ทักษะแบบไหนจำเป็นต่อการงานในศตวรรษที่ 21? daypoets society โครงการฝึกงานที่ได้ทำจริง

ทักษะแบบไหนจำเป็นต่อการงานในศตวรรษที่ 21? daypoets society โครงการฝึกงานที่ได้ทำจริง

จากการนั่งพูดคุยกันเมื่อปีที่แล้ว เครือเดย์โพเอทส์มีโครงการการฝึกงานมาอย่างช้านาน ซึ่งก็คือโครงการการฝึกงานของนิตยสาร a day ซึ่งเรียกน้องๆ ที่ได้รับการคัดเลือกเข้าสู่การฝึกงานจริงว่า a team junior โดยแต่ละปีที่ผ่านมา a day ได้ผลิต a team junior รุ่นแล้วรุ่นเล่าเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพเข้าสู่การทำงานในแวดวงต่างๆ แม้แต่ตัวบรรณาธิการบริหารนิตยสาร a day คนปัจจุบัน อย่าง จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์ ก็เป็นหนึ่งในผลผลิตของ a team junior รุ่นที่ 6 

แต่ในเครือเดย์โพเอทส์มีทั้ง a book, a day BULLETIN และ The Momentum 

ปีนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการที่ชื่อว่า daypoets society กับ a team junior รุ่นที่ 15 และการก่อกำเนิดของ a book JUNIOR, BULLETIN JUNIOR และ The Mo JUNIOR รุ่นที่ 1

ชื่อของ daypoets society นอกจากจะมาจากชื่อบริษัท daypoets ซึ่งประกอบไปด้วย a day, a book, a day BULLETIN และ The Momentum แล้วยังเป็นการเล่นคำระหว่างภาพยนตร์เรื่อง Dead Poets Society กับชื่อของบริษัท Daypoets และถ้าใครจำโปสเตอร์ของโครงการนี้ได้ก็จะพบว่ารูปคีย์วิชวลที่เราใช้ก็ดัดแปลงมาจากฉากหนึ่งในภาพยนตร์เรื่องนี้ กับการที่นักเรียนในคลาสของอาจารย์จอห์น คีติ้ง ลุกขึ้นมายืนบนโต๊ะในห้องเรียน 

ภาพยนตร์เรื่อง Dead Poets Society คือแรงบันดาลใจหนึ่งของเราในกระบวนการเรียนรู้ที่ไม่ใช่แค่การ ‘เรียน’ เพียงอย่างเดียว วิชาที่สอนไม่ใช่แค่วิชาในหลักสูตรเพียงอย่างเดียว และคนที่สอนก็ไม่ได้สอนเพื่อให้คนเรียน ‘เชื่อ’ เพียงอย่างเดียว แต่ในกระบวนการนั้นเต็มไปด้วยการตั้งคำถาม การแสวงหา การเรียนรู้ซึ่งกันและกัน มิตรภาพ และการค้นหาความหมายของชีวิต ซึ่งเราได้นำเอาแนวคิดนี้มาสร้างโครงการ daypoets society โครงการฝึกงานที่ไม่ได้มาแค่ ‘ฝึกงาน’ เท่านั้น

จากวันแรกที่เปิดรับสมัครจนถึงวันสุดท้าย 30 มีนาคมที่ผ่านมา มีผู้สนใจร่วมโครงการนี้ถึง 561 คน แต่เราสามารถรับได้เพียงแค่ 40 คน นั่นจึงเป็นเหตุผลของการจัดงาน ‘The Expert Talk’ ในวันที่ 20 เมษายนที่ผ่านมา กับการคัดเลือกรอบแรกจาก 561 คน เหลือเพียง 141 คนเพื่อเข้าร่วมงาน The Expert Talk ก่อนจะคัดสู่ 40 คนสุดท้ายที่จะได้ร่วมฝึกงานจริงกับทั้ง 4 แบรนด์ในเครือเดย์โพเอทส์ 

แต่เหนือสิ่งอื่นใด งาน ‘The Expert Talk’ ที่จัดขึ้นคือความพยายามของเราที่แม้จะไม่สามารถคัดเลือกทุกคนเพื่อเข้าร่วมฝึกงานในโครงการนี้ได้ แต่เรายังอยากให้คนที่อาจจะไม่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมการฝึกงานกับเราได้เห็นถึงบางสิ่งบางอย่างที่เราพยายามจะบอก ได้แนวคิดและแรงบันดาลใจจากเรื่องราวของผู้เชี่ยวชาญทั้ง 5 คนที่เราเชิญชวนมาร่วมพูดคุยในงานครั้งนี้

ภายใต้โครงการ daypoets society ครั้งนี้เรามีแท็กไลน์ว่า ‘Skills That Shape The Future’ ร่วมเรียนรู้ทักษะใหม่สำหรับชีวิตและการงานในศตวรรษที่ 21 คำว่า ‘ทักษะ’ อาจฟังดูเป็นเรื่องของเทคนิคการถ่ายรูป ถ่ายวิดีโอ การเขียน แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่จับต้องได้จริงที่เราได้นำมาคิด และสร้างสรรค์เป็นคอร์สไว้ในช่วงการฝึกงาน แต่มากไปกว่านั้น ทักษะสำคัญที่เราหมายมั่นและตั้งใจจะนำพาน้องๆ ทุกคนได้ร่วมเรียนรู้ไปด้วยกันตั้งแต่ต้นก็คือทักษะแห่งวิธีคิดจากบรรดาผู้เชี่ยวชาญทั้ง 5 คนในงาน The Expert Talk ที่ผ่านมา

เริ่มต้นด้วย เต๋อ–นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ นักเขียนบทและผู้กำกับภาพยนตร์ เราเลือกเต๋อไม่ใช่เพราะว่าเต๋อคืออดีต a team junior ของนิตยสาร  a day เพียงเท่านั้น แต่ภายใต้การนำเสนอผลงาน ไม่ว่าจะเป็นงานภาพเคลื่อนไหวหรืองานเขียนของเขาเองนั้นแฝงไปด้วยวิธีคิดต่อ ‘โลก’ ใบนี้ โดยเฉพาะโลกโซเชียลมีเดียที่วิ่งไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว กับหัวข้อ ‘Real ทำ Content’ ว่าด้วยการเล่าเรื่องและชีวิตของนักเล่าเรื่องในยุคแห่งการเสพสื่อแบบไฮสปีดที่ความจริงเปลี่ยนไปทุกวินาที

หากการทำงานในแวดวงสื่อฯ และการเล่าเรื่องในปัจจุบันนี้คือการวิ่งแข่งขัน แล้วถ้าเราวิ่งไม่เร็วเท่าคนอื่นเขาล่ะเราจะยังลงแข่งประเภทวิ่ง 100 หรือ 200 เมตรอยู่ไหม หรือเราจะเลือกมาเป็นการแข่งวิ่งมาราธอนหรือไตรกีฬาเหมือนอย่างที่เต๋อสร้างสรรค์คอลัมน์ ‘เมดอินไทยแลนด์’ ใน a day online ที่ไม่ได้วัดกันที่ ‘ความเร็ว’ ในเมื่อเราไม่อาจจะสู้ในเรื่องความเร็วกับใครเขาได้ แล้วเราจะสู้ด้วยอะไรดังเช่นที่เต๋อบอกว่า “ความช้าก็มีพื้นที่ของมัน”

เช่นเดียวกันกับ มาร์ค–อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Blognone เอ็กซ์เปิร์ตคนที่สองของเรากับหัวข้อ ‘ไม่ต้องแมสก็ฮิตได้’ ที่มาช่วยขยายความว่าในจักรวาลแห่งการทำคอนเทนต์นั้น การประสบความสำเร็จไม่ได้วัดกันเพียงคำว่า ‘แมส’ หรือ ‘ไม่แมส’ หรือแม้กระทั่งการลงมือทำแมสหรือไม่แมส ไม่ใช่ประเด็นสำคัญเท่ากับคุณภาพของสิ่งที่ทำ การเป็นผู้รู้ลึกรู้จริงต่างหากคือสิ่งที่สำคัญในการเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ในปัจจุบันนี้ และแม้ว่าเรื่องที่รู้ลึกรู้จริงนั้นจะไม่ใช่เรื่องที่ ‘แมส’ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะนำพาเราไปสู่การเป็นสิ่งที่ ‘ฮิต’ ไม่ได้ และหากจะคิดต่อยอดจากสิ่งที่เต๋อได้บอกเอาไว้ก่อนหน้านี้หากยังเปรียบสนามนี้เป็นการวิ่งแข่งขัน มาร์คได้บอกกับเราว่า แม้ว่าเราจะเป็นนักวิ่งที่อาจจะดูตัวเล็กกว่าคนอื่น ไม่ดูโดดเด่นเป็นนักวิ่งในแบบที่ป๊อปปูลาร์ แต่ก็ใช่ว่าเราจะวิ่งไม่ถึงเส้นชัย

แต่ถ้าเราต้องวิ่งแข่งประเภทผลัดล่ะ?

นั่นคือสิ่งที่ ดาว–ดุจดาว วัฒนปกรณ์ นักสร้างสรรค์ศิลปะแห่งการเคลื่อนไหวเพื่อการสื่อสารและบำบัดจิตใจเอ็กซ์เปิร์ตคนที่สามของเราอยากบอกในหัวข้อ ‘Empathy Communication’ ฝึกฝนการสื่อสารอย่างเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ยอมรับในความแตกต่างหลากหลายด้วยการอธิบายผ่านการทำเวิร์กช็อปเล็กๆ  เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักถึงการสื่อสาร ทั้งคำพูด น้ำเสียง กิริยาท่าทาง ว่ามีความสำคัญและเป็นส่วนกำหนดจุดมุ่งหมายของสารว่ามันเดินทางไปถึงผู้รับสารได้อย่างไร และสิ่งนี้เองคือสิ่งสำคัญที่จะต้องใช้ในการฝึกงานหรือการทำงานร่วมกันในอนาคต ในฐานะการทำงานกันเป็น ‘ทีม’

สุดท้ายกับการตั้งตำถามพูดคุยและหาคำตอบว่า ด้วยชีวิตและแพสชั่นของเราเองกับสองนักเขียน วิว–ชนัญญา เตชจักรเสมา นักเขียนและ YouTuber เจ้าของช่อง ‘Point of View’ และสิงห์–วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล นักเขียน นักเดินทาง และผู้ผลิตรายการสารคดีในหัวข้อ ‘Passionate and Meaningful Life’ ที่ชวนเราลองทบทวนชีวิตตั้งแต่จุดเริ่มต้น เราอยากเป็นอะไร เราอยากเป็นจริงไหม อยากเป็นเพราะอะไร ทำไมถึงอยากเป็น ไปจนถึงเราจะทำอย่างไรให้ได้เป็น และเมื่อได้เห็นเราจะรักษาระยะของการเป็น การทำงานได้อย่างไรในยามที่ชีวิตเต็มไปด้วยบททดสอบ ผ่านเรื่องราวชีวิตและการก้าวเข้าสู่การทำงานของทั้งสองคน ในทุกๆ จุดไข่ปลาที่ค่อยๆ เชื่อมต่อกันจนมาเป็นรูปร่าง ตัวตนของคนทั้งสองคนในทุกวันนี้

และหากนี่ยังเป็นสนามการวิ่งแข่งขัน ก็คงเป็นการวิ่งที่นักวิ่งต้องคุยกับตัวเองตั้งแต่ลมหายใจแรกที่ออกสตาร์ทไปตลอดทาง แม้ว่าจะเข้าเส้นชัยไปแล้ว และได้เหรียญหรือไม่ได้เหรียญรางวัลก็ตาม 

ทั้งหมดนี้เราอาจจะไม่ได้เรียกมันว่าเป็น ‘ทักษะ’ อย่างเต็มปากเต็มคำ ไม่มีวิธีสอนแบบข้อหนึ่ง สอง สาม หรือฮาวทูว่าจะต้องทำอย่างไร แต่มันคือทักษะทางความคิดก่อนที่เราจะหยิบจับเอาทักษะอื่นๆ ลงสู่สนามการแข่งขันในชีวิตและการฝึกงานจริง และหลังจากนี้ เรายังมีอีกหลากหลายทักษะรอคอยที่จะบอกเล่าให้กับน้องๆ ในโครงการนี้ ทั้งจากเหล่าบรรณาธิการทั้ง 4 คน ทีมงานที่มีคุณภาพจากทั้ง 4 แบรนด์ วิทยากรรับเชิญอีกมากมาย ในคอร์สเรียนเข้มข้นทั้งด้านการเขียนถ่ายภาพกราฟิกวิดีโอโซเชียลมีเดียและดาต้าวิชวลไลเซชั่นและได้ร่วมปฏิบัติงานจริงกับกองบรรณาธิการ a day, a book, a day BULLETIN และ The MOMENTUM ในตลอดสามเดือนในช่วงการฝึกงานตลอดโครงการ daypoets society นี้ผ่านกระบวนการการตั้งคำถามการแสวงหาการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน มิตรภาพและการค้นหาความหมายของชีวิตและการทำงาน เพื่อค้นหาศักยภาพและสร้างผลงานที่มีความหมาย กับโครงการการฝึกงานที่ไม่ได้มาแค่ ‘ฝึกงาน’ เพียงอย่างเดียวของเครือเดย์โพเอทส์ 

AUTHOR