ว่ากันรอบที่ร้อยที่พัน : Soft Power ไทยทำยังไงถึงจะไปได้แบบเกาหลี

Highlights

  • ความพยายามของรัฐบาลไทยในการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เกิดขึ้นตั้งแต่ พ.. 2499 เมื่อ จอมพล ป. พิบูลสงคราม คิดจัดตั้งหน่วยงานผลิตภาพยนตร์ในรูปแบบรัฐวิสาหกิจเพื่อสนับสนุนผู้สร้างหนัง แต่ไม่สำเร็จเพราะการแย่งชิงอำนาจทางการเมืองอันร้อนแรงในสมัยนั้น
  • หากหนังไทยอยากเป็นแบบเกาหลี ต้องไปให้สุด ถ้าจะดูเกาหลีเป็นต้นแบบ ต้องดูทั้งระบบ ทั้งแผง ไม่ใช่แค่เพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง ไม่ใช่แค่ดู Parasite หรือ Crash Landing on You แล้วทึกทักง่ายๆ ว่าหนังไทยก็ทำแบบนั้นได้ถ้ามีเงินพอ เพราะนั่นเป็นการมองแบบตื้นเขินไปสักเล็กน้อย
  • เกาหลีทำมากกว่าให้เงินคนสร้างหนัง เกาหลีสร้างระบบการพัฒนาที่ชัดเจน ให้เกียรติหนังทั้งในฐานะศิลปะและพร้อมจะหาประโยชน์ในมิติเชิงพาณิชย์ เกาหลีไม่ได้มีนโยบายส่งเสริมซอฟต์ พาวเวอร์แบบทื่อๆ แต่เกาหลีส่งเสริมคนสร้าง คนดู และเปิดกว้างทางความคิด พลังนี้ต่างหากที่ยั่งยืนและแข็งแกร่ง

เคยพูดไปเมื่อครั้งแรกน่าจะไม่ต่ำกว่าสิบปีแล้ว และคิดว่าคงต้องพูดไปอีกนานว่าถ้าหนังไทยอยากเทียบชั้นหนังเกาหลีต้องอยากให้สุด ไปให้ถึง เลียนแบบให้ครบ อย่าครึ่งๆ กลางๆ อย่าลูบหน้าปะจมูก อย่าคิดว่าอุตสาหกรรมป๊อปของเกาหลีใต้สร้างได้ในวันเดียวหรือด้วยการโยนเงินเข้าไปอย่างเดียว

พูดอีกอย่างคือ ทั้ง Parasite ทั้ง BLACKPINK ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะดวงหรือเพราะเงินจากรัฐเพียงอย่างเดียว

ที่ต้องพูดเป็นแผ่นเสียงตกร่องอีกครั้ง ก็เพราะข่าวล่าสุดที่มีผู้สร้างหนังไทยรายใหญ่เข้าพบนายกรัฐมนตรีฯ และ ส..บางคน เพื่อหารือขอความช่วยเหลือในการสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย (ซึ่งสมควรทำในเชิงหลักการและเพื่อโปรโมตหนังไทยในฐานะซอฟต์ พาวเวอร์–พลังนุ่ม ฟังดูน่าขยำเล่นให้ผงาดขึ้นทัดเทียมกับเกาหลีใต้ซึ่งกลายเป็นมหาอำนาจทางวัฒนธรรมไปแล้วด้วยหนัง ซีรีส์ และเพลง

เกาหลีทำได้ ไทยก็ต้องทำได้สิ ถ้าร่วมแรงร่วมใจกันกิมจิหรือจะสู้ต้มยำกุ้ง (สั่งเป็นหม้อไฟ อย่าสั่งเป็นชาม ไม่คุ้ม)

ขึ้นต้นมาราวกับเกรี้ยวกราด แต่เปล่าเลย ที่ว่าไปแบบนี้เพราะเหน็ดเหนื่อยต่างหาก ด้วยเหตุที่ว่าเรื่องทั้งหมดทั้งปวงที่เกริ่นมานี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ตั้งแต่เกาหลีเปิดตัวขึ้นเป็นผู้ส่งออกวัฒนธรรมร่วมสมัยรายใหญ่เมื่อประมาณ 20 ปีก่อน แข่งกับญี่ปุ่นในตอนแรกและท้าชิงถึงขั้นแข่งกับฮอลลีวูดในตอนหลัง (Parasite ได้ออสการ์ปีนี้) แผ่อิทธิพลทางสายตาและรูหูไปทั่วเอเชีย

ตั้งแต่ตอนนั้นแล้วที่อุตสาหกรรมหนังไทยและรัฐบาลไทยเกิดใจสั่นอยากทำแบบเดียวกันบ้าง อยากเห็นหนังไทย เพลงไทย ‘โก อินเตอร์ฯ’ แบบเกาหลี ผู้เขียนจำได้แม่นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2551 ตอนนั้นคุณมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ เป็นรองนายกรัฐมนตรีฯ ขึ้นกล่าวปาฐกถาในงานสัมมนาแห่งหนึ่งโดยพูดถึงแผนสร้างวัฒนธรรมซอฟต์ พาวเวอร์ไทยให้เดินตามรอยความสำเร็จของเกาหลีในตอนนั้นซีรีส์ แดจังกึม (2546) ออกฉายมาหลายปีแล้วทางโทรทัศน์ และเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมากเรื่องความสำเร็จในการโปรโมตอาหารและวัฒนธรรมเกาหลีผ่านหนังที่ทำเอาไทยเฝ้ามองตาปริบๆ

ผู้เขียนอยู่ในงานสัมมนาวันนั้น และกำลังฟังคุณมิ่งขวัญบรรยายความฝันว่าทำยังไงไทยถึงจะไปได้ไกลแบบเกาหลี ทันใดนั้นคุณมิ่งขวัญเกิดล้มฟุบคาโพเดียมแบบดื้อๆ ทำเอาคนทั้งห้องประชุมตกใจ เจ้าหน้าที่ต้องขึ้นไปปฐมพยาบาลบนเวที เดชะบุญที่แกแค่เป็นลม ไม่ได้เป็นอะไรมาก อย่างที่ทราบกันว่าปัจจุบันนี้คุณมิ่งขวัญยังเป็น ส.ส. ยังกระฉับกระเฉง และยังฉะฉานทุกครั้งในยามอภิปราย ถึงแม้จะไม่ได้ยินแกพูดเรื่องอยากให้ไทยเป็นเหมือนเกาหลีอีกสักเท่าไหร่ ไม่รู้ว่าเพราะอะไรเหมือนกัน

ดังนั้นแนวคิดที่มองเกาหลีเป็นต้นแบบในเส้นทางอุตสาหกรรมหนังหรือซีรีส์ไทย มีมาอย่างเป็นทางการไม่ต่ำกว่า 13-14 ปีแล้ว แต่ก่อนจะพูดเรื่องเกาหลีต่อ ขอย้อนอดีต (อันขมขื่น) สักเล็กน้อย

ความพยายามของรัฐบาลไทยในการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เกิดขึ้นตั้งแต่ พ.. 2499 เมื่อ จอมพล ป. พิบูลสงคราม คิดจัดตั้งหน่วยงานผลิตภาพยนตร์ในรูปแบบรัฐวิสาหกิจเพื่อสนับสนุนผู้สร้างหนัง แต่ไม่สำเร็จเพราะการแย่งชิงอำนาจทางการเมืองอันร้อนแรงในสมัยนั้นทำให้ จอมพล ป. หมดอำนาจลง ต่อมาในปี พ.. 2507 สมัย จอมพลถนอม กิตติขจร กระทรวงอุตสาหกรรมรับกิจการภาพยนตร์ไทยเข้าเป็นอุตสาหกรรมประเภทหนึ่งคำว่า ‘อุตสาหกรรมหนังไทย’ หรือ Thai film industry น่าจะเริ่มนับอย่างเป็นทางการได้ตั้งแต่นั้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2512 รัฐบาลยอมให้สิทธิบัตรส่งเสริมการลงทุนแก่ผู้สร้างภาพยนตร์ไทย เฉพาะรายที่จดทะเบียนเกิน 5 ล้านบาท และต้องถ่ายทำในระบบ 35 มม.

นอกจากนี้ในปีเดียวกันกระทรวงเศรษฐการยังตั้ง ‘คณะกรรมการศึกษาการสร้างภาพยนตร์ไทยและการนำภาพยนตร์ต่างประเทศเข้ามาฉาย’ จะเห็นได้ว่าการผลักดันยกระดับมาตรฐานหนังไทยโดยภาครัฐมีมาต่อเนื่องกว่า 60 ปีแล้ว

 

ทางฝั่งผู้สร้างเอกชน ชื่อที่ต้องจารึกไว้ในฐานะผู้ที่สร้างคุณูปการให้วงการหนังไทยและเรียกร้องให้รัฐมองภาพยนตร์เป็นสิ่งที่มีมูลค่าสำคัญทางศิลปะและเศรษฐกิจคือรัตน์ เปสตันยี ผู้กำกับและผู้อำนวยการสร้างคนสำคัญในยุค พ.. 2490 ต่อเนื่องถึง พ.ศ. 2510 กว่าๆ คุณรัตน์บุกเบิกสร้างหนัง 35 มม. ตามระบบสากล ตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ. 2500 ในยุคที่หนังไทยส่วนใหญ่ยังเป็น 16 มม. และเขายังพยายามโน้มน้าวให้นักการเมืองและรัฐบาลเข้ามาสนับสนุนหนังไทยอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งคุณรัตน์ได้เป็นนายกสมาคมผู้อำนายการสร้างหนังไทยก็ยังคงผลักดันในประเด็นนี้อย่างไม่ย่อท้อ

เมื่อสักครู่ที่พูดถึงคุณมิ่งขวัญและการที่แกเกิดเป็นลมระหว่างปราศรัยเรื่องหนังไทยกับหนังเกาหลี ทำให้นึกถึงโศกนาฏกรรมการจากไปของคุณรัตน์ในวันที่ 17 สิงหาคม พ.. 2513 คุณรัตน์ขึ้นกล่าวในงานประชุมสมาคมผู้อำนวยการสร้างหนังไทยที่โรงแรมมณเฑียร โดยมีบุญชนะ อัตถากร รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐการนั่งฟังอยู่ด้วย ขณะกำลังพูดเรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุนหนังไทย คุณรัตน์ล้มฟุบลง ผู้คนในห้องต่างตกใจรุดเข้าช่วย แต่ครั้งนั้นไม่มีปาฏิหาริย์ เพราะคุณรัตน์ถูกนำส่งโรงพยาบาลและเสียชีวิตในวันนั้น นับเป็นการสูญเสียครั้งสำคัญของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย

ว่ากันง่ายๆ คุณรัตน์ตายขณะกำลังเรียกร้องรัฐบาลให้สนใจอุตสาหกรรมหนังไทย

ถึงตอนนี้ 50 ปีผ่านไป การเรียกร้องดังกล่าวยังดำเนินต่อ หนังไทยอาจจะก้าวหน้าขึ้นมากจากในตอนนั้น แต่ผู้สร้างหนังไทยยังคงเห็นว่าการช่วยเหลือจากรัฐยังไม่เพียงพอ แถมตอนนี้ยังมีเกาหลีใต้มาเป็นตัวเปรียบเทียบให้เห็นว่าอุตสาหกรรมหนังไทยคืบคลานเชื่องช้ากว่าเพื่อนร่วมทวีปขนาดไหน อีกทั้ง ‘ระบบ’ การสนับสนุนระบบไม่ใช่แค่แผนหนึ่งแผนหรือปีงบประมาณหนึ่งปียังไม่เข้ารูปเข้ารอยเท่าไหร่

ดังที่ได้ว่าไปในย่อหน้าแรก หากหนังไทยอยากเป็นแบบเกาหลี ต้องไปให้สุด ถ้าจะดูเกาหลีเป็นต้นแบบ ต้องดูทั้งระบบ ทั้งแผง ไม่ใช่แค่เพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง ไม่ใช่แค่ดู Parasite หรือ Crash Landing on You แล้วทึกทักง่ายๆ ว่าหนังไทยก็ทำแบบนั้นได้ถ้ามีเงินพอ เพราะนั่นเป็นการมองแบบตื้นเขินไปสักเล็กน้อย

ผู้เขียนได้ยินได้ฟัง ได้เข้าร่วมในวงสนทนาว่าด้วยการพัฒนาหนังไทยมาไม่รู้กี่วงในรอบสิบกว่าปีหลัง ในที่นี้ขออ้างอิงการสนทนาแลกเปลี่ยนกับภาณุ อารี (เพื่อนผู้รอบรู้ในวงการและผู้เคยร่วมสร้างหนังสารคดีกับผู้เขียน) มาสรุปไว้ตรงนี้ว่า หากหนังไทย หรือ ‘พลังนุ่ม’ ของไทยอยากเป็นแบบเกาหลีต้องคำนึงถึงองค์ประกอบต่างๆ ประมาณนี้

หนึ่ง ฝั่งผู้สร้าง ต้องสร้างหนังหลากหลาย หากรัฐจะสนับสนุนก็ต้องสนับสนุนหนังอันหลากหลาย ทั้งหนังใหญ่ หนังเล็ก หนังอินดี้ หนังรักชาติ หนังชังชาติ (ผู้กำกับ บงจุนโฮ ของ Parasite ก็เคยถูกข้อหาชังชาติมาแล้วจากสายเหยี่ยวของรัฐเกาหลี) และต้องสร้างคนใหม่มาทดแทนสม่ำเสมอ โดยการสนับสนุนนักเรียนทำหนังหรือคนทำหนังหน้าใหม่ นอกเหนือไปจากชื่อเดิมที่คุ้นเคยกันอยู่

สอง ผู้ชมต้องก้าวไปพร้อมๆ กัน หมายความว่าต้องมีนโยบายเสริมสร้างให้ผู้ชมดูหนังหลากหลาย มีวัฒนธรรมการรับชมและการวิจารณ์ที่เปิดกว้าง รับรู้ และเข้าใจประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ของตน เช่น มีพื้นที่ฉายหนังนอกกระแสที่ไม่ต้องแคร์ว่าบางรอบอาจมีคนดูแค่คนเดียว หรือสนับสนุนเทศกาลภาพยนตร์ เช่นกัน เกาหลีปั้นจนเทศกาลปูซานเป็นเทศกาลสำคัญของโลกภาพยนตร์ไปแล้ว

สาม ความมีอิสระของศิลปินเป็นอาณุภาพอันยิ่งใหญ่ หนังเกาหลีบูมขึ้นมาในช่วงใกล้เคียงกับการที่ประเทศพ้นจากยุคเผด็จการเข้าสู่ยุคประชาธิปไตย การให้อิสระทางความคิด การไม่เซ็นเซอร์หนังมั่วซั่ว (หรือไม่เซ็นเซอร์เลย) เป็นองค์ประกอบที่ต้องควบคู่ไปกับสองปัจจัยแรกที่ว่าไป หนังเกาหลีมีตั้งแต่หนังซอมบี้ไปถึงหนังที่ว่าด้วยประวัติศาสตร์อันเจ็บปวด มีทั้งหนังรักกุ๊กกิ๊กและหนังอุดมการณ์แรงกล้า เกาหลีเคยเลือก A Taxi Driver หนังที่ว่าด้วยการประท้วงเผด็จการและการสังหารหมู่ที่กวางจู ส่งไปเป็นตัวแทนประเทศในการชิงออสการ์ (ปีนั้นไม่เข้ารอบ) ลองนึกสิว่าหนังแบบนั้นจะสร้างในไทยและถึงขั้นส่งไปออสการ์ได้หรือไม่

ว่ามายืดยาว แต่จริงๆ แล้วก็กลับไปสู่ย่อหน้าแรก นั่นคือเกาหลีทำมากกว่าให้เงินคนสร้างหนัง เกาหลีสร้างระบบการพัฒนาที่ชัดเจน ให้เกียรติหนังทั้งในฐานะศิลปะและพร้อมจะหาประโยชน์ในมิติเชิงพาณิชย์ เกาหลีไม่ได้มีนโยบายส่งเสริมซอฟต์ พาวเวอร์แบบทื่อๆ แต่เกาหลีส่งเสริมคนสร้าง คนดู และเปิดกว้างทางความคิด พลังนี้ต่างหากที่ยั่งยืนและแข็งแกร่งกว่า ‘พลังนุ่ม’ ที่ถ้าไม่ระวังดีๆ จะกลายเป็น ‘พลังปวกเปียก’ ไปในไม่ช้า

AUTHOR