เยี่ยมสตูดิโอสวนขนาดย่อมของ Freya.art นักวาดภาพประกอบ Botanical

Highlights

  • ฝ้าย–กชกร โซ่สายคำ หรือ Freya.art นักวาดภาพประกอบแนวพฤกษศาสตร์ผู้สร้างสรรค์ดอกไม้หลากสีสันนานาพันธุ์มาไว้บนโปรดักต์ไลฟ์สไตล์หลายแบรนด์
  • ด้วยเติบโตมากับครอบครัวที่ชอบศิลปะและแม่ทำงานด้านศิลปกรรมที่สวนสัตว์ทำให้เธอซึมซับความชอบในงานสร้างสรรค์และธรรมชาติมาจนถึงตอนนี้
  • ประกอบกับความชอบการตกแต่งคาเฟ่ในบาหลี จึงเป็นแรงบันดาลใจให้สตูดิโอทำงานของฝ้ายเต็มไปด้วยต้นไม้ล้อมรอบพื้นที่ความสบายใจ

ในบรรดาภาพวาดลายเส้นดอกไม้นานาพันธุ์และสีสันสดใส เรานึกถึงผลงานของ Freya.art หรือ ฝ้าย–กชกร โซ่สายคำ นักวาดภาพประกอบ Botanical ผู้สร้างสรรค์ลายเส้นแบบ feminine บนโปรดักต์ไลฟ์สไตล์หลายแบรนด์

ทั้งเสื้อผ้า ชุดว่ายน้ำ จาน หรือแม้แต่เพดานร้านอาหาร ฝ้ายก็ลงมือออกแบบและวาดภาพประกอบมาแล้ว ด้วยลายเส้นโค้งบิดพลิ้วพร้อมดอกไม้และใบไม้หลากชนิด ทำให้คนชื่นชอบงานของเธอได้ไม่ยาก

แต่กว่าจะเป็นผลงานอย่างที่เราเห็น เบื้องหลังการทำงานของฝ้ายต้องผ่านทั้งวิธีคิดและการสร้างแรงบันดาลใจไม่ใช่น้อย ที่แน่ๆ คงประกอบไปด้วยธรรมชาติจากต้นไม้ที่เธอยกมารวมไว้ในห้องพักขนาดกะทัดรัดแห่งนี้

เมล็ดพันธุ์เริ่มต้นของลายเส้นพลิ้วไหว

ฝ้ายเติบโตมาในครอบครัวศิลปะ พ่อกับแม่ของเธอเรียนจบเพาะช่าง แม่ทำงานด้านศิลปกรรมที่สวนสัตว์ซาฟารีเวิลด์ เวลาที่ได้ติดสอยห้อยตามไปที่ทำงานของแม่ ฝ้ายจะได้เห็นธรรมชาติ ต้นไม้ และดอกไม้ในสวนสัตว์ ขณะเดียวกันก็ได้ซึมซับศิลปะจากสตูดิโอทำงานของแม่ไปพร้อมกัน

“จำได้ว่าในห้องเต็มไปด้วยอุปกรณ์ศิลปะ พอเราเจอบ่อยๆ ก็ซึมซับความชอบมาเรื่อยๆ จนกระทั่งพ่อกับแม่ซื้อสีให้ครั้งแรกในวันเกิด ตอนนั้นเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้รู้ว่าเราชอบงานศิลปะ และการวาดภาพเป็นสิ่งที่เราทำได้ดีที่สุด” ฝ้ายย้อนนึกถึงตัวเองในวัยเด็ก

ความชอบผลักดันให้ฝ้ายเลือกเรียนสาขาประยุกต์ศิลป์ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร สถาบันที่ทำให้เธอได้ใช้เทคนิคการทำงานหลากหลาย และสะสมประสบการณ์จนต่อยอดเป็นลายเส้นพลิ้วไหวในปัจจุบัน

“ตอนนั้นเรายังไม่มีลายเส้นละเอียดและชัดขนาดนี้ ส่วนใหญ่วาดไปเรื่อยๆ ใช้เทคนิคสีน้ำ สีอะคริลิก วาดภาพเหนือจินตนาการและวาดลายเส้นดินสอบ้าง แต่หลักๆ สไตล์งานของเราส่วนใหญ่จะเป็นเส้นโค้งๆ พลิ้วไหวแบบอาร์ตนูโว เพราะเราชอบและได้แรงบันดาลใจมาจาก Mucha”

หลังเรียนจบ เธอเลือกทำงานเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ แต่ทำได้ไม่นานก็รับรู้ว่าตัวเองอึดอัด เธอจึงตัดสินใจเบนเข็มกลับมาที่การทำภาพประกอบ ออกเดินทางไปรับวาดรูปตามงานศิลปะบ้าง รับวาดภาพจากคนอื่นบ้าง และได้ร่วมทำงานประจำที่แบรนด์เสื้อผ้าอย่างดิษยา ทำให้ฝ้ายค่อยๆ มองเห็นจุดเด่นในงานของตัวเอง

“ฝ้ายรู้แล้วว่างานเรามีความเป็น feminine สูง ตอนนั้นอยากทำงานกับแบรนด์เลยไปเดินดูว่าในห้างสรรพสินค้ามีแบรนด์อะไรบ้างที่มีลักษณะเป็นผู้หญิง แล้วเริ่มติดต่อกับ Headquarter เพื่อส่งผลงานให้ดู ผ่านไป 2-3 เดือนเขาก็ติดต่อกลับมา” 

พอทำงานมากขึ้น ประสบการณ์ทำให้เธอเรียนรู้ว่าแบรนด์ที่มีความเป็น feminine สูง ค่อนข้างใช้ดอกไม้หรือพันธุ์ไม้บนผลิตภัณฑ์เยอะ และลายเส้นแบบอาร์ตนูโวที่เธอชอบก็ดูเข้ากันได้ดีกับรูปร่างของดอกไม้เหล่านี้ 

“กลายเป็นว่าจากที่เราวาดตามคำสั่งของลูกค้า แต่ตอนนี้เราเจอเอกลักษณ์ในงาน มีเส้นสาย เงา สีสัน และโฟกัสจุดเด่นของรูปร่างดอกไม้ได้ดี หลังจากนั้นมาก็เน้นให้งานดอกไม้เป็นตัวตนเราเลย” 

ช่วงแรกฝ้ายยังคงใช้เทคนิคสีน้ำ สีอะคริลิก และสีไม้เป็นหลักในการสร้างสรรค์ภาพ แต่เธอค้นพบว่าเมื่อนำไปสแกนหรือขยายเพื่อพิมพ์เป็นลายบนโปรดักต์หลายๆ อย่าง ลายเส้นจะแตกและเห็นรอยตำหนิบ่อยๆ 

“พอมีไอแพดก็เริ่มหันมาวาดตรงนี้เป็นหลัก ทำให้ไม่มีปัญหาเวลาแก้สีงาน อีกอย่างคือเอางานไปทำที่ไหนก็ได้ โดยเฉพาะตอนเที่ยว” ฝ้ายหัวเราะให้กับคำตอบของตัวเอง

สวนดอกไม้บนเสื้อผ้า จานอาหาร และเพดานห้อง

แม้การทำงานร่วมกับแบรนด์แต่ละครั้ง นักวาดภาพประกอบจะได้รับโจทย์และคอนเซปต์จากแบรนด์เป็นหลัก แต่ฝ้ายจะพยายามบาลานซ์ความเป็นตัวเองและความต้องการของธุรกิจให้มากที่สุด เพื่อตอบโจทย์ได้ทั้งแบรนด์และลายเส้นแบบ Freya.art 

“หรือถ้าบางแบรนด์ให้อิสระในการออกแบบ ฝ้ายจะไปศึกษาว่าแบรนด์นั้นๆ ชอบไลฟ์สไตล์แบบไหน เป็นคนลักษณะยังไง ที่สำคัญคือต้องรู้ลักษณะของโปรดักต์ที่จะออกแบบ อย่างจานชุดนี้” เธอหยิบเอาจาน 3 ใบต่างสีที่ออกแบบให้แบรนด์ Jaan R Harn – Taste of Plate มาให้เราดู

“เราต้องตีโจทย์ให้แตกว่าลักษณะงานต้องวาดเป็นวงกลม จานชุดนี้เขาจะวางอะไร ถ้าวางขนมต้องวางตรงกลาง แสดงว่าต้องวาดลายรอบๆ และเว้นตรงกลางเอาไว้” ฝ้ายกำลังพูดถึงจานใบเล็กสุดที่มีกระต่ายกระโดดร่าเริงท่ามกลางดอกป๊อปปี้

“อีกอย่างคือชุดนี้เราสร้างเลเยอร์ในการวาง ออกแบบให้จานแต่ละใบคอนทราสต์กัน จานที่ใหญ่ที่สุดจะเป็นกรอบมีรายละเอียดเล็ก ส่วนใบที่ 2 ดอกไม้ใหญ่หน่อย และใบเล็กสุดเน้นใช้สีเข้มขึ้นเพื่อเน้นให้กระต่ายโดดเด่นขึ้นมา” 

ในขณะเดียวกัน ถ้าผลิตภัณฑ์ต่างชนิดฝ้ายต้องคิดให้รอบคอบว่าสวนดอกไม้ที่เธอเลือกใส่เข้าไปจะต้องมีรูปร่างแบบไหน เหมาะกับการใช้งานและดีไซน์ของวัสดุหรือเปล่า เธอยกตัวอย่างการออกแบบชุดว่ายน้ำของแบรนด์ Wakingbee ให้เราเข้าใจ

“ฝ้ายจะไปดูว่า personality ของลูกค้าเขาเป็นคนแบบไหน ชอบสีหรือลวดลายเสื้อผ้ายังไง เขาเป็นคนชอบถ่ายรูปหรือเปล่า ถ้าชอบเราจะออกแบบสีชุดให้ขับผิว ถ่ายออกมาแล้วสวย ก็คุยกับแบรนด์ว่าเราเอาสีพาสเทลมาใส่กับสีน้ำเงินและเขียวมินต์น่าจะดี”

ส่วนการเลือกพันธุ์ดอกไม้ลงบนงานก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะรูปร่างของพฤกษศาสตร์ย่อมมีผลต่อสรีระของผู้สวมใส่เสื้อผ้านั้นๆ นักวาดภาพประกอบจึงเลือกดอกไม้และใบไม้ที่มีเส้นเรียว มีกลีบและใบเป็นแฉกเพื่อเพิ่มความมั่นใจให้ผู้สวมใส่

“แต่ละงานที่โจทย์แตกต่างกัน ดอกไม้และใบไม้ที่เราเลือกก็ต่างกันด้วย อย่างตอนออกแบบเพดานร้านแซ่บอีหลี คอนเซปต์คืออยากให้มีความเป็นอีสาน ฝ้ายเลยเสนอไอเดียเอาเครื่องปรุงอาหารอีสานมาผสมกับรูปร่างของดอกพริก และปรับให้เข้ากับดอก Bird of paradise หรืออย่างดอกไม้บานๆ ฝ้ายก็เปลี่ยนกลีบมาเป็นหอมแดงแทน” 

สตูดิโอสีเขียวแรงบันดาลใจจากงานและบาหลี 

เบื้องหลังการคิดงานและวาดเส้นสายพฤกษศาสตร์ในแบบ Freya.art เกิดขึ้นที่โต๊ะทำงานสีขาว รายล้อมด้วยต้นไม้เล็กๆ แม้ว่าหลายผลงานก่อนหน้านี้เธอจะสร้างสรรค์อยู่ในที่พักเก่า แต่ทุกๆ ที่ที่เธอทำงานต้องมีพื้นที่สีเขียวเล็กๆ พร้อมแสงธรรมชาติทั่วถึงอยู่เสมอ

“ฝ้ายอยากตื่นมาอยู่ในพื้นที่ที่ทำให้อารมณ์ดีก่อนทำงาน แม้จะเป็นห้องใหม่แต่ก็เลือกห้องที่มีเพดานสูง มีแสงธรรมชาติเข้าถึง” เธอพาเราเดินมานั่งตรงโซฟาสีเขียว

“เป็นพื้นที่ความสบายใจ เราเอาต้นไม้มาวางรอบๆ เวลาตื่นเช้ามาแสงเข้าถึง ได้มาจิบกาแฟตรงโซฟา ทำให้เราอารมณ์ดี มีกำลังใจทำงาน หรือบางทีก็มาวาดรูปตรงนี้เลย”

ห้องที่ล้อมรอบไปด้วยต้นไม้น่าจะเป็นเทรนด์แห่งยุค เพราะใครๆ ก็โหยหาพื้นที่สีเขียวใกล้ตัวกันทั้งนั้น แต่สำหรับฝ้าย นอกจากต้นไม้จะช่วยเติมเต็มความสมบูรณ์ในหัวใจ เธอยังต้องอาศัยรูปร่างและใบของพืชสีเขียวมาใช้ในงานด้วย

“บางทีก็เลือกต้นไม้มาลงเพราะเชปด้วยนะ คิดว่าจะเอาไปใส่ในงานนี้ นั่งๆ ทำงานอยู่ก็ดูใบไม้ เส้นแบบนี้วางยังไง แล้วเอามาลงในงานเรา”

การออกแบบจัดห้องทำงานของฝ้ายยังได้แรงบันดาลใจมากจากคาเฟ่ในบาหลี สถานที่ท่องเที่ยวในดวงใจของเธอ ต้นไม้หลายพันธุ์ที่เลือกมาก็มีส่วนประกอบจากความชอบนี้ด้วย 

“ฝ้ายสังเกตว่าคาเฟ่ในบาหลีเขาจะออกแบบให้ต้นไม้ชนิดนี้วางตรงไหน ถ้ามุมที่มีกรอบหน้าต่างจะเลือกต้นไม้ที่ใบเรียวแทงยอด ส่วนมุมข้างบนจะใส่ต้นไม้ที่ห้อยลงมาได้ อย่างต้นลีกวนยู” 

เธอจึงเลือกต้นคองโกมาวางไว้ตรงระเบียง ใกล้กับกรอบหน้าต่างของห้องพอดี

“ตอนตื่นเช้าออกมาจากห้อง มองจากมุมตรงนี้จะเห็นใบของต้นคองโกแทงยอดออกมาตรงกรอบหน้าต่าง มันเหมือนงานออกแบบนะ บางทีเราเห็นกรอบสี่เหลี่ยม น่าจะต้องเพิ่มอะไรเข้าไปให้เติมเต็มพื้นที่บ้าง”

“อย่างผนังด้านหลังว่าง ฝ้ายก็ติดกระจกเข้าไป เวลาเดินออกจากห้องมันจะสะท้อนให้เห็นต้นไม้พอดี อีกอย่างมันเหมือน teleport ของเราเองด้วย”

ในฐานะคนทำงานสร้างสรรค์ที่ต้องนั่งทำงานอยู่ห้องเป็นประจำ ฝ้ายมีวิธีตกแต่งห้องขนาดกะทัดรัดให้รื่นรมย์และสบายใจยังไงบ้าง นี่คือคำถามที่เราอยากรู้มากที่สุด

“อันดับแรกจัดห้องก่อน” นักวาดภาพประกอบพูดติดตลก

“ไม่ถึงขั้นต้องเรียบร้อย แต่จัดให้เข้าที่เข้าทาง พื้นที่ทำงานที่ดีมีเอฟเฟกต์ต่อการทำงานและอารมณ์ของเรามาก ฝ้ายให้ความสำคัญกับรูปร่างของ work space เช่น มีชั้นวางของตรงโต๊ะทำงาน แล้วเราจะเอามากั้นระหว่างพื้นที่ที่ผ่อนคลายกับพื้นที่ทำงานแบบโปรดักทีฟ” เธอพาเราเดินดูพื้นที่โต๊ะสีขาวตรงข้ามกับมุมโซฟา

“ตรงนี้เป็นมุมที่ทำงานจริงจัง ดังนั้นโต๊ะต้องไม่รก มีอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ และที่สำคัญคือต้นไม้ที่ชอบวางไว้ใกล้ๆ”

“ฝ้ายว่าต้นไม้มีผลทางจิตใจมากกว่าของแต่งบ้านธรรมดา เพราะมันมีชีวิต เราต้องดูแล มันเป็นทั้งเพื่อนและพลังที่ดีให้กับเรา” 


ภาพ Freya.art 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย