BANGKOK CITYCITY BOOKSHOP LIBRARY ร้านหนังสือที่ไม่ยอมขายหนังสือเล่มสุดท้ายในสต็อก

Highlights

  • BANGKOK CITYCITY GALLERY คือแกลเลอรีศิลปะในซอยสาทร 1 ที่เปิดตัวเมื่อ 4 ปีที่แล้ว และเคยจัดนิทรรศการกับศิลปินมากมาย เช่น วิศุทธิ์ พรนิมิตร, นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ หรือ ALEX FACE เป็นต้น
  • เร็วๆ นี้ พวกเขาเพิ่งเปลี่ยนห้องหนึ่งของแกลเลอรีให้เป็นร้านหนังสือและห้องสมุด โดยมีขายทั้งหนังสือที่แกลเลอรีจัดทำร่วมกับศิลปินที่มาแสดงงานที่นี่ และหนังสือที่ ลูกตาล–ศุภมาศ พะหุโล คัดสรรมาจากทั่วโลก ซึ่งมาจากความสนใจของเธอและศิลปินที่เคยร่วมงานกัน
  • ความพิเศษของที่นี่ คือลูกตาลตัดสินใจไม่ขาย 'เล่มสุดท้าย' ของหนังสือแต่ละเรื่อง และเก็บไว้ที่ร้านเพื่อแบ่งปันให้ทุกคนเข้ามาอ่านได้ฟรีๆ นอกจากนี้ ที่นี่ยังมีน้ำ กาแฟ (บางวันอาจจะมีเบียร์) ให้บริการ เพื่อให้คนใช้เวลาอ่านหนังสือได้นานๆ

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เราแวะเวียนมาที่ BANGKOK CITYCITY GALLERY แต่นี่อาจเป็นครั้งแรกที่เป้าหมายของเราไม่ใช่นิทรรศการศิลปะเหมือนเคย

4 ปีที่ผ่านมา ตึกสีขาวสะอาดท่ามกลางร่มไม้ในซอยสาทร 1 แห่งนี้มีชื่อในฐานะสถานที่จัดนิทรรศการของศิลปินตั้งแต่รุ่นเล็กไปจนถึงใหญ่ ตั้งแต่ วิศุทธิ์ พรนิมิตร, มิติ เรืองกฤตยา, นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ไปจนถึง ALEX FACE ตั้งแต่งานศิลปะบนแคนวาสไปจนถึงงานซาวนด์แนวทดลอง รู้ตัวอีกที นิ้วมือสองข้างก็นับจำนวนครั้งที่เรามาที่นี่ไม่พอเสียแล้ว

bangkok citycity gallery

แทบทุกครั้งที่มีนิทรรศการ พื้นที่ห้องใหญ่ด้านขวาของแกลเลอรีคือพื้นที่จัดแสดงหลัก ส่วนห้องเล็กทางซ้ายมักมีฟังก์ชั่นเป็นส่วนขยายของนิทรรศการ กระทั่งไม่นานมานี้ที่ห้องด้านซ้ายมือกลายร่างเป็น ‘BOOKSHOP LIBRARY’ ร้านหนังสือใหม่เอี่ยมวางขายหนังสือที่แกลเลอรีทำร่วมกับศิลปินที่มาแสดงงานและเล่มอื่นๆ ที่คัดสรรมาอย่างดี ทั้งที่เกี่ยวข้องกับศิลปะโดยตรงและโดยอ้อม แถมยังตั้งใจเป็นห้องสมุดกลายๆ ให้คนได้เข้ามานั่งอ่านหนังสือได้นานๆ

ในฐานะแฟนของที่นี่ เราไม่รีรอขอเปิดประตูเข้าไปเยี่ยมร้าน และนั่งคุยกับ ลูกตาล–ศุภมาศ พะหุโล ผู้ก่อตั้ง BANGKOK CITYCITY GALLERY และตัวตั้งตัวตีในการเปลี่ยนห้องเล็กๆ ให้กลายเป็นร้านหนังสือในฝันของเธอ

bangkok citycity gallery

 

01

“จริงๆ เราไม่ได้คิดว่าจะใช้ห้องเล็กจัดนิทรรศการอย่างเดียวอยู่แล้ว”​ ลูกตาลบอกทันทีเมื่อเราถามไถ่ถึงที่มาของร้านหนังสือ

“ย้อนกลับไปตอนเปิดแกลเลอรีใหม่ๆ เรามีความคิดเกี่ยวกับเรื่องการเก็บ archive สิ่งที่แกลเลอรีทำและมีอยากจะทำห้องสมุดอยู่แล้ว แต่ว่าพอเปิดแกลเลอรี ศิลปินทุกคนก็อยากใช้ห้องเล็กด้วย มันเลยเป็นอย่างนั้นอยู่ประมาณ 4 ปี จนถึงปีที่แล้ว ตอนที่เราเริ่มวางแผนของปีนี้ เราก็รู้สึกว่าน่าจะทำห้องนี้ให้เป็นร้านหนังสือและห้องสมุดเสียที

bangkok citycity gallery

“ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราชอบหนังสือ อีกอย่างคือเราทำ BANGKOK ART BOOK FAIR ด้วย เราก็เลยเริ่มเห็นว่ามันมีคนที่สนใจอาร์ตบุ๊กนะ พอเริ่มสั่งหนังสือเข้ามาลองขายดู เรื่องหนึ่งประมาณ 2 หรือ 3 ก๊อปปี้ ทุกครั้งมันก็ขายหมด อีกเรื่องคือเวลาไปต่างประเทศ ส่วนใหญ่ที่เราไปก็คือร้านหนังสือ ถ้าเจอหนังสือน่าสนใจก็จะซื้อกลับมาวางไว้บนโต๊ะทำงาน เวลามีคนมาหาทุกคนก็จะบอกว่าขอยืมหน่อยได้ไหม เราเลยรู้สึกว่าถ้าอย่างงั้นก็เอาหนังสือมาวางไว้ที่ร้านให้คนอ่านเลยดีกว่า

“อีกอย่างคือในการจัดนิทรรศการ จะมีช่วงที่ต้องปิดแกลเลอรีประมาณ 3 สัปดาห์เพื่อเซตอัพ แต่พอมีร้านหนังสือและห้องสมุดแล้ว เราก็จะได้เปิดให้คนแวะมาได้ตลอด”

bangkok citycity gallery

bangkok citycity gallery

 

02

ผิดจากที่คาดไว้ แทนที่ร้านหนังสือและห้องสมุดของแกลเลอรีจะเต็มไปด้วยหนังสือศิลปะล้วนๆ หนังสือที่วางอยู่บนชั้นหนังสือกลับหลากหลาย ตั้งแต่หนังสือของศิลปินที่เคยจัดนิทรรศการที่นี่ หนังสือเกี่ยวกับศิลปะร่วมสมัย แม็กกาซีนอิสระ ไปจนถึงวรรณกรรมเรื่อง ข้างหลังภาพ ฉบับภาษาอังกฤษ

แม้จะมีส่วนผสมของนู่นนิดนี่หน่อย แต่ลูกตาลบอกเราว่าหากสังเกตให้ดี หนังสือที่เธอเลือกมาวางก็คือความเป็น BANGKOK CITYCITY GALLERY นั่นแหละ

“หนังสือที่เราเลือกมาเป็นหนังสือที่เราสนใจ หรือมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับตัวของแกลเลอรีอยู่แล้ว เพราะก่อนจะทำนิทรรศการหนึ่งเราต้องคุยกับศิลปิน ใช้เวลาอยู่ด้วยกันค่อนข้างเยอะ เราถึงรู้ว่าเรื่องที่ศิลปินบางคนสนใจส่วนใหญ่มันก็มาจากการที่เขาอ่านหนังสือ ฉะนั้นเราเลยอยากอ่านหนังสือที่เขาสนใจ เป็นความสนใจร่วมของพวกเรา ณ ตอนนั้น และมันก็ฟอร์มตัวเราไปแล้ว ดังนั้นหนังสือที่อยู่ที่นี่ก็เหมือนพวกเขาช่วยคิวเรตไปด้วยกลายๆ

“งานศิลปะที่เราทำส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นงานศิลปะเพื่อศิลปะ แต่เป็นงานศิลปะร่วมสมัย เรารู้สึกว่ามันพูดถึงประเด็นอื่นๆ อยู่เสมอ เพราะฉะนั้นถามว่าหนังสือที่นี่เป็นหนังสือศิลปะอย่างเดียวไหม แน่นอนมันอาจจะมีหนังสือของบางสำนักพิมพ์ที่พูดถึงประเด็นที่กำลังเป็นที่ถกเถียงในแวดวงศิลปะ ในขณะเดียวกันเราก็มีหนังสือประเด็นที่นอกเหนือจากศิลปะ เช่น เราสนใจเรื่องอาหาร สนใจเรื่องการอยู่กับทรัพยากรที่กำลังจะหมดไป  ศิลปินที่ทำงานกับเราบางคนสนใจเรื่องซาวนด์ก็มี”

bangkok citycity gallery

ลูกตาลลุกขึ้นไปหยิบหนังสือจากชั้นวางใกล้ๆ มาให้เราดู ก่อนเราจะพบว่าหนังสือเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มาจากทั่วทุกมุมโลก ตั้งแต่หนังสือจากฮ่องกงที่ใช้เทคนิคการซีรอกซ์เพื่อตั้งคำถามกับลิขสิทธิ์และการเผยแพร่ความรู้ แม็กกาซีนของชาวอิตาเลียนที่สนใจวัฒนธรรมภาพยนตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือหนังสือรวมทอล์กจากการเสวนาเรื่องศิลปะในสวิตเซอร์แลนด์

“หนังสือส่วนใหญ่ของเราเป็นหนังสือพิมพ์เอง มาจากสำนักพิมพ์เล็กๆ ส่วนหนึ่งเพราะเราไม่รู้ว่าจะไปเลือกหนังสือจากสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ แล้วแข่งกับร้านหนังสือใหญ่ๆ ที่เขาขายหนังสือพวกนี้อยู่แล้วทำไม แต่เราสนใจคอมมิวนิตี้ เราคิดว่าสำนักพิมพ์เป็นคอมมิวนิตี้ที่สนใจเรื่องประเด็นย่อยที่แตกต่างกัน เราตั้งใจจะให้เป็นที่เผยแพร่ความคิดของคอมมิวนิตี้ต่างๆ ถึงอย่างนั้น เราก็ไม่ได้รู้สึกว่าเป้าหมายหลักคือการให้พื้นที่สำนักพิมพ์อิสระ นั่นเป็นหน้าที่ของ BANGKOK ART BOOK FAIR มากกว่า”

ด้วยแนวคิดว่าอยากแนะนำคอมมิวนิตี้ ลูกตาลจึงกำลังวางแผนหาวิธีแนะนำสำนักพิมพ์เหล่านี้ให้คนอ่านได้รู้จักแบบลึกซึ้งขึ้น

“ไอเดียเริ่มต้นคือเราจะไม่แนะนำหนังสือ เพราะคุณหยิบมาอ่านเอาก็ได้ แต่เราอยากแนะนำสำนักพิมพ์ที่เราขายหนังสือของเขา เราอยากบอกว่าทำไมเราสนใจสำนักพิมพ์นี้จัง แต่เพราะเราไม่สามารถมานั่งคุยกับทุกคนได้ ก็เลยกำลังคิดอยู่ว่าจะออกมาเป็นบุ๊กเล็ตหรือเปล่า จะเป็นแคปชั่นบนผนัง หรือเราจะแค่เสียบเข้าไปในเล่ม หรือจะทำเป็นนิทรรศการมินิขึ้นมาสำหรับแต่ละสำนักพิมพ์ ก็ยังเป็นเรื่องที่กำลังวางแผนอยู่ตอนนี้”

bangkok citycity gallery

 

03

ตั้งแต่โชว์แรกๆ ของ BANGKOK CITYCITY GALLERY อย่าง LR ของวิศุทธิ์ พรนิมิตร จนถึงนิทรรศการล่าสุดคือ ‘Counting’ ของอรวรรณ อรุณรักษ์ เรามักจะเห็นคำอธิบายคอนเซปต์งานเพียงสั้นๆ กลับกันลูกตาลมักชักชวนให้ศิลปินทำหนังสือร่วมกันเสมอ ในหลากรูปแบบทั้งหนังสือภาพประกอบ หนังสือภาพ ไปจนถึงกล่องบรรจุการ์ดคำศัพท์ และกระดาษทรายก็ยังมี

และอาจเป็นเรื่องบังเอิญที่ศิลปินแต่ละคนรักสิ่งพิมพ์ไม่แพ้เธอ ณ มุมหนึ่งของร้าน เราจึงได้เห็นหนังสือของพวกเขาวางเรียงราย ที่สำคัญหนังสือเหล่านั้นส่วนใหญ่มีขายแค่ที่นี่ที่เดียว

“ปกติเวลาจัดนิทรรศการคนก็จะทำแคตตาล็อกอธิบายคอนเซปต์งาน เทคนิค แนวคิดคร่าวๆ แต่สำหรับเรา แคตตาล็อกมันไม่ต้องอยู่ในรูปแบบหนังสือแต่เป็นไฟล์ออนไลน์ก็ได้ อีกอย่างเรารู้สึกว่าการดูศิลปะมันไม่จำเป็นต้องมีความคิดของคนอื่นมาเป็นตัวกำหนด ถ้าสังเกต เราก็แทบจะไม่ได้มีคำอธิบายแต่ละนิทรรศการ เพราะเราคิดว่านิทรรศการน่าจะสามารถอธิบายตัวมันเองได้ เพื่อไม่บล็อกสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในหัวเรา ถ้าจะทำหนังสือ เราอยากทำสิ่งที่ต่อขยายจากไอเดียของนิทรรศการมากกว่า ก็เลยเอาเงินมาทำหนังสือ ซึ่งอาจจะเป็น artist book หรือฟอร์มอื่นๆ ก็ได้

“เวลาเตรียมนิทรรศการ เราจะนั่งคุยกับศิลปินถึงไอเดียของเขา ช่วงนั้นเราก็จะมีทางเลือกให้ตลอดว่าสนใจทำสิ่งพิมพ์ด้วยไหม ซึ่งศิลปินแต่ละคนที่ร่วมงานกับเราก็ค่อนข้างชอบสิ่งพิมพ์อยู่แล้ว เขาก็จะพัฒนาไอเดียหนังสือไปด้วยระหว่างทำนิทรรศการ เป็นสิ่งที่เกิดจากไอเดียเดียวกันแต่ไม่ใช่เรื่องเดียวกับนิทรรศการเสียทีเดียว เหมือนเป็นงานอีกชิ้นหนึ่งที่อยู่ในฟอร์มหนังสือ

“ด้วยความที่แต่ละโชว์ของเรามันไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น คนอาจจะชอบโชว์หนึ่ง แต่อีกโชว์หนึ่งอาจจะดูแล้วไม่เข้าใจ ไม่อินเลย เราอยากจะพูดคุยกับเขาได้มากกว่านั้น ร้านหนังสือนี้ก็อาจเป็นอีกทางในการเสนอไอเดียของศิลปินได้ด้วย”

 

04

ถึงสเปซของที่นี่จะเต็มไปด้วยหนังสือ แต่กลิ่นที่อบอวลมาแตะจมูกกลับเป็นกลิ่นกาแฟอุ่นๆ เข้ากับแสงแดดที่ส่องลอดบานกระจกใหญ่เข้ามา รอบตัวมีเสียงเพลงคลอเบาๆ กำลังสบาย บนผนังแขวนงานศิลปะของศิลปินที่เคยร่วมงานกับ BANGKOK CITYCITY GALLERY ไว้ให้ดูเพลินๆ

ทั้งหมดทั้งมวลรวมกันเป็นบรรยากาศสบายๆ ชวนให้เอนหลังอ่านหนังสือนานๆ นั่นเพราะที่นี่ไม่ใช่แค่ร้านหนังสือแต่ยังมีอีกฟังก์ชั่นคือการเป็นห้องสมุดด้วย

แต่ส่วนไหนล่ะคือร้านหนังสือ ส่วนไหนคือห้องสมุด

ลูกตาลอธิบายง่ายๆ ว่าทุกครั้งที่สั่งหนังสือมาขาย เธอจะเก็บหนังสือแต่ละเรื่องไว้หนึ่งฉบับเสมอ เพื่อให้เมื่อหนังสือขายหมดสต็อกก็ยังมีหนังสือเล่มของห้องสมุดให้เราแบ่งปันกันอ่าน ส่วนใครอยากได้ไว้ในครอบครองก็สามารถลงชื่อไว้เผื่อเธอจะสั่งมาเพิ่มในคราวหน้า

“เรื่องของเรื่องคือเราอยากทำห้องสมุด แต่เราจะไปหาเงินจากไหนมาซื้อหนังสือล่ะ โมเดลธุรกิจของเราจึงกลายเป็นว่าเวลาเราสั่งหนังสือจากต่างประเทศ เขาจะมีส่วนลดให้เราในฐานะที่เป็นร้านหนังสือ ฉะนั้นลดไปลดมา บางครั้งก็เหมือนได้หนังสือมาฟรีเล่มหนึ่ง เราก็เลยคิดว่าถ้าอย่างนั้นมาช่วยกันจ่ายค่าหนังสือในห้องสมุดไหม เช่น เราสั่งหนังสือมา 5 เล่ม คนอ่านมาซื้อไป 4 เล่ม อีกเล่มเราก็เก็บเอาไว้ในห้องสมุด คล้ายๆ ว่าคนที่ซื้อหนังสือทั้ง 4 คนได้ช่วยซัพพอร์ตเราเรื่องค่าหนังสือเล่มที่เหลือในห้องสมุด เช่นเดียวกับที่แกลเลอรีของเราก็ไม่เก็บค่าเข้า เราก็จะบอกเสมอว่าคนที่ช่วยเราออกค่าดำเนินการก็คือนักสะสม เป็นโมเดลคล้ายๆ กัน

“ระบบง่ายๆ คือถ้าเรามีหนังสือเหลือคุณก็ซื้อได้ แต่ถ้าไม่มีหนังสือเหลือเราก็ไม่ขาย เพราะถ้าหนังสืออยู่ที่นี่คนจะเข้ามาอ่านได้มากกว่าหนึ่งคน บางทีเราซื้อไปเราก็ไม่ได้แชร์กับใคร เรารู้สึกว่ามันน่าเสียดาย หรือเด็กๆ บางคนก็ไม่มีเงินและหนังสือพวกนี้ก็ไม่ได้ราคาถูก กลายเป็นว่า อ้าว ไม่มีเงินแล้วทำไมไม่ได้อ่าน งั้นเราให้เขามาอ่านฟรีก็แล้วกัน”

bangkok citycity gallery

เพื่อให้ห้องสมุดของเธอน่านั่งมากที่สุด ลูกตาลจึงหาน้ำดื่มมาบริการ มีเครื่องทำกาแฟไว้ให้ (แต่ต้องซื้อกาแฟนะ) และเพราะช่วงนี้ยังเป็นช่วง soft launch ที่นี่จึงยังไม่มีโปรแกรมที่แน่ชัด แต่ในอนาคต พื้นที่แห่งนี้จะปรับเปลี่ยนเป็นห้องจัดกิจกรรม เล่นดนตรี หรือมีเบียร์ให้จิบเพลินๆ แน่นอน

“ปัญหาหนึ่งของแกลเลอรีคือหนึ่งโชว์กินเวลาประมาณ 2 เดือน แล้วบางทีเรามีความคิดที่ฉับพลันเข้ามาในหัวแต่เราไม่มีที่ปล่อย เราเลยอยากใช้ห้องนี้รองรับไอเดียเหล่านั้น ตอนที่เริ่มออกแบบสเปซเราก็ตั้งใจให้เฟอร์นิเจอร์แต่ละอย่างย้ายที่ได้หรือเปลี่ยนแปลงแปลนได้ เพื่อรองรับกิจกรรมหลายๆ แบบ เช่น งานเปิดตัวหนังสือ เล่นดนตรี อาจจะมีนิทรรศการเล็กๆ ด้วยซ้ำ เราคิดว่ามันจะทำงานร่วมกับคนอื่นได้เยอะขึ้นด้วย เหมือนเป็นพื้นที่ไว้แชร์ไอเดียที่เปลี่ยนแปลงได้ค่อนข้างเร็ว แล้วก็ใช้ค่าใช้จ่ายลงทุนไม่ได้สูงมาก”

ก่อนจากกัน ลูกตาลพาเราเดินดูหนังสือเล่มนั้นเล่มนี้รอบๆ ร้าน เราจึงขอให้เธอแนะนำ 3 สำนักพิมพ์ที่เธอชื่นชอบและอยากให้ลองแวะมาอ่านหนังสือของพวกเขากัน

 

BANGKOK CITYCITY’s PICK

Valiz

Valiz คือสำนักพิมพ์อิสระที่มีออฟฟิศเล็กๆ ในอัมสเตอร์ดัม หนังสือของพวกเขาพูดถึงข้อถกเถียงเกี่ยวกับประเด็นทางศิลปะในยุโรป เช่น โปรแกรมศิลปินพำนัก (Artist Residency) และอื่นๆ ความพิเศษของสำนักพิมพ์แห่งนี้ไม่ใช่แค่เนื้อหาที่เข้มข้นเต็มหนังสือเล่มหนา แต่ยังเป็นระบบการพิมพ์ที่ออนดีมานด์ที่ให้ผู้คนสั่งหนังสือก่อนแล้วพวกเขาจึงจะพิมพ์ขาย เป็นโมเดลธุรกิจที่น่าสนใจและน่าจะเอามาปรับใช้ได้กับสำนักพิมพ์เล็กๆ ที่อื่นด้วย

 

NANG Magazine

นิตยสารเกี่ยวกับ ‘หนัง’ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำโดยชายชาวอิตาเลียน Davide Cazzaro แต่ละฉบับโฟกัสประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับหนังโดยเฉพาะ เช่น การเขียนบท การตัดต่อ ทั้งหมดนี้คาซซาโรตั้งใจว่าจะพิมพ์ทั้งหมด 10 ฉบับเท่านั้น โดยค่อยๆ วางแผงปีละ 2 ฉบับ นอกจากความน่าสนใจในแง่มุมมองของชาวตะวันตกต่อหนังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว ความพิเศษยังอยู่ที่การออกแบบรูปเล่ม และการเลือกใช้กระดาษคุณภาพดีซึ่งพิมพ์ภาพสีได้คมชัดเพื่อถ่ายทอดเฟรมต่างๆ จากหนังแต่ละเรื่องให้มีคุณภาพที่สุดนั่นเอง

 

นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์

หากยังจำกันได้ เต๋อ–นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ เคยจัดนิทรรศการที่ BANGKOK CITYCITY GALLERY ทั้งหมด 2 ครั้ง โดยครั้งแรก ‘i write you a lot’ ได้ต่อยอดเป็นหนังสือที่พิมพ์กับแกลเลอรีด้วย แต่นอกจากหนังสือเล่มที่ว่า ลูกตาลยังสนใจงานของเต๋อเป็นพิเศษและรวบรวมหนังสือเล่มอื่นๆ ที่ผู้กำกับหนุ่มตีพิมพ์ด้วยตัวเอง รวมไปถึงซีดีเพลงประกอบหนัง และดีวีดีหนังบางเรื่องมาวางขายที่ร้านอีกด้วย


BANGKOK CITYCITY GALLEY Bookshop เปิดให้บริการทุกวันพุธ-อาทิตย์ เวลา 13.00-19.00 น.

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย