เอ วราวุธ นายใหญ่ ZENSE Entertainment ผู้อยู่เบื้องหลังบริษัทฮาฯ และเกมโชว์ไทยที่ไปไกลระดับโลก

Highlights

  • เอ–วราวุธ เจนธนากุล คือพิธีกรที่ใครหลายคนคุ้นหน้าและผู้บริหารบริษัทผลิตรายการโทรทัศน์ที่ประสบความสำเร็จอย่าง ZENSE Entertainment 
  • การเติบโตของ ZENSE Entertainment เกิดจากแนวคิดของเอที่ใช้รูปแบบการซื้อฟอร์แมตรายการต่างประเทศเพื่อมาเรียนรู้วิธีการทำงานแบบระดับโลก พร้อมกับที่พวกเขาพัฒนารายการตัวเองขึ้นมาได้
  • เอเชื่อว่าวงการโทรทัศน์ไทยไปไกลถึงระดับโลกได้ด้วยความคิดสร้างสรรค์ที่ไม่เป็นรองใคร และวันหนึ่งคนต่างชาติจะยอมรับและกลายมาเป็นผู้ซื้อฟอร์แมตรายการจากเราในท้ายที่สุด

เอ วราวุธ อดีต ย้อนกลับไปเมื่อสิบกว่าปีก่อน เอ วราวุธ เจนธนากุล มีอาชีพเป็นนักวิเคราะห์การลงทุน

ปัจจุบัน เขาคือพิธีกรที่ใครหลายคนคุ้นหน้าและผู้บริหารบริษัทผลิตรายการโทรทัศน์ที่ประสบความสำเร็จอย่าง ZENSE Entertainment

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ใครคนหนึ่งจะเปลี่ยนเส้นทางชีวิต เพียงแต่ถ้าดูความเป็นไปก่อนและหลังในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้ของเอ ใครหลายคนรวมถึงผมคงได้แต่ตั้งคำถามว่าทำไมมันถึงเป็นคนละเส้นทางกันได้ถึงเพียงนี้ และทำยังไงการเปลี่ยนสายงานของเขาถึงยังประสบความสำเร็จ

เอ วราวุธ

เอ วราวุธ ในปีหน้า ZENSE Entertainment จะมีอายุครบ 10 ปี

48 รายการคือจำนวนรายการโทรทัศน์ทั้งหมดที่ ZENSE Entertainment สร้างสรรค์ขึ้นตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท และในจำนวนนั้นมี 8 รายการที่ออนแอร์เรียกเสียงหัวเราะและความเบิกบานใจให้กับคนดูอยู่ทุกวันนี้

Still Standing Thailand ตกสิบหยิบล้านกำลัง 2, ลูกทุ่งไอดอล, แหวน 5 ท้าแสน 5 Golden Rings, Couple or Not? คู่ไหน.. ใช่เลย, กำแพงวัดกึ๋น BLOCK OUT, Guess My Age รู้หน้า ไม่รู้วัย, The Money Drop ไทยแลนด์ และ บริษัท ฮาไม่จำกัด (มหาชน)

อย่างที่ใครหลายคนทราบว่าส่วนหนึ่งในรายการเหล่านี้เอรับหน้าที่เป็นพิธีกรเอง แต่ลงลึกไปกว่านั้นคือทุกรายการทั้งหมดที่ว่ามาเอยังเป็นผู้บริหารที่ลงไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับรายการอยู่เสมอ

รายการของ ZENSE Entertainment จะแบ่งคร่าวๆ ได้ 2 รูปแบบคือ หนึ่ง รายการที่พวกเขาซื้อฟอร์แมตมาจากต่างประเทศ และสอง รายการที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของพวกเขาเอง ซึ่งก็เป็นทิศทางของบริษัทที่อดีตนักวิเคราะห์การลงทุนวางแผนไว้เช่นกัน

ในบ่ายวันหนึ่งที่บริษัท ZENSE Entertainment ไม่มีคิวถ่ายรายการ ผมเดินทางไปสนทนากับเอถึงมุมมองต่อวงการโทรทัศน์ไทยที่เขาเข้ามาสัมผัส รวมถึงเบื้องหลังเคล็ดลับของสิ่งที่เขาเคยทำและกำลังจะทำ และในเวลาเพียงไม่กี่นาที เขาก็บอกเป้าหมายที่อยากไปถึงกับผมแล้ว

“ผมคิดว่าวงการโทรทัศน์ไทยไม่แพ้ชาติใดในโลกนะ” 

ใช่ เอตั้งหมุดหมายไว้ที่ระดับโลก แต่ทางที่เขาผ่านมาเป็นยังไง และเขาจะไปต่อทางไหน

ลองให้เอวิเคราะห์ตัวเขาและเส้นทางทั้งหมดให้เราฟัง

เอ วราวุธ

 

คุณดูทีวีมาตั้งแต่เด็กเลยหรือเปล่า

สมัยก่อนผมเป็นคนดูโทรทัศน์เหมือนทุกคนนี่แหละครับ ได้นั่งดูรายการและพิธีกรเก่งๆ มาหลายคน ผมเป็นเด็กคนหนึ่งที่เพลิดเพลินไปกับเวลาเหล่านั้น

 

ในโลกออนไลน์หลายคนนิยามว่าคุณคือ ‘เจ้าพ่อเกมโชว์’ ในยุคนี้ คุณรู้สึกยังไงบ้าง

ในยุคหนึ่ง คำนี้เป็นของพี่ตา (ปัญญา นิรันดร์กุล พิธีกรและประธานบริษัท Workpoint Entertainment) เราเห็นพี่ตามานาน และผมต้องบอกว่านี่คือที่สุดแล้วของพิธีกรเกมโชว์ในไทย พี่ตาเป็นพิธีกรที่เฉลยอะไรได้ตื่นเต้นแบบไม่มีใครเทียบได้ เขาเป็นมิสเตอร์เกมโชว์ตัวจริง ดังนั้นผมคิดว่าตัวเองไม่ใช่เจ้าพ่อเกมโชว์นะ ผมเป็นแค่คนทำเกมโชว์ที่อยากสร้างเกมโชว์ใหม่ๆ มากกว่า

 

จากคนในวงการการเงิน มาทำงานวงการโทรทัศน์แบบทุกวันนี้ได้ยังไง

ถ้าก้าวแรกจริงๆ ต้องย้อนกลับไปก่อนมี ZENSE Entertainment อีกครับ เมื่อ 13 ปีที่แล้วผมมีโอกาสเป็นพิธีกรรายการ ‘ตู้ซ่อนเงิน’ ของเวิร์คพอยท์ฯ จากคำชวนของพี่ตาและพี่จิก (ประภาส ชลศรานนท์ รองประธานบริษัท Workpoint Entertainment) ที่บอกว่าผมน่าจะเป็นพิธีกรได้ กลับไปย้อนดูรายการตอนนั้น ผมคิดว่าตัวเองเป็นพิธีกรได้เหมือนหุ่นยนต์มาก (หัวเราะ) แต่โดยรวมถือว่าโอเคครับ นั่นคือครั้งแรกด้วย ผมทำตรงนั้นอยู่ได้ 2 ปีก่อนหยุดพักไป แต่จากประสบการณ์นี้ได้ทำให้ผมเรียนรู้

ผมเพิ่งได้รู้ตอนนั้นเองว่าสมองเรามี 2 ซีก ก่อนหน้านั้นผมอยู่กับตัวเลขมาโดยตลอด ผมรู้จักแต่สมองซีกซ้ายที่เป็นเหตุผล ผมไม่ได้มีปัญหาอะไร เพียงแต่เส้นทางชีวิตผมเหมือนถูกสร้างมาด้วยสมองด้านเดียว ดังนั้นพอได้มาเป็นพิธีกร ผมถึงได้รู้ว่าตัวเองมีสมองซีกขวาที่เป็นเรื่องครีเอทีฟอยู่เหมือนกัน มันอยู่กับตัวเรามาโดยตลอดเพียงแต่ไม่เคยใช้มาก่อน มันเกิดเป็นความสนุกที่ผมได้รู้ว่าตัวเองก็คิดสร้างสรรค์เป็น

หลังจากนั้นไม่นาน เมื่อเกือบสิบปีที่แล้วผมมีโอกาสที่ทำให้ตัวเองต้องตั้งบริษัท ZENSE Entertainment ขึ้นเพื่อผลิตรายการโทรทัศน์ชื่อว่า ‘ศึกน้ำผึ้งพระจันทร์’ ในวันนั้นผมคิดแค่ว่าอยากทำรายการโทรทัศน์ในแบบที่ตัวเองอยากดูเฉยๆ อาจเรียกว่าเป็นการจับพลัดจับผลูก็ได้ แต่พอลงมือทำจริงๆ กลายเป็นว่ามีหลายอย่างมากเลยในรายการโทรทัศน์ที่ท้าทายผม ผมได้ลองผิด-ลองถูก ได้ลองเรียนรู้ มันสนุก แถมรายการก็ประสบความสำเร็จ นี่กลายเป็นโอกาสให้ผมได้พัฒนาการทำรายการเรื่อยมาจนถึงตอนนี้ครับ

 

ถ้าว่ากันตามตรง สิ่งที่คุณทำอยู่เดิมก็มั่นคง ทำไมถึงเปลี่ยนมาสายงานนี้

ปัจจุบันเส้นทางเดิมผมยังทำอยู่บ้างนะครับ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเวลาส่วนใหญ่ทุ่มให้กับตรงนี้ เพราะพอได้มาเป็นพิธีกรและลองทำรายการทีวี ผมค้นพบว่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในวงการโทรทัศน์มีจริงและคุณค่าของมันก็เยอะมากๆ ด้วย

ยกตัวอย่างง่ายๆ คือรายการ The Voice รายการนี้ต้นฉบับเป็นของฮอลแลนด์ แต่ถูกซื้อฟอร์แมตไปทั่วโลกกว่า 80 ประเทศ ในแต่ละซีซั่นเขาจะได้รับเงินไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาทจากแต่ละประเทศ ดังนั้นในปีหนึ่งอย่างต่ำๆ เจ้าของรายการนี้จะได้ค่าลิขสิทธิ์ 800 ล้านบาท The Voice ทำมาแล้ว 8 ซีซั่น รวมแล้วเขาได้เงินจากรายการเดียวมาทั้งหมดประมาณ 6,400 ล้านบาท นี่คือความครีเอทีฟครั้งเดียวนะครับ 

แต่ทีนี้ผมขอย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว คุณเคยดู ตีสิบ ไหม เคยดูช่วงดันดาราหรือเปล่า

 

เคยครับ

ดันดาราเคยมีช่วงหนึ่งที่รูปแบบช่วงคือการเอาผ้าขาวมากั้นนักร้อง ไม่ให้กรรมการรู้ว่าใครเป็นคนร้องแล้วตัดสินจากเสียง พอเฉลยออกมา รีแอ็กชั่นก็มีหลายแบบตั้งแต่คนหลังผ้าขาวคือดาราและคนทางบ้าน เห็นไหม ใจความสำคัญของสิ่งนี้เหมือนกับ The Voice เลย เพียงแต่เราไม่ได้คิดต่อเพื่อจะทำพรีเซนเทชั่นให้ขายได้ พอมีคนที่คิดทำกลไกการหันเก้าอี้ หันมาเจอแล้วโอ้ว อ้าว (ตบโซฟา) มันแค่นั้นเลยครับ 6,400 ล้านบาทเป็นอย่างน้อย นี่คืออุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในวงการโทรทัศน์ที่ผมเห็น และผมก็เชื่อว่าความคิดสร้างสรรค์ของเมืองไทยไม่แพ้ใครในโลกแน่ๆ

เอ วราวุธ

นี่คือเป้าหมายของคุณ 

ใช่ครับ สำหรับผมแล้วการทำธุรกิจต้องมีเป้าหมายก่อน ถึงตอนแรก ZENSE Entertainment จะทำเหมือนเอาสนุก แต่พอรายการแรกๆ ได้รับเสียงตอบรับที่ดี ผมกับทีมงานก็ต้องมานั่งคุยกันแล้วว่าเราจะเอายังไงต่อ พอดีกับที่ตอนนั้นผมเริ่มเห็นว่าทิศทางคอนเทนต์บนจอโทรทัศน์เริ่มเปลี่ยนไป ฟอร์แมตรายการโทรทัศน์สามารถไปต่างประเทศได้ แล้วทำไมเมืองไทยจะทำแบบนั้นบ้างไม่ได้ ทำไม ZENSE Entertainment จะทำแบบนั้นบ้างไม่ได้

แน่นอนว่าพอคิดแบบนี้ สิ่งที่ตามมาคือถ้าเราอยากขายฟอร์แมตรายการให้ต่างประเทศ ระบบและมาตรฐานการทำงานของเราต้องเป็นระดับโลกเสียก่อน สิ่งนี้คือหัวใจสำคัญ ซึ่งในเวลานั้น ประมาณ 7 ปีที่แล้วคนทำงานโทรทัศน์อาจยังไม่รู้ว่าระบบการทำงานที่ถูกต้องเป็นยังไง นั่นจึงเป็นที่มาที่ผมเป็นเจ้าแรกๆ ในไทยที่ซื้อฟอร์แมตรายการจากต่างประเทศเพราะผมคิดว่าตัวเองกำลังซื้อตำราเรียนให้ทีมงานนั่งอ่าน พวกเขาจะได้ฝึกฝนการทำงาน พร้อมกับผสานความเข้าใจคนดูของเมืองไทยเข้าไปด้วย ซึ่งการทำแบบนี้ก็ไม่ใช่ว่าเราจะพึ่งเขาตลอดทาง

ถ้านี่คือการเรียนรู้ วันหนึ่งเราจะคิดฟอร์แมตรายการไปขายต่างประเทศให้ได้บ้าง คอนเทนต์ของเราต้องเอาไปขายได้ทั่วโลก มันอาจต้องใช้เวลาบ้าง ไม่ได้ดีดนิ้วแล้วได้เลยขนาดนั้น แต่อย่างน้อยพวกเราก็เรียนรู้มาจนวันนี้ เราทำคอนเทนต์ได้เองหมดแล้ว เราเริ่มมีรายการของตัวเองอย่าง Singer Auction เสียงนี้มีราคา ที่หลายประเทศสนใจติดต่อเข้ามาแล้ว

หลายคนที่ฟังอาจจะคิดว่าเป้าหมายระดับโลกดูใหญ่เกินไปหรือเปล่า

ไม่นะครับ เพราะหนึ่งคืออย่างที่บอกเลย ผมเชื่อในความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย ครีเอทีฟไทยโคตรเก่ง และสอง ผมถามตัวเองว่าทำไมคนไทยไม่ทำแบบที่ผมพูดมาก่อนหน้านี้ล่ะ

ผมพบว่าคำตอบของสิ่งนี้คือระบบที่มีเงื่อนไขคือเวลา สมัยก่อนเรามีโทรทัศน์ 4 ช่อง ทุกๆ บริษัทต้องวิ่งหาเวลาในการทำรายการ พอได้เวลามา กลายเป็นว่าส่วนใหญ่จะเหลือเวลาแค่เดือนเดียวในช่วงโปรดักชั่น ครีเอทีฟจะทำอะไรทันล่ะ เหลือเวลาอยู่นิดเดียว เราจะไปคิดฟอร์แมตดีๆ ใหญ่ๆ ได้ยังไง เราก็ได้แค่ทำตามเงื่อนไขเวลาที่มี แต่สำหรับ ZENSE Entertainment เราแก้ปัญหาโดยการซื้อฟอร์แมตต่างประเทศอย่างที่เล่าให้ฟัง รวมถึงพัฒนาตัวเองจนสามารถคิดรายการดีๆ ในระดับอินเตอร์ออกมาได้หมดแล้ว ประกอบกับตอนนี้ไทยเรามีทีวีดิจิทัล 24 ช่อง โอกาสและเวลาเราก็มากขึ้น

 

ฟังดูราบรื่น แต่ในความเป็นจริงมีความยากลำบากหรืออุปสรรคบ้างไหม

มีอยู่แล้วครับ บริษัทก็เหมือนคนที่โตตามอายุและต้องเรียนผิด-ถูก บ่อยครั้งที่เราพลาดแต่ก็ต้องเรียนรู้จากมัน อย่างทีมโปรดักชั่นที่ตอนแรกมีทีมเดียวแล้วพบว่า ถ้ามีอะไรผิดพลาดไปมันแก้ลำบาก ปัจจุบัน ZENSE Entertainment ก็มี 3 ทีมที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วยไอเดียต่างกัน มันคือการบริหารความเสี่ยงในการปฏิบัติงานเพื่อความแข็งแรงของทีมในภาพรวม

หรือยกตัวอย่างเช่นรายการ บริษัท ฮาไม่จำกัด (มหาชน) ช่วงแรกๆ ต้องบอกว่าขาดทุนมหาศาลนะครับ แต่โดยส่วนตัวผมเชื่อว่ารายการนี้ตอบโจทย์แน่ๆ เพราะผมเองเป็นคนชอบดูตลก ดังนั้นพอถึงยุคหนึ่ง อ้าปากปุ๊บเราจะรู้ว่าตลกกำลังจะเล่นมุขอะไร แต่ บริษัทฮาฯ เกิดขึ้นเพราะต้องการฉีกจากสิ่งนี้ แก๊กแบบเดิมธรรมดาไปแล้ว เรามาฉีกมุกกันดีกว่า และในแง่สไตล์ ผมและทีมงานคิดต่อกันไปอีกว่าเราจะสร้างให้พวกเขาเป็นครอบครัวของคนดูด้วย ตั๊ก (บริบูรณ์ จันทร์เรือง) แจ๊ส (ผดุง ทรงแสง) และบอล (ชัชชัย จำเนียรกุล) คือเพื่อนคุณ น้าค่อม (อาคม ปรีดากุล) คือผู้ใหญ่ในบ้าน พี่นุ้ย (ชูเกียรติ เอี่ยมสุข) คือรุ่นพี่คุณ เราอยากสร้างความสัมพันธ์กับคนดูผ่านความตลกแบบฉีกนี้ ซึ่งสุดท้ายวันเวลาก็พิสูจน์ว่ารูปแบบนี้ประสบความสำเร็จ เรทติ้งอยู่ในระดับสูงของประเทศ นี่คือสิ่งที่เราอดทนสร้างกันมานาน

 

ทำไมถึงยังเชื่อในสิ่งที่ตัวเองทำ เพราะถ้ามองจากนอกวงการโทรทัศน์ดูเป็นวงการที่ถูก disrupt สูงมาก

ในแง่แพลตฟอร์มก็ใช่ครับ แต่ในแง่งานโปรดักชั่นและครีเอทีฟ ผมคิดว่างานโทรทัศน์ถูก disrupt ยากมากเพราะใช้คนทั้งหมด คอนเทนต์เกิดจากสมองคน การถ่ายภาพก็ใช้ฝีมือคน เป็นงานที่อาศัยความเฉพาะบุคคลสูง หาใครหรือคอมฯ มาเทียบไม่ได้ 

ความคิดสร้างสรรค์เป็นอะไรที่ถูก disrupt ยากที่สุดแล้วครับ ยกตัวอย่างให้เห็นชัดก็ได้ ถ้าวันนี้มี AI มาสัมภาษณ์ผมแทนคุณ ผมก็ไม่รู้จะคุยอะไรนะ ต่อให้ AI ถามผมเหมือนที่คุณถาม ผมก็รู้สึกว่าตัวเองกำลังคุยกับใครอยู่กันแน่ 

 

แต่คนดูก็เปลี่ยนไปหรือเปล่า สิ่งเหล่านั้นทำให้คนทำทีวีทำงานยากขึ้นบ้างไหม

(นิ่งคิด) ผมใช้คำว่าซับซ้อนขึ้นมากกว่านะครับ ยาก-ง่ายขึ้นไหมก็ขึ้นอยู่กับแต่ละรายการ ถึงพฤติกรรมการดูของคนจะเปลี่ยน แต่ผมว่าสิ่งสำคัญคือการหาสมดุลของคนดูทีวีและคนดูย้อนหลังในโลกออนไลน์มากกว่า

สมัยก่อนผมโตมากับการนั่งรอดูทีวี ถ้าพลาดปุ๊บผมจะคุยกับคนอื่นไม่รู้เรื่องเลย แต่กับทุกวันนี้ไม่ใช่แล้ว คุณทำอย่างอื่นตอนรายการออนแอร์ได้เลยแล้วค่อยกลับมาดูย้อนหลัง ดังนั้นถ้าว่ากันตามจริงคอนเทนต์ทีวีไม่ตายหรอกครับ สื่อโทรทัศน์ยังเป็นสื่อที่มีประสิทธิภาพ งบประมาณการโฆษณาในทีวียังมากที่สุด เพียงแต่ทุกวันนี้ซัพพลายเราเยอะไปหน่อย คนดูตามไม่ทัน คนทำงานก็โตตามไม่ทัน เราต้องปรับสิ่งเหล่านี้ให้เข้าสู่สมดุลให้ได้

การทำทีวีเรามีตัววัดผลแค่อย่างเดียวคือเรทติ้ง ดังนั้นมันซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาครับ พวกเราเลยมีหน้าที่ต้องคิดทบทวนกันตลอดเวลา อย่างสำหรับ ZENSE Entertainment เองเราดูกันเป็นนาทีต่อนาที เราจะเอาเรทติ้งมาพล็อตกราฟว่าทุกรายการของเราต้องเป็นกราฟขึ้น หมายถึงในทุกๆ นาทีต้องมีคนดูมากขึ้น ไม่ใช่ลดลง ถ้าไม่ใช่ตามนี้ผมถือว่ารายการนั้นผิดปกติแล้ว อะไรแบบนี้คือความซับซ้อนที่มากขึ้น เราต้องวิเคราะห์กันละเอียดตลอดเวลา เราต้องรู้ว่ารายการหน้าเราคือใคร เขาส่งต่อมาให้เราด้วยอารมณ์แบบไหน เรารับต่อมาดีไหม เราส่งต่อไปให้รายการอื่นยังไง และเราต้องมาดูอีกว่ารายการในช่วงเวลาเดียวกันของช่องอื่น เราเหมือนหรือต่างกับเขาแบบไหนบ้าง นอกจากทำรายการให้ดี เราต้องวัดและประเมินผลไปพร้อมๆ กัน 

 

ดูเหนื่อยมากขึ้น

เหนื่อยครับ (หัวเราะ) แต่มันก็แลกมาด้วยการที่คนเข้าถึงคอนเทนต์เราเยอะขึ้น ดังนั้นขอแค่ทำคอนเทนต์ให้ดีพอที่คนจะมาดูก็พอ

 

คอนเทนต์ที่ดีของ ZENSE Entertainment ต้องเป็นแบบไหน

ถ้าในรายละเอียดปลีกย่อย แต่ละรายการคงแตกต่างกันไป แต่ถ้ารวมในฐานะคนทำ สำหรับผมคอนเทนต์ที่ดีอย่างแรกคือต้องรู้สึกอยากทำก่อน พอทำแล้วเราต้องสนุก บรรยากาศในสตูดิโอต้องสนุก สุดท้ายพอถ่ายเสร็จ ตัดต่อเสร็จ เราต้องอยากดูแม้จะรู้ว่าจบยังไง ถ้ารายการไหนเราทำได้ครบ 3 อย่างนี้ ผมเชื่อว่ารายการนั้นประสบความสำเร็จแน่ๆ นี่คือคอนเทนต์ที่สมบูรณ์ ซึ่งถ้ารายการไหนที่มี 3 อย่างนี้ครบก็มักประสบความสำเร็จจริงๆ

เราเป็นบริษัทเอนเตอร์เทนเมนต์ครับ ดังนั้นเราต้องมีส่วนประกอบของความเป็นเอนเตอร์เทนเมนต์ ซึ่งหลักๆ ที่เราให้ค่าคือคนและบรรยากาศการทำงาน ผมไม่ใช่เจ้านายที่ไปยืนกดดันทุกคน ถึงจะเครียดแต่เราต้องเก็บไว้ไม่ให้บรรยากาศการทำงานแย่ บรรยากาศการอัดรายการต้องดี ทุกคนต้องสนุก เพราะถ้าไม่สนุกแล้วคนดูทางบ้านเขาจะสนุกกับเราได้ยังไง นี่คือหัวใจหลักของเรา 

ถ้าดูจากเรทติ้งและความนิยมที่ได้ คุณถือว่าตัวเองประสบความสำเร็จไหม

ผมใช้คำว่าภูมิใจไปพร้อมกับทีมงานมากกว่า การทำรายการโทรทัศน์ไม่สามารถทำคนเดียวแล้วประสบความสำเร็จได้หรอกครับ ผมคิดได้ ตัดสินใจได้ แต่ผมไม่สามารถทำได้ถ้าขาดทีมงาน ดังนั้นผมภูมิใจที่พวกเราต่างเห็นว่าสิ่งที่ทำอยู่มีคุณค่า บริษัทเราพัฒนา ทีมงานเราทุกคนพัฒนา การที่ทุกส่วนประกอบออกมาดีที่สุดคือความสำเร็จของผม

 

มีเป้าหมายอะไรอื่นไหมที่คุณอยากเห็น

(นิ่งคิดนาน) อันนี้ผมไม่ได้พูดถึง ZENSE Entertainment อย่างเดียวนะครับ แต่ผมอยากอยู่ทันเห็นความคิดสร้างสรรค์ในวงการโทรทัศน์ไทยไปอยู่ในระดับโลกและได้รับการยอมรับ

ย้อนกลับไปเมื่อ 7 ปีที่แล้ว ช่วงนั้นผมเริ่มเห็นแนวทางว่าการซื้อฟอร์แมตรายการทีวีจากต่างประเทศน่าจะเป็นก้าวต่อไปของบริษัท ผมและน้องๆ ทีมงานบางส่วนเดินทางไปเมืองคานส์เพื่อร่วมงาน MIPTV งานที่คอนเทนต์ทีวีระดับโลกจะมาตั้งบูทรวมกัน เราตั้งหน้าตั้งตารอกันมาก ซึ่งพอถึงวันงานผมก็เข้าไปพูดคุยกับพวกเขา แต่พอไปถึงแล้วผมยื่นนามบัตรให้พร้อมบอกเขาว่าเราสนใจคอนเทนต์ ทุกคนจะหยิบนามบัตรมามอง มองเสร็จเขาจะวาง แล้วบอกผมว่าไม่ว่าง บูทแรกๆ ก็ไม่เป็นไรเพราะงานมี 4 วัน ผมคิดว่ายังไงเราก็ต้องได้คุยกับบางเจ้าบ้าง แต่ปรากฏว่าวันแรกเงียบ วันที่สองเงียบ วันที่สามเงียบ ขนาดวันสุดท้ายที่เขาเริ่มเก็บบูทกันแล้ว ผมเห็นว่าเขาว่างแน่ๆ เขายังบอกผมเลยว่าไม่ว่าง ไม่คุย

ตอนนั้นผมเข้าใจว่าคงเป็นเพราะเราเป็นบริษัทเล็กๆ ไม่ได้อยู่ในเรดาร์เขา ถามว่าผิดหวังไหม ผิดหวังนะ มันโหดร้ายไปหน่อย ทีมงานถามผมด้วยซ้ำว่านี่เรากำลังมาถูกทางหรือเปล่า แต่ผมไม่ย่อท้อ ผมเชื่อว่านี่คืออนาคตของบริษัท กลับมาผมส่งอีเมลเป็นพันๆ ฉบับเพื่อติดต่อซื้อฟอร์แมตรายการที่ผมคิดว่าดีให้ได้ สุดท้ายมีคนตอบกลับมาแค่เจ้าเดียว แต่นั่นคือที่มาของรายการ The Money Drop ไทยแลนด์ ควิซโชว์ที่เรทติ้งสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศไทย ซึ่งพอเราทำรายการสำเร็จ บริษัทที่เคยไม่คุยกับเรา เขาก็เริ่มติดต่อมา พูดคุยกับเราแบบหน้ามือเป็นหลังมือ และมีหลายเจ้าที่บอกผมว่าที่ตอนแรกไม่คุยเพราะคุณเป็นคนไทย

เป็นคุณได้ฟังแบบนี้คุณจะรู้สึกยังไง นี่คือความผิดที่ชนชาติเลยนะ มันเสียดแทงความเป็นไทยเรามาก เราเป็นคนไทย เราเจอต่างชาติเราก็ยิ้มให้ แต่ในขณะนั้นเขาก็คิดว่าเราขี้ก๊อป ซึ่งถามว่าเขาผิดไหม ก็ไม่ผิด เพราะก่อนหน้านี้เขาโดนหลอกและลอกไปจริง นี่คือสิ่งที่ผมไม่อยากให้เกิดขึ้นอีกแล้ว ZENSE Entertainment พยายามทำให้คนเหล่านี้เห็นว่าเราเคารพลิขสิทธิ์ของเขา เพราะวันหนึ่งผมก็อยากให้พวกเขาเคารพลิขสิทธิ์ของเราเหมือนกัน และผมไม่ได้จะบอกว่าผมทำคนเดียว คนทำทีวีทุกคนต้องช่วยกันทำให้คนรุ่นหลังเห็นว่าตัวอย่างการทำงานที่ดีเป็นยังไง เราต้องมีเป้าหมายร่วมกัน

เอาจริงๆ ก๊อปน่ะมันง่ายครับ โคตรง่ายเลย แต่ผมว่าเราทำอะไรที่ยากๆ แต่ภูมิใจดีกว่า มันจะสร้างความภาคภูมิใจให้เราในระยะยาวมากกว่า เผื่อวันหนึ่งบริษัททำโทรทัศน์ไทยจะได้ไปอยู่ในงานใหญ่ๆ ของโลกและขายแพลตฟอร์มได้บ้าง

 

ถึงวันนั้นคุณจะคุยกับคนที่มายื่นนามบัตรไหม

แน่นอน (หัวเราะ) เราอยากทำงานกับพันธมิตรที่เก่งๆ ทั่วโลกอยู่แล้วครับ

ทุกวันนี้ความสุขในการทำทีวีของคุณคืออะไร ใช่เรทติ้งหรือเปล่า

สำหรับผมมีอยู่ 3 อย่างครับ

อย่างแรกที่ปฏิเสธไม่ได้คือเรทติ้ง นี่เป็นสิ่งเดียวที่วัดว่างานเราออกมาดีไหม 

ข้อที่สองคือการยอมรับที่เกิดขึ้นในตัว ZENSE Entertainment ซึ่งข้อนี้เกิดขึ้นตอนที่เราได้รับรางวัลเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง จริงๆ เราส่งรายการประกวด Asian Television Awards มา 7 ปีนะกว่าจะได้รางวัลแรก ถามว่าเจ็บปวดไหม ตอนที่ไม่ได้ก็เจ็บปวด แต่เราไม่ย่อท้อเพราะผมเชื่อว่าวันหนึ่งต้องเป็นของเรา ดังนั้นวันที่ได้รางวัลพวกเราถึงดีใจกันมาก และปีนี้รายการจากบริษัทเราก็เข้าชิงสูงสุดถึง 8 รางวัล สิ่งนี้ทำให้ผมภูมิใจ แต่เหนืออื่นใดความสุขของผมคือข้อที่สาม นั่นคือความรู้สึกของคนดู

การทำทีวีทุกวันนี้มันเหนื่อยครับ เราเหนื่อยกันทุกวัน ไม่ได้หยุดไม่ได้หย่อน แต่เวลาที่ผมออกไปไหนมาไหนข้างนอกและเห็นคนกำลังดูรายการที่เราผลิต เห็นพวกเขามีความสุข เขาตบมือเชียร์ เขาหัวเราะ นี่เป็นสิ่งที่ทำให้ผมตื้นตันและมีความสุข คิดง่ายๆ ว่าตัวเราเองทำให้ใครสักคนมีความสุข เราก็ดีใจแล้วนะ แต่นี่รายการของเรากำลังส่งความสุขให้คนทั้งประเทศ นี่ยิ่งสุขขึ้นไปอีก

มีหลายคนมากที่มาบอกผมว่าวันไหนที่เขาเครียด กลับบ้านมาเขาต้องเปิดดู บริษัทฮาฯ หรือรายการต่างๆ ของเรา เขายิ้ม เขาหัวเราะ แล้วเขาก็นอนหลับฝันดี (นิ่งคิดนาน) ผมว่านี่มีความหมายมากกว่าเรทติ้งและทุกรางวัลแล้วครับ แค่นี้พอแล้ว ดีที่สุดแล้ว

เอ วราวุธ

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!