ทันทีที่เห็นชื่อนิทรรศการ ‘ที่ต้องมาดูของจริง’ ของสตูดิโอสกรีนพรินต์อายุ 6 ปีอย่าง The Archivist เราก็ชื่นชมในใจให้ความกล้าทันที ก็จะมีใครอีกที่ตั้งชื่อนิทรรศการกันโต้งๆ ไปเลยว่าต้องมาดูของจริงเท่านั้น! โดยไม่มีคำอธิบายใดๆ ต่อเลย
ทว่าการตั้งชื่อแบบนี้กลับกลายเป็นข้อดีที่ทำให้เราเข้าไปหาข้อมูลต่อ จนรู้ว่านี่คือนิทรรศการครั้งล่าสุดของสองสาว มิน–มิญชญา ชโยสัมฤทธิ์ และ วุ้น–คณาพร ผาสุข แห่งสตูดิโอสกรีนพรินต์ The Archivist ที่เล่าวิธีการทำงานผ่านภาพพิมพ์ด้วยมือ 12 ชิ้น และภาพที่เกิดจากการลองผิดลองถูกอีกนับไม่ถ้วน ประกอบคำอธิบายกระบวนการคิดผลงานและลงมือทำแบบละเอียดยิบ จนใครที่หลงรักภาพพิมพ์มาเห็นต้องปลาบปลื้ม
“สำคัญที่สุดสำหรับนิทรรศการที่ต้องมาดูของจริง คือการที่ต้องมาดูของจริงเท่านั้น เพราะทุกชิ้นงานถูกพิมพ์ด้วยประสาทสัมผัสของมนุษย์ ทุกขั้นตอนกระบวนการทำงานคือการพูดความจริงของช่างพิมพ์ผ่านภาพทั้งโชว์ จึงต้องมาดูของจริงด้วยตา สัมผัสทุกอย่างด้วยมือเท่านั้น ถึงจะพบกับบางสิ่งบางอย่างที่ต้องมาค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง” คำอธิบายนิทรรศการบอกเราไว้อย่างนั้น
เพราะอย่างนี้ วันนี้ เราจึงมานั่งคุยกับมินและวุ้น ดูงานด้วยตา สัมผัสด้วยมือ และทำความเข้าใจงานจริงๆ กันเสียเลย
The Archivist ทำอะไรกันจริงๆ
วุ้น : จุดเริ่มต้นมันเกิดขึ้นการจากการที่เราทำทั้งงานสกรีนพรินต์ของตัวเองขายในเว็บไซต์ ร่วมงานกับศิลปิน รับจ้างพิมพ์ และจัดเวิร์กช็อป แต่ก็ยังมีคนถามว่า The Archivist ทำอะไร และทำงานประเภทไหนได้บ้าง เราก็เลยคิดจะทำโชว์นี้เพื่อแสดงวิธีคิดและระบบการพิมพ์ของเรา
มิน : ทุกวันนี้ที่เราพิมพ์งาน เรามักเจอคำถามว่าพิมพ์เทคนิคแบบนี้ได้ไหม หรือทำไมพิมพ์แล้วถึงมีปัญหา โชว์นี้ก็เลยเป็นเหมือนการพยายามหาคำตอบของเรื่องที่เราสงสัยและคนอื่นอาจจะเคยสงสัย ปกติเราก็ทดลองพิมพ์อย่างเร็วๆ ในเศษกระดาษอยู่แล้ว งานนี้เราแค่ทำออกมาเป็นชาร์ตทดสอบการพิมพ์ในรูปแบบที่เรียบร้อยขึ้น
วุ้น : พอเริ่มจากไอเดียนี้ เราก็คิดว่าเราจะทำสิ่งที่เราทำเป็นปกติในหนึ่งเดือนนี่แหละ คือการทดลองพิมพ์ เพราะปกติเราต้องเทสต์งานอยู่แล้ว แต่ให้ลูกค้าดูคนเดียวแล้วจบไป แต่งานนี้เราจะเทสต์ให้คนมาดูโชว์ได้เห็น
ความสนุกของงานพิมพ์คือมันมีดีเทลเยอะมากเลย ทีนี้พี่มินเป็นคนเนิร์ดมากและมีวิธีคิด วิธีศึกษางานพิมพ์ที่น่าสนใจมาก สิ่งที่เราทำไม่มีร้านสกรีนที่ไหนอธิบายลูกค้า แม้กระทั่งเราไปซื้อของ เรายังรู้สึกว่าเขาไม่เคยให้ความรู้เราจริงๆ เลย มันยากมากที่ใครจะเอามาบอกกัน หรือความรู้พวกนี้มันจะอยู่ในตำราที่อ่านยาก ทุกอย่างเป็นตัวเลข โชคดีที่พี่มินเรียนสายวิทย์มาและเป็นดีไซเนอร์ด้วย ก็เลยย่อยข้อมูลพวกนี้ออกมาเป็นชาร์ต
ที่ต้องเนิร์ดจริงๆ
“มันเนิร์ดน่ะงานนี้” วุ้นออกตัวเมื่อเราเริ่มดูชาร์ตทดสอบการพิมพ์แบบต่างๆ กัน
แต่เอาเข้าจริง คำว่าชาร์ตทดสอบการพิมพ์ที่ดูเหมือนเต็มไปด้วยตัวเลขและศัพท์เทคนิคยุ่บยั่บ เมื่อเจอวิธีคิดแบบดีไซเนอร์ของมิน ชาร์ตเหล่านี้จึงมีหน้าตาเป็นภาพกราฟิกสวยงามที่เล่าเรื่องเทคนิคการพิมพ์อย่างน่าเพลิดเพลิน สองสาวเล่าให้เราฟังว่าหลายงานเริ่มต้นจากคำถามของพวกเธอว่างานพิมพ์ทำแบบนั้นแบบนี้ได้ไหม แต่หลายงานก็เริ่มจากคำถามที่เคยมีคนอื่นสงสัยเช่นกัน
Counting Dominoes
มิน : ในการพิมพ์จะมีเทคนิคที่เรียกว่า stack คือเอาหมึกพิมพ์ตำแหน่งเดิมซ้อนไปเรื่อยๆ เช่น ตามเสื้อกีฬาที่เขาอยากให้มันนูนๆ
งานนี้ แนวคิดคือเราจะพิมพ์สีทับกันให้ดูว่าการทับจำนวนต่างกันให้ผลลัพธ์ต่างกันยังไง เราก็คิดว่าจะทำยังไงให้คนรู้ว่าชิ้นนี้ทับกี่ครั้ง ตอนแรกเราคิดเป็นตัวเลขแต่รู้สึกว่ามันตรงไป ก็เลยนึกถึงโดมิโน่ที่มีสองช่อง มีจุด ซึ่งจะบอกถึงจำนวนครั้งที่เราพิมพ์ซ้อนกัน
วุ้น : เช่น ช่องบน หมายถึงจำนวนครั้งที่หมึกสีดำผ่านบล็อก เพราะฉะนั้นถ้ามี 6 จุดก็แปลว่าตรงนี้หมึกดำผ่าน 6 ครั้ง ซึ่งถ้าเรายกภาพมาดูแนวตั้งก็จะเห็นแสงเงาว่าสีก็จะนูนขึ้นมานิดหนึ่ง
Charcoal Grey, stochastic & halftone
มิน : งานนี้เป็นเรื่องของเม็ด halftone (เม็ดสกรีนที่ดูเป็นจุดๆ) เราจะเขียนไว้ว่าอันนี้ใช้ halftone หมุนองศาไหน ใช้เม็ด halftone ชนิดใด มองไกลๆ เห็นเป็นรูปซ้ำๆ กัน แต่พอมองใกล้ๆ จะเห็นดีเทลว่าเราเลือกพิมพ์เม็ด halftone แต่ละภาพไม่เหมือนกัน หรือบางอันใช้ halftone เหมือนกันแต่หมุนคนละองศา
Trapping Chart
มิน : งานนี้เป็นเรื่องของการ trap สมมติเราจะพิมพ์รูปวงกลมในสี่เหลี่ยม เราต้องทำเชปทั้งสองแยกเลเยอร์กัน พวกงานกล่อง ลัง โบราณเขาจะพิมพ์แบบนี้ ซึ่งเวลาพิมพ์สองเชป เราไม่สามารถทำเชปสองเชปให้ลงล็อกเป๊ะๆ ได้ ต้องเผื่อขนาดสักเชปให้มันใหญ่ขึ้น เรียกว่าการ trap เราก็เลยทดสอบว่าถ้าเผื่อไว้ใหญ่ขึ้นมาทีละ 0.25 point ระยะไหนคือระยะปลอดภัยที่ควร trap ทำแบบไหนที่จะซ้อนกันเยอะไป
Pushing Blue, Pulling Red
มิน : งานนี้เกิดจากคำถามเวลาเราพิมพ์งานนั่นแหละว่าเวลาพิมพ์สองชั้นทับกันทีไร พิมพ์ยังไงก็เหลื่อมกัน เราเลยทดสอบวิธีการพิมพ์แบบต่างๆ ให้เหลื่อมกันน้อยที่สุด เช่น พิมพ์ด้วยทิศเดียวกัน หรือลองพิมพ์ทิศเดียวกันแต่ว่าไปเริ่มคนละจุด หรือลองใช้ไม้ปาดคนละไซส์กัน แคบ กว้าง ก็มีส่วน พอทำแล้วเหลื่อมน้อยเราก็กลับมาทดสอบใหม่ ซึ่งมันก็มีบางแผ่นที่ไม่ตรงอีกเพราะว่าใส่กระดาษไม่ตรง มีหลายตัวแปรมาก เราก็พยายามทดสอบสิ่งที่เราสงสัยให้ครอบคลุม
Neon and Silver
มิน : ชิ้นนี้เราทดสอบเอฟเฟกต์ของสีที่มีต่อกันและกัน บางช่วงของภาพเราอาจรู้สึกว่าวัตถุนี้ใส บางช่วงมุมของภาพอาจทำให้รู้สึกว่าวัตถุนี้ทึบ เป็นการเทสต์ในมุมของดีไซเนอร์
ที่ต้องทำพลาดจริงๆ
ในขณะที่ชาร์ตทดสอบการพิมพ์ของมินและวุ้นใส่กรอบไว้อย่างดี ตรงกันข้าม อีกฟากของกำแพงกลับเต็มไปด้วยกระดาษแปะซ้อนกันบ้าง เหลื่อมกันบ้าง และมีคำอธิบายแปะอยู่เป็นระยะ
วุ้นอธิบายให้เราฟังว่าโซนนี้คือโซนงานที่พวกเธอทำพลาดนั่นเอง
มิน : เราว่าทุกงานที่เราเอามาโชว์มันพลาดหมดนะ แต่ว่าพลาดในเปอร์เซ็นต์ที่เราเห็นมั้ย คนอื่นเห็นมั้ย หรือคนอื่นอาจจะไม่เห็นแต่เราเห็น และก็มีหลายภาพที่เราทำเทสต์แล้วเราก็ยังไม่ได้คำตอบนะ คือมันเป็นเรื่องไสยศาสตร์ (หัวเราะ)
ถึงอย่างนั้นเราก็รู้สึกว่า นี่แหละ เป็นงานที่เราคอนโทรลเองมากที่สุด เมื่อก่อนเราเป็นดีไซเนอร์ ทำสตูดิโอนี้เพราะจะได้คอนโทรลทุกอย่าง ดีไม่ดีมันก็อยู่ที่เราเลือก
วุ้น : งานสกรีนมันสนุกมากเลย เพราะเวลาพิมพ์มันออกมาไม่เหมือนในคอมพ์เลยแต่สวยกว่าเยอะ บทสนทนาประจำที่เราคุยกันคือ เฮ้ย! มันไม่เหมือนในคอมพ์เลยว่ะ ใช้สีแบบนี้บนสีนี้ ทำไมออกมาไม่เหมือนภาพในหัว เพราะฉะนั้นการทำงานของเรามี error แน่นอน จึงต้องเทสต์ก่อนทุกครั้ง ความสนุกของงานนี้คือเราโชว์งานที่เราคิดว่าดีไว้ที่กำแพงหนึ่ง แต่อีกกำแพงหนึ่งคืองาน error หรือตัวเทสต์ ซึ่งบางคนอาจจะคิดว่าสวยก็ได้
เราตั้งใจคิดชื่อนิทรรศการ ‘ที่ต้องมาดูของจริง’ มากๆ เพราะเป็นงานโชว์เทคนิคการพิมพ์ ถ้าไม่มาดูของจริง ถ่ายภาพไปยังไงก็จะไม่เห็นดีเทลเลย เพราะฉะนั้นยังไงก็ต้องมาดู มาใช้เวลา เราคาดหวังให้คนใช้เวลากับแต่ละภาพ ดูให้เข้าใจ วนกลับมาดูอีกกำแพงหนึ่งที่เป็น error แล้ววนกลับไปดูอีกกำแพงหนึ่ง มันจะเซอร์ไพรส์เพราะสายตาเราถูกปรับให้เปรียบเทียบระหว่างงานไปแล้ว เพราะฉะนั้นนิทรรศการ ที่ต้องมาดูของจริงน่ะ มันเลยต้องมาดูของจริง (หัวเราะ)
ที่ไม่ต้องเป็นคองานพิมพ์ตัวจริง
เพราะ ‘ที่ต้องมาดูของจริง’ พูดเรื่องเทคนิคการพิมพ์อย่างจริงจัง เราจึงอดถามไม่ได้ว่าเราควรมีพื้นฐานงานพิมพ์ขนาดไหนถึงจะมาดูแล้วรู้เรื่อง
มิน : เราว่ามันอาจเหมาะกับคนที่ไม่มีความรู้มากกว่าด้วยนะ เพราะว่าทุกชาร์ตเหมือนเป็นการเปรียบเทียบเทคนิคให้ดูชัดๆ เลย
วุ้น : สำหรับเรา เรามองด้วยความไม่รู้ ปกติพี่มินจะเป็นคนออกแบบ เราเป็นคนพิมพ์ แต่งานนี้เราแทบไม่ได้พิมพ์เลยเพราะว่าเราพิมพ์ไม่ได้ มันยากเพราะว่าพี่มินไม่ยอมบอกหรืออธิบายไม่ได้ เราได้แต่ดูและเก็บบันทึก ได้แต่ถามว่าอันนี้คืออะไร อันนี้คือยังไง อันนี้ต้องทำแบบไหน เพราะฉะนั้นเราก็บันทึกในมุมคนที่ไม่เข้าใจ บางภาพเราก็เพิ่งมา อ๋อ เข้าใจแล้วทีหลัง
ส่วนหนึ่งงานนี้เราก็ทำให้ทุกคนที่อยากทำงานสกรีนดูแหละ แต่คนที่ไม่ได้สนใจงานสกรีนแต่ว่าซื้องานกับเรา เขาจะกลับไปดูงานสกรีนเพื่อเป็นความรู้ก็สนุกเหมือนกัน หรือไม่เขาจะไปซื้อที่อื่นก็ได้ มันก็จะทำให้เขาดูงานพิมพ์แฮนด์พรินต์ได้สนุกขึ้น
นิทรรศการ ที่ต้องมาดูของจริง จัดระหว่างวันที่ 14 ธันวาคม 2561 – 30 มกราคม 2562 เวลา 14:00-19:00 น. ที่ GOOSE LIFE SPACE (ปิดวันจันทร์)