ธนนันท์ ใจสว่าง ศิลปินผู้สร้าง ‘ตาบอดคลำช้าง’ งานศิลปะที่ทุกคนคลำได้ร่วมกัน

Highlights

  • 'ตาบอดคลำช้าง' คือผลงานของ ป๊อป–ธนนันท์ ใจสว่าง ศิลปินรุ่นใหม่ในโครงการ Early Years Project 5 (EYP 5) โดยหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
  • งานนี้คือประติมากรรมช้าง 4 เชือกที่ให้ผู้ชมลูบคลำได้ตามใจ (แต่ห้ามขี่!) โดยเกิดจากแรงบันดาลใจเรื่องการเก็บสะสมวัสดุในชีวิตประจำวัน ความสนใจในชีวิตของคนตาบอด และความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมของป๊อป
  • สิ่งแวดล้อม คือโจทย์ของ EYP 5 ป๊อปจึงใช้วัสดุเหลือทิ้ง เช่น กระดาษหรือถุงกระสอบมาแปลงเป็นช้างและสร้างสัมผัสปุ่มป่ำด้วยเศษพลาสติก งานนี้จึงรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสหลายส่วนทั้งการมอง สัมผัส หรือดม เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงงานนี้ได้ เพราะสิ่งแวดล้อมไม่ใช่แค่เรื่องต้นไม้แต่ยังเป็นเรื่องการอยู่ร่วมกันของผู้คน

เราคิดเล่นๆ อยู่บ่อยๆ ว่าจุดเริ่มต้นที่จะได้รู้จักศิลปินสักคนมีอยู่ 2 อย่าง

อย่างแรก ถ้าไม่ประทับใจชื่อและแนวคิดของศิลปินจนอยากเห็นงานของเขา ก็น่าจะเป็นอย่างหลังคือได้เห็นผลงานของศิลปินคนนั้นจนชอบ และอยากทำความรู้จักกับเจ้าตัวให้มากขึ้นกว่านี้

บังเอิญว่าเราได้รู้จักกับศิลปินรุ่นใหม่อย่าง ป๊อป–ธนนันท์ ใจสว่าง ในแบบหลัง เพราะได้ลองไปเลียบๆ เคียงๆ สำรวจงานประติมากรรมช้างแสนน่ารักที่ชื่อ ‘ตาบอดคลำช้าง’ ของเธอในนิทรรศการ Early Years Project 5 by Millcon: 20/20 ‘เปลี่ยน’ ที่หอศิลป์แห่งกรุงเทพฯ ช้างที่ว่ามีรูปทรงและสีสันไม่เหมือนใคร แถมยังเอื้อให้คนพิการทางสายตาได้สัมผัสงานกันแบบสบายๆ โดยมี braille block หรือแผ่นเบรลล์บนพื้นให้บริการ และมีไกด์ตาดีคอยช่วยให้พวกเขาได้คลำผิวสัมผัสของช้างสมชื่อผลงาน

ตาบอดคลำช้าง

ถ้ามีโอกาสได้สัมผัส คุณอาจจะพบว่าพื้นผิวของช้างนั้นมีสัมผัสที่คุ้นเคยเป็นพิเศษ นั่นเพราะศิลปินจบใหม่จากคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากรใช้หัวใจรักสิ่งแวดล้อมของตัวเองมาทำงานด้วยการรีไซเคิลกระดาษใช้แล้ว อัพไซเคิลถุงปุ๋ยใช้แล้ว พร้อมด้วยฝาขวดน้ำ เศษของเล่นและพลาสติกอื่นๆ ในชีวิตประจำวันมาเนรมิตเป็นช้าง 4 เชือกที่รูปทรงแตกต่างกัน

ทำไมเธอถึงนึกสนุกหยิบเรื่องผู้พิการทางสายตาและสิ่งแวดล้อมมารวมกันเป็นงานศิลปะที่น่าสนใจชิ้นนี้ เราขออาสาเป็นไกด์สำรวจความคิดศิลปินด้วยการชวนทุกคนมาสัมผัสโลกของเธอไปพร้อมๆ กัน

 

ทำไม ‘ป๊อป’ เด็กหญิงจากจังหวัดเชียงรายถึงเป็นศิลปินแบบทุกวันนี้ได้

เราชอบศิลปะตั้งแต่เด็กๆ บ้านเราอยู่จังหวัดเชียงรายที่ไม่ได้มีที่ให้เรียนศิลปะมากนักแต่เราก็เรียนวิชาศิลปะสำหรับเด็กมาเรื่อยๆ ตอนนั้นไม่รู้ว่าชอบศิลปะไหม แต่ความเป็นเด็กทำให้มีเซนส์สนใจสีและรูปทรงแปลกๆ ที่ดึงดูดสายตา

ช่วงมัธยมฯ เราลองไปติววิชาสถาปัตย์รู้สึกสนุกดีแต่ไม่ได้ชอบขนาดนั้น เมื่อไปเห็นอีกห้องเรียนที่สอนวิชา fine art ที่ทำงานศิลปะที่ไม่ได้เน้นการออกแบบหรือใช้งานจึงตัดสินใจเข้าคณะจิตรกรรมฯ ศิลปากร ช่วงต้นปี 3 เราคิดว่างานตัวเองค่อนข้างแปลกเพราะทุกคนทำงานเพนต์ติ้งกันแต่เราใช้วัสดุผ้ามาทำให้มีความนูนจากใยสังเคราะห์ที่แทรกเข้าไปในชั้นผ้าจนมีรูปทรงคล้ายรูปปั้น 3 มิติ อาจมีการดรอว์อิ้งและเย็บปะผ้าด้วย ช่วงนั้นเราลองเริ่มส่งงานเข้าประกวดและนำงานตัวเองไปแสดงนิทรรศการกลุ่ม เคยได้รับรางวัลและขายได้บ้าง เมื่อเรียนจบ เราก็ทำงานด้านศิลปะเลยถือเป็นการทำงานศิลปะที่ต่อเนื่อง

 

แสดงว่าครอบครัวเข้าใจความชอบและสนับสนุนเส้นทางศิลปะมาตลอด

สิ่งที่ดีมากคือตอนที่เรียนศิลปะสมัยเด็กๆ แม้ทุกผลงานที่เราทำออกมาไม่ได้รับคำชมนัก (หัวเราะ) แต่ครอบครัวสนับสนุนมาตลอด พ่อแม่ไม่เคยถามและบังคับว่าต้องทำอะไร ประกอบกับความที่บ้านอยู่เชียงรายซึ่งเป็นเมืองศิลปิน มีขัวศิลปะ มีกลุ่มศิลปินอาศัยและทำงานเยอะ ทำให้มีงานศิลปะอยู่ใกล้ตัว สภาพแวดล้อมแบบนี้ทำให้ครอบครัวเราเห็นว่าคนทำงานศิลปะมีพื้นที่รองรับที่ดี เรียนจบมาก็กลับมาทำงานที่บ้านได้ เราเองก็มีความคิดอยากกลับไปทำงานที่บ้าน แต่ว่าช่วงนี้ขอเก็บประสบการณ์ที่กรุงเทพฯ ก่อนแล้วอาจจะกลับไปอีกทีสักช่วงอายุ 30

 

พื้นที่รองรับคนทำงานศิลปะในเชียงรายที่ป๊อปเล่าหมายถึงอะไร

เชียงรายมีบ้านศิลปินเยอะ ถือเป็นเรื่องที่ดีมากเพราะแค่ติดต่อล่วงหน้าเราก็สามารถตระเวนไปนั่งคุยกับศิลปินที่บ้านหรือสตูดิโอของแต่ละคนได้ อย่างเราเอง พื้นฐานศิลปะที่ใช้สอบเข้ามหาวิทยาลัยบางส่วนก็ได้จากการไปนั่งเรียนรู้กับศิลปินที่บ้าน

การอยู่ในบรรยากาศรายล้อมด้วยศิลปินส่งผลกับคุณยังไง

มีทั้งผลดีและเสีย ผลดีคือสภาพแวดล้อมบันดาลใจเราเพราะเห็นว่าหลายคนวาดรูปอยู่บ้านได้ เห็นผลงานหลากหลาย มีการรวมกลุ่มกิจกรรมศิลปะ มีสถานที่เผยแพร่และแสดงงาน เราเห็นรุ่นพี่ที่จบศิลปากรอยู่เชียงรายเยอะแยะก็คิดว่าเขาเก่งจัง ถ้าได้ไปเรียนคงจะเก่งได้เหมือนกัน เป็นความคิดแบบเด็กๆ ในช่วงนั้น 

ข้อเสียคือเมื่อเห็นวงการศิลปะบ่อยเข้า เข้าร่วมแสดงนิทรรศการกลุ่มและทำงานเพื่อเน้นขายมากขึ้น การได้เงินเป็นเรื่องโอเคแต่เราเกิดคำถามว่าคนซื้องานเพราะงานดีจริงๆ หรือเขาแค่นำไปเก็งกำไร ทำให้ครุ่นคิดจริงจังว่าเราแค่สร้างงานศิลปะเพื่อใครสักคนหรือทำเพื่อบรรลุจุดประสงค์สักอย่างโดยไม่ต้องเกี่ยวกับเรื่องเงินได้ไหม

หลังเรียนจบเรายังแสดงนิทรรศการกลุ่มเรื่อยๆ แต่มีช่วงหนึ่งที่คิดว่าจะทำอะไรต่อไปดี เราไม่แน่ใจ เราทำงานศิลปะมาตลอดซึ่งมันขายได้และเราก็ดีใจกับผลตอบรับนี้ แต่อยู่ดีๆ กลับรู้สึกว่ายิ่งทำงาน ยิ่งห่อเหี่ยวและแห้งแล้งเพราะคิดว่าทำงานได้เงินก็จริงแต่ชีวิตจะยังไงต่อดี

 

ความห่อเหี่ยวนี้หรือเปล่าที่ทำให้ก้าวเข้ามาร่วม Early Years Project 5 กับหอศิลป์ในปีนี้

ใช่ค่ะ เราเจอโครงการ Early Years Project 5 และชอบเงื่อนไขการสมัครที่บอกว่าไม่รับงานที่เสร็จสิ้นแล้ว ประโยคนี้ประโยคเดียวเลยที่ทำให้ตัดสินใจสมัครเพราะมันทำให้เรารู้สึกว่าพื้นที่นี้เปิดกว้าง ไม่ได้มองภาพที่เสร็จสมบูรณ์ว่างานสวยหรือไม่แต่มองกระบวนการที่น่าสนใจ ตอนสมัครเราต้องพรีเซนต์โปรเจกต์ที่จะทำ เราตัดสินใจนำเสนอสิ่งที่อยากทำจริงๆ เพราะต้องการงานที่ต่อยอดจากการทำงานที่เกาหลีใต้ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการเก็บสะสมสิ่งของประกอบกับความสนใจเรื่องการใช้ชีวิตของผู้พิการทางสายตาที่อยากทำมานานแล้ว

งานที่ทำเมื่อไปเกาหลีใต้สะท้อนเรื่องการเก็บสะสมสิ่งของยังไง 

เราเริ่มเก็บสิ่งของมาตั้งแต่ 2 ปีที่แล้วเพราะมีโอกาสได้ทุนของคณะไปดูงานที่เมืองควังจู ประเทศเกาหลีใต้ 1 เดือน โดยมีเงื่อนไขว่ากลับมาต้องจัดแสดงงาน 1 ชุด ตอนนั้นเราคิดไม่ออกว่าจะทำงานอะไร รู้แค่อยากเก็บสะสมสิ่งต่างๆ เลยเก็บตั้งแต่การเขียนไดอารี่ทุกวัน ถ่ายรูปทำเป็นไทม์ไลน์ เก็บแพ็กเกจจิ้งของกิน ของใช้จากร้านค้า จดบันทึกลงไปบนแพ็กเกจจิ้งบ้าง แล้วก็เก็บพวก found object จากการเดินทางอื่นๆ เห็นอะไรตกที่พื้นก็เก็บ ไม่ได้มองด้วยซ้ำว่าจะเอามันไปทำงานอะไร ช่วงที่ไปเป็นฤดูใบไม้ร่วง เราก็เก็บใบเมเปิล ใบแปะก๊วย และลูกสนแล้วใส่เข้าไปในแพ็กเกจจิ้ง 

หลังจากกลับไทยมาหลายเดือน ก่อนแสดงนิทรรศการจากการไปเกาหลีครั้งนั้น เราเปิดดูของที่เก็บมาและดมกลิ่นของใบไม้ในแพ็กเกจจิ้งซึ่งมีกลิ่นแตกต่างกันไปตามแต่ละชนิด กลายเป็นไอเดียว่าเราจะแสดงผลงานเป็นของที่เราเก็บมาจากเกาหลีนี่แหละ เลยรวบรวมกลุ่มวัสดุ ทำให้เป็นรูปทรงแปลกๆ เอามาจัดเรียงที่พื้นบ้าง วางไว้ที่โต๊ะบ้าง ให้มาดมและสัมผัสกลิ่นความเป็นเกาหลีได้

นิทรรศการนี้คือผลงานชุดแรกที่เป็นจุดเริ่มต้นการเก็บ และเป็นจุดที่ทำให้งานของเราเริ่มเกี่ยวข้องกับการใช้ประสาทสัมผัสต่างๆ ทั้งการดม จับ หรืออ่านสิ่งที่เราเก็บมาซึ่งในผลงานที่เราทำในโครงการ Early Years Project ก็มีการใช้สิ่งของที่เก็บๆ มาเอามาประกอบกับประติมากรรมที่เราทำด้วย

ทำไมคุณถึงยังสนใจเก็บข้าวของในชีวิตประจำวันอยู่

วัสดุส่วนมากเราเก็บเพราะประทับใจฟังก์ชั่นบางอย่างที่นอกเหนือจากการใช้งาน เช่น เราเก็บกล่องอาหารจากชานอ้อยเพราะประทับใจพื้นผิวที่มีรอยยับย่นหรือคราบจากการใช้งานที่ทำให้เกิดสีสันหรือรูปร่างที่แตกต่างไปจากเดิม ดังนั้นสำหรับเราการเก็บสิ่งของจึงไม่ใช่แค่การเก็บกลับมาเฉยๆ แต่ทำให้เห็นความทรงจำและประสบการณ์ที่มันผ่านมา

เรื่องกล่องกระดาษชานอ้อย เราสนใจไปถึงที่มาและคุณสมบัติของมันซึ่งเรียบง่ายในทุกขั้นตอน เราพบว่ามันทำมาจากชานอ้อยที่เหลือจากกระบวนการผลิตน้ำตาล พอนำมาผลิตเป็นกระดาษก็ไม่ปล่อยของเสียและไม่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม ใช้งานง่ายเพราะใส่ได้ทั้งของร้อนและเย็น  เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพราะเป็นสิ่งทดแทนพลาสติกได้ในบางฟังก์ชั่น และย่อยสลายด้วยการฝังกลบใน 45 วัน

กับของชิ้นนี้เราตั้งคำถามว่าก่อนย่อยสลายเราจะทำยังไงให้มันมีมูลค่ามากกว่าเป็นแค่สิ่งที่ใช้ทดแทนพลาสติก บวกกับเรามอง found object เป็นวัสดุมีค่าสำหรับการทำงานศิลปะเพราะเรามองทุกอย่างเป็นองค์ประกอบทางวิชวลอยู่แล้ว เลยใช้วิธีการรีไซเคิลทำให้มันเป็นส่วนหนึ่งของประติมากรรมในนิทรรศการ EYP 5 ด้วย

จากการเก็บข้าวของพัฒนามาเป็นงาน ‘ตาบอดคลำช้าง’ ได้ยังไง

โจทย์ของโครงการในปีนี้คือ ‘สุนทรียศาสตร์ กระแสสมัย และสิ่งแวดล้อม ในวันพรุ่งนี้’ เราจึงทำผลงานชื่อ ‘ตาบอดคลำช้าง’ และตั้งชื่อโปรเจกต์การทำงานว่า Bio Blind Project ซึ่งเราเอาความสนใจเรื่องการเก็บวัสดุมาบวกกับความอยากเข้าใจชีวิตของคนตาบอด 

เราไปเรียนอักษรเบรลล์ ตั้งใจจะใช้สื่อสารกับคนตาบอดและเอามาทำงาน แต่การเรียนกลับทำให้เห็นสิ่งที่มากกว่าตัวอักษร เราได้แลกเปลี่ยนความคิดกับคนตาบอดและรู้ว่าจริงๆ แล้วเบรลล์ไม่ได้เป็นสิ่งสากลเสียทีเดียวเพราะคนตาบอดที่ไม่ได้เรียนอักษรเบรลล์หรือคนที่เพิ่งสูญเสียการมองเห็นตอนโตจะอ่านอักษรเบรลล์ไม่ได้ เราเลยกลับมาหาจุดตรงกลาง คือเราพบว่าคนตาบอดมีเรื่องที่เป็นสากล เป็นจุดร่วมในชีวิตประจำวันมากกว่าอักษรเบรลล์ อย่างเช่น การได้ยิน การได้กลิ่น และการจับต้อง เลยยกการสัมผัสมาเป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน 

ช่วงนั้นเราลงพื้นที่ไปทำงานกับคนตาบอดอยู่เรื่อยๆ ก็เจอเรื่องน่าสนใจคือเขาเล่านิทานเรื่องตาบอดคลำช้างให้ฟัง เรื่องมีอยู่ว่ากลุ่มคนตาบอดไปจับช้าง ด้วยความที่ช้างเป็นสัตว์ใหญ่พวกเขาก็จับโดนร่างกายช้างกันคนละส่วนจึงเถียงกันว่าช้างมีหน้าตาเป็นแบบไหน เราว่ามันน่าสนใจเพราะมันเชื่อมโยงกับคนตาดีได้ด้วย อย่างคนเรามองเห็นช้างเหมือนกันแต่ถ้าให้วาดภาพก็อาจได้ภาพที่ต่างกันตามประสบการณ์และจินตนาการ เราคิดว่าเรื่องนี้น่าสนใจเลยยกคำนี้มาทำเป็นงานประติมากรรมช้างสี่เชือก เป็นช้างที่มีรูปทรงแบบที่เรารับรู้เป็นสากลเชือกหนึ่ง อีกสามเชือกที่เหลือเป็นช้างในรูปทรงแบบที่คนตาบอดสัมผัสและเข้าใจ

ทำไมสนใจร่วมงานกับคนตาบอด

มันเริ่มจากการที่เรามองงานชุดเก่าๆ ของตัวเอง ขณะที่เรามองเห็นความงามของผลงานตัวเองได้ เราเข้าใจว่ามันสวยเพราะใช้สีแบบนี้ มันน่ารัก หรือให้อารมณ์แบบไหนผ่านการมอง เราจึงอยากรู้ว่าแล้วคนที่เขามองไม่เห็นจะเข้าใจความงามที่เรากำหนดยังไง อะไรคือภาษาที่เขารับรู้ได้ จุดนี้ทำให้เราสนใจและอยากทำงานร่วมกับคนที่มองไม่เห็น เราอยากสื่อสารกับคนที่มีวิธีรับรู้ที่ต่างจากเราเพื่อให้เขารับรู้ความงามจากสิ่งเดียวกันกับเราได้

 

ที่บอกว่าทำงานร่วมกับผู้พิการทางสายตาเพื่อทำผลงาน ‘ตาบอดคลำช้าง’ คุณทำยังไง

อาสาสมัครทั้งหมดมี 10 คน เป็นน้องที่โรงเรียนสอนคนตาบอดจำนวน 7 คน และพี่ๆ รุ่นราวคราวเดียวกันอีก 3 คน หนึ่งในนั้นมาจากกลุ่ม The Nose Thailand ที่ทำโปรเจกต์เรื่องกลิ่นกับคนพิการทางสายตา

เราอยากทำประติมากรรมช้างที่เล่นกับประสาทสัมผัสของทั้งคนตาดีและบกพร่องทางสายตาเราเลยให้โจทย์คนตาบอดที่มาเข้าร่วมโปรเจกต์ว่าให้ช่วยกันเก็บอะไรก็ได้ที่คนไม่ใช้แล้วโดยการสัมผัส ถ้าสนใจให้นำมามอบให้เรา โดยมีไกด์ไปด้วยนะเพื่อป้องกันไม่ให้จับของมีคม เราใช้วัสดุเก็บตกที่เป็นพลาสติก มันทำให้เราได้ฝาขวดน้ำจำนวนมาก มีพวกเศษของเล่นซึ่งเขาไม่รู้ว่าตัวเองหยิบอะไรมาแต่เราว่ามันน่าสนใจ เราเอามาเป็นรายละเอียดของช้างเพราะสิ่งเหล่านี้สัมผัสได้ 

ด้วยความที่เราจะทำผลงานจากการรีไซเคิลกระดาษ อีกสิ่งที่เราทำร่วมกับคนตาบอดคือเราเอากระดาษที่ผ่านกระบวนการรีไซเคิลแล้วมาปั้นโมเดลช้างเหมือนจริงขนาดเล็กๆ ไปให้คนพิการทางสายตาสัมผัส ทั้งคนที่เคยเห็นและไม่เคยเห็นช้างมาก่อน หลังจากนั้นเราให้คนพิการแต่ละคนวาดรูปช้างออกมา ซึ่งกระบวนการวาดของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนวาดออกมาเลยในขณะที่บางคนเล่าให้ฟังก่อนว่าช้างที่เขาเคยเห็นเป็นแบบไหน  

เมื่อทุกคนวาดเสร็จเราคัดบางภาพออกมาทำประติมากรรมบางชิ้น ใช้เทคนิครีไซเคิลกับอัพไซเคิล รีไซเคิลคือการนำวัสดุกลับมาใช้อีกครั้งโดยผ่านกระบวนย่อยสลายมาก่อน เช่น เราเอากระดาษไปย่อยสลายเพื่อทำช้าง 2 เชือก ส่วนการอัพไซเคิลคือการเอาสิ่งที่มีอยู่แล้วมาเพิ่มมูลค่าให้กับตัวเอง อย่างที่เราเอากระสอบทรายมาเย็บเป็นช้าง

งานของคุณมีทั้งการรีไซเคิลกระดาษ อัพไซเคิลถุงปุ๋ยเป็นช้าง และเอาเศษขยะพลาสติกมาเป็นส่วนหนึ่ง คุณสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่แล้วหรือเปล่า

จุดเริ่มต้นของการทำงานเรื่องสิ่งแวดล้อมของเรามาจากการสังเกตพฤติกรรมการบริโภคในชีวิตประจำวันของตัวเองช่วงหลังๆเวลาเราสั่งข้าวกล่องเราจะได้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่พลาสติกหรือโฟมมากขึ้นเช่น กล่องกระดาษชานอ้อยที่นำมาทำงานในครั้งนี้ เราคิดว่านวัตกรรมจากธรรมชาติพวกนี้เกิดขึ้นมาเพื่อทดแทนและลดการใช้พลาสติกและคงดีถ้าเราได้ใช้นวัตกรรมเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุดเลยเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สนใจคุณสมบัติวิธีการย่อยสลาย ไปจนถึงการรีไซเคิล อัพไซเคิลมากขึ้น

เราคิดว่าสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องน่าสนใจและสำคัญเพราะเราต้องอยู่ร่วมกับมัน ตอนแรกเรามองเรื่องสิ่งแวดล้อมในขอบเขตเรื่องวัสดุและกระบวนการทำงาน เช่น จุดประสงค์ของการเก็บของที่เจอก็เป็นเรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือเราใช้กระบวนการรีไซเคิล อัพไซเคิล แต่เมื่อมองลงไปให้ลึกกว่าเดิม เรารู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมไม่ใช่แค่เรื่องวัสดุและธรรมชาติ บางทีสิ่งแวดล้อมก็คือเรากับเขา คือผู้คน เราเป็นสิ่งแวดล้อมของกันและกัน อยู่ร่วมกันในสังคม ดังนั้นคงจะดีมากถ้าเรารู้จักวิธีการช่วยเหลือกันเพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อกัน

 

คุณออกแบบสิ่งแวดล้อมของผลงานของคุณให้เป็นมิตรกับทั้งคนตาดีและคนที่บกพร่องทางสายตายังไง

ในผลงาน เราทำทางเท้าเบรลล์บล็อกเพื่อให้คนตาบอดเดินเข้าไปจับงานได้ และคนตาดีเห็นว่านี่คือโลกใบที่เราอยู่ร่วมกันกับคนตาบอด นอกจากนี้เราอยากให้คนตาดีเป็นไกด์ให้คนตาบอดได้เข้าไปชมผลงานศิลปะด้วยกัน แต่ถ้ามาคนเดียวก็สามารถเดินเข้าไปดูได้เลย จับได้ทุกเชือกทั้งคนตาดี ผู้พิการทางสายตา และผู้พิการอวัยวะอื่นเพราะงานเปิดโอกาสให้ใช้ประสาทสัมผัสหลายๆ ส่วน เช่น การจับ การมอง หรือการอ่าน แต่อย่าเพิ่งขี่นะคะ ขี่ไม่ได้

เสียงตอบรับจากคนพิการทางสายตา ทั้งคนที่มีส่วนร่วมในกระบวนการทำและผู้ชมเป็นแบบไหนบ้าง

เมื่อทำช้างแต่ละเชือกออกมาไม่เหมือนกัน ช้างแต่ละเชือกจึงได้มาคุยกันผ่านคน ถ้าน้องคนพิการทางสายตากลุ่มเด็กๆ หน่อยเขาจะมาคุยกันเรื่องลักษณะของช้าง เถียงกันเหมือนในเนื้อเรื่องเลย เพราะแต่ละคนมีความเข้าใจไม่เหมือนกัน พอมานั่งคุยกันก็จะมีความสนุกสนานเฮฮา และตื่นเต้น เป็นกิจกรรมเล็กๆ ที่ถ้าคนตาดีเข้าไปมีส่วนร่วมด้วยก็จะได้พูดคุยกัน ถ้าพูดตามทฤษฎีศิลปะมันเป็นความบริสุทธิ์ในการแสดงออกของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน การตีความของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกันซึ่งไม่มีคำว่าถูกหรือผิด

ถ้าเป็นคนตาบอดที่สูงวัยขึ้นมาเขาค่อนข้างจะให้คำแนะนำในเชิงความต้องการว่าเราควรเพิ่มเติมอะไรได้เพื่อรองรับให้เขาดูงานศิลปะชุดนี้ได้ดีขึ้น หรือเขาอยากให้คนตาบอดและคนตาดีมาเดินชมงานด้วยกันเละเรียนรู้ว่าว่าวัสดุอะไรที่จะรองรับการใช้ชีวิตของผู้พิการทางสายตา

 

โลกของคนพิการทางสายตาพาป๊อปไปเจออะไรบ้างที่ชีวิตนี้ไม่คิดว่าจะได้เห็นหรือรู้สึก

เยอะมาก การทำงานกับคนที่มองเห็นเหมือนกัน คุยกันแป๊บเดียวก็เข้าใจ แต่กับคนตาบอดเราต้องใช้ทักษะด้านอื่น เช่น การสัมผัส การอธิบาย เราได้แลกเปลี่ยนมุมมองท่ีไม่เคยเข้าใจ

สิ่งที่เกิดขึ้นมันมากกว่าผลงานศิลปะที่ทำด้วยกันแต่คือความเข้าใจในการอยู่ร่วมกัน ผู้พิการทางสายตาได้มีโอกาสบอกเราว่าสิ่งใดที่สร้างความสะดวกให้เขา พาเราไปรู้จักกับกิจกรรมหลายๆ อย่างที่เราไม่เคยทำ เช่น เป็นไกด์นำทางให้คนตาบอด จากที่สื่อเคยทำให้เราเชื่อว่าคนตาบอดน่าสงสาร ใช้ชีวิตอยู่กับความมืดอันน่ากลัว แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ ในโลกของคนตาบอด เขามีสิทธิทำทุกๆ อย่างที่สภาพแวดล้อมเอื้อให้เขา มันเปลี่ยนแปลงความเชื่อในใจเราในพริบตาเพราะเขาทำอะไรได้เหมือนเราหมดเลย

อย่างหนึ่งในศิลปินที่ทำงานร่วมกับเราชื่อพี่พลอย–สโรชา กิตติสิริพันธุ์ เป็นนักเขียนที่วาดภาพประกอบหนังสือของตัวเอง พี่พลอยมีอุปกรณ์ที่เขาเรียกว่าโฟมยาง เวลาวาดรูปเขาจะเอากระดาษบางๆ ขนาด A4 ทาบลงไปจากนั้นก็ใช้ดินสอวาดตามปกติ ลากเส้นตรงไหนแผ่นโฟมยางก็บุ๋มลงไปตรงนั้นทำให้เขาสัมผัสเส้นที่ตัวเองวาดได้ เส้นเขาเลยแปลกกว่าคนอื่นๆ ตรงที่มันต่อเนื่องกันหมดและช้างของเขาก็มีความใกล้เคียงกับช้างแบบที่คนทั่วไปวาด พี่พลอยยังใส่จินตนาการของตัวเองลงไปด้วยการวาดหมีบริเวณกลางตัวช้าง เราคิดว่าทักษะแบบเขาต้องฝึกฝนเยอะเพราะดูมีสกิลการวาด ซึ่งเราประทับใจตรงนี้มาก

ในฐานะนักศึกษาศิลปะจบใหม่ Early Years Project ให้อะไรคุณบ้าง

โครงการนี้เปิดโอกาสให้เข้าไปเรียนรู้ว่าศิลปินอาชีพทำงานยังไง ตอนแรกเราอาจจะสับสนบ้างว่าเราต้องทำงานร่วมกับคนฝ่ายต่างๆ มากขนาดนี้เลยเหรอ ปัญหามันมีเยอะขนาดนี้เลยเหรอ จากเด็กที่คิดว่าแค่สร้างงานออกมาแล้วเอาไปโชว์ความจริงไม่ใช่เลยเพราะการเป็นศิลปินต้องมีความทุกข์และเจออุปสรรคของเส้นทางนี้ มันไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไป 

 

ศิลปินแบบป๊อปอยากจะเห็นโลกใบนี้เป็นแบบไหน

คงจะดีถ้าคนบนโลกนี้สัมพันธ์กันด้วยความเข้าใจ เป็นมิตรต่อกันและเดินไปพร้อมกัน บางคนอาจมองว่าสิ่งแวดล้อมคือเรื่องของต้นไม้ใบหญ้า แต่เรารู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมไม่จำเป็นต้องเป็นแค่เรื่องธรรมชาติ แต่มันคือพื้นที่ที่เราอยู่และวิธีที่เราสัมพันธ์กัน ชีวิตประจำวันจะดีถ้าเราอยู่เข้าใจสิ่งรอบข้างซึ่งทุกคนต้องช่วยกันจัดสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กันด้วย

Bio Blind Project ของเราจะเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานศิลปะที่มีเรื่องคน ธรรมชาติและประสาทสัมผัสซึ่งเราจะทำต่อเนื่องและอาจเปลี่ยนแปลงไปตามเรื่องราวที่คนเรามีร่วมกัน งานตาบอดคลำช้างเป็นจุดเริ่มต้นของกิจกรรมที่คนหลายกลุ่มทำร่วมกันได้ ซึ่งเราอยากให้มีการดึงคนเข้ามาทำงานร่วมกันแบบนี้อีกในงานชุดต่อๆ ไป ซึ่งเราอาจได้เห็นกระบวนการและผลลัพธ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบใหม่ๆ อีกเรื่อยๆ 


หากคุณสนใจเป็นอาสาสมัครที่เข้ามาทำงานศิลปะร่วมกับคนตาบอดในโครงการ Bio Blind Project สามารถติดต่อป๊อปได้ทางเฟซบุ๊ก Pop Tanan หรือโทร 087-660-3411

เมื่อสถานการณ์โควิด-19 ทุเลา อาจมีการจัดกิจกรรมเวิร์กช็อปทำงานร่วมกันในรูปแบบของการสร้างมิตรภาพ โดยจับคู่ระหว่างอาสาตาดีและคนตาบอดเพื่อสร้างสรรค์ผลงานศิลปะร่วมกัน และนำผลงานไปร่วมแสดงในระยะที่ 2 ของโครงการ Early Years Project ครั้งที่ 5


นิทรรศการ Early Years Project 5 by Millcon: 20/20 ‘เปลี่ยน’ จัดแสดงระหว่างวันที่ 5 มีนาคม – 20 กันยายน 2563 ที่ห้องนิทรรศการหลักชั้น 9 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ขอบคุณภาพจากหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!