สกอร์ชีวิตของ โหน่ง–หัวลำโพงริดดิม คนทำดนตรีประกอบหนังที่เชื่อว่าถ้าสกอร์ดี คนดูต้องไม่ได้ยิน

Highlights

  • บทสนทนากับ โหน่ง–วิชญ วัฒนศัพท์ ผู้ก่อตั้ง ‘หัวลำโพงริดดิม’ สตูดิโอทำเพลงประกอบที่อยู่เบื้องหลังหนังและซีรีส์ที่หลายคนหลงรักกว่า 60 เรื่อง ตั้งแต่หนังสุดแมสจากค่าย GDH ไปจนถึงหนังนอกกระแสของผู้กำกับลายเซ็นจัดอย่างเป็นเอก รัตนเรือง 
  • วิชญเริ่มทำงานดนตรีประกอบหนังจากการไม่มีความรู้ด้านนี้เลย แต่การฝึกฝนและการทำอย่างสุดแรงในงานทุกชิ้นทำให้เขาเชี่ยวชาญมากขึ้น วิชญบอกว่า สิ่งที่เขายึดถือในการทำดนตรีประกอบมาตลอด 20 ปีคือการรับฟังความคิดเห็นของเพื่อนร่วมงาน เพราะการทำหนังหรือซีรีส์สักเรื่องนั้นคืองานกลุ่ม หาใช่การประกาศตัวตน

หัวลำโพงริดดิม หัวลำโพงริดดิม

ร้าวราน–ตอนไข่ย้อยบอกรักดากานดาใน เพื่อนสนิท 

ดำดิ่ง–ลงในความรู้สึกนึกคิดท่ามกลางความเงียบของหมิว ลลิตา ใน พลอย 

ตื้นตัน–ตอนตัวละครของสู่ขวัญ บูลกุล วิ่งเข้าเส้นชัยใน รักเจ็ดปี ดีเจ็ดหน 

หรือกดดัน–กับภารกิจการโกงข้อสอบข้ามโลกจาก ฉลาดเกมส์โกง ทั้งสองเวอร์ชั่น

คุณยังจำความรู้สึกตอนดูหนังและซีรีส์เหล่านี้ได้ไหม สิ่งที่คุณจำได้คืออะไร

สีหน้าของตัวละคร บทสนทนาเสียดแทงใจ แน่อยู่, องค์ประกอบต่างๆ บนหน้าจอทำให้เรารู้สึกคล้อยตาม แต่ไม่ว่าคุณจะรู้ตัวหรือไม่ ในทุกฉากเหล่านั้นล้วนมีอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนความรู้สึกของคนดูไม่แพ้ภาพเคลื่อนไหว

ไม่มากก็น้อย ไม่ดังก็เบา 

ใช่ เรากำลังพูดถึงดนตรีประกอบ

หัวลำโพงริดดิม

“แม้ในช่วงที่หนังเงียบที่สุด เราสามารถสร้างเสียงที่ทำให้รู้สึกเงียบได้” โหน่ง–วิชญ วัฒนศัพท์ ผู้เป็นส่วนหนึ่งของหนังทุกเรื่องที่ร่ายมาบอกความลับกับเรา

หลายคนอาจรู้จักวิชญในฐานะอดีตสมาชิกของ ละอองฟอง และ ทีโบน วงดนตรีดังในอดีต บ้างก็รู้ว่าเขาคือศิลปินผู้ใช้นามแฝง The Photo Sticker Machine ที่สนุกกับการทดลองซาวนด์ใหม่ๆ และการกระโดดไปร่วมงานกับศิลปินหลายคน และบ้างอาจรู้ว่าเขาเคยทำเพลงให้ศิลปินดังอย่าง น้อย วงพรู หรือ วิโอเลต วอเทียร์ 

แต่บ่ายของวันที่เรานัดเจอเขาที่ Dynamic Studio ย่านสุขุมวิท เราอยากคุยกับเขาในฐานะคอมโพเซอร์ผู้ก่อตั้ง ‘หัวลำโพงริดดิม’ สตูดิโอทำดนตรีประกอบที่มีชื่ออยู่ท้ายเครดิตหนังและซีรีส์ไทยมาแล้วกว่า 60 เรื่อง ตั้งแต่งานอินดี้ของผู้กำกับอย่างเป็นเอก รัตนเรือง ไปจนถึงงานสุดแมสจากค่าย GDH

ในวาระที่ผลงานล่าสุดอย่างละคร ฉลาดเกมส์โกง Bad Genius The Series เพิ่งฉายจบไปหมาดๆ เราถือโอกาสนี้เอ่ยถามเรื่องการทำดนตรีให้จับใจคนดู และสิ่งที่เขาได้เรียนรู้ตลอด 20 ปีตั้งแต่ก่อตั้งหัวลำโพงริดดิม

แปลกดีที่คุยกันเรื่องสกอร์หนัง แต่ในสตูดิโอที่เราอยู่นี้กลับเงียบสงัด ไม่มีเพลงบรรเลง ซาวนด์ตบมุก หรือเสียงเทคนิคพิเศษใด 

มีเพียงเสียงชายคนหนึ่งผู้กำลังเล่าเรื่องดนตรี–ที่ประกอบชีวิตของเขา

ดังบ้าง เบาบ้าง แต่เปี่ยมด้วยความรู้สึกทุกถ้อยคำ

 

หัวลำโพงริดดิม

ทุกครั้งที่ดูหนัง คุณจดจ่อกับการฟังสกอร์เป็นพิเศษหรือเปล่า

เมื่อก่อนเคยเป็น ตอนแรกๆ ที่ต้องทำหนังแนวที่ไม่เคยทำมาก่อนก็ต้องไปดูบางเรื่องเพื่อฟังสกอร์ เช่น หนังระทึกขวัญ เราก็ไปนั่งดู Psycho ไปดูหนังซอมบี้ นั่งศึกษามัน แต่เราก็มีโหมดสับสวิตช์เป็นคนดู เอ็นจอยได้ เดี๋ยวนี้ก็ไปดูหนังเพราะอยากดูแล้ว

 

ปกติชอบดูหนังแนวไหน

ความสัมพันธ์คน หนังที่มีคนน้อยๆ เพราะเป็นคนจำชื่อคนไม่ค่อยได้ แต่ซีรีส์ที่มีคนเยอะๆ ก็ดูนะ

 

หนังเรื่องโปรดของคุณคือเรื่องอะไร

เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ไม่มีเรื่องไหนเป็นเรื่องโปรดตลอดกาล แต่มีเรื่องที่ดูแล้วประทับใจคือ สัตว์ประหลาด ของพี่เจ้ย (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) เพราะมันเหมือนไปผ่านประสบการณ์บางอย่างมากกว่าดูหนัง โดยเฉพาะช่วงท้ายที่รู้สึกเหมือนโดนทำของใส่ มันทำให้เราลุกไปไหนต่อไม่ได้ ทำได้แค่นั่งฟังเสียงลม จิ้งหรีด หิ่งห้อย ลมพัดต้นไม้อยู่นาน รู้สึกว่าหนังมันทำงาน เราจำเรื่องไม่ได้เลยด้วยซ้ำ แต่จำความรู้สึกตอนดูได้

 

คุณเป็นคนที่จดจำหนังได้ด้วยความรู้สึก

จริงๆ มันก็หลายอย่าง บางเรื่องจำได้เพราะเศร้า บางเรื่องเพลงเพราะ บางทีเราก็จำเพราะมันสะท้อนให้ตัวเราคิดและเปลี่ยนตัวเอง ไปถึงเบอร์นั้น บางเรื่องก็ผ่อนคลาย ล่าสุดกดเน็ตฟลิกซ์แล้วดู ขุนบันลือ คือไม่ต้องคิดตั้งแต่กดดูยันจบ แล้วตลกด้วยนะ บางทีเราก็อยากดูหนังที่ไม่ได้ดูยากมาก ดูแล้วรู้สึกว่าชอบจัง แค่นี้เลย

 

หัวลำโพงริดดิม

ว่าแต่คนจบสถาปัตย์ฯ อย่างคุณเริ่มสนใจการทำสกอร์หนังได้ยังไง

ตั้งแต่เด็กที่บ้านเล่นดนตรี คุณพ่อกับพี่ชายเล่น เราก็พลอยได้รับการสนับสนุนให้เรียนเปียโน ตอน ม.ต้นเราเล่นหลายอย่าง เปียโน คีย์บอร์ด กีตาร์ กลอง ไปจนถึงเครื่องเป่าแซกโซโฟน ตอนนั้นเริ่มตั้งวงดนตรีของตัวเองกับเพื่อน ถ้าในวงไม่มีตำแหน่งไหนเราก็เล่นหมด เพื่อนเล่นไม่เป็นเราก็สอนเพื่อนเล่น 

เราสนุกกับดนตรี ชอบเล่น ชอบฟัง แต่ไม่เคยคิดจะเรียนก็เลยเลือกเรียนสถาปัตย์ แต่พอเข้ามาในคณะมันก็จะมีละครของมหาวิทยาลัย เราก็ไปช่วยทำงาน พอเพื่อนที่คณะนิเทศมีโปรเจกต์ใหม่เราก็ไปช่วยทำเพลง

 

นั่นคือจุดเริ่มต้นของการทำเพลงประกอบ

ใช่ แล้วพอทำเพลงให้ละครเวที มีรุ่นพี่ที่เป็นโปรดิวเซอร์ได้ดูก็ชวนเราไปทำเพลงประกอบนิทานของมูลนิธิยุวพัฒน์ต่อ เป็นนิทานที่ออนแอร์ทั่วประเทศโดยการส่งเทปให้กับโรงเรียนต่างๆ เขาจะมีคอนเซปต์กับบทมาให้ เราก็แต่งทำนองดนตรี เดือนหนึ่งทำประมาณ 4-8 เรื่อง ก็เริ่มได้สตางค์จากตรงนั้น 

พอเรียนจบ เพื่อนคนหนึ่งที่เขาพากย์เสียงในนิทานจะทำวงดนตรีชื่อ ละอองฟอง แล้วเขาดันไม่มีคนแต่งเพลง ก็ชวนเราเข้าไปแต่ง จังหวะที่จะสมัครงานด้านสถาปัตย์มันก็ไม่มี ก็เลยไหลเข้าสู่ลูปของการทำดนตรีไปโดยปริยาย ทำวงไปสักพักก็เป็นที่รู้จักแต่ไม่ได้โด่งดัง ข้อดีคือเพลงค่อนข้างมีเอกลักษณ์ คนอยู่เบื้องหลังจะรู้จักเราจากงาน พอละอองฟองวงแตก รุ่นพี่คนหนึ่งที่อยู่ค่ายเดียวกันดึงเราไปช่วยทำเพลงให้วง วิเศษนิยม ตอนนั้นเองเราเจอพี่กอล์ฟ (นครินทร์ ธีระภินันท์) ซึ่งเป็นโปรดิวเซอร์ เขาก็ชวนเราไปอยู่วงทีโบน ทีนี้ก็ไหลไปเรื่อยๆ และไม่มีตอนไหนเลยที่กลับมาทำงานสถาปัตย์

 

แล้วจริงๆ อยากยึดการทำดนตรีเป็นอาชีพไหม

ตั้งแต่เริ่มต้นก็ไม่เคยคิดว่าจะประกอบอาชีพนะ ก็เล่นสนุกกับมันไปเรื่อยๆ พอทีโบนเริ่มมีแฟนเบส เราก็เลยชวนพี่กอล์ฟตั้งค่ายเพลงเอง ก็เลยมีค่ายชื่อ “หัวลำโพงริดดิม” เกิดขึ้นในปี 1999 พร้อมๆ กับ a day เลยยุคนั้น

 

แปลว่าจุดเริ่มต้นของหัวลำโพงริดดิมคือการเป็นค่ายเพลง

ใช่ เป็นค่ายเพลงเพราะทีแรกเราทำเพลงวงทีโบน แล้วก็มีน้องชื่อวงสกาแล็กซี่ และตัวเราเองทำไซด์โปรเจกต์ชื่อ The Photo Sticker Machine พอเริ่มทำเพลงไปสักพักก็มีงานโฆษณาเข้ามา เพราะว่าเอกลักษณ์ของเพลงทีโบนยุคนั้นจะมีความบอสซ่า น่าจะเหมาะกับโฆษณา พอมีเข้ามาตัวแรกก็มีมาเรื่อยๆ  

แล้ววงการโฆษณากับวงการหนังมันใกล้กัน เลยถูกชวนไปให้ทำสกอร์หนัง เรื่องแรกคือเรื่อง คนจร ของอรรถพร ไทยหิรัญ ตอนนั้นก็ไม่ได้มีความรู้นะ ออกแนวทดลอง ทำไปก็ไม่ได้คิดว่าจะประกอบเป็นอาชีพเหมือนกัน แต่คิดว่ามีโอกาสก็ทำ

 

ช่วยเล่าขั้นตอนของการทำดนตรีประกอบหนังให้เราฟังหน่อยได้ไหม

ดนตรีประกอบสามารถเริ่มทำได้ในหลายช่วง แล้วแต่เรื่อง บางเรื่องเราได้ทำตั้งแต่ตอนบทเสร็จ ทำเพลงธีมขึ้นมาตั้งแต่ไม่ได้ถ่ายเพื่อหยั่งเชิงกันหรือเพื่อให้ผู้กำกับเอาใปใช้ถ่าย ไม่ใช่เอาไปไว้ในหนังนะ แต่เอาไปใส่ในหูฟัง ให้นักแสดงบิวด์อารมณ์ หรือให้ผู้กำกับฟังประกอบการเคลื่อนไหวของนักแสดง 

บางเรื่องก็ทำตอนที่เขาตัดเสร็จแล้ว โดยมีเพลง reference เป็นไกด์ให้ว่าอยากได้อารมณ์ประมาณนี้ บางทีผู้กำกับไปเทสต์กับคนดูมาเรียบร้อยแล้วให้เราทำตามนั้น แต่บางเรื่องไม่มีเลย เป็นซีนเปล่าๆ เงียบๆ เป็นโจทย์แล้วให้เรา explore เองเลยว่าจะทำยังไง หนังบางเรื่องต้องการออร์เคสตราวงใหญ่ บางเรื่องต้องการเครื่องดนตรีน้อยๆ บางเรื่องเป็นเพลงร้องแล้วเวิร์ก พอเราเจอทางและทุกคนเห็นตรงกันก็พัฒนาไปทางนั้นจนได้เมโลดี้หลักของเรื่อง

 

หัวลำโพงริดดิม

หลังจากนั้นเราจะพัฒนาให้เมโลดี้ก้อนนั้นกลายเป็นชุดของเมโลดี้ที่จะใช้กับอารมณ์หลายระดับ อย่างร่าเริงก็จะมีร่าเริงกลางๆ ไปจนถึงร่าเริงมากๆ เช่นเดียวกับความเศร้า การทำแบบนี้ทำให้เรามีก้อนเมโลดี้เพื่อซัพพอร์ตหนังทั้งเรื่อง และเมื่อได้ก้อนที่เราคิดว่าสมบูรณ์ เราก็นัดเจอกับผู้กำกับและทีมงานเพื่อแลกเปลี่ยนกัน ผมว่าขึ้นตรงนี้ฮากว่าว่ะ อยู่ตรงนี้แล้วเศร้ากว่านะ อยู่ตรงนี้ดีแล้วแต่สั้นไป อยากให้เพลงเล่นไปจนถึงอีกซีนหนึ่งเพื่อให้ความรู้สึกคนดูค้างต่อ เราก็เก็บคอมเมนต์ไปแก้

พอเราได้ทุกอย่างเสร็จสมบูรณ์แล้วเราก็จะส่งงานทั้งหมดไปที่ห้องมิกซ์เสียง แล้วเราก็เข้าไปอยู่ร่วมกับเอนจิเนียร์ที่ดูแล นั่งมิกซ์เสียงให้ใช่อย่างที่เราต้องการ ขั้นตอนต่อไปคือสิ่งที่มิกซ์นี้ไปรวมกับหนัง ซึ่งส่วนตัวเราพอจบขั้นตอนมิกซ์เรามักจะไม่ไปห้องอัดอีก เราแค่รู้สึกว่าหลังจากที่เราชอบมันแล้ว หน้าที่ต่อไปของการทำให้มันรวมกันเป็นของผู้กำกับ มันยังมีอีกหลายเสียง ทั้งเสียงพูด บรรยากาศ เสียงที่ทาบทับกัน ต้องบาลานซ์หลายอันมาก ผู้กำกับเขาเป็นคนกำหนดทิศทาง ตรงนี้อยากให้เพลงดัง ตรงนี้ไม่มีเพลง บางทีเขาอาจจะอยากตัดเพลงเราไปเลย ถ้าเราไปยืนคุมเขาอาจจะเกรงใจ

 

ไม่อยากปกป้องงานตัวเองเหรอ

ตอนวัยรุ่นน่ะเป็นบ่อย คือเรายังเห็นเป็นงานของเรา บางทีเป็นไลน์เปียโนเบาๆ ที่แอบซ่อนไว้ พอเวลาผ่านไปก็เริ่มเข้าใจว่ามันไม่ใช่ ก็ค่อยๆ โตขึ้น คนอื่นอาจไม่เป็นนะ แต่เรารู้สึกว่าเราไม่จำเป็นต้องปกป้อง เพราะหนังมันเป็นงานกลุ่ม สิ่งที่เราทำได้คือการทำดีที่สุด แล้วเชื่อในสิ่งที่ผู้กำกับเชื่อ เพราะเอาจริงๆ เขาต่างหากที่อยู่กับมันมาตั้งแต่ต้น 

ดนตรีประกอบมันไม่ใช่การประกาศตัวตน แต่เป็นการผลักดันหนังเรื่องนี้ให้มันสำเร็จ ไปอยู่ในที่ที่มันดีกว่าเดิม

 

คุณเคยทำดนตรีประกอบให้หนังทั้งอินดี้และแมส ทั้งสองแบบแตกต่างกันไหม

จริงๆ มันเหมือนกัน เพราะสิ่งที่เราทำอยู่คือการสื่อสาร เหมือนเขียนเพลงเลย เพลง 4 นาทีกับหนังหลายชั่วโมงมันมีเจตจำนงของการเล่า แต่หนังมันมีองค์ประกอบหลายอย่าง การแสดง บทพูด เสียงบรรยากาศ เสียงเอฟเฟกต์ แล้วก็มีดนตรีประกอบอยู่ในนั้น

ที่เราบอกว่าหนังอินดี้กับแมสเหมือนกัน เพราะสุดท้ายมันเหมือนกันตรงที่เรามีหน้าที่ซัพพอร์ตให้เรื่องเล่านั้นมันสำเร็จ ไม่ว่าหนังอินดี้ที่ดีพมาก ถึงดนตรีจะไม่โฉ่งฉ่างแต่มันจะซ่อนอยู่ หรือหนังที่แมสมากๆ แล้วทำให้คนจำนวนมากหัวเราะ ร้องไห้ไปกับมัน มันคือการตอบโจทย์ว่าทำยังไงให้คนดิ่งกับความรู้สึกนั้น สำหรับเรามันยากเท่ากัน

 

ความยากที่สุดของการทำดนตรีประกอบอยู่ตรงไหน

ทำแล้วเวิร์ก เพราะเราไม่มีทางรู้ว่ามันเวิร์กหรือเปล่า แต่เราใช้วิธีเชื่อความรู้สึกตัวเอง อย่างน้อยเราหนึ่งคนต้องชอบมัน สมมติถ้าซีนมันเศร้า ถ้าเราดูแล้วเราไม่ร้องไห้มันก็ไม่มีทางทำให้คนอื่นเศร้าได้ แล้วพอเราเริ่มไปแชร์กับคนอื่น ให้ผู้กำกับ โปรดิวเซอร์ดู ทุกคนก็อินไปด้วยกัน หรือถ้าเขาไม่อินเราก็ต้องพยายามทำความเข้าใจว่าไม่อินเพราะอะไร

 

 

การทำความเข้าใจความอินของคนอื่นเป็นคุณสมบัติพื้นฐานที่คนทำเพลงประกอบต้องมี

เหมือนเราต้องมีวุ้นแปลภาษา หมายความว่าต้องสื่อสารกับผู้กำกับให้เข้าใจ เพราะบางทีภาษาของคนที่ทำภาพเขาจะไม่บอกเราว่าขอคอร์ดไมเนอร์หน่อย หรือขอคอร์ดที่หม่นกว่านี้ แต่จะบอกว่าอยากให้โทนมันเศร้าๆ เหมือนได้กลิ่นควันลอยมา อยากให้ซีนนี้สีมันฟ้าๆ หน่อย คืออะไรวะ เราก็ต้องนั่งแปลภาษาเขา พอเราเข้าใจท่าทีของแต่ละคนก็จะทำงานกันไปได้เรื่อยๆ 

มันเป็นเรื่องที่เราต้องเรียนรู้กันและกัน แต่ละคนมีประสบการณ์ต่างกัน ความเศร้า ร่าเริงของแต่ละคนไม่เหมือนกัน สมมติเราทำให้นวพล ก็ต้องรู้ว่าร่าเริงของเขาน่าจะประมาณนี้ เกินกว่านี้ไม่ใช่เขาแล้ว

 

ร่าเริงของนวพลก็จะไม่เหมือนร่าเริงแบบเติ้ล ไดอารี่ตุ๊ดซี่ส์

อันนั้นก็ร่าเริงมาก ไปสุดทางเลย ซึ่งไม่มีถูกไม่มีผิด มันเป็นท่าทีการเสพ เป็นขอบเขตที่คนหนึ่งคนเขาตัดสินใจจะเล่าเรื่องบางเรื่องให้คนฟัง หน้าที่ของเราคือการไปห่อหุ้มสิ่งนั้น หรือผลักดันให้ความรู้สึก เจตจำนงของมันชัดขึ้น 

และบางทีการที่ไม่มีสกอร์แล้วมันดี เราก็จะบอกว่าตรงนี้อย่ามีเลย มันไม่ได้หมายความว่าเราต้องทำนะ การที่เราไม่ทำดนตรีมันก็ทำให้ความรู้สึกนั้นออกเหมือนกัน 

 

ยกตัวอย่างให้ฟังหน่อย

(นิ่งคิด) ทุกอย่างมีจังหวะที่ถูกต้องของมัน ยกตัวอย่างง่ายๆ สมมติถ้าตัวละครกำลังเล่าเรื่องอะไรบางอย่างแล้วเพลงขึ้น คนดูบอกว่าโอ๊ย เพลงเพราะว่ะ มีเสียงคอรัสด้วย เจ๋งว่ะ นั่นไม่ใช่จังหวะที่ดีสำหรับเรา เราว่าการที่เศร้าอยู่แล้วเพลงค่อยๆ มาแล้วเราไม่ทันรู้ว่ามา แต่พอมาแล้วน้ำตาไหล กำลังอินอยู่ตลอดเวลาจนจบซีนเพลงดังลั่นเลย ตัดทุกเสียงไม่เหลือแล้วเหลือแต่เพลง หรือภาพวูบหายไปแล้วมีแต่เพลง มันก็ทำงาน อันนี้คือความสำเร็จของการทำเพลงประกอบเพื่อเล่าเรื่อง

ไม่ได้เกี่ยวว่าเสียงดังหรือเปล่าด้วยนะ เพราะถ้าเป็นสกอร์ที่ดี คนต้องไม่ได้ยินมัน ต่อให้ได้ยิน คนจะต้องไม่หลุดออกจากเรื่อง

 

ตลอด 20 ปีที่ผ่านมาของการทำสกอร์หนัง มีบทเรียนไหนบ้างที่คุณจำได้ไม่ลืม

เราเคยทำหนังสยองขวัญเรื่องหนึ่ง คุยกับ sound engineer mixer ว่าตรงนี้เราอยากให้มันเงียบเลย เงียบแบบไม่มีเสียง เพราะจังหวะต่อมามันจะน่ากลัวมากๆ ปรากฏว่าไปฉายในโรงมัลติเพล็กซ์ มีเสียงโรงข้างๆ ดังบู้ม บู้ม บู้ม วันนั้นเราก็ได้เรียนรู้ว่าเราปล่อยให้มันเงียบไม่ได้ว่ะ แม้แต่ในช่วงที่หนังเงียบที่สุด เราสามารถสร้างเสียงที่ทำให้รู้สึกเงียบได้ เช่น เสียงอี๊ดดดดดดดด ก็ได้เรียนรู้ไปเรื่อยๆ จากการได้ทำ รวมไปถึงเรื่องจังหวะ การใส่เสียงตรงนี้เวิร์ก ไม่เวิร์ก ซึ้งอยู่แล้วดันมีมุกตลกควรใส่เสียงยังไง อะไรแบบนี้

 

คุณเคยพูดไว้ในบทสัมภาษณ์หนึ่งที่บอกว่า ความออริจินัลไม่มีจริง ทำไมถึงคิดอย่างนั้น

ทำไมรู้สึกว่าออริจินัลมีจริง (ตอบทันที) เราล้วนหยิบยืมมา เพียงแต่คนนั้นเป็นคนแรกเท่านั้นเอง การที่ carpenter แต่งเพลงที่โคตรเพราะแล้วบอกว่าเขาเป็นเจ้าของ เราว่ามันไม่แฟร์ว่ะ การเล่นคอร์ด 1 ไป 3 4 แล้วกลับมา 2 เมโลดี้แบบนี้มันก็เพราะไง ห้ามเราทำเหรอ ให้เราทำเพลงด้วยเสียงใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ ก็ไม่ได้

อย่างที่บอกคือเราทำตามความรู้สึกว่ามันใช่ เราไม่เขินถ้าทำคอร์ดโง่ๆ แล้วเวิร์ก หรือเมโลดี้ที่แคชชี่มากๆ แล้วมันจำ แบบอื่นไม่เวิร์กแล้ว ก็ต้องเป็นแบบนี้แหละ ที่คนดูรู้สึกคุ้นๆ กับเพลงในหนังหลายเรื่อง เพราะความรู้สึกของคนต่อเสียงมันเป็นเหมือนเดิมมาตลอดเวลา คอร์ดที่ 1 ไป 4 มันจะรู้สึกสว่างขึ้น คอร์ดที่ 1 ไป 6 มันหม่นลง มันมีวิธีการทำอยู่ ไม่ใช่เรื่องที่เราต้องหลีกเลี่ยง บางอันบังเอิญไปทับกันก็ไม่เห็นแปลก คนในโลกนี้มีตั้งกี่คน เหมือนทำข้าวมันไก่ ไม่มีใครด่าเหรอวะว่าก๊อปปี้ 

 

อย่างที่ยกตัวอย่างข้าวมันไก่มา ถ้าเปรียบกับการทำสกอร์หนัง สมมติว่าต้องทำหนังรักหลายเรื่องต่อกัน คุณมีการควบคุมให้มันต่างกันได้ยังไง 

มันไม่ใช่ความตั้งใจว่าต้องพยายามทำให้มันต่างกัน แต่เป็นการหาให้เจอว่าเทกซ์เจอร์ของมันคืออะไร ต่อให้ใช้คอร์ดเดียวกัน แต่เทกซ์เจอร์ของจังหวะ การนำมาใช้มันจะต่าง หรือต่อให้คนรู้สึกว่าซ้ำ แต่คนไม่ออกจากเรื่องแล้วคนยังอิน ร้องไห้ สนุกไปกับมันได้ ก็โอเค

 

ศิลปินหลายคนชอบหยิบบางส่วนของชีวิตตัวเองมาใส่ลงในผลงานเพลง กับคนทำดนตรีประกอบ คุณทำแบบนั้นไหม

ทำอยู่แล้ว

 

ยังไง

เวลาทำสกอร์ เราทำสุดเพดานเท่าที่เราสามารถทำได้ ด้วยอุปกรณ์ สกิล เวลาที่มี แน่นอนว่าการทำสกอร์ใช้ประสบการณ์ของเราที่มีต่อเรื่องนั้น ช่วงนั้นกำลังสนใจอะไร ชอบเมโลดี้แบบไหน เล่นเสียงนี้ในหนังแล้วมันดีจัง

ถึงผู้กำกับไม่ได้มานั่งบอกทุกครั้งว่าพี่เล่นมือซ้ายเบาหน่อย นิ้วนี้เป็นอย่างนี้ดีกว่า แต่เราเป็นคนเล่น ถึงจะไม่เคยผ่านประสบการณ์แบบเดียวกับตัวละคร เราก็จินตนาการความรู้สึกของเขาได้ จังหวะนั้นเองมันคือความรู้สึกของเรา คือวิญญาณของเราที่ถ่ายทอดลงไปแล้วส่งผ่านไปให้คนรู้สึก มันมีความเบา แรง มีจังหวะที่โหมขึ้น มีความรู้สึกทดท้อ สุดท้ายหนังทุกเรื่องมันก็มีตัวเราอยู่ในนั้น 

 

สกอร์ของคุณได้รางวัลมาเยอะ แล้วจริงๆ รางวัลสำคัญกับคุณมากน้อยแค่ไหน

ไม่สำคัญเลย รางวัลสำคัญกับพ่อแม่ สำคัญกับลูก (หัวเราะ) เพราะทำให้พวกเขาภูมิใจ สำหรับเรามันไม่ค่อยมีผล ไม่มีผลเลยนะ (เน้นเสียง) เพราะโมเมนต์ที่เราชอบมันอยู่ตอนทำงาน จริงๆ เราไม่ชอบธรรมเนียมของการไปงานประกาศรางวัลเท่าไหร่

 

ทำไม

เราว่าทุกคนที่เข้าไปได้รับการเสนอชื่อ เขาทำมาสุดแล้ว เรื่องอะไรให้เข้าไปนั่งกดดันให้ตัวเองได้หรือไม่ได้ ไม่เก็ตว่ะ อย่างออสการ์ ประกาศแล้วจะมีคนหน้าเหวอ คนนั้นแพ้ งอแง ซึ่งไม่จริงเลย เป็นเรานะให้แม่งห้าคนเลย หรือบอกให้เขารู้ไปเลย ไม่ต้องมานั่งลุ้น บ้าปะวะ จริงๆ มันไม่ต้องมีที่หนึ่งเพราะมันตัดสินกันไม่ได้ด้วยซ้ำว่าอะไรดีที่สุด หนังแต่ละเรื่องมันมีท่าทีของมัน หนังป๊องแป๊ง สกอร์ก็ป๊องแป๊ง แต่คนดูแล้วชอบ มันก็ประสบความสำเร็จของมันแล้ว 

 

แล้วถ้ารางวัลไม่สำคัญ อะไรสำคัญกับคุณ

โมเมนต์ที่เราทำงานแล้วเราเจอเมโลดี้ที่ใช่ด้วยตัวเอง การที่เราได้รับการขอบคุณและได้อยู่ร่วมกับความฝันของใครสักคน อันนั้นโคตรดี 

ถึงอย่างนั้น ข้อดีของรางวัลคือการที่เราทำงานหนึ่งงานแล้วมันถึงมาตรฐานหนึ่ง แล้วมีคนพยายามอยากทำได้มาตรฐานนั้นบ้าง แต่ปรากฏว่าพอทำแล้วเขยิบมาตรฐานขึ้นไป คนอื่นเห็นก็เชี่ย มาตรฐานนี้ได้ว่ะ เขยิบขึ้นไปบ้าง พอทุกคนเขยิบ มาตรฐานมันจะดีขึ้น ซึ่งความจริงสิ่งที่ทำให้มันดีขึ้นไม่ใช่รางวัลหรอก มันเป็นความตั้งใจของคนที่พยายามทำให้มันดีมากกว่า

 

ถึงตอนนี้ คุณยังเหลือความฝันอะไรที่ยังไม่ได้ทำอีกไหม

เอาจริงๆ ตั้งแต่เด็กก็ไม่มีความฝันเรื่องอาชีพเลย เรียนสถาปัตย์ก็ไม่ได้รู้สึกว่าอยากเป็นสถาปนิก ทำวงดนตรีก็ไม่ได้รู้สึกว่าอยากดัง การทำดนตรีประกอบก็ไม่ใช่ความฝัน เพียงแต่เรามีความสุขที่จะได้ทำมัน หรือถึงจะไม่ได้ทำ เราก็มีความสุขกับการอยู่กับดนตรี เป็นแบบนี้มาตลอด 

มีความฝันเดียวตอน ม.3 คืออยากมีลูก (หัวเราะ) จนได้มีลูกจริงๆ แล้วเราก็รู้สึกว่าการมีลูกแม่งดีกว่าทุกอย่างที่เราเคยทำมาอีก มันผลักดันให้เราเติบโต สมมติเราทำอัลบั้มหนึ่ง ปล่อยเพลงไป ภูมิใจ แต่มันไม่มีอะไรเท่าตอนที่ลูกดูดหลอดดูดน้ำเข้าปากได้ คิดดูสิเราจะสอนเด็กให้อมหลอด สูบลมเข้าไป หรือวันที่เขาเดินได้ก้าวแรก โห น้ำตาไหล ไม่ต้องมีสกอร์ ไม่ต้องมีอะไรมาบิวด์ทั้งสิ้น

 

 


เสียงในความทรงจำจาก 5 หนังที่วิชญประทับใจ

กุมภาพันธ์ กำกับโดย ยุทธเลิศ สิปปภาค

“หลังจาก คนจร ก็ได้มาทำเรื่องนี้ จริงๆ เรามีแพลนจะทำกับต้อม ยุทธเลิศ เรื่อง มือปืน/โลก/พระ/จัน แต่ด้วยความไม่ลงตัวบางอย่างจึงได้ข้ามมาทำ กุมภาพันธ์ ซึ่งเรื่องนี้กลายเป็นหมุดหมายแรกที่คนรู้จักเรา เพราะหนังแมส สกอร์มันทำงาน คนก็จะพูดถึงหัวลำโพงริดดิมในฐานะคนทำสกอร์”

 

เรื่องรัก น้อยนิด มหาศาล กำกับโดย เป็นเอก รัตนเรือง

“หลังจากทำงานกับพี่ต้อม ยุทธเลิศ พี่ต้อม เป็นเอกก็ชวนไปทำ เรื่องรัก น้อยนิด มหาศาล (Last Life in the Universe) ตอนนั้นพิตช์งานกับเจ สมอลล์รูม (เจตมนต์ มละโยธา) สุดท้ายพี่ต้อมไม่เลือกแต่เอาสองคนเลย เป็นประสบการณ์การทำสกอร์ในหนังเรื่องเดียวกันแต่ไม่ได้ทำด้วยกัน และคงเพราะรสนิยมคล้ายๆ กัน เพลงมันเลยไปด้วยกันได้ หลังจากนั้นก็ทำหนังให้พี่ต้อมทั้งสองคนอีกหลายเรื่อง”

 

พรจากฟ้า กำกับโดย จิระ มะลิกุล, นิธิวัฒน์ ธราธร, ชยนพ บุญประกอบ และเกรียงไกร วชิรธรรมพร

“ปกติการทำสกอร์หนัง เวลาที่เราทำแซมเปลอร์ ยังไงมันก็มอบความรู้สึกเต็มอิ่มจากการฟังไม่ได้ พรจากฟ้า ยืนยันว่าจริง เพราะพอต้องอัดเสียงจริงๆ การยืนอยู่ต่อหน้าวงออร์เคสตรา 60 ชิ้น มีวงดนตรีเล่นเพลงที่เราเขียนเองแบบสดๆ มันพิเศษมากสำหรับเรา เสียงที่สาดเข้ามา ทิมปานีที่เล่น ไวโอลินที่กำลังสี มันไม่ใช่การฟังแต่คือการอาบ แล้วเรารู้สึกว่า เออดีว่ะ ชีวิตหนึ่งได้ลองทำอะไรแบบนี้”

 

คิดถึงวิทยา กำกับโดย นิธิวัฒน์ ธราธร

“โดยมากเวลาอินกับเรื่องหรืออินกับบรรยากาศ มันมีโมเมนต์ที่เรานั่งคนเดียวอยู่แล้วเจอเมโลดี้ที่ใช่ ถึงไม่มีคนปรบมือแต่รู้สึกว่าโห มันดีว่ะ ไอ้เหี้ย เจอตรงนี้ได้ไงวะ จังหวะนี้มันดีมาก ซึ่ง คิดถึงวิทยา มีโมเมนต์ที่เราประทับใจมากคือตอนทำเพลงประกอบซีนที่เป็นมอนทาจ ภาพตัดระหว่างคุณครูสองคน และเราก็หาทางจนเจอด้วยการใส่เสียงเด็กร้องลงไป โหมันทำงาน เราก็รู้สึกกับมันมากๆ”

 

ซีรีส์ Side by Side พี่น้องลูกขนไก่ กำกับโดย นฤเบศ กูโน

“ทุกเรื่องที่ทำเป็นช่วงเวลาของชีวิตที่เราได้ไปมีส่วนร่วมกับความฝันของคนอื่นเขา เราดีใจที่ได้ไปอยู่ในนั้น มันก็จะมีการจดจำในแต่ละอันที่ไม่เหมือนกัน แต่จะมีบางเรื่องที่ขนาดทำเองทั้งเรื่อง ตอนมานั่งดูตอนฉายเรายังน้ำตาไหล พี่น้องลูกขนไก่ คือเรื่องนั้น”

 


ติดตามผลงานของหัวลำโพงริดดิมและงานอื่นๆ ของวิชญได้ที่ เฟซบุ๊กหัวลำโพงริดดิม

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

ชีวิตต้องมีสีสัน