a team junior 14 workshop : เวิร์กช็อปที่ชวนทุกคนมาเลเวลอัพไปพร้อมกัน

ทุกปีเมื่อปิดเทอมภาคฤดูร้อนมาถึง ออฟฟิศ a day จะเข้าสู่ช่วงโครงการ a team junior ที่มีนักศึกษาฝึกงานมากหน้าหลายตามาฟอร์มทีมฝึกงานด้วยกันเป็นเวลา 3 เดือน แต่ก่อนจะถึงช็อตนั้น เราจะจัดเวิร์กช็อปเพิ่มความรู้ด้านการสื่อสารให้น้องๆ ผู้ผ่านการคัดเลือกรอบแรกกันก่อน ปีนี้ a team junior 14 workshop : Level Up จัดขึ้นวันเสาร์-อาทิตย์ที่ 10 – 11 มีนาคม 2561 ตั้งแต่เช้าจดเย็นที่ BIG Co-working Space

เช้าวันเสาร์ เราอุ่นเครื่องด้วยกิจกรรมให้ทุกคนได้ทำความรู้จักกันก่อนผ่านการนำเสนอสิ่งที่ตัวเองชอบแล้วจึงถึงคิววิทยากรคู่แรกขึ้นบรรยาย พวกเขาคือทีมงาน MAYDAY! กลุ่มคนที่ทำงานผลักดันการพัฒนาเมืองและระบบขนส่งสาธารณะ ภายใต้ชื่อ SATARANA (อ่านบทความเรื่องเมืองจากพวกเขาได้ที่นี่) ตัวแทน MAYDAY! ที่มาถ่ายทอดประสบการณ์ ได้แก่ แวน-วริทธิ์ธร สุขสบาย กราฟิกดีไซเนอร์ผู้หลงรักรถเมล์ และ เนย-สุวิชา พิทักษ์กาญจนกุล นักเขียนและผู้ดูแลการสื่อสารของ MAYDAY! (ทั้งคู่เป็น a team junior รุ่น 10 ด้วยนะ)

เป้าหมายหนึ่งของ MAYDAY! คือการทำให้รถเมล์ซึ่งเป็นหนึ่งในระบบสาธารณะได้แสดงศักยภาพมากขึ้น ในช่วงปลายปี 2560 ถึงต้นปีที่ผ่านมาจึงได้ทดลองปรับปรุงป้ายรถเมล์ในช่วงงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร ต่อเนื่องมาถึงช่วง Bangkok Design Week ที่ปรับการออกแบบป้ายไปอีกขั้นหนึ่ง เนยและแวนได้แชร์เบื้องหลังวิธีคิดการออกแบบป้ายเหล่านั้น ตั้งแต่ในรายละเอียดของการเลือกฟอนต์ให้คนอ่านได้จากระยะไกล การเลือกสีสันป้ายที่คนตาบอดสีก็ดูได้ไม่มีปัญหา การออกแบบแผนที่ที่ช่วยให้คนเข้าใจทิศทางเมืองมากขึ้น ไปจนถึงแนวคิดการทำงานกับภาครัฐเพื่อมุ่งไปสู่การแก้ปัญหาร่วมกัน

สิ่งสำคัญที่เราได้จากทั้งคู่คือแนวคิดในการมองปัญหาและย้ำเตือนถึงพลังที่คนธรรมดาทุกคนมีอยู่ในตัวเอง

วิทยากรคนที่ 2 คือ อั๋น-วุฒิศักดิ์ อนรรฆพร ผู้กำกับโฆษณามากฝีมือจาก Factory 01 ที่เชี่ยวชาญในการสื่อสารกับวัยรุ่น จากหัวข้อการบรรยายว่าด้วยวิธีตีโจทย์การสื่อสารเพื่อให้เข้าถึงผู้รับสารได้ อั๋นได้พาทุกคนเข้าสู่การแบ่งปันเคล็ดลับที่สนุกสนานและมันมาก! ปูพื้นฐานตั้งแต่วิธีรับสารและจดจำโดยคร่าวของสมองที่แบไต๋ให้เราเห็นว่าพลังของ ‘อารมณ์’ นั้นมีมาก ไม่ว่าสื่อสารอะไรต้องคำนึงถึงการออกแบบความรู้สึกที่คนฟังจะได้รับด้วย

ครึ่งหลังของการบรรยาย อั๋นได้แบ่งปัน ‘เครื่องมือ’ ที่ใช้สร้างพลังหรืออิมแพกต์ในการสื่อสาร เครื่องมือเหล่านี้นำมาประยุกต์ใช้ในการเขียน การบอกเล่าผ่านวีดิโอ หรือสื่อใดๆ ก็ได้ ตัวอย่างเช่น การสร้างคอนทราสต์ในเนื้อหา ล่อหลอกให้คนคาดหวังว่าจะได้เห็นอะไรแล้วปล่อยออกไปในจังหวะที่คาดไม่ถึง ทำให้เกิดหมัดเด็ดที่น่าจดจำ หรือการหาวิธีเล่าเรื่องรูปแบบใหม่ๆ โดยสร้าง mind mapping ที่ถูกวิธี (ซึ่งน่าจะมีคนมากกว่าครึ่งที่ใช้ผิดมาตลอด) การใช้เครื่องมือนี้อย่างถูกต้องจะช่วยให้สมองเราเค้นสิ่งที่รู้ออกมาให้ได้มากที่สุด ทำให้มองเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ภายในเวลาจำกัดไม่กี่สิบนาที

ครึ่งบ่ายของวันแรก ทีมงาน a day ได้ขนเอา a day ทั้ง 210 เล่มมาวางโชว์เป็นนิทรรศการย่อมๆ ให้น้องๆ ได้ชม ก่อนจะบอกเล่าวิธีทำ a day ในเล่มต่างๆ ถัดจากนั้นจึงถึงคิว a team junior 13 ขึ้นมาบอกเล่าประสบการณ์เมื่อปีก่อน

การเวิร์กช็อปวันที่ 2 ได้ทวีความเข้มข้นกว่าเดิมด้วยวิทยากรถึง 3 คน คนแรกคือ ไก่-ณฐพล บุญประกอบ ผู้กำกับหนังสารคดีรุ่นใหม่และนักเขียนบท (เราเคยสัมภาษณ์เขาลง a day ฉบับสารคดี ด้วยนะ) ไก่มาแชร์ประสบการณ์การดีลกับสถานการณ์เฉพาะหน้า เมื่อต้องลงพื้นที่ทำสารคดีแล้วเหตุการณ์ต่างๆ อาจไม่เป็นตามที่คาด ซึ่งน้องๆ จะนำมาปรับใช้ได้เมื่อต้องลงพื้นที่ทำงานจริง

ไก่เผยให้เห็นขั้นตอนระหว่างทางทำหนังที่มักจะยุ่งเหยิงเสมอ ฉะนั้นการทำงานจึงไม่มีสูตรลับตายตัวในการสร้างหนังขึ้นมาสักเรื่อง สิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างทางอาจส่งผลให้ภาพที่ผู้สร้างวางไว้ในตอนแรกสุดกับโครงเรื่องสุดท้ายที่ได้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ความท้าทายของคนเล่าเรื่องคือต้องปรับตัวไปตามวัตถุดิบที่พบเจอ นอกจากนี้เขายังเปิดหนังสารคดีของตัวเองให้ทุกคนได้ชมเป็นตัวอย่าง พร้อมทีเซอร์สารคดี ‘ก้าว’ ที่ไก่ตามติดภารกิจของตูน-บอดี้แสลม ตั้งแต่วันแรกจนวันสุดท้าย

ต่อกันด้วยเรื่องราวจาก a team junior รุ่น 3 อย่าง ยู-กตัญญู สว่างศรี นักพูดและนักเล่าเรื่องราวที่ตอนนี้ได้ชื่อว่าเป็น สแตนด์อัพ คอมเมเดียน คนล่าสุดของไทย นอกจากเสียงฮา กตัญญูมาเล่าประสบการณ์การเลเวลอัพของตัวเขาที่ไม่ได้ใช้เวลาแค่ปีสองปี แต่ผ่านการคลุกคลีและลองทำอะไรหลายๆ อย่างด้วยความมุ่งมั่นจนพบว่าสิ่งที่เขาชอบและทำได้ดีมากที่สุดคือการเล่าเรื่องราวผ่านเสียง ไม่ใช่ผ่านตัวอักษรเหมือนที่เคยทำมา

นอกจากแรงบันดาลใจ จุดสำคัญคือยูได้แชร์หลักการที่ปฏิบัติได้จริงในทุกการทำงาน เช่น ความเป็นมืออาชีพต้องมีวินัยกับเดดไลน์อย่างยิ่งยวด ความกล้าที่จะค่อยๆ ลงมือทำโดยริเริ่มในสเกลงานเล็กๆ และไม่กลัวที่จะท้าทายตัวเองไปสู่บันไดขั้นที่สูงกว่า หรือแม้กระทั่งความหมายที่แท้จริงของคำว่า ‘คอนเนกชั่น’ ในชีวิตการทำงาน ถ้าใครสนใจก็ลองอ่านบทสัมภาษณ์ของเขากันได้

วิทยากรคนสุดท้ายของปีนี้คือ พิ-พิริยะ กุลกาญจนาชีวิน คิวเรเตอร์ของเวทีทอล์ก TEDxBangkok และผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Glow Story บริษัทรับเล่าเรื่องด้วยฝีมือคนรุ่นใหม่ที่เชื่อว่าการเล่าเรื่องที่มีพลังจะช่วยแก้ปัญหาสังคมได้ (อ่านบทสัมภาษณ์ของเขาได้ที่นี่) ในฐานะที่หยิบจับเนื้อหาหลากหลายมาส่งต่อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องธรรมชาติ เรื่องปัญหาการศึกษา ฯลฯ วันนี้เขาจึงมาแชร์วิธีคิดงานแบบละเอียดยิบของ Glow Story ว่าต้องเริ่มจากอะไร

จุดสำคัญในการสื่อสารของ Glow คือการออกแบบการเล่าเรื่องเพื่อคนบางกลุ่มโดยเฉพาะ พวกเขาสนใจตั้งแต่ anger หรือ ‘ความโกรธ’ ที่ทุกคนต้องมีเรื่องที่หงุดหงิดในใจของตนเองและอยากสร้างการเปลี่ยนแปลง เมื่อวิเคราะห์อินไซต์และพฤติกรรมแล้วจึงค่อยออกแบบไอเดียที่จะสื่อสาร คัดเลือกสารที่ต้องการสื่อเพื่อให้มีพลังที่สุด ก่อนจะปิดท้ายด้วยส่วนที่ดึงดูดให้คนสนใจและสร้างเสน่ห์ให้การสื่อสารอย่างงานดีไซน์ที่แปลกใหม่และตอบโจทย์ รวมถึงการประชาสัมพันธ์อย่างชาญฉลาด ทั้งหมดนี้เป็นหลักคิดภาพรวมที่นักเล่าเรื่องทุกคนทุกสายหยิบไปใช้ได้แน่นอน

ช่วงท้ายของการเวิร์กช็อปเป็นช่วงเวลาน่าตื่นเต้นแห่งการพรีเซนต์งานของน้องๆ ทุกกลุ่มจะได้รับโจทย์ให้คิดวิธีนำเสนอคอลัมน์ main course ซึ่งเป็นเหมือนกระดูกสันหลังของนิตยสาร a day ภายใต้หัวข้อท็อปฮิตในช่วงเวลานี้ เช่น ‘เมื่อวันหนึ่งฉันเดินเข้าป่า’ หรือ ‘บุพเพสันนิวาส’ แต่ละกลุ่มจะมีพี่ๆ a team เป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำว่าทำอย่างไรจะสื่อสารออกมาให้สนุก แตกต่าง และมีพลังที่สุด งานนี้เราไม่ได้คาดหวังงานที่ดีเลิศ แต่อยากให้น้องๆ ได้ฝึกปรือตัวเองและมีประสบการณ์ทำงานร่วมกับพี่และเพื่อนๆ ร่วมทีม

เราขอขอบคุณน้องๆ ทั้ง 100 คนที่มาร่วมใช้เวลาด้วยกันเต็มๆ ในช่วงสุดสัปดาห์ วิทยากรทุกคนที่มาแบ่งปันความรู้อย่างเป็นกันเอง แล้วมาดูกันว่าใครจะได้มาทำภารกิจเลเวลอัพอย่างเต็มรูปแบบในช่วงปิดเทอมที่จะถึงนี้

ส่วนน้องๆ คนไหนเห็นแล้วสนใจโครงการ a team junior ขอให้ติดตามข่าวปีหน้าให้ดี แล้วพบกันใหม่นะ

AUTHOR