มนุษย์ซับซ้อนเกินกว่าจะสยบยอมว่าสังคมเปลี่ยนแปลงไม่ได้ | จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์

โดยส่วนตัวเชื่อเสมอมาว่าสภาพสังคมที่อยู่อาศัยคือหัวใจที่หล่อหลอมมนุษย์ให้เป็นมนุษย์อย่างที่เราเห็น

ใครเติบโตมาในบ้านเมืองแบบไหน ย่อมส่งผลให้เขาเป็นคนแบบนั้น เป็นไปได้ว่าหากใครสักคนเติบโตมาในสภาวะบีบคั้น ถูกโครงสร้างทางสังคมกดทับตลอดเวลา คนคนนั้นก็อาจเติบโตมาเป็นคนสยบยอมและยอมรับว่ามันคือโชคชะตาที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้

หากแต่โชคดีที่มนุษย์ซับซ้อนกว่านั้น เราจึงเห็นว่าทั้งในระดับโลกและในประเทศมีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ยอมจำนนต่อชะตากรรมและลุกขึ้นสู้ ไม่ว่าจะด้วยกองกำลังหรือวิธีการสร้างสรรค์

ผมนึกถึงวรรณกรรมหลายๆ เรื่องที่ผู้เขียนใช้ความเจ็บปวดในชีวิตเป็นวัตถุดิบ ใช้แรงกดทับเป็นตัวขับเคลื่อน จนสุดท้ายปลายทางกลายเป็นผลงานยิ่งใหญ่

ในหน้า ‘เสมือนคำนำ’ วรรณกรรม หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ที่เขียนโดยสุชาติ สวัสดิ์ศรี ได้ยกประโยคหนึ่งของมาริโอ บาร์กัส โยซา นักเขียนชาวเปรู มาบอกเล่า ซึ่งเป็นประโยคที่เป็นคำตอบของคำถามว่าทำไมนักเขียนจากลาตินอเมริกาหลายๆ คนจึงสามารถสร้างผลงานมหัศจรรย์ได้

“…มันคงต้องเป็นสังคมที่ผุกร่อน สังคมที่กำลังจะต้องเปลี่ยนไปแบบนี้เท่านั้นแหละ ถึงจะกระตุ้นให้เกิดงานเขียนแบบนี้ขึ้นมาได้…ไม่ใช่เป็นเรื่องบังเอิญที่นักเขียนลาตินอเมริกันสามารถผลิตงานเขียนอันเต็มไปด้วยความเร่าร้อน มีความคิดสร้างสรรค์ และเป็นตัวของตัวเองออกมาได้…ไม่มีทางจะหลีกเลี่ยงไปไหนเลย เพราะประวัติศาสตร์ทั้งหมดของพวกเขาในลาตินอเมริกาล้วนเป็นเรื่องของการเข่นฆ่าและการแปรเปลี่ยนที่โหดร้ายรุนแรง”

ระหว่างที่อ่านต้นฉบับ a day เล่มนี้ ผมนึกถึงประโยคข้างต้น แม้ดินแดนลาตินอเมริกาจะมีบริบทที่แตกต่างจากอีสาน แต่ผมก็พอจะเห็นจุดร่วมบางอย่าง

นั่นคือต่างเป็นสังคมที่ประชาชนได้รับแรงกดทับจากความผิดปกติของบ้านเมือง ซึ่งสิ่งที่เจ้ย–อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับภาพยนตร์ที่เกิดและเติบโตที่ขอนแก่นว่าไว้ในเล่มนี้ก็ช่วยทำให้เห็นภาพชะตากรรมร่วมของคนอีสานในแต่ละยุคสมัย

“ผมพบว่าความเป็นอีสานมันพิเศษ ทั้งในบทบาทของการเป็นผู้ถูกกระทำและการหาทางออกจากการถูกกระทำด้วยตัวเอง ซึ่งมันพ่วงกันไปหมด…

“ลำพังแค่อัตลักษณ์ของความเป็นอีสานก็ถูกสื่อจากส่วนกลางล้อเลียน รวมไปถึงบทบาทของพวกเขาที่ถูกโลกทัศน์ของคนกรุงเทพฯ กดไว้ ขณะเดียวกันในเชิงพื้นที่ก็ไม่ได้มีความอุดมสมบูรณ์ พวกเขาไม่มีนวัตกรรมที่จะหารายได้ในผืนดินของตัวเอง ส่วนรัฐก็ไม่กระจายความเจริญ ผู้คนก็เลยต้องพากันเข้ากรุงเทพฯ หรือเข้าเมืองใหญ่เพื่อหางานทำ ส่วนคนที่ยังอยู่ พวกเขาก็จำเป็นต้องหาที่พึ่งทางโชคชะตา จึงสังเกตได้ว่าเรื่องเกจิอาจารย์หรือไสยศาสตร์ในภูมิภาคอีสานนี่คับคั่งมาก เพราะชาวบ้านไม่รู้จะพึ่งพาใคร

“อีกทั้งช่วงที่ผมลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูล เป็นช่วงที่คนอีสานกำลังกลายเป็นเหยื่อทางการเมืองอย่างน่าเห็นใจ อันเป็นผลพวงต่อเนื่องมาจากรัฐประหาร เกิดขบวนการคนเสื้อแดง พวกเขาลุกฮือขึ้นมาเพราะเขาเห็นว่าถูกเอาเปรียบ ไม่ได้รับการดูแลจากส่วนกลาง และต้องการให้เกิดการกระจายอำนาจตามหลักประชาธิปไตย แต่สุดท้ายก็ถูกชนชั้นปกครองกดไว้อีก และการเคลื่อนไหวของคนอีสานตรงนี้ยังเป็นเครื่องบ่งชี้ให้คนทั่วไปรวมทั้งผมเอง ได้เห็นถึงความชั่วร้ายของชนชั้นปกครองไทยมากขึ้น นั่นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมย้อนรอยกลับมาทำโปรเจกต์ปลุกผี (Primitive) ที่เป็นนิทรรศการศิลปะจัดวางที่ใคร่ครวญถึงความเป็นคนชายขอบ รวมถึงคนอีสานในสังคมไทย”

ความน่าสนใจคือสุดท้ายผู้กำกับภาพยนตร์อย่างเขาแปรความความคับข้องใจกลายเป็นศิลปะ คล้ายๆ กันกับนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ในภูมิภาคห่างไกล และไม่ใช่แค่เขา หากแต่ยังมีผู้คนในศาสตร์อีกหลายแขนง ไม่ว่าจะเป็นวรรณกรรม ดนตรี อาหาร งานออกแบบ สื่อสารมวลชน ฯลฯ ที่ลุกขึ้นมาตั้งคำถามคล้ายกันผ่านเครื่องมือที่มี

แทนที่จะลุกขึ้นมาหยิบอาวุธ พวกเขาลุกมาหยิบปากกาหรืออุปกรณ์อื่นๆ เพื่อต่อสู้ ด้วยหวังว่าวันหนึ่งการต่อสู้นั้นจะสามารถเปลี่ยนแปลงบางสิ่ง หรืออย่างน้อยก็ได้สะท้อนเสียงของตัวเองออกไปให้โลกภายนอกได้รับรู้

และคงไม่ใช่แค่อีสาน ในยุคสมัยที่เส้นแบ่งพรมแดนพร่าเลือนเข้าไปทุกที เราล้วนเผชิญชะตากรรมคล้ายกัน เราต่างได้รับผลกระทบจากโครงสร้างทางสังคมอันบิดเบี้ยว ซึ่งสิ่งนี้ยิ่งปรากฏชัดยามบ้านเมืองเผชิญสถานการณ์เลวร้าย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องฝุ่นควันทางภาคเหนือหรือเชื้อไวรัสที่ระบาดไปทั่วเมือง

ในสถานการณ์เช่นนี้ ผมคิดว่าบางทีเราอาจต้องหยิบยืมจิตวิญญาณนักสู้จากใครหลายคนในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งที่อยู่ใน a day ฉบับนี้ และไม่ถูกพูดถึง ทั้งคนที่ยังมีลมหายใจและจากไปแล้ว ทั้งที่ยังมีอิสรภาพและถูกคุมขัง ด้วยความหวังเดียวกับที่วิส–หทัยรัตน์ พหลทัพ บรรณาธิการภาคภาษาไทย เดอะอีสานเรคคอร์ด ว่าไว้ในเล่ม

“เราไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ในเร็ววันหรอก แต่มันคือการค่อยๆ หยดน้ำลงหินให้มันค่อยๆ กร่อน แล้วหวังว่าวันหนึ่งคนที่อ่านจะเข้าใจว่าความเป็นคนของเรากับเขาไม่ได้แตกต่างกัน”

AUTHOR