ปีนี้สอนให้รู้ว่า “งานที่ดีเกิดจากการทำมาเยอะมาก”– มานิตา ส่งเสริม

Highlights

  • ใหม่–มานิตา ส่งเสริม คือกราฟิกดีไซเนอร์ชาวไทยผู้โดดเด่นเรื่องงาน typography หรือการจัดวางตัวอักษรเป็นกราฟิกเรียบ เท่ เป็นเอกลักษณ์
  • เธอคือผู้อยู่เบื้องหลังโปสเตอร์นิทรรศการหลายชิ้นของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครตั้งแต่ปี 2013 เป็นผู้ออกแบบปกหนังสือให้สำนักพิมพ์อิสระหลายเจ้า และในปี 2019 เธอยังก้าวออกไปทำงานใหม่ๆ ทั้งออกแบบโปสเตอร์ภาพยนตร์ VR ออกแบบ Artist's Book รวมถึงมีนิทรรศการแสดงผลงานของตัวเอง
  • เมื่อได้มองผลงานโดยรวม เธอจึงตกผลึกว่าการทำงานแบบเดิมซ้ำๆ คือหนทางสู่งานที่ดี รวมถึงยังเป็นวิธีทำให้คนจดจำอีกด้วย

บ่ายที่อากาศดีที่สุดวันหนึ่งท้ายปี 2019 เรามีนัดกับกราฟิกดีไซเนอร์ ใหม่–มานิตา ส่งเสริม ที่ The Jam Factory คลองสาน สถานที่จัด Individual Characters นิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของเธอ มานิตา ส่งเสริม

เพื่อทำความรู้จักใหม่ เราขอชวนคุณเปิดประตูเยี่ยมหน้ามาดูนิทรรศการครั้งนี้สักนิด เพราะนี่คือการรวมงานดีไซน์ของเธอตลอด 7 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะงาน typography หรือการจัดวางตัวอักษรเรียบ เท่ เป็นเอกลักษณ์ หลายครั้งเธอก็ออกแบบฟอนต์เอง และหลายครั้ง งานที่มีเพียงตัวอักษรเป็นใหญ่ก็สะกดคนดูได้อยู่หมัด เช่น โปสเตอร์นิทรรศการของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ปกหนังสือสำนักพิมพ์อิสระหลายเจ้า โปสเตอร์แสนล้ำลึกของภาพยนตร์ 10 Years Thailand ตลอดจนชิ้นงานศิลปะส่วนตัว มานิตา ส่งเสริม

มานิตา ส่งเสริม

เพียงการแสดงงานกราฟิกในประเทศที่มีนิทรรศการงานดีไซน์เพียงหยิบมือก็มีความหมาย แต่สิ่งที่นิทรรศการไม่ได้บอกคือในปีเดียวกันนี้ใหม่ยังได้รับรางวัล Emerging Designer Awards สาขากราฟิกดีไซน์จากเวที Designer of the Year 2019 ได้ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Monocle และ Design360° และล่าสุดยังได้เป็นสมาชิก Alliance Graphique Internationale หรือ AGI กลุ่มรวมนักออกแบบกราฟิกระดับโลกที่ปัจจุบันมีคนไทยเป็นสมาชิกไม่ถึง 10 คน

ว่ากันจากผลงานและรางวัล 2019 คงเรียกได้ว่าเป็นปีแห่งความสำเร็จ ก่อนจะขึ้นปีใหม่เราจึงชวนเธอมาทบทวนการงาน ชีวิต และสิ่งที่ได้เรียนรู้ในปีที่ผ่านมาเสียก่อน

แต่เท่าที่เรารู้ 2019 คือปีของใหม่ไม่ผิดแน่

มานิตา ส่งเสริม

สวัสดีปีใหม่

เมื่อนึกย้อนไปจนถึงต้นปี ใหม่ก็สรุปว่าตลอด 12 เดือนที่ผ่านมาอัดแน่นไปด้วยโปรเจกต์ประเภทที่ไม่เคยทำมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นโปสเตอร์หนังที่ใช้เทคนิคภาพวาดผสมคอลลาจ หรือนิทรรศการเดี่ยวก็ตาม

“จริงๆ มันต้องไล่มาตั้งแต่ปลายปี 2018 Chiang Wei-Liang ผู้กำกับหนัง VR เรื่อง Only the Mountain Remains เขาเห็นโปสเตอร์ 10 Years Thailand ของเราแล้วติดต่อมาบอกว่าอยากให้ทำโปสเตอร์ให้หนังของเขา เราก็ใช้วิธีวาดลายเส้นกับคอลลาจภาพ เป็นเทคนิคที่เราไม่เคยทำมาก่อน เราแค่รู้สึกว่างานนี้เขาน่าจะต้องการวิชวลเป็นภาพแต่ไม่ใช่ภาพถ่าย ไอเดียเราตรงกันว่าทำไมโปสเตอร์หนังจะต้องใช้ภาพถ่ายเท่านั้น

“งานใหม่ที่เราได้ทำอีกอย่างคือ Artist’s Book เรารู้จักพี่นอย (อรวรรณ อรุณรักษ์) มานาน ตอนที่เขาจัดนิทรรศการ Counting ที่ BANGKOK CITYCITY GALLERY เขาก็เลยมาชวนเราทำ Artist’s Book ซึ่งเราอยากลองอยู่แล้วเพราะมันมีวิธีคิดต่างจากสูจิบัตรนิทรรศการ มันไม่ใช่การถ่ายรูปผลงานจากนิทรรศการมาพิมพ์ประกอบแคปชั่นลงเล่ม แต่คืองานคอนเซปต์อีกชิ้น เป็นส่วนที่ต่อโยงหรือเชื่อมกับนิทรรศการของศิลปิน

“เวลาเราทำกราฟิกให้นิทรรศการของหอศิลป์ก็มีกระบวนการคิดแบบคอนเซปชวลเหมือนกันนะ แต่ด้วยความที่นิทรรศการส่วนใหญ่เป็นแบบกลุ่ม เราเลยทำงานกับธีมและคอนเซปต์ของงานมากกว่าจะทำความเข้าใจงานของศิลปินเป็นคนๆ  พอเรามาทำงานกับศิลปินคนเดียว ต้องสื่อสารเมสเสจจากคนๆ เดียวมันทำให้เราได้ทำความเข้าใจศิลปินมากกว่าเดิม รู้จักงานเขาอย่างละเอียดมากขึ้นว่าเขาชอบอะไร สนใจอะไร”

นอกจากที่เล่ามา ใหม่ยังไล่เรียงให้เราฟังถึงการออกแบบปกหนังสือที่ใช้เทคนิคใหม่ที่ไม่ถนัด เช่น การนำเส้นด้ายมาขดเป็นหน้าปก ในโลกอันแปรปรวน: บันทึกของนักเขียนไบโพลาร์ ทุบจานให้แตกเพื่อทำปกหนังสือเรื่อง คินสึงิ หรือจุดปากกาเป็นแพตเทิร์นปก ความตายของหญิงสาว เป็นต้น

“เราคิดตลอดเลยว่าถ้าไม่ใช่โปรเจกต์ของเราเองเราก็ไม่สามารถใช้สไตล์ได้แบบเดียว แต่ต้องทำงานที่เชื่อมไปกับคอนเซปต์เป็นหลัก คิดว่างานของเขาต้องการพูดอะไรและต้องใช้เทคนิคไหนในการทำ แล้วพองานชิ้นนี้ทำด้วยเทคนิคนี้ สไตล์นี้ เราก็ไม่อยากให้งานชิ้นใหม่ใช้สไตล์ที่ซ้ำกัน แต่เราจะมีวิธีคิดที่บอกว่าคนออกแบบคือคนเดียวกันนะ ไม่ว่าจะเป็นการจัดวางหรือการใช้ฟอนต์ที่คนไม่ค่อยใช้

“เคยคุยกับพี่แบงก์และกิ่ง (ธนาคาร จันทิมา และณัฐกานต์ อมาตยกุล ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ไจไจบุ๊คส์) เขาก็บอกว่าไม่มีใครเขาเอาหนังสือแต่ละเล่มที่เราทำมาเรียงกันหรอกนะ แต่เราก็แค่รู้สึกว่าไม่อยากให้มันซ้ำ” เธอเล่าขำๆ แล้วชวนให้เราลองเดินดูหนังสือแต่ละเล่มที่วางให้หยิบมาอ่านได้ตามสบายในนิทรรศการ

มานิตา ส่งเสริม

“นิทรรศการนี่ก็เพิ่งได้ทำครั้งแรก ทาง The Jam Factory มาชวนเพราะเขาเห็นงานเรา ตอนนั้นก็คุยกันว่ายากนะทำนิทรรศการโชว์งานกราฟิก แต่เราก็สนใจเลยตกลง”

และเพราะโจทย์คือการรวบรวมผลงานออกแบบของใหม่ตั้งแต่ต้นจนปัจจุบัน เธอจึงนั่งไทม์แมชชีน (หรือค้นฮาร์ดดิสก์) ไปจนถึงปี 2013 อันเป็นปีแรกของการทำงานเพื่อคัดเลือกงาน รวมถึงดราฟต์ของงานแต่ละชิ้นมาจัดแสดง

และเป็นขั้นตอนการเตรียมนิทรรศการนี่แหละที่ใหม่ค้นพบบางอย่างเกี่ยวกับตัวเอง

มานิตา ส่งเสริม

Do-ดู

“รู้สึกว่า เออ เราก็ทำงานมาเยอะเหมือนกันนะ” ใหม่ตอบอย่างรวดเร็วเมื่อเราถามความรู้สึกตอนเห็นงานของตัวเองทั้งหมดวางเรียงกัน

“พอดูงานรวมๆ มันเหมือนเราได้สังเกตคนที่ทำงานนั้นขึ้นมา ได้เห็นสิ่งที่เขาเป็น อย่างงานของเราจะเห็นความเป็นระเบียบอยู่ในนั้น แต่เป็นระเบียบที่วุ่นวาย งงไหม เรารู้สึกว่างานของเรามีการจัดวางที่เป็นระเบียบแต่ในความเป็นระเบียบก็มีความพยายามจะแหกกฎ ต่อให้เราออกแบบโปสเตอร์ด้วยเส้นสไตล์พังก์ ใช้พู่กันเขียนตัวอักษรแบบหยาบๆ แต่ทุกองค์ประกอบมันวางขนานกันอยู่บนเส้น grid หมดเลย คุณแค่ถูกภาพที่ดูทำมือหลอกว่ามันไร้กฎ” เธอใช้มือวาดเส้นบนอากาศให้เราดู

มานิตา ส่งเสริม

“ซึ่งเป็นเรื่องที่คุณตั้งใจหรือเปล่า” เราสงสัย

“ไม่ได้ตั้งใจ เราไม่เคยเอา grid ไปวางเลยแต่ตอนทำมันเป็นไปเอง ถ้าทำงานมาเยอะมากๆ เราจะสังเกตโครงสร้างได้อัตโนมัติว่าจะวางองค์ประกอบในตำแหน่งไหน ก็เหมือนกับตอนเรียนที่เรารู้สึกว่าวางไปเท่าไหร่ก็ไม่เห็นจะลงตัวสักทีนั่นแหละ เราเพิ่งเข้าใจว่ามันต้องทำๆๆๆ ทำจนกว่าจะทำได้

“เราว่าสกิลงานไหนๆ ก็คล้ายกันนะ ถ้าเราทำสิ่งเดิมทุกวี่ทุกวัน เราเขียนทุกวัน เราวาดรูปทุกวัน เราเพนต์ทุกวันมันก็จะดีเอง ถามว่าทำไมนักวาดการ์ตูนเขาถึงต้องวาดไม่หยุดเลยล่ะ เพราะมันไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ เขาจะวาดได้เป๊ะแบบนั้นแต่งานที่ดีเกิดจากการทำมาเยอะมาก 

“เราก็เหมือนกัน เราอยู่กับการขึ้นโครงเลย์เอาต์ วางโครงสร้างกราฟิก จัดวางองค์ประกอบ เรารู้แล้วว่าตำแหน่งไหนคือตำแหน่งที่ดีหรือเราสังเกตมาแล้วว่าจุดนี้เป็นจุดที่คนจะมองเป็นอย่างแรกบนปกหนังสือ การสังเกตเป็นวิธีเรียนรู้ที่ดีที่สุด เช่น ทำไมดูโปสเตอร์ชิ้นนี้แล้วเราถึงชอบ อ๋อ เพราะจุดนี้ เพราะเขาเรียงแบบนี้ สังเกตแล้วเก็บไว้ทั้งวิชวลและไอเดีย

“ตอนนี้การสร้างงานออกแบบที่ใช้ตัวอักษรอย่างเดียวก็น่าจะถูกยอมรับในระดับหนึ่ง เหมือนสิ่งที่เราทำมามันเห็นผล คือทำซ้ำๆ ในสิ่งที่เราชอบ ทำในสิ่งที่เราเป็น ถึงจุดหนึ่งงานของคุณก็ต้องถูกจำได้”

มานิตา ส่งเสริม

พื้นที่ส่วนตัว

ในบทสัมภาษณ์ครั้งก่อนๆ ใหม่เคยเปรยว่าถ้าเป็นไปได้อยากมีเวลาทำโปรเจกต์ของตัวเองมากกว่านี้ และเหมือนพระเจ้าจะรู้ใจ จึงจัดสรรค์งานส่วนตัวให้เธอเพิ่ม ทั้งนิทรรศการ, zine ที่กำลังรอการพิมพ์ และ The Typewriter Project โปรเจกต์ภาพพิมพ์ที่ทำกับสตูดิโอ The Archivist ซึ่งได้ไปโชว์ในนิทรรศการ The Printers’ Prints #2 ไกลถึงเบอร์ลิน เยอรมนี

“ปีนี้เราทำโปรเจกต์ส่วนตัวเยอะมาก เยอะ มาก” เธอเน้นเสียง

“แต่ดีนะ เพราะงาน personal artwork ก็คือการสังเกตตัวเองอย่างหนึ่งว่าจากงานทั้งหมดที่เราทำเราสนใจอะไรมากที่สุด เช่น ถ้าเห็นงานของเราก็จะเห็นว่าเราทำฟอนต์ วาดรูป ทำกราฟิกด้วยมือ แต่จุดร่วมคือเราอยู่กับจัดการเทกซ์มาตลอด เช่น การจัดหน้าหนังสือ จัดช่องว่างระหว่างตัวอักษร ตัดคำ จัดบรรทัด  พอ The Archivist มาชวนให้ทำภาพพิมพ์เราเลยทำชิ้นงานที่ทดลองเรื่องเชิงเทคนิค เล่นกับฟังก์ชั่นต่างๆ ในโปรแกรมซึ่งคงทำไม่ได้ในงานทั่วไป ตอนที่ทำเราไม่รู้ด้วยว่าภาพสุดท้ายคืออะไร

“ลองดูภาพนี้ก็ได้ บรรทัดแรก เราทดลองใช้เครื่องหมายบวกเรียงกันยี่สิบตัว บรรทัดที่สองเราลองลดตัวอักษรเป็น 19 ตัว 18 ตัว 17 ตัวไปเรื่อยๆ พร้อมๆ กับที่แต่ละบรรทัดเราก็ค่อยๆ เพิ่มไซส์ฟอนต์ เหมือนตั้งโจทย์ขึ้นมาให้ตัวเอง พอเรียงเสร็จจบเป็นรูปหนึ่ง เราก็ลองเปลี่ยนตระกูลฟอนต์ทั้งหมดมันดันกลายเป็นรูปใหม่ขึ้นมา เราก็ เฮ้ย! อยู่คนเดียว ลองเปลี่ยนฟอนต์อีกตระกูลก็ได้รูปใหม่อีก จากนั้นเราก็คิดว่าเราลองแทนตัวบวกเป็นเส้นขีดมั้ย กลายเป็นภาพลวงตาเฉยเลยทั้งๆ ที่ทั้งหมดใช้เลย์เอาต์เดียวกัน”

แม้จะเรียกว่าโปรเจกต์ส่วนตัว แต่ใหม่กลับออกตัวว่าไม่มีครั้งไหนที่เธอเป็นคนเริ่มต้นด้วยตัวเองเลย

“ตั้งแต่ทำงานมาเราไม่เคยคาดหวังว่าจะทำแบบนั้นจะทำแบบนี้ มีแต่คนที่มีโปรเจกต์มาชวนทำด้วยกัน เราก็คิดว่าทำสิ อย่างนิทรรศการเดี่ยวเราก็เคยคิดนะว่าน่าทำแต่ไม่ได้คิดว่านิทรรศการกราฟิกจะเกิดขึ้นได้ แต่ปรากฏว่ามีคนมาชวนเราก็ทำ

“โชคดีที่งานของเรามีซิกเนเจอร์พอสมควร คนรู้ว่าเราทำงานแบบไหนก็เลยเข้ามาหาเราถูก และโชคดีที่เราสตาร์ทการทำงานที่หอศิลป์ซึ่งให้เราทำงานแบบที่เราอยากทำ ได้ย้ำภาพงานแบบของเราเรื่อยๆ ถ้าไม่เริ่มที่นี่เราก็ไม่รู้จะหลงทางไปไหน เพียงแค่ตอนนั้นเราก็ไม่รู้หรอกว่าเราจะทำสิ่งนี้มาได้นานขนาดนี้

“เอาจริงๆ ตอนเลือกรับงานแต่ละโปรเจกต์เราก็มองไม่ออกขนาดนั้นหรอกว่าสุดท้ายจะจบยังไง แต่พองานผ่านไปแล้วทุกครั้งก็มีบทเรียน เช่น เวลาเจองานแบบนี้ต้องตกลงกันยังไง เวลาทำงานมีเท่านี้ต้องแบ่งส่วนทำอะไรก่อน เหล่านี้คือสิ่งที่เราเรียนรู้และเอาไปใช้ได้ทั้งนั้น เราเลยไม่ค่อยกลัวการรับงานจากคนที่ไม่คุ้นเคยเท่าไหร่ ยิ่งถ้าเรารู้ว่าอีกฝ่ายเป็นโปรฯ ในด้านของตัวเองจะยิ่งอยากทำงานด้วยมากๆ เพราะเราก็อยากรู้ว่าสิ่งที่เราได้จากคนเหล่านี้คืออะไร

“แพสชั่นตอนนี้ก็คือการแก้โจทย์ที่ได้รับนี่แหละ เหมือนสถานการณ์ในการทำงานตอนนี้มันไม่มีช่วงให้เราพักหรือกลับมาทบทวนว่าสิ่งที่ตัวเองอยากคิดเริ่มทำคืออะไร พอเรากำลังจะคิดก็มีโจทย์ใหม่ที่ท้าทายมาตลอด เราก็เอาวะ ลองทำ หรือว่านี่ก็คือแพสชั่นนะ เพราะช่วงเวลาที่เราได้แก้โจทย์มันก็ท้าทายเราไปเรื่อยๆ เหมือนปล่อยให้ชีวิตมันไหลไปเอง ดูว่าเราจะไปเจออะไร ส่วนแพสชั่นก็คือการเอาตัวเองไปใส่ใจกับช่วงเวลานั้นๆ”

มานิตา ส่งเสริม

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย