DEPTH Architect: สตูดิโอผู้สร้างบ้านริมนาและเชื่อว่าสิ่งสำคัญคือรายละเอียด

Highlights

  • บ้านริมนาคือผลงานของ โปลก้า–ธนกร ฉัตรทิพากร สถาปนิกผู้อยู่ทั้งเบื้องหน้า-เบื้องหลังและผู้ก่อตั้ง DEPTH Architect Studio สตูดิโอออกแบบเชิงสถาปัตยกรรมประจำจังหวัดเชียงใหม่ และเขานั่นเองคือผู้ที่จะมาถอดรหัสวิธีการออกแบบบ้านหลังนี้ให้เราฟัง
  • จากความต้องการของเจ้าของบ้านที่อยากได้ความมินิมอล เรขาคณิต สีขาว และไม้ธรรมชาติ พวกเขากลั่นกรองสร้างสรรค์ออกแบบเป็นบ้านริมนาอย่างที่เห็น
  • ในแต่ละส่วนพวกเขาเน้นการออกแบบที่ตอบโจทย์เจ้าของอย่างแท้จริง และเน้นให้จุดเด่นอย่างธรรมชาติโดยรอบอยู่อย่างกลมกลืนกับบ้านโดยสมบูรณ์

นอกจากธรรมชาติ เมื่อกล่าวถึงอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เรามักนึกถึงอัลบั้มรูปถ่ายที่ทำให้ต้องหยุดนิ้วโป้งบนหน้าจอโทรศัพท์และเซฟเก็บไว้เมื่อตอนต้นปีที่แล้ว

ภาพถ่ายของบ้านพักอาศัยสีขาวตัดกับท้องฟ้าและนาเขียวคือรูปที่ว่า

ถ้าว่ากันตามจริง บ้านหลังนี้ไม่ได้ใหญ่โต แต่เรากลับรู้สึกสนใจ อาจเป็นเพราะความเรียบง่ายแต่คงไว้ซึ่งรายละเอียดและเอกลักษณ์ แทรกแซมไปด้วยรูปทรงเรขาคณิตต่างๆ เหล่านั้น  

และชื่อของบ้านหลังนี้ที่ถูกตั้งอย่างซื่อสัตย์ว่า ‘บ้านริมนา’ 

โปลก้า–ธนกร ฉัตรทิพากร คือสถาปนิกผู้อยู่ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังของโปรเจกต์นี้ เขาคือผู้ก่อตั้ง DEPTH Architect Studio สตูดิโอออกแบบเชิงสถาปัตยกรรมประจำจังหวัดเชียงใหม่ และเขานั่นเองคือผู้ที่จะมาถอดรหัสวิธีการออกแบบบ้านหลังนี้ให้เราฟัง

คงไม่ต้องบอกหรอกใช่ไหมว่าเรานัดพบกับเขาที่ไหน

 

จุดเริ่มสร้าง

ในความเป็นจริงบ้านริมนาทำหน้าที่เป็น ‘บ้าน’ จริงๆ สำหรับผู้ว่าจ้างคนหนึ่ง 

หลังจากบรีฟกันอย่างชัดเจน สิ่งที่เจ้าของบ้านบอกกับโปลก้าสามารถถอดเป็นคีย์เวิร์ดที่ชัดเจนได้ 4 คำต่อไปนี้

ความมินิมอล เรขาคณิต สีขาว และไม้ธรรมชาติ

นี่อาจดูเป็นโจทย์ที่ยากสำหรับบางคนด้วยซ้ำ เพราะความต้องการเหล่านี้เป็นเพียงคอนเซปต์ที่ลอยอยู่ในอากาศ โปลก้าและ DEPTH Architect Studio คือผู้ที่ต้องสร้างความต้องการนี้ออกมาเป็นจริงให้ได้

สุดท้ายพวกเขานำ 4 คำนี้ไปประสานเข้ากับปัจจัยสำคัญของการออกแบบ คือสถานที่ตั้ง ทิศ และอุปนิสัยของผู้อาศัย และออกแบบเป็นบ้านแสนสวยงามดังภาพที่เห็น

บ้านสีขาวริมนาที่เขาจะค่อยๆ เล่าให้เราฟังทีละส่วนต่อจากนี้

 

ทิศตะวันตกและทิศใต้

หากมองจากบ้าน ที่ดินที่เป็นที่ตั้งของบ้านริมนาบริเวณทิศตะวันตกนั้นอยู่ติดกับทุ่งนาอยู่แล้ว วิวที่ผู้อยู่อาศัยเห็นคือวิวธรรมชาติทั้งภูเขาและต้นไม้ ส่วนทางทิศใต้ แดดจะสาดส่องเข้ามาบริเวณนี้เต็มๆ ในช่วงบ่าย ดังนั้นเมื่อนำมาประกอบกับวงจรชีวิตเจ้าของที่ออกไปทำงานแต่เช้า กลับถึงบ้าน 1-2 ทุ่ม ห้องนั่งเล่นของบ้านริมนาจึงแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือทิศนี้ที่วิวดี เอาไว้นั่งตอนช่วงเช้า พักผ่อนก่อนออกไปทำงาน แต่จะร้อนในช่วงบ่าย

 

ทิศเหนือ 

บริเวณนี้เองคือที่ตั้งของห้องนั่งเล่นส่วนที่ 2 ที่แดดจะไม่เข้า ดังนั้นผู้พักอาศัยสามารถนั่งอยู่ได้ทั้งวันโดยไม่ร้อน ในแง่การออกแบบ พวกเขายังทำการดร็อปพื้นเพื่อกำหนดขอบเขต แต่คงไว้ซึ่งความต่อเนื่องไม่อึดอัด พร้อมกันนั้นพวกเขายังติดกระจกบานใหญ่เพื่อความเปิดโล่งและเชื่อมวิวให้เจ้าของรู้สึกผ่อนคลาย 

อีกหนึ่งลูกเล่นในส่วนนี้คือการวิ่งชายคาออกไปเป็นรูปสามเหลี่ยมจนเป็นเอกลักษณ์ของที่นี่ ตอบโจทย์ความต้องการของเจ้าของที่อยากได้รูปทรงเรขาคณิตที่สวยงามไปพร้อมๆ กับการก่อให้เกิดประโยชน์ใช้สอย 

 

ทิศตะวันออก  

การออกแบบส่วนนี้คือการทำห้องนอน พวกเขาใช้ประโยชน์จากนิสัยส่วนตัวของเจ้าบ้านที่ชอบนอนในห้องที่ ‘ไม่มืดสนิท’ หน้าต่างรูปคล้ายคลึงกับเมฆของ Tawipob window design จึงทำหน้าที่เป็นประตูเชิญแสงให้ทอดเข้าสู่ห้องนอนในยามเช้า ถือเป็นห้องที่มีลักษณะเฉพาะพิเศษกับผู้ใช้ที่เหมาะสมเป็นอย่างดี

 

เชื่อมต่อภายนอกเข้าสู่ภายใน 

นอกจากการออกแบบรอบทิศที่พยายามตอบโจทย์สถานที่และผู้พักอาศัยมากที่สุด อีกหนึ่งสิ่งที่โปลก้าต้องการคือการเบลอเส้นแบ่งบริเวณในและนอกบ้าน พวกเขาใช้เทคนิคด้านการออกแบบมากมายเพื่อทำให้ ‘วิว’ ของพื้นที่นี้โดดเด่นมากที่สุด

ยกตัวอย่างเช่นการสร้างช่องกระจกใต้บันได พวกเขาวางตำแหน่งให้อยู่ในระดับสายตาเมื่อนั่งบริเวณโซฟา รวมถึงการใช้ต้นไม้เลี้ยงในบ้าน เช่น ต้นลิ้นมังกรที่ฟอกอากาศได้ และต้นลีลาวดีที่ทอดภาพเงาสวยเป็นเอกลักษณ์เข้ามาในบ้านได้ หรือแม้แต่ wood paneling หรือบัวผนัง ล้อกับฟอร์มหน้าจั่วของตัวบ้าน ทั้งหมดล้วนออกแบบโดยมีแนวคิดว่าให้ภายนอกกับภายในเป็นไปในแนวทางเดียวกัน

โปลก้าบอกกับเราเพิ่มว่าสำหรับบ้านริมนาเขาได้แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจากการออกแบบของสตูดิโอ BOON DESIGN (ผู้ออกแบบ Raya Heritage) นั่นคือการเน้นย้ำการใช้แสงเงาและการเลือกใช้วัสดุออกมาได้อย่างพอดี 

โปลก้าตอบคำถามเราเกี่ยวกับความหมายของบ้านที่ดีว่า “บ้านที่ดีคือบ้านที่เข้ากับเจ้าของบ้าน เป็นบ้านที่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข ไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับวิถีของคนส่วนใหญ่เสมอไป ถ้าสามารถสร้างบ้านให้ตอบสนองกับฟังก์ชั่นได้นั่นคือความสำเร็จ” เขานิยามความหมายของบ้านที่ดีให้เราฟังด้วยคำพูดและผลงานที่อยู่ตรงหน้า

“บ้านริมนาเป็นตัวอย่างที่ดี ที่นี่เป็นสไตล์มินิมอลซึ่งสมกันมากกับธรรมชาติของเจ้าของ จากสิ่งที่บอกเราข้างต้นว่าของใช้ของเขาน้อยมาก ไม่ต้องการที่เก็บของใดๆ ตู้เสื้อผ้าก็ขอลิ้นชักกับราวแขวนเท่านั้น สิ่งที่เราสร้างจึงเป็นไปตามนั้น และเวลาผ่านไปเท่าไหร่บ้านยังคงเป็นแบบเดิมเพราะเราสร้างตอบโจทย์เขาจริงๆ เราติดต่อกลับไปกี่ทีบ้านก็คงไว้ตั้งแต่วันที่ออกแบบเสร็จตลอด นี่เป็นการยืนยันว่าบ้านหลังนี้เหมาะกับคนนี้อย่างแท้จริง”

ก่อนจากกันเราทิ้งท้ายด้วยคำถามคลาสสิกว่าด้วยเหตุผลของการทำงานที่ตอบโจทย์ลูกค้าเหล่านี้

“เราชอบที่แต่ละวันไม่เหมือนกันสักวัน ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปตามงานที่ได้รับมา

“โมเมนต์ที่เราชอบคือการที่งานออกมาเป็นจริง ได้ผลตามที่วางแผนไว้ อีกอย่างที่รู้สึกดีมากๆ คือรายละเอียด จุดเล็กจุดน้อยเหล่านี้ถ้าใส่ใจมันแสดงให้เขาเห็นว่าเราคิดเผื่อทุกด้าน และส่งมอบงานส่วนที่ลูกค้าต้องการ เราว่านี่คือความท้าทาย และมันเป็นเรื่องดีสำหรับเรา”


DEPTH Architect Studio

รับออกแบบบ้านและอาคารพาณิชย์ ทั้งภายนอก (เขียนแบบ) และภายใน (อินทีเรียร์และบิลด์อิน)
ติดต่อสอบถามที่ 090-320-9282 หรือเพจเฟซบุ๊ก DEPTH Architect Studio

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณวรดร หอมระรื่น

photographer artists เชียงใหม่ #hphotographercnx