เล่าเรื่องให้มีคนอ่าน ออกแบบให้งานถึงคน เปิดวิธีคิดงานของคนทำสื่อในเวิร์กช็อป a team junior 16

เล่าเรื่องให้มีคนอ่าน ออกแบบให้งานถึงคน เปิดวิธีคิดงานของคนทำสื่อในเวิร์กช็อป a team junior 16

หลังได้รายชื่อน้องๆ ที่จะบินลัดฟ้ามาฝึกงานสุดเข้มข้นในโครงการ a team junior 16: Work and Travel Soonvijai 4 กันเรียบร้อยแล้ว เราขอใช้โอกาสนี้ย้อนกลับไปบอกเล่าสิ่งดีๆ ที่ได้เรียนรู้มาในเวิร์กช็อปซึ่งจัดขึ้นสำหรับน้องๆ ที่ผ่านเข้ารอบแรกของโครงการฯ เพื่อให้น้องๆ ที่เข้าร่วมได้ติดอาวุธสำหรับสายงานสื่อ เสริมความแข็งแกร่งและเติมความรู้ทั้งการเล่าเรื่องผ่านวิดีโอ กราฟิก และภาพถ่าย ทำกิจกรรมกลุ่มร่วมกันกับเพื่อนๆ แล้วฟังวิธีการทำงานของ a day จากปากพวกเราชาว a team 

พร้อมแล้วก็ตามไปดูกันเลยว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในวันนั้น 

 

เลือกซับเจกต์ให้ไม่ซ้ำ เล่าเรื่องให้ปัง ใน Session 01 : How to Create a Unique Story

ถึงจะเป็น 9 โมงเช้าวันเสาร์แต่ทุกคนก็ใจสู้ พร้อมฟังวิทยากรคนแรกอย่าง ไก่–ณฐพล บุญประกอบ ผู้กำกับ 2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว ด้วยใจเต็มร้อย ซึ่งวันนี้ไก่ไม่ได้มาตัวเปล่า แต่พกหัวข้อ ‘How to Create a Unique Story’ มาแชร์ให้ฟังเกี่ยวกับวิธีการเลือกซับเจกต์ยังไงให้ปัง โดยยกตัวอย่างผ่านหนังหลากหลายเรื่องที่เขาทำ

แต่ก่อนที่เคล็ดลับนั้นจะถูกเปิดเผย ไก่ก็ขอบอกไว้ว่าหากเทียบการทำสารคดีกับการสร้างตึกก็เหมือนการที่เขียนแบบไปด้วย ลงมือสร้างไปด้วย หลายๆ ครั้งการทำงานก็ไม่ได้ออกมาตรงกับที่คิดไว้ในขั้นแรก เมื่อทำงานกับซับเจ็กต์ไปจริงๆ ก็อาจไม่ได้เป็นอย่างที่เราหวัง ฉะนั้นคนทำงานต้องมีความยืดหยุ่นและกล้าทิ้งสมมติฐานของตัวเอง 

เห็นได้จากสารคดีสั้นเรื่องแรกที่เขาเปิดให้เราดูอย่าง ALEX ซึ่งเขาทำขึ้นตอนไปเรียนต่อด้านสารคดีที่นิวยอร์ก สารคดีเรื่องนี้เริ่มต้นจากการที่ไก่สนใจประเด็นเรื่อง ‘คนที่รอคอย คนที่ติดอยู่ในเวลา’ เขาจึงคิดซับเจกต์ขึ้นมาหลายกลุ่ม เช่น พ่อแม่ที่ลูกหายไป เพราะอยากรู้ว่าเมื่อต้องรอคอยให้ลูกกลับมาทุกวันพวกเขาจะรู้สึกกับเวลายังไง, องค์กรที่ช่วยเหลือนักโทษให้พ้นโทษ เพื่อพูดถึงการรอคอยอย่างมีความหวัง และองค์กรเกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะ เพราะอยากรู้ว่าคนที่รอคอยอวัยวะเพื่อให้มีชีวิตรอดต่อไปนั้นจะรู้สึกอย่างไร

แม้จะคิดซับเจกต์ไว้เยอะ ติดต่อไปหลากหลายองค์กร แต่สุดท้ายที่เขาได้มาจริงๆ กลับเป็น Alex คนไข้เก่าของเพื่อน ซึ่งเคยประสบอุบัติเหตุรถชน ทำให้หัวใจหยุดเต้นไปชั่วขณะ สมองขาดเลือด จนสูญเสียฟังก์ชั่นในการควบคุมร่างกาย กับประเด็นที่ว่า ‘คนที่ติดอยู่ในร่างกายตัวเอง’ นั้นมองโลก มองเวลาอย่างไร

วิธีการทำงานหนังครั้งนี้เขาจึงคิดให้อเล็กซ์เขียนบทความบรรยายความรู้สึกของตัวเองออกมา แล้วค่อยนำไปปรับเป็นวิชวล แต่สุดท้ายก็ต้องล้มอีกครั้งเพราะอเล็กซ์ไม่สามารถเขียนประโยคขนาดยาวได้ 

ไก่จึงเปลี่ยนวิธีการใหม่หลังบุกไปหาอเล็กซ์ถึงบ้าน เขาพบกับ Janet แม่ของอเล็กซ์ และพบว่าวิธีการสื่อสารของสองแม่ลูกนั้นค่อนข้างน่าสนใจตรงที่ผู้เป็นแม่จะถามสิ่งต่างๆ และรอให้เขาพิมพ์บอกความต้องการ แน่นอนว่าการตอบคำถามของเขาแต่ละครั้งนั้นกินเวลานานมาก แต่เธอก็มักจะเดาสิ่งที่ลูกชายต้องการได้ก่อนที่เขาจะพิมพ์จบเสมอ 

นั่นเองจึงเป็นจุดเริ่มต้นของไอเดียใหม่ คือการเขียนคำถามที่ไก่อยากถาม แล้วให้เจเน็ตเป็นคนถามลูกชาย แทนที่จะถ่ายอเล็กซ์อย่างที่ตั้งใจในตอนแรก เขาเปลี่ยนไปถ่ายเจเน็ตมากขึ้น เพื่อเก็บสีหน้า รีแอ็กชั่น ของคนเป็นแม่ซึ่งกำลังรอคำตอบของลูกชาย จะเห็นได้ว่านี่เป็นวิธีการทำงานที่คิดขึ้นใหม่เมื่อเจอซับเจกต์ ไม่ใช่สิ่งที่เขาคิดไว้ตั้งแต่แรก แต่สุดท้ายหนังก็ออกมาสำเร็จได้เหมือนกัน  

เพื่อให้เข้าใจการทำงานในแบบของไก่มากขึ้น เขาจึงย้อนกลับไปเล่าให้ฟังถึงกระบวนการทำหนังสร้างชื่ออย่าง 2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว 

ไก่บอกให้ฟังว่าข้อจำกัดของหนังเรื่องนี้คือต้องออกฉายหลังจากที่พี่ตูนวิ่งเสร็จ ในเวลานั้นเรื่องราวเกี่ยวกับการวิ่งครั้งนี้จึงน่าจะถูกเล่าไปครบทุกมิติแล้ว เขาจึงต้องหาวิธีการเล่ายังไงก็ได้ให้สุดท้ายแล้วหนังเรื่องนี้ยังพอจะมีคุณค่าอยู่ 

เขาจึงเริ่มต้นไอเดียจาก ‘พี่ตูน คนธรรมดา’ เพราะอยากสื่อให้เห็นว่าพี่ตูนก็เป็นคนธรรมดาๆ เหมือนอย่างเรานี่แหละ เพียงแต่เขาลุกขึ้นมาทำอะไรที่เกินตัวก็แค่นั้น

แผนการแรกที่เขาคิดจะเล่าจึงเป็นการพยายามหาซับเจกต์อื่นๆ ที่มีสถานะคล้ายกับพี่ตูน เช่น พ่อแม่ของพี่ตูน เพื่อสังเกตดูว่าตูน บอดี้สแลม มีความคล้ายคลึงกับทั้งสองหรือเปล่า หรือพี่ตูนจะต้องวิ่งระยะไกล เขาจึงคิดจะสัมภาษณ์นักวิ่งระยะไกลเพื่อมาตัดสลับกับภาพการวิ่งของพี่ตูน เพื่อบอกเล่าว่าสุดท้ายแล้วเราก็ต่างมีความเป็นพี่ตูนอยู่ในตัวทั้งสิ้น

แม้แผนการแรกจะล้มเหลวเพราะรู้สึกว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่เป็นการบิดมากเกินไปหน่อย แถมยังใช้เวลาในการไล่สัมภาษณ์คนต่างๆ เยอะเกินไป เขาจึงเข้าสู่แผนการที่สองอย่างการเล่าเรื่องราวของเอสและโอ คู่แฝดที่วิ่งตามหลังพี่ตูนและคอยเสิร์ฟน้ำในการวิ่งครั้งนี้ ซึ่งไก่มองว่านี่เป็นการบันทึกเรื่องราวของคนตัวเล็กที่ไม่มีใครเคยรู้จักมาก่อน แต่เขาก็ยังวิ่งด้วยความบริสุทธิ์ใจจริงๆ แต่สุดท้ายแผนการนี้ก็เป็นอันต้องพับเก็บ เพราะ 10 วันหลังจากวิ่งจบก็มีรายการเล่าเรื่องราวของทั้งคู่จนหมดเปลือก

แน่นอนว่าไก่ยังมีแผนการที่สาม สี่ และห้า สำรองเอาไว้ แต่ก็ไปไม่ถึงฝั่งฝัน สุดท้ายเขาจึงกลับมานั่งคิดอีกครั้งว่าความพิเศษที่มีอยู่ในการทำหนังครั้งนี้คือ การได้ใกล้ชิดกับพี่ตูน พูดคุย เห็นอิริยาบถต่างๆ รวมทั้งเบื้องหลังการวิ่งเหมือนเป็นเพื่อนกัน ก่อนจะสรุปว่าสิ่งสำคัญที่ต้องมีในหนังเรื่องนี้คือการสัมภาษณ์พี่ตูนให้มีความรีแลกซ์ที่สุด แล้วนำมาผูกรวมกับข้อมูลที่เคยได้รับมา อย่างการที่พี่ตูนเป็นคนที่ใช้ชีวิตตามบทเพลงของตัวเองเสมอ ทำในสิ่งที่เชื่อ โกหกไม่เป็น แสดงไม่เป็น เขาจึงใช้เพลงของพี่ตูนเป็นเข็มทิศในการตัดหนังสารคดีเรื่องนี้ออกมาให้ทุกคนได้ชมกัน

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อสรุปว่า บางทีเราไม่ต้องพยายามหนีอะไรบางอย่างก็ได้ถ้ามันดีอยู่แล้ว อะไรที่เวิร์กอยู่แล้วก็ทำตามนั้นไปได้ เหมือนอย่างที่เขากลับมาเล่าถึงพี่ตูนในแบบที่ตัวเองคิดไว้ตั้งแต่ไอเดียแรกๆ 

 

เทคนิคการทำคอนเทนต์วิดีโอให้มีคนดู ใน Session 02 : Echoes from the Brutally Honest Friend

ไม่ต้องเสียเวลา ไปต่อกันเลยกับเซสชั่นที่สองอย่าง ‘Echoes from the Brutally Honest Friend’ โดย แชมป์–ฤทธิกร มหาคชาภรณ์ จากเพจ echo เตรียมมาแชร์ถึงกระบวนการทำงานเพื่อ best internet video  

แชมป์เริ่มต้นด้วยการบอกกับพวกเราว่า จริงๆ แล้วการทำงานวิดีโอมีองค์ประกอบเพียงไม่กี่อย่าง นั่นคือสิ่งที่เรามองเห็นและเสียงที่เราได้ยิน แต่สิ่งที่จะเข้ามาควบคุมทั้งภาพและเสียงให้กลายเป็นวิดีโอที่ดีได้เรียกว่า storytelling หรือวิธีการเลือกว่าจะเล่าเรื่องราวออกมายังไง ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญมากกว่าอุปกรณ์ที่ใช้ใหม่แค่ไหน หรืออุปกรณ์นั้นทำอะไรได้บ้าง 

ตัวอย่างแรกที่เขายกมาให้ดูเพื่อให้เข้าใจบทบาทของ storytelling มากขึ้นคือ ภาพประโยคที่ว่า ‘I will always find you.’ ที่เขียนด้วยฟอนต์แตกต่างกัน อันหนึ่งหวาน อันหนึ่งดุดัน ความรู้สึกเวลามองประโยคเหล่านี้จึงเปลี่ยนแปลงไปตามลักษณะของฟอนต์ 

ต่อด้วยคลิปจากโฆษณาไทยประกันชีวิต เพื่อให้ดูว่าเพียงแค่เปลี่ยนวิธีการเล่าและลำดับเรื่องนิดเดียวก็สามารถเปลี่ยนเนื้อเรื่องทั้งหมดนั้นได้เลย เช่น จากที่เดินไปให้เงินขอทาน หากตัดต่อแบบย้อนภาพก็อาจกลายเป็นการเดินไปขโมยเงิน จากโฆษณาซึ้งๆ ชวนน้ำตาไหลเปลี่ยนเป็นโฆษณาตลกแทน จะเห็นว่าจากตัวอย่างนี้กระบวนการทำงานนั้นไม่มีอะไรซับซ้อน แต่หัวใจสำคัญที่สุดของการทำวิดีโอ ทำคอนเทนต์นี้ อยู่ที่วิธีการคิด หากคิดได้ก็ทำได้ทุกอย่าง

ตัวอย่างที่สาม แชมป์เปิดวิดีโอซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของป้ามล–ทิชา ณ นคร ผู้รับดูแลเยาวชนที่ต้องโทษคดีอุกฉกรรจ์ โดยไม่ได้ใช้วิธีเดียวกับเรือนจำ ไม่ได้มีลูกกรงกั้น แต่ให้อิสระกับทุกคนจนแทบจะใช้ชีวิตเหมือนคนปกติทั่วไป เพื่อต้องการให้เห็นว่าเรื่องเดียวกันแต่หากเป็นคนละคนทำแล้ว วิธีการเล่า รวมทั้งความรู้สึกเมื่อดูจบ ก็อาจแตกต่างกันไป ซึ่งอาจเป็นเพราะ echo วางตัวเป็นเพื่อนกับทุกคนด้วย วิธีการเล่าเรื่องจึงออกมาแล้วสนุก แตกต่างจากคลิปวิดีโอแรกที่เลือกเล่าเรื่องราวนี้ออกมาแบบซึ้งๆ

ดูตัวอย่างมานาน ก็ถึงเวลาที่แชมป์จะเผยความลับ เทคนิคการทำวิดีโอที่เขาใช้ 2 ข้อ นั่นคือ

1. ใส่สิ่งที่ดีที่สุดที่มีให้คนดูดูก่อนเสมอ–วิธีนี้เกิดจากเมื่อเจาะเข้าไปดูข้อมูลหลังบ้านแล้วจะพบว่ามีคนไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำที่ดูงานจนจบ ปกติแล้วคนทั่วไปจะดูวิดีโอกันเพียงแค่ 3-5 วินาทีแรกเท่านั้น หากใช้วิธีการเล่าแบบเดิม ใส่ช่วงไคลแมกซ์ไว้ตอนท้าย จึงมีสิทธิสูงมากที่คนจะดูไปไม่ถึงช่วงนั้น แชมป์เลยคิดวิธีการที่ว่า อะไรที่ว่าดี อะไรที่ว่าสวย เขาจะนำมาไว้ในช่วงแรกของคลิปก่อนเสมอ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้คนอยากดูต่อ ดึงให้เขาอยู่กับเรานานที่สุด อย่างน้อยคือทำให้คนดูต่อไปจนถึง 30 วินาทีแรกให้ได้

2. ใส่ wow factor อยู่เรื่อยๆ–วิธีการนี้คือการใช้ข้อมูลหลังบ้านที่มีมาต่อยอดและคิดหาวิธีการแก้ไข แชมป์จะดูว่าคนกดออกไปในช่วงวินาทีไหนบ้างแล้วจำเอาไว้ จากนั้นในคลิปต่อๆ ไปเขาจะใส่ wow factor ซึ่งจะเป็นอะไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับเนื้อเรื่อง แต่เมื่อใส่เข้าไปจะทำให้คนดูรู้สึกว้าว เพื่อเลี้ยงให้คนอยู่กับวิดีโอให้นานที่สุด 

แม้จะมีเคล็ดลับไม่มาก แต่แชมป์ก็ขอปิดท้ายด้วยสิ่งสำคัญข้อท้ายสุดสำหรับการทำวิดีโอ นั่นคือต้องศึกษากลุ่มคนดูของตัวเองให้รู้ว่าเขาเป็นใคร ต้องการอะไร หรือชอบดูวิดีโอแบบไหนซะก่อน จะได้ทำวิดีโอที่ตรงใจและตอบโจทย์กับกลุ่มคนดูออกมาได้ 

 

เปิดเบื้องหลังการทำงานถ่ายภาพแบบ a day ใน Session 03 : Behind the Scene

หลังพักเติมพลังทานข้าวเที่ยงกันเรียบร้อยก็ถึงคิวของ 3 ช่างภาพ a day อย่าง ตอง–ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ, ออย–ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์ และ บิ๊บ–สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์ ที่จะมาเปิดทุกขั้นตอนการทำงานถ่ายภาพแบบ a day ซึ่งเซสชั่นนี้ก็พิเศษสุดๆ ตรงที่บรรณาธิการบริหารของเราอย่าง เบลล์–จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์ มาเป็นตัวแทนจับไมค์สัมภาษณ์พี่ๆ ทั้งสามคนด้วยตัวเอง ซึ่งเคล็ดลับที่พี่ๆ ฝากไว้ลำดับแรกคือ การถ่ายภาพสักภาพลงนิตยสารหรือออนไลน์บางครั้งอาจมีกระบวนการมากกว่าแค่การกดชัตเตอร์

บิ๊บเป็นตัวแทนเล่าให้ฟังว่าการทำงานของเขาเริ่มจากการศึกษาซับเจกต์ว่าเขาเป็นคนแบบไหน สนใจอะไรบ้าง ก่อนออกกองถ่ายจริง เพราะข้อมูลที่ศึกษามาอาจถูกนำไปใช้ตอนพูดคุย ละลายพฤติกรรม และดึงความเป็นธรรมชาติ ของแบบออกมา ที่สำคัญที่สุดคือไม่ว่าจะเป็นงานอะไร ถ่ายซับเจกต์คนไหน ก็ต้องทำให้เต็มที่ที่สุดในทุกๆ งาน ยิ่งฝึกเยอะถ่ายเยอะก็จะมีชั่วโมงบินเพิ่มขึ้น ทำให้แม้ว่าซับเจกต์จะเป็นดาราดังแต่ก็พร้อมสู้

ส่วนออยคิดว่าการถ่ายภาพของ a day นั้นจริงๆ แล้วไม่จำเป็นต้องถ่ายออกมาแล้วสวย ดึงดูดใจคนอ่านเพียงอย่างเดียว แต่จุดสำคัญอยู่ที่ภาพถ่ายนั้นๆ จะต้องถ่ายออกมาแล้วเล่าเรื่อง ดังนั้นเธอจึงนั่งฟังเรื่องราวขณะนักเขียนสัมภาษณ์ซับเจกต์ไปด้วย เพื่อเข้าใจเรื่องราวที่นักเขียนต้องการจะสื่อ หรือสามารถถ่ายภาพได้ตรงกับความรู้สึกที่ซับเจกต์รู้สึกในขณะนั้น 

ตองช่วยสรุปให้ฟังว่าภาพถ่ายใน a day มักแบ่งออกเป็นไม่กี่หมวดหมู่ โดยหมวดหมู่ที่ใหญ่ที่สุดคือภาพพอร์เทรต เพราะเนื้อหาส่วนใหญ่ในเว็บมักเล่าเรื่องผ่านคน ไลฟ์สไตล์อย่างอาหาร ของกระจุกกระจิก และงานคราฟต์ต่างๆ และอีกสิ่งที่มีเยอะคืองานภาพสารคดีกึ่งท่องเที่ยวที่มักเป็นงานสำหรับลงเล่มเป็นส่วนใหญ่ 

เมื่อพูดถึงการทำเล่ม ตองก็เสริมให้ฟังด้วยว่ากระบวนการทำเล่มและออนไลน์นั้นต่างกันมาก คือต้องทำงานอย่างเร่งรีบมากขึ้น เผาผลาญพลังงานแบบสุดๆ แต่ก็ต้องทำให้อึด และสนุกขึ้น และจริงๆ แล้วการไปทำงานต่างประเทศหรือต่างจังหวัดไม่ใช่เรื่องน่าอิจฉาอย่างที่คิด เพราะถือเป็นช่วงเวลาที่ต้องใช้สติอย่างมาก เนื่องจากอาจไม่มีทั้งโอกาส ไม่มีทั้งเวลา ให้ย้อนกลับไปเก็บภาพเหล่านั้นอีกแล้ว

 

ฟังขั้นตอนการคิดงาน ตีความเนื้อหา ก่อนแปลงเป็นปกและโปสเตอร์นิทรรศการ ใน Session 04 : Judge a Book by Its Cover

วิทยากรคนสุดท้ายที่จะมาเสริมพลังให้น้องๆ คือ ใหม่–มานิตา ส่งเสริม กราฟิกดีไซเนอร์ฝีมือดี เจ้าของรางวัลกราฟิกดีไซเนอร์จากเวที Designer of the Year 2019 ที่จะมาเล่าเบื้องหลังการออกแบบงานแต่ละชิ้นให้ฟังกัน

เริ่มตั้งแต่ผลงานแรกก่อนเข้าสู่วงการออกแบบปกและโปสเตอร์นิทรรศการอย่าง CROSS_STITCH ให้ดู เพราะงานนั้นนอกจากจะเป็นเหมือนสนามให้เธอได้เรียนรู้วิธีการทำงานออกแบบโปสเตอร์นิทรรศการแบบเต็มขั้น เริ่มจากการรับบรีฟหรือการคุยกับคิวเรเตอร์ว่านิทรรศการที่กำลังจะจัดมีศิลปินคนไหนบ้าง ดูงานของศิลปินที่จะนำมาจัดแสดงแล้ว ยังเป็นงานที่ทำให้เธอได้แสดงฝีมือการทำ typography โดยไอเดียที่เธอนำมาใช้เริ่มจากการนำชื่องานหรือคีย์วิชวลอย่าง CROSS_STITCH มาออกแบบเป็นฟอนต์ที่คล้ายงานถัก 

งาน Media/Art Kitchen คือครั้งแรกที่ใหม่ได้ทำงานร่วมกับคิวเรเตอร์ชาวญี่ปุ่น ซึ่งการได้ทำงานกับคนต่างชาติหรือศิลปินมากหน้าหลายตาอย่างนี้เธอบอกว่าเป็นข้อดีมาก เพราะมักจะได้ไอเดียหรือมุมมองการทำงานใหม่ๆ อยู่เสมอ คีย์วิชวลของงานที่ต้องนำมาพัฒนาต่อถือเป็นจุดเริ่มต้นหนึ่งที่ทำให้เธอรู้ตัวว่าชอบการออกแบบเลย์เอาต์ที่ไม่ปกติ ชอบการจัดเรียง นำเทกซ์ที่ได้มาจัดวางให้สนุกสนานขึ้น

ส่วนการออกแบบปกหนังสือต่างๆ ใหม่เล่าว่าตอนทำปกครั้งแรกอย่าง SUM: 40 เรื่องเล่าหลังความตาย อาจเป็นเพราะทั้งเจ้าของหนังสือและเธอยังใหม่กับวงการนี้ทั้งคู่ด้วย ระหว่างที่ทำจึงพูดคุยกันเยอะมาก เพราะแต่ละคนก็อยากให้ผลงานออกมาดีและเป็นงานที่ตัวเองชอบด้วยกันทั้งคู่ โดยหลักการออกแบบปกที่เธอใช้มาตลอดคือ ต้องเป็นปกที่เมื่อวางอยู่บนชั้นหนังสือแล้วคนจะต้องตั้งคำถามว่านี่คือหนังสืออะไร อย่างหนังสือที่เกี่ยวกับความตายก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องมีศพระบุไว้ตั้งแต่หน้าปกก็ได้ แต่เธอจะเล่นกับการดีไซน์แทน

และสุดท้ายเพราะสีที่เธอใช้ในการออกแบบบ่อยๆ มักเป็นสีขาว-ดำ เธอจึงแอบกระซิบบอกความลับของการใช้สีเหล่านั้นมาด้วยว่า ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะกว่าที่งานต่างๆ จะมาถึงมือกราฟิกดีไซเนอร์มักเป็นช่วงท้ายของกระบวนการทำงาน การออกแบบโดยใช้สีเดียวจึงดีต่อการทำงานโดยรวมมากกว่า หรือหากงานไหนที่กราฟิกเป็นแบบมินิมอลเธอก็จะไปลงรายละเอียดกับตัววัสดุอย่างกระดาษหรือเทคนิคการพิมพ์แทน 

 

ปิดท้ายวันด้วยการจับกลุ่มเข้าเวิร์กช็อปคิดเมนคอร์ส

นั่งฟังอยู่นาน ก็ถึงเวลาให้น้องๆ ได้ลุกขึ้นขยับตัว จับกลุ่มคิดวิธีการเสนอเมนคอร์สและการทำคอนเทนต์ออนไลน์ ซึ่งเมนคอร์สที่เราเตรียมไว้ให้มีทั้ง Netflix, Thai Idol, Thai Young Artist, ความตาย, ขนม, ตูน บอดี้สแลม, การศึกษา และของมือสอง แน่นอนว่าน้องๆ แต่ละกลุ่มก็นำเสนอไอเดียของตัวเองออกมาอย่างเต็มที่ เห็นฝีมือของแต่ละทีมแล้วก็ต้องบอกเลยว่าวงการสื่อบ้านเรายังมีความหวัง

ใครที่อยากมาร่วมเวิร์กช็อปแบบนี้บ้าง ปักหมุดเตรียมรอโครงการ a team junior ได้เลยในปีหน้า ส่วนน้องๆ ที่ผ่านเข้ารอบ ก้าวมาเป็น a team junior 16 ตัวจริงแล้ว เตรียมตัวเตรียมใจรับการฝึกงานสุดเข้มข้นจากพวกเราได้เลย

AUTHOR