมาหาทางออกให้ทำเรื่องเดิม แต่แนวความคิดเป็นอย่างอื่นได้ไหม หัวข้อทีสิสเคนเลยต้องเป็นการหยิบเรื่องโศกนาฏกรรมในประเทศไทยมาฉาบด้วยหัวข้อทีสิสอีกข้อหนึ่งคือเรื่องโซเชียลมีเดีย”

3
ทหาร การเมือง ความรุนแรง และเซ็กซ์ในภาพของ Baphoboy 

“ระหว่างทำทีสิสมันเหมือนเป็นช่วงอัดอั้นมากๆ มันเป็นความรู้สึกเครียดที่เอาความรู้สึกบางอย่างระบายออกไปไม่ได้ เพราะสิ่งที่ทำในทีสิสก็ทำได้ครึ่งๆ กลางๆ เคนเลยเขียนรูปลงโซเชียลบำบัดตัวเองให้ได้ระบายอารมณ์ออกมา มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นก็เขียน แล้วผลคือคนที่เขาเห็นความดาร์กของสังคม แล้วมาเห็นงานเคน เขาก็แชร์ มันเหมือนเป็นการมาแชร์ความรู้สึกอัดอั้นกัน

“ในงานทีสิสเคนวาดรอยยิ้มลงไปในใบหน้าที่ถูกแขวน เกิดจากความบังเอิญตอนนั้นคิดว่าถ้าลองเปลี่ยนความรู้สึกในใบหน้าเขาแล้วจะเป็นยังไง เลยใส่หน้ายิ้มลงไปดู แต่ภาพที่ออกมาดูสยอง ไม่ได้สื่อสารว่ามีความสุข ทุกภาพที่เราวาดออกมาเลยใส่หน้ายิ้มไปด้วย มันเลยกลายมาเป็นเอกลักษณ์ในงานของเราด้วย

“ปกติงานศิลปะของเคนจะไม่ได้บอกเล่าเหตุการณ์ที่เกิดตามข้อเท็จจริง แต่จะสอดแทรกเรื่องอื่นๆ เข้าไปด้วย เช่น เลือด สังเกตว่าภาพเคนเริ่มใช้สีแดงเป็นส่วนประกอบของเลือด ถึงแม้ว่าในเหตุการณ์จริงจะไม่มีใครตายหรือเลือดออก แต่เคนจะใส่เข้ามาเพื่อให้เลือดตอบสนองอารมณ์ความรุนแรง พอประกอบเข้ากับภาพรอยยิ้มมันจะคอนทราสต์กัน

“อีกอย่างมันแสดงให้เห็นถึงความเจ็บปวดได้ เพราะบางอย่างที่ผู้มีอำนาจทำมันทรมานยิ่งกว่าความตาย การที่เด็กต้องออกมาประท้วงแทนที่เขาจะได้เอาเวลาไปใช้ชีวิต เขาต้องสละเวลาออกมาเรียกร้อง การที่เขาต้องอยู่ในสังคมแบบนี้มันทรมานมาก เราจึงใช้เลือดมาเป็นสัญลักษณ์ในการพูดเรื่องนี้

“และภาพของเราจะวิพากษ์ทหารและตัวละครอื่นๆ ในการเมืองด้วยการพูดถึงเซ็กซ์ เคนมองว่าเซ็กซ์ที่ไม่ consent กับความรุนแรงเป็นเรื่องเดียวกัน เช่น มีรูปหนึ่งที่เป็นนักเรียนโดนทหารสองคนข่มขืน ซึ่งตัวทหารที่เราวาดมันมีรอยยิ้ม เราจะสื่อความหมายว่าเขามีความสุขหรือเขาโดนบังคับอยู่ เราเดาใจไม่ออก เคนว่าความรู้สึกคาบเกี่ยวระหว่างเซ็กซ์กับความรุนแรงมันน่าสนใจ

“มีภาพหนึ่งที่เปิดประเด็นในสังคม เคนทำเป็นภาพเซ็กซ์หมู่ที่มีทหาร ตำรวจ ข้าราชการ นักเรียน คนมาบอกว่าทำไมต้องเอาเรื่องเซ็กซ์หมู่และเรื่องเกย์มาล้อเล่น แต่เคนไม่ได้เอาเรื่องรสนิยมมาล้อ เคนไม่ได้มองว่าเกย์เท่านั้นที่จะมีเซ็กซ์หมู่ คนอื่นๆ ก็มีเซ็กซ์หมู่เป็นปกติ แต่งานชิ้นนี้ต้องการสื่อสารว่าทหารที่ข่มขืนเด็กคือการข่มเหง เป็นเรื่องการใช้อำนาจกับเด็ก แต่เข้าใจว่ามันตีความได้ว่าสรุปเด็กคนนี้ชอบหรือไม่ชอบกันแน่ เพราะในภาพเด็กยิ้ม ซึ่งมันก็คิดได้ เพราะเคนเอามาตั้งคำถามด้วยว่าอำนาจนิยมที่เขาทำกับเรามันถูกหรือผิด หรือบางคนชอบให้เขาทำ มันอาจจะเป็นความรู้สึกภายในของบางคนจริงๆ ก็ได้”

4
Baphoboy กับการสวมหมวกทหารและกลับมาทำงานศิลปะอีกครั้ง

“พอเราทำงานวิพากษ์ทหารเยอะๆ ก็มีคนถามเหมือนกันว่าเอาจริงเหรอที่เราจะไปเกณฑ์ทหาร มีคนเตือนว่าอย่าไป มันดูงี่เง่านะ แต่เคนไม่ได้สมัครเข้าไปเพราะอยากเป็นทหารนะครับ แต่หนึ่ง–มันถึงเวลาที่เขากำหนดให้เกณฑ์ทหาร สอง–ถ้าเกลียดเขาต้องลองไปเป็นเขา อยากรู้วิธีคิดทหารก็ไปเป็นเลย ซึ่งมันใช้เวลาแค่ 6 เดือน เหมือนไปเรียนเทอมหนึ่ง

“อีกอย่างคือเคนไม่อยากยัดเงิน ไม่งั้นจะเท่ากับว่าเรายอมรับระบบคอร์รัปชั่น ยิ่งถ้าเราหนีทหารมาทำงานศิลปะมันจะกลายเป็นว่าชายไทยกว่าสองแสนคนที่เขาต้องไปเป็นเพราะไม่มีทางเลือก ในขณะที่เราหนีลอยนวลได้ กลายเป็นว่าเราเอาเปรียบพวกเขาหรือเปล่า การยัดเงินทหารมันเป็นการเอาเปรียบคนที่ไม่มีช่องทางอีก เราไปทำงานเรียกร้องให้หลายๆ คน เราเอาเปรียบคนอื่นไม่ได้จริงๆ 

“แล้วพอจะวิพากษ์วิจารณ์อะไรก็พูดได้ไม่เต็มปาก สมมติถ้ามีฝั่งนั้นมาบอกว่าไม่อยากให้มีเกณฑ์ทหารแล้วเคยไปเป็นหรือยัง เคนจะได้ตอบว่าเคยแล้ว เราวิพากษ์วิจารณ์ในฐานะที่เราเคยเป็นทหารนี่แหละ เพราะเราตั้งใจไว้แล้วว่าถ้าได้เข้าไปจะเก็บมาเป็นวัตถุดิบทำงานศิลปะเราด้วย

“ซึ่งพอได้เข้าไปจริงๆ มันทำให้เราได้เห็นอะไรชัดขึ้นมากเลย เรารู้จักคนจากหลายชนชั้นมากๆ อย่างบางคนเงินเดือนออก 5,000 ต้องส่งให้ที่บ้านทั้งหมด ทั้งเดือนต้องกินข้าวฟรี หลายๆ คนมีลูกน้อย ยิ่งเราไปรู้จักคนที่ถูกบังคับให้มาเป็น ทำไมคนพวกนี้จะต้องมาเป็นทหารวะ พ่อพิการ แม่ป่วย มันทำให้เรายิ่งรู้สึกแย่

“ระบบอะไรหลายอย่างก็ล้าหลังมาก จากที่ทำงาน 6 เดือน เคนได้ทำงานเอกสาร ทำให้เห็นเลยว่าระบบทหารไม่ได้มีประโยชน์อะไรกับประชาชนสักอย่างเดียว เอกสารมีแต่งานพัฒนากองร้อย เอกสารลา วันๆ ทหารยุ่งแต่กับเอกสาร ถ้าเราอยู่ข้างนอกเราก็ส่งอีเมล

“ถึงจะเตรียมใจก่อนไปเลยว่าเราจะทำตัวเป็นแก้วไม่มีน้ำ ไปรับให้ได้เติมเข้ามา แต่มันก็ไม่ไหว บางวันต้องคิดเลยว่านี่กูมาทำอะไรที่นี่ มันทรมานมาก ยิ่งการเมืองข้างนอกเดือดๆ เคนนอนร้องไห้เลย เพราะเคนทำได้แค่เป็นหมาตัวหนึ่งเหมือนตำรวจ ขนาดคิดว่ารู้สึกเข้มแข็งมากๆ แล้ว บางเรื่องที่รู้อยู่แล้วว่าเขาไม่ได้มองเห็นความเป็นมนุษย์ แต่ไม่ได้คิดว่าจะมองไม่เห็นขนาดนี้ เช่น ถ้า ผบ.ร้อยเข้ามา พลทหารต้องหลบหน้า ต้องรีบวิ่งหนี ห้ามให้เห็นเด็ดขาด 

“กลับออกมาก็ตั้งใจว่าจะมาทำงานศิลปะที่พูดถึงเรื่องนี้ วิพากษ์วิจารณ์ทหารต่อไป สเกลก็ต้องใหญ่กว่าเดิม แม้ว่าตอนนี้จะมีประเด็นที่เขาใช้กฎหมายมาเล่นงานศิลปิน ตอนนี้แนวทางเคนคือ ใช้สัญลักษณ์อะไรบางอย่างมาแทนในภาพ แต่ไม่ทำให้ดูยากเกินไป ถ้าอยากด่าใครก็พยายามทำงานให้มันชี้เป้าที่สุด แต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องมีกรอบมากขึ้น เพราะอาจมีกฎหมายที่ตั้งมาเพื่อป้ายสีเรา 

“เคนพยายามยึดแนวคิดว่าเราทำอะไรได้มากกว่าการโดนจับ และการที่เขาทำแบบนี้มันทำให้เรารู้สึกกลัว แต่ทำไมเราต้องมากลัวอะไรแบบนี้ด้วยวะ ในเมื่อสิ่งที่เราทำมันไม่ได้ผิด แล้วตอนนี้เหมือนเราต้องสู้กับคนที่ไม่ได้ใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม สิ่งที่เราทำมันเป็นแค่งานศิลปะ มันไม่ใช่อาชญากรรม มันไม่ได้ไปฆ่าใครตาย มันไม่ได้ผิดอะไรเลย 

“เราพยายามทำงานไม่ให้มีความกลัวมาเกี่ยวข้อง แต่ต้องจัดการให้ดีกับอันตรายที่มองไม่เห็นด้วย ซึ่งแน่นอนว่าเราออกมาจากเกณฑ์ทหารแล้ว เคนไม่เลิกทำงานสายนี้ ไม่เคยหมดหวังที่จะทำงานออกมาขับเคลื่อน ถ้าเราจะเป็นหวังให้คนอื่น เราต้องไม่หมดหวัง เคนว่าถ้าเราทำงานแบบไม่เชื่อในความหวังที่เกิดขึ้น เคนไปตายดีกว่า อยู่ไปแล้วอุดมการณ์เราสิ้นหวังมันก็ไม่ต่างอะไรกับก้อนหิน อยู่ไปวันๆ อย่างนั้นมันไร้ค่ามากๆ เราเชื่อว่าทุกคนมีความหวังอยู่แล้วครับ”

AUTHOR