ปีนี้สอนให้รู้ว่า “ถ้าทำดีที่สุดแล้ว อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด” – ผศ. ปวิตร แห่ง BACC

Highlights

  • ปัจจุบันปัญหาของหอศิลป์ยังไม่จบ ปัญหาสัญญาของหอศิลป์ยังไม่ได้รับการแก้ไข งบประมาณปี 2562 และ 2563 ยังไม่ถูกเบิกจ่ายและคณะกรรมการสรรหายังไม่ได้รับการแต่งตั้ง
  • ครูป้อมเล่าให้เราฟังว่า หอศิลป์กำลังเดินหน้าไปสู่ทิศทางที่งานศิลปะจะไปในทางเดียวกันและหลากหลาย นั่นเองจึงเป็นเหตุผลที่เขาเห็นว่าทำไมตัวเองได้รับเลือกให้เป็นผู้อำนวยการ
  • สิ่งที่ทำให้ทีมงานมีกำลังใจทำงานอยู่ได้ทุกวันนี้คือกำลังใจจากคนรุ่นใหม่ที่จะเติบโตไปปกป้องหอศิลป์ที่พวกเขารัก

ถ้าเปรียบสิ่งที่เกิดขึ้นกับหอศิลปกรุงเทพฯ ตลอดปีที่ผ่านมาเป็นละครหนึ่งเรื่อง ละครเรื่องนี้พาคนดูอย่างเราขึ้นลงราวกับรถไฟเหาะตีลังกา

เกริ่นบทนำต้นปีด้วยความชื่นมื่นจากข่าวการมาถึงของผู้อำนวยการหอศิลป์คนใหม่

เดือนพฤษภาคม เกิดดราม่าแรก – ผู้ว่าฯ กทม. นึกครึ้มใจอยากจะเอาหอศิลป์คืนไปทำเป็นโคเวิร์กกิ้งสเปซ ผลที่ตามมาคือประชาชนต่างลุกฮือขึ้นมาปกป้อง จนสุดท้ายเรื่องก็เงียบ

เดือนกันยายน เกิดดราม่าที่สอง – หอศิลป์แถลงข่าวว่ากำลังจะโดนตัดน้ำตัดไฟเพราะไม่ได้รับอนุมัติงบประมาณประจำปีจาก กทม. สื่อและประชาชนลุกขึ้นมาอีกครั้งพร้อมกระแส #saveYOURbacc สุดท้ายทาง กทม.ต้องยอมออกมาช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและเรื่องก็เงียบไปอีกครั้ง

เงียบ – จนเหมือนจะจบบริบูรณ์

bacc

ถ้าเปรียบสิ่งที่เกิดขึ้นกับหอศิลปกรุงเทพฯ ตลอดปีที่ผ่านมาเป็นละครหนึ่งเรื่อง ครูป้อม–ผศ. ปวิตร มหาสารินันทน์ คงเป็นเหมือนตัวละครหลัก

ครูป้อมเริ่มต้นปีในฐานะอาจารย์ประจำภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนเข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการหอศิลปกรุงเทพฯ เมื่อเดือนมีนาคมพร้อมเสียงจากหลายๆ ฝ่ายที่สนับสนุนว่าเหมาะสมแล้ว แต่ไม่ทันไร ดราม่าทั้งหมดที่กล่าวมาก็เกิดขึ้น

ละครที่มีชื่อว่าหอศิลป์มีเรื่องให้พูดถึงแทบทุกเดือน ครูป้อมออกสื่อแทบจะทั้งปีเพราะมีเรื่องปวดหัวให้แก้อยู่เรื่อยไป ไม่ว่าจะเป็นการออกมาแถลงข่าวหรือการไปพบปะพูดคุยกับสภา กทม. เราเห็นเขาสู้งานหนักโดยที่เราอาจจะลืมไปแล้วว่า นี่เขาเพิ่งจะอยู่ในตำแหน่งมาแค่ 9 เดือนเท่านั้นเอง

“มีอะไรหลายอย่างที่เราควบคุมไม่ได้” ครูป้อมบอกเราในช่วงหนึ่งของการสนทนา ถึงแม้ตอนนี้ปัญหาต่างๆ จะเงียบไปจนเหมือนจะจบบริบูรณ์ แต่ดูจากความเหนื่อยล้าของชายหนุ่มผมยาวเครางามตรงหน้า มันเป็นเครื่องยืนยันอย่างดีว่าละครเรื่องนี้ยังไม่อวสานและปีที่แสนหนักหน่วงนี้ยังไม่จบง่ายๆ

แล้วปีนี้สอนให้ครูป้อมรู้ว่าอะไรบ้าง

ไปฟังเลกเชอร์จากปากเขาเองเลยดีกว่า

[[ (Spoiler Alert) นี่ไม่ใช่ละครที่ feel good และมีตอนจบแบบ happy ending หรอกนะ ]]

bacc

สถานการณ์หอศิลป์ตอนนี้เป็นยังไงบ้าง ตอนนี้หายเหนื่อยหรือยัง

ยังเลยครับ ทุกวันนี้ผมยังตามอยู่ 4 เรื่อง

เรื่องแรกคือสัญญาที่สภา กทม.บอกว่า จะแก้ตั้งแต่ปีที่แล้วแต่ตอนนี้ก็ยังไม่ได้แก้

เรื่องที่สองคืองบประมาณปี 2562 คือตั้งแต่ตุลาคม 2561-กันยายน 2562 ตอนนี้ผ่านมา 3 เดือนแล้วก็ยังไม่มีความคืบหน้าอะไร

เรื่องที่สามคืองบประมาณปี 2563 เราส่งไปตามกำหนดแต่ตอนนี้ก็ไม่รู้ถึงไหนแล้ว

เรื่องที่สี่มีความคืบหน้านิดหน่อยคือเรื่องกรรมการมูลนิธิหอศิลป์ ที่ตอนนี้มีกรรมการสรรหาชุดใหม่แล้วหลังจากเว้นว่างไป 10 เดือน

เนี่ยครับ ก็ตาม 4 เรื่องนี้อยู่ตลอด ตามอยู่ทุกวัน แต่บางทีก็อยู่นอกเหนือจากสิ่งที่เราทำได้

ไม่หงุดหงิดเหรอ

ปกติผมใจร้อนมากนะครับ (หัวเราะ) แต่พอมาอยู่ตรงนี้มันทำให้ผมใจเย็นขึ้นเยอะ อย่างแรกเลยคือผมมีพนักงานประจำสี่สิบกว่าคนที่ต้องรับผิดชอบ รวมฟรีแลนซ์ รปภ. แม่บ้าน และผู้ประกอบการร้านค้าก็ประมาณ 150 คน ดังนั้นผมต้องสร้างบรรยากาศให้มันเป็นไปในเชิงบวกและเฟรนด์ลี่ไว้ก่อน ทำหน้าที่ตรงนี้ให้ดีและชัดเจนที่สุด

bacc

คุณมีวิธีจัดการกับแต่ละปัญหายังไง

ผมมองว่าทุกปัญหาเป็นเรื่องของความท้าทายนะครับ จริงๆ แล้วตอนนี้เป็นจังหวะที่ดีด้วยซ้ำที่เราจะได้ทบทวนสิ่งที่ทำมาว่ามันอยู่รอดได้จริงๆ หรือเปล่า

ตอนนี้คนที่เข้ามาในหอศิลป์ ทุกคนอาจจะคิดว่ามันเรียบร้อยแล้ว งานยังเยอะเหมือนปกติ มีกิจกรรมไม่ขาด เรายังทำให้คนที่เข้ามารู้สึกว่าเขาได้อะไรกลับไปและสามารถอยู่นานเท่าไหร่ก็ได้ สำหรับผมคำว่า ‘เป็นมิตร’ สำคัญ เพราะคำว่าศิลปะและวัฒนธรรมดูเป็นคำที่ไม่เป็นมิตรเท่าไหร่ ผมอยากให้หอศิลป์เป็นมิตรเพราะมันมีไม่กี่ที่ที่คุณจะดูหนัง ดูละคร ดูงานทัศนศิลป์ มีฟรี Wi-Fi ซื้อของคราฟต์ ซื้อของ eco friendly และไปกินไอติมรูปทุเรียนได้ในตึกเดียวกัน ทั้งหมดนี้ยังดำเนินการต่อเนื่อง ซึ่งผมต้องยกประโยชน์ให้ทีมงานผมเลย

คุณนำทีมต่อสู้กับปัญหายังไง เพราะถ้าว่ากันตามตรง ฝั่งตรงข้ามก็เป็นอะไรที่ชนะยาก

ผมไม่ได้มองว่ามันเป็นการต่อสู้นะครับ มันเหมือนเป็นการพิสูจน์ตัวเองมากกว่าว่าทำไมรัฐบาลท้องถิ่นต้องสนับสนุนศิลปะด้วย ทำไมประชาชนต้องเห็นว่าหอศิลป์เป็นเรื่องจำเป็น

ในเรื่องของทีม จริงๆ แล้วปีที่ผ่านมามีคนลาออกเยอะเหมือนกันเพราะความไม่แน่นอน ตามหลักเขาต้องให้ลาออกไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ใช่ไหมครับถึงไม่กระทบกับงานโดยรวม แต่ผมเข้ามา 2 เดือนก็เกินแล้ว (หัวเราะ) เราเข้าใจเขานะครับ บางคนอายุไม่มากและเขามีทางอื่นที่ดีกว่า เราก็รั้งเขาไว้ไม่ได้ แต่คนที่อยู่มานานเขาก็ไม่ไปไหน อย่างผมมีสัญญาจ้าง 4 ปี แต่พวกเขายาวกว่านั้น เขาต้องเจอภาวะที่ไม่รู้ว่าปีหน้าจะมีเงินเดือนจ่ายหรือเปล่า มันสั่นคลอนพวกเขาอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แต่ผมว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือพนักงานที่นี่เขารักศิลปะและเสียสละจริงๆ อย่างเมื่อเช้าผมเพิ่งเข้าประชุม ผมบอกทุกคนว่าปีนี้ผมขอบคุณมากเลยนะ ปีนี้มันยากมากๆ เลย ไม่ใช่แค่ปัญหาที่เข้ามา แต่เราต้องเปลี่ยนวิธีการทำงาน จากที่เราชัดเจนว่าฝ่ายไหนทำอะไร แต่ปีนี้เราเชื่อมโยงทุกอย่างเข้าไว้ด้วยกัน ดังนั้นเราเปลี่ยนแปลงกันเยอะมากจริงๆ แต่เขาก็ยังมีกำลังใจอยู่

bacc

การทำงานของหอศิลป์ในปีนี้เปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

ก่อนหน้านี้หอศิลป์จะมีหลายส่วนที่กระจัดกระจายไปหลายๆ ด้านแต่ไม่ได้ไปทางเดียวกัน มันเป็นไปไม่ได้ที่คนเข้ามาหอศิลป์แล้วจะดูทุกอย่าง มันเหนื่อย สิ่งที่ผมอยากเห็นคือการที่คนสามารถมาดูงานหลายสาขาของศิลปะแต่เป็นเนื้อหาเดียวกันได้ในครั้งเดียว ปีนี้เราเลยพยายามสร้างงานที่เชื่อมโยงหลายด้านของความเป็นหอศิลป์ไว้ด้วยกัน

ในแง่ของคนดู เราอยากให้เขาสัมผัสศิลปะมากกว่าหนึ่งสาขาในแต่ละครั้งที่มา เขาจะได้รู้ว่ามันมีวิธีการพูดถึงประเด็นหนึ่งได้หลายสาขาในศิลปะ หรือสมมติคนที่ปกติดูแต่งานทัศนศิลป์ เขาอาจจะได้เห็นศิลปะการแสดงด้วย คนที่ปกติดูแต่การแสดง เขาก็จะได้ดูงานทัศนศิลป์ด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นพัฒนากลายเป็น interdisciplinary ที่ทำให้วงการศิลปะพัฒนาต่อ ยกตัวอย่างเช่นปีหน้า เรามีงานทัศนศิลป์เกี่ยวกับ LGBTQ+ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ชั้น 7-8 ช่วงนั้นจะมีทั้งการแสดง ทอล์ก สัมมนา forum และอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ บรรยากาศจะทำให้คนเกิดการคุยกัน เพราะสุดท้ายแล้ว หอศิลป์ถูกออกแบบมาเป็นแบบนั้น มันถูกออกแบบให้มาทำกิจกรรมได้มากกว่าหนึ่งอย่าง

ย้อนกลับไปวันแรกที่รับตำแหน่ง คุณรู้มาก่อนหรือเปล่าว่าจะเจอเรื่องราวมากมายขนาดนี้

คณะกรรมการสรรหาเขาเลือกผมตั้งแต่วันที่ 28 ธันวา ช่วงมกรากับกุมภา ผมเลยเหมือนทำงานสองที่ เช้ามาที่หอศิลป์ บ่ายไปสอนหนังสือ เรามาเจอฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ตลอดเวลา ตอนนั้นผมเลยได้รู้ว่าถ้าคณะกรรมการมองหอศิลป์เป็นแค่พิพิธภัณฑ์ เขาคงไม่เลือกผมเพราะจริงๆ แล้วผมไม่ได้มีพื้นฐานหรือประสบการณ์การทำงานในเชิงพิพิธภัณฑ์มาก่อน แต่ผมมีพื้นฐานเรื่องการทำ performing art management ซึ่งสิ่งที่คณะกรรมการพยายามอยากจะพัฒนาหอศิลป์ให้เป็น มันไปในทางเดียวกับผมและก็เป็นสิ่งที่เราพยายามทำกันมาตลอดปีนี้

ส่วนเรื่องดราม่าที่เกิดขึ้น มีคนชอบถามผมว่ารู้มาก่อนหรือเปล่าว่าจะมีปัญหา ตอนนั้นผมรู้ว่ามันจะไม่เหมือนเดิมนะ เขาก็บอกผมทุกอย่างว่างบประมาณยังไม่ได้เบิกจ่าย แต่ผมก็รู้แค่นั้น ผมไม่รู้ถึงขั้นที่ว่าอยู่ดีๆ ผู้ว่าฯ จะมีความคิดยึดกลับไปบริหารหรือเรื่องสัญญาที่ กทม.สนับสนุนเราไม่ได้

bacc

หนักเหมือนกันนะ

หนักแต่สนุกนะครับ (ตอบทันที) มีเรื่องตลกคือก่อนหน้านี้ที่ผมสอนหนังสือ ผมป่วยบ่อยมาก ไข้หวัดใหญ่ผมเป็นมาแล้วทุกสายพันธุ์เดือนเว้นเดือน แต่กลายเป็นว่าอยู่ที่นี่ไม่เป็นอะไรเลย ไม่มีคำว่าลาป่วย ปกติมาก อาจจะอย่างที่เขาบอกกันมั้งว่าศิลปะบำบัด (หัวเราะ) เหมือนอยู่ใกล้สิ่งที่เรารักน่ะครับ พอเราเครียด เราไปดูงานศิลปะ เราก็หาย

ไม่กระทบชีวิตส่วนตัวเหรอ

กระทบเยอะเหมือนกัน ทุกวันนี้กลับบ้านดึกแทบทุกวัน แต่ก็เพราะหลบรถติดด้วย การอยู่ที่นี่ทั้งวันก็ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกแย่น่ะครับเพราะเราไม่จำเป็นต้องไปที่ไหน ที่นี่มีทุกอย่างที่เรารัก รวมถึงกาแฟดริปและไอศครีม เราสามารถใช้ชีวิตและใช้ประโยชน์จากที่อยู่ตรงนี้ได้ตลอด

เอาจริงๆ งานตรงนี้มันเป็นงานบริการน่ะครับ เราอยู่ได้ด้วยภาษีประชาชน ดังนั้นเราก็ต้องเสียสละบริการประชาชน เขาเข้ามาต้องมีความสุข ได้แรงบันดาลใจ ได้ความรู้ นี่คือสิ่งที่ผมอยากให้เกิดขึ้น

เป็นงานบริการที่ใช้ตัวและใจสูงมากนะ

ใช่ๆ (หัวเราะ)

bacc

ผลตอบรับเป็นยังไงบ้าง

ผมยังไม่ได้เห็นตัวเลขของปีนี้นะครับ แต่ผมคิดว่าจำนวนกิจกรรมไม่ได้น้อยไปกว่าปีที่แล้ว ส่วนจำนวนคนดู ปีที่แล้วมีคนเข้ามาประมาณหนึ่งล้านเจ็ดแสนคน ปีนี้ประมาณหนึ่งล้านหกแสนคน ไม่ต่างกันมากแต่เราใช้งบประมาณน้อยลง ผมว่าผมก็ต้องพอใจนะ มันเป็นเพราะกระแสของหอศิลป์ด้วย คนก็มีความรู้สึกว่าไม่รู้หอศิลป์จะปิดเมื่อไหร่ ก็รีบมาเสียก่อน ซึ่งผมโอเค ถ้ามันเป็นเหตุผลให้คนมา เพราะเราก็อยากให้คนมาอยู่แล้ว ที่ผมบอกว่าวิธีการช่วยหอศิลป์คือการมาหอศิลป์ ผมหมายความอย่างนั้นจริงๆ เพราะที่นี่คือภาษีของพวกคุณน่ะครับ ดังนั้นมันเป็นสิทธิ์และสวัสดิการของประชาชนที่มาใช้บริการหอศิลป์

อะไรที่ทำให้ยังคงมีแรงทำงานหนักมาจนถึงขนาดนี้

จริงๆ แล้วแรงบันดาลใจมันมีมาเรื่อยๆ ครับ ผมสอนหนังสือมาหลายปี ลูกศิษย์ก็ชอบแวะมาบอกว่าอาจารย์สู้ๆ แค่นี้ก็เป็นกำลังใจให้เราได้มากแล้ว

มีอยู่วันหนึ่งที่ผมเดินขึ้นไปนิทรรศการและเจอกลุ่มนักศึกษาชายประมาณ 5-6 คนมาเที่ยวหอศิลป์กัน มันเป็นภาพที่ (นิ่งคิด) คือสมัยผมมันต้องเตะบอล กินเหล้า แต่นี่สองทุ่มนะเว้ย ไม่ไปเที่ยวไหนเหรอ แมนเหรอวะ (หัวเราะ) อะไรแบบนี้เป็นสิ่งที่บอกเราว่า เฮ้ย มึงต้องทำให้หอศิลป์อยู่ไปจนถึงยุคที่ไอ้เด็กพวกนี้ขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ในประเทศ แล้วเราจะไม่ต้องมาทะเลาะกันเลยว่าทำไมต้องสนับสนุนหอศิลป์ เพราะที่นี่เป็นที่แฮงเอาต์ของพวกกู มันสำคัญ เราไม่ต้องพูดกันเลยว่าทำไม หน้าที่ของเราแค่ทำยังไงก็ได้ให้หอศิลป์อยู่ไปถึงวันนั้น

bacc

ถ้าให้คุณมองย้อนกลับไป คุ้มไหมกับการตัดสินใจมาเป็น ผอ.หอศิลป์

คุ้มครับ (ตอบทันที) คุ้มมาก คุ้มทุกอย่าง

ผมได้ใช้ทุกอย่างที่ผมมี ทุกประสบการณ์ที่ผ่านมา การแก้ปัญหาทุกอย่าง การทำงานร่วมกับคนกลุ่มนี้ พนักงานประจำทุกคน แม่บ้าน รปภ. ฟรีแลนซ์ และผู้ประกอบการทุกคน การที่ได้ทำงานบริการให้ประชาชน เจอศิลปินใหม่ๆ ได้รู้จักคนที่เราไม่เคยคิดว่าจะได้คุยด้วย ได้ทำงานกับคนดูเป็นล้าน ทุกอย่างมันคุ้มมาก เหนื่อยนะ กลับบ้านหลับสนิททุกวันแต่คุ้มจริงๆ

กลัวไหมว่าทุกอย่างจะพังในมือเรา

เอาจริงๆ มันเป็นไปได้นะครับ ทุกอย่างเป็นไปได้ ด้วยสถานการณ์ ผลประโยชน์ หรือเรื่องการเมืองต่างๆ ผมว่าทุกอย่างมันเกิดขึ้นได้ แต่ถามว่าถ้าตอนนั้นทุกอย่างพังลงจริงๆ ผมล้มเหลวหรือเปล่า (นิ่งคิด) ผมว่าผมทำตอนนี้ให้ดีที่สุดดีกว่า มันมีอะไรหลายอย่างที่เราควบคุมไม่ได้ แต่ถ้าเราทำสิ่งที่ควบคุมได้ให้ดีที่สุดแล้วเนี่ย เราจะไม่เสียใจทีหลังแม้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด แต่แรงสนับสนุนจากทุกคนก็ทำให้ผมเชื่อนะครับ ไม่ใช่เพราะต้องเชื่อ แต่ผมเชื่อจริงๆ ว่ามันไม่มีทางล้มเหลว หอศิลป์ไม่มีทางจบง่ายๆ เพราะยังไงประชาชนต้องอยู่กับเรา ที่นี่เป็นหอศิลป์ของประชาชน มันถูกสร้างมาด้วยอุดมการณ์แบบนั้นและเราก็จะทำงานแบบนั้นเสมอ

bacc

[[ (Spoiler Alert) นี่ไม่ใช่ละครที่ feel good และมีตอนจบแบบ happy ending หรอกนะ ]]

ดูเหมือนบทเรียนที่สำคัญที่สุดในปีนี้คือการทำวันนี้ให้ดีที่สุดใช่หรือเปล่า

อันนั้นก็ใช่ครับ แต่ถ้ามองทั้งปีเนี่ย (นิ่งคิด) มันเป็นปีที่ท้าทายที่ทำให้ผมทำอะไรเยอะแยะในเรื่องของการงาน แต่ผมล้มเหลวในเรื่องส่วนตัวมากๆ

เอาง่ายๆ เลยคือเมื่อต้นปี ผมขอผู้หญิงคนนึงแต่งงาน แต่ปลายปีเขาถอนหมั้นผมแล้ว

เราเข้าใจกันนะครับ เรามีเวลาให้กันน้อยลง แต่ตอนนี้เราก็เป็นเพื่อนกันอยู่ ดังนั้นบทเรียนสำคัญที่สุดในปีนี้ของผมคงเป็นการบอกตัวเองว่า ชีวิตมันไม่ได้มีแต่งานนะเว้ย ต้องมีด้านอื่นด้วยมันถึงจะบาลานซ์กัน นี่คือบทเรียนของผมในปีนี้

แต่ก็นั่นแหละครับ เราก็ต้องลุยกันต่อไป

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!