6 ปีก่อน ธนญชัย ศรศรีวิชัย เคยขึ้นปกนิตยสาร a day พร้อมกับให้สัมภาษณ์ใหญ่ไว้ในคอลัมน์นี้
ตอนนั้นเขาเพิ่งได้รับการจัดอันดับให้เป็นผู้กำกับหนังโฆษณาที่ได้รางวัลมากที่สุดในโลก (The most awarded directors in the world) อันดับ 1 ปีถัดมา เขาหล่นจากตำแหน่งนี้ แต่หลังจากนั้นเข้าก็กลับมาครองตำแหน่งนี้อีก 5 สมัยรวด จนถึงปัจจุบัน
ปีที่แล้วบริษัทฟีโนมีน่าจากประเทศไทยได้รับรางวัล Palm d’or จาก Cannes Lions Advertising Festival หรือรางวัลสำหรับบริษัทที่ทำหนังโฆษณาได้รางวัลสูงสุดในปีนั้น แม้รางวัลจะให้ในนามบริษัท แต่ทุกชิ้นงานที่คว้ารางวัลเป็นผลงานการกำกับของชายผู้นี้ ในรอบ 19 ปีที่ผ่านมา นี่คือครั้งที่ 2 ที่เจ้าของรางวัลไม่ใช่บริษัทสัญชาติอเมริกัน โดยศักดิ์ศรีแล้ว รางวัลปาล์มดอร์ตัวนี้ยิ่งใหญ่และน่ายกย่องไม่แพ้ปาล์มดอร์ที่ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เพิ่งได้รับจากเวที Cannes Film Festival
ธนญชัยคือผู้กำกับที่ได้รางวัลจากคานส์ไลออนส์มากที่สุดคนหนึ่งของโลก แต่เขาไม่เคยมารับรางวัล และไม่เคยมาร่วมงานนี้เลยแม้สักครั้ง แต่ปีนี้เป็นปีแรกที่เขาเดินทางมาที่คานส์ (แต่ก็ยังไม่เข้างานอยู่ดี)
โปรแกรม 3 วันที่คานส์ของเขาคือ มาพูดในงานปาร์ตี้ของฟีโนมีน่า คุยงานกับเอเจนซี่ประเทศต่างๆ หลบไปประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับทีมงานและลูกค้าที่เมืองไทย รวมถึงคุยงานกับครีเอทีฟจากเมืองไทยที่คานส์ด้วย ที่ต้องมานั่งคุยงานกันที่นี่ก็เพราะเขาเป็นผู้กำกับคิวทองมาก การขอคิวคุยงานกับเขาสักครั้งที่เมืองไทยเป็นเรื่องยากมาก แต่การขอคิวคุยที่คานส์ก็ไม่ได้ง่ายขึ้นเท่าไหร่ สุดท้ายเราก็ได้เวลาทีละครึ่งค่อนชั่วโมงมา 3 ครั้ง 3 สถานที่ ใน 3 วัน
คุยกันครั้งนี้ รู้สึกได้ชัดเจนว่า ชีวิตของเขามุ่งสู่แนวทางการสลายตัวตน กลับไปอยู่กับความเรียบง่ายของธรรมชาติ และการส่งมอบสิ่งดีๆ สู่ผู้อื่น เขาย้ำชัดว่า ไม่ต้องรู้จักตัวเขาก็ได้ ไม่ต้องรู้จักงานโฆษณา และรางวัลของเขาก็ได้ เพราะมันไม่ได้มีผลอะไรกับเขา
แต่ถึงอย่างนั้น ขอแนะนำตัวเขาสั้นๆ ว่า เขาคือผู้กำกับหนังโฆษณาสังกัดบริษัทฟีโนมีน่า ทำหนังโฆษณาเรื่องที่สุดฮือฮาอย่าง ขอโทษประเทศไทย แล้วก็หนังโฆษณาตลกๆ ภาพสีตุ่นๆ ตัวละครในเรื่องเป็นชาวบ้านๆ แล้วก็ใช้เสียงโฆษกกวนๆ (เสียงเขาเอง) อย่าง จน เครียด กินเหล้า ทิชชูของสมาร์ทเพิร์ส สมูทอี เมืองไทยประกันชีวิต ไทยประกันชีวิต และหนังโฆษณาอีกนับไม่ถ้วน
เขาบอกว่า ถ้ารู้จักเขาแล้ว ไม่ต้องจดจำเขาก็ได้
แต่รับรองว่าไม่มีใครลืมเขา
ทำไมปีนี้คุณถึงยอมมาคานส์เป็นครั้งแรก
ผมเป็นคนไทย ตอนนี้ประเทศของผมกำลังมีปัญหา ปัญหาคือ CNN ทำให้คนรู้สึกว่าทั้งเมืองลุกเป็นไฟเหมือนอัฟกานิสถาน ถ้าคุณเดินอยู่บนถนนอาจจะตายได้ หลายบริษัทเลยปฏิเสธที่จะเข้ามาทำงานกับโปรดักชันเฮาส์ในเมืองไทย ก็เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับเขา ผมเลยมาคานส์เพื่อบอกทุกคนว่า ประเทศของผมยังโอเค ไม่มีปัญหา ปัญหามันเกิดขึ้นแค่ในพื้นที่ 1 – 2 ตารางกิโลเมตร คุณยังสามารถทำงานกับพวกเราได้ ไม่ใช่แค่บริษัทของผม แต่หมายถึงทุกบริษัทในประเทศไทย ผมมาเพื่อบอกแค่นี้
ปีที่แล้วคุณได้รางวัลปาล์มดอร์ซึ่งเป็นรางวัลใหญ่มากของโลก ทำไมถึงไม่มารับ
เขาให้มันก็เป็นเรื่องของเขา เราก็ดีใจที่เขาให้ แต่รางวัลเป็นแค่โลหะชนิดหนึ่งที่มีน้ำหนักที่หนัก ทำอะไรไม่ได้เลย นอกจากเอาไว้ทับกระดาษ ผมมองว่า รางวัลคือเนื้องอกของกิจกรรม เป็นส่วนเกินของสิ่งที่เราทำ รางวัลกับงานมันคือคนละส่วนกัน ผมไม่เคยเอารางวัลมาเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิต รางวัลคือกับดัก ถ้าเอาเข้ามาในชีวิต เราก็จะยึดติดคิดไปว่ากูเก่ง ถัดจากนั้นเราก็จะเหลิงและเราก็จะมีอีโก้ ถัดจากนั้นเราก็จะทำอะไรโง่ๆ เช่น การไม่รับฟังความคิดเห็นของคนอื่น คิดว่ากูเก่งคนเดียวในโลก งานก็จะห่วยลง เพราะฉะนั้นไอ้ก้อนโลหะสีทองๆ นี้ทำอะไรชีวิตผมไม่ได้ มันไม่ได้มีค่าสำหรับผม และยิ่งการที่ผมจะต้องขึ้นเครื่องบินหรือเดินทางไปรับรางวัลพวกนี้ยิ่งเป็นไปไม่ได้ มันทำให้ผมเสียเวลา ก็เลยไม่มีเหตุผลที่จะมา
เสียใจไหมที่แทบไม่มีคนไทยรู้ข่าวนี้เลย
ไม่ ผมไม่อยากเป็นคนแก่ที่คอยบอกแม่บ้านว่า เธอรู้ไหมว่าฉันเป็นคนที่เก่งมากเลยนะ ฉันเป็นผู้กำกับระดับเมืองคานส์นะ รางวัลเป็นแค่วัตถุชิ้นนึงเท่านั้นเอง
ตอนแก่คุณอยากบอกอะไรกับแม่บ้าน
คุณควรเป็นแม่บ้านที่ดีที่สุด ทำบ้านให้สะอาดที่สุด ซื่อสัตย์มากที่สุด ขยันที่สุด และช่วยเหลือผู้อื่นให้มากที่สุด หน้าที่ของคุณคือทำบ้านนี้ให้สะอาดและทำบ้านเมืองให้สะอาดโดยที่ไม่สนใจผลตอบแทนหรือรางวัล รางวัลเป็นเรื่องของคนที่ให้ ผมเหมือนนักไวโอลิน ผมสนใจแต่เสียงไวโอลินของผม ไม่สนใจเสียงปรบมือ ขณะเล่นต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ถ้าห่วงเสียงปรบมือ เพลงต่อไปไม่เพราะแน่นอน
ถ้าไม่ใช้รางวัล เราจะใช้อะไรเป็นตัววัดว่างานนั้นดีหรือไม่ดี
ผู้รับสารรู้สึกดี งานของเราคือการสื่อสารไปยังผู้รับสาร ถ้าผู้รับสารรู้สึกดีขึ้น มีความคิดที่ดีขึ้น มีปัญญาที่ดีขึ้น มีทัศนคติในการมองโลกที่ดีขึ้น อันนี้แหละรางวัล การเปลี่ยนความคิดคนได้คือเรื่องใหญ่ ถ้าเปลี่ยนวิธีคิดคนได้ ก็ทำให้โลกดีขึ้นได้
คุณเลิกตื่นเต้นกับรางวัลตั้งแต่เมื่อไหร่
ตั้งแต่ได้ผู้กำกับอันดับ 1 ของโลกปีแรก เหมือนพระเจ้าส่งอะไรบางอย่างที่ดีที่สุดมาให้ แล้วถามว่าจะกินหรือไม่กิน เราแตะไปนิดนึงแล้วรู้ว่าเป็นช็อกโกแลต ก็บอกตัวเองว่าอย่าไปกิน มันกำลังล่อเราไปอยู่ ผมเลยไม่สนใจรางวัล ไม่สนว่าจะดำรงสถานภาพอันดับ 1 ของตัวเองไปอีกนานแค่ไหน เหมือนที่ผมเคยให้สัมภาษณ์ใน a day ว่า สิ่งแรกที่ทำคือการสลายตัวตน ไม่ยึดติด แล้วก็บอกว่าปีหน้าคงไม่ได้ ซึ่งก็ไม่ได้จริงๆ แต่ไม่ได้บอกว่าปีต่อไปจะกลับมาได้อีกหรือเปล่า ซึ่งก็ได้มาตลอด อาจเป็นเพราะทำงานโดยไม่คิดถึงตัวเอง ผมคิดถึงคนดูเป็นหลัก ไม่สนใจว่างานแบบนี้คานส์จะชอบหรือไม่ชอบ แค่อยากทำหนังให้ดีที่สุดในประเทศให้คนไทยชอบ คุณจะให้รางวัลหรือไม่ให้มันก็เรื่องของคุณ
คุณยังจำสิ่งที่ตัวเองเคยให้สัมภาษณ์เมื่อ 6 ปีก่อนได้
ได้ ผมชอบเอากลับมาอ่าน ผมชอบคำถามที่ถาม ผมว่าบทสัมภาษณ์ที่ดีต้องเกิดจากคำถามที่ดี แล้วก็ดีใจที่ตัวเองยังทำแบบที่เคยพูดได้ มีอย่างเดียวที่ทำไม่ได้คือ ไม่ได้ใช้รถโฟล์กคันเดิมแล้ว ขายแล้ว เปลี่ยนไปใช้เลกซัส มีคนขับรถด้วย ทำงานหนักๆ ขับรถเองเดี๋ยวตาย ไม่ประมาท แล้วก็ซื้อไอโฟน นอกนั้นเหมือนเดิม
ไหนๆ ก็มาถึงคานส์แล้ว อยากเดินเข้าไปดูโฆษณาดีๆ ในงานไหม
ไม่ อยู่นอกงาน กินหอยนางรม เดินดูคน คุยกับคน ฟังความคิดเขา น่าจะมีอะไรดีๆ มากกว่า เหมือนปลาสดจากทะเล มีชีวิต คุณค่าของมันสูง งานข้างในเป็นอาหารที่เขาปรุงมาแล้ว หมักมาแล้ว ปรุงแต่งกันสุดๆ เหมือนปลากระป๋อง ผมไม่ค่อยชอบ
รู้สึกยังไงที่ปีนี้มีหนังโฆษณาความยาว 7 นาทีของจอห์นนี่ วอล์คเกอร์ ได้โกลด์ เกือบจะได้กรังปรีซ์ด้วยซ้ำ แต่หลายปีก่อนหนังโฆษณาแพนทีนความยาว 4 นาทีของคุณ ส่งประกวดไม่ได้เพราะยาวไป
เฉยๆ หนังแพนทีนเรื่องนี้ส่งประกวดที่ไหนไม่ได้เลย ยกเว้นเทศกาลหนังสั้น หนังเรื่องนี้ได้รางวัลซิลเวอร์มั้ง จาก New York Film Festival เป็นหนังที่สั้นกว่าเรื่องอื่นๆ แต่ทำคนร้องไห้ได้ ไม่กี่เดือนก่อน คุณราชเพื่อนผม (คนอินเดียที่เป็นครีเอทีฟงานแพนทีน) โทรมาบอกว่า สถาบัน Adweek มีการจัดอันดับ 20 หนังโฆษณาระดับตำนานของโลกที่ทรงอิทธิพลที่สุดตั้งแต่ปี 1985 ถึงปัจจุบัน เรื่องนี้ได้ที่ 1 เป็นหนังที่คนทั่วโลกดูและชอบมากที่สุดในโลก มีคนดูในยูทูบหลายล้านคน มีคนชอบเยอะขนาดนี้ผมก็ดีใจ แต่ก็มีคนไทยจำนวนหนึ่งที่ดูเรื่องนี้แล้วไม่ชอบ บอกว่าน้ำเน่าบ้าง วิจารณ์ด้วยเหตุผลฉลาดๆ บ้าง เช่น ทำไมไวโอลินพังแล้วยังสีได้ ผมก็บอกว่า มันสีไม่ได้หรอก อันนั้นผมโม้ อย่ามัวแต่หาเหตุผลฉลาดๆ มาจับผิดเลย สิ่งที่คุณควรจะสนใจมากกว่าก็คือ คุณได้ความคิดอะไรจากหนังเรื่องนี้
หนังของจอห์นนี่ วอล์คเกอร์ ได้รางวัลผมก็ดีใจด้วย แต่การทำหนังได้รางวัลไม่ได้ทำให้ชีวิตผมดีขึ้น ชีวิตผมจะดีขึ้นเมื่อผมทำหนังอย่าง ‘เปลี่ยนประเทศไทย’ ที่มีท่าน ว.วชิรเมธี หรือพ่อผาย (สร้อยสระกลาง) อย่าง ‘ขอโทษประเทศไทย’ ของเครือข่ายพลังบวก ตอนหนังขอโทษประเทศไทยฉาย มีคนส่งแมสเสจมาบอกว่า ขอบคุณที่ทำหนังเรื่องนี้ให้ดูนะ ผมก็ดีใจ นี่คือสิ่งที่ทำให้ผมมีความสุข
หนังขอโทษประเทศไทยน่าจะเป็นงานที่คุณได้รับคำชมมากพอๆ กับโดนด่านะ
คำด่าที่ปราศจากอคติผมก็พร้อมน้อมรับไปปรับปรุงแก้ไข ผมไม่ใช่คนที่ฉลาดที่สุด ผมอาจจะทำอะไรผิดก็ได้ ผมก็ขอโทษ สิ่งที่ผมอยากให้ทุกคนรู้สึกก็คือ รู้สึกว่าเราแย่แล้ว เราจะเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้เลยถ้าเราไม่รู้สึกแย่ ไม่รู้สึกว่าเรากำลังอยู่บนปัญหา ถ้าอยากให้ประเทศไทยดีขึ้น ก็ต้องถามว่าประเทศไทยมันไม่ดีตรงไหน แล้วเราต้องแก้มันยังไง ไม่ใช่การลืม ถ้าปมยังอยู่ หนองในขายังอยู่ คุณเอาพลาสเตอร์ไปปิดไม่ได้ คุณต้องกรีดแผลออกมาล้างแผลก่อน ขั้นตอนนั้นมันเจ็บนะ แต่นั่นคือปัญหาของเราไม่ใช่เหรอ ถ้ามองอย่างปราศจากอคติ ในฐานะของคนทำ ผมก็กำลังด่าตัวเองด้วยเหมือนกัน ผมก็ผิด เราอย่ากลัวความผิด ยอมรับว่าผิดแล้วก็แก้ เหมือนอย่างที่ท่าน ว. พูดไว้ชัดว่า เราต้องรู้สึกก่อนว่าเราเสื่อมกันสุดๆ แล้ว เมื่อเรารู้สึกแล้ว จึงจะแก้ได้
ทำไมคุณถึงกล้าทำหนังเรื่องนี้ออกมาในช่วงเวลาที่คนไม่กล้าคุยเรื่องการเมืองกัน
ในขณะที่ทุกคนกำลังกลัวเพราะพูดไปทางไหนก็ผิด ผมใช้วิธีตั้งสติดีๆ แล้วซัดเปรี้ยงเข้าไปเลย “เราทำอะไรผิดไปหรือเปล่า” ผมทนทำหนังให้คนลืมเรื่องความขัดแย้งแล้วกลับมารักกันเหมือนเดิมไม่ได้ เพราะนั่นไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา เหมือนบอกคนเป็นมะเร็งว่า ลืมๆ มะเร็งไปเหอะ อย่าเครียด พุทธศาสนาสอนเราว่า เมื่อเรามีปัญหาหรือมีทุกข์ เราจะแก้ปัญหาได้ ต้องหาสาเหตุแห่งทุกข์ให้ได้ก่อน มันควรจะเป็นแบบนั้นไม่ใช่เหรอ
หนังเรื่องนี้ไม่ผ่านเซนเซอร์ของ กบว. สรุปว่าคุณยอมแก้เพื่อให้ผ่านไหม
หนังเรื่องนี้ไม่ต้องแก้ ถ้าไม่ให้ออนแอร์ก็ไม่ออนแอร์ ผมไม่แก้ ความจริงแก้ไม่ได้ ถ้าคุณให้แก้ก็เท่ากับให้แก้ความจริง ภาพธงชาติที่ขาดก็เป็นธงชาติที่ขาดจริงๆ บนยอดตึกธนาคารอะไรสักแห่งที่ต่างจังหวัด ทุกภาพจริงหมด โฮปเวลล์ก็จริง นักการเมืองต่อยกันก็จริง คุณจะให้ผมเปลี่ยนแปลงความจริงเหรอ
หนังเรื่องต่อไปที่คุณกำลังจะชวนประชาชนตั้งคำถามกับนักการเมืองก็น่าจะแรงใช้ได้นะ
มันคงถึงยุคของเราแล้วที่จะลุกขึ้นมากพูดว่า คุณหยุดโกงเราได้แล้ว เลิกทำให้เราอ่อนแอได้แล้ว เขาเป็นแค่คนกลุ่มเล็กๆ ที่มีอำนาจ แล้วเราก็ปล่อยให้คนกลุ่มเล็กๆ นี้มาจัดการประเทศที่ใหญ่โต ทำให้เราแตกกัน เขาคนน้อยกว่าเราเยอะ ถึงเวลาแล้วที่ต้องถามพวกเขาว่า
โกงทำไมเหรอครับ ตายไปแล้วเอาอะไรไปได้ คุณจะโลภไปถึงไหน ทำไมคุณไม่คิดถึงประชาชน ผมไม่ได้ขออะไรจากนักการเมือง นอกจากขอให้คิดถึงประชาชนบ้าง ออกนโยบายอะไรก็ได้ให้ประชาชนเข้มแข็ง รายละเอียดอื่นๆ ยังพูดไม่ได้ตอนนี้
พร้อมโดนด่า
ถ้าทำแบบนี้ก็ต้องยอมรับว่ามันมีผลกระทบกับเราแน่ๆ แต่ไม่เป็นไร ในหลวงบอกว่า ทำดีแต่ถ้าไม่มีใครเห็นให้ถือเป็นกำไร ยิ่งถ้าทำดีแล้วคนว่า คนด่า อันนั้นเรียกว่าเป็นกุศล นี่คือหลักในการดำเนินชีวิตของผม คอมเมนต์ต่างๆ ไม่ได้ทำให้ผมหยุด ถ้าแน่ใจว่าสิ่งที่คิดเป็นสิ่งที่ดีแล้วก็ทำไปเหอะ ถ้าทำแล้วคนไม่พอใจก็หันมาพิจารณาตัวเองว่า ผิดตรงไหน ทำไม่ดีตรงไหน แล้วก็แก้ไข ต้องตรวจสอบตัวเองตลอดเวลา งานก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ
ช่วงนี้คุณทำหนังเพื่อสังคมเยอะนะ
ทำอะไรได้ก็ทำ แต่ต้องดูเป็นงานๆ ไป ถ้าไม่อยากทำก็ไม่ทำ บางครั้งพออยู่กับคนเก่งๆ ฉลาดๆ เยอะๆ ก็ปวดหัว ถ้าฉลาดแล้วไม่มีตัวตนจะดี แต่ถ้ายึดมั่นถือมั่นในความฉลาดของตัวเอง ว่าต้องถูกเสมอ อันนี้เหนื่อย ถ้าต้องทำงานกับคนที่มีความรู้อย่างเดียว ไม่มีปัญญา ผมไม่อยากทำ นักวิชาการหลายคนในประเทศบอกว่า พวกคุณเป็นคนโฆษณา พวกคุณไม่เข้าใจปัญหาสังคมหรอก พวกคุณทำไม่ได้หรอก นี่คือวิธีการที่ไม่ฉลาดเลย เขายึดพื้นที่การเสียสละเพื่อสังคมไว้กับเขาคนเดียว เขาจะไม่ได้แนวร่วมเลย สุดท้ายเขาก็เป็นคนที่แค่รักตัวเอง ต้องการให้ได้ชื่อว่าตัวเองเป็นผู้เสียสละคนเดียว ถ้าฉลาดจริงเขาต้องสร้างแนวร่วม สงวนจุดต่าง
ในหนังโฆษณาขายของทั่วไป คุณเติมประเด็นเพื่อสังคมลงไปเองหรือว่ามันมากับสตอรี่บอร์ดจากครีเอทีฟตั้งแต่แรก
มีน้อยมากที่มากับสตอรี่บอร์ด สตอรี่บอร์ดส่วนใหญ่เน้นไปที่ความฉลาดของหนัง ถ้าทำตามนั้นก็จะได้หนังฉลาดๆ ผมก็สงสัยว่า ทำไมเหรอ ต้องการให้คนชมว่าคนทำหนังฉลาดเหรอ เราควรทำหนังง่ายๆ ดูโง่ๆ บ้าง แต่ลึกซึ้ง นึกไม่ถึง ดูแล้วคนดูได้อะไร ไม่ต้องซับซ้อนมาก เราต้องทำเรื่องซับซ้อนให้ง่าย อย่าไปทำเรื่องง่ายๆ ให้ซับซ้อน
ทำไมคุณถึงอยากใส่เรื่องเชิงสังคมลงในหนังโฆษณา
เราไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก เลยหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเอาประเด็นของสังคมมาอยู่ในงาน ความคิดดีๆ จำเป็นกับมนุษย์ หนังอย่างสมูทอี ถ้าดูดีๆ มันก็มีความคิดบางอย่างอยู่ หรือหมากฝรั่งคิดคิด เรื่องที่มีอาจารย์ใบ้หวยแล้วหนังก็บอกว่า ถ้าใบ้ถูกทุกงวดจะมานั่งอยู่ตรงนี้ไหม
คิดมั่งสิ ถึงจะขายหมากฝรั่ง แต่ก็ทำให้คนได้คิด การขายของมาไกลเกินกว่าจะพูดถึงแค่โปรดักต์แล้ว เราควรพูดว่าโปรดักต์นี้มีทัศนคติอย่างไรกับโลกใบนี้ หลายคนทำหนังบัตรเครดิตแล้วบอกว่า ถ้าคุณมีบัตรนี้คุณจับจ่ายใช้สอยได้เต็มที่ อยากได้อะไรก็ได้ การทำหนังอย่างนั้น เลว เพราะคุณทำให้เขาเป็นหนี้ อย่าลืมว่คุณเป็นสถาบันการเงิน ถ้าคุณทำให้คนเป็นหนี้มาก มันก็กระเทือนเงินฝากของคุณ มันย้อนกลับมาหาตัวคุณเอง อย่าคิดตื้นๆ คุณต้องหาวิธีพูดอย่างอื่น ใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น หรือใช้เมื่อต้องจำเป็นใช้ไม่ดีกว่าเหรอ มันมีวิธีพูดที่ไม่ทำให้สังคมเดือดร้อน ขึ้นกับว่าคุณคิดกับมันมากน้อยแค่ไหน
(จากคอลัมน์ a day with a view – a day 120 สิงหาคม 2553)
คลิกอ่านบทสัมภาษณ์ตอนอื่นๆ ได้ที่นี่
ตอนที่ 2
ภาพ นิติพัฒน์ สุขสวย