พักสายตาเถอะนะคนดี จิบชาตรงนี้ ที่บริการชารูปแบบใหม่ Work Tea People

Highlights

  • Work Tea People คือ pop-up tea experience service ของ แป้ง–มัณฑนา เทียนชัยทัศน์ Strategic Planner สาวที่อยากให้ชาเป็นเครื่องมือในการช่วยให้คนได้พักผ่อนและเชื่อมกลุ่มคนเข้าด้วยกัน
  • เพราะแป้งเชื่อว่าการดื่มชานั้นขึ้นกับบรรยากาศ บริการ tea service ของเธอจึงออกแบบการเสิร์ฟชาให้เข้ากับมวลรวมของสถานที่ ผู้คน และศิลปะและดนตรีที่เธอเลือกสรร
  • ที่ผ่านมา Work Tea People เคยจัดกิจกรรมมาหลากหลาย เช่น No Pain Gain Tea On Weekend ที่ชวนคนมาอยู่กับตัวเองผ่านชา การดูฟุตเทจหนัง และดนตรีแจ๊ส

หลังไต่บันไดขึ้นไปยังชั้น 5 ของอาคารพาณิชย์ย่านสะพานควายได้สักพัก เราผลักประตูบานกระจกเข้าไปในบาร์แจ๊สสไตล์อเมริกันด้วยความกระหืดกระหอบ ณ ที่แห่งนั้น หญิงสาวใบหน้าเฉียบคมในเดรสสีดำนาม แป้ง–มัณฑนา เทียนชัยทัศน์ รอต้อนรับเราเพื่อพูดคุยถึง Work Tea People บริการชารูปแบบใหม่ของเธอที่เพิ่งก่อตั้งเมื่อปลายปี 2562

work tea people

“เดินขึ้นมาเหนื่อยๆ ดื่มชาก่อนไหมคะ” เธอเอ่ยทักทายเราพร้อมถ้วยชาขนาดจ้อยแล้วอธิบายต่อว่า “ตัวนี้คือชาไม่มีคาเฟอีนที่ดื่มได้ตลอดทั้งวัน ชาวตะวันตกชอบดื่มแก้แฮ้ง มีกลิ่นส้มและวานิลลาอ่อนๆ เพราะเป็นชาที่เบลนด์กับเปลือกส้ม ถ้าเสิร์ฟแบบเย็นจะมีเนื้อส้มผสมลงไปด้วย” ชาที่ไม่เพียงมีสีส้มแต่ยังหอมส้มอ่อนๆ ช่วยให้รู้สึกหายเหนื่อยขึ้นได้ไม่เบา

เราไม่ได้มาหาแป้งเพื่อชาแสนอร่อยถ้วยน้อยเท่านั้น แต่ยังเพื่อทำความรู้จักบริการชาที่ไม่เน้นเสิร์ฟชาพร้อมบรรยายสรรพคุณร้อยแปดพันเก้า แต่เน้นดีไซน์บรรยากาศของการดื่มชาเพื่อให้คนได้ ‘พัก’ และ ‘เชื่อมโยง’ กันผ่านดนตรี ศิลปะ และบรรยากาศมวลรวมของสถานที่

เราขอชาอีกถ้วยเพื่อรีเฟรชตัวเองก่อนเริ่มบทสนทนา “ดื่มแล้วเหมือนจุดพลุเลยใช่ไหม” เธอบอก แล้วหยิบแก้วเราไปเติมให้ตามคำขอ

work tea people

 

จักรวาลในร้านชา

ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ครอบครัวของแป้งเปิดร้านชา Tea Tales ที่เชียงใหม่ อันมีจุดเด่นคือการเป็นแหล่งรวมชากว่า 80 ประเภททั้งจากในและนอกประเทศให้เลือกสรร แป้งเล่าว่าร้านชาแห่งนั้นเป็นจุดเริ่มต้นการเรียนรู้จักรวาลชาของเธอ

“เราไม่รู้ว่าชอบชาจริงจังตอนไหน แต่ถ้าช่วงที่เห็นชัดที่สุดน่าจะเป็นตอนที่เพิ่งทำงานเอเจนซีโฆษณาแล้วรู้สึกเหนื่อยและล้นจนไม่รู้ว่าตัวเองเป็นอะไร รู้แค่อยากกดปุ่มหยุดและถีบตัวเองออกจากชีวิตเดิมๆ เราเลยหนีไปเก็บตัวที่ร้าน ก่อนหน้านั้นเวลาปวดหัวเราจะกินยา แต่พอไปอยู่ที่ร้าน คุณแม่จะคอยบอกว่ากินชาตัวนี้สิ มันไม่มีคาเฟอีน หรือดื่มชาอู่หลงตัวนี้สิเพราะมันช่วยร่างกายแบบนี้ๆ การกินชาแทนยากลายเป็นชีวิตประจำวันของเรา” 

แป้งเล่าต่อว่าการหลีกหนีความวุ่นวายครั้งนั้นทำให้เธอเริ่มเข้าสู่จักรวาลชาระดับเบื้องต้น นั่นคือได้เรียนรู้วัฒนธรรมการดื่มชาที่ไม่คุ้นเคยมาก่อน สรรพคุณของชา ระยะเวลาการชงชาที่เหมาะสม และอุปกรณ์ที่ถูกต้องในการชงชาแต่ละชนิด

“เราได้รู้ว่าสภาพแวดล้อมที่ต่างกันเพียงนิดเดียวสามารถเปลี่ยนใบชาที่เก็บมาจากต้นเดียวกันให้เป็นชาประเภทที่ต่างกันได้ เช่น ถ้าเราคั่วยอดชาเขียวด้วยเวลาไม่นานจะเรียกว่าเซ็นฉะที่กินง่ายๆ แต่ถ้าคั่วไหม้หน่อยจะกลายเป็นชาชื่อโฮจิฉะ เราเลยชอบชาเพราะมันละเอียดอ่อนมาก” นอกจากความละเอียดที่ว่า แป้งยังตกหลุมรักชาในฐานะเครื่องดื่มที่เข้าได้กับหลายบรรยากาศและวัตถุดิบ เธอยกตัวอย่าง Tea Tales ของที่บ้าน ว่าตอนกลางวันที่นี่คือ Tea Bar ที่เน้นเสิร์ฟเครื่องดื่มชา แต่เมื่อตกกลางคืนจะแปลงโฉมเป็น Wine and Wisky Bar ที่เน้นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่เธอก็ไม่วายนำชาดำไปเบลนด์จนเข้ากัน 

นอกจากบทเรียนเรื่องชาระดับเบื้องต้น Tea Tales ยังสอนให้แป้งเรียนรู้การจัดการความหลากหลายของผู้คน ทั้งลูกค้าและคู่ค้าสารพัดชาติที่แวะเวียนมาเที่ยวท่องเมืองหลวงแห่งล้านนา “ร้านชาเป็นจุดรวมทั้งลูกค้าต่างชาติและคู่ค้าชาที่มาติดต่อ แต่ละคนมาจากหลากหลายที่ เราจึงได้เห็นว่าคนตะวันตกชอบชาแบบนี้ คนจีนชอบชาอีกแบบหนึ่ง ทำให้เราเรียนรู้การจัดการความหลากหลายซึ่งเป็นสิ่งที่ส่งต่อมาถึง Work Tea People ด้วย”

ความผ่อนคลายจากการดื่มชา ความละเอียดอ่อน และความลื่นไหลของชาที่เข้าได้กับทุกบรรยากาศ ค่อยๆ หลอมรวมจนเป็นหลุมรักที่ทำให้เธอตกลงไปว่ายวนในจักรวาลชาอย่างช่วยไม่ได้ ประกอบกับวิชาการจัดการกับความหลากหลายดังกล่าวทำให้แป้งเกิดไอเดียเล็กๆ ที่ค่อยๆ ต่อยอดเป็นบริการชาในแบบปัจจุบัน

 

แตกยอดต้นชา

จากดื่มชาคนเดียว กลายเป็นว่าความอินทำให้แป้งเริ่มนำชาไปเป็นของฝากให้เพื่อนพ้องน้องพี่ที่กรุงเทพฯ ขยายไปถึงลูกค้าที่แป้งเป็นที่ปรึกษา แต่การเลือกชาไปเป็นของฝากแต่ละครั้งเธอไม่ได้เลือกจากสรรพคุณของชาตัวนั้นๆ แต่เลือกจากเพลงที่เพื่อนชอบ ไลฟ์สไตล์ของคนคนนั้น กระทั่งลักษณะการทำงานของแต่ละกลุ่มคน

“เราไม่ได้หยิบเอาสิ่งที่ที่บ้านทำมาขายแบบตรงๆ แต่เอามาเบลนด์กับโลกของเราโดยไม่ต้องคำนึงถึงพิธีการกิน แค่ให้เขาได้ใช้เวลากับชาก็พอ เช่น เพื่อนชอบฟังเพลงของ The Beatles เราก็คิดว่าชาแบบไหนเข้ากับเขา หรือชาแบบไหนที่เหมาะสำหรับลูกค้าแต่ละคนซึ่งมีสไตล์การทำงานที่แตกต่างกัน ที่น่าสนใจคือเวลาเอาชาไปฝากผู้ใหญ่เขาจะชวนเราคุยเรื่องชา ทำให้เราทำงานง่ายขึ้น เหมือนเป็นจุดที่เราได้พูดคุยกันเพื่อไปต่อ มันยิ่งทำให้เรามองว่าการเติมเต็มการทำงานไม่จำเป็นต้องดันทุรัง ต้องไปต่อเร็วๆ เราคิดว่ามันควรจะหยุด แล้วทำใจให้ช้าๆ” 

จุดนี้เองที่แป้งคิดอยากเสิร์ฟชาในบรรยากาศใหม่ๆ ที่ไม่ใช่การดื่มชาเพียวๆ เพื่อสรรพคุณทางกายในบรรยากาศสงบเงียบ แต่เป็นการดื่มชากับอะไรก็ได้แม้กระทั่งเพลงร็อก หากมันจะช่วยสร้างบรรยากาศให้ผู้ดื่มกลับมาอยู่กับตัวเองหรือเชื่อมโยงกับคนข้างกายอีกครั้ง

 

ชาที่เวิร์กของ Work Tea People

หลังสนทนาถึงแนวคิดเบื้องต้นของแป้งได้สักพัก เธอหันมาหยิบจับขวดชาตรงหน้าที่เธอตั้งใจออกแบบ ชาเหล่านี้เป็นชาที่แป้งเสิร์ฟในอีเวนต์และขายให้ลูกค้าที่สนใจ และเพราะจุดเริ่มต้นของ Work Tea People เกิดจากการที่เจ้าของแบรนด์ใช้ชาเป็นเครื่องมือหนีความวุ่นวายจากการงาน ชาของเธอจึงเเบ่งเป็น 4 ชนิดตามโมเมนต์การทำงาน ในแต่ละชนิดก็มีชารสชาติหลากหลายขึ้นอยู่กับผลผลิตในแต่ละฤดู

“ชาประเภทแรกคือ Inspire In-a-cup เหมาะกับคนที่อยากได้สมาธิหรือรีบูตตัวเองเมื่อต้องไปประชุม ชาที่อยู่ในกลุ่มนี้ เช่น ชาดำ ชาแดง หรือชาซีลอนเข้มๆ ช่วยเรื่องการไหลเวียนของเลือด กระตุ้นให้เรารู้สึกตื่น มีสมาธิ และได้ล้างปากไปในตัว แต่ยังสามารถควบคุมตัวเองได้ต่างจากกาแฟที่จะรู้สึกตื่นจนควบคุมตัวเองไม่ได้ในบางครั้ง” แป้งอธิบายไปพร้อมเปิดขวดแก้วใบจิ๋วให้เราสูดกลิ่น

“ประเภทที่สองคือ My Sanctuary สื่อถึงช่วงเวลาที่แต่ละคนต้องการดูแลตัวเองด้วยความรักอันบริสุทธิ์ ชาประเภทนี้จึงละมุนละไม เช่น ชาเขียว ชามะลิ”

“ประเภทที่สามชื่อว่า Be Blissful เป็นชาที่เกิดจากการนึกถึงการหลีกหนีความวุ่นวายไปผจญภัยในความฝัน ชากลุ่มนี้จึงมีกลิ่นรสแนวดอกไม้หรือผลไม้ ดื่มแล้วรู้สึกสดชื่น”

“ประเภทสุดท้ายคือ The Unexpected หรือชาที่เราคิดว่าน่าจะหาดื่มยาก สำหรับคนที่รู้สึกว่าอยากได้ความพิเศษเหมือนจุดพลุ เช่น ชาส้มที่เราให้ดื่มในตอนแรก หรือ Masala Chai Tea ที่หากคนที่เคยดื่มชาเครื่องเทศที่อินเดียแล้วรู้สึกว่าแสบเผ็ดเกินไป สูตรของเราจะปรับให้ดื่มง่ายขึ้น” เธออธิบายให้เราฟังแล้วขอเวลาไปทำชา Masala ที่เล่าให้ลองชิม

ไม่นานแป้งก็กลับมาพร้อมชาแบบเย็นแต่งหน้าด้วยอบเชยผ่าซีกและผงมาซาล่าด้านบน สารภาพว่าตอนแรกเราเกรงว่าจะต้องปรับลิ้นให้ชินกับเครื่องเทศอินเดียที่ไม่คุ้นเคย แต่เมื่อได้ลองดื่มก็กลายเป็นว่าชอบเสียอย่างนั้น เพราะผงมาซาล่าที่โรยมาเข้ากันได้ดีกับชาเครื่องเทศสุดๆ

 

ก่อร่างสร้างยอด

“เราอยากให้ชาเป็นเครื่องมือเชื่อมคนใน 2 ระดับ ระดับแรกคือเชื่อมโยงคนกลับมาอยู่กับตัวเอง ระดับสองคือเชื่อมโยงคนให้เข้าใจกัน โดยเอาชาไปผสมกลมกลืนกับวัฒนธรรมของแต่ละชุมชนหรือพื้นที่ด้วยการจัดนิทรรศการหรือกิจกรรม” 

จากการแบ่งชาออกเป็น 4 ประเภทผสมผสานกับแนวคิดดังกล่าว แป้งจึงผุดไอเดียบริการชาขึ้นในชื่อ Work Tea People

คำว่า work หมายความถึงผลงานหรือกิจกรรมที่แป้งทำร่วมกับศิลปินคนอื่น tea คือบริการชาที่เชื่อมโยงงานเหล่านั้นให้เข้ากับผู้คนหรือ people ที่ทั้งแป้งและเพื่อนร่วมโปรเจกต์ต้องการสื่อสารด้วย 

เมื่อนำ 3 คำมารวมกันจึงเกิดเป็น pop-up tea experience service จัดกิจกรรมที่มีชาเป็นตัวหลัก ผสมกับดนตรีหรือศิลปะ ผันแปรไปตามคอนเซปต์ของกิจกรรม กลุ่มผู้เข้าร่วม หรือแม้แต่บรรยากาศของสถานที่จัดงาน

หากยังนึกภาพไม่ออก แป้งลองยกตัวอย่างงานที่เคยทำให้เราฟังสั้นๆ 

 

HiTea Ceremony

โปรเจกต์ร่วมมือกับ Tea Master ชาวญี่ปุ่นจัดพิธีชงชาที่คนรุ่นใหม่เข้าถึงได้ ณ The Shophouse 1527 บริเวณสามย่านอันเป็นพื้นที่เก่าแก่เหมาะแก่การจัดกิจกรรมที่ผูกโยงกับความดั้งเดิม

“เรามีเพื่อนเป็นเชฟอาหารมังสวิรัติ เป็นดีเจใต้ดินที่ใส่รองเท้าสีชมพู กางเกงขาสั้น แต่มีงานหลักเป็น Tea Master เขาทำให้เราคิดว่าคนทำชาไม่จำเป็นต้องมีวิถีสโลว์ไลฟ์แต่เป็นคนที่แค่อยากหยุดชีวิตด้านหนึ่งเพื่อพัก เราเลยอยากทำกิจกรรมร่วมกัน

“กิจกรรมนี้เน้นให้คนรู้จักพิธีชงชา ถึงอย่างนั้นเราก็ไม่ได้อยากสอนให้คนเชี่ยวชาญเรื่องการชงชา แค่คิดว่ามันคือกิจกรรมเปิดโสต เปิดประสบการณ์มากกว่า เราจึงไม่ดัดแปลงส่วนของพิธีชงชาเพื่อเคารพวัฒนธรรม แต่ขอดีไซน์บรรยากาศรอบๆ เช่น เลือกเปิดเพลงของเพื่อนศิลปินญี่ปุ่นที่ทำเพลงในไร่ชาซึ่งฉีกแนวทางเดิมของพิธี ในขณะเดียวกันก็ยังเคารพบรรยากาศของพิธีอยู่ และมันยังเข้ากับความเก่าแก่ของ The Shophouse 1527 ที่อยู่ในสามย่านด้วย และเพราะเราไม่ได้ดัดแปลงพิธีชงชาเลย แขกจึงได้ชมพิธีชงชาในราคาเพียง 200 บาทและได้ดื่มชาพรีเมียม ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงพิธีนี้มีมูลค่าสูงมาก”

 

No Pain Gain Tea On Weekend 

นี่คืออีเวนต์ที่แป้งชวนคนมาดื่มชาในบรรยากาศที่เธอดีไซน์​ (แต่ละครั้งก็ไม่เหมือนกัน) ให้คนได้กลับมาใช้เวลากับตัวเองเช่นเดียวกับช่วงเวลาที่แป้งหลีกตัวไปพักกายพักใจที่ร้านชาของครอบครัว

“เราอยากสื่อสารว่าทุกคนควรมีโมเมนต์ที่ได้หยุดพักก่อนใช้ชีวิตต่อ แทนที่จะหายใจเข้า-ออกช้าๆ อย่างการนั่งสมาธิเราก็ชวนคนมานั่งใช้เวลากับตัวเองกับชาและศิลปะที่เราเตรียมให้ เช่น ในกิจกรรมครั้งที่ผ่านมาชื่อว่า Transquil Transporting เราให้คนที่เข้าร่วมนั่งแยกกัน ใส่หูฟังดูฟิล์มฟุตเทจวิวที่อังกฤษที่เพื่อนเราถ่าย สิ่งนี้ถือเป็นส่วนของศิลปะ ส่วนดนตรีเราดีไซน์ให้มีการแสดงสดไวโอลินและเเซ็กโซโฟน เข้ากับสถานที่คือบาร์แจ๊ส York by Dumbo 

“ไอเดียของงานครั้งนี้มาจากช่วงโควิด-19 ที่เราสนใจเรื่องการเคลื่อนที่ของจิตใจคนที่ออกไปไหนไม่ได้ เสพข่าวเครียดๆ ทุกวัน แต่เราคิดว่าจริงๆ เรามีทางเลือกนะ เราไม่จำเป็นต้องเสพอะไรแบบนั้นตลอดเวลา”

ในงานครั้งนี้ ผู้ที่เข้าร่วมงานจะได้เลือกชา 1 จาก 4 ประเภท ทำให้แต่ละคนได้ฟิล์มฟุตเทจและการพักผ่อนที่แตกต่างกันตามอารมณ์ของชาที่เลือกด้วย

 

Tea x Exhibition

กิจกรรมแบบที่สามคือการจัดนิทรรศการร่วมกับสเปซและองค์กรต่างๆ ในการเชื่อมโยงชาเข้ากับศิลปะและเชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกัน

แป้งยกตัวอย่างช่วง Bangkok Design Week 2020 ที่ผ่านมาที่แป้งจับมือกับกลุ่มนักจัดดอกไม้ PHKA และอาร์ตสเปซ The Shophouse 1527 จัดแสดงผลงานในชื่อว่า Phala (ผล) โดยมีหัวใจคือการทำให้คนมองเห็นผลกระทบที่เมืองมีต่อธรรมชาติและผู้คน ในขณะที่มุมหนึ่ง ทีมผกาจัดดอกไม้เพื่อสื่อถึงมลภาวะในเมือง ในอีกมุม หญิงสาวนักปรุงชาเลือกตั้งเคาเตอร์จัดเป็นเวิร์กช็อปดื่มชาสื่อถึงมลภาวะในใจ 

งานนี้ แป้งนำชา 4 ประเภทของเธอมาจัดเรียงชื่อใหม่ให้เข้ากับคอนเซปต์สนุกๆ อย่างเรื่องมลภาวะทางจิตใจ และเปิดโอกาสให้คนได้เลือกชาที่ตรงกับสภาะวะจิตใจช่วงนั้น เช่น คนที่กำลังเจออารมณ์ Fucking Meeting แป้งจะจัดชาประเภท Inspire In-a-cup ให้เพื่อบูสต์พลังและรวบรวมสติก่อนการทำงาน คนที่กำลังเครียดหรือแป้งเรียกว่า Dept. Therapy จะได้ชากลุ่ม My Sanctuary เพื่อบำบัด คนที่กำลังกล่อมตัวเองว่า I’m Okay แป้งจัดชาประเภท Be Blissful ให้ ช่วยตัดความพะวงในจิตใจด้วยความหอมหวานของกลิ่นดอกไม้ ส่วนกลุ่มสุดท้าย ใครต้องเจอ The Brief From Hell จะได้ชา The Unexpected ที่เข้มข้นและคาดเดาไม่ได้เป็นการปลอบประโลม

ที่สำคัญ แป้งย้ำกับเราว่าเธอไม่ได้เจาะจงว่าชาต้องเป็นพระเอกหลักของงานเสมอไป แค่ชาได้ทำให้คนได้พักและเปิดโสตประสาทก็เพียงพอ

“เราไม่ได้บังคับว่ามาดื่มชาเถอะ แต่เราพยายามจะเอาชาเข้าไปเบลนด์กับสถานการณ์ต่างๆ อย่างตอนที่จัดงานร่วมกับผกา ตอนกลางคืนเขาเสิร์ฟแอลกอฮอล์เราก็แนะนำให้คนดื่มชามินต์ที่มีกลิ่นพิเศษ ช่วยทำให้ตื่นหรือแก้แฮ้งและยังมีประโยชน์อื่นๆ ที่ต่อร่างกายอีก รวมๆ เลยคือเราคิดว่าแค่คนดื่มชาแล้วรู้สึกดีขึ้นก็พอแล้ว”

 

Tealasionship

นอกจากนำชาไปร่วมกับโลกศิลปะร่วมสมัย แป้งยังจัดกิจกรรมเชื่อมโยงคนในองค์กรต่างๆ ด้วยเช่น กิจกรรม Tealasionship ที่เธอร่วมจัดกับ HUBBA เพื่อให้ผู้คนที่มาใช้โคเวิร์กกิ้งสเปซได้ทำความรู้จักกันในช่วงเวลาพักกลางวัน

“เราเป็นที่ปรึกษาให้ HUBBA เลยรู้ว่าช่วงบ่ายเขาไม่มีกิจกรรมสร้างปฏิสัมพันธ์ให้คนใน co-working space ทั้งๆ ที่ที่นี่มีธรรมชาติความเฟรนด์ลี่เเบบพี่น้อง เราเลยนั่งคุยกันว่าอยากจัดกิจกรรมสนุกๆ ในช่วงบ่าย ให้คนมาทำไอศครีมร่วมกับการดื่มชาเพื่อใช้เวลาร่วมกัน” 

ในทุกกิจกรรมที่เล่า นัยน์ตาของแป้งเป็นประกายยามพูดถึงบรรยากาศที่เธอออกแบบเสมอจนเราสงสัยว่าทำไมบรรยากาศถึงสำคัญกับเธอเป็นพิเศษ 

“ถ้าถามเรา การดื่มชาแบบ Work Tea People นั้นขึ้นกับบรรยากาศ ณ ตอนนั้นว่าเข้ากับชาหรือเปล่า ถ้ามีคนติดต่อมาว่าเขากำลังจะเปิดพื้นที่ใหม่แล้วอยากให้เราไปจัด tea service เราต้องขอไปนั่งดูก่อนว่าคนที่ใช้พื้นที่ตรงนั้นเป็นคนยังไง เราต้องรู้บริบท มวลอารมณ์ ถึงจะรู้ว่าชาตัวไหนเข้ากับพื้นที่ใด”

 

คอชาดื่มดี ไม่ใช่คอชาก็ดื่มได้ เพราะจุดหมายคือการพักผ่อน

ตลอดการสนทนาเรื่องจักรวาลชากับแป้ง เธอไม่ค่อยเอ่ยถึงชื่อชาอย่างเฉพาะเจาะจงหรือบอกสรรพคุณของชาตรงหน้าเว้นแต่เราจะถามเพื่อทำความเข้าใจ เพราะสุดท้ายแล้วเธออยากให้คอชาดื่มแล้วรู้สึกดี ส่วนคนที่เเวะเวียนมาลองก็ดื่มได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้เรื่อง

เรามองว่าการดื่มชาไม่มีอะไรผิดไม่มีอะไรถูก ขึ้นอยู่กับว่าเขาจะตีความชายังไงมากกว่า สิ่งที่ได้จากเราจึงไม่ใช่แค่รสชาติชา ไม่ต้องยึดติดกับคอนเทนต์ที่เรานำเสนอก็ได้ด้วยซ้ำ แต่คือมวลรวมของบรรยากาศที่เกิดขึ้น”

คำว่า ‘พัก’ ที่แป้งกล่าวออกมาหลายครั้งไม่ใช่เพราะความบังเอิญแต่เป็นสิ่งที่เธอได้รับจากประสบการณ์การดื่มชาส่วนตัวจนอยากส่งต่อความรู้สึกดีๆ เหล่านั้นให้ทุกคน

“สมัยก่อนเรายังไม่ได้เห็นคุณค่าของชาและธุรกิจชาของครอบครัวขนาดนั้น แต่เมื่อเรามีประสบการณ์การทำงานตรงนี้ ทำให้เรายิ่งโหยหาและเข้าใจในที่สุดว่าชาเติมเต็มเรายังไงบ้าง” แป้งตอบปิดท้ายคล้ายเป็นการจบอีเวนต์เล็กๆ ระหว่างเรา

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ปัณณทัต เอ้งฉ้วน

เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา