Arthur Huang เจ้าของวรรคทอง ‘Trash is sexy.’ ผู้บุกเบิกการรีไซเคิลขยะเป็นวัสดุล้ำๆ อวดชาวโลก

แม้งาน ‘Circular Living Symposium 2019: Upcycling Our Planet’ จะเสร็จสิ้นไปแล้ว แต่เราขอเก็บควันหลงเรื่องราวน่าประทับใจของนวัตกรชาวไต้หวันผู้บุกเบิกการรีไซเคิลให้เป็นวัสดุสุดล้ำและผลิตภัณฑ์เท่ๆ ที่บอกไปก็ไม่มีใครเชื่อว่าเคยเป็นขยะมาก่อน

คุณอาจจะไม่เชื่อว่าเดี๋ยวนี้เราสามารถนำขยะมาสร้างตึก สร้างบ้าน ตกแต่งโรงแรมหรู ไปจนถึงสร้างปีกเครื่องบินได้แล้ว และนี่คือผลผลิตจากความคิดของคนตัวเล็กๆ อย่าง Arthur Huang ที่อยากจะช่วยโลกลดขยะ เราเลยขออาสาพาไปทำความรู้จักกับยอดมนุษย์นักรีไซเคิลผู้นี้ให้มากขึ้นอีกนิด

นักเล่นแร่แปรขยะชาวไต้หวันผู้นี้เล็งเห็นความเป็นไปได้ในการสร้างฐานนวัตกรรมการแปรรูปขยะขึ้นที่ไต้หวัน และทำได้สำเร็จจนกลายเป็นนักรีไซเคิลเนื้อหอมที่ทั่วโลกจับตามอง ไม่น่าเชื่อว่าไต้หวันซึ่งเป็นประเทศที่ครั้งหนึ่งถูกขนานนามว่า ‘เกาะแห่งขยะ’ จะสามารถพลิกขึ้นมาเป็น ‘เมืองต้นแบบจัดการขยะ’ โดยเกิดจากความร่วมมือของภาครัฐและภาคประชาชน

อาร์เธอร์สวมหมวกเป็นทั้งวิศวกรโครงสร้างและสถาปนิก เขามองเห็นศักยภาพและความเป็นไปได้ว่าไต้หวันสามารถเป็นฐานทัพนวัตกรรมที่ทำให้ชาวโลกเห็นว่า การรีไซเคิลขยะคือหนทางแห่งความยั่งยืนในเรื่องการปฏิวัติการใช้ทรัพยากรอย่างแท้จริง เขาจึงก่อตั้งบริษัทรีไซเคิลขยะเป็นวัสดุคุณภาพสูงนามว่า ‘Miniwiz’ ขึ้นในปี 2005 จากปรัชญาที่ว่า ‘It is wise to minimize.’ หรือเป็นเรื่องชาญฉลาดที่เราจะช่วยกันลดการใช้ทรัพยากร

ตลอด 15 ปีของการก่อตั้งบริษัท สิ่งที่อาร์เธอร์ทำมาตลอดคือการนำขยะที่เรียกว่า ‘post-consumer trash’ มารีไซเคิลเป็นวัสดุคุณภาพสูง โดยเฉพาะการนำวัสดุนั้นเข้าไปใช้ในการตกแต่งภายในและในสถาปัตยกรรมซึ่งเป็นความถนัดของ Miniwiz

เป้าหมายที่นวัตกรผู้นี้คาดหวัง–แน่นอนว่าไม่ใช่แค่แสวงหากำไรจากธุรกิจ แต่คือการกรุยทางให้โลกเห็นความเป็นไปได้ในเรื่อง ‘Circular Economy’ หรือ ‘เศรษฐกิจหมุนเวียน’ ได้อย่างตรงเป้าที่สุด เพราะหัวใจของเศรษฐกิจหมุนเวียนคือการลดทรัพยากรเหลือทิ้งในสายพานการผลิตให้มากที่สุด และการรีไซเคิลขยะถือเป็นการปิดวงจรในขั้นสุดท้าย เพราะเป็นการทำให้ของเหลือทิ้งสามารถนำกลับไปใช้ใหม่ได้แบบหมุนเวียน จนไม่เหลือทรัพยากรเหลือใช้ที่จะต้องไปลงเอยในบ่อขยะ

“ขยะไม่ใช่ของเหลือทิ้ง แต่ขยะเท่ากับความเป็นไปได้ของระบบเศรษฐกิจยั่งยืน” คือความเชื่อมั่นที่นวัตกรชาวไต้หวันผู้นี้กำลังป่าวร้องบอกชาวโลกผ่านงานที่เขาทำ

การก่อตั้ง Miniwiz จึงถือเป็นการขยับตัวครั้งสำคัญที่แวดวงธุรกิจเพื่อความยั่งยืนทั่วโลกจับตามอง อาร์เธอร์ไม่หยุดแค่โมเดลธุรกิจแปรรูปขยะ แต่เขาลงมือสร้างนวัตกรรมเขย่าวงการรีไซเคิลตามมาอีกเรื่อยๆ โดยเริ่มจาก ‘Trash Lab’ หรือห้องแล็บวิจัยขยะ เพื่อปลดล็อกข้อจำกัดด้านการรีไซเคิลที่เคยมีมา

ฟังก์ชั่นของ Trash Lab คือการเก็บรวบรวมฐานข้อมูลคุณสมบัติของขยะชนิดต่างๆ ว่าสามารถแปรรูปไปเป็นอะไรได้บ้าง และองค์ประกอบทางเคมีของขยะแต่ละชนิด มีสารอะไรเป็นตัวทำละลาย ต้องใช้ความร้อนและความดันเท่าไหร่ในการรีไซเคิล

ว่าง่ายๆ Trash Lab คือห้องครัวโมเลกุลที่ไว้เล่นแร่แปรขยะ ทดลองคิดค้นส่วนผสมจากของรีไซเคิลต่างๆ ว่าแต่ละชนิดจะสามารถเอาไปทำวัสดุคุณภาพสูงอะไรได้บ้าง และมีอัตราส่วนผสมของความร้อนและความดันเท่าไหร่ในการรีไซเคิล เฉกเช่นเดียวกับตำราทำอาหาร แต่เป็นตำราบอกสูตรปรุงขยะให้ฟื้นคืนชีพเป็นวัสดุทรงประสิทธิภาพอีกครั้ง

ล่าสุด Miniwiz เปิดตัวเครื่องรีไซเคิลขยะแบบพกพาชื่อว่า ‘TRASHPRESSO’ หรือเครื่องอัดขยะให้ออกมาเป็นภาชนะรูปทรงต่างๆ ที่จะช่วยให้คุณสามารถรีไซเคิลขยะได้ทุกที่ และใช้เวลาเพียงแค่ชั่วอึดใจ พอๆ กับเวลาที่ใช้ในการชงเอสเปรสโซแก้วโปรดของคุณ ใครที่ชอบอ้างว่าการแยกขยะเป็นเรื่องยุ่งยากและมองว่าการรีไซเคิลเป็นเรื่องไกลตัว TRASHPRESSO จะทำให้คุณหมดข้อแก้ตัวทั้งหมดที่เพิ่งพูดมา

เราได้มีโอกาสพูดคุยกับอาร์เธอร์ตัวเป็นๆ ในงาน ‘Circular Living Symposium 2019: Upcycling Our Planet’ ที่จัดขึ้นโดย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา ว่าด้วยจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขากระโจนเข้ามาในแวดวงธุรกิจเพื่อความยั่งยืน รวมถึงสิ่งที่เขากำลังทำอยู่ทุกวันนี้ เรื่องการจัดการปัญหาขยะผ่านนวัตกรรมที่ผสานไปด้วยความสร้างสรรค์

อาร์เธอร์ปรากฏตัวในชุดสูทมาดขรึม สวมรองเท้าผ้าใบสุดเท่ที่เจ้าตัวเล่าให้เราฟังอย่างภาคภูมิใจว่า นี่เป็นรองเท้าผ้าใบที่ถักทอด้วยเส้นใยโพลีเอสเตอร์จากขวดน้ำพลาสติกรีไซเคิล เรามาฟังกันว่าเจ้าของวรรคทองเด็ด ‘Trash is sexy.’ จะมีแนวคิดล้ำๆ เรื่องการรีไซเคิลขยะที่ท้าทายโลกยุคปฏิวัติการใช้ทรัพยากรอย่างไร

แล้วคุณจะรู้ว่า ขยะนั้นฮอตและเซ็กซี่กว่าที่คุณคิดอยู่หลายขุมทีเดียว

 

ตอนที่คุณโยนขยะลงถังคือการกดปุ่มเริ่มเกมที่เราต้องรับช่วงต่อ

หากจะว่ากันจริงๆ โลกนี้อาจจะไม่มีสิ่งที่เรียกว่าขยะเลย หากทรัพยากรทุกอย่างถูกจัดสรรให้อยู่ถูกที่ถูกทางเพื่อใช้อย่างคุ้มค่าที่สุด แต่เมื่อโลกแห่งความจริงไม่เป็นเช่นนั้น เราสร้างขยะกันทุกวันและสามารถพบเจอขยะได้ทุกหนทุกแห่ง ไม่แน่ว่าขวดน้ำพลาสติกที่คุณกำลังถืออยู่ ในอีกไม่กี่วินาทีก็กำลังจะกลายเป็นขยะเช่นกัน

คำถามคือ แล้วทางออกของวงจรขยะจะไปหยุดที่ตรงจุดไหน

อาร์เธอร์เองเป็นคนหนึ่งที่รับรู้ถึงปัญหาและได้ยินเสียงพร่ำบ่นเกี่ยวกับปัญหาขยะมาไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่ แต่สิ่งที่เขาทำต่างออกไปจากคนอื่นๆ ไม่ใช่การบ่นซ้ำรอย แต่คือการลุกขึ้นมาทำ ทำ และทำ

“ผมคิดว่าที่ผมลุกขึ้นมาทำ Miniwiz ได้ เพราะความโกรธเกรี้ยวที่ปะทุอยู่ข้างในตัวเองมากพอ ผมโกรธที่คนเอาแต่บ่นเรื่องขยะ แต่ไม่ทำอะไร โกรธที่คนเอาแต่พูดถึง Circular Economy แต่ไม่คิดจะเริ่มทำอะไรจริงจัง กลายเป็นว่าเมื่อก่อนผมแขยงคำนี้ไปเลย หลายคนชื่นชมสิ่งที่ผมทำขึ้นมาจากขยะรีไซเคิล แต่ผมอยากจะบอกว่า ผมแค่ ‘ทำ’ มันขึ้นเท่านั้นเอง ไม่ใช่แค่การพูดลอยๆ ผมเลยก่อตั้ง Miniwiz ขึ้นมาด้วยความคิดว่าอยากทำให้การแก้ปัญหาขยะเป็นจริง และผมอยากจะแสดงให้ทุกคนเห็นว่าวัสดุที่ดูสวยงาม ใช้งานได้สะดวกสบาย เราสามารถทำจากขยะได้แบบร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว”

อาร์เธอร์ขยายต่อว่าสิ่งที่ Miniwiz ได้แรงบันดาลใจการรีไซเคิลขยะมาจากอารยธรรมโบราณ ฟังดูเหมือนจะไม่เกี่ยวกัน อาร์เธอร์จึงรีบอธิบายต่อว่าทำไมอารยธรรมโบราณถึงเข้ามาเกี่ยวในธุรกิจรีไซเคิลขยะได้

“หากคุณลองพินิจโบราณสถานสำคัญๆ จะพบว่าเบื้องหลังกำแพงหินของปราสาทราชวังอันใหญ่โต ล้วนแต่ทำมาจากขยะทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นขยะจากการเกษตรที่นำใช้โครงสร้าง เช่น ฟาง ขี้เถ้า แกลบที่เหลือทิ้งจากการสีข้าว นำมาบดผสมกับดินโคลนเพื่อประสานเป็นก้อนอิฐที่แข็งแรงเพื่อใช้ก่อสร้าง”

อาร์เธอร์บอกกับเราว่า เขาแค่เอาแนวคิดนี้มาดูว่าจะสามารถเอาโมเดลจากอารยธรรมโบราณกลับมาทำในยุคของเราได้ยังไงบ้าง “ตอนที่คุณโยนขยะลงถังคือการกดปุ่มเริ่มเกมที่เราต้องรับช่วงต่อ และ Miniwiz เกิดขึ้นเพื่อทำสิ่งนั้น เหมือนกับที่โบราณสถานทำจากขยะ แต่เราทำในยุคของเรา”

 

ขยะคือน้ำมันของโลกยุคใหม่ที่เซ็กซี่ไม่ใช่เล่น

อาร์เธอร์มองว่าขยะคือทรัพยากรที่เปรียบเสมือน ‘the new oil’ ของโลกยุคใหม่ เพราะพลาสติกคือทรัพยากรที่จะไม่หายไปไหนและเป็นสิ่งที่นำกลับมารีไซเคิลเป็นวัสดุใหม่ได้เรื่อยๆ

อาร์เธอร์จึงพูดเสมอว่าเราทุกคนต้องหาวิธีการดูแลขยะพลาสติกทั้งหลายที่สร้างขึ้นมาให้ดีเสียก่อน ก่อนที่จะไปคิดทำวัสดุใหม่ๆ เพราะพลาสติกเท่ากับโอกาสทางธุรกิจ และการใช้ความรู้ทางเทคโนโลยีมาผสานจะทำให้เราสามารถนำขยะกลับไปทำประโยชน์สูงสุดในทางที่เหมาะสมได้ และนั่นคือสิ่งที่เขากำลังทำ ทั้ง Trash Lab ทั้งโปรเจกต์ TRASHPRESSO รวมถึงตึกที่สร้างทำจากขยะซึ่งเป็นเหมือนกระบอกเสียงในการสื่อสารกับสังคมโลกว่า ขยะทำได้มากกว่าที่คุณคิดและเซ็กซี่เกินกว่าที่ใครจะคาดเดา

ปีกเครื่องบิน โดมลอยฟ้า โครงสร้างศูนย์ประชุม วัสดุตกแต่งภายในโรงแรมและร้านอาหารหรู ตึกระฟ้าในมหานครหลายแห่ง แผ่นกรองอากาศ รวมถึงร้านค้า Nike หลายสาขาทั่วโลก ทั้งหมดที่ว่ามานี้ล้วนทำจากขยะรีไซเคิลซึ่งแปรรูปมาเป็นวัสดุคุณภาพสูงฝีมือ Miniwiz หลายคนไม่เชื่อสายตาตัวเองว่า ของที่สวยงามหรูหราดูน่าใช้พวกนี้เนี่ยนะจะทำมาจากขยะจริงๆ เราจึงขออาสาพาไปดูโปรเจกต์ต่างๆ ที่ล้วนมาจากการแปรรูปขยะ มาดูกันว่าเมื่อขยะผ่านการเล่นแร่แปรธาตุแล้วจะเซ็กซี่แค่ไหน เราขอท้าให้คุณตัดสิน

ที่แรกที่จะพาไปชมคือ ห้างสรรพสินค้าหน้าตาทันสมัยอย่าง Pacific Department Store ใจกลางเมืองเฉิงตู ที่มีการตกแต่งภายในโดยใช้ Polli-Brick พัฒนาโดยบริษัท Miniwiz ทำมาจากขวดน้ำพลาสติกรีไซเคิลมาประกอบกันเป็นโครงสร้างรวงผึ้งเพื่อใช้สร้างเพดานและผนัง มีคุณสมบัติดูดซับเสียงได้ดี มีความแข็งแรงทนทานโดยปราศจากสารเคมีเพื่อเชื่อมประสาน สามารถทำความสะอาดได้ง่าย ที่สำคัญคือต้นทุนถูกกว่าวัสดุที่ใช้ทำผนังและเพดานทั่วไปหลายเท่าตัว และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดคาร์บอน ลดพลังงานที่ใช้ในกระบวนการผลิต เพราะใช้วัสดุรีไซเคิลแทนที่วัสดุสังเคราะห์ใหม่

หรือเฟอร์นิเจอร์ที่แปลงร่างมากจากขยะอย่าง Hops Chair ในร้านอาหารเจ้าเดียวกับผู้ผลิตเบียร์เจ้าดังที่สุดในไต้หวันอย่าง Le Blé d’Or ซึ่งเป็นการรวมกันของวัสดุครั้งประวัติการณ์ที่พลิกโฉมวงการเฟอร์นิเจอร์ โดย Hops Chair ที่ว่านี้ทำจากพลาสติกโพรพิลีนผสมกับข้าวที่เหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตเบียร์ บริเวณที่นั่งก็บุด้วยผ้าที่ทำจากขวดพลาสติก PET รีไซเคิล โอบรับสรีระผู้ใช้ มีให้เลือกหลากหลายพื้นผิวและหลายเฉดสี เหมาะกับการใช้งานทั้งในและนอกตัวอาคาร เพราะเก้าอี้มีคุณสมบัติกันน้ำและทนแดด

สุดท้ายเราขอแนะนำให้รู้จักกับโปรเจกต์ที่เพิ่งเป็นที่ฮือฮากันไปเมื่อปีที่แล้วอย่าง House of Trash ใจกลางเมืองมิลาน ที่ Miniwiz จับมือกับ  Pentatonic บริษัทสตาร์ทอัพของแต่งบ้านรีไซเคิลร่วมกันผลิตขึ้น

โดย House of Trash เป็นทั้งออฟฟิศและพื้นที่แกลเลอรีที่ทำมาจากของรีไซเคิลทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นโซฟา โต๊ะ เบาะนั่ง หมอน เตียง ตู้ พรมเช็ดเท้า โคมไฟ ผ้าม่าน รวมไปถึงโครงสร้างอย่างพื้น ผนัง และเพดาน ก็ล้วนทำมาจากขยะร้อยเปอร์เซ็นต์ เพื่อพิสูจน์ว่าของแต่งบ้านหน้าตาหรูหราร่วมสมัย คือผลผลิตที่ได้มาจากขยะ ไม่ว่าจะเป็นบรรจุภัณฑ์อาหาร ขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือขยะเสื้อผ้า

อาร์เธอร์ถึงกับเอ่ยปากท้าเราทุกคนว่า “ผมอยากให้พวกคุณได้ลองนอนบนเตียงที่ทำจากขยะดู แล้วคุณจะรู้สึกว่าขยะเซ็กซี่และน่าทิ้งตัวลงนอนขนาดไหน”

อาร์เธอร์ขยายให้ฟังต่อว่าทำไมเขาจึงคิดว่า ‘ความเซ็กซี่’ ของขยะถึงสำคัญ

“เซ็กซี่ในความหมายของผมคือกระบวนการแปลงโฉมขยะ ให้ความรู้สึกว่าขยะนั้นสวยงามมีราคาเหมือนไม่ใช่ขยะ เราจึงให้เวลากับการพัฒนารูปลักษณ์ของวัสดุรีไซเคิลเพื่อให้ดึงดูดใจและเป็นที่ปรารถนาของผู้บริโภค และนั่นแหละคือความเซ็กซี่ในความหมายที่ผมอยากจะสื่อ”

 

ความสร้างสรรค์ที่ใช้งานได้จริงและยั่งยืน

ในฐานะที่ร่ำเรียนมาทั้งวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ ทำให้อาร์เธอร์ได้เปรียบเรื่องการมองภาพกว้างของธุรกิจและมองขาดเรื่องความบาลานซ์ของความสร้างสรรค์และการใช้งานได้จริงในเชิงโครงสร้าง เราจึงไม่แปลกใจที่ Miniwiz ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในตลาดวัสดุรีไซเคิลภายในเวลาไม่นานนับแต่ก่อตั้ง

“เราใช้สามแนวคิดหลักๆ ประกอบกันในการขับเคลื่อน Miniwiz หนึ่งคือด้านอารมณ์ความรู้สึกหรือความคิดสร้างสรรค์ สองคือด้านสถาปัตยกรรม เพราะเราจำเป็นต้องเข้าใจเกี่ยวกับด้านวิศวกรรม เรื่องกฎฟิสิกส์ การคำนวณ และความเป็นไปได้ในเชิงกลไก สามคือเรื่องของธุรกิจ ที่ต้องมาดูความสมเหตุสมผลในการใช้เงินทั้งในระยะสั้นและระยะยาว การพัฒนาแบรนด์ การพัฒนาศักยภาพขององค์กร และเรื่องของรายได้ นี่คือสามเสาหลักที่เราทำควบคู่กันไป

“ในทุกโปรเจกต์ที่ทำ บางอันสามารถนำด้านความคิดสร้างสรรค์ใส่เข้าไปได้มากหน่อย ในขณะที่บางโปรเจกต์ก็ต้องคำนึงถึงเรื่องในเชิงปฏิบัติเป็นหลัก ทั้งหมดที่ Miniwiz ทำเป็นส่วนผสมที่เกิดจากสามสิ่งนี้ โดยทั้งสามส่วนนี้เป็นกระบวนการที่ทำให้เราสร้างสรรค์นวัตกรรมขึ้นมาได้ ไม่ใช่แค่อย่างใดอย่างหนึ่ง”

นอกจากสามสิ่งที่ใช้ขับเคลื่อนธุรกิจ สิ่งที่เป็นแก่นแท้ภายในที่อาร์เธอร์ยึดถือไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือการสร้างอิมแพกต์ให้เกิดขึ้นในสายพานการผลิตและการบริโภคให้มากที่สุด เพราะนอกจากการรีไซเคิลจะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม ยังสร้างมูลค่าเงินให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งกระบวนการด้วย

“แต่ปัญหาเดียวที่มีตอนนี้คือเรายังขยายกระบวนการรีไซเคิลให้กว้างใหญ่ไพศาลได้ไม่ถึงขั้น เพราะถึงแม้จะมีอุปทานหรือความต้องการขายขยะสูงมาก แต่ขยะส่วนใหญ่ในตลาดไม่ใช่ขยะที่ถูกต้อง เพราะเป็นขยะที่ไม่สะอาด จึงไม่เป็นที่ต้องการ สุดท้ายก็ไม่เกิดการนำไปใช้งาน คำถามคือเราจะยังเก็บรวบรวมขยะไปเพื่ออะไร ถ้าปราศจากกระบวนการคัดแยกและทำความสะอาดที่ดีพอ

“สุดท้ายสิ่งที่เป็นหัวใจจริงๆ คือเราต้องเพิ่มอุปสงค์หรือความต้องการซื้อของผู้บริโภคให้มากขึ้น ให้คนต้องการวัสดุที่มาจากการรีไซเคิล ซึ่งจะทำให้เกิดความต้องการขยะที่สะอาด มีการคัดแยกที่เหมาะสม นี่คือสองมุมที่ต้องทำร่วมกัน และสิ่งที่ Miniwiz กำลังทำมาตลอด 15 ปีคือการสร้างอุปสงค์นี่แหละ เพราะถ้าปราศจากความต้องการแล้วก็จะไม่มีคนมาซื้อวัสดุจากของรีไซเคิลเลย แล้วก็จะไม่มีการรีไซเคิล ไม่มีการนำกลับมาใช้ใหม่ ไม่มีการผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่าให้ขยะ”

ความท้าทายที่สุดของ Miniwiz ในชั่วโมงนี้ คือจะทำยังไงให้ของรีไซเคิลเข้าไปอยู่ในชีวิตของทุกคน เพื่อที่จะนำไปสู่การสร้างผู้บริโภคที่มีจิตสำนึกของการเป็นนักรีไซเคิลรุ่นต่อไปเป็นวงจรไม่รู้จบ

“ผมต้องการลดระยะห่างระหว่างขยะ กระบวนการผลิตใหม่ และผู้บริโภค ผมอยากทำให้ขยะรีไซเคิลเข้าไปอยู่ในชีวิตของคนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ มันต้องใกล้ชิดคุณเหมือนคุณไปตลาดแล้วสั่งอาหารจานด่วนมากิน การรีไซเคิลมันจะได้เป็นอะไรที่มากกว่าตัวเลขที่มีคนพูดๆ กัน เราเลยอยากนำสายพานการผลิตไปใกล้ชิดผู้บริโภคมากที่สุด จากนั้นผู้บริโภคก็จะกลายเป็นเจเนอเรชั่นใหม่ของนักรีไซเคิลไปโดยปริยาย และการเห็นว่าของรีไซเคิลมีมูลค่าน่าซื้อหาก็เท่ากับผู้บริโภคมีอุปสงค์หรือความต้องการผลิตภัณฑ์ที่มาจากกระบวนการรีไซเคิลแล้ว ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่จะทำให้ Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียนเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน”

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐปคัลภ์ ทัศนวิริยกุล

นักเรียนฟิล์มที่มาฝึกงานช่างภาพ รักการถ่ายรูป ชอบกินของอร่อย และชอบใช้เวลากับครอบครัว เพื่อนสนิท คนรัก