ในประวัติศาสตร์การทำงานศิลปะของศิลปินสมัยก่อน ไม่ว่าจะเป็นเลโอนาร์โด ดา วินชี, ไมเคิลแองเจโล หรือราฟาเอล พวกเขาต้องซื้อแร่ธาตุหรือวัตถุดิบจากธรรมชาติมาผสมจนเป็นสีน้ำมันเพื่อแต่งแต้มบนผืนผ้าใบด้วยตัวเอง
แม้จะผ่านมานานกว่าร้อยปี และกาลเวลาก็ได้พัดพาให้เทคโนโลยีมาสร้างความเปลี่ยนแปลงในวงการศิลปะ จนเราสามารถวาดภาพแต่งแต้มสีสันด้วยการจิ้มเลือกสีจากหน้าจอได้แล้ว แต่ใช่ว่าจะไม่มีคนที่ยังนั่งอยู่ในสตูดิโอเพื่อผสมสีใช้เองอย่างศิลปินในอดีต
และหนึ่งในคนเหล่านั้นคือ แซนด์–สุวัลญา ศักดิ์สมบัติ ครูสอนศิลปะและศิลปินที่ลองผิดลองถูกกับสีธรรมชาติมานานกว่า 3 ปี
ด้วยความชื่นชอบงานศิลปะมาตั้งแต่เด็ก ทำให้แซนด์เลือกเรียนสาขาประยุกตศิลปศึกษา คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระหว่างทำโปรเจกต์ชิ้นใหญ่ เธอพบว่าตัวเองแพ้สารเคมีในสีน้ำ หลังเรียนจบแซนด์จึงห่างหายจากการตวัดฝีแปรงไปสักพัก จนกระทั่งหลายปีต่อมาเมื่อตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโทที่อินเดีย สีน้ำจึงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเธออีกครั้ง
แต่ครั้งนี้ไม่ใช่สีน้ำจากหลอดสีอย่างที่เคยทำ แต่เป็นสีที่มาจากต้นไม้ ดอกไม้ และสารตั้งต้นในธรรมชาติรอบตัว ที่เธอเองก็ไม่เคยรู้จักมาก่อน
ด้วยเรื่องราวทั้งหมดจึงเป็นเหตุผลให้เราเดินทางไปเยือนสตูดิโอของเธอถึงอำเภอศาลายา จังหวัดนครปฐม แซนด์รอต้อนรับสู่สตูดิโอด้วยความร่าเริง ก่อนพาเราเดินลัดเลาะเข้าไปในห้องทำงานที่เต็มไปด้วยขวดโหลเก็บแก่นไม้ ดิน หิน และวัสดุจากธรรมชาติ
ถ้าหากคุณพร้อมแล้ว แซนด์จะพาเราสำรวจขั้นตอนการผสมสีจากธรรมชาติ เคล้าบทสนทนาเรื่องการไปเรียนที่อินเดีย และแรงบันดาลใจจากบ้านเกิดอย่างอัมพวาที่ทำให้เธอออกแบบพื้นที่ทำงานแห่งนี้ให้มีชีวิต
เส้นทางเริ่มต้นของสีน้ำธรรมชาติ
จุดเริ่มต้นของการเข้ามาทำงานศิลปะโดยใช้สีจากธรรมชาติของแซนด์เกิดขึ้นเมื่อ 3 ปีที่แล้ว เมื่อเธอตัดสินใจแพ็กกระเป๋าไปเรียนต่อปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยใต้ร่มไม้ Santiniketan ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยทางเลือกที่ก่อตั้งมากว่าร้อยปี โดยรพินทรนาถ ฐากูร นักปรัชญาชาวอินเดียที่อยากสร้างโรงเรียนให้เด็กมีอิสระที่จะเรียนรู้
แซนด์เลือกเรียนสาขาจิตรกรรม สาขาเดียวกันกับที่เธอเรียนจบปริญญาตรีจากรั้วมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งในระหว่างที่เรียนนั้น แซนด์ค้นพบว่ามือของเธอแพ้สีเคมีอย่างหนักจนไม่สามารถทำงานได้
“โดยพื้นฐานเราเป็นคนผิวแห้งมาก แค่อากาศเปลี่ยน มือก็ลอกเป็นวงๆ ตลอดเวลา แล้วมันก็เป็นหนักขึ้น ตอนแรกคิดว่าเพราะน้ำยาจากการซักผ้าหรือล้างจาน เลยพยายามเลี่ยง แต่ตอนเรียนเพนท์ติ้งที่ศิลปากร เราต้องทำงานชิ้นใหญ่ ต้องหยิบจับสีน้ำบ่อยขึ้น มือก็เริ่มลอกเรื่อยๆ เป็นชั้นๆ แล้วมันก็เริ่มปริเป็นเลือดซิบๆ”
นั่นทำให้ระหว่างเรียน อุปกรณ์ที่แซนด์ต้องพกไปด้วยไม่ได้มีแค่สีน้ำและพู่กัน แต่ต้องมีกล่องพลาสเตอร์ยาติดตัวตลอดเวลา
“มือเราพังไปเรื่อยๆ จนในที่สุดมันไม่มีลายนิ้วมือแล้ว ตอนเรียนจบไปทำพาสปอร์ต เจ้าหน้าที่เลยลงบันทึกให้ว่าเราเป็นคนทุพพลภาพเพราะไม่สามารถสแกนนิ้วได้”
แซนด์จึงเริ่มถอยห่างจากงานสีน้ำและเขยิบมาทำงานหน้าคอมฯ มากขึ้นในช่วงที่เรียนจบ ไม่ว่าจะเป็นนักวาดภาพประกอบหนังสือ กราฟิกดีไซเนอร์ นักออกแบบแพ็กเกจจิ้งของเล่นเด็ก และครูสอนศิลปะในโรงเรียนมัธยม จนในที่สุดเธอก็ตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโทที่อินเดีย
“ตอนนั้นคิดอยากเดินทาง อยากไปเที่ยว แต่การเที่ยวแบบไหนที่เราจะได้ไปนานๆ เลยคิดว่าก็ต้องไปเรียนนี่แหละ เราได้รู้จักมหาวิทยาลัย Santiniketan จากในหนังสือ แล้วจินตนาการว่า เออ มันน่าจะตรงกับที่เราชอบ ก็เลยตัดสินใจสมัครไปเรียน เลือกเรียนเพนท์ติ้งเหมือนเดิม แต่ทีนี้ต้องมาคิดว่าจะทำยังไงดีที่จะไม่ใช้สีน้ำที่มาจากสารเคมี” แซนด์เล่าอย่างอารมณ์ดี
“ถ้าอย่างนั้นลองใช้สีธรรมชาติแทนก็แล้วกัน เพราะมหาวิทยาลัยนี้เปิดกว้าง ชิลล์มาก ทำอะไรก็ได้ เลยคิดว่าสีจากธรรมชาติน่าจะเป็นคำตอบ แม้ว่าตอนนั้นไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้เลย”
นักลองผิดลองถูก
เมื่อตัดสินใจว่าต้องเริ่มต้นทำงานศิลปะด้วยสีธรรมชาติแล้ว แซนด์ไม่รอช้า เดินทางตามหาสีในช่วงที่เรียนในอินเดีย และทำให้เธอได้สะสมประสบการณ์ในการสร้างสีน้ำจากธรรมชาติอันหลากหลาย
“จำได้ว่าวัตถุดิบแรกๆ ที่เลือกใช้คือ ลูกม่วงที่อินเดีย ลักษณะเหมือนลูกหมึกบ้านเรา แต่พอเอามาลงในกระดาษผ่านไปนานๆ มันเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล จากนั้นเราก็เริ่มลองใช้ดิน ถ่าน ดอกไม้ เอามาตำ มาคั้นให้ได้สี แต่ก็เป็นเหมือนลูกม่วงคือพอลงกระดาษแล้วผ่านไปนานๆ มันกลายเป็นสีน้ำตาลหมดเลย”
แต่แซนด์ก็ไม่ยอมแพ้ เธอลงมือศึกษาทั้งจากข้อมูลในเอกสารและทดลองด้วยการหยิบจับวัสดุธรรมชาติรอบตัวมาบด ต้ม คั้น เพื่อให้ได้สีตามที่ต้องการ
“ลองมั่วไปหมด คิดอะไรได้ก็ลอง บางครั้งก็ไปเสิร์ชในอินเทอร์เน็ตว่าวัสดุธรรมชาติอะไรที่ย้อมผ้าได้บ้าง เพราะเราคิดว่าถ้าย้อมผ้าได้มันก็น่าจะมีพิกเมนต์ที่ดี ก็เลยเจอว่ามันมีแก่นฝาง ดอกทองกวาว แก่นขนุน หรือไปค้นดูจิตรกรรมไทย ประวัติศาสตร์สีของโลก ต้องใช้ตัวไหน มีพิกเมนต์อะไรบ้าง”
ไม่ว่าจะดิน หิน ทราย ต้นไม้ ใบไม้ หรือดอกไม้ จึงเป็นสารตั้งต้นที่แซนด์เอามาประกอบร่างเป็นสีธรรมชาติ แต่ไม่ว่าจะใช้สีจากวัสดุธรรมชาติอะไรมันกลับไม่ติดทนอยู่กับกระดาษเท่าไหร่นัก
“อย่างดิน ถ้าเราระบายบนกระดาษ พอแห้งมันก็จะเป็นผงๆ และหลุดไป บางอย่างระบายลงไปคือเปลี่ยนสี ทีนี้เราไม่รู้ว่ามันเกิดจากอะไร ก็ไปคุยกับคนโน้นคนนี้ เขาบอกว่ามีคุณลุงคนหนึ่งอยู่ในป่าชายเลน จะมาในเมืองทุกๆ ฤดูหนาวเพราะเป็นไฮซีซั่น และเขาเป็นคนวาดภาพสัตว์ด้วยสีธรรมชาติ ให้ลองไปหาเขาดู”
หลังจากได้รับคำแนะนำ แซนด์ไม่รอช้า เธอเดินทางไปหาลุงปริศนาคนนั้นเพื่อหาคำตอบ
“ลุงมีถ้วยอยู่ 4 ใบ แล้วก็บดอะไรไม่รู้หนึ่งอย่างโรยไปในหลุม 4 สี ในนั้นจะมีสีดำจากเขม่า สีเขียวจากใบไม้ สีแดงจากดินแดง สีเหลืองจากดินเหลือง และมีที่กลิ้งๆ อีกหนึ่งอย่าง เราพยายามดูว่ามันคืออะไร แต่ก็หาคำตอบไม่ได้ เพราะเราคุยกับเขาไม่รู้เรื่อง ลุงไม่พูดภาษาอังกฤษ” พูดจบหญิงสาวก็หัวเราะเสียงดังก่อนเล่าต่อ
“แต่มารู้ทีหลังว่ามันคือ gum arabic เป็นยางไม้ชนิดหนึ่งที่มีคุณสมบัติไม่เหมือนยางไม้ทั่วไป อย่างยางพาราถ้าแห้งแล้วเป็นฟิล์ม แต่ยางกัมอารบิกโดนน้ำแล้วละลาย และถ้าโดนอากาศก็แห้งได้อีกทีหนึ่ง เพราะฉะนั้นเราก็จะเอามันมาละลายแล้วผสมกับพิกเมนต์จากสีธรรมชาติของเรา ซึ่งทำให้สีที่เราลงกระดาษแห้ง เป็นการเคลือบไม่ให้สีเปลี่ยน หรือไม่ให้พวกดินหรือแร่เป็นผงหายไป”
แม้จะมีกัมอารบิกช่วยเคลือบให้สีอยู่ทน แต่แซนด์บอกว่าวัสดุบางอย่างที่เลือกใช้ต้องดูลักษณะกายภาพของวัสดุนั้นๆ ด้วย เพราะบางอย่างก็สามารถผสมเป็นสีและเก็บไว้ได้ แต่บางอย่างถ้าเก็บไว้นานอาจเน่าเสีย
“พวกดอกไม้เราเก็บไว้ในตู้เย็นได้ไม่เกิน 2 อาทิตย์เพราะมันจะเน่า เราเก็บแบบเป็นน้ำ ไม่ได้เก็บแบบผง ถ้าทำเป็นผงพิกเมนต์มันไม่เยอะพอด้วยเลยทำสดดีกว่า ส่วนวัสดุที่จะเอามาบดเป็นผงและเก็บไว้ได้นานคือ ยางไม้ แก่นไม้ เขม่าฟืน ดินแดง และดินเหลือง”
บนโต๊ะทำงานกลางสตูดิโอของแซนด์จึงมีขวดแก้วใสบรรจุผงหลากสีวางเรียงรายไล่ระดับเป็นสีรุ้งอยู่ข้างหน้า เรียกได้ว่าตั้งแต่แซนด์เริ่มค้นหาวัสดุต่างๆ เธอได้เจอสีที่มาจากธรรมชาติมากอยู่เหมือนกัน
“ระหว่างทางมีวัสดุที่คิดว่าใช้ได้ แต่พอทำจริงก็ใช้ไม่ได้นะ อย่างรากต้นแมดเดอร์ เขาบอกว่ามันจะได้สีแดง แต่พอมาทดลองแล้วมันทำไม่ค่อยได้ แต่เราได้สีแดงจากการผสมของดินแดงและฝางแทน”
“จริงๆ การผสมสีธรรมชาติเป็นงานทดลอง ไม่สามารถฟิกได้ว่าต้องได้ผลเสมอขนาดนั้น เหมือนเราลองทำมาทุกอย่างแล้วมันก็มีเน่าเสีย มีอันที่ไม่สวย เราก็ตัดมันทิ้งจนเหลืออันที่ดี”
พื้นที่ทำงานที่มีชีวิต
หลังจากเรียนจบและกลับไทย แซนด์มีโอกาสได้ทำงานเป็นอาจารย์สอนกราฟิกดีไซน์ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ในช่วงเวลานั้นเธอตัดสินใจเช่าหอพักเล็กๆ อยู่บริเวณใกล้ที่ทำงาน แต่ค้นพบว่าการอยู่ที่นี่ไม่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตและการทำงานสีน้ำธรรมชาติของเธอ
“คือมันเป็นอพาร์ตเมนต์ที่มีพื้นที่ให้คนนอน แต่พื้นที่ทำอย่างอื่นน้อย ของเราก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พอเป็นห้องสี่เหลี่ยมเห็นแต่กำแพง เลยรู้สึกว่ามันไม่ใช่ เราร้องไห้ทุกวัน เพราะสำหรับเราสิ่งสำคัญคือที่อยู่ เรายอมไม่มีรถก็ได้ แต่ที่พักจะต้องดี เพราะมันเป็นที่ที่เราทำงาน บรรยากาศมันเลยมีผลมากๆ เราอยากให้พื้นที่ที่เราอยู่ทำให้เรารู้สึกเหมือนอยู่บ้าน มีต้นไม้ ใกล้ดิน”
นั่นจึงเป็นเหตุผลให้เธอตัดสินใจเช่าบ้านหลังเล็กริมคลอง มีพื้นที่ที่เป็นสวนเล็กๆ พร้อมให้เธอปลูกพืชและดอกไม้สำหรับใช้ทำสี
การเยี่ยมเยียนสตูดิโอของแซนด์ครั้งนี้ยังทำให้เราได้เห็นบรรยากาศห้องติดสวนด้านหลังที่เธอเลือกใช้เป็นสถานที่ทำงาน รายล้อมไปด้วยโต๊ะและตู้ไม้ มีผ้าม่านสีน้ำตาลและรูปวาดสีน้ำจากธรรมชาติเรียงอยู่รอบห้อง
“แต่จะบอกว่าสิ่งที่เราทำเยอะที่สุดและเป็นอาชีพหลักของเราคือการจัดบ้าน” แซนด์หัวเราะเสียงดังหลังพูดจบ
“ของที่เอามาใช้จัดบ้านก็มาจากความชอบเราด้วย อย่างโต๊ะทำงานหลักตรงกลางก็จัดให้รวมอุปกรณ์ ready to blend เอาไว้ทั้งหมด”
เราหันไปเห็นถาดผสมสี อุปกรณ์ผสมสีสารพัดแบบ ขวดพิกเมนต์ ขวดบลายน์เดอร์ กระดาษเทสต์สี ว่าแล้วเธอก็เอ่ยปากชวนเราผสมสีบนโต๊ะทำงานที่มีถังน้ำวางเรียงรายอยู่
“เดี๋ยวเราลองมาลองผสมสีเหลืองกัน”
แซนด์หยิบถาดที่มีร่องรอยสีเหลืองที่เคยผสมมาแล้ววางบนโต๊ะสีน้ำตาล พร้อมเอื้อมมือไปหยิบขวดบรรจุผงสีเหลืองเทลงบนถาด จากนั้นหยิบพู่กันหลอดดูดน้ำจากถังข้างๆ ใส่ลงไปบนผงสีโดยที่ไม่ใช้เครื่องมือวัดตวงส่วนผสม
“จริงๆ เราไม่ได้มีเป็นสูตรตายตัวว่าต้องใช้ส่วนผสมกี่กรัม เราจะประมาณเอา มันวัดเป็นสูตรเป๊ะๆ ไม่ได้เลย เพราะขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่นำมาผสมด้วย อย่างดินแต่ละที่ก็มีสีแตกต่างกัน เราเลยต้องสังเกตว่าได้ดินมาแบบนี้ เราต้องใส่ลงไปมากน้อยแค่ไหน” แซนด์อธิบายระหว่างที่เธอค่อยๆ คนส่วนผสมของน้ำกับผงสี “หรือบางทีถ้าเราได้ดินที่เป็นกรดหรือดินด่าง สีที่ได้ออกมาก็ไม่เหมือนกัน มันค่อนข้าง sensitive มาก เลยทำสูตรตายตัวไม่ได้”
พูดจบเธอก็ใช้ช้อนตักดินขาวใส่ถาดสี แล้วใช้แก้วใบกลมผสมสีในถาด
“อันนี้เรียกว่ามูนเลอร์ เป็นอุปกรณ์ผสมสีที่ศิลปินในยุคก่อนๆ เขาใช้กัน เราไปศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะมาเลยรู้ว่าศิลปินสมัยก่อนเขาซื้อพิกเมนต์จากคนกลางมาที่สตูดิโอ แล้วผสมสีเองโดยใช้มูนเลอร์นี้แหละ” แซนด์พูดจบแล้วค่อยๆ ใช้มูนเลอร์ผสมผงสี น้ำ และดินขาว ให้เข้ากัน
“มันช่วยทำให้สีผสมกันได้ดีมากๆ” สีเหลืองบนถาดที่ผสมเข้ากันกับส่วนผสมต่างๆ เป็นเครื่องยืนยันคำพูดของแซนด์ได้เป็นอย่างดี
“ต่อไปเราจะใช้บลายน์เดอร์ก็คือตัวกัมอารบิกมาผสมซึ่งเป็นก้อนเหมือนคริสตัล แต่ในขวดนี้เราละลายน้ำมาแล้ว” แซนด์เทขวดกัมอารบิกลงบนถาดสีเหลืองแล้วใช้มูนเลอร์บดส่วนผสมทั้งหมดรวมกันอีกครั้ง
“กัมอารบิกที่เราใช้นำเข้าจากอินเดีย จริงๆ ที่ไทยก็มีนะในต้นมะขวิด แต่มันก็หายากมากแล้วเพราะไม่ใช่พืชเศรษฐกิจ คนไม่ค่อยปลูก”
สีเหลืองนวลจากส่วนผสมของผงดินเหลือง น้ำ ดินขาว และบลายน์เดอร์ค่อยๆ ปรากฏขึ้น แซนด์บอกว่าเมื่อสีเริ่มหนืดก็ถือว่าส่วนผสมเข้ากัน
“เสร็จแล้วก็บรรจุลงตลับไม้”
เธอพูดจบก่อนหยิบตลับไม้มาวางลงข้างๆ แล้วค่อยๆ บรรจงหยดสีเหลืองที่ผสมเสร็จแล้วลงไป
แซนด์ยังเล่าอีกว่านอกจากการผสมสีน้ำแล้ว ด้วยประสบการณ์ที่เธอได้เปิดเวิร์กช็อปสอนศิลปะเด็ก แซนด์ยังเริ่มต้นทดลองผสมสีเทียนเพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ศิลปะผ่านอุปกรณ์ที่ถนัดมือมากขึ้นด้วย
ส่วนพื้นที่ทำงานของแซนด์ นอกจากโต๊ะผสมสี ในสตูดิโอของศิลปินยังมีมุมเล็กๆ ขวามือที่เต็มไปด้วยอุปกรณ์บดส่วนผสมอย่างครกและตัวกรองผงสี ส่วนมุมด้านหลังโต๊ะทำงานหลักก็เต็มไปด้วยตู้วางขวดโหลที่บรรจุรากไม้ กัมอารบิก ดิน หิน และวัสดุธรรมชาติอื่นๆ ที่เธอเก็บสะสมเป็นวัตถุดิบเอาไว้อีกด้วย
ตลับสีแห่งธรรมชาติ
บนโต๊ะทำงานหลักของแซนด์ นอกจากจะเต็มไปด้วยเครื่องไม้เครื่องมือและวัตถุดิบที่พร้อมผสมสี อีกสิ่งที่วางเรียงรายล้อมรอบโต๊ะไม้สีน้ำตาลนี้อยู่ก็คือตลับสีที่มีสีธรรมชาติบรรจุอยู่ทุกกล่อง
ก่อนที่ศิลปินคนนี้จะมีตลับไม้ใส่สี แซนด์เล่าให้ฟังว่าตอนที่เธอเรียนอยู่ที่อินเดียและต้องทำโปรเจกต์การเดินทางตามหาสีเป็น zine ภาพวาดในเมืองต่างๆ ส่งอาจารย์ นอกจากคิดค้นหาสีจากธรรมชาติ เธอยังต้องคิดค้นวิธีการพกสีเดินทางไปพร้อมกับเธอด้วย
“ตอนแรกเรามีขวดแก้วใส่สีผสมน้ำอยู่เยอะมากเลย พอจะออกไปข้างนอก รู้สึกว่าแบกขวดไปไม่ได้ เลยอยากทำให้มันเป็นก้อนเพื่อให้เดินทางสะดวกขึ้น เลยคิดค้นเอาดินมาผสมกับสีบางตัว ดินจะได้ช่วยยึดเกาะให้พิกเมนต์เป็นก้อน”
“พอทำได้เราก็เอาใส่กล่องแล้วพกออกไปใช้ข้างนอก แต่คุณภาพอาจจะแข็งๆ ถ้าเทียบกับแบบตลับที่มาทำที่ไทย อันนี้จะนิ่มๆ กว่า อีกอย่างคือเวลาใช้สีน้ำจากก้อนดินที่ทำต้องเอาพู่กันจุ่มน้ำแล้วกวนก่อนเพื่อให้เนื้อสีออกมาถึงจะวาดได้ แต่ในตลับไม้แค่ปาดนิดเดียวสีจะออกมาเลย” แซนด์อธิบาย
การเดินทางตามหาสีของแซนด์ไม่ได้สิ้นสุดลงหลังจากส่งโปรเจกต์จบแล้ว แต่เธอบอกกับเราว่า ทุกๆ วันเธอยังคงเดินทางและสังเกตสิ่งแวดล้อมรอบตัวเพื่อตามหาสีจากธรรมชาติอยู่
“สำหรับเราตอนนี้ สีน้ำเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว ดังนั้นเป้าหมายต่อไปของเราคือการหาวัตถุดิบที่หลากหลายขึ้น รู้จักต้นไม้ให้มากขึ้น โดยเฉพาะต้นที่หายาก มันก็ทำให้เราเห็นความสำคัญของมันและอยากปลูกต้นไม้เพิ่มมากขึ้นด้วย”