“จะเป็นภาพคนท้าทายอำนาจรัฐหรือต่อสู้กับเศรษฐกิจก็มีพลังทั้งนั้น” Thai News Pix สำนักข่าวอิสระ

Thai News Pixหมายเหตุ : บทสัมภาษณ์นี้สัมภาษณ์เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563

หลายทศวรรษหรืออาจมากกว่า ภาพข่าวปรากฏเคียงคู่เนื้อข่าวเสมอมา หลายครั้งทำหน้าที่เป็นภาพประกอบข่าว หลายคราวเป็นตัวชูโรงนำหน้าเนื้อความจนสร้างความตระหนักรู้หรือเปลี่ยนแปลงบางอย่าง

ในยุคปัจจุบันที่สื่อออนไลน์มีบทบาทสำคัญต่อชีวิตคนในสังคม โดยเฉพาะในบ้านเมืองที่ไร้ซึ่งความยุติธรรมชนิดที่พลิกเรื่องจริงให้เป็นเรื่องเท็จ สร้างเรื่องเท็จให้เป็นเรื่องจริงได้ด้วยการรายงานข่าวสั้นๆ การเขียนข่าวแต่เพียงอย่างเดียวอาจไม่สามารถยืนยันความจริงต่อประชาชนหลายล้านคนที่มีหลากความเชื่อได้ ภาพข่าวที่เก็บช่วงเวลาหนึ่งๆ เอาไว้จึงอาจส่งเสียงเรียกร้องให้คนสนใจได้มากกว่า

Thai News Pix คือสำนักข่าวอิสระที่นำเสนอข่าวผ่านภาพและวิดีโอซึ่งก่อตั้งโดย ปาล์ม–ภานุมาศ สงวนวงษ์ ผู้ก้าวเท้าเข้าสู่วงการช่างภาพตั้งแต่ปี 2547 หลังทำงานเป็นช่างภาพข่าวในสำนักข่าวหลายแห่งอยู่นาน เมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา เขาตัดสินใจออกมาตั้งสำนักภาพข่าวเพื่อให้ช่างภาพมีอิสระในการถ่ายทอดมุมมองและพัฒนาวิธีการถ่ายภาพได้มากขึ้น

คำถามสำคัญคือเมื่อธรรมชาติของสื่อที่ใช้ในสมัยก่อนและปัจจุบันแตกต่างกัน ช่างภาพข่าวต้องเปลี่ยนปรับตัวยังไง แม้ในวันที่รายได้ของ Thai News Pix ยังมีไม่มากพอ อะไรทำให้เขายืนหยัดทำต่อ แล้วประโยคที่ว่า ‘ภาพหนึ่งภาพแทนคำเป็นล้านคำ’ นั้นจริงแท้แค่ไหน

บทสนทนาระหว่างเราและปาล์มด้านล่างนี้มีคำตอบ

คุณเข้าสู่วงการช่างภาพได้ยังไง

ผมเรียนจบคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่มีโอกาสฝึกถ่ายภาพช่วงมหาวิทยาลัยเพราะต้องทำจุลสารค่ายอาสาพัฒนา หลังจากนั้นก็มีโอกาสไปฝึกงานเป็นช่างภาพที่กระทรวงการต่างประเทศ พอเรียนจบปี 2547 กระทรวงฯ อยากให้ทำงานต่อผมเลยตัดสินใจสมัครเป็นช่างภาพ 

ทำงานได้สัก 2 ปีผมก็ย้ายมาทำงานที่มติชน ทำอยู่ 8-9 ปี หลังจากนั้นก็มาเป็นช่างภาพและรองบรรณาธิการฝ่ายภาพที่บางกอกโพสต์อีก 4 ปี ก่อนลาออกมาทำสำนักข่าวออนไลน์

ยุคสมัยที่หนังสือพิมพ์เรืองอำนาจ การทำงานของช่างภาพข่าวเป็นแบบไหน

สมัยก่อนการทำงานของช่างภาพนั้นขึ้นกับหนังสือพิมพ์แต่ละหัว อย่างหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ เช่น Bangkok Post หรือ The Nation มักจะใช้ภาพข่าวที่โดดเด่นเพียงรูปเดียวลงหน้าหนึ่ง ส่วนประเด็นข่าวก็จะมีเพียง 1-2 ประเด็นเท่านั้น ภาพข่าวในหนังสือพิมพ์เหล่านี้จึงได้ทำหน้าที่ในการสื่อสารและดึงดูดคนโดยที่ภาพนั้นๆ อาจไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับพาดหัววันนั้นเลยก็ได้ 

ส่วนหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ไทยจะมีข่าวและรูปค่อนข้างมาก ข่าวหนึ่งข่าวมักลงได้แค่หนึ่งรูป ภาพที่จะลงบนหน้าหนึ่งได้จะเรียกว่า ‘ภาพเดียวจบ’ คือหนึ่งภาพต้องเล่าเรื่องได้มากและตรงไปตรงมาที่สุดเพื่อให้คนเข้าใจมากที่สุด เหมือนเป็นภาพประกอบข่าวมากกว่าเป็น ‘ภาพข่าว’ ที่โดดเด่นในตัวเอง ภาพที่สวยหรือมีมุมมองแตกต่างจึงอาจไม่ถูกใช้ ซึ่งทำให้ภาพข่าวสมัยก่อนไม่ค่อยมีมิติและทำให้ช่างภาพหลายคนรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องถ่ายภาพแนวอื่นเพราะถ่ายไปก็ไม่ได้ใช้จนรู้สึกหมดไฟและเริ่มหยุดหามุมมองใหม่ๆ 

คุณเป็นหนึ่งในช่างภาพเหล่านั้น

ส่วนตัวเราอาจไม่ได้รู้สึกหมดไฟเพราะรูปไม่ค่อยได้ใช้ แต่พอเห็นว่าช่างภาพต่างประเทศและช่างภาพที่ทำงานอยู่สำนักข่าวอิสระเขามีมุมมองที่แตกต่างเพราะมีพื้นที่การทำงานที่เปิดกว้างกว่า ผมเลยคิดว่าจะเป็นไปได้ไหมที่เมืองไทยจะมี photo agency ที่รวมช่างภาพหลายๆ คน ถ่ายภาพหลายๆ แบบโดยไม่ต้องยึดติดกับหัวหน้าข่าวอีกต่อไป เพื่อนำเสนอลูกค้าที่อาจเป็นสื่อต่างประเทศหรือเป็นสื่อออนไลน์ในไทยที่อยากได้ความหลากหลาย เงื่อนไขการทำงานจะได้ลดลงและช่างภาพจะได้มีพื้นที่การทำงานที่เปิดกว้างจนพัฒนาตัวเองในสายงานของช่างภาพข่าวได้ดีขึ้น Thai News Pix จึงเกิดขึ้นในปี 2561 

สำนักข่าวต่างๆ มักมีสไตล์ภาพและการเขียนข่าวในแบบตัวเอง แต่สำนักข่าวของคุณเกิดขึ้นเพราะต้องการสร้างความหลากหลาย สไตล์การถ่ายภาพยังจำเป็นอยู่ไหม 

เดิมทีเราก็คิดว่าควรมีสไตล์การถ่ายภาพไหม แต่ในเมื่อเราทำมันเพื่อเปิดมุมมองการถ่ายภาพให้กว้างขึ้น เราก็ควรให้ช่างภาพได้เป็นตัวของตัวเองและแสดงลายเซ็นของตัวเองมากกว่า ซึ่งมันก็กลายเป็นจุดแข็งของเราด้วยที่มีภาพหลายสไตล์ตามช่างภาพแต่ละคน แถมยังทำให้เรามอบหมายงานต่างๆ ได้เหมาะสมกับช่างภาพมากขึ้นด้วย

อย่างถ้าเป็นงานบู๊ๆ หรือค่อนข้างลุย อาจจะต้องใช้โดรนถ่าย ผมก็จะให้ช่างภาพที่ชื่อกฤษณ์ พรหมสาขา ณ สกลนคร ออกไปถ่ายงาน อีกคนคือธนัญชัย แก้วโสวัฒนะ ครอบคลุมการถ่ายงานหลายแบบ ส่วนผมถ่ายแบบไหนก็ได้ ไม่ได้เจาะจงเป็นพิเศษ

การทำสำนักข่าวอิสระดูจะส่งผลดีกับช่างภาพมากๆ แต่ในข้อดีเหล่านั้นมีข้อจำกัดอะไรไหม

เรื่องรายได้นี่แหละคือข้อจำกัด เพราะเราอยู่ได้ด้วยการขายงาน แต่บางครั้งเราก็มีลูกค้าไม่มากเท่าไหร่ อย่างภาพบางภาพมียอดไลก์บนโซเชียลมีเดียหลักหลายพันแต่กลับขายไม่ได้หรือขายได้แค่รูปเดียว มันก็แน่นอนว่าช่างภาพของเราต้องรับงานพิเศษอื่นๆ ด้วย 

อย่างนั้นการเปิด Thai News Pix ยังถือเป็นการตัดสินใจที่ถูกอยู่ไหม

ผมคิดว่าถูกนะ พูดตรงๆ ว่าเราไม่ได้เข้มแข็งตลอดเวลา มันก็เหมือนกับธุรกิจอย่างอื่นที่มีทั้งจังหวะที่ดีและจังหวะที่ไม่ดี แต่ผมว่าการออกมาทำสิ่งนี้ไม่ใช่ความล้มเหลวแต่มันเป็นก้าวที่เราก้าวไปแบบช้าๆ สั้นๆ และจริงๆ มันก็มีพัฒนาการที่ดี 

เราเริ่มจากศูนย์ เราแบกอุปกรณ์ แบกผลงาน แล้วบอกว่าเรากำลังจะสร้างแบรนด์ขึ้นมา โปรดเชื่อถือเและซื้อรูปเราเพื่อนำเสนอบนสื่อของคุณหน่อย ตอนแรกๆ ก็ไม่มีคนซื้อ แต่พอเริ่มมีลูกค้า 1-2 รายแรกเราก็เลยรู้สึกว่าธุรกิจนี้มันน่าจะไปรอด พอถึงวันที่เราได้รับการยอมรับว่าเป็นมืออาชีพจริงๆ แล้ว ผมคิดว่า ณ ตรงนั้นมันคือโอกาสที่เราจะไปต่อ 

คุณและช่างภาพในทีมต้องปรับตัวมากขนาดไหนเมื่อเปลี่ยนการทำงานจากหนังสือพิมพ์เป็นสื่อออนไลน์ 

หลักๆ การทำงานยังเหมือนเดิมคือต้องติดตาม ศึกษาประเด็นข่าว และหามุมมองใหม่ๆ และบางครั้งก็ต้องเขียนคำอธิบายข่าวเอง 

จุดที่ต่างจริงๆ น่าจะเป็นเรื่องการลงภาพที่ช่างภาพจะต้องโพสต์รูปเองบนสื่อ ซึ่งไม่ใช่แค่เราที่ทำแบบนี้แต่สำนักข่าวออนไลน์อื่นๆ ก็ทำด้วย ดังนั้นเวลาโพสต์ลงไปมันไม่ใช่แค่ช่างภาพโพสต์แล้วจบ แต่เราต้องพิสูจน์อักษรและเช็กข้อเท็จจริงของข่าวกันด้วย

อีกสิ่งสำคัญคือพอเป็นออนไลน์ ข้อจำกัดเรื่องจำนวนภาพมันถูกทำลายไป รูปที่เมื่อก่อนเคยตกถังขยะไปก็ถูกดึงกลับมาใช้ มุมมองภาพที่แตกต่างที่เกิดจากการแตกช็อต แตกประเด็นก็มีโอกาสได้ใช้มากขึ้น คนก็จะเห็นบริบทของเหตุการณ์ได้ทั้งหมด ไม่ใช่แบบเมื่อก่อนที่ต้องลงรูปเดียวทั้งที่มันไม่สามารถอธิบายเหตุการณ์ได้รอบด้าน แต่ใช่ว่าลงได้ไม่จำกัดแล้วจะลงมั่วซั่ว เราก็จะเลือกลงประมาณ 6-12 รูป และหลายครั้งก็ยังลงรูปเดียวอยู่บ้าง เพราะงานต้องการสื่อสารแค่ประเด็นเดียว เราก็ไม่จำเป็นต้องแตกช็อต 

คุณคิดว่าเรตติ้งมีผลต่อการเลือกภาพหรือการถ่ายภาพของสำนักข่าวคุณไหม

ความจริงมันไม่ได้มีผลมากกับเรื่องรายได้แต่มันมีส่วนสำคัญที่ทำให้คนรู้จักสำนักข่าวเรามากขึ้น อย่างภาพก๊าซระเบิดที่อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการที่ถ่ายภาพคนไปช่วยลูกหมา ถ่ายภาพบ้านพัง รถพัง ก็มียอดแชร์และยอดไลก์ค่อนข้างสูง แต่โพสต์นั้นกลับไม่มีใครซื้อรูปไปเลย หมายความว่าเราไปฟรี ไม่ได้มีรายได้จากการขายภาพ แต่เราก็นำเสนอในฐานะที่เราเป็นสื่อ

คือเราเป็น photo agency ที่ต้องการขายรูปก็จริง ถ้าสังคมสนใจเรื่องไหนมากๆ หรือน่าจะมีโอกาสขายได้สูงเราก็ไปถ่าย แต่ในอีกมิติเราก็ยังยืนอยู่ในฐานะสื่อมวลชน ถ้าเราจะทำข่าวเพื่อเรตติ้งอย่างเดียวจนก้าวล้ำเส้นจริยธรรมของความเป็นสื่อมวลชน ต่อให้เราขายงานได้แต่เราคงตอบตัวเองไม่ได้ว่าเราภูมิใจในฐานะสื่อได้อยู่หรือเปล่า 

แล้วสุดท้ายเราก็ต้องการให้สื่อมืออาชีพมาเลือกใช้รูปเราบนสื่อของเขาด้วย เพราะมันคือความเชื่อถือและเชื่อมั่นในแบรนด์ เชื่อมั่นในคุณภาพของภาพข่าวที่นำเสนอ 

จริยธรรมของช่างภาพข่าวที่ต้องยึดถือหรือเดินตามคืออะไร

เราก็ยึดเหมือนกับที่นักข่าวยึดกันเพราะเราก็คือสื่อมวลชน แต่ในยุคสมัยนี้ยิ่งต้องให้ความสำคัญกับการเคารพสิทธิเสรีภาพของคนด้วย โดยเฉพาะกับเด็กหรือคนที่ตกเป็นเหยื่อในสถานการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะคนธรรมดาหรือคนสาธารณะอย่างนักแสดง นักการเมือง ฯลฯ ถ้าเขาไม่อนุญาตหรือถ้าเขาอยู่ในพื้นที่ส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวกับตำแหน่งสาธารณะของเขา เราก็ต้องระมัดระวัง ไม่อย่างนั้นจะถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิเขา

แต่มันก็มีเส้นอีกเส้นหนึ่งที่บางครั้งเราก็ก้าวข้ามไปได้บ้าง บางทีสื่อก็ต้องวัดกันเองว่าจะถ่ายหรือไม่ถ่ายเพราะมันอาจเป็นหลักฐานทางคดีหรือเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้ อย่างการชุมนุมทางการเมืองบางครั้งไม่มีความรุนแรงเลยนะ แต่ความรุนแรงอาจเกิดขึ้นจากเจ้าหน้าที่ก่อน เราก็ใช้ภาพเหล่านี้เป็นหลักฐานเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ได้ 

นิยามของภาพที่มีพลังหรือแข็งแรงพอเป็นแบบไหน

ผมคิดว่า หนึ่ง–ภาพข่าวนั้นๆ ต้องตอบหรือสื่อสารประเด็นใดประเด็นหนึ่งได้ สอง–ภาพนั้นต้องมีองค์ประกอบภาพที่สวยงามและน่าสนใจโดยเฉพาะในสื่อออนไลน์ การนำเสนอมุมมองที่แตกต่างหรือแปลกตากว่าคนอื่นก็มีโอกาสไปได้ไกลกว่าคนอื่น และสาม–ภาพนั้นต้องมีคุณภาพ แต่คุณภาพก็อาจลดทอนลงมาได้ เพราะบางครั้งต่อให้มันขาดความคมชัดหรือว่าไฟล์อาจจะเล็กไปหน่อย แต่ถ้ามันเป็นภาพข่าวที่มีความสำคัญจริงๆ มันก็ยังมีคุณค่า

แต่ส่วนตัวผมว่าภาพมันจะมีพลังหรือไม่ก็ขึ้นกับบริบทของภาพและข่าวนั้นๆ ด้วย อย่างภาพการชุมนุมที่เราเห็นว่ามันมีพลังมากๆ ก็เพราะมันกำลังสะท้อนให้เห็นคนตัวเล็กๆ คนหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่งกล้าที่จะยืนหยัดต่ออุดมการณ์ของตัวเองโดยไม่กลัวอำนาจรัฐ ไม่กลัวตำรวจที่ตั้งแผง ถือโล่ ไม่กลัวความรุนแรงที่กำลังจะเกิดขึ้น ขณะเดียวกันภาพเกษตรกร คนค้าขาย หรือใครก็ตามที่กำลังต่อสู้ชีวิตท่ามกลางเศรษฐกิจที่มีปัญหามันก็เป็นภาพที่มีพลังได้

จากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา คุณคิดว่าประโยคที่ว่า ‘ภาพหนึ่งภาพแทนคำพูดได้เป็นล้านคำ’ นั้นเป็นจริงไหม

ประโยคนี้มันก็เป็นวาทกรรมนะ แต่ผมก็มองว่าภาพมันมีพลังที่จะสื่อสารเรื่องราวอยู่เสมอ และภาพมันก็มีพลังกับคนในหลากหลายมิติ ในเชิงประวัติศาสตร์ภาพมันบันทึกไว้ว่าเหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นจริง และเมื่อถูกนำเสนอ มันก็สะท้อนความจริงบางอย่างออกสู่สังคม ก่อให้เกิดการตั้งคำถามและการคลี่คลายปัญหา ฉะนั้นภาพมันมีพลังในทางบวกหรือทางลบอยู่แล้ว 

อย่างครั้งหนึ่งผมไปถ่ายรูปการชุมนุมและได้รูปที่คนกลุ่มหนึ่งกำลังใช้ปืนยิงไปทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ปรากฏว่ามันสร้างความเปลี่ยนแปลงในการชุมนุมได้ค่อนข้างมากเพราะมันกลายเป็นภาพที่ถูกบรรจุในประวัติศาสตร์ว่าเหตุการณ์มันพลิกผันได้ยังไง ผมเลยรู้สึกว่าภาพนี้น่าสนใจและชอบมันมากเพราะเหมือนเรากำลังพิสูจน์ให้สังคมเห็นว่ามันมีความจริงนี้อยู่นะ 

แต่มันก็มีอีกภาพหนึ่งที่แม้จะผ่านมากว่าสิบปีแล้วผมก็ยังจำได้ดี ภาพนั้นเป็นภาพง่ายๆ ที่เคยถ่ายลงหนังสือพิมพ์ มติชน มันเป็นภาพของเด็กที่เล่นกีฬาบนลานสาธารณะเพราะชุมชนไม่มีลานกีฬา เช้าวันต่อมาเจ้าหน้าที่คนหนึ่งโทรมาสอบถามว่าคือที่ไหน เขาอยากไปสร้างพื้นที่ดีๆ ให้กับเด็กๆ 

ภาพนี้ทำให้ผมเห็นว่าภาพภาพหนึ่งมันก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ ต่อให้เป็นเรื่องเล็กน้อยแต่ถ้ามันส่งผลดีกับชีวิตคนกลุ่มหนึ่ง แค่นี้มันก็ตอบโจทย์วิชาชีพเราแล้ว แค่นี้มันก็สะท้อนให้เห็นคุณค่าของการทำงานในฐานะช่างภาพข่าวได้แล้ว

การเป็นช่างภาพข่าวที่ได้นำเสนอความจริงและเปลี่ยนแปลงสังคมมาตลอด 17 ปีมีคุณค่ากับคุณยังไง

การเป็นช่างภาพสายงานอะไรก็ตามล้วนมีคุณค่าทั้งนั้น แต่สิ่งที่ทำให้ผมอยากเป็นช่างภาพข่าวก็คือภาพข่าวมันมีภารกิจและมันผูกพันกับวิถีชีวิตของคน สังคม การเมือง และเศรษฐกิจ ช่างภาพข่าวจึงเป็นสื่อมวลชนที่ได้เป็นกระบอกเสียง เป็นผู้เฝ้ามองดูสังคม เป็นผู้สะท้อนภาพความจริงออกไป และเป็นผู้บันทึกประวัติศาสตร์ด้านหนึ่งของสังคม แล้วให้ประชาชนตัดสินว่าอะไรจริง อะไรไม่จริง ดังนั้นความสวยงามอาจไม่ได้เป็นคำตอบของภาพสายนี้แต่คำตอบมันอยู่ที่ว่าภาพนั้นได้ทำหน้าที่ของมันหรือยัง 

ผมเชื่อว่าในใจลึกๆ ช่างภาพข่าวทุกคนต้องการการเปลี่ยนแปลงและต้องการสร้างสังคมให้ดีขึ้น ผมจึงรู้สึกภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่ในฐานะของช่างภาพข่าวและในฐานะของสื่อมวลชน

ขอบคุณภาพจาก Thai News Pix

AUTHOR