ในแวดวงสิ่งแวดล้อมโลก ไม่มีใครไม่รู้จักเมืองเล็กๆ ของญี่ปุ่นนามว่า Kamikatsu
เมืองที่มีประชากรไม่ถึง 1,700 คนในจังหวัด Tokushima แห่งนี้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกจากความฝันอันยิ่งใหญ่ คือการทำให้เมืองของพวกเขาปลอดขยะร้อยเปอร์เซ็นต์ภายในปี 2020
อาจฟังดูเหมือนบ้า แต่วันนี้พวกเขาเดินหน้าจัดการรีไซเคิลขยะของเมืองได้แล้วกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ทำให้คามิคัตสึอาจเป็นเมืองแรกบนโลกที่สามารถเปลี่ยนความฝันนี้ให้เป็นความจริง
หญิงสาวร่างเล็กชาวญี่ปุ่นชื่อ Akira Sakano คือประธานของ Zero Waste Academy องค์กรที่ขับเคลื่อนเรื่องขยะในคามิคัตสึจนคนจากทั่วโลกเดินทางมาดูงานอย่างไม่ขาดสาย
เธอคือหนึ่งในสมาชิก Global Shapers Community เครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่ขับเคลื่อนองค์กรเพื่อสังคมทั่วโลก
ยังไม่พอ เมื่อต้นปีเธอยังเป็นผู้หญิงชาวเอเชียเพียงหนึ่งเดียวที่ได้รับเลือกเป็น 1 ใน 7 ประธานร่วมของการประชุม World Economic Forum ประจำปี 2019 ที่เมือง Davos ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่มีผู้นำจากประเทศต่างๆ และผู้นำองค์กรระดับโลกมากมายเข้าร่วม
กลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ซากาโนะเดินทางมาเมืองไทยเพื่อเป็นสปีกเกอร์คนพิเศษในงาน Set Zero เวิร์กช็อปเรื่องการจัดการขยะโดยเครือข่าย Big Trees ครีเอทีฟเอเจนซี ชูใจ กะ กัลยาณมิตร และ Japan Foundation และเป็นโชคดีของเราที่มีโอกาสได้นั่งคุยกับหญิงสาวผู้สร้างแรงกระเพื่อมในระดับโลกแบบตัวจริงเสียงจริง
พลังงานแบบที่ทำให้เมืองเมืองหนึ่งแทบปลอดขยะเป็นยังไง
มากกว่าพูดให้ฟัง ซากาโนะทำให้เราดู
Small Town with a Big Dream
ก่อนทำความรู้จักซากาโนะ คุณอาจจะต้องเข้าใจความเจ๋งของเมืองคามิคัตสึก่อน
ย้อนกลับไปหลายสิบปีก่อน ประเทศญี่ปุ่นยังจัดการขยะส่วนใหญ่ด้วยการเผาและฝัง กระทั่งวันหนึ่งรัฐบาลเห็นว่าวิธีจัดการขยะเช่นนี้ช่างไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเอาเสียเลย จึงสั่งแบนการเผาขยะในที่โล่งและอนุญาตให้เผาด้วยเตาเผาราคาแพงที่ปล่อยสารพิษน้อยลงเท่านั้น
แต่เมื่อเตาเผาราคาแผงที่เมืองคามิคัตสึลงทุนสร้างไม่ผ่านมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐบาล พวกเขาจึงต้องหาวิธีจัดการขยะแบบใหม่ที่ดีต่อโลกและกระเป๋าสตางค์ของเมือง ในปี 2003 พวกเขาจึงประกาศว่าภายในปี 2020 คามิคัตสึจะเป็นเมืองไร้ขยะ และในปี 2005 Zero Waste Academy ก็เกิดขึ้น
พวกเขาเดินหน้าสร้างโรงแยกขยะตรงบริเวณที่เคยเป็นจุดเผาขยะ และชวนให้ชาวเมืองเริ่มแยกขยะอย่างละเอียดยิบถึง 34 ประเภท ก่อนจะเพิ่มเป็น 45 ประเภทในเวลาต่อมา
ขยะที่ถูกแยกอย่างละเอียดเหล่านี้บ้างถูกนำไปขายเพื่อนำเงินมาพัฒนาเมือง บางส่วนก็ส่งต่อไปยังผู้ผลิตที่จะรีไซเคิลวัสดุให้เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ
ฟังดูเป็นสถานการณ์ในฝัน แต่เอาเข้าจริง ในตอนเริ่มต้นชาวเมืองบางคนกลับรู้สึกว่านี่คือฝันร้ายเสียมากกว่า
ใครเคยแยกขยะจะรู้ว่านี่คือกิจกรรมที่เรียกร้องเวลาและความเอาใจใส่อย่างยิ่ง เช่น หลังกินนมสักกล่อง คุณจะต้องแยกกล่องกับหลอดออกจากกัน ล้างให้สะอาดและผึ่งให้แห้ง ก่อนนำขยะจากบ้านไปทิ้งให้ถูกหมวดหมู่ที่ศูนย์แยกขยะ ที่วัสดุแต่ละประเภทถูกแบ่งออกเป็นหมวดย่อยอย่างละเอียดยิบ
ช่วงแรก งานหนักของทีมจึงเป็นการเดินสายไปยังชุมชนและสมาคมต่างๆ ภายในเมืองเพื่ออธิบายถึงความจำเป็นของการแยกขยะ กระทั่งปัจจุบัน เป็นเรื่องปกติที่แต่ละบ้านจะแยกขยะถึง 5-10 ชนิด ก่อนนำไปแยกอย่างละเอียดอีกทีที่ศูนย์แยกขยะของเมือง และกลายเป็นภาพต้นแบบให้หลายเมืองทั่วโลกฝันอยากเอาไปทำตาม
Zero Waste Academy
2015 คือปีที่ซากาโนะ บัณฑิตสาขานโยบายสิ่งแวดล้อมเข้ามาร่วมทีมกับ Zero Waste Academy ก่อนได้รับตำแหน่งประธานองค์กรคนที่ 4 ในเวลาต่อมา
แม้จะเรียนมาทางด้านสิ่งแวดล้อมโดยตรง แต่หลังเรียนจบเธอเลือกเก็บเกี่ยวประสบการณ์ทำงานกับองค์กรนานาชาติก่อน นั่นคือเหตุผลที่เธอเข้าทำงานกับองค์กรอาสาสมัครเยาวชน AIESEC ในญี่ปุ่นและมองโกเลีย ย้ายไปทำงานกับบริษัท DHL Global Forwarding ที่ฟิลิปปินส์อยู่ 2 ปี ก่อนลาออกและเตรียมตัวไปเรียนต่อสาขาการสร้างสันติภาพผ่านนโยบายสิ่งแวดล้อม
“ที่จริงตอนนั้นฉันไม่ได้วางแผนว่าจะกลับมาญี่ปุ่นเลย” ซากาโนะพูดพร้อมรอยยิ้มเขิน
“หลังจากลาออกจาก DHL ฉันมีเวลาว่างถึงหกเดือนก่อนไปเรียนต่อ ฉันเลยตัดสินใจไปเยี่ยมเพื่อนร่วมเอกสมัยมหาวิทยาลัยที่เมืองคามิคัตสึ เหตุผลแรกคือฉันเคยไปเที่ยวที่นี่แล้วและรู้ว่าเมืองนี้มีโครงการ zero waste ที่ฉันสนใจ สอง คือช่วงนั้นเพื่อนของฉันตัดสินใจกลับบ้านเกิดไปเปิดคาเฟ่ของตัวเอง มันน่าจะเป็นโอกาสที่ดีในการไปช่วยเธอ ในขณะเดียวกันมันก็เป็นช่วงที่ฉันก็สามารถพักผ่อนสบายๆ ได้ด้วย”
จากที่กะไว้ว่าจะอยู่ที่นั่นเพียง 6 เดือน รู้ตัวอีกที ถึงวันนี้เธอก็อยู่ที่คามิคัตสึมา 4 ปีแล้ว
ด้วยดีกรีเรื่องสิ่งแวดล้อม ระหว่างที่ซากาโนะใช้เวลาอยู่ในเมือง Zero Waste Academy ก็ติดต่อเพื่อนของเธอให้มาทำงานด้วยกัน แต่เพราะคาเฟ่เพิ่งเปิดได้ไม่ถึงปี เพื่อนผู้วุ่นวายกับธุรกิจของตัวเองจึงชวนซากาโนะเข้าไปทำงานด้วยอีกคน
“ตอนแรกเพื่อนของฉันบอกว่าเธอไม่สามารถทำงานกับ Zero Waste Academy ได้หรอกเพราะเธอต้องดูแลคาเฟ่ แต่พอคุยเรื่องนี้อยู่หลายรอบ เธอก็บอกว่าถึงเธอจะไม่สามารถทำงานนี้ได้คนเดียว แต่ถ้าฉันทำงานกับองค์กรนี้ด้วยกัน ไม่แน่ว่ามันอาจจะเวิร์กก็ได้นะ
“สำหรับเด็กที่เรียนด้านนโยบายสิ่งแวดล้อมมา พวกเราได้แต่ดีไซน์นโยบายในอุดมคติขึ้นมา แต่เราก็รู้ว่ามันยากเสมอที่จะนำนโยบายเหล่านั้นมาปฏิบัติจริง ตอนที่ฉันเข้าร่วมกับ Zero Waste Academy เมืองคามิคัตสึก็ได้ทดลองนโยบายเรื่องสิ่งแวดล้อมมาหลายอย่างแล้ว เช่น การตั้งศูนย์แยกขยะ สร้างระบบรีไซเคิล ระบบรียูสของในชุมชน ที่นี่จึงเป็นโอกาสที่ดีของฉันในการเรียนรู้ว่าเราจะดีไซน์นโยบายและนำมาปฏิบัติจริงๆ ได้ยังไง โดยที่เราสามารถรับฟีดแบ็กจากชุมชนได้ด้วย นั่นคือเหตุผลที่ฉันคิดว่าปริญญาโทน่ะเรียนเมื่อไหร่ก็ได้ แต่โอกาสที่ฉันจะได้เรียนรู้แบบนี้มันหาได้ยากมากๆ”
The Missing R
เราอดประทับใจไม่ได้เมื่อรู้ว่าหนึ่งในความรู้สามัญของเด็กญี่ปุ่นคือ หลักการจัดการขยะที่เรียกว่า ‘3R’ หรือ reduce (การลดขยะ) reuse (การใช้ซ้ำ) และ recycle (การแปรรูปใช้ใหม่)
นั่นเพราะ 3R คือนโยบายระดับชาติที่กระทรวงสิ่งแวดล้อมพยายามโปรโมต ทั้งผ่านการศึกษาและนโยบายที่ให้ทุกเมืองนำไปปรับใช้ แน่นอนว่าเมืองที่มีเป้าหมายเป็นการกำจัดขยะอย่างคามิคัตสึก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น
“3R นั้นเป็นแค่คอนเซปต์กว้างๆ จากรัฐบาล เช่น สมมติว่าเราพูดถึงการนำสิ่งของกลับมาใช้ใหม่ มันก็เป็นได้หลายอย่าง เช่น การชวนให้คนใช้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ได้นานๆ หรือจะสร้างศูนย์ซ่อมแซมผลิตภัณฑ์ขึ้นมาก็ได้ มันอยู่ที่คุณจะตีความคอนเซปต์นี้ออกมาเป็นทางเลือกต่างๆ ยังไง”
แม้ 3R จะเริ่มต้นจาก reduce-reuse-recycle แต่ที่นี่พวกเขาเริ่มต้นจากการรีไซเคิลก่อน ด้วยการตีโจทย์ออกมาเป็นโครงการโรงแยกขยะของเมืองที่แยกขยะอย่างจริงจัง มีการแบ่งประเภทอย่างละเอียดยิบ และมีสตาฟคอยช่วยดูแลให้คุณสามารถแยกโลหะ 5 ประเภท พลาสติก 6 ประเภท หรือกระดาษ 9 ประเภท! ได้อย่างง่ายดาย
ส่วนด้านการรียูส พวกเขามี ‘Kuru-Kuru Reuse Shop’ ร้านที่คนสามารถนำของที่ไม่ใช้แล้ว เช่น เสื้อผ้า มาแลกเปลี่ยนกันได้ และมี ‘Kuru-Kuru Upcycling Craft Center’ ศูนย์งานคราฟต์ที่ย่า ยาย และแม่ๆ ในชุมชนทำหน้าที่ดัดแปลงเสื้อผ้าเก่าให้เก๋และใช้ได้อีกครั้ง รวมทั้งยังมีแคมเปญรับซ่อมแซมเสื้อผ้าเพื่อให้ใส่ซ้ำได้นานๆ ด้วย
เท่านี้คามิคัตสึก็เหมือนจะนำหน้าเมืองอื่นๆ อยู่ไกลโข แต่เป้าหมายของซากาโนะคือการพาพวกเขาไปให้ไกลกว่านั้นอีกด้วยอีกหนึ่ง R ที่หายไป
“ในปีแรกที่ฉันมาอยู่ที่คามิคัตสึ เรามีนโยบายเรื่องการรีไซเคิลและรียูสแล้ว แต่ฉันอยากจะจัดการอีกหนึ่งด้านที่เหลือซึ่งเป็นด้านที่ยากที่สุดคือการ reduce หรือลดการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำให้เกิดขยะให้ได้”
หญิงสาวอธิบายให้เราฟังง่ายๆ ว่าการลดขยะที่ง่ายที่สุดคือการนำกลับมาใช้ซ้ำ เพราะเราแทบจะไม่ต้องเปลี่ยนไลฟ์สไตล์เลยด้วยซ้ำ ถัดมาคือการรีไซเคิลที่ต้องปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์นิดหน่อยและต้องสัมพันธ์กับภาคส่วนอื่นๆ เช่น ผู้ผลิตที่จะนำวัสดุไปรีไซเคิล ในขณะที่การลดการใช้ของที่ทำให้เกิดขยะนั้นยากเย็นที่สุดเพราะมากกว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง คือการที่ผู้ผลิตต้องเปลี่ยนระบบการผลิตใหม่ทั้งหมด เช่น ต้องทำให้ผลิตภัณฑ์สามารถแยกส่วนเพื่อรีไซเคิลได้ หรือใช้พลาสติกย่อยสลายได้
“ของบางอย่างเราก็ไม่มีทางเลือกในการกำจัดมากนักนอกจากการเผา เช่น ทิชชู่ ผ้าอ้อม หรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสุขอนามัยทั้งหลาย ดังนั้นถ้าเรารีไซเคิลหรือใช้ซ้ำไม่ได้ เราอาจจะต้องคิดถึงการไม่สร้างขยะตั้งแต่แรก นั่นคือเหตุผลที่เราปรึกษากับเทศบาลท้องถิ่นเพื่อทำแคมเปญผ้าอ้อมเด็กที่ใช้ซ้ำได้
“ปี 2016 เราเริ่มช่วงทดลองโดยให้ครอบครัวที่มีลูกเล็กๆ ลองใช้ผ้าอ้อมที่ใช้ซ้ำได้และให้พวกเขาจดบันทึกไว้ว่าใช้แล้วเป็นอย่างไร ติดขัดตรงไหน ต้องเปลี่ยนผ้าอ้อมกี่ครั้งต่อวัน ด้วยความรู้ที่เราได้จากพวกเขา เราก็สร้างนโยบายใหม่ขึ้นมาร่วมกับเทศบาลท้องถิ่นว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่มีเด็กแรกเกิด ครอบครัวของเด็กจะได้รับชุดผ้าอ้อมใช้ซ้ำเป็นของขวัญจากเทศบาลเมือง ดังนั้นพวกเขาจะไม่ต้องซื้อผ้าอ้อมเหล่านี้ซึ่งมีราคาสูงกว่าผ้าอ้อมทั่วไป
“ขณะเดียวกัน เพราะผ้าอ้อมเหล่านี้ใช้ยากกว่าผ้าอ้อมใช้แล้วทิ้งนิดหน่อย เราก็มีระบบเรียกว่า zero waste supporters เป็นคนที่เทศบาลเมืองจ้างมาเพื่อทำกิจกรรมที่ซัพพอร์ต Zero Waste Academy เราชวนแม่ๆ ที่มีความรู้ในการใช้ผ้าอ้อมใช้ซ้ำได้มาเป็นผู้ช่วยครอบครัวที่มีลูกเกิดใหม่ เพื่อสอนพวกเขาว่าต้องใช้ผ้าอ้อมอย่างไร นี่คือหนึ่งในกลยุทธ์ของเรา”
Know Your Waste
“ถ้าคุณไม่รู้จักขยะของตัวเองคุณก็เริ่มต้นไม่ได้” ซากาโนะตอบอย่างรวดเร็วเมื่อเราถามว่าหากอยากเริ่มต้นจัดการขยะด้วยตัวเองจะต้องทำยังไง
“ฉันมักจะพูดว่าหากคุณอยากลดขยะ คุณต้องรู้ว่าขยะของคุณคืออะไรบ้าง ตอนที่ฉันเริ่มทำงานกับ Zero Waste Academy คามิคัตสึสามารถรีไซเคิลขยะได้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์แล้ว เราจึงพยายามทำความรู้จักว่าขยะ 20 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือคืออะไร จัดหมวดหมู่ของผลิตภัณฑ์ที่เราไม่สามารถรีไซเคิลได้ จากนั้นเราก็ค้นคว้าว่าจะหาอะไรมาทดแทนแต่ละผลิตภัณฑ์ได้บ้าง มีเทคโนโลยีอะไรที่พัฒนาผลิตภัณฑ์ได้ไหม หรือเราจะเปลี่ยนจากการรีไซเคิลเป็นการรียูสหรือใช้ซ้ำได้ไหม”
หลังจากลงมือทำความรู้จักขยะของเมืองอย่างละเอียด ซากาโนะก็พบว่าหนึ่งในขยะ 20 เปอร์เซ็นต์ที่เมืองของเธอยังไม่สามารถกำจัดได้คือผลิตภัณฑ์ใช้แล้วทิ้ง โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์ของวัตถุดิบและอาหารต่างๆ ซึ่งแทบรีไซเคิลหรือใช้ซ้ำไม่ได้
ข่าวร้ายคือบรรจุภัณฑ์ส่วนใหญ่เดินทางมาจากนอกเมือง การเปลี่ยนแปลงบรรจุภัณฑ์เหล่านี้จึงไม่ได้เกิดขึ้นได้เพียงดีดนิ้วสั่ง ถึงอย่างนั้นซากาโนะก็ยังไม่ยอมแพ้ เมื่อยังแก้ระบบนอกเมืองไม่ได้ตอนนี้ เธอก็จะทำระบบในเมืองของเธอให้สมบูรณ์ที่สุด
“นอกจากผลิตผลทางการเกษตรอย่างผักที่เราปลูกในชุมชน วัตถุดิบส่วนใหญ่ก็มาจากนอกเมืองซึ่งบรรจุในหีบห่อมาเรียบร้อยแล้ว ฉันจึงต้องมาคิดว่าจะลดการใช้พลาสติกใช้แล้วทิ้งหรือบรรจุภัณฑ์เหล่านี้ยังไง
“อย่างแรก ในปี 2017 เราร่วมกับเทศบาลท้องถิ่น ขอเงินสนับสนุนจากองค์กรส่วนภูมิภาค และร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ขององค์กรระดับภูมิภาคที่รับผิดชอบเรื่องการออกข้อบังคับเรื่องบรรจุภัณฑ์หรือควบคุมร้านค้าปลีก เราไปรีเสิร์ชกับซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ที่มีสาขาเยอะๆ และร้านค้าท้องถิ่นเล็กๆ เพื่อดูว่าปัญหาของพวกเขาในการขายสินค้าไร้บรรจุภัณฑ์คืออะไร และอะไรคือทางเลือกที่เป็นไปได้บ้าง เรายังทำแบบสอบถามเยอะมากกับชาวเมืองในภูมิภาคว่าอะไรคือข้อจำกัดของพวกเขาในการซื้อของไร้บรรจุภัณฑ์”
สิ่งที่ซากาโนะค้นพบตอนนั้นคือ ร้านค้าต่างก็กังวลเรื่องการปนเปื้อนและวันหมดอายุที่จะมาถึงเร็วขึ้นอย่างช่วยไม่ได้ ยังไม่นับว่าสินค้าอาจจะโดนขโมยง่ายกว่าเดิม ส่วนชาวเมืองก็รู้สึกว่าการพกบรรจุภัณฑ์ไปซื้อของทุกอย่างเป็นเรื่องยากเกินไปสำหรับพวกเขา
น่าแปลก เมื่อทางออกของเธอคือการใช้ร้านอาหารและคาเฟ่แก้ปัญหาแทน
“พอเราเข้าใจสถานการณ์แล้ว ปีถัดมาเราก็ลองโมเดลที่ต่างกันออกไป คือแทนที่จะโน้มน้าวให้ซูเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านค้าปลีกขนาดใหญ่เปลี่ยนแปลง เราเลือกที่จะทำงานกับร้านอาหารหรือคาเฟ่ในคามิคัตสึแทน โดยขอให้พวกเขาแบ่งขายวัตถุดิบที่ใช้ทำอาหารในร้านให้คนในเมืองด้วย เพราะปกติร้านอาหารต้องสั่งซื้อวัตถุดิบ เช่นน้ำมันหรือข้าว ในจำนวนมากอยู่แล้ว เมื่อทุกอย่างถูกบรรจุมาในบรรจุภัณฑ์ขนาดใหญ่อันเดียวก็ทำให้ขยะจากบรรจุภัณฑ์ลดลง
“ด้วยวิธีนี้ เราไม่จำเป็นต้องห่วงว่าวัตถุดิบเหลือๆ จะกลายเป็นขยะ เพราะร้านอาหารหรือคาเฟ่ก็ต้องเอามันไปประกอบอาหารอยู่ดี นอกจากนั้นร้านอาหารและคาเฟ่ยังได้โชว์ว่าพวกเขาใช้วัตถุดิบดีๆ อะไรบ้าง เช่น บางร้านก็ใช้เฉพาะของออร์แกนิกโดยเฉพาะ เหมือนเป็นการโปรโมตร้านไปในตัว”
Everything is Interconnected
อีกไม่กี่เดือนก็จะเข้าปี 2020 ปีที่เมืองคามิคัตสึตั้งเป้าหมายว่าพวกเขาจะเป็นเมืองปลอดขยะร้อยเปอร์เซ็นต์เมืองแรกของโลก
ไม่กี่นาทีก่อนจบบทสนทนาระหว่างเรา ซากาโนะออกปากว่าเป้าหมายนั้นคงไม่มาถึงง่ายๆ หากทั้งประเทศไม่ช่วยกัน
“เมื่อมองดูขยะ 20 เปอร์เซ็นต์ที่เรายังกำจัดไม่ได้ เราพบว่ามันคือผลิตภัณฑ์ที่ผลิตด้วยวัสดุที่รีไซเคิลไม่ได้ตั้งแต่ต้น หรือมีการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ทำให้คุณไม่สามารถแยกวัสดุแต่ละชนิดออกจากกันได้ทำให้รีไซเคิลไม่ได้ ดังนั้นขยะ 20 เปอร์เซ็นต์มันจะยังเป็นขยะอยู่อย่างนั้นแหละจนกว่าระบบการผลิตจะเปลี่ยนแปลง
“เราก็รู้ว่ามันเป็นเรื่องยากใช่ไหม ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงคงไม่ได้มาถึงเร็วๆ นี้ และฉันก็ไม่รู้เหมือนกันว่าต้องใช้เวลาเท่าไหร่ แต่ฉันคิดว่ามันไม่เป็นไรนะ เพราะในทางหนึ่งเมืองของเราก็คือกรณีศึกษา ที่โชว์ว่าในฐานะชุมชน เราสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้แค่ไหน ในขณะเดียวกันมันก็เป็นการโชว์ให้เห็นลิมิตของการเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเองด้วย นี่จึงเป็นเหมือนสารถึงคนอื่นๆ อย่างคนออกนโยบายเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือภาคธุรกิจว่า พวกคุณต้องทำงานได้แล้ว ไม่อย่างนั้นเราก็ไม่สามารถทำระบบของเราให้สมบูรณ์ได้
“งานของฉันคือการให้คำแนะนำเรื่องขยะกับองค์กรต่างๆ บางครั้งฉันก็ร่างนโยบายหรือจัดเวิร์กช็อปกับองค์กรธุรกิจต่างๆ แต่นอกจากการรอให้พวกเขาเปลี่ยน ฉันอยากจะลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างด้วยการเริ่มต้นเซตระบบเล็กๆ ในชุมชน เช่น ระบบการแยกขยะหรือขายสินค้าไร้บรรจุภัณฑ์ในร้านอาหาร ซึ่งเป็นโมเดลที่ง่ายมากที่จะนำไปทำในที่อื่นๆ และเมื่อภาคธุรกิจเห็นว่าตลาดพร้อมแล้วพวกเขาก็อาจจะเริ่มเปลี่ยนแปลง”
A System for Everyone
ความจริงที่น่าตกใจข้อหนึ่งคือ ไม่ใช่ทุกคนในคามิคัตสึที่จะยินดีปรีดากับระบบการแยกขยะแสนละเอียด
ซากาโนะบอกเราว่ามีชาวเมืองเพียง 10-20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่กระตือรือร้นที่จะแยกขยะ ขณะที่ชาวเมืองอีก 10-20 เปอร์เซ็นต์ต่อต้าน ส่วนอีก 60 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือไม่แคร์เรื่องสิ่งแวดล้อมเสียด้วยซ้ำ
ทำไมเมืองที่ประชากรเพียง 10-20 เปอร์เซ็นต์ยินดีที่จะแยกขยะถึงเป็นเมืองปลอดขยะอันดับหนึ่งของโลกได้
“สิ่งสำคัญคือเราต้องสร้างเป้าหมายหลายๆ แบบสำหรับคนทุกกลุ่ม ไม่ใช่แค่บอกพวกเขาว่าเราจะมาช่วยสิ่งแวดล้อมกัน เช่น สำหรับคนแก่ที่มักจะอยู่บ้านเฉยๆ เขาอาจจะไม่ได้สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมเท่ากับความรู้สึกว่า การไปศูนย์แยกขยะคือโอกาสที่จะได้เจอชาวเมืองคนอื่นๆ หรือเจ้าหน้าที่ พวกเขาจึงรู้สึกดีที่ได้ไปแยกขยะ
“ไม่ใช่แค่นี้ จากแบบสอบถามเราพบว่าชาวเมืองกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้สนใจสิ่งแวดล้อมเป็นพิเศษ แต่เขาถือว่าการแยกขยะเป็นวิธีมีส่วนร่วมกับชุมชน พวกเขาอยากทำให้ชุมชนเป็นที่ที่ดีขึ้น พวกเขาจึงแยกขยะเพราะรู้สึกว่าได้ทำประโยชน์ให้ชุมชน เราจึงกระตุ้นความรู้สึกตรงนี้ด้วยการบอกพวกเขาว่าการแยกขยะและนำของกลับมาใช้ใหม่ช่วยเทศบาลประหยัดเงินไปได้เท่าไหร่ เราสามารถใช้เงินก้อนนี้ไปกับการศึกษาได้นะ และแน่นอนว่าการแยกขยะก็ดีกับสิ่งแวดล้อมด้วย
“เพื่อทำให้พวกเขาเห็นมากขึ้นว่าการแยกขยะช่วยเหลือชุมชนแค่ไหน เราจึงเริ่มต้นทำระบบให้คะแนนขึ้นมา เช่น ถ้าคุณนำขยะบางประเภทมาแยกที่ศูนย์ในสภาพที่ถูกต้อง เราจะให้คะแนนบนการ์ดของพวกเขา เราใช้ระบบนี้ที่ร้านค้าด้วย เช่น ถ้าพวกเขาไม่รับถุงพลาสติกก็จะได้คะแนนซึ่งนำไปแลกเป็นสินค้าได้ นั่นก็เป็นแรงจูงใจเหมือนกัน”
เหมือนกำลังเล่นเกมเก็บคะแนนเลย เราออกปาก
“ใช่ค่ะ นั่นเป็นสิ่งที่ฉันพยายามทำเพราะไม่มีใครชอบโดนบังคับหรอก แต่คุณสามารถรวม 2 อย่างเข้าด้วยกันได้นะ เช่น บางครั้งคุณก็ต้องมีค่าปรับเพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีใครทิ้งขยะเรี่ยราด แต่ถ้าจะให้ผู้คนทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างยั่งยืน มันดีกว่าที่เราจะกระตุ้นในเชิงบวก คนจะได้รู้สึกดีกับมันและทำไปเรื่อยๆ”
แล้วกับเมืองที่ใหญ่ขึ้นจนคนรู้สึกไม่ผูกพันกับชุมชนล่ะ เราควรจะเริ่มต้นจัดการปัญหาขยะยังไง
“มันขึ้นอยู่กับสถานการณ์หรือผู้ที่เกี่ยวข้องของแต่ละเมือง คุณสามารถเริ่มได้จากหลายทางนะ เช่น เปิดพื้นที่ให้คนนำของมาแลกกัน หรือแทนที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมของคน มันอาจง่ายกว่าสำหรับเมืองใหญ่ๆ ที่จะเริ่มต้นจากภาคธุรกิจ เช่น เลิกขายของที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ถ้าคุณไปซื้อของและที่ร้านมีแต่ผลิตภัณฑ์ที่รียูสหรือย่อยสลายได้ คนก็จะยอมรับวิถีการลดขยะได้ด้วยตัวเอง
“อีกเรื่องคือการลดขยะอาจไม่ใช่ความสนใจของทุกคน แต่การได้รู้จักคนใหม่ๆ รู้จักเพื่อนบ้าน ก็อาจจะเป็นสิ่งที่น่าสนใจมากกว่า ดังนั้นการคิดถึงเป้าหมายหลายๆ แบบสำหรับคนหลายๆ ประเภทก็สำคัญมาก คุณอาจจะสร้างศูนย์แยกขยะหรือระบบแยกขยะขึ้นมาเพื่อให้คนกระตือรือร้นที่จะได้เจอคนอื่น
“คุณอาจจะต้องดีไซน์ระบบที่มีฟังก์ชั่น 2 อย่าง เพราะมันใช้เวลามากในการทำความเข้าใจเรื่องสิ่งแวดล้อม และคนบางกลุ่มก็ไม่มีวันเข้าใจ แต่อะไรคือสิ่งที่คนสนใจล่ะ คุณต้องหาสิ่งนั้นให้เจอแล้วรวมมันเข้ากับปัญหาที่อยากแก้ไข ฉันว่านั่นแหละคือสิ่งสำคัญ”
ซากาโนะสรุปพร้อมรอยยิ้มกว้าง
ส่วนเรานั้นกลับบ้านพร้อมความหวังในการเปลี่ยนแปลงแบบเต็มกระเป๋า
ขอบคุณภาพจาก Zero Waste Academy