เครือข่ายต้นไม้ในเมือง : เราทุกคนคือเจ้าของต้นไม้ทุกต้นร่วมกัน

ตามประสาคนเมืองที่พอเจออากาศร้อนระอุ เราก็อยากหนีเข้าไปตากแอร์เย็นๆ เดินเล่นในห้าง (พร้อมตั้งสเตตัสบ่นพระอาทิตย์ในเฟซบุ๊กพอเป็นพิธี) แต่ระหว่างที่เดินตากแดดทุกวันนี้ เราคงรีบและร้อนเกินกว่าจะใส่ใจว่าถนนที่เคยมีต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงาไว้ก่อนนั้นเริ่มหายไปทีละต้น ทีละต้น

20,000 กว่าไลก์ในเพจเฟซบุ๊ก ‘เครือข่ายต้นไม้ในเมือง : Thailand Urban TreeNetwork’ ที่เพิ่งโพสต์ข้อความเชิญชวนประชาชนและหน่วยงานต่างๆ อย่าง Big Trees โครงการโรงเรียนต้นไม้
สมาคมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ (ตอนนี้มีกว่า 50 องค์กรแล้ว) มาแสดงพลังว่าจะไม่ยอมให้ใครตัดต้นไม้อย่างโหดเหี้ยมในกรุงเทพฯ อีกต่อไป ก็น่าจะเป็นสัญญาณอันดีว่าไม่ได้มีแค่เราที่อยากได้ต้นไม้ใหญ่กลับคืนมาอย่างแข็งแรง

อาจารย์ปุ้ม-อรยา สูตะบุตร ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Big Trees และ เอ๋ย-วรรณชนก โค้งอาภาส ผู้ช่วยผู้ประสานงานของกลุ่มเริ่มเล่าให้เราฟังว่า เครือข่ายนี้เริ่มมาจากประชาชนเห็นว่าการตัดต้นไม้ของทางกรุงเทพมหานครทั้งโหดร้ายและผิดวิธี ซึ่งไม่ดีต่อการเจริญเติบโตของต้นไม้ต่อไป กรณีที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวใหญ่ๆ ก็เช่นต้นชมพูพันธุ์ทิพย์บนถนนเทศบาลรังสรรค์ เขตจตุจักร ที่ถูกตัดเตียนจนชาวบ้านอดชมดอกไม้สวยๆ และรวมตัวกันเรียกร้องไปยังผู้อำนวยการเขตให้หยุดการตัดต้นไม้ได้

“เราพยายามยึดโมเดลของกลุ่มจตุจักร คือให้ประชาชนเป็นหูเป็นตาเฝ้าระวังการทำงานของ กทม. อาจต้องทำงานเชิงกดดันหน่อย แต่เราจะเป็นเครือข่ายที่ขับเคลื่อนด้วยความรู้ เสนอทางเลือกที่ยั่งยืนกว่าให้กลายเป็นวัฒนธรรมในการทำงานใหม่ๆ ของ กทม. ไปสู่ระดับนโยบาย” อาจารย์ปุ้มยกตัวอย่างสิ่งที่ Big Trees พร้อมช่วยเหลืออย่างโครงการโรงเรียนต้นไม้ที่ได้อาจารย์ต้อ-ธราดล ทันด่วน มาช่วยอบรมสร้างคนรุ่นใหม่ให้ออกไปดูแลต้นไม้ใหญ่ในเขตเมืองอย่างถูกวิธี ซึ่งเปิดสอนมาแล้ว 4 รุ่น จนฟอร์มทีมหมอต้นไม้ของตัวเอง พร้อมไปตัดแต่งต้นไม้ให้หน่วยงานเอกชนหรือบ้านเรือนคนทั่วไป เพราะอยากเป็นตัวอย่างให้ กทม. เห็นว่าการดูแลต้นไม้ที่ถูกต้องเป็นยังไง

“การตัดแต่งต้นไม้ก็เหมือนตัดผม ไม่มีใครที่จะบอกว่ามาตัดผมเรายังไงก็ได้นะ อยู่ดีๆ ก็ไถเกรียนเหมือนบวชเลยไม่ได้ เพราะตอนที่ผมยาวอีกทีจะน่าเกลียดมากและเปลี่ยนทรงไปเลย คิดง่ายๆ ว่าให้ตัดต้นไม้ตามทรงเดิมแบบธรรมชาติที่สวยงามของเขาและตัดออกเฉพาะส่วนที่จำเป็น เราพยายามสื่อสารประโยชน์ของต้นไม้ว่าช่วยลดมลพิษในเมืองยังไง สภาพต้นไม้เป็นยังไงก็สะท้อนคุณภาพชีวิตของคนที่อยู่ในเมืองอย่างนั้น เหมือนที่เราบอกว่า You are what you breath” อาจารย์ปุ้มบอกกับเรา

แล้วเสียงของคนรักต้นไม้ตัวเล็กๆ จะมาช่วยต้นไม้ใหญ่ๆ อย่างเป็นรูปธรรมได้ยังไงบ้าง? เราโยนคำถามกลับไป

“ประชาชนต้องเปลี่ยนวิธีคิดก่อนว่าหน้าที่ดูแลต้นไม้เป็นของรัฐเท่านั้น ถ้าทำไม่ได้ ไม่พอใจก็ด่า แต่เราเองหรือแม้แต่กลุ่มเอกชนที่ยังไงก็ต้องอยู่ในเมืองนี้ก็ต้องช่วยกัน เพราะนี่เป็นบ้านของเรา” ตัวแทนจาก Big Trees ยกตัวอย่างชาวบ้านในห้องแถวบนถนนเทศบาลรังสรรค์ที่แบ่งกันดูแลต้นไม้หน้าบ้านตัวเองคนละต้นสองต้น หรือกลุ่มเซ็นทรัลที่ว่าจ้างให้ทาง Big Trees มาตัดแต่งต้นไม้ในซอยสมคิดติดกับเซ็นทรัล ชิดลม เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของทาง กทม. ก็เป็นการทำ CSR ที่เราเห็นดีด้วย

“ถ้าเรารู้สึกเป็นเจ้าของและผูกพันกับต้นไม้ต้นที่เห็นอยู่ทุกวัน เราก็จะไม่ปล่อยให้ใครก็ได้มาตัดมันทิ้งไปหมด” เอ๋ยบอกกับเราและหวังว่าการเคลื่อนไหวเล็กๆ นี้จะส่งไปถึงกรุงเทพมหานครให้เห็นความสำคัญของต้นไม้ใหญ่ในเมือง และหันมาจัดสรรงบประมาณส่วนนี้มากขึ้น

เบื้องต้น การทำงานของเครือข่ายต้นไม้ในเมืองจะเน้นในกรุงเทพมหานครเป็นหลัก แต่ก็มีประชาชนในภูมิภาคอื่นๆ เคลื่อนไหวกันอย่างแข็งขันไม่แพ้กัน อย่างเชียงใหม่ที่มีหมอต้นไม้ตัวจริงสุดทุ่มเท บรรจง สมบูรณ์ชัย คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ คอยให้ความรู้และดูแลการตัดแต่งต้นไม้แทบทุกที่ด้วยตัวเอง

ปฏิบัติการแรกของเครือข่ายที่จะสร้างการรับรู้และฝึกให้เราลองหัดสังเกตวิธีตัดแต่งต้นไม้ที่ถูกต้องจะเริ่มกันในวันอาทิตย์ที่ 15 พฤษภาคมนี้ โดยมีอาสาสมัครทั้งกลุ่มนักศึกษา คนปั่นจักรยาน และประชาชนทั่วไปซึ่งไม่ได้เรียนจบวิชาต้นไม้มาจากไหน แต่อยากเห็นสีเขียวในเมืองใหญ่ต่อไปนานๆ ถ้าหน่วยงานหรือภาคประชาสังคมกลุ่มไหนสนใจอยากเข้าเป็นสมาชิกเครือข่ายก็เข้าไปแสดงตัวในเพจเฟซบุ๊กกันได้เลย

ส่วนตอนนี้ขอเวลาไปดูแลต้นไม้หน้าบ้านเราก่อนนะ

facebook | เครือข่ายต้นไม้ในเมือง : Thailand Urban Tree Network

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!