ชีวิตแฮปปี้กับขวบปีไร้แผนอนาคตของ Pomme Chan นักวาดภาพประกอบระดับโลก

Highlights

  • Pomme Chan หรือ ปอม–ธัชมาพรรณ จันทร์จำรัสแสง คือศิลปินนักวาดภาพประกอบชาวไทยผู้เคยร่วมงานกับแบรนด์ระดับโลกมาแล้วมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Nike, The Telegraph, MTV และ Oscars
  • นอกจากการมีสตูดิโอ Happy Pomme Studio เพื่อรับงานเชิงพาณิชย์ ปอมยังมีแบรนด์เซรามิก Stories Ceramics และแบรนด์ของตกแต่งบ้าน SWOON อีกด้วย
  • แม้งานที่ทำจะหลากหลาย ทั้งงานวาดมือและกราฟิกแต่เบื้องหลังลายเส้นของปอมมีจุดร่วมสำคัญคือความเข้าใจระบบ grid แบบทะลุปรุโปร่งซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของงานออกแบบทุกแขนงจากพื้นฐานการเรียนในคณะมัณฑศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

pomme chanป้ายไวนิลขนาดยักษ์หน้าห้างสามย่านมิตรทาวน์, โปสเตอร์งานออสการ์ปี 2015, ลายรองเท้าผ้าใบ Nike และแพ็กเกจจิ้งสกินแคร์แบรนด์ดัง ชาจากอังกฤษ ไปจนถึงน้ำจิ้มไก่ยี่ห้อคลาสสิกคู่ครัวไทย และล่าสุดยังได้ร่วมงานกับ G-Shock ในการนำเสนอนาฬิการุ่นลิมิเต็ด G-Shock Full Metal Grid ในลุคสาวเท่ Edgy Minimal อีกด้วย

ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ เราเชื่อว่าคุณต้องเคยผ่านตางานของ Pomme Chan มาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งชิ้น

สำหรับคนที่ติดตามแวดวงกราฟิกดีไซน์และภาพประกอบคงรู้จัก Pomme Chan หรือ ปอม–ธัชมาพรรณ จันทร์จำรัสแสง ดีอยู่แล้วในฐานะศิลปินผู้เรียนจบด้านออกแบบภายใน เคยเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ประจำเอเจนซีโฆษณาชื่อดัง ก่อนบินไปเรียนต่อลงลึกด้านกราฟิกดีไซน์ถึง London College of Communication ประเทศ​อังกฤษ

ที่นั่น ปอมทำงานหนักทั้งงานศิลปะและงานพาร์ตไทม์เพื่อก่อร่างสร้างชื่อ กระทั่งศิลปินตัวเล็กแต่ฝันใหญ่จากเมืองไทยได้โอกาสพิเศษ​คือการทำงานกับหนังสือพิมพ์ใหญ่ The Telegraph ในที่สุด ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ​ที่หลังจากนั้นชื่อ Pomme Chan จะเป็นที่พูดถึงในหมู่คนรักงานศิลปะและลูกค้าแบรนด์ยักษ์ใหญ่ทั่วโลก ยืนยันได้ด้วยการที่ปัจจุบันเธอมีเอเจนซีคอยจัดการงานให้ทั้งในอังกฤษ เยอรมนี และอเมริกา

หลังจากสิบกว่าปีในลอนดอน ปอมหอบเอาความฝัน ผลงาน และชื่อเสียงกลับมาเปิดสตูดิโอในเมืองไทยในชื่อ Happy Pomme Studio เพื่อรับงาน illustration based ทุกรูปแบบตั้งแต่งานวาดผนังห้องนอนเด็กลายชวนฝันดีไปจนถึงออกแบบลวดลายลำโพงหรูหรา พร้อมๆ กับที่ทุ่มเททำงานศิลปะส่วนตัวเพื่อตอบความฝันการเป็น fine artist ในวันที่อายุ 40

เรื่องราวด้านบนคือสิ่งที่เรารับรู้เกี่ยวกับปอมมาตลอด แต่ไม่ใช่สิ่งที่เราจะคุยกันในวันนี้

ไม่นานก่อนหน้าที่จะพบกัน เราแอบรู้มาว่าสิ่งที่ทำให้ศิลปินมากความสามารถอย่างปอมใจเต้นวันนี้กลับเป็นของในชีวิตประจำวันอย่างถ้วยโถโอชาม และของแต่งบ้านสารพัด นั่นคือที่มาของ Stories Ceramics แบรนด์เซรามิกลายเก๋ไก๋ และล่าสุดอย่างการเปิดร้าน SWOON แบรนด์เฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านที่มีหน้าร้านน่ารักให้ไปเลือกสรรกันที่ซอยสุขุมวิท 24

ถึงจะดูทำงานหลากหลาย ไร้กรอบจำกัด แต่เมื่อมองให้ดีเราก็พบว่างานของปอมล้วนมีจุดร่วมซ่อนอยู่

สิ่งนั้นคือความสมมาตร ลงตัว และมีระบบระเบียบ ไม่ว่าจะเป็นงานกราฟิกหรือวาดมือด้วยลายเส้นพลิ้วไหวอันมีพื้นฐานมาจากระบบ grid ที่แข็งแรงอย่างคนที่วาดรูปทุกวันมานานกว่า 20 ปี บวกกับความสามารถในการมองภาพเป็นสามมิติตามแบบฉบับของคนที่เรียนมาทางด้านออกแบบภายในโดยเฉพาะ

ย้อนไปไกลกว่านั้น ปอมตกตะกอนกับตัวเองว่าสิ่งที่ทำให้เธอประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้มีที่มาจากวัยเด็กและครอบครัวซึ่งแม้จะเข้มงวดและเป๊ะระดับนาที แต่กลับเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้วันนี้ใครๆ ก็รู้จักชื่อ Pomme Chan

ในวาระที่อีกหนึ่งปีจะถึงขวบปีที่เธอวางเป้าหมายไว้ เราจึงชวนปอมมาทบทวนชีวิตที่ผ่าน และหากจะมีสักอย่างที่เราได้จากเรื่องราวของเธอ มันคงเป็นความคิดที่ว่าพื้นฐานอันแข็งแรงนำมาสู่ชีวิตที่มีความสุข เหมือนชีวิตของปอม นักวาดสาวเจ้าของ Happy Pomme Studio

เล่าให้ฟังหน่อยว่าทำไมตอนนี้คุณถึงหันมามีแพสชั่นกับของแต่งบ้าน

ปอมจบด้านออกแบบภายในจากคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร แต่ไม่ได้ชอบมิติการออกแบบภายในเชิงลึก เราชอบแค่ด้านการตกแต่งที่สวยงาม ชอบจัดแต่งห้อง พอเราทำงานเป็นนักวาดภาพมาได้ประมาณสิบปีก็เริ่มได้ทำวอลเปเปอร์ให้โปรเจกต์ของลูกค้า จากนั้นก็เริ่มทำหมอน วอลเปเปอร์ ผ้าม่านลวดลายของตัวเอง ช่วงประมาณ 7 ปีที่แล้วเราเลยเปิดร้านชื่อ What If ร่วมกับพาร์ตเนอร์ เป็นร้านขายกาแฟและโปรดักต์ตกแต่งบ้าน เหมือนหยิบเอาเฉพาะส่วนที่เราชอบในงานตกแต่งภายในมาทำงานและใช้ภาพประกอบเป็นเครื่องมือสื่อสาร

ตอนนั้นเราไม่ได้จริงจังกับมันมาก และยังไปๆ มาๆ ระหว่างกรุงเทพฯ-ลอนดอน เปิดร้านอยู่ 2-3 ปีสุดท้ายก็ปิดตัวแต่ว่าความฝันมันยังอยู่ แล้วเราก็วนเวียนไปทำอย่างอื่น ทำโน่นทำนี่ จนถึงวัยที่เราซื้อคอนโดเป็นของตัวเอง เริ่มตกแต่งบ้าน เริ่มมองเห็นสิ่งที่ขาดหายในตลาด เราเลยเริ่มออกแบบลายวอลเปเปอร์สำหรับบ้านตัวเอง อยากได้พรมก็ออกแบบพรม ต่อยอดมาเรื่อยๆ กลายเป็นว่าเรากลับมาสานฝันที่ค้างคาเอาไว้ แบรนด์ SWOON ที่เพิ่งเปิดก็จะทำวอลเปเปอร์และพรมเป็นหลัก

ภาพ : SWOON

อะไรคือสิ่งนั้นที่ขาดหายในตลาดของตกแต่งบ้าน

สำหรับเราคือสะพานระหว่างนักออกแบบภายในกับกราฟิกดีไซเนอร์ เพราะหลายครั้งที่ดีไซเนอร์ออกแบบคอนเซปต์การตกแต่งเสร็จแล้วแต่หน้างานกลับหาวอลเปเปอร์ตามที่ออกแบบไว้ไม่ได้ จากที่สังเกตเราเห็นว่ายังไม่มีศิลปินสายกราฟิกที่ตอบโจทย์งานออกแบบภายในโดยตรงและลุกขึ้นมาทำงานโปรดักชั่นเอง ในขณะที่เราจบด้านออกแบบภายในมา เรารู้เรื่องของ grid เป๊ะพอสมควร รู้เรื่องมิติ มองภาพเป็นสามมิติโดยอัตโนมัติ พอเราทำงานด้านภาพประกอบด้วยจึงเหมือนเป็นสะพานที่นำสองศาสตร์มารวมกัน คือเข้าใจความต้องการของนักออกแบบภายใน ทำภาพกราฟิกได้ และสามารถผลิต ติดตั้งและจบงานให้ลูกค้าได้ด้วย

ที่ร้านเราใส่ใจลูกค้ามาก เวลาลูกค้ามาติดต่อให้ทำวอลเปเปอร์ ก่อนอื่นเราจะให้ลูกค้าถ่ายรูปห้องมาให้แล้วก็ทำตัวอย่างไปให้ลูกค้าดูถึงที่เพราะเราต้องย่อขยายไซส์ของลายให้เหมาะกับผนัง เราเชื่อในเรื่องของสเกลว่าเมื่อลายวอลเปเปอร์ของเราอยู่กับการตกแต่งภายในที่ต่างกันมันต้องการไซส์ไม่เท่ากัน หรือจะเปลี่ยนสีแบ็กกราวนด์ก็ได้ หรือบางบ้าน เช่น บ้านของวุ้นเส้น (วิริฒิพา ภักดีประสงค์) เราก็จบงานด้วยการเพนต์สีเพิ่มให้ด้วย

พรมก็เหมือนกัน เราทอทีละผืน มีเส้นใยนานาให้เลือก สามารถปรับไซส์ เปลี่ยนสีให้ลูกค้าได้ ส่วนงานเซรามิก นอกจากออกแบบแล้วเรายังผลิต ออกแบบบรรจุภัณฑ์  แพ็กและส่งถึงที่ เราไม่ใช่ศิลปินที่ทำงานวาดภาพอย่างเดียว แต่ชอบคุมงานจนถึงปลายทาง ซึ่งการที่ศิลปินคนหนึ่งจะสามารถจบงานด้วยตัวเองได้แบบนี้ต้องใช้ประสบการณ์พอสมควร โชคดีว่าเรามีอายุแล้ว (หัวเราะ) เรามีประสบการณ์ทั้งการเปิดร้าน ปิดร้าน เปิดใหม่ ย้ายร้าน เปลี่ยนทีม เรียนรู้โปรดักชั่น ผิดพลาดมาเยอะแยะมาก ทำเจ๊งเป็นร้อยก็มีมาแล้ว

เวลาออกแบบของแต่งบ้านสักชิ้นคุณให้ความสำคัญกับอะไร

ขั้นแรก เราต้องทำให้ดูไม่รู้ว่าเป็นงานของ Pomme Chan เพราะว่างานออกแบบภายในคือการเป็นบรรยากาศ โจทย์คือเราจะเป็นบรรยากาศยังไงที่กำลังดี ให้ความเป็นเราไม่เด่นเกินหน้าเฟอร์นิเจอร์ สอง คือสินค้าต้องขายได้จึงต้องดูเทรนด์โลกประกอบด้วย

อย่างที่สามคือลวดลายบนโปรดักต์ต้องวาไรตี้พอที่จะเข้ากับบรรยากาศที่แตกต่างกันได้ เราต้องสร้างภาพในหัวว่าบ้านส่วนมากใช้เฟอร์นิเจอร์สีอะไรและอะไรที่จะเข้ากับเฟอร์นิเจอร์นั้นๆ คนส่วนมากหาผนังขนาด 3 เมตรหรือ 2 เมตร หรือบ้านสีฉูดฉาดควรจะใช้ลายวอลเปเปอร์แบบไหน

ไม่ว่าจะทำงานวาด ออกแบบแพ็กเกจจิ้ง เซรามิก หรือของแต่งบ้านเราก็สังเกตว่างานของคุณมีพื้นฐานจากแบบแผนและระบบ grid เสมอ ความมีแบบแผนนี้เชื่อมโยงกับการเรียนออกแบบภายในไหม

แน่นอน ตอนเรียนที่ศิลปากร เรื่องเบสิกที่สุดที่เราต้องรู้จักคือระบบ grid เพราะเราต้องวาดภาพ perspective อาคาร ต้องตีตาราง คำนวณความเป๊ะ ทำให้เราชินกับระบบแบบนี้ บางคนอาจมองว่า grid เป็นตารางสองมิติ แต่จริงๆ ระบบ grid ก็เป็นสามมิติได้เหมือนเวลาออกแบบสถาปัตยกรรมหรือออกแบบภายใน

พอเราไปเรียนด้านกราฟิกดีไซน์และทำงานด้านภาพประกอบซึ่งมีระบบ grid แบบสองมิติ เราก็ใช้พื้นฐานความคิดแบบสามมิติของงานออกแบบภายในใส่ลงไปในงาน ภาพวาดของเราก็มีมิติขึ้นมาเอง ทุกวันนี้น้องๆ ในทีมมักจะพูดกันเสมอว่างานของพี่มีมิติความลึกซึ่งยากที่จะทำได้

รู้ตัวตอนไหนว่าการมองภาพในระบบสามมิติคือจุดเด่นของ Pomme Chan

ตอนคนบอกเยอะๆ (หัวเราะ) 

เราไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้มาก่อน ตั้งแต่เกิดมาก็ไม่เคยคิดว่างานตัวเองดีหรือพิเศษเลย แต่พอคนทักเยอะเข้าเราก็กลับมานั่งวิเคราะห์ตัวเองจนคิดว่ามันเกิดจากพื้นฐานในมหาวิทยาลัยที่ฝังรากลึก ทำให้เรามองเห็นอะไรเป็นระยะ สังเกตไหมงานกราฟิกบางชิ้นทำไมมันแบนจัง นั่นเพราะมันสวยไปหมดเลยซึ่งสำหรับเรารู้สึกว่าไม่ได้ มันต้องมีจุดที่หายไป จุดที่เด่นชัดขึ้นมา และจุดที่กลมกลืนเป็นธรรมชาติ เบลอบ้าง เลอะบ้าง เหมือนเรามองภาพสามมิติ

นอกเหนือจากงาน ตัวตนของคุณเป็นคนมีระบบระเบียบแบบแผนไหม

ใช่ ตั้งแต่ประถมเราเป็นเด็กเนิร์ด อยู่ในแบบแผนมาตลอด เป็นมนุษย์ที่ชอบจัดโต๊ะ กรอบรูปต้องตรง (หัวเราะ) เป็นจอมวางแผนตั้งแต่เด็กว่าจะทำยังไงให้เรียนจบเร็วๆ ทำยังไงจะได้ไปเมืองนอก ทำยังไงถึงจะมีบ้านเป็นของตัวเอง

เรามักจะคำนวณเรื่องเวลา สมัยเด็กๆ ตอนที่ละครเรื่องชอลิ้วเฮียงยังเป็นทุกอย่างเราก็จะคำนวณว่าตอนนี้ฉันมีเวลาทำการบ้านครึ่งชั่วโมง ถ้าฉันทำไม่เสร็จฉันจะไม่ได้ดูหนังจีนกำลังภายใน หรือใฝ่ฝันว่าอยากไปเรียนเมืองนอกก็จะวางแผนว่าทำยังไงถึงจะได้ไป เรารู้ว่าต้องเรียนจบ ม.6 และต้องเรียนจบปริญญาตรี แต่ทำยังไงถึงจะเร่งกระบวนการให้เร็วขึ้นได้ เราก็สอบเทียบเข้ามหาวิทยาลัย ทำให้ร่นเวลาได้ 1 ปี บวกกับที่แม่ส่งเรียนอนุบาลเร็วไป 1 ปีรวมเป็นร่นระยะเวลาได้ 2 ปี เวลาเอ็นท์ก็บอกตัวเองว่าอย่าไปเอ็นท์หลายรอบ เอาครั้งเดียวให้ติด อย่าเสียเวลา แล้วก็เลือกคณะเดียวด้วยอย่าโลภมาก

คือเป็นคนมีโฟกัส

เรามีเป้าหมายชัดเจนแต่ว่ายืดหยุ่นในวิธีการ ถ้าลองด้วยวิธีการที่ 1 ไม่เวิร์กก็อย่าไปลองซ้ำ ไปทำวิธีที่ 2 เลย เราเรียนรู้มาอย่างนี้ เพราะฉะนั้นตอนที่เรียนจบมหาวิทยาลัยเราอายุ 19 เกือบๆ 20 ปีเท่านั้นเอง

เร็วมาก

ใช่ (หัวเราะ) ตอนนั้นเราอยากไปเรียนต่อเมืองนอก สมัยนั้นเขาจะมีวลีว่าทำงานสัก 2 ปีก่อนไปเมืองนอก เราก็แพลนเหมือนเดิมว่าภายใน 2 ปีเราจะต้องทำอะไร ทำงานที่ไหน ไปอยู่เมืองนอกจะใช้เงินยังไง

เคยวิเคราะห์ตัวเองในวัยเด็กไหมว่าทำไมถึงมีระเบียบขนาดนั้น

เพราะว่าที่บ้านดุมาก เราได้ความเป๊ะเรื่องเวลามาจากที่บ้านแน่ๆ ตอนนั้นโรงเรียนเลิก 3 โมง 40 นาที พ่อจะส่งรถมารับตอน 3 โมง 45 นาที ทุกวันคือความตื่นเต้นต้องรีบวิ่งออกจากโรงเรียน อย่าถามว่ามีเวลาไปซื้อลูกชิ้นปิ้งหรือเปล่า (หัวเราะ) ยิ่งเราเรียนเซนต์โยฯ ซึ่งรถติดมาก ถ้าพลาด 5 นาทีนี้ไปเรารู้ว่าพ่อจะพูดว่า “3 ทุ่มประชุมนะ” 

พ่อสอนว่าที่ต้องเป็นอย่างนี้เพราะเราต้องไปรับน้องและรับแม่ต่อ ดังนั้นถ้าเราเสีย 5 นาทีตรงนี้ไปคนอื่นเขาจะเดือดร้อนด้วยกันหมด แล้วทำไมเราถึงไม่เรียนรู้ที่จะควบคุมตัวเองและออกมาให้ตรงเวลา เราว่าสิ่งนี้แหละคือพื้นฐานที่ทำให้เราให้ความสำคัญกับเรื่องเวลา

นอกจากนี้ แต่ละวันเราจะมีตารางว่ากลับมาถึงบ้านแล้วต้องทำอะไรบ้าง คือมีครูมาสอนตั้งแต่ 6 โมงเย็นถึง 1 ทุ่ม เรียนเสร็จแล้วกินข้าว กินข้าวเสร็จจะมีครูมาสอนต่ออีกคน หลังจากนั้นเป็นเวลาทำการบ้าน ถ้าทำเสร็จถึงจะมีเวลาประมาณ 40 นาทีดูหนังจีน และต้องนอนตอน 4 ทุ่มเพื่อตื่นมา วนลูปเดิม อย่าถามว่าเสาร์-อาทิตย์เรียนอะไรบ้างเพราะตารางแน่นมาก ที่บ้านเราจะสอนแบบนี้

เอาจริงๆ เครียดไหม

ไม่ทันได้คิดว่าเครียด รู้แต่ว่ามันดำเนินไปแบบนี้ พอดีเป็นลูกคนกลางด้วย เดี๋ยวพี่คนโตก็อยากได้อย่างนี้ คนเล็กก็อยากได้อย่างนั้น เวลานั่งรถไปโรงเรียนเรานั่งเบาะหลังกัน 3 คน เราเป็นคนที่นั่งตรงกลางมาตลอด 11 ปี ไม่เคยได้เปลี่ยนที่นั่งเพราะพี่คนโตบอกว่าฉันต้องนั่งขวา น้องคนเล็กบอกว่าฉันเป็นน้องคนเล็กต้องนั่งซ้าย และเราก็ควรเรียงโต กลาง เล็ก เราก็คิดว่า ใช่เหรอวะ แต่ก็ยอม เลยโตมาแบบอะไรก็ได้

แต่ชีวิตแบบนี้นี่แหละที่ทำให้เราคิดว่าเราเปลี่ยนคนอื่นไม่ได้แต่เราเปลี่ยนตัวเองได้ เราเปลี่ยนพ่อแม่ไม่ได้ก็เลยวางแผนชีวิตให้ตัวเองตั้งแต่เด็กเพราะรู้ว่าเมื่อเราเรียนจบชีวิตจะเป็นของเรา ฉะนั้นเราสปีดสุดฤทธิ์เลย

ตอนนั้นแผนของพ่อแม่คืออะไร

พ่ออยากให้เรียนรัฐศาสตร์ ตอนนั้นเราไม่เข้าใจว่ารัฐศาสตร์คืออะไร พ่อเลยบอกว่าเศรษฐศาสตร์ก็ได้ ซึ่งพายอาร์กำลังสองคือเท่าไหร่เรายังไม่รู้เลยแล้วจะรู้ได้ยังไงว่าเศรษฐศาสตร์คืออะไร

ตอนนั้นเราเล็งว่าต้องเอ็นท์ติด ก็มาทำการบ้านว่าเราเก่งวิชาอะไร อ่อนวิชาอะไร สรุปว่า ม.ปลายเราอ่อนเลข งั้นวิชาอะไรที่ไม่ต้องใช้เลขล่ะ ตอนนั้นมีเวลาก่อนเอ็นท์ 9 เดือนเราก็จูงแม่ไปลาออกจากโรงเรียน บอกแม่ว่าอยากเรียนศิลปะ

พ่อไม่โกรธเหรอ

โกรธ อย่าถามว่าไม่คุยกันนานเท่าไหร่ ตอนที่เราไปเรียนต่อที่อังกฤษเราก็แอบวางแผนกับแม่ ไปจัดการสมัครเรียนเรียบร้อย ก่อนเดินทาง 2 อาทิตย์ถึงบอกพ่อว่าจะไปเรียนต่อ แน่นอน พ่อบอกเลยว่าไม่ให้ไป เราก็บอกว่ามาบอกไม่ได้มาขอ อู้หู พ่อไม่คุยกับเราไป 2 ปี ซึ่งเอาจริงๆ เราก็นิสัยเหมือนพ่อนี่แหละ คือมีความเด็ดขาดในหลักการของตัวเอง ทำให้เราดื้อสุดๆ ในขณะที่พ่อก็เฮี้ยบสุดๆ เหมือนกัน

ไปอังกฤษปีแรกคือ เยส! ลองนึกถึงคนที่ไม่เคยได้กลับบ้านดึก ไปสยามครั้งแรกตอน ม.4 ไปถึงก็บอกเพื่อนว่าแก ที่นี่คือที่ไหน มันดูสนุกจัง เราไม่ได้ใช้ชีวิตวัยเด็กจริงๆ เลย เพิ่งได้ไปเล่นสวนน้ำครั้งแรกในชีวิตเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ได้เล่นบ้านบอลครั้งแรกก็ตอนไปเล่นกับลูกเพื่อนเมื่อปีที่แล้วนี่เอง

แต่เพราะพ่อดุทำให้เรามีระเบียบ ถ้าไม่มีระเบียบเราก็จะไม่มีวินัยแบบทุกวันนี้ น้องๆ ในทีมจะรู้ว่าเสียเงินพี่ปอมยังไม่โกรธเท่าเสียเวลา เพราะด้วยความที่ทีมเล็ก เวลาทำงานเราต้องสื่อสารกันเยอะๆ ให้เข้าใจตั้งแต่แรก ไม่อย่างนั้นเริ่มต้นผิดทำอะไรต่อก็ผิด ถ้าไม่สื่อสารแล้วเราไปเห็นงานที่ผิดตอนผ่านไป 2 ชั่วโมงเราจะโกรธแบบองค์ลงเลย ฉะนั้นน้องๆ จะรู้ว่าก็แค่บอกเจ้ว่ากำลังจะทำงานนี้ แบบนี้ แค่นั้น

นอกจากเรื่องเวลา คุณยึดหลักอะไรในการทำงานอีกบ้าง

เรามีบรรทัดฐานในการทำงาน อย่างเราคุยกับทีมตรงๆ เราไม่หมกงาน เราไม่เมาท์ลูกค้าลับหลัง เราเป็นคนรีเสิร์ชหนักมากและจะไม่ให้คนก๊อปงานเลย ถึงอย่างนั้นเส้นที่กั้นระหว่างการก๊อปและไม่ก๊อปมันก็บางมากๆ หลักๆ เราจึงบอกได้แค่ว่าเห็นงานเราต้องไม่นึกถึงงานของคนอื่น คุณจะดูไม่ออกก็ได้ว่านี่เป็นงานของเรา เราชอบแบบนั้น แต่เขาต้องไม่รู้สึกว่านี่คืองานของคนอื่น

เป็นเรื่องปกติที่เราจะชอบงานของคนอื่น แต่ว่าเวลาดูงานที่ชอบเราจะสอนน้องในทีมว่าให้แยกเลเยอร์ในหัว ทำให้เห็นว่าเขามีองค์ประกอบอะไรบ้าง จัดวางยังไง มีขั้นตอนการทำงานยังไง แต่อย่าจำอะไรมามากกว่านั้น เรียกว่าดูให้เข้าใจแล้วเอากลับมาพลิกแพลง และถ้าเมื่อไหร่ที่เราทำงานออกมาแล้วรู้สึกว่าเหมือนศิลปินคนนั้นจงอย่าปล่อยมันออกไป ให้ฆ่ามันให้ถึงที่สุด ทวิสต์มันอีก บิดมันไปเรื่อยๆ จนงานมันพูดไม่ได้แล้วว่าเหมือนงานของอีกคนหนึ่ง

อีกสิ่งที่ต้องมีคือความรับผิดชอบ สำคัญมาก ต้องรับทั้งผิดทั้งชอบ ถ้าเราเป็นคนรับผิดชอบเราจะทำทุกอย่างจนถึงจุดสุดท้ายโดยไม่ทิ้งมันกลางคันไม่ว่าจะเป็นงานที่ทำอยู่ ธุรกิจ หรือความฝันก็ตาม

คุณเคยบอกว่าอยากเป็น fine artist ตอนอายุ 40 ปี อีก 1 ปีจะถึงเป้าหมายแล้ว ทำไมคุณถึงเลิกความฝันนั้น

เมื่อก่อนก็อยากเป็นจนกระทั่งเรารู้สึกว่าโลกของ fine art แม้กระทั่งในเมืองนอกเองมีปัจจัยที่มันไม่ใช่เรื่องของศิลปะเยอะ และโลกของศิลปะก็มีการดีเบตกันเยอะมากจนเราไม่เข้าใจมัน เรายังชื่นชมและเคารพศิลปิน fine art หลายๆ ท่านอยู่นะ เพียงแต่เรามองว่าวงการนี้อาจจะไม่เหมาะกับเรา 

เราพยายามหาว่านิยามของศิลปิน fine art คืออะไรแต่เรายังหาไม่เจอ การที่เราใช้เวลา 3 ชั่วโมงนั่งวาดภาพหนึ่งด้วยความละเอียด บางคนก็เรียกสิ่งนี้ว่า fine art บางคนก็เรียกสิ่งนี้ว่า illustration หรือปอมทำงานร่วมกับทีมบนแคนวาสบางคนก็บอกว่านี่ไม่ใช่ fine art เพราะเธอมีทีมไม่ได้ทำงานเองทั้งหมด แต่บางคนก็บอกว่าการวาดบนแคนวาสก็คือ fine art แต่ว่าโจทย์มันก็คืองานลูกค้า ดังนั้นเส้นแบ่งมันอยู่ตรงไหน ใครที่เป็นคนขีดเส้นแบ่งนี้ พอเรามองไม่เห็นเราก็ไม่ได้อยากเข้าไปอยู่ตรงนั้น แต่อยากจะเป็นเป็ดที่อยู่ในโซนวาดภาพประกอบ สนุกสนานกับการทำงานหลายๆ อย่างแบบนี้แหละโดยที่ไม่ได้จำกัดว่าเราต้องเป็นอะไร อย่างใดอย่างหนึ่ง 

ในภาพรวม ตอนเด็กๆ ที่เริ่มวางแผนชีวิต อะไรคือจุดสูงสุดที่คุณอยากไปให้ถึงและตอนนี้ถึงจุดนั้นหรือยัง

เราอยากมีชีวิตที่ดี ซึ่งภาพจำของชีวิตที่ดีในตอนนั้นก็มองเห็นแค่จากพ่อแม่คือการมีสามี มีชีวิตครอบครัว มีบ้าน มีรถ มีการงานที่สามารถเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้ แต่ตอนนี้เรารู้สึกว่าชีวิตที่ดีไม่ต้องมีครบทุกอย่างก็ได้ แค่มีคนที่เรารักคือเพื่อนและครอบครัว มีงานที่ทำแล้วได้เงิน ไม่ขาดทุน นี่ก็เป็นชีวิตที่ดีแล้ว

ตั้งแต่เจอโควิดเรารู้สึกจริงๆ ว่าเราไม่ต้องมีเงินเยอะมากก็ได้ ไม่ต้องมีลิปสติก 30 แท่งก็ได้ ความต้องการของเรามันเริ่มธรรมดาขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งเราธรรมดาขึ้นมันยิ่งหาความสุขเจอได้ง่าย จะเสียดายคือคุณพ่อเราเสียเมื่อปีที่แล้ว เรารู้สึกว่าอยู่กับเขาน้อยไป อยากมีเวลามากกว่านี้ อยากกลับมาเมืองไทยเร็วกว่านี้สักปีหนึ่งจะได้มีเวลาดูแลเขา

เหมือนยิ่งทำให้เห็นความสำคัญของเวลามากขึ้น

ใช่ และเป็นจุดที่ทำให้เข้าใจว่าเราเอาอะไรไปจากตอนที่มีชีวิตอยู่ไม่ได้เลย ที่ผ่านมาคนพูดเรื่องนี้กับเราเยอะมากเราก็รู้ว่ามันเป็นความจริง แต่เมื่อมันเกิดขึ้นกับเรามันทำให้เราเข้าใจจริงๆ เราเห็นว่าพ่อไม่สามารถเอาวัตถุ เอาเน็กไทหรือนาฬิกาที่เขาชอบใส่ไปได้เลยนะ เช่นเดียวกัน พอพ่อไปแล้ว สิ่งที่มีค่ากับเรามากที่สุดก็ไม่ใช่รถของเขาที่เราเห็นแล้วคิดถึง ไม่ใช่เสื้อสูทของเขาที่เราเอามานั่งดมแต่เป็นความทรงจำและคำสอนของเขามากกว่า

พอได้ตระหนักถึงสิ่งนี้ ช่วงนี้คุณวางแผนอะไรให้ชีวิต

ปีนี้เอาแค่ไม่ขาดทุนก่อน (หัวเราะ) และมีความหวังแค่ว่า SWOON จะไปต่อได้อย่างสวยงามจนหากแขนขวาเราวาดรูปไม่ได้แล้วเราจะยังมีธุรกิจที่สามารถเลี้ยงเราได้ในยามแก่ 

นอกเหนือจากนั้น ปีนี้อาจจะเป็นช่วงแรกในชีวิตที่เราไม่มีภาพอนาคตที่ชัดเจน เพราะตั้งแต่เด็กเราคิดไว้แค่ว่ามีบ้านแล้วก็จบ ซึ่งพอเรามีมันก็จบจากใจจริงๆ กลายเป็นไม่ต้องโหยหาอะไรอีกเลย ไม่มีเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ใดๆ มีแค่ว่าทำทุกอย่างที่ทำอยู่ต่อไปให้ดีขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่ได้แข่งกับคนอื่น แค่พัฒนาทีม พัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ แค่นั้น

แค่นี้ก็ประสบความสำเร็จแล้ว

เรื่องประสบความสำเร็จเราว่าไปคุยกันตอน 60 ดีกว่า แต่ในตอนนี้ที่อายุเกือบๆ 40 เราก็แฮปปี้กับทุกอย่างที่มีในชีวิตนะ

aday

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย