บอกเลยว่าคนชอบหนังสืออย่างเราใจเต้นแรงมาก เมื่อรู้ว่ากรุงเทพฯ จะได้มี Art Book Fair หรือเทศกาลหนังสือศิลปะของตัวเองเสียทีหลังจากเพื่อนบ้านรอบข้าง เช่น สิงคโปร์และญี่ปุ่นเขาจัดกันไปแล้วหลายรอบ ใครที่ยังสงสัยว่าเทศกาลนี้คืออะไร ขออธิบายง่ายๆ ว่ามันคืองานที่ศิลปินซึ่งเป็นผู้ออกร้านส่วนใหญ่จะมาตั้งโต๊ะวางขายผลงานที่สร้างสรรค์มาเป็นหนังสือ ทำให้ทั้งงานเต็มไปด้วยหนังสือที่สวยและพิเศษแปลกตากว่าปกติ (เริ่มตื่นเต้นรึยัง?)
เทศกาลสาขากรุงเทพฯ นี้จัดขึ้นโดย ปิยกรณ์ ชัยวีรพันธ์เดช, พัชร ลัดดาพันธ์ 2 นักออกแบบกราฟิก และ ศุภมาศ พะหุโล ผู้ร่วมก่อตั้ง BANGKOK CITYCITY GALLERY ตัวงานจะจัดที่แกลเลอรี่แห่งนี้ในวันที่ 7 – 10 กันยายน 2560
แต่ก่อนไปถึงวันจริง เราขอชวนทุกคนมารู้จัก Bangkok Art Book Fair 2017 แบบถึงเนื้อถึงตัวกันผ่าน 5 เรื่องน่ารู้ที่เราได้ไปถามไถ่พูดคุยกับผู้จัดงานมา รับรองว่าอ่านจบแล้วจะไปเที่ยวงานได้อย่างเข้าใจและสนุกขึ้นนะ
1. เทศกาลนี้จัดโดย 2 นักออกแบบกราฟิกฝีมือเยี่ยม และ 1 แกลเลอรี่เก๋
ก่อนไปคุยกันถึงเรื่องเทศกาล เราขอแนะนำตัวผู้จัดงานกันก่อน เริ่มจากปิยกรณ์ ชัยวีรพันธ์เดช และ พัชร ลัดดาพันธ์ พวกเขาคือ 2 นักออกแบบกราฟิกอิสระผู้สร้างสรรค์ผลงานมาหลากหลาย เช่น ทำงานกราฟิกให้บรรดานิทรรศการของ TCDC จัด WHETHER IT IS ART OT NOT เกี่ยวกับชีวิตและผลงานบน Digital Platform ของชวลิต
เสริมปรุงสุข ศิลปินแห่งชาติชาวไทยที่ไปใช้ชีวิตในเนเธอร์แลนด์ และก่อตั้ง The Rambutan: Graphic Design Platform จัดทำเวิร์คช็อป Graphic Design Meets the Society ที่ชวนตั้งคำถามถึงบทบาทของกราฟิกดีไซเนอร์ในประเทศไทย
ส่วน ศุภมาศ พะหุโล คืออดีตภัณฑารักษ์สาวของ TCDC ที่ผันตัวมาเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง BANGKOK CITYCITY GALLERY แกลเลอรี่สีขาวสุดเก๋แห่งซอยสาทร 1 ซึ่งเป็นพื้นที่จัดงานสนุกหลากหลาย เช่น Melo House นิทรรศการภาพในรูปแบบเขาวงกตของตั้ม-วิสุทธิ์ พรนิมิต และ I Write You A Lot นิทรรศการเดี่ยวของเต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ที่มีกิจกรรมสนุกอย่างการเขียนบทสดที่คนไปแจมกันล้นหลาม
2. เทศกาลนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นแพลตฟอร์มให้เหล่าคนทำหนังสือศิลปะ
ไอเดียของ Bangkok Art Book Fair 2017 เริ่มต้นเมื่อปิยกรณ์และพัชรได้จัดทำหนังสือ WHETHER IT IS ART OR NOT ซึ่งรวมผลงานของชวลิตบน Digital Platform ระหว่างนั้น เพื่อนนักออกแบบชาวเกาหลีแนะนำให้ทั้งคู่เอาหนังสือไปขายในเทศกาลหนังสือศิลปะ แต่เมื่อทั้งคู่ตอบว่าน่าเสียดายที่ยังไม่มีงานแบบนี้ในไทย เพื่อนเลยเล่า (ผสมยุ) ให้ฟังว่าการจัดงานแบบนี้ไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แล้วยกตัวอย่างงานที่โซล ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเริ่มต้นจากสเกลเล็กๆ แต่ต่อมาก็เติบโตและกลายเป็นตัวก่อความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจให้กับวงการออกแบบของที่นั่น ทำให้ปิยกรณ์และพัชรเริ่มสนใจและเห็นศักยภาพของแพลตฟอร์มเทศกาลหนังสือศิลปะนี้
เมื่อบวกกับประสบการณ์จากการทำ The Rambutan workshop: Graphic Design Meets the Society ก็ทำให้พบปัญหาว่าต่อให้นักออกแบบกราฟิกขยายขอบเขตตัวเอง
ก็ไม่มีพื้นที่ขายงาน ไอเดียเรื่องการจัดเทศกาลจึงกลับมาอีกครั้ง โดยมีศุภมาศซึ่งชื่นชอบหนังสือศิลปะและชื่นชอบไอเดียนี้ตั้งแต่แรกได้ยินคอยร่วมสนับสนุน
“หนังสือศิลปะมันเปลี่ยนโลก เปลี่ยนวิธีคิด เราเหมือนกันนะ สมมติซื้อมานั่งอ่านบนเครื่องบิน 2 ชั่วโมง ก็เปลี่ยนวิธีคิดเป็นอีกวิธีหนึ่งแล้ว เหมือนเราเห็นโลกที่มองออกไปอีกที่หนึ่งซึ่งไม่เคยไปมาก่อน เราว่าหนังสืออาจเป็นรูปแบบการสื่อสารที่เจ๋งที่สุดเลยด้วยซ้ำ มันน้อยมาก พกพาได้ แต่พาเราไปไกล” ศุภมาศอธิบายความสนุกของหนังสือศิลปะให้เราฟัง
งาน Bangkok Art Book Fair 2017 จึงเปลี่ยนรูปจากฝันสู่ความจริง โดยมีเป้าหมายหลักคือเป็นแพลตฟอร์มช่วยสนับสนุนคนสร้างงานซึ่งไม่ได้จำกัดแค่ศิลปินหรือนักออกแบบ แต่ยังหมายถึงนักวิจัยทุกสาขา รวมถึงช่วยให้คนอ่านได้เสพผลงานแปลกใหม่ และให้เด็กรุ่นต่อไปได้เห็นความเป็นไปได้สำหรับงานตัวเองในอนาคต
3. นี่คือเทศกาลหนังสือศิลปะที่ไม่ได้ขายแค่หนังสือศิลปะแบบเดิมๆ
ผู้จัดงานทั้งสามคนเห็นตรงกันว่าจะมองคำว่า ‘หนังสือศิลปะ’ ในความหมายกว้าง ในงานนี้จึงไม่ใช่แค่จะได้พบหนังสือศิลปะที่เป็นหนังสือสวยเก๋แพงลิบ แต่ยังจะได้พบหนังสือทำมือสนุกๆ ผลงานวิจัยดีๆ เรียกว่าเป็นหนังสือหลากหลายประเภทที่มีสุนทรียะบางอย่างในตัว และแน่นอนว่าจะไม่ได้มีแค่ผลงานของศิลปินไทย แต่เหล่าผู้จัดยังบอกเราว่าจะชักชวนศิลปินต่างประเทศมาร่วมแจมด้วย เพราะอย่างนั้นเตรียมพบหนังสือแปลกใหม่ละลานตาได้เลย
4. เทศกาลนี้ไม่ได้มีขายแค่หนังสือ
นอกจากมีหนังสือสวยๆ วางขาย Bangkok Art Book Fair ยังมีองค์ประกอบอีกมากมายมาเติมเต็มให้เทศกาลสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นงานเสวนาน่าฟังเกี่ยวกับหนังสือศิลปะ
ซึ่งเริ่มจัดเรียกน้ำย่อยกันแล้วตั้งแต่วันที่ 25 – 26 มีนาคมที่ผ่านมา และจะยังจัดอีกเรื่อยๆ (โดยอาจกระจายตัวออกไปสู่พื้นที่อื่นนอกจากตัวแกลเลอรี่ด้วย) ดนตรีสดในวันงาน การเปิดตัวหนังสือศิลปะที่วางขายในงาน และนิทรรศการในงานที่น่าดูมาก เพราะย้อนมองหนังสือศิลปะที่อยู่กับเมืองไทยมาตั้งแต่อดีต และน่าจะมีหนังสือของจริงมาให้ได้สัมผัสกันด้วย
5. นี่คือเทศกาลที่อยากให้ผู้เข้าร่วมเกิด Conversation และ Collaboration
เทศกาลหนังสือศิลปะครั้งนี้ไม่ใช่แค่พื้นที่เพื่อให้คนขายได้ขาย คนซื้อได้ซื้อ แต่คนจัดยังหวังว่างานจะเอื้อให้เกิดบทสนทนาระหว่างศิลปินและคนอ่าน เพราะงานนี้ทั้งสองฝั่งจะได้พบกันโดยตรงไม่ผ่านตัวกลาง เหมือนที่เกษตรกรตัวเป็นๆ มาพบคนกินในงาน Farmer’s Market ใครสงสัยอะไร ชอบไม่ชอบอะไรก็คุยกันได้ และนอกจากบทสนทนาหรือ Conversation ทีมงานยังอยากให้งานนี้ช่วยให้มีการร่วมงานหรือ Collaboration ใหม่ๆ ซึ่งไม่ใช่แค่ระหว่างศิลปินกับศิลปิน แต่คนดูงานเองอาจสนใจลองร่วมทำงานกับศิลปิน เช่น มีเนื้อหาบางอย่างที่อยากให้พวกเขาช่วยถ่ายทอดก็ได้
ทั้งหมดนี้ทำให้งาน Bangkok Art Book Fair เป็นพื้นที่ดีๆ ซึ่งน่าจะช่วยให้ศิลปะเติบโตงอกงาม เป็นงานอย่างที่คนจัดงานอยากเห็นมันเกิดขึ้น “เราแค่อยากทำในสิ่งที่ชอบ อยากทำ มีแพสชันกับมัน และเป็นสิ่งที่เราคิดว่ามันอาจสวยงาม อาจมีประโยชน์ แต่ก็ไม่ได้อยากสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดขนาดนั้นนะ จริงๆ แล้วไม่ค่อยเชื่อเรื่องอย่างนั้นด้วย เพราะคิดว่าของพวกนี้ต้องค่อยๆ ทำ ต้องค่อยๆ ก่อร่างมันขึ้น” ศุภมาศบอกเล่าสิ่งที่อยู่ในใจทีมงาน
หากอยากเห็นผลงานที่พวกเขาปลูกปั้น ก็ลงตารางเตรียมตัวไปเจอกัน 7 – 10 กันยายนนี้ที่ Bangkok Citycity Gallery นะ