“ความกลัวไม่ได้เป็นเครื่องมือทำงานของเรา” สินา วิทยวิโรจน์ นักวาดภาพประกอบประชาธิปไตย

ท่ามกลางความหลากหลายของนักวาดภาพประกอบที่ออกมาใช้ทักษะตัวเองแสดงจุดยืนทางการเมือง ผลงานสีสดแฝงด้วยประเด็นแหลมคม จิกกัดผู้มีอำนาจ และเสียดสีความเชื่อเก่าๆ อย่างรุนแรงของ สินา วิทยวิโรจน์ โดดเด่นอยู่ในสายตาหลายคนได้ไม่ยาก

คนติดตามในเพจ Sina Wittayawiroj® มากกว่าสองหมื่นคน และภาพที่ถูกแชร์ออกไปมากกว่าพันครั้งเป็นเครื่องยืนยันได้ แม้บางผลงานจะมีกลิ่นความรุนแรงมากจนเฟซบุ๊กต้องรีพอร์ตออกไป แต่นั่นไม่ใช่เรื่องน่าเศร้าเท่ากับภาพนั้นวาดมาจากเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในสังคม

นอกไปจากการวาดรูป สินายังริเริ่มสร้างกลุ่มนักวาดภาพประกอบประชาธิปไตยในเฟซบุ๊กเพื่อให้นักวาดหลากหลายสไตล์มาปล่อยผลงานเคลื่อนไหวทางการเมืองจนตอนนี้มีสมาชิกกว่าหมื่นคน ทั้งยังเป็นพื้นที่ที่ชวนนักวาดมาสร้างแคมเปญความเคลื่อนไหวไปพร้อมๆ กับสถานการณ์ทางสังคม 

เหล่านี้คือสิ่งที่คนเห็นบทบาทการเคลื่อนไหวทางการเมืองส่วนใหญ่ของสินา เมื่อได้นั่งจับเข่าคุยกับเจ้าตัวถึงที่มาของความสนใจการเมืองและแนวคิดการทำงานแล้ว จึงพบว่าช่วง 10 ปีที่ผ่านมาในภาวะที่การเมืองทำให้คนรุ่นใหม่รู้สึกเติบโตมากับความวุ่นวาย สินาเป็นคนหนึ่งที่ผ่านการเห็นความรุนแรงต่อคนเสื้อแดง ต้านการรัฐประหารในปี 2557 ด้วยความรู้สึกปลดแอกทางความคิด ตั้งคำถามกับความอยุติธรรมรอบตัว ในขณะเดียวกันก็รู้สึกเจ็บปวด หวาดระแวงกับความไม่ปลอดภัยในชีวิต และต้องจำใจห่างหายไปจากเรื่องการเมืองระยะหนึ่ง

แน่นอนว่าอะไรก็ตามที่ทำให้เขาต้องนิ่งเฉยก็หยุดได้เพียงความเคลื่อนไหว ไม่มีใครก้าวข้ามเข้ามาบังคับความคิดและจิตใจได้ สินายังคงหล่อเลี้ยงความเชื่อของตัวเองเสมอจนปล่อยให้มันปะทุออกมาอีกครั้งในวันที่คนออกมาเรียกร้องชีวิตที่ดีกว่าเดิมในประเทศนี้ 

และในตอนนี้ที่สังคมไทยตื่นขึ้นแล้ว สินาเชื่อว่าเรากำลังอยู่ในยุคของการเปลี่ยนแปลงที่จะไม่มีใครหันหลังให้ความอยุติธรรมอีก

1
นักเรียนศิลปะผู้ปลดแอกทางความคิด

ถ้าถามถึงที่มาที่ไปความสนใจการเมืองของสินา เรื่องทั้งหมดต้องย้อนกลับไปในช่วงที่เขาเป็นนักเรียนศิลปะจากคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร สินาเข้าเรียนรุ่นเดียวกับวนะ วรรลยางกูร ลูกชายของ วัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียนผู้ต้องลี้ภัยทางการเมือง และการรับรู้ข้อมูลการเมืองที่ต่างจากรัฐพยายามบอกกับเขาเริ่มจากตรงนี้

“เราอยู่หอเดียวกันกับเขา เวลาอยู่ในวงเหล้าเขาจะเป็นคนแอ็กทีฟเรื่องการเมืองมากกว่าคนอื่น เล่าทุกเรื่องให้ฟังตั้งแต่รัฐประหารปี ’49 จนกระทั่งมีม็อบเสื้อแดง” สินาย้อนความทรงจำ

แม้ในตอนนั้นเขายอมรับว่าตัวเองยังวางตัว ‘เป็นกลาง’ ท่ามกลางความขัดแย้งของสีเสื้อ จนปีที่เขาเรียนจบ และได้ฟังเรื่องราวคนเสื้อแดงจากเพื่อนมากมาย เขาคิดว่าเรื่องเล่าคงไม่เท่าตาเห็น วันหนึ่งช่วงเมษายน ปี 2553 สินาไปแยกคอกวัวและอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แล้วบันทึกภาพสิ่งที่เห็นเอาไว้

“มันหวนให้เราคิดถึงตอนเด็กๆ ที่พ่อแม่พาไปงาน 6 ตุลาฯ แล้วได้รับรู้การใช้ความรุนแรง สิ่งที่เราได้เห็นที่แยกคอกวัวมันเป็นคนละเรื่องกับที่เรารับรู้จากสื่อกระแสหลักมากๆ หลังจากนั้นเราเลยอยากแอ็กทีฟการเมืองมากขึ้น ศึกษาข้อมูลจริงจัง ก่อนหน้านี้เราไปเจอวารสาร อ่าน ที่ตลาดในสนามหลวงก็ซื้อมาอ่าน หาข้อมูลเชิงลึก คลุกคลีอยู่กับคนในฝั่งประชาธิปไตยมากขึ้น” 

นับแต่นั้นเขาตัดสินใจว่าตัวเองจะไม่เป็นกลางทางการเมืองอีก และคิดว่าคุณภาพชีวิตเขากับคนเสื้อแดงก็ไม่ต่างกันในประเทศนี้

“ตอนแรกก็มีชั่งใจว่าจะเลือกอะไร เพราะองค์ความรู้ที่เรามีกับที่สื่อกระแสหลักบอกเรามาตลอดมันไม่ไปด้วยกันเลย เราลองเอาตัวเองไปเชื่อมโยงและมีส่วนร่วมกับข้อมูลรัฐ มันก็มีเรื่องที่ไม่เมคเซนส์ รู้สึกแค่ว่ารัฐกดทับเรา

“แต่พอเราเชื่อว่าประชาชนมีสิทธิมีเสียง สุดท้ายเราคิดว่าข้อมูลจากวารสาร อ่าน และที่เราลงพื้นที่เห็นคนเสื้อแดง เป็นข้อมูลที่สมเหตุสมผลกว่า เรารู้สึกว่าตัวเองเชื่อมโยงกับมวลชนเสื้อแดงได้

“พอคิดอย่างนี้แล้วมันเหมือนปลดแอกทางความคิด จากที่เคยเป็นเครื่องมือของรัฐ เรารู้สึกเติมเต็มว่าฉันเป็นประชาชนที่มีคุณค่านี่หว่า ไม่ต้องยอมให้รัฐกดทับอย่างเดียวก็ได้”

ไม่ใช่แค่เรื่องการเมืองระดับประเทศ สินาใช้แนวคิดนี้กับทุกเรื่องในชีวิตประจำวัน อย่างเช่น เรื่องการรับน้องในคณะจิตรกรรมฯ ที่เขาออกมาต่อต้านในช่วงที่กำลังเรียนปริญญาโท

“มันเกิดมูฟเมนต์เรื่องรับน้องที่คณะใกล้ๆ เช่น มัณฑนศิลป์ และโบราณคดี แต่มันไม่เกิดขึ้นในจิตรกรรม ซึ่งเป็นคณะที่เป็นสารตั้งต้นเรื่องการรับน้องในศิลปากร การที่เราออกมาพูดว่าไม่เห็นด้วยมันไปคัดง้างความเชื่อและโครงสร้างแบบศักดินาในคณะ จากนั้นมาเราโดนเพ่งเล็งทันที”  

สินาทบทวนความรู้สึกโดดเดี่ยวในตอนนั้น มีคนจ้องเล่นงานเขาในวิธีการต่างๆ จนเขาเป็นคนไม่ไว้ใจใคร  

“มันรวมกับว่าตอนนั้นเราเริ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง ไปลงชื่อแก้ไข 112 คนเห็นเลยบอกว่าเราเป็นพวกล้มสถาบัน เป็นคนเสื้อแดง มีคนขู่ทำร้ายร่างกาย เรามีชื่อในคณะว่าโรสะรอย ก็มีคนไปตั้งเพจ ‘ชาวจิตรกรรมเกลียดโรสะรอย’ คนรู้จักไปกดไลก์ ตอนนั้นมันหนักหนาสาหัสเอาการเหมือนกัน เราหวาดระแวง กลัวว่าจะมีคนมาทำร้าย จนเราต้องเงียบหายไปจากคณะ มันกระทบกับชีวิตมากๆ เราไม่ไว้ใจใครที่มีความเชื่อแบบกลางๆ เลยจนเหมือนเป็นโรค PTSD ทางความสัมพันธ์ (โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรงที่กระทบกระเทือนจิตใจ)”


ศิลปินผู้ใช้ศิลปะศึกษาสังคมการเมือง
และเสรีภาพ

ส่วนการแสดงออกผ่านงานศิลปะ การคลุกคลีกับการเมืองทำให้สินาหยิบเอาตัวละครสำคัญมาทำเป็นของเล่นตั้งแต่ตอนทำทีสิสปริญญาตรี เช่น ทักษิณ ชินวัตร หรือ สนธิ ลิ้มทองกุล แม้เจ้าตัวจะยอมรับตรงๆ ว่า “งานนั้นเราทำแบบ play safe มาก อยู่ตรงไหนก็รอด และไม่ได้เป็นกระบอกเสียงให้สังคมเลย” แต่ตอนนั้นเขาทำมันด้วยความรู้สึกว่าต้องทำ เพราะการเมืองเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต และในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่ต้องมีส่วนร่วมกับการเมือง 

ทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นก่อนที่เขาจะลงพื้นที่ไปเจอคนเสื้อแดง และต่อจากนั้นสินาก็ไม่ได้ทำงานศิลปะที่เฉียดใกล้เรื่องการเมืองอีกเลย

“พอเราเลือกอุดมการณ์ทางการเมือง แล้วเห็นว่าคนที่เลือกแบบเราโดนยิงตาย ไม่ถูกจดจำในเหตุการณ์ ’53 มันรุนแรงจนเรารู้สึกว่าไม่ไหวว่ะ เจ็บช้ำ เหนื่อย ท้อ คนอื่นๆ ก็เงียบหาย เราเลยถอยออกมาไม่ได้ทำเรื่องการเมืองตรงๆ อยู่ 2-3 ปี”

จนกระทั่งทีสิสปริญญาโท สินาเลือกหัวข้อวิจัยที่เชื่อมโยงกับสังคม เขายอมรับว่าไม่สามารถเอาใจออกจากเรื่องนี้ได้แล้ว แต่ก็สำรวจความเป็นไปในระดับชุมชนมากกว่าพูดถึงการเมืองระดับประเทศ

“เราเอาศิลปะมาเป็นเครื่องมือในการศึกษาชุมชนหรือว่าขนบสังคมว่าเขามีทัศนคติยังไงกับเรื่องอะไร ซึ่งมันสนุกกว่าการทำศิลปะแบบเพียวอาร์ตมาก เพราะเราไม่ต้องสนใจศิลปะด้วยซ้ำ ประกอบกับตอนนั้นเราโดนล่าแม่มด ก็เข้ามหาวิทยาลัยบ้างไม่เข้าบ้าง เลยมีเวลาพอที่จะศึกษาไปกับหัวข้อนี้มากขึ้น”

จากนั้นมาสินาก็ใช้วิธีการแบบนี้สร้างสรรค์งานศิลปะมาโดยตลอด เพื่อศึกษาสังคมการเมือง และสำรวจความเป็นไปได้ของการทำงานศิลปะ

“มันมีหลายงานที่เราทำหลังจากเรียนจบปริญญาโท เช่น ตอนนั้นเราทำงานเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ ก็คิดว่าจะแบ่งพาร์ตมาเป็นศิลปินด้วย เลยขอทางบริษัทว่าอยากวิดีโอคอลไปที่แกลเลอรีเพื่อที่จะคุยกับคนดูงานศิลปะทุกวันเป็นเวลา 1 เดือน ซึ่งบริษัทก็โอเค

“ทุกๆ วันได้คุยประมาณร้อยคน บางคนก็งงๆ เหมือนกันว่านี่คืองานศิลปะเหรอ สุดท้ายเราได้ข้อมูลที่เซอร์ไพรส์เยอะมาก เช่น เขาไม่เคยคิดเลยว่าศิลปะมันมาไกลขนาดนี้ ความเห็นหลากหลายมาก แต่มันคือการแลกเปลี่ยนทางตรง จากตัวเราที่เป็นศิลปินกับคนดู แล้วมันทำให้รู้ว่าผู้ชมก็เป็นส่วนหนึ่งในการเติบโตของศิลปิน การทำงานศิลปะไม่ใช่แค่เอางานไปวางอย่างเดียว ตัวศิลปินอาจจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมกับโจทย์แล้วผลิตงานออกมา” 

หลังจากนั้นเขาก็ขยับกลับมาทำงานการเมืองอีกครั้ง ด้วยความสนใจประวัติศาสตร์การสวรรคตของรัชกาลที่ 8 เขาจึงหยิบมาสร้างเป็นงานเตรียมแสดงในแกลเลอรีแห่งหนึ่ง แต่เพราะเป็นหัวข้อที่อ่อนไหวในสังคมประกอบกับเหตุการณ์สวรรคตของรัชกาลที่ 9 ทำให้แกลเลอรีขอยกเลิกงานสินาไป

“จริงๆ งานนี้มันก็มีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น 112 และเป็นประวัติศาสตร์ต้องห้าม วิธีเดียวที่จะพูดได้คือซ่อนในสัญญะ แต่พอเราทำงานแบบนี้ซ้ำๆ ในกระบวนการศิลปะ เรารู้สึกว่านี่เป็นปัญหา เพราะสื่อสารออกมาตรงๆ ไม่ได้ แล้วกว่าสารนั้นจะไปถึงผู้ชมอีก เราเลยเปลี่ยนใหม่ พยายามทำให้ใกล้เคียงสิ่งที่อยากสื่อสารมากที่สุด สุดท้ายเลยไม่ได้แสดง”

นี่จึงเป็นงานชิ้นแรกที่เขาถูกเซนเซอร์ สินาจึงนำบทสนทนาที่เจ้าของแกลเลอรีขอยกเลิกงานมาเซนเซอร์คำบางคำออก แล้วจัดแสดงในชื่อว่า This show IS Cancelled 

Processed with VSCO

ดูเหมือนความเป็นไปในสังคมทำให้สินาผิดหวังกับการเป็นคนทำงานศิลปะซ้ำแล้วซ้ำเล่า ปีต่อมาเขาก็ยังไม่ได้แสดงงานประวัติศาสตร์การสวรรคตรัชกาลที่ 8 อีก สินาจึงตัดสินใจเอาผลงานตัวเองมาเผาทิ้ง 

และห่างหายออกไปจากการเป็นศิลปินการเมืองอีกครั้ง


การกลับมาในฐานะคนที่ส่งเสียงเพื่อสังคม
ด้วยงานศิลปะ

หลังจากกระแสการเมืองและการลุกฮือของมวลชนเมื่อปีที่แล้ว สิ่งเหล่านี้กระตุ้นให้สินากลับมาส่งเสียงทางสังคมอีกครั้ง โดยใช้เครื่องมือศิลปะเบสิกที่สุด นั่นคือการวาดรูป เพื่อแสดงจุดยืนทางการเมือง รวมตัวนักวาดในกลุ่มนักวาดภาพประกอบประชาธิปไตยเพื่อสนับสนุนขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม 

ต่อไปนี้คือบทสนทนาที่สินาพยายามสะท้อนมุมมองของเขาต่อการใช้ศิลปะขับเคลื่อนสังคม ณ เวลานี้ให้เราฟัง

คุณเป็นศิลปินที่ผ่านการทำงานศิลปะการเมืองมาหลากหลายแบบ ทำไมการกลับมาครั้งนี้ถึงเลือกใช้การวาดรูปสื่อสารเป็นหลัก

ในตอนแรกมันเกิดจากการเห็นคนมารวมตัวกันเยอะๆ แล้วเราคิดว่าต้องทำอะไรสักอย่าง ซึ่งก็กลับมาคิดว่าเราทำอะไรได้บ้าง เบสิกเลยคือวาดรูปได้ ทำไมไม่ใช้ให้เป็นประโยชน์กับคนอื่น ไปม็อบแล้วกลับมาวาดรูปเลย ตอนที่ทำไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นศิลปินด้วยซ้ำ คิดแค่ว่าอยากวาดรูปเกี่ยวกับขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองในไทย แค่นั้นเอง

แต่ก็มีลองไปทำอย่างอื่นด้วยนะ ทำแอนิเมชั่น แต่งเพลง แต่ก็ยังรู้สึกว่าการวาดภาพการเมืองกลายเป็นความชอบของเราไปแล้ว นี่คือสิ่งที่เราอยากทำมาตลอด ใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือในการมีส่วนร่วมกับสังคม  จนปัจจุบันงานมันก็ไหลทะลักออกมา วาดทุกวัน คือทำงานประจำเสร็จ ทำจ๊อบเสร็จ วาดรูปการเมืองตลอด มันกลายเป็นกิจวัตรไปแล้ว

อีกอย่างพอแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นพื้นที่แสดงออกอีกทาง แล้ววิธีการเดียวที่สื่อสารกับชุมชนออนไลน์ได้เร็วที่สุดคือรูปวาด เราก็เลือกเทคนิคที่มันตอบโจทย์กับผู้ชม กับคนที่เราอยากสื่อสารด้วย 

เท่าที่สังเกตผลงานของคุณหลากหลายมาก อย่างที่เห็นในปัจจุบันก็ไม่ได้เหมือนกับตอนที่วาดขึ้นมาแรกๆ เลย

เราเปลี่ยนสไตล์เยอะมาก เราพยายามไม่ล็อกตัวเองไว้แบบใดแบบหนึ่ง ตอนแรกๆ เราวาดเป็นรูปบุคคลบนพื้นหลังสี แล้วก็เขยิบมาวาดภาพเหมือนคน จากนั้นก็พยายามสร้างคาแร็กเตอร์ของตัวเอง แต่ก็คิดว่ายังไม่เวิร์ก ตอนหลังที่ขบวนเดินทะลุฟ้ามาขอให้ช่วยวาดโปสเตอร์แล้วเขาส่งเรฟเฟอเรนซ์โปสเตอร์ญี่ปุ่นมาให้ เราเลยเริ่มพัฒนาจากงานนั้นมาจนเป็นภาพแบบปัจจุบัน

ตอนนี้วาดภาพแต่ละครั้งเราจะมีหมวดในหัวเลยว่าภาพนั้นจะสื่อสารอะไร เราจะแบ่งออกเป็น 3 หมวด คือ หมวดให้กำลังใจ จะวาดคนในขบวนประชาธิปไตยขึ้นมาแบบมีอำนาจ เปลี่ยนแปลงสังคมแล้ว หรือบางทีก็จะวาดคนมีอำนาจให้ไม่มีอำนาจ อีกหมวดคือหมวดสวยงาม จะวาดออกมาให้มีองค์ประกอบสวยงามแต่เต็มไปด้วยความรุนแรงให้มันคอนทราสต์กัน หมวดสุดท้ายคือบันทึกเหตุการณ์ จะเป็นแบบจินตนาการให้มันเกินจริงบางส่วน เช่น ภาพผู้พิพากษาที่มีข่าวลือมาว่ามีคนคอนโทรลผู้พิพากษาได้ เราก็เอามาวาดแบบเป็นตุ๊กตาหุ่นมีคนชักใย แล้วก็เติมถุงน้ำเกลือไว้ด้านล่าง สื่อถึงเพนกวิน มีภาพที่ถูกเผาด้านหลังซึ่งเป็นคดีของแอมมี่ ทั้งหมดรวมได้ว่าพูดถึงเรื่องอำนาจที่กำลังถูกท้าทาย ผู้พิพากษาที่กำลังถูกชักใย แล้วก็คนที่สู้ด้วยการทำร้ายตัวเองเพื่อให้ผู้พิพากษาเห็นว่าฉันไม่พอใจกับความอยุติธรรม 

จากการวาดภาพสื่อสารด้วยตัวเอง แล้วอะไรที่ทำให้คุณเริ่มตั้งกลุ่มนักวาดภาพประกอบประชาธิปไตย

จริงๆ มันเริ่มจากว่า ตอนเราต้านรับน้อง เรามารู้ว่าตัวเราเองทำคนเดียวไม่มีเครือข่ายเลย พอมาตอนนี้เลยคิดว่ามันต้องสร้างกลุ่ม สร้างเครือข่าย อีกอย่างคือเวลาเราเห็นใครทำแคมเปญอะไร พอคนมาร่วมแคมเปญด้วยเยอะๆ ภาพมันก็จะหายไป ไม่มีการ archive ไว้ แต่พอเราตั้งกรุ๊ปนี้ขึ้นมามันเป็นการ archive หลายๆ อย่าง และการทำแคมเปญผ่านกลุ่มทำให้ผลงานมันอยู่ในนั้นตลอดไป

ตอนแรกเราก็ไม่ได้คิดว่ามันต้องใหญ่ขนาดนี้นะ แค่คิดว่าอยากมีพื้นที่หนึ่งที่มีคนแบบเรามาอยู่รวมกันเฉยๆ แต่ปัจจุบันนี้มีสมาชิกหมื่นกว่า แล้วกลายเป็นกลุ่มที่จับต้องได้ขึ้นมา ช่วงแรกๆ เราแทบไม่ได้ทำอะไรเลย มีคนอัพโหลดงานลงทุกวัน กลุ่มมันรันไปเองแบบออร์แกนิก มันเกินความคาดหมายเรามากๆ 

ซึ่งทั้งหมดมันก็เกิดจากสังคมมีการเคลื่อนไหวตลอด มันเลยมีมูฟเมนต์ตลอดด้วย แล้วมูฟเมนต์แบบนี้ในออนไลน์ก็สำคัญ เราจะเห็นการถกเถียงกันเนอะว่าเราควรลงถนนหรือควรอยู่ในออนไลน์ แต่เราคิดว่ามันต้องไปด้วยกัน คือไม่ว่าพื้นที่ไหนก็ต้องแอ็กทีฟทางการเมืองได้ แล้วก็โดยอิสระด้วย ไม่ต้องมีแกนนำก็ได้ มันสามารถเกิดการเคลื่อนไหวด้วยประชาชนด้วยกันเองก็ได้ แล้วกลุ่มนี้มันก็ตอบโจทย์การเคลื่อนไหวที่มันเกิดขึ้นในสังคมจริงๆ 

พอเกิดการเคลื่อนไหวแบบนี้ คุณคิดว่าศิลปะมีส่วนช่วยสนับสนุนสังคมยังไงบ้าง

ต้องบอกก่อนว่างานศิลปะก็เป็นภาษาหนึ่งในการสื่อสาร ทีนี้ด้วยภาษาของศิลปะมันเต็มไปด้วยไวยากรณ์ที่มันเกินจริงได้ ไม่นานมานี้เพิ่งมีคนวาดประยุทธ์เป็นถังขยะ วาดให้คนมีอำนาจดูตลก ถูกวิพากษ์วิจารณ์เสียดสีล้อเลียนจนเขาดูเหมือนไม่มีอำนาจ

สิ่งพวกนี้มันทำให้การเคลื่อนไหวทางการเมืองมีความหลากหลายมากขึ้น เราจะไม่สามารถเคลื่อนไหวทางการเมืองได้โดยมีงานวิชาการเป็นธงนำอย่างเดียว สุดท้ายมันต้องมีเพลงแรป เสื้อยืดรณรงค์ โปสเตอร์ เข็มกลัด โลโก้ ป้าย ภาพประกอบ งานศิลปะ อะไรก็ได้ ภาพประกอบการเมืองหรือกรุ๊ปนักวาดภาพประกอบประชาธิปไตยก็เป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวนี้

แต่ถ้าดูจากสถานการณ์ตอนนี้ที่เสรีภาพในการพูดทุกอย่างที่คิดยังไม่เกิดขึ้นจริง ยังมีคนโดนจับกุมอยู่ คุณเองกลัวบ้างไหม

เราผ่านความกลัวนั้นไปแล้ว ก่อนหน้านี้คือกลัวจะโดนจับ จะโดน 112 โดนนู่นนี่นั่น ซึ่งเราเบื่อกับความรู้สึกแบบนี้ คือถ้ามาจับจริง สุดท้ายเราสามารถอธิบายได้ด้วยว่าสิ่งที่เราทำเราทำไปทำไม ไม่ได้คิดเพื่อให้เกิดการล้มล้าง เราแค่บันทึกปรากฏการณ์บางอย่าง แล้วต่อให้คุณจะอยู่ฝั่งไหน มองด้วยแว่นของรัฐแล้วพยายามเข้าใจเราก็ได้นะว่ามันเกิดปรากฏการณ์นี้ในสังคม และงานของเราตอนนี้มันได้สะท้อนปรากฏการณ์นั้น โดยที่ไม่ต้องพยายามทำให้เราเป็นคนผิด เพราะเราไม่ได้ทำอะไรผิด เราแค่วาดรูป 

แต่ถ้าคุณจะยัดเยียดความผิดให้เรา เราก็ไม่กลัวแล้ว เราได้ทบทวนกับตัวเองว่าสิ่งที่มีอยู่ตอนนี้ในตัวเราคืออุดมการณ์ทางการเมืองที่อยู่กับเราตลอด ต่อให้เราเปลี่ยนสถานะไปเป็นนักโทษ โดนจับ โดนสังคมลงโทษหรืออะไรก็แล้วแต่ สิ่งเหล่านี้มันไม่หายไป แม้เราต้องพัก เงียบ หรือจะเหนื่อย พอคิดได้แบบนี้ความกลัวไม่ใช่ตัวเรา ความกลัวไม่ได้เป็นเครื่องมือที่เราจะเอามาใช้ทำงาน 

แล้วในมุมการถูกทำให้เป็นผู้แพ้ ผู้ผิดหวังต่อการเรียกร้องประชาธิปไตยมาตลอด คุณรู้สึกยังไง อะไรที่ทำให้คุณยังอยากสู้เพื่อความเปลี่ยนแปลงอยู่

จริงๆ เราคิดว่าการเปลี่ยนแปลงมันเกิดขึ้นไปแล้ว เรากำลังอาศัยอยู่ในสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงแล้ว แต่รัฐไม่ยอมเปลี่ยนแปลงต่างหาก มันไม่ใช่คำพูดที่หลอกตัวเองนะ เวลาผู้ปราศรัยพูดว่าเราชนะแล้ว คือเราชนะแล้วจริงๆ ในทางวัฒนธรรม ประชาชนตื่นแล้ว และรู้แล้วว่าตัวเองถูกรัฐใช้มาตลอดชั่วโคตร เราแค่ยังไม่มีกฎหมายที่ชอบธรรมที่มาจากประชาชน 

แล้วเราคิดว่าถ้ามองแบบรัฐ คืออยากให้เราแผ่ว ท้อ แล้วถ้าตัวเองท้อจริงๆ นั่นแปลว่าเราตกเป็นเครื่องมือของรัฐ เขาชนะเลย โอเค อาจจะมองได้ว่ามีคนออกไปประท้วงกันน้อยลง เพราะหลายๆ คนหมดเงินที่จะไปม็อบ ต้องกลับไปทำงาน กลับไปต่างจังหวัด จำนวนคนที่ตาเห็นมันน้อยลง แต่ถ้าลองคิดในมุมมองคนคนหนึ่งที่ตื่นแล้ว เราว่าเขาจะไม่กลับไปหลับอีก 

ลองถามคนไม่ไปม็อบตอนนี้ เขาเลิกอุดมการณ์ทางการเมืองหรือเปล่า เขาคิดว่ารัฐนี้ดีที่สุดหรือเปล่า ก็ไม่ พอคิดแบบนี้ทำให้เราสบายใจว่าคนแบบนี้ต่อให้เขากลับไปนิ่งๆ เงียบๆ เหมือนจะเป็นอิกนอแรนต์ แต่ถ้าเขามีลูก เขาจะไม่ให้ลูกเป็นเหมือนที่ผ่านมา เขาจะคิดเปลี่ยนมันยังไงในระดับที่เล็กที่สุด กับเพื่อน กับครอบครัว กับที่ทำงาน การเผชิญหน้ากับปัญหาเล็กๆ น้อยๆ แบบนี้ อุดมการณ์ทางการเมืองมีส่วนหมดเลย คุณจะเป็นคนไม่ยอมต่ออำนาจที่ไม่เป็นธรรม หรือว่าเจ้านายมาขอลดเงินเดือนโดยที่คุณไม่ยินยอม คุณก็ฟ้องร้องได้ คุณจะรู้ว่าเรามีพลังในตัวเอง เราสามารถสู้ได้ภายใต้กฎหมายที่มีตอนนี้ด้วยซ้ำ

ดังนั้นเราคิดว่าตอนนี้ในขบวนเราอาจจะต้องให้กำลังใจกันเยอะๆ ว่าเราชนะแล้ว เราชนะในทางวัฒนธรรมได้แล้ว

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐวัฒน์ ตั้งธนกิจโรจน์

ชื่อโทนี่ แต่พวกเขามักจะรู้จักผมในนาม Whereisone