A CONVENIENT SUNSET ร้านสะดวกซื้อยามพลบค่ำกับการเติบโตของเมืองในสายตา มิติ เรืองกฤตยา

Highlights

  • มิติ เรืองกฤตยา คือช่างภาพเจ้าของรางวัลช่างภาพหน้าใหม่ปี 2011 จาก Flash Forward และเขายังเป็นเจ้าของผลงานภาพถ่ายเมืองที่โดดเด่น พร้อมการสื่อสารประเด็นการเติบโตของเมืองผ่านมุมมองที่ไม่เหมือนใคร
  • ไม่ว่าจะเป็นภาพน้ำท่วมยามค่ำคืนอย่าง Imagining Flood, Dream Property นิทรรศการภาพถ่ายห้องว่างในคอนโดพร้อมคำโฆษณา หรือภาพถ่ายฝุ่นในงาน Coloured Dust and Metallic Particles ที่กำลังจัดแสดงในแกลเลอรีที่สิงคโปร์
  • นิทรรศการล่าสุดอย่าง A CONVENIENT SUNSET | A CONVENIENT HOLDUP มิติยังคงบอกเล่าความเป็นไปของเมืองเช่นเดิม โดยครั้งนี้เขาหยิบร้านสะดวกซื้อมาเป็นตัวแทนของการขยายตัวของเศรษฐกิจให้คนได้ไปดูกันที่ BANGKOK CITYCITY GALLERY ตั้งแต่วันนี้ - 19 มกราคม 2563 

“ในประเทศไทยมีเซเว่น อีเลฟเว่นอยู่ราว 10,268 ร้าน เฉลี่ยมีผู้เข้าร้านวันละ 11.8 ล้านคนโดยประมาณ (ปี 2562) ปัจจุบันเซเว่น อีเลฟเว่นที่เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงได้กลายเป็นภาพชินตาของภูมิทัศน์เมือง”

นี่คือข้อมูลที่ผ่านการรีเสิร์ชมาโดย มิติ เรืองกฤตยา ช่างภาพเจ้าของรางวัลช่างภาพหน้าใหม่ปี 2011 จาก Flash Forward เวทีการประกวดภาพถ่ายของอังกฤษ และมิติยังเป็นเจ้าของผลงานภาพถ่ายความเป็นไปของเมืองตลอดเกือบสิบปีที่ผ่านมา 

ไม่ว่าจะเป็น Imagining Flood ภาพถ่ายน้ำท่วมกรุงเทพฯ ยามค่ำคืน, Coloured Dust and Metallic Particles ภาพถ่ายฝุ่นจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ญี่ปุ่น, การเก็บภาพถ่ายการเมืองไทยในซีรีส์ Thai Politics ตั้งแต่ปี 2006 – ปัจจุบัน, ภาพถ่ายห้องว่างในคอนโดพร้อมคำโฆษณาในนิทรรศการ Dream Property มาจนถึง Sathorn Sunset ภาพถ่ายพระอาทิตย์ตกดินบนตึกเก่าสาธร ยูนีค ทาวเวอร์

ล่าสุดเมื่อปีที่แล้วมิติไปเยือนร้านสะดวกซื้อ 24 ชั่วโมงในหลากหลายจังหวัด แต่นี่ไม่ใช่การเดินทางเพื่อไปซื้อของตามที่ใจต้องการ เพราะเขาตั้งใจไปเก็บภาพร้านคุ้นตาภายใต้ฉากหลังที่แสงตะวันกำลังลับขอบฟ้ามาจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายชื่อว่า A CONVENIENT SUNSET | A CONVENIENT HOLDUP นิทรรศการล่าสุดที่มิติเล่าเรื่องการเติบโตของเมืองในด้านเศรษฐกิจผ่านร้านสะดวกซื้อ 24 ชั่วโมง

จุดเด่นของการสื่อสารเรื่องเมืองของมิติคือ การไม่ชี้นำให้คนดูต้องคิดไปในทางเดียวกัน เว้นพื้นที่ว่างให้ได้ตั้งคำถามกับความเป็นเมืองที่เราเห็นภาพจนชินตา อีกทั้งเจ้าตัวยังคอยตั้งคำถามกับการทำงานภาพถ่ายที่ตัวเองสนใจอยู่เสมอ 

เลนส์ของมิติมองเมืองแห่งนี้ยังไง สำหรับเขาแล้วงานภาพถ่ายคืออะไร คงจะมีเขาเท่านั้นที่จะมีคำตอบให้เราได้

 

เริ่มจากความสนใจเมืองและภาพถ่าย

จุดเริ่มต้นที่ทำให้มิติรู้จักการถ่ายภาพครั้งแรกคือช่วงที่เขาเติบโตและร่ำเรียนในอังกฤษตั้งแต่เด็ก พ่อคือคนแรกที่ให้กล้องถ่ายรูปกับเขาเพื่อบันทึกสิ่งรอบตัว

แต่เมื่อเติบโตเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยมิติไม่ได้เลือกเรียนสายศิลปะ เขาหันมาสนใจสายสังคมแทน หลังเรียนจบปริญญาตรีมิติกลับมาไทยและได้เริ่มต้นจับกล้องถ่ายภาพอีกครั้ง

“อยากลองถ่ายภาพ เริ่มจากถ่ายวิว ทะเลหมอก ดอกไม้ แต่ถ่ายมาไม่สวยนะ” ช่างภาพหัวเราะให้กับคำตอบของตัวเอง 

“พอถ่ายไปก็เริ่มรู้สึกชอบ แล้วเราก็ได้ไปเจอภาพของช่างภาพบางกลุ่มที่ชอบพูดถึงเรื่องสังคม อย่าง Daido Moriyama หรือ Martin Parr คนที่ชอบถ่ายภาพรอบตัว เราเลยสนใจอยากเรียนต่อปริญญาโทด้านการถ่ายภาพสารคดีที่อังกฤษ

“ตอนไปเรียนอาจารย์ส่วนใหญ่สอนว่าภาพสารคดีเหมือนภาพข่าว แต่โชคดีที่อาจารย์คนหนึ่งเปิดกว้างกับงานหลากหลายมาก เขาสนใจเรื่องภาพ แล้วทุกครั้งที่ไปเลกเชอร์เขาก็เชิญศิลปินหลายคนที่ทำงานกับภาพถ่ายมาพูด ทำให้เราเปิดกว้างกับความรู้สึก ความคิด มากกว่าเดิมว่าภาพถ่ายเป็นอะไรได้บ้าง และมันมีแนวทางที่หลากหลายในการใช้กล้อง เราจะสื่อสารออกมายังไงได้บ้าง บางทีมันอาจไม่ได้จบแค่ว่าต้องออกไปข้างนอกแล้วถ่ายอย่างเดียวก็ได้”

หลังเรียนจบมิติจึงออกเดินทางอีกครั้งพร้อมใช้กล้องบันทึกภาพสิ่งรอบตัวอย่างที่เขาชอบและถนัด

“ช่วงปี 2009 ตอนนั้นไปเวิร์กช็อปที่เสียมเรียบ กัมพูชา เราเห็นถนนเส้นหนึ่งอยู่ดีๆ มันก็ตัดเลย เหมือนเป็นกึ่งระหว่างความเจริญที่เข้ามากับวิถีชีวิตอีกแบบ เลยเป็นโปรเจกต์ที่เริ่มทำและสนใจเกี่ยวกับเมือง แต่ไม่ได้วางแผนหรอกว่า 5-10 ปีนี้ต้องถ่ายเมืองออกมายังไงและนำเสนอในรูปแบบไหนบ้าง

“แล้วเราก็มาถ่ายภาพน้ำท่วมกรุงเทพฯ ตอนนั้นคิดไว้ว่าอยากถ่ายภาพแต่ยังไม่ชัดว่าจะถ่ายในแง่ไหน เพราะคนอื่นก็ถ่ายคล้ายๆ กันหมด เลยมาคิดว่าถ้าเรามองจากมุมคนที่อยู่ในกรุงเทพฯ ที่รอคอยว่าเดี๋ยวน้ำจะท่วมบ้านเพื่อนแล้วนะ เรารู้สึกว่ามันเป็นความอึดอัดของการรอคอยว่าจะเกิดอะไรขึ้น ตอนนั้นเลยลองถ่ายตอนกลางคืน จึงเกิดมาเป็นงานชิ้นนี้”

 

บันทึกความเป็นเมืองในสายตามิติ

หลังจากงาน Imagining Flood มิติก็ให้ความสนใจและเฝ้าติดตามการเติบโตของเมืองไทยมาตลอด เขาบันทึกภาพสิ่งรอบตัวที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นต้นคริสต์มาส โปสเตอร์หาเสียงที่ถูกทำลาย ป้ายข้อความ ห้องว่างในคอนโด หรือแม้กระทั่งท่อที่โผล่ขึ้นมาบนถนน

“ด้วยความที่เราโตที่อังกฤษตั้งแต่เด็ก ถ้าไปดูรูปลอนดอนในยุค 40 ปีที่แล้วเทียบกับตอนนี้ ตึกหรือเมืองไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากเมื่อเทียบกับประเทศที่กำลังโตอย่างไทยหรือจีน คือหันมาอีกที อ้าว ตึกนี้โดนทุบ หรือตึกอะไรขึ้นมาใหม่แล้ว ดังนั้นในประเทศไทยความเปลี่ยนแปลงมันเยอะ เราไม่ได้ชินกับสภาพอย่างนี้ แต่ที่สุดแล้วเราก็ต้องอยู่ที่นี่ มันเลยกลายเป็นความสนใจของเรา

“แต่จริงๆ แล้วที่ถ่ายมันก็เป็นสิ่งรอบตัวนะ ไม่ได้พิเศษหรอก เพียงแต่หลายคนอาจเห็นจนชิน แล้วดูไปผ่านๆ เท่านั้น”

นอกจากภาพถ่ายสิ่งของที่ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงและการเติบโตของเมืองได้ชัดเจนแล้ว มิติยังเลือกสื่อสารประเด็นคุณภาพชีวิต สภาพอากาศ และการเติบโตของอุตสาหกรรม ผ่านสิ่งที่เราเห็นด้วยตาเปล่าได้ยากอย่างฝุ่นผงจากโรงงานต่างๆ อีกด้วย

“งานนี้ทำมาสักพักแล้ว ตั้งแต่ช่วงที่ยังไม่มีข่าวฝุ่นเยอะขนาดนี้ เราสนใจเรื่องของเสีย อยากไปดูจุดที่มันเกิดขึ้นจริงๆ ว่ามีอะไรบ้าง ตอนนั้นเลยไปทำรีเสิร์ช พอดีมีเพื่อนที่รู้จักลงพื้นที่รีเสิร์ชแถวระยองเลยขอไปด้วย ไปเจอบริษัทรีไซเคิลที่นำเข้าของเสียจากโรงงานใหญ่ๆ จากหลากหลายประเทศ ตอนนั้นเราได้ residency ที่โตเกียว 3 เดือน ก็เลยมีไอเดียว่าจะเอาพวกผงฝุ่น ผงเหล็ก จากบริษัทรีไซเคิลที่มาจากญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆ แพ็กกลับไปที่ญี่ปุ่น

“แล้วแกลเลอรีที่แสดงงานก็อยู่ในห้างที่ชิบูย่าซึ่งเป็น commercial junction ที่ใหญ่มากของโลกอยู่แล้ว เลยคิดว่าเหมาะมากถ้าจะผลิตงานชิ้นนี้ที่นั่น เราก็ขึ้นไปทำงานบนดาดฟ้าของออฟฟิศในย่านนั้น เอาพวกฝุ่นโปรยลงบนกระดาษและถ่ายภาพไว้”

“งานฝุ่นเริ่มต้นจากการตั้งคำถามเกี่ยวกับการถ่ายภาพด้วยนะ มันมีรูปขาว-ดำเป็นรูปเด็กญี่ปุ่นพิการที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษ ซึ่งเกิดจากการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไวมากหลังสงครามโลก แต่มีหลายอย่างที่รัฐควบคุมไม่ได้ ซึ่งช่างภาพไปถ่ายรูปนี้ได้เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว

“เรากลับมาคิดว่าตอนนี้เมืองไทยมีหลายจุดที่พัฒนาแล้วเกิดมลพิษ แต่เราไม่สามารถถ่ายภาพผลกระทบของสิ่งที่ยังไม่เกิดได้ ถ้าอยากนำเสนอเรื่องนี้เราจะนำเสนอยังไง จะถ่ายอะไร ถ่ายท้องฟ้าแล้วปรับในโฟโตช็อปให้มัวๆ อย่างนี้หรือเปล่า เลยคิดว่าในฐานะคนที่ทำงานกับกล้องหรือทำงานกับภาพถ่ายเราต้องคิด”

นั่นจึงเป็นเหตุผลให้หลากหลายผลงานของมิติไม่ได้เกิดจากความสนใจเรื่องเมืองอย่างเดียว แต่เขายังตั้งคำถามและศึกษาการทำงานถ่ายภาพไปด้วย เช่น ซีรีส์ Thai Politics ที่มิติเลือกเก็บภาพเหตุการณ์ทางการเมืองตลอดเกือบสิบปีที่ผ่านมา 

“Thai Politics เริ่มจากการที่เราสนใจเรื่องรูป แล้วไปอยู่กรุ๊ปเฟซบุ๊กทักษิณ เก็บภาพไปเรื่อยๆ อยู่ดีๆ วันหนึ่งกรุ๊ปหายไป เลยทำให้รู้ว่าการเก็บภาพในโลกออนไลน์ไม่มีความเสถียร วันดีคืนดีมันก็หายไปจากประวัติศาสตร์ เลยตั้งคำถามกับตัวเองในฐานะคนทำงานภาพถ่ายเกี่ยวกับวิธีการหาภาพ วิธีการเก็บภาพ จำเป็นไหมที่เราต้องออกไปเก็บภาพเอง งานนี้เราเลยดึงจากอินเทอร์เน็ตมา archive ไว้เป็นประวัติศาสตร์ เช่น ภาพหนุ่มหล่อ-สาวสวยติดธงชาติไทย แต่ก็มีที่ถ่ายเองนะ พวกป้ายหาเสียงตอนยิ่งลักษณ์กับอภิสิทธิ์”

ปัจจุบันเว็บไซต์ผลงานของมิติจึงประกอบไปด้วยภาพการชุมนุมของคนหลากหลายกลุ่ม ภาพคณะรักษาความสงบแห่งชาติบนจอทีวี ไปจนถึงภาพนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันพบกับผู้นำนานาชาติ

“ที่เรารวมรูปพวกนี้เราไม่ได้มองว่าเหตุการณ์นี้มันดีหรือไม่ดี จริงๆ ไม่ต้องมองในแง่การเมืองก็ได้ เราแค่รู้สึกว่าในแง่ของการเก็บ archive พวกนี้ก็สำคัญ ไม่งั้นมันจะหายไปหมด”

 

A CONVENIENT SUNSET | A CONVENIENT HOLDUP

ในนิทรรศการล่าสุดมิติยังคงเล่าเรื่องการเติบโตของเมืองอย่างที่ตัวเองสนใจ โดยครั้งนี้เป็นภาคต่อจากงาน Sathorn Sunset มิติเลือกใช้ภาพร้านสะดวกซื้อที่เราคุ้นตามาเป็นตัวแทนสื่อสารถึงการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน 

“เซเว่นฯ มันเป็นอะไรที่ป๊อปมาก ทุกคนมีส่วนร่วมหมด เพราะมันสะดวก เปิดตลอด เราก็ตามไปถ่ายเซเว่นฯ ทุกที่เลย เปิดหาในกูเกิลแมปส์ว่าอยู่ที่ไหนบ้าง ไปถ่ายแถวต่างจังหวัดที่เป็นสแตนด์อะโลน และไปถ่ายช่วงบ่าย 3 – 4 โมง เลือกช่วงพระอาทิตย์ตกดินเพราะมันสวย ในขณะที่ก็ฉาบฉวยในเวลาเดียวกัน เป็นนัยที่ว่าแสงสวยๆ แต่อยู่แค่แป๊บเดียว แล้วเรารู้สึกว่ามันเหมาะกับสิ่งที่อยากบอกกับตัวงาน”

แต่ท่ามกลางภาพร้านสะดวกซื้อพร้อมแสงสวยๆ ในนิทรรศการนี้ยังประกอบไปด้วยงานอีกชุดคู่กัน นั่นคือวิดีโอภาพอาชญากรรมขาว-ดำและข้อความจากข่าวตั้งอยู่ตรงกลางห้อง 

“ตอนทำก็รีเสิร์ชเจอภาพขาว-ดำเป็นเหตุการณ์ปล้นกันในร้านสะดวกซื้อช่วง 2-3 ปีนี้ เป็นภาพที่ไม่ได้ถูกสร้างมาไว้ให้จดจำ อยู่แป๊บเดียวแล้วก็หายไป เราว่าน่าสนใจถ้าเกิดมันถูกผลักเข้ามาอยู่ในสถานที่ที่ให้คนเห็นมากขึ้น เพราะจริงๆ มันเยอะมาก ถ้าดูเฮดไลน์ข่าวสิ่งที่เขาขโมยมันก็เป็นเรื่องเล็กน้อยด้วย และมันก็สะท้อนสภาพของประเทศในตอนนี้ได้ดีพอสมควร”

“แล้วเราก็ใช้วิธีการนำเสนอแบบที่ทำมาตลอด คือการจัดวางแต่ละสื่อจะแยกชิ้นส่วนออกจากกัน ตั้งแต่งาน Dream Property ภาพห้องว่างคอนโด เราก็แยกออกจากข้อความโฆษณา มาจนถึงงานนี้ก็เลือกแยกรูปกับเฮดไลน์และวิดีโอข่าว ไม่งั้นมันอาจจะทำให้คนมองในแง่ลบมากกว่า นี่จึงเป็นเหตุผลที่เราเลือกใช้ชื่องานว่า HOLDUP เพราะเราไม่ได้อยากมองคนที่ปล้นว่าเป็นคนร้าย ไม่อยากให้ชื่องานเป็น A CONVENIENT SUNSET กับ A CONVENIENT ROBBERY กลายเป็นว่าเรามองพวกเขาอีกแบบไปเลย

“ที่สำคัญคือเราพยายามไม่ให้งานชี้นำคนดูว่าอันนี้ดีหรือไม่ดี เราพยายามให้งานมีช่องว่างให้คนได้หายใจ ให้คนได้ดูแล้วไปคิดต่อได้ เพราะเราไม่คิดว่าทุกอย่างมันสามารถบอกได้ว่าขาว-ดำ ผิด-ถูก ชัดเจนขนาดนั้น อย่างเช่นเรื่องนี้เราไม่ได้จะสื่อสารว่าต่อต้านเซเว่นฯ นะ เราก็เดินเข้าเซเว่นฯ ประจำ ไปซื้อน้ำ ซื้อกล้วยหอม เราไม่ได้ต่อต้านทุนนิยม เพราะยังไงก็ต้องอยู่ในระบบนี้ มันเลี่ยงไม่ได้ เพียงแต่ว่าเราจะอยู่กับมันยังไงอย่างรู้เท่าทันมากกว่า”


ภาพ  มิติ เรืองกฤตยา

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

วริทธิ์ โพธิ์มา

รักหมูกรอบ และข้าวมันไก่