‘เล็ก-ใหญ่’ แห่งบ้านกาญจนาฯ เมื่อศัตรูคู่แค้นกลับกลายเป็นเพื่อนรักที่เกื้อกูลกันและกัน

Highlights

  • ตอนปี 2545 เล็ก–ธนากร อาจรักษา มีเรื่องกับข้างบ้าน สุดท้ายทะเลาะกัน ไล่แทงกัน ฝั่งนั้นเสียชีวิต 2 คน ซึ่งเขามารู้ทีหลังว่าหนึ่งในนั้นคือพ่อของใหญ่–วัชระมงคล ธัญญะเจริญ
  • ใหญ่โกรธแค้นมาก ชีวิตต้องแลกด้วยชีวิต เขาพยายามเข้าไปอยู่ที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านกาญจนาภิเษกเพื่อที่จะไปเจอเล็กและแก้แค้น
  • ทั้งสองคนได้มาเจอกัน โชคดีที่พวกเขาได้เจอป้ามล–ทิชา ณ นครผู้อำนวยการบ้านกาญจนาฯ ที่กล่อมเกลาจนนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงในจิตใจ และเกิดคำว่าอภัย

เล็ก บ้านกาญจนา

“ตอนปี 2545 ผมมีเรื่องกับข้างบ้าน เดิมผมมีเรื่องกับเขาอยู่แล้ว แล้ววันนั้นเขาชวนเพื่อนมากินเหล้าหน้าบ้าน เขาก็กินกันดึก เอะอะโวยวายกัน พ่อผมกลับจากทำงาน จะเดินเข้าบ้านก็เดินไม่ได้เพราะเขาจอดรถขวางหน้าประตู เขาบอก มึงก็เดินอ้อมเอาดิ พ่อผมเขาก็ไม่ได้อะไร ก็เดินอ้อม

“ทีนี้ประมาณ 4 ทุ่ม ข้างบ้านเขาเอาปืนอัดลมมายิงบานเกล็ดบ้านผม ผมก็ไม่ไหว ออกไปถามว่าทำทำไม พี่ก็กินของพี่ไปสิ มาหาเรื่องผมทำไม สุดท้ายทะเลาะกัน ไล่แทงกัน ฝั่งนั้นเขาเสีย 2 คน ผมมารู้ทีหลังว่าหนึ่งในนั้นคือพ่อของใหญ่ ผมไม่รู้มาก่อน แต่ถ้าผมไม่ทำ ผมก็ตาย ผมไม่มีทางเลือก”

บ้านกาญจนา

ใหญ่

“ความคิดของผมตอนนั้นคือชีวิตต้องแลกด้วยชีวิต

“ผมแค้นมาก โมโหมาก พอดีตอนนั้นผมโดนคดีปล้นทรัพย์ก็เลยไปตามหาเขาที่บ้านต้นทาง (ศูนย์แรกรับเด็กและเยาวชนชายบ้านเมตตา) แต่ไม่เจอ ผมมีเพื่อนๆ อยู่บ้างเลยถามว่าเขาอยู่ไหน เลยรู้ว่าเขาไปอยู่บ้านกรุณา (ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านกรุณา) ผมก็ขอให้เจ้าหน้าที่ส่งผมไปที่นั่น แต่ผมเกเร เขาเลยส่งไปทัณฑสถานวัยหนุ่มกลาง ส่งไปเสร็จก็ตัดสินโทษ ตอนนั้นผมยังเป็นเยาวชนเขาเลยส่งไปบ้านกรุณา ตอนนั้นผมกะว่าจะได้เจอเล็กแล้ว แต่พอย้ายมาเล็กเขาก็ย้ายไปบ้านกาญจนาฯ แล้ว (ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านกาญจนาภิเษก) ก็คลาดกัน

“คนที่จะได้ย้ายไปบ้านกาญจนาฯ ต้องมีความประพฤติดี เจ้าหน้าที่จะคัดแยกไป ผมพอจะซี้กับเจ้าหน้าที่เลยไปคุยกับเขาว่า ‘พี่ ผมจะทำตัวดี ส่งผมไปบ้านกาญจนาฯ ได้ไหม’ เขาก็บอกว่า ‘ถ้าทำได้จะให้ไป’ ผมเลยนิ่ง ไม่ยุ่งกับใคร ไม่เกเร ผมเลยได้ไปบ้านกาญจนาฯ”

เล็ก vs ใหญ่

เมื่อไปถึงบ้านกาญจนาฯ ในที่สุดใหญ่ก็เจอคนที่เขาตามหามานาน

ตามธรรมเนียม เมื่อมีเด็กมาใหม่ เด็กเก่าจะยืนเรียงกันเป็นรูปตัว U เพื่อรอต้อนรับและจับมือเชื่อมสัมพันธ์ ใหญ่เห็นเล็กยืนอยู่ในวงล้อมนั้น

“สบายดีนะ ผมถามเล็ก เขาก็อ้ำๆ อึ้งๆ ไม่ได้พูดกับผม” ผู้มาทวงแค้นเล่าเหตุการณ์เมื่อแรกเจอ

หลังจากวันนั้น เล็กเดินเข้าไปคุยกับใหญ่ บอกเล่าเรื่องราวจากมุมของตัวเอง ย้ำกับลูกชายของผู้ที่เขาพลั้งมือฆ่าว่าเขาไม่ได้ตั้งใจ และสถานการณ์พาไปให้เขาต้องปกป้องตัวเอง

“ผมไม่รับฟัง ในใจผมเห็นว่าไร้สาระ” ใหญ่พูดเสียงเรียบ “มันง่ายไปหรือเปล่า ฆ่าคนแล้วบอกว่าไม่ได้ตั้งใจ พูดตรงๆ ตอนนั้นผมไม่ได้ไปเพื่อให้อภัย ผมไปเพื่อแก้แค้น”

“ตอนนั้นถ้าเขาทำอะไรผม ผมก็ไม่สู้หรอก พ่อใครใครก็รัก เขาสูญเสียคนที่รักไปทั้งคน ผมต้องทำใจยอมรับ” เล็กเล่าด้วยเสียงเรียบเฉดเดียวกัน

เป็นโชคดีของเล็กที่บ้านกาญจนาฯ ไม่เหมือนสถานพินิจฯ แห่งอื่นที่ทั้งเล็กและใหญ่เคยเจอ ทั้งคู่เล่าว่า ที่อื่นหากใครมีเรื่องกัน อาจมีการปล่อยให้ ‘ตัดยอด’ หรือรุมเตะให้หายกันไป แต่ที่บ้านกาญจนาฯ ความรุนแรงถือเป็นของแปลกปลอมพอๆ กับรั้วสูงที่ไม่มีให้เห็น

ดังนั้นเมื่อใหญ่ไปขอให้เพื่อนช่วยหาเหล็กหรืออาวุธให้จึงไม่เป็นผล

บ้านกาญจนา

“ป้ามล (ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการบ้านกาญจนาฯ) มาเล่าให้ฟังตอนหลังว่า เพื่อนคนนั้นไปบอกป้ามลว่าผมให้หาเหล็กให้ เขาเลยพยายามแยกเราออกจากกัน ให้ทำกิจกรรมคนละกลุ่ม” ใหญ่เล่าบ้านกาญจนา

“แต่ลำพังแค่แยกคุณออกจากกันไม่น่าจะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงในจิตใจได้ในระดับนี้หรือเปล่า” เราโยนคำถามให้

“ผมโดนป้ามลล้างสมอง”​ ใหญ่หัวเราะ ก่อนจะย้อนความถึง ‘วิชาชีวิต’ หลักสูตรที่เปลี่ยนความคิดพวกเขาผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย โดยเฉพาะกิจกรรมที่ใช้ความคิด เช่น การวิเคราะห์ข่าว และการบันทึกความรู้สึกประจำวัน นอกจากนี้หลักสูตรที่ว่ายังเตรียมความพร้อมให้เหล่าเยาวชนที่เคยก้าวพลาดพร้อมกลับคืนสู่สังคมโดยตระหนักรู้ในคุณค่าของตนเอง

“ระบบที่บ้านกาญจนาฯ แตกต่างจากบ้านอื่นมาก ถ้าผมเจอเล็กที่บ้านอื่น ผมฆ่าเล็กตายแน่นอน” ผู้อาฆาตว่าอย่างนั้น

นอกจากระบบที่กรองน้ำขุ่นให้เป็นน้ำใสสะอาด (ตามคำของใหญ่) อีกจุดเปลี่ยนสำคัญคืองานวันสันติภาพ ที่คล้ายจะมอบตอนจบให้กับเรื่องราวทั้งหมด

“ป้ามลเขาเซอร์ไพรส์ จริงๆ วันนั้นมีคอนเสิร์ตพี่ปู (พงษ์สิทธิ์ คำภีร์)” เล็กเล่าด้วยรอยยิ้ม “หลังจากนั้นป้ามลเชิญย่าของใหญ่และพ่อผมเข้ามา ผมกับพ่อก็ขอขมาย่าของใหญ่ ย่าเขาบอกว่า เรื่องมันแล้วไปแล้วก็ให้มันแล้วไป เอากลับคืนมาไม่ได้

“เขาให้อภัยผมก็เหมือนชีวิตเปลี่ยน ผมรู้ว่ามันไม่ได้ลบล้างสิ่งที่ผมทำไปหรอก แต่ผมรู้สึกว่าใจมันชื้นขึ้น ทุกวันนี้ทำอะไรผมก็นึกถึงพ่อใหญ่ตลอด ทำบุญให้อยู่เรื่อยๆ”

จากมุมของใหญ่ ตอนนั้นเขายังไม่อาจเข้าใจและให้อภัยได้อย่างหมดจด แต่การขอขมาวันนั้นก็กระตุกความคิดบางอย่าง

“มันทำให้ผมคิดได้ในอีกแง่หนึ่งว่า ถ้าคนที่เป็นแม่ของพ่อ คนที่คลอดพ่อออกมาเขาให้อภัยได้ ผมเป็นลูก ผมก็น่าจะให้อภัยได้เหมือนกัน น่าจะนะ” เขาว่า

บ้านกาญจนา

เล็กและใหญ่

ชายสองคนตรงหน้าเราเดินเคียงข้างกัน บทสนทนาเรื่องสัพเพเหระแว่วมาให้ได้ยิน

สำหรับการสัมภาษณ์ในวันนี้ เราติดต่อนัดแนะเวลาและสถานที่กับใหญ่ แล้วใหญ่ก็เป็นสะพานที่พาเล็กมาหาเราอีกทอดหนึ่ง แม้กระทั่งตอนที่เราขอที่อยู่เพื่อจัดส่งนิตยสารไปให้ เล็กยังบอกง่ายๆ ว่า ส่งมาที่บ้านใหญ่ทั้ง 2 เล่ม แล้วเขาจะไปรับที่บ้านใหญ่เอง

บ้านทั้งคู่อยู่ใกล้กัน เจอหน้าและพูดคุยกันแทบทุกวัน ถ้าไม่ไปขายของด้วยกันก็ไปเที่ยวด้วยกัน ใช้ชีวิตเป็นเพื่อนรักที่เกื้อกูลกันและกันเสมอ

“หลังออกจากบ้านกาญจนาฯ จะแยกย้ายกันเลยก็ได้ ทำไมถึงขยับความสัมพันธ์มาเป็นเพื่อนสนิท” เราสงสัย

“ผมให้อภัยแล้ว ก็ถือว่าแล้วๆ กันไป เพราะพุทธศาสนาด้วย ผมถือว่ายกบุญให้พ่อผมไป และผมก็เคยทำผิดแล้วไม่ได้โอกาส ผมรู้ความรู้สึกว่าเป็นอย่างไร” ใหญ่ให้คำตอบ

“หาได้น้อยคนที่จะให้อภัยแบบนี้ ดังนั้นจะทำอะไรผมก็ต้องคิดแล้ว อีกอย่างเป็นเรื่องเวลาด้วย พวกเราโตขึ้นแล้ว มีอะไรที่ช่วยเหลือกันได้ก็ช่วยเหลือกันดีกว่า” เล็กว่าบ้านกาญจนา

แน่นอนว่าทุกวันนี้บทเรียนจากการให้อภัยยังคงอยู่กับคนทั้งคู่ ไม่ใช่ด้วยคำพร่ำพูดซ้ำๆ ว่าให้อภัย แต่ด้วยการกระทำง่ายๆ

ชายสองคนตรงหน้าเราเดินเคียงข้างกัน บทสนทนาเรื่องสัพเพเหระแว่วมาให้ได้ยิน

บ้านกาญจนา

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!