คุยกับเบื้องหลัง Early Years Project #5 พื้นที่แสดงศิลปะร่วมสมัยจากเรื่องใกล้ตัวของเด็กสมัยนี้

Highlights

  • Early Years Project หรือ EYP คือโครงการของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครที่จัดอย่างต่อเนื่องมา 5 ปีโดยเปิดรับและคัดเลือกศิลปินรุ่นใหม่มาบ่มเพาะและสร้างเครือข่าย โดยศิลปินจะได้แสดงผลงานในห้องจัดแสดงหลักของ bacc
  • ในแต่ละปี EYP มีคณะกรรมการให้คำแนะนำและตัดสินที่แตกต่างกันออกไป โดยในปีนี้ เพื่อตอบโจทย์เรื่องความลื่นไหลของวงการศิลปะร่วมสมัยในไทย คณะกรรมการจึงเป็นคนในแวดวงศิลปะที่มีความหลากหลายทั้งในด้านสไตล์ เพศ อายุ และความเชี่ยวชาญ
  • กรรมการล้วนเห็นตรงกันว่าจุดร่วมของศิลปินในปีนี้คือทุกคนสร้างผลงานอย่างซื่อสัตย์และจริงใจซึ่งทำให้รู้สึกถึงความสดใหม่และเข้าถึงง่าย

ว่ากันว่าไอเดียสดใหม่ของคนที่ได้ชื่อว่าเป็นมือสมัครเล่นมักน่าสนใจเสมอ

ไม่ว่าวงการศิลปะหรือวงการไหนๆ ผลงานของคนรุ่นใหม่ที่หมั่นทดลองสิ่งใหม่ๆ กล้าท้าทายความคิดเดิมๆ ด้วยวิธีการสนุกๆ ย่อมเป็นสิ่งที่ถูกจับตามอง

ทั้งหมดที่ว่ามานี้ คือคุณสมบัติที่ปรากฏชัดเจนอยู่ในผลงานทั้ง 8 ชิ้นจาก 8 ศิลปินรุ่นใหม่ที่คุณอาจไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน ในนิทรรศการ Early Years Project 5 by Millcon: 20/20 ‘เปลี่ยน’ นิทรรศการแสดงผลงานศิลปะจากการประกวดชื่อเดียวกันของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (bacc) ที่จัดติดต่อกันมาถึง 5 ปี

แต่ขึ้นชื่อว่าเป็นงานศิลปะร่วมสมัย หลายคนคงแอบกังวลในใจว่าผลงานเหล่านี้อาจเต็มไปด้วยแนวคิดลึกล้ำ เข้าใจยาก จนบางทีก็ชักไม่แน่ใจว่าในฐานะคนดูเราจะสื่อสารกับศิลปินได้รู้เรื่องจริงหรือ 

Early Years Project หรือ EYP จึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นโปรแกรมการประกวดศิลปะร่วมสมัยที่ไม่ได้ตัดสินผลงานที่เสร็จแล้ว กลับกัน พวกเขาเปิดรับไอเดียของศิลปินรุ่นใหม่ๆ มาคัดเลือกเหลือ 8 คนที่จะได้แสดงงานในหอศิลป์ โดยมีกรรมการช่วยพัฒนาผลงาน มากไปกว่านั้น กรรมการยังเป็นเหมือนศิลปินรุ่นพี่ที่คอยแนะนำศิลปินรุ่นน้องให้เติบโตเป็น ‘ศิลปินอาชีพ’ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทักษะการสื่อสาร การนำเสนอผลงานให้เข้าตากรรมการ วิธีพัฒนาแนวคิด ไปจนถึงแนะนำวิธีคิด วิธีทำงานแบบมืออาชีพจริงๆ

สิ่งที่ดึงดูดให้เหล่าศิลปินรุ่นใหม่หลั่งไหลเข้ามาสมัครโครงการนี้เลยไม่ใช่เงินรางวัลมูลค่าหลายหลักเหมือนกับเวทีประกวดอื่นๆ แต่เป็นโอกาสในการพัฒนาผลงานร่วมกับกรรมการผู้เป็น ‘ตัวจริง’ ในวงการศิลปะหลากหลายประเภท โอกาสที่จะได้จัดแสดงผลงานจริงในห้องจัดแสดงหลักของหอศิลป์ และผู้ชนะในการคัดเลือกรอบสุดท้ายยังได้รับโอกาสและทุนสนับสนุนในการเป็นศิลปินพำนักในต่างประเทศ (artist-in-residence) หรือการเดินทางไปดูงานในต่างประเทศ (mobility funding) ด้วย

“เราไม่ได้ให้เงินสดเป็นรางวัลก็จริงแต่เรามองว่า EYP ได้ติดอาวุธ ติดเครื่องให้คุณ แล้วปล่อยให้เขาไปตามหาประสบการณ์ เพื่อกลับมาแอ็กทีฟในวงการศิลปะบ้านเราต่อไป” สืบแสง แสงวชิระภิบาล หัวหน้าฝ่ายนิทรรศการของ bacc อธิบายด้วยน้ำเสียงมุ่งมั่น 

แต่ก่อนไปดูนิทรรศการจริงในวันที่ 5 มีนาคม – 20 กันยายน 2563 เราอยากชวนมาทำความรู้จัก EYP ผ่านกรรมการในปีนี้กันก่อน

 

ศิลปินที่แม่นยำ

ย้อนกลับไปเมื่อ 5 ปีก่อน แม้ว่าเมืองไทยจะมีเวทีการประกวดศิลปะในลักษณะคล้ายกันอยู่บ้างแต่ทีมงานหอศิลป์ก็ยังเห็นช่องว่างในแวดวงศิลปะที่พวกเขาอยากช่วยเติมเต็ม 

“Early Years Project เริ่มจากการคุยกันในทีมว่าหอศิลป์ควรจะมีบทบาทในการส่งเสริมศิลปินรุ่นใหม่ เราไม่อยากให้ที่นี่เป็นเวทีประกวดเฉยๆ ทีมจึงมองหาว่าปัญหาของศิลปินรุ่นใหม่คืออะไรบ้างและเกิดไอเดียการเปิดโอกาสให้ศิลปินรุ่นใหม่ได้มาพบกับศิลปินหรือคนที่ขับเคลื่อนแวดวงศิลปะร่วมสมัยของไทย” สืบแสงเล่าให้เราฟัง

เขาพูดต่อว่าสิ่งที่ทำให้ EYP แตกต่างจากเวทีอื่นคือพวกเขาใช้วิธีการ open call หรือเปิดให้ศิลปินส่งใบสมัครเข้ามาเอง เพราะในแวดวงการประกวด หลายเวทีไม่ได้เปิดให้ทุกคนเดินเข้ามาส่งใบสมัครได้ตามใจชอบแต่ใช้วิธีการส่งภัณฑารักษ์ลงไปวิจัยและคัดเลือกศิลปินที่เหมาะแก่การประกวดแทน แต่นอกเหนือจากอิสระในการสมัครเข้าร่วมโครงการแล้ว EYP ยังใจกล้าพอที่จะเปิดโอกาสให้ศิลปินที่ผ่านการคัดเลือกได้พัฒนาผลงานตามใจ

“วิธีการของเราคือการคุยกับศิลปิน กรรมการจะให้ความคิดเห็นและคำแนะนำแต่สุดท้ายแล้วก็ขึ้นอยู่กับตัวของศิลปินเจ้าของผลงาน ว่าเขาจะรับคำแนะนำนี้ไปประยุกต์พัฒนางานหรือไม่” 

เล่าแบบง่ายๆ เมื่อผ่านการเข้ารอบ ศิลปินจะได้เงินทุนจากหอศิลป์ไปผลิตผลงานตามที่เสนอโดยมีกรรมการคอยช่วยขัดเกลาไอเดีย แต่นอกจากการสร้างผลงานแล้ว ศิลปินยังต้องเรียนรู้ขอบเขตในการปรับแก้ผลงานเช่นกัน ในปีก่อนๆ นิทรรศการ EYP จึงแบ่ง 3 ช่วงเพื่อให้ศิลปินได้ปรับผลงาน 2 ครั้ง ส่วนปีนี้ ความท้าทายคือศิลปินจะปรับผลงานได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น

“ในปีนี้เราปรับให้ศิลปินมีโอกาสแก้ไขงานได้แค่ครั้งเดียว เพราะผมคิดว่าเวลาที่แสดงงานศิลปะจริงๆ การทำงานของศิลปินก็จบตั้งแต่วันเปิดงานแล้ว ไม่ใช่ว่าแขวนงานไปแล้วสองวันรู้สึกว่าขาดสีเหลือง จะขอเอากลับไปเติม มันไม่ได้ ผมคิดว่าศิลปินจำเป็นจะต้องมีความแม่นยำตรงนี้” สืบแสงพูดกลั้วหัวเราะ

 

“ศิลปินไม่อาจทำงานคนเดียว”

ข้อความข้างต้นคือหัวใจสำคัญที่หอศิลป์อยากให้ศิลปินรุ่นใหม่ได้ตระหนัก ดังนั้นนอกจาก EYP จะเป็นโครงการบ่มเพาะศิลปินรุ่นใหม่ให้เติบโตเป็นศิลปินอาชีพแล้ว การสร้างเครือข่ายยังเป็นหัวใจสำคัญที่โครงการนี้ยึดถือมาตลอด 5 ปี

“ศิลปินแบบไหนที่ EYP ต้องการบ่มเพาะ” เราหันไปถามคำถามนี้กับเหล่ากรรมการซึ่งประกอบไปด้วย ไมเคิล เชาวนาศัย ศิลปินร่วมสมัยที่มีผลงานสะเทือนสังคมอย่างภาพถ่ายตัวเขาเองแต่งหน้า กรีดตา ทาปาก แต่ห่มจีวรพระ, ผศ. ดร. ประพล คำจิ่ม อาจารย์ประจำภาควิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์ ภูมิสถาปนิกและศิลปินผู้มีประสบการณ์การทำงานกับพื้นที่, ผศ. ดร. ศุภชัย อารีรุ่งเรือง นักวิจารณ์และอาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร และ สุรีรัตน์ ลีสวัสดิ์ตระกูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่จากบริษัท Millcon Steel

“แพลตฟอร์มของศิลปะร่วมสมัยนั้นเปิดกว้างมากแต่ปัญหาหนึ่งในบ้านเราคือคนทำงานศิลปะร่วมสมัยไม่เคยทำงานร่วมกับคนทำหนัง นักเขียน หรือช่างภาพ ดังนั้นผมคิดว่าเวทีนี้ที่เทรนบุคลากรให้เขาได้สะสม creative skill จะช่วยเติมเต็มช่องว่าง ถ้าเราเริ่มคุยกันข้ามศาสตร์ได้ อนาคตของอุตสาหกรรมนี้ก็น่าจะดีขึ้น” ดร.ประพลอธิบาย

“ศิลปินรุ่นใหม่จำเป็นต้องรับฟังผู้ชมด้วย” สืบแสงเสริมก่อนขยายความต่อถึงเหตุผลที่พวกเขายกห้องจัดแสดงชั้น 9 ให้ศิลปินหน้าใหม่ทั้ง 8 ได้แสดงผลงานและฝีมือกันเต็มๆ

“เวลาที่เราอยู่ในโลกศิลปะ ไม่ว่าจะพูดอะไรออกไปส่วนมากทุกคนก็เออออกันเอง ไม่มีเสียงค้าน แต่เมื่อเราได้เห็นมุมมองของผู้ชมที่บางทีเขาไม่เข้าใจงานการทำงานมันจึงเรียลขึ้น ซึ่งศิลปินรุ่นใหม่ต้องรับผิดชอบต่อสังคม นี่คือสิ่งที่เขาต้องรู้” 

“แล้วการสร้างเครือข่ายจำเป็นแค่ไหนสำหรับศิลปิน” เราถามต่อ

“ในโลกปัจจุบันนี้ศิลปินไม่ได้ผลิตงานแล้วจบงานเบ็ดเสร็จได้ด้วยตนเอง” สืบแสงตอบอย่างรวดเร็ว “เขาไม่สามารถนั่งอยู่บ้าน วาดรูปจนเสร็จแล้วเอางานไปจัดแสดงเลย มันต้องมีการติดต่อกันข้ามศาสตร์ ดังนั้นการสร้างเครือข่าย ประกอบกับการที่เขามีทักษะการสื่อสารที่ดี รู้จักวิธีการทำงานร่วมกับผู้อื่นจึงเป็นเรื่องจำเป็น ศิลปินหลายคนทำงานร่วมกับช่างติดตั้งไม่เป็น สั่งการไม่ได้ ไม่รู้ว่าจะทำยังไง จุดนี้ก็เป็นประสบการณ์ข้อหนึ่งที่ EYP พยายามให้เขาได้กลับไป 

“อีกเครือข่ายหนึ่งที่ศิลปินจะได้ก็คือกรรมการ เพราะแต่ละท่านที่เราเลือกมา หลังจากที่เขาได้มารู้จักแล้ว ในอนาคตก็มีความเป็นไปได้ที่เขาอาจจะเลือกศิลปินจาก EYP ไปร่วมงานด้วยเช่นกัน หรือแม้แต่ในกลุ่มศิลปิน EYP บางคนที่เขาเคยประกวดด้วยกัน ต่อมารวมตัวกันแสดงงานด้วยกันต่อก็มีนะ”

นอกจากนี้ไมเคิลยังเสริมว่าเมื่อศิลปินรุ่นใหม่สามารถรวมตัวได้เป็นกลุ่มก้อนมากขึ้น พวกเขาอาจเป็นทั้งแรงผลักดันและที่พึ่งของกันและกัน ไม่ต่างอะไรกับคนทำงานในสายอาชีพอื่นๆ 

 

ศิลปินที่มีความหลากหลาย

เพื่อตอบโจทย์เรื่องความลื่นไหลของวงการศิลปะร่วมสมัยในไทย และโจทย์ของ EYP ที่อยากบ่มเพาะศิลปินให้รู้จักผสมผสานศาสตร์ที่หลากหลาย คณะกรรมการ EYP ที่เราได้เจอจึงประกอบไปด้วยคนในแวดวงศิลปะหลากสไตล์จากหลายวงการ ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ที่คุ้นเคยกับการทำงานกับศิลปินรุ่นใหม่ๆ อย่างอาจารย์ประพลหรืออาจารย์ศุภชัย ศิลปินที่มาแรงด้วยการท้าทายขนบตั้งแต่ยังเป็นศิลปินหน้าใหม่อย่างไมเคิล ไปจนถึงสนิทัศน์ ศิลปินหญิงผู้ถนัดทำงาน installation art และทำงานกับพื้นที่เป็นพิเศษ

“ในการคัดเลือกกรรมการปีนี้ อันดับแรกผมต้องการความหลากหลาย” สืบแสงอธิบายถึงคุณสมบัติสำคัญที่เขามองหา ไม่ว่าจะเป็นความหลากหลายในแง่อายุ เพศ ความสนใจ และความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และเมื่อย้อนกลับไปดูกรรมการแต่ละชุดในอดีต เราจึงได้พบว่าแต่ละปีมีวิธีการคัดเลือกกรรมการที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง นั่นเพราะการคัดเลือกกรรมการ EYP ยังอาศัยการรับฟังความคิดเห็นของผู้สมัครในปีก่อนๆ เพื่อจัดทีมกรรมการให้ตรงกับความต้องการของศิลปินรุ่นใหม่อีกด้วย

“กรรมการมีบทบาทสำคัญแค่ไหนในเวทีประกวด” เราถาม ในฐานะคนนอกวงการศิลปะที่ไม่คุ้นเคยกับวัฒนธรรมการประกวดเท่าไหร่นัก

“โดยปกติแล้วผู้สมัครจะดูลิสต์ของกรรมการก่อน” ดร.ประพลตอบทันที “พื้นฐานของเวทีประกวดบ้านเราแต่ละงานก็มักจะใช้กรรมการเซตเดิม ในขณะที่ศิลปินรุ่นใหม่ในปัจจุบันเขามีมิติที่หลากหลายกว่าสถาบันเดิมของวงการศิลปะในประเทศไทย ดังนั้นสำหรับ EYP เรามีกรรมการที่สับเปลี่ยนหมุนเวียนในทุกปีจึงช่วยตอบโจทย์ตรงนี้”

“ไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว เราต้องมีการเปลี่ยนน้ำ คอนเทนต์ของวงการศิลปะต้องเปลี่ยนไปในสักวัน” ไมเคิลเสริมด้วยน้ำเสียงหนักแน่น 

 

ศิลปินผู้แยบยลและลุ่มลึก

‘สุนทรียศาสตร์ กระแสสมัย และสิ่งแวดล้อม ในวันพรุ่งนี้’ คือหัวข้อของการส่งไอเดียผลงานในตอนแรก ซึ่งสอดคล้องไปกับธีมหลักของหอศิลป์กรุงเทพฯ ในปีนี้ที่ว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อม ความพิเศษคือ ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ EYP ตัดสินใจกำหนดหัวข้อในการส่งผลงาน 

จากหัวข้อดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่ศิลปินจะสื่อสารคอนเซปต์นั้นออกมาได้อย่างสร้างสรรค์และมีชั้นเชิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่หันไปทางไหนก็เห็นแต่กระแสรักษ์โลกอยู่เต็มไปหมด 

“กลวิธีการดึงเอาภาพออกมาจากธีมนั้นๆ ความแยบยล ความลุ่มลึก มันก็เป็นสิ่งที่ศิลปินมีต่างกัน” ศุภชัยเล่าจากมุมมองของอาจารย์ที่เจอศิลปินมาหลากหลาย

“สำหรับผม ความลุ่มลึกหรือความคมคายจะทำให้ผู้ชมหรือกรรมการเกิดคำถาม นี่คือสิ่งที่ผมมองเห็นว่าสังคมจะได้รับจากงานที่ศิลปินทำขึ้นมาด้วย เพราะผมมองว่าเมื่อเขาสร้างงานออกมาแล้ว มันควรสร้างคำถามหรือกระตุ้นความคิดที่อาจอยู่ในจิตสำนึกของแต่ละคนได้ด้วย”​ 

ที่สนุกคือนอกจาก EYP จะแสดงผลงานที่เสร็จแล้วของศิลปินแต่ละคน ในมุมหนึ่งพวกเขายังมีบอร์ดโชว์เบื้องหลังการทำงานของศิลปินแต่ละคน บ้างก็มีหน้าตาคล้ายเป็นมู้ดบอร์ด บ้างก็อธิบายขั้นตอนอย่างละเอียด เพื่อให้ผู้ที่ดูงานเข้าใจความคิดที่ซ่อนอยู่ในผลงานมากขึ้น

“เราไม่ได้คัดเลือกงานของศิลปินแต่ละคนมาเพื่อบอกว่างานนี้เสร็จเรียบร้อย สวยหรู สมบูรณ์ แต่เราพูดถึงเรื่องกระบวนการคิดและการทำงานของศิลปินที่เราเลือกมาแต่ละท่านด้วย มันจึงดีที่จะได้เห็นว่ากว่าจะมาถึงจุดนี้ ศิลปินเขาคิดและทำอย่างไร” ไมเคิลเสริม

 

ศิลปินสมัยนี้…สนใจแต่ตัวเอง?

แม้ว่ากรรมการทุกคนจะยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าพวกเขาไม่ได้เตี๊ยมกันก่อนตัดสิน แต่ผลงานที่ผ่านการคัดเลือกในปีนี้แทบทุกชิ้นล้วนพูดถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์ในมุมมองที่ใกล้ชิด ถ่ายทอดผ่านงานศิลปะประเภททำมือ และหลายชิ้นก็เลือกใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นสื่อกลาง

“จุดร่วมของศิลปินที่เราเลือกมาในคราวนี้คือเขาซื่อสัตย์กับสิ่งที่เขาสนใจ เขาชอบในสิ่งที่ตัวเองทำ ซึ่งทำให้เรารู้สึกถึงความสดใหม่ ไม่อย่างนั้นวงการศิลปะเราก็จะมีแต่งานที่มีรูปแบบคล้ายเดิม แต่พอเขาสื่อสารออกมาโดยที่ไม่ได้คิดแต่จะให้มันเป็นกระแสเท่านั้น เราเลยคิดว่างานของเขาน่าจะเข้าถึงคนได้ดี” สนิทัศน์อธิบายถึงเสน่ห์ในภาพรวมของผลงานทั้ง 8 ที่กำลังจัดแสดงอยู่ในตอนนี้

“เด็กสมัยนี้เวลาเขาคิดอะไรออกมา เขาคิดบนพื้นฐานสิ่งที่เขามองเห็น ซึ่งมุมมองและวิธีการของเขามันก็แตกต่างจากที่เราเคยเห็นมา” สุรีรัตน์แชร์มุมมองในฐานะคนที่ไม่ได้คลุกคลีกับวงการศิลปะมาก่อน แต่เธอเองก็สังเกตเห็นในจุดนี้เช่นกัน

ซึ่งจุดร่วมดังกล่าว ไม่ได้เกิดขึ้นแต่ในเวทีนี้เท่านั้น สืบแสงเล่าว่าเขาสังเกตเห็นถึงกระแสบางอย่างในวงการศิลปะของหลายประเทศ ที่ค่อยๆ เบนเข็มมาสู่ความเป็นงานคราฟต์มากขึ้นในระยะหลังมานี้

และถึงแม้ว่าหลายเทคนิคที่ถูกเลือกใช้ในงานนี้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ บางผลงานใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดกันมาเป็นสิบเป็นร้อยปีด้วยซ้ำ แต่ถ้าลองคิดว่าวัฒนธรรมดั้งเดิมเหล่านั้นจะถูกหยิบมามองด้วยมุมมองของเด็กสมัยนี้ ในบริบทของสังคมทุกวันนี้ เพื่อสื่อความรู้สึกนึกคิดบางอย่างออกมา เราว่ามันก็น่าสนุกดีเหมือนกัน 

“ผมคิดว่าศิลปินหลายคนที่ได้รับเลือก แทนที่เขาจะมองไปข้างหน้า เขาหันหลังกลับและมองดูตัวเองว่าเขามีพื้นฐานอะไร สันทัดอะไร ศักยภาพเขาเป็นอย่างไร และเขาจะพูดถึงตัวเองเป็นหลัก ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ดีนะ เพราะเมื่อเดินทางมาถึงจุดหนึ่ง เราต้องหันกลับมามองตัวเองบ้าง” ไมเคิลทิ้งท้าย


นิทรรศการ Early Years Project 5 by Millcon: 20/20 ‘เปลี่ยน’ จัดแสดงระหว่างวันที่ 5 มีนาคม – 20 กันยายน 2563 ที่ห้องนิทรรศการหลักชั้น 9 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!