Balen(ciaga) I Belong : แฟลชม็อบกระเป๋าสายรุ้งที่บรรจุความเหลื่อมล้ำของดอกหญ้าในป่าปูน

Highlights

  • Balen(ciaga) I Belong คือการแสดงแฟลชม็อบของศิลปินสาว โดโจ–สรีนา สัตถาผล ที่ใช้เพียงนักแสดงและกระเป๋าสำเพ็งใบใหญ่หน้าตาคล้ายกระเป๋ารุ่นหนึ่งของแบรนด์ Balenciaga เป็นส่วนประกอบ
  • การแสดงเริ่มต้นที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ก่อนนักแสดงจะพากันเดินหิ้วถุงผ่านร้านค้าแบรนด์เนมในห้างใหญ่ คล้ายเป็นภาพสะท้อนชนชั้นแรงงานที่ผลิตกระเป๋าหรูเหล่านี้ และสะท้อนความเหลื่อมล้ำในสังคม
  • เป้าหมายของการแสดงอาจไม่ได้ฝันไกลถึงขั้นแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ แต่อย่างน้อยแค่ทำให้ใครบางคนฉุกคิดถึงปัญหาก็น่าจะเพียงพอ
 

ท่ามกลางผู้คนขวักไขว่ ณ ลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (bacc) 7 ชีวิตกำลังนั่งอย่างเงียบงันกระจายไปตามเสาแต่ละต้น ทุกคนสะพายกระเป๋าพลาสติกสีรุ้งใบใหญ่ไม่ต่างจากเครื่องรางประจำตัว

ทุกชีวิตนั่งนิ่งปราศจากการเคลื่อนไหว ผิดกับแสงแดด ฝุ่นควัน ผู้คน และรถยนต์ที่กำลังเคลื่อนไป บ้างกอดกุมถุงสีสดใบใหญ่ไว้ในอ้อมแขน บ้างกางออกแล้วทำเป็นที่นอน บางล้มตัวลงนั่งด้วยท่าทางหมดเรี่ยวแรง บ้างกอดเข่าทำหน้าเศร้าซึม

ไม่นานนักทุกคนก็เริ่มเปิดซิปและเคลื่อนย้ายร่างกายเข้าไปอยู่ในถุง แต่ละคนคลำสำรวจเนื้อตัวในถุงพลาสติกใบยักษ์ ทั้งกอดรัด ทั้งดึงรั้ง ราวกับว่าถุงนั้นได้หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับเนื้อตัว 

สีสันของถุงใบใหญ่ดูคอนทราสต์กับนาฏกรรมกลางแจ้งที่ดุดันราวกับจะประท้วงอะไรบางอย่าง

ช้าก่อน นี่ไม่ใช่การก่อม็อบประท้วงแต่อย่างใด แต่คือแฟลชม็อบชื่อ Balen(ciaga) I Belong ที่ทำเอาหัวใจเราแทบหยุดเต้น และดูเหมือนจะหยุดความเคลื่อนไหวรอบข้างได้ชะงักทีเดียว

โดโจ–สรีนา สัตถาผล performing artist คือศิลปินเจ้าของโปรเจกต์แฟลชม็อบกลางเมืองในวันเปิดงาน DesignNation 2019 เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นอกจากเป็นศิลปินแล้ว ปัจจุบันเธอยังเป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่ฝ่ายนำชมของหอศิลป์ ซึ่งผันตัวมาปั้นโปรเจกต์เฉพาะกิจในงานนี้ด้วย

ศิลปินสาววัย 27 ปีบอกกับเราว่า แฟลชม็อบนี้คืองานที่ต่อยอดมาจากการแสดงครั้งก่อนที่เธอบินข้ามน้ำข้ามทะเลไปแสดงถึงนอร์เวย์ แต่คราวนี้ขยายสเกลให้ใหญ่ขึ้น ทั้งจำนวนถุง จำนวนคน รวมถึงขยายพื้นที่แสดงจากในแกลเลอรีศิลปะไปเป็นพื้นที่สาธารณะ ทั้งลานกลางแจ้งหน้าหอศิลป์และในห้างสรรพสินค้าใจกลางเมือง

นอกจากจะเป็นแม่ทัพนำการแสดงแล้ว ศิลปินสาวยังทำหน้าที่เป็นไทเมอร์ด้วย ถ้าพาร์ตไหนแสดงจบแล้ว เธอก็จะเป็นคนแรกที่ให้สัญญาณเริ่มพาร์ตต่อไป การแสดงครั้งนี้นักแสดงจึงแทบไม่มีคำพูด แต่ใช้การมองตาและอ่านภาษากายกันแทน ส่งผลให้บรรยากาศเงียบงัน ทว่าตรึงสายตาผู้ชมได้อยู่หมัดที่สุดเท่าที่เราเคยดูแฟลชม็อบมา

ก่อนหน้านี้โดโจมีความสนใจในศาสตร์การแสดงสื่อผสมที่ใช้ร่างกายเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ประกอบกับได้เรียนศิลปะมาโดยตรง ทั้งสาขา mixed media art คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และปริญญาโทสาขาวิชาศิลปะไทยจากมหาวิทยาลัยเดียวกัน เธอจึงหยิบเอาความสนใจด้านสื่อผสมมาสร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปะที่มีลายเซ็นเฉพาะตัวเรื่อยมา และจะจัดจ้านมากหน่อยในงานวิชวลอาร์ตที่หนักไปทางการใช้ร่างกาย

จังหวะดีที่งาน DesignNation ปีนี้เปิดกว้างให้งานศิลปะมาร่วมอวดโฉมกับงานดีไซน์ด้วย โดโจจึงคว้าโอกาสปลุกปั้นแฟลชม็อบของตัวเองไว้เซอร์ไพรส์คนที่เดินผ่านไปผ่านมาย่านสยาม

ขยับเข้ามาใกล้ๆ เราจะพาไปแฝงตัวดูแฟลชม็อบในระยะประชิด และหาคำตอบว่าแท้จริงแล้วภายในกระเป๋าพลาสติกใบใหญ่สีรุ้งบรรจุแนวคิดอะไรไว้บ้าง 

 

เมื่อต้องโยกย้าย สิ่งนั้นก็เหมือนกับไม่เคยมีอยู่

“แรงบันดาลใจของการทำแฟลชม็อบนี้เกิดขึ้นตอนที่เราเดินทางบ่อยๆ เรารู้สึกเหมือนมีบางอย่างหายไป แล้วก็มานั่งคิดว่าสิ่งนั้นมีอยู่หรือไม่มีอยู่ตั้งแต่แรก” โดโจอธิบายคอนเซปต์ตั้งต้นของงาน 

ศิลปินสาวเริ่มจากการผูกโยงประสบการณ์การเดินทางครั้งที่ผ่านๆ มาเข้ากับการตั้งคำถามถึงการมีอยู่และการไม่มีอยู่ของสิ่งของ ลามไปถึงการตั้งคำถามกับตัวตนของตัวเอง ว่าเวลาต้องเปลี่ยนที่เปลี่ยนทางไปเรื่อยๆ จนลืมวันลืมคืน ตัวเธอก็ไม่ได้รู้สึกผูกโยงกับที่ใดที่หนึ่ง

ว่าง่ายๆ มันคือการไม่ belong หรือการเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่นั้น

“เราใช้ถุงที่มีฟังก์ชั่นในการเคลื่อนย้ายสิ่งของมาเชื่อมกับไอเดียที่สื่อถึงการเคลื่อนย้ายของตัวเรา แอ็กชั่นในการแสดงเลยง่ายมาก คือเอากระเป๋าที่เป็นถุงพลาสติกขนาดใหญ่มาเคลื่อนย้ายตัวเราเองในการแสดง”

เราถามต่อไปว่า แล้วทำไมต้องเป็นกระเป๋าสีรุ้งใบใหญ่ที่เรามักเห็นกันตามสำเพ็งด้วย เป็นถุงอย่างอื่นไม่ได้หรือ เช่น ถุงกระสอบหรือถุงพลาสติกใส 

เจ้าตัวเฉลยว่าเธอมองเห็นความขัดแย้งและความไม่ลงรอยบางอย่างในกระเป๋าพลาสติกนี้ อย่างที่รู้กันว่ากระเป๋าสีรุ้งมีความละม้ายคล้ายคลึงกับกระเป๋าแบรนด์เนมหรูยี่ห้อ Balenciaga เมื่อแบรนด์แฟชั่นหยิบยกรูปแบบของถุงนี้ขึ้นมา จากของไร้ราคาก็อัพมูลค่าเพิ่มขึ้นไปเป็นพันเท่าหมื่นเท่าชั่วข้ามคืน

 

“การที่แบรนด์หยิบเอาของที่เป็นสัญลักษณ์แทนชนชั้นล่างอย่างกระเป๋าสำเพ็งมาขายเป็นของแบรนด์เนมแพงๆ ทำให้เราคิดว่าชนชั้นล่างไม่มีทางที่จะจับจองกระเป๋านั้นได้ ทั้งๆ ที่กระเป๋านั้นดั้งเดิมมันคือกระเป๋าขนของที่เราใช้กัน เราเลยตั้งชื่อการแสดงนี้ว่า Balen(ciaga) I Belong” ศิลปินสาวขยายถึงเหตุที่ต้องเป็นกระเป๋าสีรุ้ง

เธอเสริมว่าจริงๆ แล้วจะเรียกการแสดงนี้ว่าแฟลชม็อบเสียทีเดียวก็ไม่ใช่ เพราะใช้คนน้อยและตั้งใจให้เห็นกันจะจะไปเลยว่ามาทำการแสดง ไม่ได้ตั้งใจปิดบังหรือทำให้ลึกลับแบบแฟลชม็อบที่เราเห็นกันทั่วไป

นอกจากการมีอยู่ของตัวตนที่เป็นไอเดียตั้งต้นแล้ว การมีอยู่ของสถานะทางสังคมก็เป็นแนวคิดชั้นลึกลงไปที่เธออยากใส่ไว้ในแฟลชม็อบ เปรียบเปรยได้กับกรณีของกระเป๋า Balenciaga ที่เก็บซ่อนความขัดแย้งเรื่องชนชั้นเอาไว้ รอให้ผู้ชมมารูดซิป เปิดแย้มแง้มดูและตีความจากการแสดงไปพร้อมๆ กัน

 

ฟันเฟืองที่ไม่ถูกมองเห็น

หลังจากฟังคอนเซปต์ เรากระจ่างมากขึ้นถึงความหมายของการโผล่ขึ้นมาและการหายไปในถุงพลาสติก เพราะต้องการจะสื่อถึงความมีอยู่หรือความไม่มีอยู่ของชนชั้นแรงงาน 

แต่ท่าทางคลำสำรวจร่างกายและกอดรัดฟัดเหวี่ยงอยู่กับถุงพลาสติกล่ะ เธอซ่อนรหัสอะไรไว้ให้เราตีความ

โดโจยังไม่ยอมเผยไต๋ แต่เธอขอเล่าโครงสร้างของแฟลชม็อบพาร์ตแรกที่ลานหน้าหอศิลป์ก่อน

“งานแสดงของเราจะไม่เหมือนกับการแสดงทั่วไปซะทีเดียวที่บล็อกกิ้งต้องเป๊ะ แต่เราจะวางแผนคร่าวๆ ว่าพาร์ตไหนจะทำอะไร เน้นให้แต่ละคนได้ลงรายละเอียดการใช้ร่างกายในแบบของตัวเอง

“เราเริ่มมินิแฟลชม็อบที่ลานหน้าหอศิลป์ โดยเริ่มจากให้ศิลปินในทีมสำรวจร่างกายของแต่ละคนว่าตัวเขาทำอะไรกับถุงได้บ้าง ทุกคนก็จะใช้ร่างกายอย่างอิสระราวกับหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับถุง ทั้งนั่ง นอน ยืดเหยียดแขนขา มุดลงไปในถุง ม้วนตัว ลุกขึ้นเดิน

“หลังจากที่แต่ละคนสำรวจร่างกายตัวเองแล้ว เราก็ขีดเส้นใต้การแสดงให้มันใหญ่ขึ้นด้วยแอ็กชั่นการทำซ้ำ ซึ่งการทำซ้ำๆ ของแต่ละแอ็กชั่นเราต้องการจะสื่อถึงชนชั้นผู้ใช้แรงงาน  สาวโรงงาน หรือชนชั้นล่าง ที่ต้องทำงานเหมือนหนูถีบจักรซ้ำๆ ทุกวัน เช่น เริ่มเอาถุงมาสะบัดซ้ำไปซ้ำมา เคลื่อนตัวไปกับถุงโดยใช้จังหวะเดิม และจบด้วยการที่ทุกคนเก็บถุงหลายๆ ใบให้เข้าไปอยู่ในถุงใหญ่ วนเป็นลูปอีกครั้ง”

ผู้แสดงจึงต้องเคลื่อนตัวไปโดยมีถุงพลาสติกโยงใยไปกับร่างกายตลอดเวลา และทำอาการซ้ำๆ โดยมีถุงเป็นเหมือนอวัยวะที่ 33

ส่วนพาร์ตต่อไปคือการเดินเป็นขบวนพร้อมกับสะพายถุงใบใหญ่เดินผ่านห้างสรรพสินค้า ทั้งสยามดิสคัฟเวอรี่ สยามเซ็นเตอร์ และไปจบที่สยามพารากอน 

ดูเผินๆ พาร์ตนี้อาจจะดูไม่ซับซ้อน แต่กลับเป็นพาร์ตที่ศิลปินสาวหวังจะสร้างอิมแพกต์ให้กระแทกใจผู้คนให้ได้มากที่สุด โดยสะกิดให้คนที่มาเดินห้างลองหันกลับไปตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของชนชั้นแรงงานผู้สะพายกระเป๋าสายรุ้งสดใสราวกับกำลังหัวเราะขำขื่นกับการไม่ถูกมองเห็น

“โมเมนต์ที่เราเดินผ่านห้างคือมันจุกนะ มองไปทางซ้ายก็แบรนด์เนม ทางขวาก็แบรนด์เนม มันคอนทราสต์กับสิ่งที่เราหอบหิ้วอยู่โดยสิ้นเชิง พอเดินเข้าไปเราได้กลิ่นห้าง แล้วเราก็รู้สึกได้ว่านี่เป็นภาพขัดแย้งว่าคนรวยที่เดินห้างกลางเมืองคงไม่ถือถุงสำเพ็งมาช้อปปิ้งหรอก และเขาอาจไม่ได้รับรู้ถึงการมีอยู่ของพวกเราด้วยซ้ำ

“ลึกๆ เราหวังว่าระหว่างที่เดินขบวนแฟลชม็อบเข้าไปในห้าง เราอาจจะเจอคนถือกระเป๋าลายเดียวกันแต่เป็นของ Balenciaga ก็ได้ มันน่าจะอิมแพกต์ดี แต่ในโมเมนต์นั้นคือเราหดหู่ มันเหมือนตลกร้าย แต่เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในเมือง”

ใครจะรู้ว่าเบื้องหลังกระเป๋าแบรนด์เนมหรูอาจเกิดจากหยาดเหงื่อแรงงานของคนที่หิ้วถุงพลาสติกเหล่านี้แหละ แต่พวกเขาไม่เคยถูกมองเห็น และนั่นคือสิ่งที่โดโจคาดหวังว่าคนดูจะสะกิดใจอะไรบางอย่าง 

 

ผลิบานเป็นดอกหญ้าในป่าปูน

หลังจากเดินขบวนผ่านห้างสยามดิสคัฟเวอรี่และสยามเซ็นเตอร์ การแสดงพาร์ตสุดท้ายจะไปสิ้นสุดลงที่สยามพารากอน และแน่นอนว่ามีสายตานับร้อยคู่จ้องมองมายังแฟลชม็อบนี้ชนิดตาไม่กะพริบ

“พาร์ตสุดท้ายเราให้นักแสดงทุกคนหิ้วถุงเหมือนเดิม แต่ให้สวมอินเนอร์เป็นต่าย อรทัย เป็นดอกหญ้าในป่าปูน เราต้องการสื่อว่าตอนนี้เราเป็นเหมือนคนนอกที่ไม่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของห้างหรูกลางเมือง การแสดงหลักๆ เราให้ทุกคนเอาถุงของแต่ละคนเทินขึ้นไปให้สูงเหมือนภูเขา เพื่อทำให้การแสดงดูใหญ่ขึ้นไปอีก ขีดเส้นใต้ว่าเรามีอยู่ เรามีตัวตน

“ส่วนช็อตสุดท้ายที่นักแสดงกำลังจะถือถุงออกจากเวที เราทุกคนต้องช่วยกันส่งถุงให้อีกคนหนึ่ง ไม่ใช่ถือแค่ถุงของตัวเอง เพื่อจะสื่อว่าในบรรดาพวกเรากันเองมีการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ซึ่งคนดูก็กำลังนั่งดูอยู่ข้างล่างไง ทำได้แค่มองแต่ไม่คิดจะลุกขึ้นมาช่วยถือหรืออยากมาข้องเกี่ยวอะไรกับพวกเรา” 

หลังจากนั้นศิลปินทุกคนก็เก็บถุงออกจากเวที หายลับแบบไม่มีการร่ำลาใดๆ กับผู้ชม คนแสดงและถุงพลาสติกลายลับไปราวกับไม่เคยมีอยู่จริง 

“พื้นที่ที่ทำการแสดงครั้งนี้มันสุดแสนจะคอนทราสต์กับถุงสายรุ้งที่พวกเราถือ ตอนเราเดินออกมาแล้วผ่านร้านกระเป๋าแบรนด์เนมในสยามพารากอน อาจจะทำให้คนนึกอะไรได้บางอย่าง เขาจะตีความเป็นอะไรก็ได้ ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นเรื่องชนชั้นหรือแฟชั่นเท่านั้น แค่คนฉุกคิดถึงประเด็นบางอย่างขึ้นมา สำหรับเราแฟลชม็อบนี้ก็ประสบความสำเร็จแล้ว” โดโจทิ้งท้าย

แท้จริงแล้ว เราอาจจะไม่ต้องถึงขนาดยกย่องเทิดทูนคนชนชั้นแรงงานก็ได้ แต่แค่รับรู้ถึงช่องว่างที่ถ่างชนชั้นออกจากกันก็น่าจะสะกิดให้คนเมืองเริ่มมองเห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ซ่อนอยู่ลึกลงไปใต้ภูเขาน้ำแข็ง ปัญหาที่เหมือนไม่เคยมีอยู่ แต่จริงๆ แล้วกระจายตัวอยู่ทั่วทุกหัวระแหง เหมือนกับถุงพลาสติกที่ล่องลอยเปลี่ยนที่ทางไปเรื่อยๆ แต่สุดท้ายแล้วยังคงอยู่ แถมทำลายทิ้งให้สิ้นซากยากเสียด้วย


Balen(ciaga) I Belong จะแสดงอีกครั้งในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2562 เวลา 16:00 น. ณ สกายวอล์กหน้าห้างสรรพสินค้า MBK Center

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

นิติพงษ์ การดี

ช่างภาพเจ้าของเพจ Rename. ที่ลงงานปีละครั้ง และมีความคิดว่า ถ้าได้กินกาแฟในตอนเช้าหนึ่งแก้ว ถือว่าวันนั้นเป็นวันที่ดี