Iconoclastor บอกซ์เซตสีแดงบันทึกเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่รัฐพยายาม big cleaning จากประวัติศาสตร์

Highlights

  • Iconoclastor คือโครงการศิลปะล่าสุดของพิสิฎฐ์กุล ควรแถลงศิลปินร่วมสมัยรุ่นใหม่ที่มีผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง เด่นชัดในอัตลักษณ์ ยียวน และมั่นคงในจุดยืนประชาธิปไตย
  • ผลงานหลายชิ้นมีลักษณะร่วมในฐานะบทบันทึกหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัย ที่ฝ่ายนิยมเผด็จการพยายามจะลบเลือนจากความทรงจำของประชาชนเสมอมา
  • ผลงานชุดนี้คือบอกซ์เซตขนาด 40x30 เซนติเมตร (ขนาด A6) กล่องกระดาษหุ้มหนังอย่างดีสีแดงสด ฝากล่องปั๊มทองเป็นชื่อโครงการ พร้อมสัญลักษณ์ชูสามนิ้ว ด้านล่างเขียนว่า 10 YEAR : MILITARY CRACKDOWN

พิสิฎฐ์กุล ควรแถลง คือศิลปินร่วมสมัยรุ่นใหม่ที่มีผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง เด่นชัดในอัตลักษณ์ ยียวน และมั่นคงในจุดยืนประชาธิปไตย ผลงานของเขาครอบคลุมงานทัศนศิลป์ไปจนถึงดนตรีอิเล็กทรอนิก หลายชิ้นมีลักษณะร่วมในฐานะบทบันทึกหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัย ที่ฝ่ายนิยมเผด็จการพยายามจะลบเลือนจากความทรงจำของประชาชนเสมอมา

Iconoclastor คือโครงการศิลปะล่าสุดของพิสิฎฐ์กุล เป็นตัวอย่างของลักษณะร่วมดังกล่าวที่ชัดเจนและตรงไปตรงมา นี่คือผลงานที่ศิลปินตั้งใจสร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อรับใช้การเมืองทั้งในเชิงแนวคิดและมนุษยธรรม

ผลงานชุดนี้คือ Boxset ขนาด 40×30 เซนติเมตร (ขนาด A6) กล่องกระดาษหุ้มหนังอย่างดีสีแดงสด ฝากล่องปั๊มทองเป็นชื่อโครงการ พร้อมสัญลักษณ์ชูสามนิ้ว ด้านล่างเขียนว่า

10 YEAR : THAI MILITARY CRACKDOWN
13/05/2010-19/05/2010
13/05/2020-19/05/2020

เปิดฝากล่องออกมา ภายในจะพบ Certificate of Authenticity พร้อมเลขระบุ edition และลายเซ็นของศิลปิน เอกสารรับรองยังทำหน้าที่คล้ายสารบัญที่บอกว่าสิ่งที่อยู่ในบอกซ์เซตชุดนี้มีอะไรบ้าง ซึ่งได้แก่ สมุดสะสมสติกเกอร์ขนาด A6 หนึ่งเล่ม, สติกเกอร์ขนาด A3 จำนวน 7 แผ่น และโปสเตอร์ขนาด A3 อีก 20 แผ่น โดยเนื้อหาทั้งหมดล้วนเป็นไปดังข้อความบนฝากล่องนี่คือรูปแบบหนึ่งของเอกสารบันทึกเหตุการณ์สลายการชุมนุมทางการเมืองที่รุนแรง เลวร้าย และน่าเศร้าที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศ ซึ่งเกิดขึ้นไปเมื่อสิบปีที่แล้ว

สิบปีที่แล้วเกิดอะไรขึ้น? กลางเดือนพฤษภาคม พ.. 2553 รัฐบาลของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตัดสินใจอนุมัติให้ทหารใช้ปืนที่บรรจุกระสุนจริงสลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง บริเวณแยกราชประสงค์และพื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงภายในวัดปทุมวนาราม คร่าชีวิตพลเรือนที่มีทั้งเด็ก คนชรา สื่อมวลชน อาสาสมัครกู้ภัย และพยาบาล รวมทั้งสิ้น 94 ศพ โดยรัฐบาลในตอนนั้นพยายามปกปิดข้อเท็จจริงและทำให้ประชาชนเข้าใจว่านี่คือความชอบธรรมแล้วในการยับยั้งพวกเผาบ้านเผาเมือง

ผ่านมาหนึ่งทศวรรษ เหยื่อผู้เคราะห์ร้ายยังไม่ได้รับความยุติธรรม และฝ่ายผู้ก่อเหตุ (และผู้สนับสนุนการก่อเหตุพยายามทำให้เหตุการณ์นี้เลือนหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ของประเทศเสมอมา พิสิฎฐ์กุลเลือกใช้สมุดสะสมสติกเกอร์แบบที่เราคุ้นเคยในวัยเด็กมาเป็นเครื่องมือในการย้อนรำลึก ในสมุดประกอบด้วยภาพลายเส้นของเหยื่อที่ถูกสังหารในระหว่างวันที่ 13-19 พฤษภาคม 2553 จำนวน 64 ศพ ศิลปินวาดภาพพวกเขาเหล่านั้นจากภาพถ่ายในที่เกิดเหตุ โดยมีบางส่วนเป็นภาพหน้าตรงจากบัตรประชาชน ภาพโปรไฟล์จากเฟซบุ๊ก และหนึ่งภาพที่เป็นเพียงฉากสีดำปราศจากบุคคล โดยในแต่ละภาพจะระบุ ชื่อนามสกุล อายุ สาเหตุการเสียชีวิต วัน เวลา และบริเวณที่เกิดเหตุ

เช่น ภาพในหน้าแรกของสมุด คือภาพของ พลตรีขัตติยะ สวัสดิผล (เสธ.แดง) อายุ 58 ปี อดีตทหารที่เป็นแกนนำ นปชสมุดระบุสาเหตุการเสียชีวิตว่า ถูกยิงที่ท้ายทอยและขมับขวา กระสุนทำลายสมอง วันที่เกิดเหตุคือ 13 พฤษภาคม 2553 เวลา 18:45 . บริเวณ MRT ฝั่งสวนลุมพินี ทั้งนี้ เสธ.แดงยังถือเป็นผู้เคราะห์ร้ายรายแรกของห้วงเวลาเจ็ดวันของการสังหารประชาชนเกือบร้อยศพในตอนนั้น

สมุดสติกเกอร์จะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อเราแกะสติกเกอร์ที่แถมมาด้วยแปะลงไปให้ตรงกับหน้าของมัน โดยศิลปินจงใจใช้เทคนิค color distortion หรือปรับบางส่วนให้มีสีสันสดใสประหนึ่งลูกกวาดกับภาพถ่ายในสติกเกอร์ทั้งหมด จนดูเผินๆ ก็ไม่อาจรู้เลยว่าภาพเหล่านี้คือภาพของเหล่าคนที่เคยมีชีวิตอยู่ และถูกสังหารจริงๆ เมื่อสิบปีที่แล้ว

ในขณะที่สมุดสะสมสติกเกอร์คือเครื่องบันทึกถึงตัวตนของเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายในเหตุการณ์ โปสเตอร์อีก 20 แผ่นในบอกซ์เซตก็เป็นคล้ายเครื่องบันทึกถึงสถานที่เกิดเหตุของการสังหารหมู่ ซีรีส์โปสเตอร์นี้เคยถูกจัดแสดงในนิทรรศการกลุ่ม Conflicted Visions AGAIN ที่ WTF Gallery ระหว่างเดือนกรกฎาคมสิงหาคมที่ผ่านมา ในโปสเตอร์แต่ละแผ่นประกอบด้วยแผนที่จาก Google Maps พร้อมพิกัดบนแผนที่ที่ระบุว่าพื้นที่ตรงไหนมีใครถูกสังหารบ้าง และพวกเขาเสียชีวิตด้วยสาเหตุใด

และเช่นเดียวกับสติกเกอร์สีสันฉูดฉาด ศิลปินก็จงใจใส่ภาพประกอบบนแผนที่ในโปสเตอร์ที่ดูไม่เกี่ยวข้องอันใดกับเนื้อหา เช่น ภาพมังกร ไดโนเสาร์ อัศวิน โดราเอมอนพ่นไฟ โนบิตะที่มีหัวซ้อนกัน 10 หัว ไปจนถึงพระแม่กาลี และพระนารายณ์ เป็นต้น ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้เข้ามาลดทอนความตึงเครียดของข้อมูล หรือปั่นป่วนข้อเท็จจริงที่ว่าด้วยการตายอย่างมีนัยสำคัญ

อย่าลืมว่าอีกไฮไลต์สำคัญเมื่อสิบปีแล้วหาได้จบแค่ห้วงเวลาของการสังหาร แต่มันเป็นเหตุการณ์หลังจากนั้น ทั้งความพยายามบิดเบือนข้อเท็จจริงของรัฐบาล การโยนแพะไปยังผู้ก่อการร้ายชุดดำ และวาทกรรมเสื้อแดงเผาบ้านเผาเมือง รวมไปถึงแคมเปญชวนคนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ออกมาทำ Big Cleaning Day ทำความสะอาดพื้นที่ที่เพิ่งเกิดการสังหารหมู่ หรือการทำมิวสิกวิดีโอเพื่อเรียกร้องให้ประชาชนสามัคคี และให้ผู้ชุมนุมที่รัฐมองว่าเป็นคนชนบทและถูกเกณฑ์เข้ามาต้องกลับบ้าน ฯลฯ เหล่านี้ถือได้ว่าเป็นเครื่องมือในการปั่นป่วนความจริงที่ว่ารัฐบาลเพิ่งกระทำการฆาตรกรรมหมู่ประชาชนไป การใส่องค์ประกอบศิลป์ที่เหนือธรรมชาติและไร้ความหมายของพิสิฎฐ์กุล จึงดูเหมือนว่าเป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนความเลือดเย็นของผู้ก่อเหตุเช่นนี้ (ซึ่งถ้าเทียบกันแล้ว งานของศิลปินดูจะเบากว่ามากนัก)

และในขณะที่ความพยายามอันหลากหลายของรัฐที่ว่ามาคือความพยายามฝังกลบเหล่าคนเสื้อแดง รวมถึงผู้ที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่แต่ถูกลูกหลงจนเสียชีวิต ผลงานอันแฝงความยียวนของพิสิฎฐ์กุลก็เป็นเสมือนของที่ระลึกย้ำเตือนให้คนรุ่นหลังได้รู้จักเหล่าเหยื่อทางการเมืองในฐานะประชาชนที่เคยมีเลือดเนื้อเชื้อไขคนหนึ่ง

Iconoclastor มีรากศัพท์มาจาก Iconoclast ซึ่งแปลว่าผู้ทำลายรูปเคารพหรือผู้คัดค้านการบูชารูปเคารพซึ่งเมื่อพิจารณาจากวาทกรรมไพร่อำมาตย์หรือความตั้งใจที่ฝ่ายรัฐยัดเยียดแนวคิดเรื่องผังล้มเจ้าให้กับคนเสื้อแดงในเหตุการณ์ก่อนปี 2553 ซึ่งยังคงส่งผลต่อเนื่องมาในคู่ขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ การตั้งชื่อดังกล่าวบนหน้าบอกซ์เซตที่ว่าไปก็คล้ายโลงศพสีแดงสด ก็ถือเป็นการยั่วล้อมายาคติที่หลอกหลอนสังคมไทยมาตลอดทศวรรษได้อย่างเฉียบคม

Iconoclastor / 10 YEAR : MILITARY CRACKDOWN (2010-2020) ผลิตออกมาเพียง 50 ชุด จำหน่ายในราคา 5,000 บาท รายได้ครึ่งหนึ่งศิลปินจะนำไปบริจาคให้กลุ่ม Redfam Fund กองทุนช่วยเหลือครอบครัวผู้ต้องขังคดีการเมืองเสื้อแดงอุบลราชธานี โดยจะจัดจำหน่ายจนถึงวันที่ 30 กันยายนนี้ พ้นจากวันนั้นศิลปินจะทำลายผลงานที่เหลือทิ้ง

สามารถสั่งซื้อ เข้าไปชมข้อมูลเพิ่มเติม รวมถึงฟังอัลบั้มเพลงประกอบโครงการของศิลปินได้ที่เพจเฟซบุ๊ก Iconoclastor และ iconoclastor.com

AUTHOR