Live! ทางรอดของทีวีไทย (หรือเปล่า?)

เข้าสู่ปีใหม่มา เราก็เห็นกระแสไม่สู้ดีของบรรดาช่องโทรทัศน์ต่างๆ
อย่างเช่น ช่องสามที่ประกาศผลประกอบการแล้วกำไรลดลงอย่างน่าใจหาย เช่นเดียวกับข่าวลือของช่องต่างๆ
ที่อาการไม่สู้ดีนัก

แต่ท่ามกลางข่าวไม่สู้ดีเกี่ยวกับธุรกิจ ‘ช่องโทรทัศน์’ เราก็เห็นปรากฏการณ์ของรายการทีวีที่ดังเปรี้ยงบนโลกออนไลน์อย่าง The
Mask Singer
จากช่อง Workpoint ที่พลิกวิธีการออกอากาศ
แทนที่จะออกอากาศทางทีวีเหมือนเดิม ก็มาถ่ายทอดสดออกอากาศแบบคู่ขนานผ่าน Facebook
Live และทำสถิติยอดคนดูแบบน่าตกใจ (อย่างที่ผู้เขียนเห็นก็มีคนดูพร้อมกันมากกว่า
100,000 คน) ซึ่งถ้าคำนวนเป็นเรตติ้งก็ถือว่าสูงอยู่ไม่น้อย
นั่นกลายเป็นการจุดกระแสการออกอากาศคู่ขนานของทางทีวีและออนไลน์พร้อมๆ กัน เช่นเดียวกับที่พิธีกรดังอย่างวู้ดดี้และสรยุทธใช้
Facebook Live ด้วยตัวเองแบบไม่ต้องมีรายการก็มีคนดูร่วมแสนด้วยเเหมือนกัน

มองในแง่หนึ่ง นี่น่าจะเป็นการเปิดเกมสู้ของช่องทีวีที่พยายามจะแย่งชิง
‘คนดู’ จากโลกออนไลน์ที่ตอนนี้กำลังโดนบรรดาเพจน้อยเพจใหญ่
รวมทั้งช่อง YouTube มากมายแย่งคนดูไปแทบจะตลอดเวลา เพราะคนจำนวนมากตอนนี้ติดมือถือมากกว่าทีวีเสียอีก
ซึ่งกระแสการถ่ายทอดสดบนออนไลน์ก็ดูจะเข้าทีอยู่ไม่น้อย และเราก็เห็นช่องอื่นๆ ทยอยทำตามออกมา

ถ้าคิดในแง่มุมธุรกิจ มันก็คือการเพิ่มช่องทางการรับชม
ขยายฐาน
(หรือรักษาฐาน) คนดู แถมยังไงๆ ก็ต้องเสียค่าผลิตรายการอยู่แล้ว
การออกอากาศทางออนไลน์ก็ไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายอะไรเพิ่มมากมาย อย่างผู้เขียนเองซึ่งทำรายการโทรทัศน์อยู่
ก็เคยทำการออกอากาศสดแบบคู่ขนานไปด้วยคอมพิวเตอร์เครื่องเดียวโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายอะไรเพิ่มเลย
แถมก็ต้องยอมรับว่าคนออนไลน์จำนวนมากคุ้นเคยกับการดูวิดีโอทางโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์มากกว่าการดูทางทีวีไปเสียแล้ว
และแม้ว่าก่อนหน้านี้เคยมีการพยายามใช้ Social Media ในแง่โปรโมตรายการเพื่อให้คนไปดูทีวี
แต่ก็ไม่ค่อยจะได้ผลนัก เพราะท้ายที่สุดก็ดูเหมือนว่าคนทุกวันนี้จำนวนไม่น้อยนั้นไม่ได้อยากเปิดทีวีดูอีกแล้ว

เมื่อเสน่ห์ของการเป็นสื่อระดับ Mass ของทีวีถดถอยลง การใช้ช่องทางที่ Mass ในปัจจุบันอย่างช่องทางออนไลน์คงเป็นทางออกไม่กี่ทางที่ทางช่องโทรทัศน์ต้องจำใจทำ

แต่ถ้าว่ากันตามความเป็นจริงแล้ว ธุรกิจของช่องต่างๆ
นั้นไม่ใช่เรื่องของ ‘ทีวี’ แต่อย่างใด หากแต่เป็นเรื่องของคอนเทนต์รายการที่ต้องปั้นให้อยู่ในจุดที่คนสนใจและอยากติดตาม
การเพิ่มช่องทางการรับชมก็เป็นเหมือนการปรับตัวของ ‘ช่องทางการจัดจำหน่าย’
เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเข้าถึงได้ตามพฤติกรรมการบริโภคในปัจจุบัน ที่เหลือคือแต่ละช่องนั้นก็ต้องไปคิดหาโมเดลธุรกิจต่อไปว่าจะสามารถสร้างรายได้อย่างไร

เพราะจริงๆ แล้วก็มีหลายรายการที่ประสบความสำเร็จจากการออกอากาศทางออนไลน์เป็นหลักมาแล้วอย่างเช่นกรณีของซีรีส์ดังจาก
LINE
TV ที่สุดท้ายมีคนดูมากมาย สามารถขายสปอนเซอร์ได้เป็นกอบเป็นกำ และนั่นเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าจริงๆ
แล้วบรรดาแบรนด์ต่างๆ ก็พร้อมจะจ่ายเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายแบบเดียวกับที่โฆษณาทางโทรทัศน์เคยทำมาก่อน
และถ้าหากทางช่องต่างๆ สามารถทำได้แบบเดียวกัน มีตัวเลขผู้ชมที่จับต้องได้ มันก็ไม่ได้จำเป็นว่าจะต้องเป็นออนไลน์หรือออฟไลน์ถึงจะขายโฆษณาได้

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าเรื่องนี้จะเป็นข่าวดีสุดๆ
ของผู้ผลิตรายการและช่องโทรทัศน์ จริงอยู่ว่ามันอาจเป็นความหวังในช่วงที่ธุรกิจสื่อกำลังเจอ
Digital
Disruption แต่เราก็ต้องไม่ลืมว่าเมื่อเข้าสู่การแข่งขันของคอนเทนต์บนออนไลน์แล้ว
ช่องต่างๆ กำลังเจอคู่แข่งมากมาย ไม่ใช่แค่บรรดาช่องด้วยกัน แต่ยังรวมไปถึงคนมากมายที่กำลังถ่ายทอดสดตัวเอง
(อย่างเช่นเน็ตไอดอลมากมายถ่าย Live ตัวเอง)
หรือทำวิดีโอคอนเทนต์ออกมาแบบไม่หยุดหย่อน อีกทั้งใช่ว่าทุกรายการของทางช่องจะมีคนดูเยอะแต่อย่างใด
บางรายการนั้นมีคนดูอยู่ในหลักร้อยเสียอีกต่างหาก

ถึงกระนั้นก็ดี มันก็คงเป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่า
ท้ายที่สุดแล้ว การที่จะฝืนโลกดิจิทัลนั้นคงเป็นคำตอบที่ไม่เข้าท่านัก และหากผู้บริหารคนไหนจะยังดื้อ ต้านทานอยู่ ก็จะอยู่ไม่รอดในไม่ช้านั่นแหละครับ

AUTHOR