‘อวิกา สมัครสมาน’ นักทอผ้าแห่งเพจ ‘นวลนิล’ ผู้ใช้กี่พกพาต่อยอดอาชีพและเยียวยาผู้คน

Highlights

  • อิม–อวิกา สมัครสมาน เจ้าของเพจนวลนิล เป็นดีไซเนอร์สิ่งทอร่วมสมัยที่มักเดินทางไปนั่นมานี่พร้อม ‘กี่พกพา’ เสมอ
  • กี่พกพามีลักษณะเป็นเฟรม ผ่านการย่อส่วนและตัดทอนจากกี่ทอผ้าตัวใหญ่ โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบการทอเพื่อเข้าใจโครงสร้างการทอผ้าได้ง่ายขึ้น
  • อิมใช้กี่พกพาในเวิร์กช็อปสอนทอผ้าด้วยมือ ใช้เป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างงานทอร่วมสมัยและภูมิปัญญาชาวบ้าน ใช้เป็นอุปกรณ์ในการสร้างงานศิลปะ และใช้เป็นเครื่องมือในงานวิจัยด้านพัฒนาการของเด็กพิเศษ

เราเป็นเฟรนด์ในเฟซบุ๊กกันมานาน นานจนเกินจำได้ว่าครั้งแรกเห็นกันผ่านโลกโซเชียลฯ ได้อย่างไร เราไม่ได้รู้จักเป็นการส่วนตัว ไม่เคยเจอหน้า อิม–อวิกา สมัครสมาน ที่ฉันรู้จักผ่านเฟซบุ๊กคือดีไซเนอร์สิ่งทอร่วมสมัย ผู้เดินทางไปนั่นมานี่เสมอ เดี๋ยวเห็นเธอไปแถบอีสาน เดี๋ยวก็ขึ้นเหนือ เดี๋ยวก็ลงใต้ ชีวิตของดีไซเนอร์คนนี้แทบไม่อยู่ติดที่ และมีของอยู่อย่างหนึ่งที่มักเห็นเธอถือติดตัวหรือไม่ก็วางอยู่ใกล้ๆ

วันที่เรานัดสนทนากันแบบตัวเป็นๆ อิมหอบหิ้วของสิ่งนั้นมาหลายชิ้น พะรุงพะรังเต็มมือ 

“เราเอาไปด้วยแทบทุกที่” อิมหมายถึง ‘กี่พกพา’ หรือ ‘กี่เฟรม’ มีลักษณะเป็นกรอบไม้ขนาดราว A3 ที่ผ่านการย่อส่วนและตัดทอนจากกี่ทอผ้าตัวใหญ่

นวลนิล

สำหรับอิม กี่เฟรมทำงานในหลายหน้าที่ ทั้งใช้ในเวิร์กช็อปสอนทอผ้าให้กับคนที่สนใจศาสตร์การทอผ้าด้วยสองมือแบบง่ายๆ  ทั้งใช้เป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างงานทอดีไซน์ร่วมสมัยและภูมิปัญญาชาวบ้าน ผ่านการทำงานของกลุ่ม ‘Wisdomative’ ที่พากันเดินทางไปทำงานร่วมกับชุมชนทอผ้าในหลายจังหวัดของประเทศ

มากไปกว่านั้น กี่พกพาของอิมยังถูกใช้เป็นอุปกรณ์สร้างงานศิลปะ อิมเคยคว้ารางวัล Finalist Creative Textile Award 2015 และเคยได้รับคัดเลือกให้ร่วมแสดงงานในนิทรรศการศิลปะขนาดใหญ่อย่าง ‘นิทรรศการศิลปะร่วมสมัย บางกอกหลอกชั้น (Bangkok Layers)’ ที่หอศิลปกรุงเทพฯ ในปีที่ผ่านมา รวมถึงใช้เป็นเครื่องมือในงานวิจัยด้านพัฒนาการของเด็กพิเศษซึ่งทำร่วมกับแพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดี และ HEARTIST ศิลปินผู้สนับสนุนงานทำมือจากกลุ่มคนพิเศษ 

หลายคนรู้จักหญิงสาวนักทอผ้าคนนี้ในชื่อ อิม เจ้าของเพจ ‘นวลนิล’ เพจที่เป็นพื้นที่บอกเล่าการทำงานทั้งหมดทั้งมวลของเธอที่เกริ่นถึงในข้างต้น ซึ่งล้วนเกิดขึ้นจากกี่เฟรมที่ถือง่ายเคลื่อนย้ายคล่อง 

นวลนิล

กี่ทอขนาดพกพา งานทอผ้าฉบับทำมือ

อิมแนะนำกี่เฟรมให้เรารู้จัก โดยอธิบายโครงสร้างที่เรียบง่ายแต่สามารถสร้างผ้าทอผืนย่อมๆ ได้ด้วยสองมือ

“โครงสร้างหลักของผ้ามีเส้นยืนและเส้นพุ่ง เส้นไหมแนวตั้งเรียกว่าเส้นยืน เส้นไหมแนวนอนเรียกว่าเส้นพุ่ง กี่ตัวใหญ่ที่ชาวบ้านใช้มีหลายแบบ ซึ่งหน้าตาและฟังก์ชั่นสร้างมาเพื่อตอบสนองความต้องการเฉพาะของแต่ละภูมิภาค เช่น กี่บางแบบสามารถม้วนเก็บเส้นยืนได้หลายเมตร  ส่วนกี่เฟรมเป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทอเพื่อให้เข้าใจโครงสร้างการทอผ้าได้อย่างง่าย โดยจะจำกัดหน้ากว้างและความยาวของผ้าเท่ากรอบเฟรม เวลาทอจึงเห็นได้เต็มผืน เหมือนเฟรมผ้าใบที่เราใช้วาดภาพ”

กี่เฟรมทุกชิ้นที่อิมใช้เป็นงานทำมือ มือของช่างบ้าง มือของเธอเองบ้าง ตะปูทุกตัวที่ตอกลงไปก็ต้องรู้เทคนิคและจังหวะตอกเพื่อไม่ให้ไม้แตก ระยะห่างของตะปูต้องสม่ำเสมอ กี่เฟรมขนาดกะทัดรัด ง่ายต่อการพกพาไปไหนต่อไหน งานทอผ้าจึงกลมกลืนเข้ากับชีวิตที่ไม่อยู่นิ่งกับที่ของอิม แต่ใครจะไปนึกเล่าว่าความสัมพันธ์ระหว่างสาวศิลปกรรมฯ เอกศิลปะการออกแบบพัสตราภรณ์กับงานสิ่งทอ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะเริ่มต้นด้วยความไม่ค่อยชอบพอนัก

นวลนิล

นวลนิล

 

สิ่งที่ใช่จากความไม่ชอบ

“รากของครอบครัวฝั่งพ่อเราอยู่ที่จังหวัดสุรินทร์ ตั้งแต่เด็กเวลาไปเยี่ยมบ้านย่า เราจะเห็นย่า น้า อา นั่งทอผ้าที่ใต้ถุนบ้าน ในละแวกหมู่บ้านก็ทอผ้ากันหมด แต่ตอนนั้นเราไม่ได้รู้สึกสนใจ และผู้ใหญ่ก็ไม่ให้เราสนใจด้วยเพราะเขาคิดว่าเป็นอาชีพที่ไม่สามารถต่อยอดหรือทำเป็นอาชีพในระยะยาวได้ พอเข้ามหาวิทยาลัย ความตั้งใจแรกของเราก็ไม่ได้อยากเรียนสิ่งทอ แต่เราสอบไม่ติดคณะที่อยากเรียน”

อย่างไรก็ตาม ภาพคุ้นตาของย่าที่นั่งทอผ้ากับกี่ตัวใหญ่ยังคงแจ่มชัดอยู่ในชีวิต และนั่นทำให้เธอตัดสินใจเลือกเรียนวิชาสิ่งทอในท้ายที่สุด

“ตอนเรียน เราเรียนทอผ้ากับกี่ตัวใหญ่ซึ่งมีหลายแบบและเราไม่ชอบเลยสักแบบ เราไม่ชอบงานดีเทลที่ต้องการความเป๊ะ ทอแรงนิดเดียวเส้นยืนก็ขาดแล้ว อะไรวะ” อิมหัวเราะเมื่อเรียกความทรงจำสมัยเรียนกลับมา

นวลนิล

หลังเรียนจบ อิมนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ในฐานะกราฟิกดีไซเนอร์อยู่ 2 ปี กระทั่งรู้สึก ‘โหยหางานทำมือ’ และความโหยหานี้ก็ทำให้เธอค้นพบกี่ทอผ้าแบบที่ถนัดมือและเข้าทาง

“กี่ตัวนี้ พอขึงเส้นยืนบนเฟรม เราจะเห็นดีเทลทั้งหมด จะใส่อินเนอร์ตรงไหนก็ได้ เราเลยสนุกกับมันมากขึ้น อาจเพราะเราเจอเครื่องมือที่ถูกจริตกับเรา ไม่เหมือนตอนเรียน แต่นั่นก็ทำให้เราเข้าใจคนที่มาเข้าเวิร์กช็อปซึ่งมีความหลากหลาย บางเทคนิคอาจไม่เหมาะหรือไม่ได้ชอบกันทุกคน”

การค้นพบกี่ที่ถนัดมือนำมาสู่การเปิดเวิร์กช็อป ซึ่งเปิดโอกาสให้คนทั่วไปที่ไม่ได้เรียนด้านสิ่งทอมาโดยตรงสามารถสร้างงานคราฟต์จากเส้นด้ายและไหมพรมด้วยสองมือของตนเอง ใน Weaving Workshop ของครูอิม ใครๆ ก็สามารถเป็นหนุ่มสาวนักทอผ้าได้ 

 

ห้องเรียนของนักทอผ้ามือสมัครเล่น

อิมเปิดเวิร์กช็อปสอนทอผ้าด้วยกี่พกพามาได้ 4-5 ปีแล้ว จัดหมุนเวียนไปตามคอมมิวนิตี้และคาเฟ่ต่างๆ ที่มีสเปซเอื้อต่องานทำมือ ในห้องเรียนของนักทอผ้ามือสมัครเล่น อิมจะเตรียมเครื่องไม้เครื่องมือไว้ให้พร้อม กี่เฟรมที่ตอกตะปูไว้แล้วเรียบร้อย อีกทั้งเส้นไหม กระสวย ไม้กลม ไม้งัด อุปกรณ์สำคัญที่ใช้ในการทอลาย

“เราสอนตั้งแต่การเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ การเเกะลายจากกระดาษกราฟ (graph paper) ลงบนผืนผ้า การแปลงลายจากผ้าลงไปในกระดาษกราฟ เพื่อให้เข้าใจโครงสร้างการสร้างสรรค์ลายจนสามารถออกแบบลายได้ รวมถึงเทคนิคการทอพื้นฐาน ในทุกขั้นตอน เราพยายามโยงกับสิ่งที่คุ้นตาในชีวิตประจำวันให้คนเรียนเห็นภาพมากขึ้น หรือลวดลายที่มีรากเดียวกันกับสิ่งทอในภูมิภาคต่างๆ

นวลนิล

นวลนิล

“คนเรียนแต่ละคนมีความสนใจและมีความถนัดที่แตกต่างกันไป แม้ในคลาสเดียวกันการลงลึกแต่ละเทคนิคก็จะจำเพาะไปที่ตัวบุคคล บางคนสนุกกับการใช้สีและวัสดุที่หลากหลายก็เน้นไปที่ลายขัดพื้นฐานและเทคนิคการสร้างพื้นผิว ให้เขาใช้เวลากับการเน้นด้วยวัสดุมากกว่าการนับลายที่เป็นแพตเทิร์นซับซ้อน บางคนต้องการเรียนรู้ภาพรวมของเทคนิคเพื่อนำไปออกแบบต่อได้ เราก็เน้นไปที่การอธิบายภาพกว้าง เพื่อให้เขามองหาส่วนที่เขาสนใจและมีไอเดียที่จะสร้างสรรค์ในงาน บางคนเรียนไป 3 เทคนิคแล้วยังไม่ชอบ มาเจอเทคนิคที่ 4 แล้วชอบและถนัดก็มี เราก็จะโฟกัสที่ตรงนี้ไปเลย”

อิมเอ่ยถึงจุดประสงค์ของคนที่เข้าร่วมเวิร์กช็อปของเธอซึ่งก็มีหลากหลาย ทั้งเรียนเพื่อทำเป็นงานอดิเรก เรียนเพื่อเสริมความรู้จากวิชาที่กำลังศึกษา เรียนเพราะต้องการเข้าใจโครงสร้างพื้นฐานของผืนผ้า หรือเรียนเพราะนำไปต่อยอดทางอาชีพ การสอนของเธอจึงยืดหยุ่นไปตามแต่ละเป้าประสงค์

“แต่สิ่งที่ทุกคนได้ไปแน่ๆ คือความเข้าใจเรื่องภูมิปัญญาของศาสตร์นี้ค่ะ และในทุกคลาสก็มักจะมีคำตบท้ายว่า ถ้ารู้ว่าการทอผ้ายากขนาดนี้นะจะไม่ต่อราคาผ้าทอมือแล้ว” อิมหัวเราะตามหลังประโยคนี้

การพบกันของนักทอผ้าสองรุ่น

อิมย้อนไปถึงสมัยเรียนอีกครั้ง เล่าว่าสิ่งหนึ่งที่เธอชอบมากคือการได้เข้าไปสัมผัสและศึกษาด้านผ้าทอถึงในชุมชนที่ทอผ้ากันมาแต่เก่าแก่ การเข้าไปในชุมชนทำให้เราได้เรียนรู้เชิงปฏิบัติการ ได้ศึกษาวัฒนธรรม วิถีชีวิต เน้นไปที่การศึกษางานผ้าด้วยเทคนิคที่เป็นอัตลักษณ์แต่ละท้องถิ่น เช่น ไปดูผ้าซิ่นตีนจกและการทอผ้าด้วยกี่เอวของชนเผ่าลัวะที่แม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ไปศึกษาการทำมัดหมี่ที่จังหวัดสุรินทร์ ไปอำเภอคีรีวง จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อศึกษากระบวนการย้อมสีจากธรรมชาติ ที่นั่นมีผลไม้เยอะ ก็ใช้เปลือกมังคุดนี่แหละมาย้อม ซึ่งให้สีที่ดีมากและเป็นวัตถุดิบเฉพาะถิ่นอีกด้วย”

ในช่วงเวลาคาบเกี่ยวของการเปิดเวิร์กช็อปของตนเอง อิมหวนสู่แวดวงสิ่งทอเต็มตัว เธอมีโอกาสได้เป็นดีไซเนอร์ในโครงการต่างๆ และได้เดินทางสู่ชุมชนอย่างที่เธอชอบอีกครั้ง

การทำงานร่วมกับชุมชนคือเหตุผลว่าทำไมเราถึงเห็นอิมเดินทางบ่อยนัก เธอเคยร่วมทีมสร้างสรรค์สารคดีภูมิปัญญาไทย 77 จังหวัด และเดินทางไปเกือบครบทุกจังหวัด ได้พบกับหลายชุมชนที่ทอผ้าเป็นอาชีพ ได้รู้ปัญหา และที่สำคัญคือเธอได้เห็นโอกาส

“เราอยากทำให้งานสิ่งทอร่วมสมัยมากขึ้น โดยมีกี่ทอผ้าแบบพกพาเป็นเครื่องสื่อสารระหว่างคน 2 รุ่น เราได้ไปเจอชุมชนที่เขาทอผ้าอยู่แล้ว จึงเอาเทคนิคของแม่ๆ มาใช้กับงานของเรา เช่น อำเภอด่านขุนทดที่โคราช ชาวบ้านทอผ้าขาวม้า กระบวนการทอผ้าขาวม้ามีการวางลายและเลือกสีตั้งแต่ตัวเส้นยืน พอเลือกสีเส้นพุ่งเข้าไปก็จะเห็นเป็นช่องเป็นตาราง เราก็เอาไปเล่าต่อในคลาส ก็มีนักเรียนที่ลองทำเป็นตารางแบบผ้าขาวม้าดูบ้าง”

อิมบอกว่าแม่ๆ ที่ทอผ้ากันมาทั้งชีวิตนี่ล่ะคือกูรูตัวจริง แม่นเทคนิคอย่างหาตัวจับยาก แต่การทำซ้ำในสิ่งเดิมทำให้ชาวบ้านไม่กล้าลองสิ่งใหม่ การพบกันของนักทอผ้า 2 รุ่นจึงนำมาสู่การแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดสร้างสรรค์ อีกทั้งเกิดการรวมตัวกันในนาม Wisdomative กลุ่มดีไซเนอร์ที่ทำงานกับชุมชนแบบเจาะลึกอย่างค่อยเป็นค่อยไป

“อย่างบ้านนาหนองบง (อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย) หมู่บ้านนี้เคยทำเหมืองทองมาก่อน ทุกวันนี้แม่ๆ มีคดีติดตัวกันประมาณคนละ 20 คดี ข้อหาต่อต้านเหมือง พอเหมืองหยุดทำการเขาก็กลับมาทอผ้า แต่เพราะเพิ่งเริ่มกลับมาทอ ตัวผ้าเลยไม่ได้มีเทคนิคเฉพาะ เราจึงผลักดันเรื่องความคิดสร้างสรรค์ ให้เขาได้ปลดปล่อยข้อจำกัดบางอย่าง ไม่กลัวการออกแบบ แต่เดิมถ้าชาวบ้านเขาจะลองทอผ้าด้วยตัวเองก็ต้องลองกับกี่ตัวใหญ่ พอเราเอากี่เฟรมเข้าไปจูนกับชุมชน เขาก็จะเห็นภาพรวม สามารถจัดองค์ประกอบของผ้าผืนได้ ทำให้นึกภาพออก กล้าเล่นกับลวดลายมากขึ้น”

 

ลวดลายเส้นสายมีความหมาย

ในหลายชิ้นงานตรงหน้า มีอยู่ชิ้นหนึ่งที่แปลกออกไป กี่เฟรมนั้นไม่ได้ถูกทอเป็นผ้าเต็มผืน มองผิวเผินดูเหมือนงานศิลปะนามธรรม แท้จริงแล้วคือแผนที่ที่อิมใช้การทอผ้าเป็นตัวเล่าเรื่อง จัดแสดงในนิทรรศการศิลปะร่วมสมัย ‘บางกอกหลอกชั้น (Bangkok Layers)’ ปี 2018 ร่วมกับอีก 6 ประเทศ โดยนำเสนอภาพสะท้อนของพื้นที่สำคัญในเมืองหลวงของแต่ละประเทศซึ่งเป็นธีมหลักของงาน

“ภัณฑารักษ์ของไทยในโครงการนี้คือ Jiandyin (จิระเดช และพรพิไล มีมาลัย) เขาเป็นคนราชบุรี เลยมองว่าการสะท้อนภาพเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ต้องรายละเอียดเยอะมาก จึงเลือกพื้นที่กรณีศึกษาเป็นพื้นที่ชายขอบ คือนำเสนอความจริงจากหลายภาคส่วน จากผลงานศิลปะหลากหลายสื่อ เพื่อนำไปสู่การเปิดพื้นที่ให้ตีความภาพสะท้อนของเมืองหลวงอย่างสร้างสรรค์

“งานของเราเป็นแผนที่ เวลามองต้องมองเป็นเลเยอร์ 3 ชิ้นต่อกัน จะเห็นเป็นพื้นที่ในแอเรียเดียวกันที่ต่างยุคสมัย ด้วยโครงสร้างของผ้ามีเส้นยืนและเส้นนอน ก็คือละติจูดและลองจิจูดซึ่งมีระบุบนเฟรม ในจุดตัดของ 2 เส้น เอาไปเสิร์ชในกูเกิลแมปได้เลยว่าคือสถานที่ไหน”

อิมใช้เทคนิคการทอและเฉดสีมายึดโยงกับพื้นที่นั้นๆ เช่นไหมสีฟ้า ทอเป็นเทกซ์เจอร์ที่แสดงถึงความลื่นไหลหมายถึงแม่น้ำ หรือกระจุกไหมที่ขัดแน่นบ่งบอกถึงความแออัดของพื้นที่ อิมยังเคยทำแผนที่บนกี่เฟรมชิ้นใหญ่ กะขนาดราวกระดานดำหน้าชั้นเรียนได้

“ชิ้นนั้นเป็นโปรเจกต์งานทอที่ทำกับชุมชนมัสยิดสุวรรณภูมิในพื้นที่คลองสาน พูดถึงสถานที่ที่เคยมีอยู่ตรงนั้นแล้วหายไป เช่นจุดที่เรือมาจอดเทียบเติมน้ำมัน ตรงนั้นเคยเป็นตลาด เป็นอู่ซ่อมเรือ เป็นท่าเอาสินค้าลงไปขายที่ตลาดเจริญรัถ วันนี้พื้นที่นั้นหายไปแล้ว โครงสร้างของงานมีละติจูดและลองจิจูดเช่นกัน เป็นแผนที่สเกลจริงแล้วเอาไปติดตั้งกลางแอ่งน้ำที่คลองสาน”

 

งานทอเพื่อพัฒนาและเยียวยา

หมวกอีกใบของอิมที่น่าสนใจคือการทำงานวิจัยด้านเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กออทิสติกผ่านการทอผ้าด้วยกี่พกพา ร่วมกับแพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดี และ HEARTIST (ศิลปินผู้สนับสนุนงานทำมือจากกลุ่มคนพิเศษ)

“เจ้าของแบรนด์ HEARTIST เขามาเรียนทอผ้ากับอิม คุยกันแล้วคลิก เขาอยากเอางานทอผ้าของเราไปสอนที่โรงเรียนอุบลปัญญานุกูลที่อุบลราชธานี ซึ่งเป็นโรงเรียนสำหรับเด็กออทิสติกของภาคอีสาน ที่นั่นเขาใช้กี่ตัวใหญ่ในการสอน แต่ปัญหาคือเมื่อน้องๆ จบไปแล้ว เขาก็ไม่ได้จับงานทอต่อ ทำให้เสียโอกาสในการสร้างอาชีพ จึงเกิดงานวิจัยร่วมกับหมอที่โรงพยาบาลรามาฯ เพื่อพัฒนากี่และชุดความรู้ที่เหมาะสม”

อิมอธิบายว่างานวิจัยนี้เป็นโปรเจกต์ระยะยาว โดยแบ่งการสอนเป็นสัปดาห์ละเทคนิค เธอหยิบเทคนิคที่ใช้สอนในเวิร์กช็อปสำหรับบุคคลทั่วไปมาใช้สอนกลุ่มเด็กพิเศษในงานวิจัยนี้ เพื่อไม่ไปสร้างขีดจำกัดต่อการเรียนรู้ของเด็กๆ เนื่องจากเด็กเองก็มีความถนัดที่ต่างกันไป

“แต่จะมีการแบ่งพาร์ตการเรียนรู้ที่ต่างกันหรือเพิ่มเติมจากที่สอนในเวิร์กชอป เช่น มีการเรียนรู้เรื่องความนิ่ม ความแข็ง ความตึง ความหย่อน การมัดปม การโยงเส้น ทุกอย่างจะผ่านการย่อยและปรับไปตามความต้องการเฉพาะของน้องแต่ละคน ผลจากการเรียนรู้นี้อาจประยุกต์กับชีวิตประจำวันได้ น้องอาจกลับบ้านไปสามารถผูกเชือกรองเท้าเองได้ รู้ว่าผลไม้ที่กินแข็งหรือนิ่ม รู้แรงตัวเองมากขึ้นในการใช้มือสะกิดเรียกคนอื่น”

กี่พกพายังเป็นพระเอกในงานวิจัยนี้ ตะปูที่ตอกลงบนกี่ผ่านการลบคมเพื่อให้ปลอดภัยต่อเด็กในการใช้งาน เพิ่มเติมขาตั้งกี่เพื่อให้เหมาะกับสรีระและปรับองศาการทอได้  

“ในระหว่างการเข้าร่วมแต่ละครั้ง เราจะมีพี่อาสาที่ผ่านการฝึกด้านการทอและความเข้าใจในการทำงานร่วมกับน้องๆ ที่มีความต้องการพิเศษ และทำงานร่วมกับผู้ปกครอง พี่อาสาจะเจอกับน้องทุกสัปดาห์ เป็นคนสอนน้องแต่ละเทคนิค แล้วจดบันทึกข้อมูลในแต่ละครั้ง เช่น น้องสามารถนับเส้นด้ายได้ไหม ทำเทคนิคนี้แล้วสนุกกับการเลือกสีเพิ่มขึ้นหรือเปล่า หรือลงรายละเอียดเช่นเรื่องอารมณ์ คำพูด สีหน้า การแสดงออกระหว่างทำ ซึ่งในแต่ละครั้งก็จะมีการอภิปรายกันอีกทีท้ายชั่วโมง ในการสอนจะมีการวัดผลก่อนและหลังเป็นระยะ โดยส่วนนี้คุณหมอเป็นผู้เก็บข้อมูล และมีทีมของพวกเราที่คอยดูในภาพรวมแต่ละส่วน”

ทุกวันนี้ กี่พกพาและการทอผ้าคือ ‘ส่วนหนึ่ง’ ที่เป็น ‘ส่วนใหญ่’ ในชีวิตของอิม จากที่ไม่ใช่ตัวเลือกในแรกเริ่ม สู่การงานที่ขับเคลื่อนไปพร้อมการใช้ชีวิต อิมปิดท้ายว่าการทอผ้าได้พาเธอเดินทางไปพบกับหลายสิ่งอย่าง ทั้งผู้คน วัฒนธรรม สถานที่ ปัญหา รูปแบบชีวิต เจอตนเอง และเป็นเครื่องมือสื่อสารในแบบของเธอ อิมยังบอกอีกว่าการทอผ้าไม่ต่างจากช่วงเวลาที่เธอขับรถไปไหนมาไหนแล้วได้ฟังเพลง

“จริงอยู่ที่ว่ากี่พกพาจะยกไปไหนก็ได้ แต่เวลาที่เราต้องทำงานชิ้นใหญ่ เราก็ต้องทำงานอยู่กับที่ แล้วตัวเองเป็นคนขี้เบื่อ การอยู่กับที่ได้คือต้องจัดเพลย์ลิสต์เพลงฟังไปด้วย ให้รู้สึกว่าการอยู่กับที่ไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อเกินไป”

บอกแล้วว่าอิมเป็นดีไซเนอร์ เป็นศิลปินที่มีชีวิตเคลื่อนที่จริงๆ เพราะต่อให้ทำงานอยู่กับที่ก็ต้องมีบางอย่างให้เธอรู้สึกว่าชีวิตกำลังได้เคลื่อนไหว

 

เอื้อเฟื้อสถานที่ Bigknit สุขุมวิท 49

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!