ความเป็นอีสานที่ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล บอกว่าเป็นวัตถุดิบชั้นดีต่อคนทำงานสร้างสรรค์

1 อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

แม้ภาพยนตร์หลายเรื่องของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล จะมีภาษาหรืออัตลักษณ์ที่เป็นสากลซึ่งสร้างชื่อให้เขาในระดับโลก หากในทางกลับกัน ภาพยนตร์เกือบทั้งหมดเหล่านั้นก็ล้วนมีลักษณะร่วมเดียวกัน คือการฉายภาพของชีวิตผู้คนในชนบท โดยเฉพาะในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย

สุดเสน่หา (Blissfully Yours, 2545) และ สัตว์ประหลาด! (Tropical Malady, 2547) อภิชาติพงศ์เลือกโลเคชั่นถ่ายทำที่เขาใหญ่ นครราชสีมา (แม้ภาพยนตร์ทั้งสองจะไม่ได้บอกว่าสถานที่ในเรื่องคือที่ไหนก็ตาม) แสงศตวรรษ (Syndromes and a Century, 2551) และ รักที่ขอนแก่น (Cemetery of Splendour, 2558) เขาหยิบความทรงจำวัยเด็กของตัวเองในบ้านเกิดที่ขอนแก่นมาใช้เป็นองค์ประกอบหลัก ขณะที่ ลุงบุญมีระลึกชาติ (Uncle Boonmee Who Can Recall His Past Lives, 2553) ได้นำแรงบันดาลใจจากการเดินทางไปเยือนบ้านนาบัว อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม และหนังสือว่าด้วยคนระลึกชาติที่เขียนโดยพระในวัดป่าแห่งหนึ่งในภาคอีสานมาเขียนบท หรืออย่างภาพยนตร์สั้นเรื่องล่าสุด Song of The City ในซีรีส์ Ten Years Thailand (2561) เขาก็กลับมาเลือกพูดถึงชะตาชีวิตของเซลส์แมนคนหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น เป็นต้น

นอกเหนือจากการนำสิ่งที่พบจากการเดินทางและความทรงจำที่เขามีต่อพื้นที่มาสร้างภาพยนตร์ อภิชาติพงศ์บอกว่าทั้งภูมิภาคและความเป็นอีสานถือเป็นวัตถุดิบชั้นดีต่อคนทำงานสร้างสรรค์มากทีเดียว ค่าที่ว่ามันมีภาพอันชัดเจนของความเหลื่อมล้ำระหว่างความเป็นเมืองและชนบท การถูกกดทับทางสังคมและการเมือง รวมไปถึงมิติของความเชื่อเหนือจริงที่เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตผู้คนมากมาย

“จริงๆ ก็ไม่ใช่แค่อีสานหรอก ประเทศเรานี่แหละที่เป็นวัตถุดิบชั้นดี แต่เราเชื่อมโยงกับที่นี่ และที่สำคัญคือเราคิดว่าคนอีสานเป็นตัวอย่างของผู้ได้รับผลกระทบจากความเหลื่อมล้ำในประเทศนี้ชัดเจนที่สุด” อภิชาติพงศ์กล่าว

2

“ผมเกิดและโตในจังหวัดขอนแก่น อันที่จริงตอนเด็กก็ไม่รู้สึกว่าการเป็นคนอีสานนี่ด้อยอะไรตรงไหน จนพบในเวลาต่อมาว่าสาธารณูปโภคและการพัฒนาต่างๆ มันกระจุกอยู่แค่ในกรุงเทพฯ ซึ่งเมื่อมองมาจากกรุงเทพฯ การเป็นคนอีสานคือคนนอก

“อันที่จริงในอีสานเองก็มีความเหลื่อมล้ำด้วยเช่นกัน ทั้งทางรูปธรรมของความเจริญและทัศนคติของผู้คน ขอนแก่นยังมีในอำเภอเมืองและนอกอำเภอเมือง หรือไปเทียบกับกาฬสินธุ์หรือหนองคาย ขอนแก่นก็ดูมีระดับชั้นที่สูงกว่า ผมเคยไปเยี่ยมญาติที่อุดรธานีแล้วพบว่าเมืองเขาโมเดิร์นมาก ถนนกว้างกว่า กลางเมืองมีห้าแยก และเริ่มมีตึกสูงแล้ว ซึ่งสมัยนั้นอุดรฯ เป็นที่ตั้งฐานทัพอเมริกา ในเชิงภูมิศาสตร์ขอนแก่นใกล้กรุงเทพฯ กว่าอุดรธานี แต่ด้วยความเจริญผู้คนในตอนนั้นจึงเหมือนมองว่าอุดรธานีใกล้กรุงเทพฯ มากกว่า กลายเป็นว่ากรุงเทพฯ ถูกใช้เป็นมาตรฐานความเจริญไป

“อีกเรื่องคือสมัยที่ผมโตมาการเหยียดชนชาติดูเป็นเรื่องธรรมดา การพูดคำอีสานในโรงเรียนของผมที่อยู่ในอีสานแท้ๆ กลับมีการแซวกันว่าเป็นลาว วัยรุ่นในกรุงเทพฯ กำลังฮิตสำนวนแบบไหนคนที่โรงเรียนผมก็จะพูดตามแบบนั้น เช่นเดียวกับรายการโทรทัศน์โดยเฉพาะกับละคร จะเห็นตัวละครชาวอีสานส่วนใหญ่รับบทเป็นคนรับใช้ เป็นคนขับรถ ไปจนถึงคนโง่ๆ ที่ไม่มีการศึกษา การเหยียดอัตลักษณ์จากส่วนกลางมันเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ

“พอจบ ม.6 ผมจึงตัดสินใจไม่ไปกรุงเทพฯ แล้วเรียนต่อที่ขอนแก่น (คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น) เหตุผลข้อแรกคือไม่อยากให้คนที่นั่นดูถูกเรา ส่วนข้อสองซึ่งน่าจะเป็นผลพวงจากข้อแรก คือมีความรังเกียจกรุงเทพฯ มันเป็นสเตปของการต่อต้าน”

3

“น่าจะเป็นตอนลงพื้นที่เพื่อหาข้อมูลเขียนบท ลุงบุญมีระลึกชาติ ที่ความเป็นอีสานอยู่ในภาพยนตร์ของผมจริงๆ ก่อนหน้านั้นก็มีหนังที่ถ่ายทำที่โคราชหรือขอนแก่นบ้าง แต่เนื้อเรื่องก่อนหน้ามันไม่ได้เชื่อมโยงกับความเป็นท้องถิ่น เป็นฉากที่ไหนก็ได้ในประเทศไทยมากกว่า หนังเรื่อง ลุงบุญมีฯ เกิดขึ้นมาระหว่างลงพื้นที่บ้านนาบัว อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม และผมพบว่าความเป็นอีสานมันพิเศษ ทั้งในบทบาทของการเป็นผู้ถูกกระทำและการหาทางออกจากการถูกกระทำด้วยตัวเอง ซึ่งมันพ่วงกันไปหมด

“เพราะอย่างที่บอกไป ลำพังแค่อัตลักษณ์ของความเป็นอีสานก็ถูกสื่อจากส่วนกลางล้อเลียน รวมไปถึงบทบาทของพวกเขาที่ถูกโลกทัศน์ของคนกรุงเทพฯ กดไว้ ขณะเดียวกันในเชิงพื้นที่ก็ไม่ได้มีความอุดมสมบูรณ์ พวกเขาไม่มีนวัตกรรมที่จะหารายได้ในผืนดินของตัวเอง ส่วนรัฐก็ไม่กระจายความเจริญ ผู้คนก็เลยต้องพากันเข้ากรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่เพื่อหางานทำ ส่วนคนที่ยังอยู่ก็จำเป็นต้องหาที่พึ่งทางโชคชะตา จึงสังเกตได้ว่าเรื่องเกจิอาจารย์หรือไสยศาสตร์ในภูมิภาคอีสานนี่คับคั่งมาก เพราะชาวบ้านไม่รู้จะพึ่งพาใคร แล้วในยุคก่อนมันก็เชื่อมกับลัทธิคอมมิวนิสต์ด้วย ไม่ใช่แค่เพราะว่าอีสานใกล้กับลาวหรือเวียดนามเท่านั้น แต่ความที่ชาวบ้านพึ่งพารัฐของตัวเองไม่ได้ คอมมิวนิสต์ที่นำเสนอแนวคิดเรื่องความเท่าเทียมในตอนนั้นจึงแบ่งบานพอสมควร

“อีสานในมุมมองของผมจึงไม่สามารถแยกขาดจากการเมืองได้เลย อีกทั้งช่วงที่ผมลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูลเป็นช่วงที่คนอีสานกำลังกลายเป็นเหยื่อทางการเมืองอย่างน่าเห็นใจ อันเป็นผลพวงต่อเนื่องมาจากรัฐประหาร เกิดขบวนการคนเสื้อแดง พวกเขาลุกฮือเพราะเห็นว่าถูกเอาเปรียบ ไม่ได้รับการดูแลจากส่วนกลาง และต้องการให้เกิดการกระจายอำนาจตามหลักประชาธิปไตย แต่สุดท้ายก็ถูกชนชั้นปกครองกดไว้อีก และการเคลื่อนไหวของคนอีสานตรงนี้ยังเป็นเครื่องบ่งชี้ให้คนทั่วไปรวมทั้งผมเองได้เห็นถึงความชั่วร้ายของชนชั้นปกครองไทยมากขึ้น นั่นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมย้อนรอยกลับมาทำโปรเจกต์ปลุกผี (Primitive) ที่เป็นนิทรรศการศิลปะจัดวางที่ใคร่ครวญถึงความเป็นคนชายขอบ รวมถึงคนอีสานในสังคมไทย”

4

“ไม่เคยคิดว่างานเราเป็นภาพยนตร์ที่สะท้อนอัตลักษณ์ความเป็นอีสานอะไร แม้กระทั่ง ลุงบุญมีฯ ที่ถ่ายทำที่นั่นเป็นหลักเรายังกลับคิดถึงแค่พื้นที่ที่เราเติบโตมา คิดถึงการ์ตูนผีเล่มละบาทและโทรทัศน์ขาว-ดำมากกว่า ในขณะเดียวกันผมก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าหนังอีสานคืออะไร ต้องมีตัวละครที่พูดภาษาอีสาน แต่งชุดพื้นถิ่น หรืออ้างอิงกับประเพณีหรือความเชื่ออย่างนั้นใช่ไหม แต่ถึงอย่างนั้นผมก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรหากจะมีคนแปะป้ายว่าหนังของผมคือหนังอีสาน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน

“อย่างไรก็ดีผมชอบอีสานในฐานะที่มันเป็นดินแดนที่มีขั้วตรงข้ามที่ชัดเจนมากๆ เรื่องเทศกาลหรืองานประเพณี ผู้คนที่นี่จะสนุกและเมามันอย่างเต็มที่ แต่ในทางกลับกันอีสานก็มีความสงบ ทั้งสงบสุขและสงบปากสงบคำ ซึ่งก็สืบเนื่องมาจากการที่ถูกส่วนกลางกดไว้ พอพวกเขาไม่สามารถเข้าถึงโอกาสในการพัฒนา ผู้คนก็ปลีกวิเวก และอย่างที่บอก หลายคนก็เลือกพึ่งพาเกจิอาจารย์ต่างๆ จนเรื่องเหล่านี้เฟื่องฟู

“กับคำถามที่ว่าอีสานคือขุมทรัพย์หรือวัตถุดิบสำคัญของคนทำหนังยังไง คำตอบก็น่าจะเป็นขั้วตรงข้ามที่ชัดเจนนี้ รวมทั้งความเชื่อเหนือจริงหรือเหนือธรรมชาติทั้งหลายของผู้คน ที่ปัจจุบันก็ได้กลมกลืนเข้าไปกับสถานการณ์ทางการเมืองประจำวันในประเทศเราไปแล้ว”


บทสัมภาษณ์นี้เป็นส่วนหนึ่งในนิตยสาร a day ฉบับ 236 อีสาน ว่าด้วยพลังความคิดสร้างสรรค์และการต่อสู้ของคนอีสาน สามารถสั่งซื้อได้ที่นี่

“11กับคำถามที่ว่าอีสานคือขุมทรัพย์หรือวัตถุดิบสำคัญของคนทำหนังยังไง คำตอบก็น่าจะเป็นขั้วตรงข้ามที่ชัดเจนนี้ รวมทั้งความเชื่อเหนือจริงหรือเหนือธรรมชาติทั้งหลายของผู้คน ที่ปัจจุบันก็ได้กลมกลืนเข้าไปกับสถานการณ์ทางการเมืองประจำวันในประเทศเราไปแล้ว”

“21กับคำถามที่ว่าอีสานคือขุมทรัพย์หรือวัตถุดิบสำคัญของคนทำหนังยังไง คำตอบก็น่าจะเป็นขั้วตรงข้ามที่ชัดเจนนี้ รวมทั้งความเชื่อเหนือจริงหรือเหนือธรรมชาติทั้งหลายของผู้คน ที่ปัจจุบันก็ได้กลมกลืนเข้าไปกับสถานการณ์ทางการเมืองประจำวันในประเทศเราไปแล้ว”

“31กับคำถามที่ว่าอีสานคือขุมทรัพย์หรือวัตถุดิบสำคัญของคนทำหนังยังไง คำตอบก็น่าจะเป็นขั้วตรงข้ามที่ชัดเจนนี้ รวมทั้งความเชื่อเหนือจริงหรือเหนือธรรมชาติทั้งหลายของผู้คน ที่ปัจจุบันก็ได้กลมกลืนเข้าไปกับสถานการณ์ทางการเมืองประจำวันในประเทศเราไปแล้ว”

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

กรินทร์ มงคลพันธ์

ช่างภาพอิสระร่างใหญ่ อดีตหัวหน้าช่างภาพนิตยสารเล่มหนึ่งในเชียงใหม่ รักการปั่นจักรยาน ชอบแสงธรรมชาติ กับหมาตัวใหญ่ๆ