2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว : ภาพยนตร์ที่จะทำให้คุณได้แรงบันดาลใจจากคนธรรมดาชื่อ ตูน บอดี้สแลม

“พี่ตูนเขาไม่ได้อยากให้หนังมันเกี่ยวกับเขา”

ประโยคนี้สรุปสิ่งที่เราได้รู้หลังนั่งคุยกับ ไก่-ณฐพล บุญประกอบ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง 2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว ภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดปรากฏการณ์ครั้งประวัติศาสตร์คือการวิ่งจากเบตงถึงแม่สายรวมระยะทางกว่า 2,215 กิโลเมตรของตูน บอดี้สแลม

แม้ตูนจะไม่อยากให้หนังเล่าเรื่องตัวเขา แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อได้ยินชื่อโครงการนี้ทีไร สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือภาพของตูน บอดี้สแลมที่ออกวิ่งอย่างตั้งใจ รอยยิ้มที่ส่งให้ทุกคนราวกับไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย และภาพฮีโร่ พระเอกของประเทศ ซึ่งแน่นอน หลายครั้งสถานะนั้นก็ทำให้เรารู้สึกว่าเขาจับต้องไม่ได้

แต่หลังจากได้ดูเทรลเลอร์ภาพยนตร์ เราสัมผัสได้ถึงความตลก ความเจ็บปวด และความเชื่อ ที่มีเชื้อเพลิงมาจากความดื้อของตูน ทั้งหมดอาจเรียกได้ว่าคือความเป็นมนุษย์ ที่ดึงดูดให้เราอยากจะเข้าไปถามเบื้องลึก เบื้องหลังการร้อยเรียงเรื่องราวที่สามารถพาคนดูเข้าไปรู้จักอีกมุมของตูนและโครงการก้าวคนละก้าวครั้งนี้ได้

ก้าวแรกเริ่มต้นขึ้นยังไง ไก่จะเล่าให้เราฟัง

จากจุดสตาร์ท กรุงเทพฯ-บางสะพาน สู่จุดหมาย เบตง-แม่สาย

“ตอนนั้นพี่เก้ง (จิระ มะลิกุล) ได้ไปวิ่งกรุงเทพฯ-บางสะพานกับพี่ตูน พี่ตูนเลยชวนพี่เก้งทำหนัง แล้วพี่เก้งก็มาชวนเราอีกที ตอนแรกก็คิดว่าจะเอาฟุตเทจที่มีจากการวิ่งครั้งนั้นบวกกับสัมภาษณ์คนเพิ่มนิดหน่อยเพื่อมาทำเป็นวิดีโอ Kick Start สำหรับการวิ่งเบตง-แม่สาย แต่ระหว่างคุยเรื่องไอเดียกับพี่ตูน ช่วงหนึ่งเขาไม่ตอบ หายไปเป็นอาทิตย์ เราก็สงสัยว่าเป็นอะไร ปรากฏเขาตอบกลับมาว่าเปลี่ยนใจแล้วว่ะ อยากให้ถ่ายการวิ่งครั้งที่สองมากกว่า”

ไก่และทีมอีกสามคนจึงต้องเก็บกระเป๋า บินไปเบตง และเริ่มต้นการเดินทางไปพร้อมๆ กับตูน

การเคลื่อนที่ตลอดเวลาคือความยากระหว่างถ่ายทำ

เพราะหนังต้องการเล่าเรื่องราวอย่างใกล้ชิด จนทำให้คนดูรู้สึกเหมือนได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในขบวน ทีมถ่ายทำจึงต้องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของขบวนวิ่ง หลักการคือพวกเขาจะเก็บภาพเหตุการณ์ทุกอย่างที่เกิดขึ้นตลอดทางแบบไม่จำกัดประเด็น ขอเพียงมีตูนเป็นหลักเท่านั้น ซึ่งไก่อธิบายว่าที่ทำแบบนี้ก็เพื่อไม่ให้ตัวเองยึดติดกับประเด็นใดประเด็นหนึ่งมากเกินไปจนอาจพลาดเหตุการณ์พิเศษที่เกิดขึ้นตรงหน้าได้

การถ่ายไม่ยั้งเป็นผลให้เมื่อวิ่งจบโครงการ พวกเขามีฟุตเทจรวมๆ แล้วความจุ 16,300 กิ๊กกะไบต์ เท่ากับต้องใช้เวลาดูฟุตเทจทั้งหมด 271 ชั่วโมง ส่วนทีมงานบางคนก็มีอาการเจ็บป่วยแถมมาด้วย

“เอ็ม (ยศวัศ สิทธิวงค์) ที่เป็นตากล้องถ่ายตลอดเวลาจนยกแขนไม่ได้ มือสั่น ต้องฝังเข็มช็อตไฟฟ้าระหว่างทาง เราเจอเรื่องเยอะมากเลย ทั้งโดนรถชนแล้วหนี มอเตอร์ไซค์ตกคลอง รถล้ม”

ตลอด 2,215 กิโลเมตรจากเบตง-แม่สาย ทีมทำงานไปพร้อมๆ กับฝีเท้าแต่ละก้าวของตูน หมายความว่าพวกเขาต้องเคลื่อนที่ตลอดเวลา ยิ่งวันเวลาล่วงเลย ตูนยิ่งเริ่มวิ่งเช้าขึ้น กระทั่งบางวันได้เข้านอนตอนห้่าทุ่ม ตีสองตูนก็ออกมาวิ่งบนถนน วิถีชีวิตของพวกเขาช่วงหลังๆ จึงติดดินเป็นพิเศษ

“ไอเดียคือวิ่งเสร็จเราก็นั่งรถไปนอนที่โรงแรม เช้ามาก็วิ่งต่อ แต่หลังๆ เราได้นอนกันน้อยมาก แล้วมันเสียเวลา กว่าจะนั่งรถไปโรงแรม ตื่นมาก็ต้องนั่งรถไปที่จุดสตาร์ทอีก หลังๆ เราเลยนอนตรงจุดเช็กพอยต์เลย คือเริ่มวิ่งตรงไหนกูนอนตรงนั้น พักปั๊มก็นอนปั๊ม หรือที่ลำปาง จุดเช็กพอยต์อยู่ริมแม่น้ำวัง มีแคร่กับเพิงตั้งอยู่ เราก็เอามุ้งไปกาง อาบน้ำในแม่น้ำเลย”

จะทำภาพยนตร์เรื่องก้าว แต่ไม่อยากเล่าเรื่องพี่ตูน

เมื่อพูดถึงโครงการก้าว คงเลี่ยงไม่ได้ที่ภาพยนตร์จะพูดถึงเจ้าของโปรเจกต์อย่างตูน แต่เมื่อตูนไม่ได้ต้องการให้พูดถึงตัวเองและยกย่องเขามากนัก ทำให้ไก่และทีมต้องกลับมาคิดเป็นการบ้านว่าจะเล่าเรื่องด้วยวิธีไหนดี

“เรามีไอเดียเยอะเลยตอนเริ่มวิ่ง เช่น เราอยากเล่าเรื่องคนข้างทางแล้วดูว่าเขามีเรื่องความรักหรือเรื่องแรงบันดาลใจอะไรที่เชื่อมโยงกับตัวพี่ตูนบ้าง วันๆ ทีมเราก็ไปนั่งคุยกับคนแล้วก็ถ่ายมา แต่ผ่านไปสัก 2-3 จังหวัด เราก็เลิก เพราะพอเราคุยกับคนไปเรื่อยๆ เราไม่เห็นความพิเศษขนาดที่จะร้อยเป็นหนังได้ ก็เลยล้มไอเดียนั้นไป”

ส่วนโจทย์ใหญ่อีกข้อที่ต้องแก้คือ จะเล่าเรื่องพี่ตูนยังไงให้ไม่ซ้ำกับเรื่องที่สื่ออื่นเล่าไปแล้ว และจะเล่ายังไงให้แรงบันดาลใจจากพี่ตูนยังส่งไปถึงคนดู

“มีอีกไอเดีย คือเล่าเรื่องคนเล็กๆ ในขบวน เช่น ฝาแฝดพี่เอส-พี่โอ (สราวุธ-สรายุทธ์ เดชาคุ้ม) พี่เอสคือคนที่วิ่งเป็นการ์ดตามหลังพี่ตูน ส่วนพี่โอเป็นคนส่งน้ำ เรื่องราวของคู่นี้ดราม่ามากเพราะพี่เอสเป็นเชฟจากต่างประเทศที่กลับไทยในรอบ 20 ปีเพื่องานนี้ มาอยู่ใต้ชายคากับพี่โออีกครั้ง ร่วมทุกข์ร่วมสุขสองเดือน เราถ่ายไว้หมดเลย กะว่าเรื่องนี้พีคแน่นอน”

“พอวิ่งจบประมาณ 2 อาทิตย์ สื่อทำเรื่องนี้ออกมาเล่าเรื่องหมดเลย ทั้งพี่เอส พี่โอ หมอเมย์ พี่ป๊อก เล่าทุกคนเลยจนพรุนมาก ไอเดียนี้ก็พับไป (หัวเราะ)”

สุดท้ายก็ต้องเล่าเรื่องพี่ตูนนี่แหละ

“ถ้าเราเล่าเรื่องคนอื่นที่ไม่ใช่พี่ตูน มันเกิดคำถามตลอดว่าทำไมต้องเป็นลุงคนนี้ ทำไมเป็นน้องคนนั้น สุดท้ายมันเลยอยู่ที่ว่าเรื่องไหนให้แรงบันดาลใจคน ซึ่งเรื่องของพี่ตูนนี่แหละเป็นเรื่องที่ให้แรงบันดาลใจที่สุด

“พี่กบ บิ๊กแอส (ขจรเดช พรมรักษา) เคยพูดว่ามันน่าสนใจมากเลยนะที่คนเราจะสามารถตะโกนสิ่งที่อยู่ลึกๆ ในใจเราออกไปเป็นสาธารณะผ่านเพลง คือเพลงมันทั้งส่วนตัวและ public ในเวลาเดียวกัน เราเองก็สังเกตว่าพี่ตูนเป็นนักร้องที่ใช้ชีวิตเหมือนเนื้อเพลง ในหนังเลยมีเพลงที่สะท้อนสิ่งที่เขาทำ สิ่งที่เขาเป็น หรือสาเหตุที่เขามาวิ่ง

“เราใช้วิธีตัดหนังก่อน หาความรู้สึกและความหมายในนั้น แล้วค่อยดูว่าเพลงไหนมันตอบ มันเลยไม่ใช่หนังเพลง เพลงเป็นแค่ส่วนที่สะท้อนความเป็นตัวพี่ตูนที่จริงที่สุด ลึกที่สุด”

ขั้นตอนสำคัญที่สุดคือการฉายให้พี่ตูนดู

“ธรรมชาติของหนังสารคดี มีน้อยเรื่องมากที่ subject จะชอบหนังเกี่ยวกับตัวเอง มันเหมือนเราอ่านบทสัมภาษณ์ตัวเองหรือฟังเสียงตัวเองในทีวีหรือในเทป มันจะขัดหูแปลกๆ เป็นเรื่องปกติมาก”

ความจริงข้อนี้เป็นสิ่งที่ทำให้ไก่ลำบากใจตลอดช่วงการตัดต่อ ไม่นับว่าปกติตูนก็เป็นคนเขินง่าย ถ่อมตัว และไม่อยากเป็นฮีโร่อยู่แล้ว การเลือกเล่าเรื่องราวในหนังโดยมีตูนเป็นตัวละครหลักจึงเสี่ยงต่อการที่ตูนจะไม่ชอบ ทำให้ผู้กำกับอย่างเขากดดันเพิ่มเข้าไปอีก

“พี่เก้งกับพี่วรรณ (วรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์) พูดกับเราตลอดว่าไม่ต้องกลัว เราทำให้ดีที่สุดบนจุดยืนของเรา ทำให้พี่ตูนเห็นว่านี่คือสิ่งที่เราอยากเล่า เราไม่ได้ต้องการทำหนังให้คนมาอวยพี่ตูนแบบที่มันเคยเกิดขึ้น แน่นอนหนังมันเป็นเรื่องพี่ตูน มันเป็นหน้าพี่ตูน แต่เราพยายามจะเปลี่ยนมุมมองที่คนมีกับพี่ตูน ซึ่งมันจะเป็นไปไม่ได้เลยถ้าเราแก้หนังก่อนที่พี่ตูนกับคนรอบข้างจะได้เห็น เราก็เลยทำจนจบแล้วฉายให้พี่ตูนดู พี่ตูนดูจบก็ไม่ออกมาจากโรงประมาณ 5 นาทีได้

“พอออกมานั่งคุยกัน พี่ตูนก็พูดแบบเดิมว่าเขาไม่ได้อยากให้หนังเป็นแบบนี้ เราก็แบบ เอาแล้วไง (หัวเราะ) แต่พอคุยไปเรื่อยๆ คอมเมนต์กัน พี่ตูนเขาก็ค่อยๆ เปิด ค่อยๆ เอ็นจอยวงสนทนามากขึ้น เราคิดเอาเองว่าเหมือนเขาค่อยๆ ยอมรับว่าเขาไม่ต้องชอบหนังหรือให้หนังเป็นไปตามที่เขาหวังก็ได้ เพราะถ้าทุกคนแฮปปี้กับมัน ได้แรงบันดาลใจจากมัน นั่นคือจุดประสงค์ที่แท้จริงของงานเลย ซึ่งสุดท้ายก็แฮปปี้ พี่ตูนก็ไม่ขอแก้อะไรเลย สำหรับเรา โมเมนต์นั้นสำคัญสุดแล้วตั้งแต่ทำหนังเรื่องนี้มา

“สุดท้ายแล้วมันเป็นความเชื่อใจ พี่ตูนมาหาพี่เก้งตั้งแต่แรกก็เพราะความเชื่อใจ พี่เก้งก็เชื่อใจเรา เราว่าสุดท้ายแล้วมันจะไม่ใช่การที่ใครจะมาชี้ผิดชี้ถูกว่ามันต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ แต่มันเป็นเพราะเราเชื่อใจกันมาตั้งแต่ต้น”

อยากให้ทุกคนได้แรงบันดาลใจจากคนธรรมดา

“แรกสุดที่คุยกัน เรารู้สึกว่าคนคาดหวังภาพพี่ตูนที่เป็นฮีโร่อยู่แล้ว เราเลยต้องการจะให้นิยามใหม่ ให้คนมองพี่ตูนในมุมใหม่ เป็นความต้องการที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง

“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาหนึ่งปีที่ได้อยู่กับพี่ตูน เรารู้สึกว่าสิ่งที่บันดาลใจเราไม่ใช่ความรู้สึกว่าพี่ตูนเป็นเทพ คือเขาสุดยอดอยู่แล้วล่ะทั้งสิ่งที่เขาเป็นและสิ่งที่เขาทำ แต่พอเรารู้สึกว่าเราเป็นเพื่อนเขา เราได้แรงบันดาลใจจากการที่เขาเป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง คุยกับเราปกติ เล่นมุกฝืดๆ เรารู้สึกว่าคนธรรมดาแบบที่เราสัมผัสได้ พอลุกขึ้นมาทำอะไรแบบนี้มันสร้างแรงบันดาลใจให้เรา”

ภาพยนตร์เรื่อง 2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว เปิดให้ชมฟรี 6-16 กันยายนนี้ ที่โรงภาพยนตร์ทั่วประเทศไทย
ใครอยากบริจาคเพิ่มเติมเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ให้แก่อาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
สามารถติดตามช่องทางการบริจาคได้ที่เพจ ก้าว

ภาพ GDH 559

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

นิติพงษ์ การดี

ช่างภาพเจ้าของเพจ Rename. ที่ลงงานปีละครั้ง และมีความคิดว่า ถ้าได้กินกาแฟในตอนเช้าหนึ่งแก้ว ถือว่าวันนั้นเป็นวันที่ดี