ดมกลิ่นฝุ่นเชียงใหม่และทอผ้ากับคนแปลกหน้าใน EYP 5 นิทรรศการศิลปะจากเด็กสมัยนี้

Highlights

  • Early Years Project หรือ EYP คือโครงการของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (bacc) ที่จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 5 เพื่อบ่มเพาะและสร้างเครือข่ายศิลปินรุ่นใหม่ โดยศิลปินในโครงการจะได้สร้างสรรค์และจัดแสดงผลงาน รวมทั้งพัฒนาทั้งผลงานและศักยภาพของตนด้วยคำแนะนำจากคณะกรรมการ
  • ความพิเศษของ EYP ปีนี้คือการมีกำหนดหัวข้อเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม โดย 8 ศิลปินในโครงการต่างตีความกันอย่างสนุกสนาน เล่าเรื่องตั้งแต่ธรรมชาติ วัฒนธรรม ไปจนถึงผู้คนที่แวดล้อมรอบตัว
  • Early Years Project 5 by Millcon: 20/20 ‘เปลี่ยน’ เปิดให้เข้าชม ตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม - 20 กันยายน 2563 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

มองแบบเผินๆ เป็นเรื่องยากมากที่จะจัดหมวดหมู่ผลงานในนิทรรศการ Early Years Project 5 by Millcon: 20/20 ‘เปลี่ยน’ 

ก็นิทรรศการที่จับจองพื้นที่ชั้น 9 ของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (bacc) ในตอนนี้เต็มไปด้วยผลงานศิลปะร่วมสมัยจาก 8 ศิลปินที่ต่างทั้งเทคนิคและคอนเซปต์ บ้างเป็นงาน installation ที่ให้ลูบๆ คลำๆ ได้ตามใจชอบ บางชิ้นเป็นงานที่ให้ผู้ชมมาร่วมสร้างไปด้วยกัน มีชิ้นหนึ่งเป็นการแสดง และอีกชิ้นที่ต้องใช้อาศัยการดม!

ถึงจะดูต่างกันยังไง แต่จุดร่วมหลักคือศิลปินทั้ง 8 ล้วนเป็นศิลปินรุ่นใหม่ไฟแรงที่เข้าร่วม Early Years Project หรือ EYP ซึ่งจัดติดต่อกันเป็นปีที่ 5 แล้ว

eyp

eyp

เผื่อใครเพิ่งเคยได้ยินชื่อนี้เป็นครั้งแรก EYP คือโครงการบ่มเพาะและสร้างเครือข่ายศิลปินรุ่นใหม่ โดยเปิดรับสมัครศิลปินจากทั่วประเทศก่อนคัดเหลือ 8 คน และเหลือผู้ชนะสองรางวัลในท้ายสุด ความพิเศษคือทั้ง 8 คนจะได้เข้าคอร์สการเป็นศิลปินมืออาชีพจากมืออาชีพที่หอศิลป์เชิญมาพูดคุย ได้ทำผลงานจริงเพื่อแสดงในนิทรรศการที่หอศิลป์ แถมยังมีโอกาสปรับผลงานระหว่างจัดแสดงอีกด้วย (ที่ผ่านมาปรับได้ 2 ครั้ง ส่วนปีนี้ปรับได้เพียงครั้งเดียว)

ที่สนุกอีกอย่างคือเหล่ากรรมการของ EYP ไม่ได้มีหน้าที่แค่คัดเลือกและตัดสิน แต่ยังเป็นเหมือนโค้ชให้คำแนะนำตลอดโครงการ เมื่อบวกกับจำนวนปีในแวดวงศิลปะของกรรมการแต่ละคน การที่ศิลปินรุ่นใหม่ได้พัฒนาผลงานร่วมกับคำแนะนำของพวกเขาจึงเป็นโอกาสที่มากกว่าการส่งผลงานและนั่งรอผลการประกวดเฉยๆ

ปีนี้ กรรมการประกอบไปด้วย สืบแสง แสงวชิระภิบาล หัวหน้าฝ่ายนิทรรศการของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร, ไมเคิล เชาวนาศัย ศิลปินร่วมสมัยที่มีผลงานสะเทือนสังคมมากมาย เช่น ภาพถ่ายตัวเขาแต่งหน้า กรีดตา ทาปาก ห่มจีวรพระ, ผศ. ดร. ประพล คำจิ่ม อาจารย์ประจำภาควิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์ ภูมิสถาปนิกและศิลปินผู้เชี่ยวชาญการทำงานกับพื้นที่, ผศ. ดร.ศุภชัย อารีรุ่งเรือง นักวิจารณ์และอาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร และ สุรีรัตน์ ลีสวัสดิ์ตระกูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่จากบริษัท Millcon Steel ผู้สนับสนุนนิทรรศการ

eyp

ไม่เพียงแค่นั้น ปีนี้เป็นปีแรกที่ EYP มีโจทย์ให้ศิลปิน คือ ‘สุนทรียศาสตร์ กระแสสมัย และสิ่งแวดล้อมในวันพรุ่งนี้’ ซึ่งนอกจากเราจะสนุกที่ได้เห็นการตีความคำว่าสิ่งแวดล้อมในรูปแบบต่างๆ กรรมการทั้ง 6 ยังบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าจุดร่วมของทั้ง 8 ผลงานคือความสนุกในการหยิบจับเอาประเด็นใกล้ตัวที่ตัวเองสนใจมาเล่าอย่างสนุกสนานและเปิดให้ผู้ชมมีส่วนร่วมได้ 

ไหนๆ มาดูงานทั้งที นอกจากจะให้ศิลปินอธิบายแนวคิดผลงานแล้ว เราจึงชวนเหล่ากรรมการมาเล่าถึงพัฒนาการของศิลปินและสิ่งที่พวกเขาประทับใจในงานแต่ละชิ้นด้วย

ส่วนคุณจะประทับใจงานชิ้นไหน ลองไปเล่นผลงานและสำรวจสิ่งแวดล้อมของพวกเขาผ่านตัวหนังสือด้านล่างกัน

eyp

 

ตาบอดคลำช้าง
ธนนันท์ ใจสว่าง

ธนนันท์ คือศิลปินรุ่นใหม่ผู้สนใจเรื่องชีวิตของผู้พิการทางสายตาและเรื่องวัสดุเก็บตกและแพ็กเกจจิ้งใช้แล้วเป็นพิเศษ เมื่อได้ฟังนิทานเรื่อง ‘คนตาบอดคลำช้าง’ ที่เล่าเรื่องคนตาบอดซึ่งบรรยายช้างไม่เหมือนกันสักคน เธอจึงสนใจและเริ่มทำกิจกรรมให้ผู้พิการทางสายตาสัมผัสรูปปั้นช้างและวาดช้างในแบบของตัวเองออกมา ก่อนจะดัดแปลงเป็นประติมากรรมช้างถึง 4 ตัวโดยใช้วัสดุใช้แล้วอย่างกล่องข้าวจากกระดาษชานอ้อย ถุงกระสอบ ฝาขวดนม และอื่นๆ 

ช้างเหล่านี้ยืนนิ่งให้ทุกคนเข้ามาลูบคลำได้ตามสบาย โดยธนนันท์มีเป้าหมายเล็กๆ ในใจว่าอยากให้ช้างเป็นสื่อกลางให้ผู้ชมได้มารับรู้ร่วมกันและตีความช้างในรูปแบบของตัวเอง

ความคิดเห็นกรรมการ : ผศ. ดร. ประพล คำจิ่ม

“งานนี้เกิดขึ้นมาจากการที่ศิลปินเก็บกล่องหรือภาชนะใช้แล้วต่างๆ เอามาทำใหม่เป็นงานศิลปะ ที่ผ่านมา ศิลปินเคยทำงานจากของใช้แล้วมาแล้ว แต่สิ่งที่ทำให้งานก้าวไปอีกขั้นคือก่อนหน้านี้งานของเขาแทบจะอยู่บนผนังล้วนๆ แต่ในงานนี้เขาหยิบจับความสามมิติเข้ามาเติมได้อย่างน่าสนใจ”

 

ฉันไม่ปรากฏ ฉันจึงมีอยู่
สรีนา สัตถาผล

ถุงกระสอบไนลอน หรือที่ใครหลายคนมักแซวว่าเป็น ‘ถุง Balenciaga’ คือไอเทมที่โดดเด่นพอๆ กับนั่งร้านสูงสามชั้น ในผลงาน performace and installation art ชิ้นล่าสุดของสรีนา งานนี้เกิดขึ้นจากความตั้งใจทบทวนตนเองในฐานะศิลปินผู้ใช้ทรัพยากรมากมายกับการแสดงผลงานแต่ละครั้ง มาคราวนี้เธอจึงหยิบวัสดุที่เคยใช้จาก 3 ผลงานในอดีตพร้อมด้วยของประเภทเช่ายืมหรือวัสดุใช้แล้วอื่นๆ อย่างหนังสือพิมพ์เก่า เพื่อประกอบขึ้นเป็นผลงานชิ้นใหม่ซึ่งเกิดขึ้นและสลายไปได้แบบร้อยเปอร์เซ็นต์

ความเห็นกรรมการ : สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์

“งานของสรีนามีเสน่ห์ในแง่ที่เขาเลือกเอาสิ่งของธรรมดามาใช้ แต่เมื่อเขาหยิบขึ้นมากลับเหมือนมีสปอตไลต์มาส่อง ไม่ว่าจะเป็นถุง Balenciaga หรือนั่งร้านก็ตาม ตอนแรกเราเป็นกังวลเรื่องการใช้พื้นที่เพราะยังมองไม่ออกว่าเมื่องานเสร็จแล้วจะออกมาเป็นยังไง แต่พอเขาเติมพรมกำหนดขอบเขตของพื้นที่การแสดง พื้นที่นี้เลยเหมือนกลายเป็นเวทีไปเลยซึ่งดีมาก” 

 

Soul / The myth / Giant / instagram.com/ronarong.b / Absurd
รณรงค์ บุตรทองแก้ว

ชิ้นงานโมชั่นกราฟิก ผลงานสามมิติ และงานภาพพิมพ์อิงค์เจ็ตบนกล่องไฟจำนวน 5 ชิ้นภายใต้คอนเซปต์ ‘อะไรก็ได้ที่เราไม่รู้จัก’ ของรณรงค์เกิดขึ้นจากผลงานวาดเส้นที่เขาค่อยๆ วาดสะสมมาอย่างต่อเนื่องเพราะอยากพัฒนาทักษะและท้าทายตัวเองไปพร้อมๆ กัน โดยเขานำภาพลายเส้นแต่ละชิ้นมาประกอบขึ้นเป็นผลงานในกล่องไฟที่ส่องสว่างคล้ายกับจอดิจิทัลที่เป็นแรงบันดาลใจของตน

eyp

ความเห็นกรรมการ : สืบแสง แสงวชิระภิบาล

“ภาพที่รณรงค์วาดเป็นภาพสเกตช์ของคน สิ่งที่เขาได้พบเจอในแต่ละวัน ความตึงเครียดอึดอัดในสังคมวุ่นวาย และความสับสนในการทำงาน ที่น่าสนใจคือในขณะที่งานสมัยใหม่หลายชิ้นเป็นงานที่ไม่เน้นทักษะ งานของเขากลับมีลักษณะลายเส้นดิบๆ ที่สื่อถึงทักษะของผู้วาด งานจึงสะท้อนถึงความตรงไปตรงมา ความเป็นงานฝีมือ และทักษะในเชิงงานคราฟต์แม้จะใช้รูปแบบวิดีโอก็ตาม”

eyp

 

Home for Heaven
ญาณุศักดิ์ เนาว์แสง

ญาณุศักดิ์คือศิลปินผู้มีบ้านเกิดอยู่ที่จังหวัดร้อยเอ็ดและผูกพันกับการทำตุงในงานบุญประเพณีมาตลอด สำหรับเขาตุงคือสื่อที่ผูกโยงคนในชุมชนเข้าด้วยกัน ดังนั้นเมื่อประเพณีดั้งเดิมและวัฒนธรรมท้องถิ่นเริ่มเลือนหาย คำถามว่า ‘เรายังรักกันดีอยู่ไหม’ จึงเกิดขึ้น พร้อมกับผลงาน Home for Heaven ที่เขาทำตุงขึ้นมาจำนวนหนึ่งและชวนผู้ชมมาร่วมทำเพิ่มเพื่อประกอบเป็นรูปทรงบ้าน ภาพแทนของสังคมที่ประกอบขึ้นจากคนหน่วยเล็กๆ นั่นเอง

นอกจากงานนี้จะเป็นการย่อส่วนสังคมโลกให้เล็กลงมาอยู่ในขอบเขตของตุง ญาณศักดิ์ยังตั้งใจใช้ผลงานนี้เป็นเครื่องทดลองว่าในสังคมปัจจุบันที่โซเชียลมีเดียคือช่องทางการปฏิสัมพันธ์อันทรงพลัง การชวนให้คนมาปฏิสัมพันธ์โดยใช้วิถีดั้งเดิมอย่างการทำงานร่วมกันจะยังมีพลังอยู่ไหม

ความเห็นกรรมการ : ผศ. ดร. ศุภชัย อารีรุ่งเรือง

“งานนี้คือการมองตัวเองและความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ในแง่นี้คือความสัมพันธ์ระหว่างศิลปินกับความเชื่อและวิถีชีวิตจากบ้านเกิด วันหนึ่งเขาเห็นว่าบ้านเกิดกำลังเปลี่ยนแปลงไป เขาจึงหยิบตุงมาเป็นสัญลักษณ์ในการอุปมาอุปไมยถึงสังคมที่กำลังสร้างบางสิ่งบางอย่างขึ้นมาด้วยกัน และเขาก็พยายามให้คนที่แม้จะไม่มีวัฒนธรรมร่วมกับเขาสามารถมาร่วมสร้างสิ่งนี้ได้”

 

Mainstay of Three Times / The Pillar Monument
สุชน สุจิต

ท่ามกลางสภาวะสังคมที่มีข่าวความรุนแรงออกมาให้เห็นไม่เว้นวัน สุชนเลือกสะท้อนสิ่งที่เขาพบเห็นด้วยการสร้างสรรค์ผลงานประติมากรรมเหล็กเชื่อมในรูปทรงกระดูกสันหลัง ชิ้นหนึ่งเปิดให้คนเข้ามาเขียนข้อความ และอีก 3 ชิ้นติดตั้งกลไกเคลื่อนไหวเพื่อตั้งคำถามต่อจิตสำนึกและการควบคุมอารมณ์ของมนุษย์ เพราะหลายครั้งที่ร่างกายและอารมณ์อยู่เหนือการควบคุม คนเราที่มีสันหลังตั้งตรงกลับมีพฤติกรรมไม่ต่างจากสัตว์ชนิดอื่นๆ 

ความเห็นกรรมการ : ผศ. ดร.ประพล คำจิ่ม

“งานชิ้นนี้คงรูปแบบที่เขาเสนอในวันแรกเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์คือการใช้กระดูกสันหลังเป็นสัญญะในฐานะเครื่องแบ่งแยกระหว่างมนุษย์กับสัตว์เดรัจฉาน โดยเขาพยายามแปลงทักษะประติมากรรมซึ่งเขามีฝีมืออยู่แล้วให้เป็นงานที่มีมูฟเมนต์อาศัยสื่อใหม่เข้ามาผสมด้วย”

 

เรื่องเล่า 796 กิโลเมตร: บทสนทนาระหว่างเชียงใหม่-กรุงเทพ
รัตนกานต์ กาญจนพันธุ์บุญ

จมูกของเราได้กลิ่นควันไฟฉุนกึกตั้งแต่ยังไม่ทันเข้าไปชมผลงานชิ้นนี้ใกล้ๆ ด้วยซ้ำ แน่นอนว่ามันเป็นความตั้งใจของรัตนกานต์ ศิลปินสาวจากจังหวัดเชียงใหม่ที่เลือกใช้ผ้าผืนยาวสีขมุกขมัวเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้ชมฉุกคิดถึงปัญหาการเผาป่าที่เกิดขึ้นในเชียงใหม่มาหลายปี แต่กลับไม่มีใครให้ความสนใจเหมือนปัญหาหมอกควันในกรุงเทพฯ เธอจึงตั้งใจยกกลิ่นหมอกควันภาคเหนือที่ได้จากการเผาซังข้าวโพดมาแสดงที่กรุงเทพฯ เพื่อสร้างบทสนทนาระหว่างสองพื้นที่ และตั้งคำถามกับสังคมบริโภคนิยมไปพร้อมๆ กัน

ความเห็นกรรมการ : ไมเคิล เชาวนาศัย 

“ตอนแรกโปรเจกต์เรื่องควันเขากว้างมาก ไม่รู้เลยว่าจะกลายเป็นผลงานและติดตั้งยังไง แต่เราเห็นว่าไอเดียเขาดี กรรมการจึงพยายามคอมเมนต์ให้งานเหมาะสมกับพื้นที่และคนดูด้วย พอสุดท้ายเขาแก้ปัญหาได้ก็แปลว่าเราเลือกถูกคนแล้ว และเรื่องที่เพิ่มเข้ามาอย่างกลิ่นที่กระทบจมูกก็น่าสนใจ”

 

อิสระ ตื่นอยู่ เบิกบาน สงบเย็น
รัตนา สุจริต

แสงไฟสีม่วงชมพูที่ถูกติดตั้งเพื่อให้พลังงานแก่พืชในกล่องใส คือผลงาน installation art ที่ต้องการให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของสมดุลระหว่างเทคโนโลยี และวิถีชีวิตดั้งเดิมในสังคมเกษตรกรรม ท่ามกลางสภาวะที่มนุษย์ต้องการควบคุมและเอาชนะธรรมชาติ เพราะทุกวันนี้แม้อาชีพเกษตรกรจะยังคงมีบทบาทสำคัญ แต่ก็ตกอยู่ภายใต้อุดมการณ์ทุนนิยมอย่างช่วยไม่ได้

ความเห็นกรรมการ : สืบแสง แสงวชิระภิบาล

“งานนี้คือการปลูกต้นไม้โดยไฟสำหรับปลูกพืชเพื่อพูดถึงการสร้างเกษตรกรรมระบบ AI ความพยายามดัดแปลงพืช และความไม่เป็นธรรมชาติ เราสนใจที่ศิลปินเคยทำงานภาพพิมพ์ซึ่งเป็นงานที่มีกระบวนการ มีเทคนิคเชิงช่าง แต่พอคุยกันเยอะๆ สุดท้ายเขาก็เลือกทำ installation art ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เขาคุ้นเคย”

 

Social Weaving, An artistic research project
อวิกา สมัครสมาน

จากเครื่องออกกำลังกายที่เรามักพบเห็นตามโรงเรียนหรือสวนสาธารณะ อวิกาแปลงโฉมเครื่องเล่นเหล็กให้กลายเป็นกี่ทอผ้าที่ต้องใช้คนสองคนร่วมกันถึงจะทอผ้าขึ้นมาได้ ไอเดียส่วนหนึ่งของงานนี้เกิดขึ้นจากการที่อวิกาสังเกตเห็นว่าในสังคมมีความขัดแย้งและมุมมองอันหลากหลายซึ่งเกิดจากการมีชุดความรู้ ประสบการณ์ และพื้นฐานชีวิตที่แตกต่างกัน เธอจึงสร้างกี่ทอผ้าสำหรับสองคนที่ทำให้ผู้ทอต้องสื่อสารกันขึ้นมา เพื่อจำลองการปฏิสัมพันธ์กันในสังคมและเพื่อสร้างประสบการณ์และชุดความรู้ร่วมที่ผู้ทอมีเหมือนๆ กัน แม้จะเป็นแค่ช่วงเวลาสั้นๆ ระหว่างทอก็ตาม

ความเห็นกรรมการ : สุรีรัตน์ ลีสวัสดิ์ตระกูล

“ความเจ๋งของงานนี้ก็คือการหยิบเครื่องออกกำลังกายมาประยุกต์ใช้ให้มันเป็นเครื่องทอซึ่งเขาออกแบบให้คนสองฝั่งได้คุยกัน เกิดการสื่อสารกัน และสิ่งที่เขาเอามาใช้ทอก็ไม่ได้มีแค่เส้นด้ายอย่างเดียวแต่ยังมีสายไฟเก่าที่เอาทองแดงออกแล้วมาใช้ร่วมด้วย จากที่ได้ลองเข้าไปทำก็รู้สึกว่ามันไม่ได้ยากแต่มันจำเป็นต้องมีการคุยกัน เพื่อที่จะทอสิ่งนี้ออกมาได้”


นิทรรศการ Early Years Project 5 by Millcon: 20/20 ‘เปลี่ยน’ จัดแสดงระหว่างวันที่ 5 มีนาคม – 20 กันยายน 2563 ที่ห้องนิทรรศการหลักชั้น 9 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ขอบคุณภาพจากหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร


*เนื่องจากสรีณา สัตถาผล และรัตนกานต์ กาญจนพันธุ์บุญ มีตำแหน่งเป็นทีมนำชมนิทรรศการของหอศิลปกรุงเทพฯ​ สืบแสง แสงวชิระภิบาล จึงงดออกเสียงในรอบคัดเลือกศิลปิน

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!