Atelier Pakawan เยี่ยมสตูดิโอของ ‘ยุ้ย ภควรรณ’ หญิงสาวผู้ลาออกมาปั้นดิน ปั้นฝัน ปั้นสตูดิโอเซรามิก

Atelier Pakawan เยี่ยมสตูดิโอของ ‘ยุ้ย ภควรรณ’ หญิงสาวผู้ลาออกมาปั้นดิน ปั้นฝัน ปั้นสตูดิโอเซรามิก

Highlights

  • ยุ้ย–ภควรรณ ทองวานิช เติบโตมาในครอบครัวที่สนับสนุนศิลปะและงานฝีมือ ทำให้เธอมีความฝันว่าอยากเป็นมัณฑนากรมาตั้งแต่เด็กๆ แต่แล้วเมื่อเข้าสู่โลกการทำงาน เธอกลับไม่มีความสุขเพราะไม่มีโอกาสได้แสดงความเป็นตัวเองผ่านผลงาน
  • ยุ้ยตัดสินใจลาออกเพื่อเดินตามความฝันใหม่ คือการเป็นช่างปั้นเซรามิก โดยเธอยอมเสียเวลาเรียนภาษาญี่ปุ่นเป็นปีเพื่อบินไปเรียนกับช่างปั้นชาวญี่ปุ่น และกลับมาทำสตูดิโอเซรามิกและสีน้ำที่บ้านเกิดในจังหวัดชลบุรี
  • เส้นทางสายอาชีพของยุ้ยไม่เคยง่ายดาย เทียบกับเพื่อนรุ่นเดียวกัน เธอใช้เวลาเรียนไปมากมาย และยังต้องทำภาพประกอบเคียงคู่ไปเพื่อหาเงินมาทำสตูดิโอในฝัน แม้จะเต็มไปด้วยความกลัวแต่ยุ้ยไม่เคยหยุดทำ และนั่นพาเธอมาไกลจนถึงจุดนี้

ครั้งแรกที่ได้รู้จัก ยุ้ย–ภควรรณ ทองวานิช เธอคือศิลปินสาวผู้สร้างสรรค์ผลงานสีน้ำเป็นภาพขนมหวานอ่อนละมุนและน่าลิ้มลองเกินของจริง ผลงานของเธอคือหนึ่งในงานที่ชนะการประกวด Happening Makers 2019 และได้ไปแสดงผลงานในงาน Pop Up Asia ที่เมืองไทเป ประเทศไต้หวัน

เมื่อได้รู้จักเธอมากขึ้น เราพบว่าเธอยังเป็นช่างปั้นเซรามิกเจ้าของสตูดิโอ Atelier Pakawan สตูดิโอขนาดกะทัดรัดที่ตั้งอยู่ในรั้วบ้านของเธอในจังหวัดชลบุรี แน่นอนว่าผลงานจานชามที่ยุ้ยปั้นและเพนต์ด้วยสองมือ มีเสน่ห์จับใจไม่แพ้ภาพสีน้ำสวยหวาน

Atelier Pakawan

แต่ส่ิงที่ทำให้เรารู้สึกทึ่ง และสนใจจนอยากเดินทางมาคุยกับเธอถึงบ้าน คงเป็นเพราะเราได้รู้มาว่ากว่าจะได้สร้างสตูดิโอที่น่ารักและได้ผลิตชิ้นงานเหล่านี้ ยุ้ยเคยเป็นนักออกแบบตกแต่งภายในที่มุ่งมั่นอยากเดินทางสายออกแบบมาตั้งแต่เด็ก

จนกระทั่งวันหนึ่ง เธอตัดสินใจลาออกจากงานที่ใฝ่ฝัน ตั้งใจเรียนภาษาที่ไม่รู้จักเป็นปี เพื่อบินไปเรียนต่อเฉพาะทางด้านการปั้นเซรามิกไกลถึงประเทศญี่ปุ่น เพื่อกลับมาเป็นช่างปั้นเซรามิก พร้อมควบบทบาทศิลปินสีน้ำที่บ้านเกิด

ตลอดบทสนทนาเกี่ยวกับเส้นทางอาชีพที่ยากลำบาก เราได้ยินคำว่า ‘กลัว’ หลุดจากปากเธอหลายสิบครั้ง แต่เราไม่เชื่อว่านี่คือความรู้สึกที่พาเธอมาจนถึงจุดนี้

ยุ้ย ภควรรณ ปั้นชีวิตของเธอยังไง หญิงสาวกำลังเปิดประตูบ้าน พาเราไปพบคำตอบ

Atelier Pakawan

“ครอบครัวเราให้ความสำคัญกับการตกแต่งบ้าน แม่ทำงานประดิษฐ์เนี้ยบมาก ส่วนคุณย่าก็ชอบถักโครเชต์”

เด็กหญิงภควรรณเติบโตในตึกแถวสามคูหา ในตัวเมืองชลบุรี 

ครอบครัวของเธอทำธุรกิจขายอะไหล่รถยนต์ แม้พื้นที่ขายของหน้าบ้านมีบรรยากาศอึมครึมเพราะเต็มไปด้วยชั้นวางอะไหล่ แต่บ้านชั้นบนคล้ายเป็นโลกอีกใบที่ครอบครัวทองวานิชตั้งใจเลือกเฟอร์นิเจอร์เข้าชุด ตกแต่งบ้านด้วยโคมไฟสวยและกรอบรูป 

ภายใต้ชายคาบ้านที่สมาชิกชอบทำงานฝีมือ ยุ้ยจึงหลงรักการทำงานศิลปะตั้งแต่เด็ก แล้ววันหนึ่งในวัยประถม ความฝันว่าจะเป็นนักออกแบบตกแต่งภายในก็เกิดขึ้นเมื่อเธอได้ดูละครที่นางเอกรับบทเป็นมัณฑนากร

การมีความฝันและเป้าหมายที่ชัดเจนทำให้ยุ้ยมุ่งมั่นจนสอบติดคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และส่ิงที่ยุ้ยค้นพบในรั้วมหาวิทยาลัยมีมากกว่าการแต่งบ้านให้สวย 

“มันไม่เหมือนในละครที่นางเอกเลือกผ้าม่าน หรือไปเจอลูกค้าสวยๆ มันมีทฤษฎีและรายละเอียดค่อนข้างเยอะ อย่างการคิดเรื่องทิศทางแดดฝนและความสะดวกในการใช้งาน แต่ตอนนั้นเรามีแรงทำเพราะรู้สึกว่างานออกแบบภายในคือตัวเรา เราสนุกกับการเรียน 

“ตอนนั้นรู้สึกมั่นใจมากว่าชั้นจะทำอินทีเรียไปตลอด” 

Atelier Pakawan

“ในงานที่ทำมีตัวเราอยู่แค่ครึ่งเดียว หรือบางงานไม่มีเราอยู่เลย” 

แต่แล้วเมื่อวันที่เรียนจบปริญญาและได้เป็นมัณฑนากรเต็มตัว โลกที่ยุ้ยค้นพบในการทำงานจริงกลับไม่เหมือนที่เธอเคยฝัน

“งานอินทีเรียจะสนุกในช่วงเร่ิมต้น แล้วก็ไปสนุกอีกทีช่วงปลาย อาชีพนี้คือการแก้ปัญหา แรกๆ ที่ได้โจทย์มา โปรเจกต์ใหม่ ลูกค้าใหม่ เราจะรู้สึกมีไฟ อยากออกไอเดียทำให้มันเกิดขึ้น แต่หลังจากนั้นเราจะไปสนุกอีกทีตอนงานใกล้เสร็จ เริ่มเห็นมันเป็นรูปเป็นร่าง เพราะส่ิงที่อยู่ตรงกลางมันบั่นทอนมาก ทั้งลูกค้าที่แก้แบบ เจ้านายก็แก้แบบ พอแบบเสร็จเราก็ต้องมาแก้ปัญหากับผู้รับเหมาแล้วเจอว่าช่างทำผิดแบบ

“มันคือความกังวลว่าวันนี้จะมีปัญหาอะไรอีก หรืออย่างบางทีลูกค้าเปลี่ยนแบบไป หรือช่างทำผิดไปจนเราต้องแก้งานใหม่ กลายเป็นว่าสุดท้ายไม่เหลือส่ิงที่เราเคยออกแบบมาเลย”

“ทำไมการมีเราอยู่ในงานถึงสำคัญ” เราถาม ยุ้ยนิ่งคิดสักพักก่อนตอบ 

“ไม่อย่างนั้นมันจะเป็นส่ิงที่ใครๆ ก็ทำได้ เราอยากทำส่ิงที่มีความหมายกับตัวเอง

“อาจเหมือนตอนเด็กๆ ที่เราทำงานศิลปะหรืองานประดิษฐ์ พอได้เห็นงานที่เป็นเราชัดเจนแล้วเราภูมิใจ ในขณะที่งานอินทีเรียบางงานอาจดูไม่รู้ว่าเป็นเราทำ ทั้งๆ ที่เราเลือกเรียนอินทีเรียเพราะชอบวาดรูปและออกไอเดีย ได้ดีไซน์งานที่มีความเป็นเรา แต่ในชีวิตจริง บ่อยครั้งที่เราใส่ความเป็นตัวเองในเนื้องานแทบไม่ได้” หญิงสาวตอบ

ท่ามกลางความเครียดและความผิดหวังจากการทำงาน ยุ้ยค่อยๆ หาทางผ่อนคลายจิตใจด้วยการมองไปรอบๆ บ้าน เธอมองเห็นกระดาษ สี และอุปกรณ์ศิลปะมากมายที่เธอไม่ได้แตะต้องมานานกว่า 2 ปี 

แล้วความคิดบางอย่างก็ผุดขึ้นในหัว

“ที่เราสอบเข้าคณะมัณฑนศิลป์เพราะเราอยากวาดรูป แต่พอมาทำงานจริง อ้าว เราไม่ได้วาด เราเขียนแบบด้วยคอมพิวเตอร์ตลอด ซึ่งเราเป็นคนที่ไม่ชอบทำงานกับคอมพิวเตอร์เลย (ลากเสียงยาว) งานคอมฯ มักทรยศเราเสมอ เราอยู่กับโต๊ะตลอดเวลา แล้วงานวาดรูปมันหายไปไหน ตอนนั้นแหละที่เรากลับมาวาดรูปเล่นอีกครั้ง” ยุ้ยเล่าอดีตให้เราฟัง

“เรามองมันเป็นการพักผ่อนอย่างหนึ่ง แต่แรกๆ ก็วาดไม่ออก จนไปอ่านเจอว่าพี่ปอม ชาน ที่เป็นนักวาดภาพประกอบ เขาก็จบอินทีเรีย มันทำให้เราเห็นว่าคนเราเปลี่ยนสายกันได้ ซึ่งพอเราเห็นว่าพี่ปอมใช้ปากกาหมึกหัวพู่กัน เราเลยลองซื้อมาเล่นบ้าง เราลองวาดดอกไม้ ใช้พู่กันเขียนชื่อตัวเอง 

“เราเริ่มกลับมาสนุกกับการวาดรูปอีกครั้ง”

Atelier Pakawan

ระหว่างที่ยุ้ยกลับมาสนุกกับสิ่งที่ตัวเองเคยชอบ ในเวลาเดียวกันนั้นเอง งานประจำก็พาให้ยุ้ยได้มีโอกาสไปออกแบบรีสอร์ตจนเจอของตกแต่งสวยๆ ทั้งโคมไฟ แก้วน้ำ จานชามที่ทำจากเซรามิกดีไซน์เก๋ สิ่งนี้เหมือนเป็นโลกใบใหม่ที่เธออยากเข้าไปทำความรู้จัก 

“มากไปกว่าเรื่องของความสวยงาม เราเห็นว่าใครเป็นคนสร้างงานโดยดูจากลายเซ็นที่ก้นภาชนะ งานบางชิ้นมีอายุเป็นร้อยปี และจะอยู่ต่อไปอีกนาน เรารู้สึกว่ามันว้าวมาก ยิ่งได้รู้จักยิ่งทำให้เราอยากเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการนี้ 

“ถ้าอยากเอารูปที่เราวาดให้ไปอยู่บนเซรามิก มันทำได้ไหม” ยุ้ยเร่ิมตั้งคำถามเล็กๆ ในใจ

และเธอคงไม่รู้เลยว่าคำถามเล็กๆ นั้นจะพาเธอเดินทางไกลและเปลี่ยนชีวิตเธอไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ

“เห็นเซรามิกสวยๆ แล้วใจเต้นตุบๆ แต่กับการทำอินทีเรีย เราไม่เคยมีความรู้สึกแบบนี้”

“ความรู้สึกตอนนั้นคือเราตื่นเต้นมากกับเซรามิก ตอนที่ดูงานสวยๆ ใน pinterest เราเห็นความเป็นไปได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นจานชาม โคมไฟ เครื่องประดับ เห็นแล้วมันใจเต้นตุบๆ เลย ตื่นเต้น อยากทำแล้ว สนใจมาก รอไม่ได้แล้ว อยากพุ่ง ซึ่งกับการทำอินทีเรียไม่เคยมีความรู้สึกแบบนี้ เป็นแค่ความหลงใหลมากกว่า” ยุ้ยตอบด้วยแววตาเป็นประกาย พร้อมอธิบายต่อว่าเธอหาข้อมูลไปเรื่อยๆ จนเจอว่าใครๆ ก็สั่งพิมพ์งานวาดแล้วแปะลงบนจานชามเซรามิกสำเร็จรูปได้ จากไอเดียที่อยากลองวาดภาพบนเซรามิกเป็นงานเสริมเบาๆ ยุ้ยลองเอาไอเดียนี้ไปคุยกับพ่อ

“พ่อบอกว่า ‘แล้วทำไมไม่ปั้นตั้งแต่แรกไปเลยล่ะ หนูก็ไปเรียนปั้นเลย ไปหาที่เรียนสิ’ เราก็ ฮะ เหรอ เออ ก็ได้” ยุ้ยตอบพร้อมยิ้มกว้าง

หลังจากนั้นในวันหยุดสุดสัปดาห์ ยุ้ยก็ไปลองเรียนเซรามิกอย่างที่ตั้งใจในสตูดิโอ Som Ceramics ที่นั่นเธอได้ค้นพบศาสตร์แขนงใหม่ที่ถึงแม้จะไม่ง่าย แต่ก็น่าสนใจจนเธออยากรู้จักมันให้มากขึ้น 

ความอยากรู้อยากเห็นในเวลานั้น พาเธอบินไปเรียนคอร์สเซรามิกระยะสั้นถึงเมืองเซโตะ ประเทศญี่ปุ่น เมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีชื่อเสียงเรื่องงานเซรามิกสไตล์ดั้งเดิม อาจารย์ช่างปั้นจะเปิดบ้านให้ชาวต่างชาติมาเรียนแบบโฮมสเตย์ โดยสอนเป็นภาษาอังกฤษ และเพื่อเตรียมตัวสำหรับการเรียนคอร์สนี้ให้เต็มที่ ยุ้ยจึงตัดสินใจลาออกจากอาชีพที่เธอใฝ่ฝันตั้งแต่สมัยประถม

“ตอนนั้นเราลาออกได้แบบไม่อาลัยอาวรณ์ เพราะรู้ว่าถ้าอยากพัฒนาสกิลเซรามิก เราต้องรีบเรียนโดยเร็วที่สุด มันเป็นศาสตร์ที่ต้องฝึกอีกเยอะ ถ้ามัวแต่รอแล้วเมื่อไหร่จะได้ทำ

“ดูเหมือนเราเป็นคนกล้านะ แต่ก็กลัวมาก เพราะมันเป็นการไปญี่ปุ่นครั้งแรกในชีวิต แล้วเราก็พูดภาษาญี่ปุ่นไม่ได้เลย”

“พอได้ทำเซรามิก เวลาทั้งวันผ่านไปเร็วมาก”

ยุ้ยเล่าว่าเซโตะเป็นเมืองในขนบที่ทุกคนใช้ชีวิตเรียบง่าย การได้ใช้ชีวิตในสตูดิโอของช่างปั้นทำให้เธอเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าในหนึ่งวันของการเป็นช่างเซรามิกเป็นยังไง

“ตื่นมาก็ปั้น ปั้นเสร็จพักกินข้าว แล้วมาปั้นต่อ แล้วก็มีเวลาพักบ่าย 3 ดื่มชา แล้วก็ทำต่อจนถึงเย็น ถามว่าเหนื่อยไหม แน่นอนว่าการปั้นดินมันใช้กำลัง แต่มันรู้สึกเพลิน เราอยู่ได้แบบไม่อยากกลับเลย ตอนท้ายๆ รู้สึกว่าเราทำอาชีพนี้ได้ตลอดแน่นอน” ยุ้ยกล่าวอย่างมั่นใจ

มากไปกว่าความรู้เรื่องการทำเซรามิก การได้มาใช้ชีวิตในญี่ปุ่นทำให้ยุ้ยเร่ิมสนใจภาษาและวัฒนธรรมของประเทศนี้ เป็นอีกครั้งที่ความสงสัยใคร่รู้พาเธอดำดิ่งลงไปในศาสตร์ของการทำเซรามิกลึกขึ้นเรื่อยๆ

หลังกลับมาจากการเรียนคอร์สระยะสั้น ยุ้ยตัดสินใจสมัครเรียนคอร์สระยะยาวในโรงเรียนเซรามิกอีกแห่งของเมืองเซโตะ 

แต่คราวนี้วิชาทั้งหมดสอนเป็นภาษาญี่ปุ่น

Atelier Pakawan

Atelier Pakawan

สำหรับนักศึกษาต่างชาติที่จะเข้าโรงเรียนหรือมหาลัยในประเทศญี่ปุ่น ทุกคนต้องสอบวัดระดับภาษาให้ผ่านขั้นที่ 2 โดยขั้นที่ 5 คือระดับต่ำสุด นั่นทำให้ยุ้ยเร่ิมเรียนภาษาญี่ปุ่นอย่างหนักในเมืองไทย เพื่อสอบวัดระดับให้ผ่านถึงขั้นที่ 3 ในเวลาเพียง 1 ปี แล้วไปเรียนภาษาต่อที่ญี่ปุ่นอีก 1 ปี เพื่อสอบให้ผ่านขั้นที่ 2 เท่ากับว่าหลังจากลาออกมา เธอใช้เวลาเรียนเซรามิกและภาษานานถึง 4 ปี ก่อนจะได้เข้าเรียนคอร์สระยะยาว 2 ปี

“ตอนที่เราไปเรียนระยะสั้น เราได้เห็นกรรมวิธีแต่ละขั้นตอนของเซนเซ เขาดูตั้งใจเบอร์แรงมาก เรารู้สึกว่าคนประเทศนี้น่าสนใจ และถ้าเรารู้ภาษาเขาก็จะยิ่งเข้าใจเขามากขึ้น ตอนที่ใช้ภาษาอังกฤษเรารู้ว่าสิ่งที่เขาพยายามสื่อมันยังออกมาไม่หมด ญี่ปุ่นมันมีความลึกกว่านั้น ถ้าเราเข้าใจภาษาก็น่าจะเข้าใจตัวตนของเขา” ยุ้ยอธิบายเมื่อเราถามว่าทำไมถึงเลือกเรียนภาษาญี่ปุ่น แทนที่จะเลือกเรียนในประเทศอื่นที่ใช้ภาษาอังกฤษ 

“จากที่เคยคิดว่าภาษาญี่ปุ่นน่ารัก แต่พอได้เรียนจริงคือไม่น่ารักเลย (หัวเราะ) ภาษาเขามีพิธีรีตอง มีกฎว่าพูดส่ิงนี้ต้องกลับมาเป็นแบบนี้ มีการผันกริยาที่ยาวมาก ประโยคญี่ปุ่นบางทียาวทั้งที่จริงความหมายสั้นนิดเดียวเอง ทั้งหมดนี้ทำให้เราปวดหัวมาก” 

ยุ้ยเล่าต่อว่า ในเวลานั้นนอกจากการเรียนภาษาญี่ปุ่น เธอยังต้องแบ่งเวลาครึ่งวันมารับงานฟรีแลนซ์ทุกอย่างเพื่อหารายได้ชดเชยเงินเดือนที่เคยได้จากงานประจำ ในช่วงเวลาที่เครียดและกดดันขนาดนี้ อะไรทำให้เธอกัดฟันสู้ ทั้งๆ ที่เธอสามารถเปลี่ยนใจไปเรียนที่อื่นหรือหางานใหม่ได้อย่างไม่ยากเย็น เราตั้งคำถาม

“ก็มีคิดนะว่าเพื่อนเราทำงานไปถึงไหนกันแล้ว บางคนได้ไปทำงานต่างประเทศ แต่มาถึงขนาดนี้แล้วถ้าเราเลิก โดนพ่อด่าแน่นอน! (หัวเราะ) ยังไงเราต้องสอบ ยังไงก็ต้องเข้าให้ได้ เพราะเราทิ้งอาชีพเดิมมาแล้ว และเคยไปถึงญี่ปุ่นมาแล้ว จะให้เรากลับไปทำงานเดิม มันไม่ใช่ตัวเลือก เราต้องไปให้สุด เป้าหมายคือต้องเข้าโรงเรียนให้ได้ 

“เรารู้ว่าเรากำลังมุ่งมั่นกับสิ่งนี้ เลยไม่รู้สึกเครียดเท่าไหร่ เราเครียดว่าเราจะได้ภาษาถึงที่เราต้องการไหม เครียดว่าจะไม่ได้เรียนมากกว่า”

เจ้าของสตูดิโอเซรามิกในวันนี้มองเราด้วยสายตามุ่งมั่น

ถ้ามัวแต่ขี้ป๊อด เราก็อาจไม่ได้มีผลงานดีๆ กลับบ้านเลย

ผลสุดท้าย ยุ้ยสอบผ่านและได้เข้าเรียนที่ญี่ปุ่นสมดังหวัง และเมื่อได้เข้าเรียน ยุ้ยรู้ตัวทันทีว่านี่เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง 

“เหมือนเราเจอส่ิงแวดล้อมที่ใช่ เจอเพื่อนที่เราเป็นตัวเองได้เต็มที่ รู้สึกว่าเข้าได้กับทุกคน ถึงแม้การเรียนจะยาก มีอุปสรรค แต่พอทำงานแล้วก็เร่ิมมีฟีดแบ็กที่ดีกลับมา เลยรู้สึกว่ามันเป็นที่ของเรา เป็นที่ที่เราสบายใจสุดๆ” ยุ้ยเล่าให้ฟังด้วยรอยยิ้มเต็มแววตา

ช่วงเวลา 2 ปีในญี่ปุ่นทำให้ยุ้ยได้เรียนรู้หลายส่ิง ชั้นเรียนของเธอเป็นชั้นเรียนเล็กๆ ที่มีนักเรียนเพียง 15 คน มีคนอายุที่หลากหลายตั้งแต่เด็กที่เพิ่งจบ ม.ปลาย จนถึงคุณตาคุณยายอายุ 60 ปี 

ในห้องเรียนยุ้ยได้เรียนรู้บทเรียนที่สำคัญหลายอย่าง อาจารย์ที่นั่นสอนให้ช่างปั้นฝึกหัดทุกคนใส่ใจและพิถีพิถันกับงาน มีบทเรียนหนึ่งที่อาจารย์ให้นักเรียนทำแก้วที่ดีที่สุดหนึ่งใบ โดยให้รีเสิร์ชด้วยการวาดแก้วรูปแบบต่างๆ ถึง 100 แบบ แล้วจัดลงกราฟเพื่อหาสไตล์ที่แต่ละคนชอบมากที่สุด งานนี้นอกจากทำให้นักเรียนทุกคนเห็นความเป็นไปได้ที่ไม่รู้จบ ยังทำให้ยุ้ยได้ฝึกฝีมือวาดสีน้ำจนทักษะนี้พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วควบคู่ไปกับความรู้เรื่องเซรามิก

“ที่จริงนักเรียนวาดรูปธรรมดาก็ได้ อาจารย์ไม่ได้บังคับว่าต้องวาดสวย แต่เรารู้สึกว่าในฐานะที่เราเป็นนักวาดก็ขอสักหน่อย เราเลยจัดเต็มลงสีน้ำอย่างสวยงาม ซึ่งเรารู้สึกขอโทษตัวเองเหมือนกันใน 10 รูปแรก เพราะพอวาดไปแล้วต้องวาดสีน้ำทั้ง 100 ใบ มันเยอะมากเลย แต่ก็กลายเป็นว่ามันช่วยพัฒนาสกิลสีน้ำของเรา ว่าลงแสงเงายังไงให้เหมือนกับในรูป” ยุ้ยอธิบายอย่างภูมิใจ

เวลาสองปีในญี่ปุ่นพายุ้ยไปเรียนรู้หลายส่ิงหลายอย่าง อาจารย์จัดทริปเล็กๆ พานักเรียนไปทัวร์สตูดิโอของช่างปั้นดินเผามืออาชีพ และในวันหยุดยุ้ยยังออกไปดูงานศิลปะในพิพิธภัณฑ์ แกลเลอรีต่างๆ ประสบการณ์เหล่านี้ช่วยเปิดโลกให้เธอได้เห็นว่าศิลปะที่ดีมีหลากหลายรูปแบบ และได้เรียนรู้ว่าสิ่งสำคัญที่ชาวญี่ปุ่นให้คุณค่าในงานศิลปะคือกระบวนการคิดและกระบวนการทำงาน

การออกไปเปิดหูเปิดตา นอกจากจะทำให้หญิงสาวได้พัฒนามุมมองที่มีต่องานเซรามิก ยุ้ยยังได้รับแรงบันดาลใจจากงานภาพประกอบสไตล์ญี่ปุ่นสวยๆ ที่เธอได้พบเจอในร้านหนังสือหลายแห่งทั่วเมืองเซโตะอีกด้วย

และแล้วบทเรียนสุดท้ายก็มาถึง ก่อนจบการศึกษา นักเรียนในชั้นทุกคนต้องผลิตชิ้นงานเพื่อจัดนิทรรศการ และโปรเจกต์ที่ยุ้ยเลือกทำคืองานเพนต์ชุดกาน้ำชาด้วยหมึกสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นเทคนิคดั้งเดิมของญี่ปุ่น โดยยุ้ยออกแบบลวดลายใหม่ด้วยลายเส้นของตัวเองเป็นภาพดอกไฮเดรนเยีย 

ความยากของงานนี้คือการวาดลาย ยุ้ยอธิบายว่าการเพนต์บนเซรามิกต่างจากการวาดภาพสีน้ำตรงที่กระดาษสีน้ำสามารถอุ้มน้ำไว้ได้ระยะหนึ่ง ศิลปินยังสามารถปรับแก้ไขชิ้นงานได้เมื่อลงสีไปแล้ว ต่างจากเซรามิกที่มีเนื้อเป็นรูพรุน เมื่อเอาสีไปแตะจะซึมทันที แก้ไขไม่ได้

“สรุปคือพลาดแล้วพลาดเลยนั่นแหละ เราเลยต้องปั้นเผื่อไว้เยอะมากเพื่อเป็นของสำรอง สมมติเราปั้นกาน้ำชามาอย่างดี กว่าจะประกอบเป็นกา พอปั้นเสร็จปุ๊บ ถ้าเราวาดแล้วสีมันไหลก็คือจบเลย สิ่งที่ทำมา 2-3 อาทิตย์ ต้องเร่ิมใหม่

“จริงๆ เซนเซให้ปั้นอะไรก็ได้ แต่เราเลือกที่จะปั้นกาน้ำชา เพราะสำหรับการปั้นดินด้วยแป้นหมุน เราว่ากาน้ำชาเป็นส่ิงที่มีรายละเอียดเยอะที่สุดแล้ว เราต้องปั้นพวยกา ทำไส้กรอง ทำฝาให้พอดี พอปั้นเสร็จ เทแล้วน้ำต้องไม่ไหลออกทางฝา มันเป็นศาสตร์ที่ยากที่สุด แล้วการลงสีบนวัตถุทรงกลม มันก็มีสิทธิจะไหลไม่เป็นอย่างที่เราต้องการ

“ตอนจะเร่ิมทำโปรเจกต์นี้เราก็กลัวเหมือนกันว่ามันจะรอดเหรอ ไปลองเล่นกับงานเคลือบดีไหม แต่เพื่อนคนหนึ่งก็เตือนเราว่าการเพนต์เซรามิกน่าจะเป็นส่ิงที่ถ่ายทอดความเป็นยุ้ยจังได้ดีที่สุดนะ เราเลยคิดว่าจะลองดู”

“ในเมื่อเซนเซให้เลือกปั้นอะไรก็ได้ ทำไมถึงเลือกสิ่งที่ยากที่สุด ไม่กลัวเรียนไม่จบเหรอ” เราถามออกไปด้วยความสงสัย ยุ้ยหัวเราะเบาๆ ก่อนตอบว่า

“เราเป็นคนที่ดึงดูดกับส่ิงที่ยากมาตลอดนะ เราคิดว่าก็ลองทำดู จะได้รู้ว่าเราทำได้ถึงขั้นไหน เพราะถ้าเราทำได้คือทำได้เลยถูกไหม แต่ถ้าทำไม่ได้ เราก็จะได้รู้ว่า เออ ยังไม่ได้ เราก็จะได้พยายามต่อ เราว่ามันท้าทาย ในเมื่อเรามาถึงที่นี่แล้วเราจะไม่ทำกาหรอ เราก็ต้องเอาให้สุด เซนเซสอนอะไรได้สอนหนูมาเลย

“ตอนที่ลองครั้งแรกคืองานเจ๊ง เราก็คิดว่ากว่าเราจะทำได้คงใช้เวลาหลายสิบปีกว่าจะเก่งเท่าอาจารย์ แต่พอเอาเข้าจริง พอเราเริ่มฝึกไปสัก 2 อาทิตย์ เราก็พอจับทางได้ จริงๆ ใช้เวลาสั้นกว่าที่คิดนี่ ก่อนหน้านั้นเรากังวลไปเองว่าเราไม่น่าจะทำได้ แต่พอลอง เราก็เริ่มพัฒนาไปในทุกๆ ครั้ง

“ถ้าตอนนั้นเราไม่ตัดสินใจว่าเราจะลองดูกับมันสักตั้ง เราอาจจะไม่ได้มีผลงานดีๆ กลับมาบ้านเลย 

“ขอกลับมาอยู่กับความอุ่นใจที่บ้าน”

เมื่อเรียนจบยุ้ยเดินทางกลับเมืองไทยด้วยความฝันว่าจะทำสตูดิโอเซรามิกของตัวเอง แม้ในไทยจะยังไม่ได้มีศิลปินเซรามิกมากมายเท่าญี่ปุ่น แต่ยุ้ยก็พอเห็นช่องทางเป็นไปได้ในเส้นทางนี้ 

ย้อนเวลาไปหลายปีก่อนลาออกและเดินทางไปเรียนต่อ ครอบครัวของเธอได้ปลูกบ้านหลังใหม่ โดยยุ้ยรับหน้าที่ออกแบบตกแต่งภายในเองทั้งหมด ในเวลานั้นเธอเร่ิมมีความสนใจการทำเซรามิกแล้ว พ่อของเธอเลยให้ช่างทำสตูดิโอเล็กๆ นอกบ้านเอาไว้ พอยุ้ยเรียนจบกลับมา สตูดิโอแห่งนี้เลยเป็นเหมือนจุดหมายที่ยุ้ยรู้อยู่ในใจว่าเธอจะกลับมาอยู่ที่บ้านกับพ่อแม่อีกครั้ง

“ที่จริงเราอยู่คนเดียวมาตลอดเลยนะ เราอยู่คอนโดมาตั้งแต่มัธยม แต่พอไปอยู่ญี่ปุ่น เราอยู่คนเดียวจริงๆ ไม่ว่าจะมีปัญหาอะไรเราต้องแก้เองคนเดียว ในเวลานั้นจำได้ว่าตอนเดินกลับบ้านเวลากลางคืน เราเห็นบ้านที่เปิดไฟอยู่ เรารู้สึกอิจฉา อยากมีบ้านที่เปิดไฟรอเรา ยิ่งอพาร์ตเมนต์ที่เราอยู่ใกล้กับโรงเรียนกวดวิชา เราเลยเห็นพ่อแม่ที่มารอรับลูกทุกวัน ทำให้เรายิ่งอยากกลับมาอยู่กับความอุ่นใจที่บ้าน

“คำว่าบ้านของเราหมายถึงสถานที่ที่มีพ่อกับแม่เรา” หญิงสาวอธิบายพร้อมทอดสายตาไปรอบตัวบ้าน

มองจากภายนอก ณ จุดที่เธอยืนอยู่ดูเหมือนมีทุกอย่างเพียบพร้อม ทั้งบ้านที่อบอุ่นและสตูดิโอที่รอให้ยุ้ยเร่ิมเข้าไปสร้างผลงาน แต่ในโลกแห่งความจริง การจะสร้างสตูดิโอเซรามิกในฝันกลับไม่ใช่เรื่องง่าย ยุ้ยเล่าว่าใช้เงินหลักแสนเพื่อลงทุนซื้ออุปกรณ์ให้พร้อมผลิตชิ้นงานได้จริง ช่างปั้นจบใหม่อย่างเธอจึงต้องทำงานวาดภาพประกอบนานเป็นปี ค่อยๆ เก็บหอมรอมริบ ทยอยซื้อของทีละชิ้นประกอบเป็นสตูดิโอ

“ช่วงที่วาดรูปเราก็ห่างเซรามิกไป ทำให้เราเร่ิมกลัวมากขึ้นว่าจะทำได้หรือเปล่า จะหาของมาผลิตได้ไหม เพราะส่วนผสมทุกอย่างที่เราเรียนมาเป็นภาษาญี่ปุ่น เราไม่รู้ว่าในภาษาไทยคือคำว่าอะไร หาซื้อที่ไหน มีแต่ส่ิงที่เราไม่รู้เต็มไปหมด เหมือนเราตัวคนเดียว” 

เวลาผ่านไปเป็นปี สตูดิโอเร่ิมเป็นรูปเป็นร่าง เตาเผา แป้นหมุน โต๊ะนวดดิน และส่วนผสมมากมายวางประจำที่ รอเพียงช่างปั้นก้าวเข้ามาสร้างสรรค์ผลงาน 

แต่ก็ยังไร้วี่แววของเจ้าของสตูดิโอ

“เราใช้เวลานานจนทุกคนถามว่าเมื่อไหร่จะทำเซรามิกสักที แรกๆ เราก็ตอบไปว่าเรายังไม่พร้อม วัตถุดิบ เครื่องมือเรายังไม่พร้อม แล้วเพื่อนก็ถามว่า เมื่อไหร่จะพร้อม เราก็ตอบไปว่าเราไม่รู้

“ที่จริงเรากลัวว่าที่เราไปเรียนกลับมาจะทำไม่ได้จริง เพราะเซรามิกเป็นเรื่องของการลองผิดลองถูก เราไม่รู้ว่าที่เราเผาออกมาจะใช้ได้ไหม เรากลัวว่าถ้าเจอกับความผิดหวังเยอะๆ แล้วเราจะท้อ”

แต่แทนที่จะทิ้งให้สตูดิโอในฝันรอจนฝุ่นจับ ยุ้ยเริ่มรวบรวมความกล้า เร่ิมเข้าไปทำสิ่งเล็กๆ ที่มั่นใจว่าทำได้และมีความสุขที่จะทำ อย่างการปั้นดิน หรือหาเรื่องเข้าไปนั่งวาดรูปในสตูดิโอ

Atelier Pakawan

Atelier Pakawan

“มันเป็นความเครียดและกลัวหนักมาก แรกๆ แค่เดินไปสตูฯ เราก็รู้สึกสำเร็จนิดหนึ่งแล้ว เราเร่ิมจากการไปทุกวัน ปั้นนิดๆ หน่อยๆ พอทำไปเรื่อยๆ มันหายกลัวไปเอง เราเลยได้เรียนรู้ว่าจริงๆ เรากลัวได้ แต่กลัวแล้วก็ต้องทำด้วย จะบอกว่าอย่ากลัวก็ไม่ได้ เพราะเรารู้ตัวว่าเราเป็นคนขี้กลัว ขี้วิตกกังวล แต่เหตุการณ์นี้แหละที่ทำให้เราได้เรียนรู้ว่าถ้ากลัวแล้วเราควรลองหย่อนขาลงไปทำนิดๆ หน่อยๆ ก่อน

“ยังไม่ต้องลงไปเต็มตัวก็ได้ แค่ลองทำให้คุ้นเคย ถึงตอนแรกจะเป็นการทำโดยกลัวทุกวัน แต่พอวันหนึ่งที่เราวางแผนว่าจะผสมเคลือบและทำแม่พิมพ์ นี่เป็นสิ่งที่เราไม่ถนัดตอนเรียนและกลัวมาตลอด กลายเป็นว่าพอลองทำจริง อ้าว 20 นาทีก็เสร็จแล้ว สิ่งที่กลัวมาหลายอาทิตย์แป๊บเดียวเสร็จ”

หลังจากผ่านอุปสรรคทางใจที่ยากที่สุดมาได้ ยุ้ยเร่ิมเข้ามาทำงานในสตูดิโอบ่อยขึ้น เธอได้ค้นพบส่ิงใหม่ว่าการได้กลับมาปั้นดินทำให้เธอมีสมาธิ ส่ิงนี้ช่วยส่งเสริมให้เธอวาดภาพได้ดีขึ้น เร่ิมมีไอเดียใหม่ๆ ที่อยากวาดผุดขึ้นมาระหว่างปั้นดิน ทำให้เธอกลับไปวาดภาพสีน้ำได้มากขึ้น แล้วก็เร่ิมมีไอเดียมากมายมาวาดลายสวยๆ บนถ้วยชามที่เธอปั้น 

เหมือนงานศิลปะที่เธอรักทั้งสองส่ิงช่วยส่งเสริมกันและกันอย่างลงตัว 

Atelier Pakawan

Atelier Pakawan

Atelier Pakawan

ในปัจจุบันเมื่อทุกอย่างเร่ิมเข้าที่เข้าทาง ตอนนี้ยุ้ยเร่ิมออกแบบและลงมือปั้นจานชามเป็นลวดลายสีน้ำเงินอ่อนหวานในสไตล์ของตัวเอง เธอมีแผนจะวางขาย และในอนาคตเธอยังหวังว่าจะสามารถเปิดเวิร์กช็อปสอนคนที่สนใจในสตูดิโอของเธอเอง

แม้เหมือนจะเริ่มเข้าที่เข้าทาง แต่ยุ้ยย้ำกับเราว่าทุกวันนี้เธอยังอยู่ในขั้นลองผิดลองถูก เพราะธรรมชาติของการทำเซรามิกคือการทดลอง และบ่อยครั้งงานที่ออกมาจากเตาเผาก็ไม่ใช่งานที่หวังไว้ในใจ

“แล้วแบบนี้จะเป็นปัญหาเหมือนตอนทำงานตกแต่งภายในว่ามีส่ิงที่เราควบคุมไม่ได้อีกแล้วหรือเปล่า” เราโยนคำถามให้ยุ้ยคิด

เธอนิ่งไปสักพักก่อนตอบ “ถ้าเราทดลองมามากพอ เราจะรู้ว่ามันเผาออกมาได้แน่นอน หรือถ้าไม่ได้ อย่างน้อยเราก็รู้ว่าส่ิงที่ไม่ได้ดั่งใจมันไม่ใช่ไม่ดี มันอาจเป็นอีกทางเลือกในการสร้างงานของเราก็ได้

“เซรามิกเหมือนเป็นศาสตร์ที่ทำให้เราได้ลองผิดลองถูก ปล่อยวางในระดับหนึ่ง แล้วพอเร่ิมใหม่เราจะปั้นเร็วขึ้น เก่งขึ้น แล้วก็ออกมาดีกว่าชิ้นเดิม เราจะพัฒนาไปเอง ตอนนี้เวลาใครถามว่าวางแผนอนาคตยังไง เราจะตอบเลยว่าเราไม่รู้ ต้องลองทำก่อน

“เราจะใช้คำว่า ลองดู แบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ในชีวิต”

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย