The Shophouse 1527 พื้นที่สาธารณะแนวทดลองในห้องแถวที่กำลังจะโดนทุบในอีก 1 ปี

Highlights

  • The Shophouse 1527 คือโปรเจกต์ของบริษัทสถาปนิก Cloud-floor ร่วมกับบริษัท IF ที่ทดลองเปลี่ยนตึกแถวในชุมชนสามย่านเป็นอาร์ตสเปซและคาเฟ่ทั้งๆ ที่ตึกกำลังจะถูกทุบในปี 2021 ตามแผนพัฒนาพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • แม้เวลาจะน้อยแต่ทีม Cloud-floor ซึ่งทำงานเรื่องเมืองและพื้นที่สาธารณะมาโดยตลอดกลับคิดว่านี่คือโอกาสอันดีที่จะได้ทดลองใช้งานศิลปะมาสร้างความเป็นชุมชนขึ้น พวกเขาจึงเริ่มต้นทำนิทรรศการเกี่ยวกับสามย่าน ก่อนที่จะต่อยอดเป็นเรื่องเมืองและสังคม
  • นอกจากจะเป็นพื้นที่ทางศิลปะ ที่นี่ยังตั้งใจทดลองเป็น 'พื้นที่สาธารณะ' รูปแบบใหม่ในพื้นที่ของเอกชนด้วยการเปิดพื้นที่ให้ศิลปินได้มาใช้โดยมีเงื่อนไขแต่น้อย เปิดให้คนนอกเข้ามาดูนิทรรศการโดยไม่ต้องเสียเงิน โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการค้นหาพื้นที่สาธารณะที่เหมาะกับวิถีชีวิตแบบไทยๆ

ไม่รู้ว่าเป็นเรื่องแปลกไหม แต่วันแรกที่เรารู้จักกับ The Shophouse 1527 คือวันเดียวกับที่เรารู้ว่าพื้นที่แห่งนี้จะปิดตัวลงในอีกไม่ถึง 2 ปีข้างหน้า

the shophouse 1527

The Shophouse 1527 คืออาร์ตสเปซในตึกแถวขนาด 1 คูหาย่านสามย่าน ซึ่งเปิดตัวเมื่อเดือนสิงหาคม 2019 และมีกำหนดปิดตัว–หรือพูดให้ชัดกว่านั้นคือโดนทุบทิ้ง–ในระยะเวลาอีกไม่ถึง 1 ปีตามแผนพัฒนาพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยผู้เป็นเจ้าของพื้นที่

การลงทุนกับพื้นที่ที่เหลือเวลาอีกไม่นานดูเป็นเรื่องไม่คุ้มค่าเมื่อคิดถึงตัวเลข แต่ โจ–ดลพร ชนะชัย และ ฟิวส์–นัฐพงษ์ พัฒนโกศัย สองสถาปนิกแห่งบริษัท Cloud-floor ซึ่งถนัดนักในการทดลองเล่นกับพื้นที่เมืองกลับคิดว่านี่แหละคือโอกาสพิเศษที่จะได้เล่าเรื่องการเปลี่ยนแปลงของเมืองบนที่ดินที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

the shophouse 1527

ที่ผ่านมา Cloud-floor ทำงานเกี่ยวกับพื้นที่สาธารณะและเมืองเป็นทุนเดิม เช่น งานสนุกๆ ที่พวกเขาและ ผศ. ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์ อาจารย์ด้านสถาปัตยกรรมชุมชน หอบเสื่อหลายผืน บีนแบ็กหลายใบไปวางไว้กลางหัวลำโพง, ฉวยเอาข้าวของในชุมชนต่างๆ มาจัดแสดงที่ป้ายรถเมล์ หรือลองออกแบบทางม้าลายโฉมใหม่ให้ปลอดภัยกับคนเดินถนนมากขึ้น รวมไปถึงเวิร์กช็อปอีกหลายครั้งที่ชวนคนหยิบจับงานดีไซน์และศิลปะเข้ามาพัฒนาชุมชน

คราวนี้ เมื่ออาจารย์ที่รู้จักกันชวนมาทำครีเอทีฟโปรเจกต์ในตึกแถวใกล้โดนทุบริมถนนพระราม 4 พวกเขาจึงถือโอกาสเปลี่ยนตึกเล็กๆ ให้กลายเป็นพื้นที่ทดลองเรื่องใหญ่ๆ อย่างเรื่องย่านและสังคมเมืองผ่านทุกซอกทุกมุมตึก ตั้งแต่นิทรรศการที่จัด โครงสร้างหลักของตึก ไปจนถึงร่องรอยที่ฝังลึกอยู่บนกำแพง

ตึกแถวหนึ่งคูหาเล่าเรื่องอะไรได้บ้าง โจและฟิวส์ชวนก้าวเท้าเข้ามาดู

ย่านที่อยู่ในบ้าน

“โดยพื้นฐาน Cloud-floor เป็นสถาปนิกทำงานเชิงพื้นที่สาธารณะที่เกี่ยวข้องกับคนและสังคมเมือง ตั้งแต่การเป็นคนทำเวิร์กช็อปการใช้ศิลปะพัฒนาชุมชนหรือทำโปรเจกต์ออกแบบที่ทดลองทำให้คุณภาพชีวิตในเมืองดีขึ้น แต่ว่าเรายังไม่เคยเป็นเจ้าของสถานที่ ดังนั้นเราเลยไม่รู้ว่าถ้าเรามีสเปซที่พูดถึงชุมชนโดยรอบมันจะมีอุปสรรคอะไรบ้าง ไม่นับเรื่องเงิน” โจย้อนเล่าถึงจุดเริ่มต้นของพื้นที่ที่เรานั่งอยู่ตอนนี้ 

“ทุกวันนี้แทบไม่มีใครเดินผ่านตึกด้านที่ติดกับถนนแล้วแต่เลือกเดินทะลุด้านในสามย่านเพราะของกินเยอะกว่า ตึกแถวในบล็อกจึงแทบจะร้างทั้งหมด ปีก่อน อาจารย์ของพวกเราชวนเราและเพื่อนๆ มาทำกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ (creative program) ในรูปแบบอาคารสถานที่ในตึกแถวตรงนี้ เราและพาร์ตเนอร์บริษัท IF จึงคิดว่าจะใช้เวลา 2 ปีนี้แหละทำการทดลอง ทั้งในเชิงสถาปัตยกรรมว่าเราจะเอาของเก่าในย่านมาปรับใช้ยังไง และในเชิงกิจกรรมว่าเราจะใช้ศิลปะขับเคลื่อนหรือสัมพันธ์กับชุมชนและสังคมยังไง”

the shophouse 1527

the shophouse 1527

เมื่อเปิดประตูสีดำบานหนาหนักเข้าไป สิ่งแรกที่ The Shophouse 1527 ต้อนรับเราคือกลิ่นกาแฟอบอวลจากคาเฟ่ดีไซน์ทันสมัยที่ชั้นหนึ่ง ล้อมรอบด้วยผนังเดิมของตึกแถวที่เต็มไปด้วยรอยเวลา

“ความตั้งใจแรกของเราคือการทดลองเล่าเรื่องในย่าน เพื่อที่ในอนาคตถ้าโปรเจกต์แบบนี้ไปอยู่ในย่านใดก็ตามมันจะต้องไฮไลต์เรื่องราวในย่านนั้นๆ ย้อนกลับมาที่นี่ พอจะเล่าเรื่องราวของสามย่านเราก็คิดว่าถ้าอย่างนั้นเราเริ่มจากการเล่าเรื่องของคนที่เคยอาศัยอยู่ที่นี่ก่อนแล้วกันว่าเขาเป็นใคร” ฟิวส์ช่วยอธิบาย

‘ใคร’ ที่ฟิวส์หมายถึงคือครอบครัวช่างทำเหล็กที่ใช้ชีวิตอยู่ในตึกหลังนี้นานนับ 50 ปี กระทั่งร่องรอยการใช้ชีวิตฝังแนบแน่นเป็นเนื้อเดียวกับผนัง ไม่ว่าจะเป็นรอยปากกาที่ทดตัวเลขความยาวเหล็กไว้แบบลวกๆ รอยฐานโคมไฟแบบครอบครัวจีน บริเวณที่ดูรู้ว่าเป็นบานกระจกหัวเตียง หรือรอยเจาะผนังที่ดันทะลุไปยังห้องข้างๆ เจ้าของจึงฉาบปูนปิดไว้แบบเนียนๆ

the shophouse 1527

the shophouse 1527

the shophouse 1527

“เราคิดว่าสถาปัตยกรรมคือเครื่องมือในการเล่าเรื่องประเภทหนึ่ง เราเลยอยากให้อาคารนี้เล่าเรื่องของคนที่เคยอยู่ที่นี่และวิถีของคนในย่านได้ด้วยตัวมันเอง เราจึงไม่เปลี่ยนแปลงกายภาพของอาคารมาก ร่องรอยก็เก็บไว้อย่างที่เคยเป็น พยายามเก็บของเก่าๆ เอาไว้ เช่น หน้าต่าง เพียงแค่อยากให้มันดูโปร่งขึ้นก็เลยทุบผนังออกแล้วต่อเติมหน้าต่างเพิ่ม

“ส่วนใหญ่เวลาพูดถึงสินทรัพย์ของชุมชนคนมักจะนึกถึงวัด อาคารโบราณ หรือแม้กระทั่งประเพณี แต่เรารู้สึกว่าคนมักจะมองข้ามสินทรัพย์ในเชิงชีวิตความเป็นอยู่แบบปกติในชีวิตประจำวันซึ่งสำคัญเหมือนกัน เช่น เมื่อ 50-100 ปีที่แล้วเราเคยมีบ้านเรือนไทยแต่วันนี้บ้านเรือนไทยแทบจะไม่มี วันนี้เรามีตึกแถว แต่แนวโน้มการเติบโตของเมืองทำให้เขาทุบตึกแถวออกแล้วสร้างคอนโดมิเนียม ดังนั้นในอีก 100 ปีข้างหน้าเราอาจจะไม่มีตึกแถวแล้วด้วยซ้ำ” ฟิวส์เล่า

โจเสริมต่อว่าจากภายในอาคาร พวกเขาเริ่มออกสำรวจชีวิตในพื้นที่รอบๆ ทั้งในปัจจุบันผ่านสายตาตัวเอง และในอดีต ผ่านคำบอกเล่าปากเปล่าของคนที่อยู่ที่นี่มาตลอดชีวิตและเก็บเรื่องเหล่านั้นกลับมาเป็นคอนเทนต์ในตึกอีกที

“พี่เจ้าของตึกคนเก่าเป็นจุดเริ่มต้นของการตามรอยทุกอย่างในย่าน เพราะวันแรกที่เราเข้ามายังพื้นที่นี้เราก็มองสามย่านในมุมคนนอก รู้แค่ว่าที่นี่มีของกินอร่อย เราเลยพยายามให้คนที่อยู่ในพื้นที่จริงๆ ตั้งแต่เกิดจนปัจจุบันเล่าว่าเขาสัมพันธ์กับพื้นที่นี้ยังไง พาเราไปดูว่าตอนที่พี่เขาเป็นเด็กเคยมีโรงงิ้วอยู่ข้างหลังศาลเจ้า คนต้องเอากระดาษหนังสือพิมพ์มาปูเองส่วนพี่เขานั่งที่ระเบียงชั้น 2 แล้วมองลงมา ทุกอย่างเป็นความทรงจำที่เล่าปากเปล่าเลยมีเซนส์ของชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นแกนหลักในการทำงานของเราอยู่แล้ว”

จากการท่องไปในย่านกับพี่เจ้าของบ้านคนก่อน โจและฟิวส์ค่อยๆ เก็บสะสมข้อมูลเพื่อทำ Resonance of Lives at 1527 นิทรรศการแรกของที่นี่ที่เล่าเรื่องวิถีชีวิตของเจ้าของเก่าควบคู่ไปกับเรื่องราวการรีโนเวตตึกที่พวกเขาบันทึกไว้ เพื่อพูดถึงเมืองที่กำลังค่อยๆ เปลี่ยนไปในวันนี้

ศิลปะที่อยู่ในชีวิต

นอกจากการทดลองใช้อาคารเล่าเรื่องราวของย่าน อีกสิ่งสำคัญที่ Cloud-floor กำลังทดลองคือการใช้ศิลปะหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน พื้นที่ชั้น 2 จึงเปิดโล่งสำหรับการจัดนิทรรศการที่หลากหลาย เช่น The Terrarium นิทรรศการสวนในตึกที่จัดแสดงเมื่อเดือนที่ผ่านมา

The Terrarium

ไม่ใช่แค่นิทรรศการของ Cloud-floor เท่านั้นที่สามารถเกิดขึ้นได้ที่นี่ แต่โจและฟิวส์ยังเปิดพื้นที่ให้คนอื่นๆ ได้เข้ามาใช้พื้นที่จัดนิทรรศการ งานศิลปะอื่นๆ ไปจนถึงเวิร์กช็อป เช่น ในช่วง Bangkok Design Week 2020 ที่ผ่านมาที่กลุ่มนักจัดดอกไม้ PHKA จัดแสดงดอกไม้ที่ค่อยๆ เหี่ยวแห้งเพราะมลพิษในเมืองคู่ไปกับเวิร์กช็อปชงชาของ Work Tea People แบรนด์ชาที่อยากกำจัดมลภาวะในจิตใจของชาวออฟฟิศ หรือในบางช่วงก็เคยจัดละครของนัทมน เปรมสำราญ ที่ใช้พื้นที่ทุกส่วนของตึกเป็นเวทีมาแล้ว

“ทีแรกเราจะมีโจทย์ให้คนที่เข้ามาแสดงงานที่นี่ว่าต้องเล่าเรื่องของสามย่าน แต่คิดไปคิดมาทำไมมันต้องยากขนาดนั้น ดังนั้นเราเลยคิดใหม่ว่าถ้าเล่าเรื่องย่านได้ก็ดี แต่ถ้าไม่ได้ก็ขอให้เป็นเรื่องเมือง ถ้าเล่าเรื่องเมืองไม่ได้ก็ขอให้เป็นประโยชน์ในเชิงสังคม ซึ่งถือว่ากว้างมากเพราะงานศิลปะหลายชิ้นก็เข้าข่ายงานเชิงสังคมอยู่แล้ว

“เราอยากให้พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่สาธารณะที่เปิดโอกาสให้คนที่อยากจะแสดงออกในเชิงศิลปะหรืออยากเล่าเรื่องได้มาแสดงงาน ลดช่องว่างระหว่างคนกับมิวเซียมลง เป็นพื้นที่ที่เฟรนด์ลี่กับคนมากขึ้น” โจเล่า

Phāla by PHKA X The Shophouse 1527

“อย่างที่เราบอกว่าเกณฑ์ในการแสดงงานที่นี่ง่ายมาก อย่างน้อยขอให้มีประโยชน์ต่อสังคม ในที่นี้ สังคมก็คือคน เราคิดว่าการมอบพื้นที่ให้คนได้แสดงออกด้วยเงื่อนไขไม่มากเป็นประโยชน์ง่ายๆ ที่เราทำได้ ความต้องการสูงสุดของเราคือเมืองที่มีพื้นที่สาธารณะที่เปิดให้ผู้คนเข้ามาใช้พื้นที่ได้โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ แต่ในเมื่อ ณ​ วันนี้เราไม่สามารถทุบตึกออกทั้งหมดแล้วทำให้เป็นสวนสาธารณะได้ เราทำได้เพียงจุดเล็กๆ คือการเอาตึกแถวตึกนี้มาทำเป็นพื้นที่สร้างกิจกรรมที่สาธารณะเข้ามาดูได้ฟรี เช่น นิทรรศการ” ฟิวส์เล่าอย่างตั้งใจ

“เราไม่อยากมีเงื่อนไขเยอะ ไม่อย่างนั้นเราจะมีความยากเท่าแกลเลอรี” โจเสริม “ความยากที่หมายถึงคือความเป็นทางการใน white cube หรือแกลเลอรีที่ต้องมีป้ายแปะชัดเจนว่างานนี้เป็นของใคร ขายในราคาเท่าไหร่ แต่เราอยากเปลี่ยนมู้ดงานศิลปะให้อยู่ในสเปซที่หลอมรวมไปกับเมืองมากขึ้น คนเข้าถึงงานได้มากขึ้น ถึงแม้ว่าบางคนอาจจะอยากมากินกาแฟข้างล่างเฉยๆ แค่เดินขึ้นไปชั้นสองก็ทำให้เขาเข้าถึงงานศิลปะได้ หรือบางคนจะมาดูงานศิลปะอย่างเดียวไม่มากินกาแฟก็ได้ เป็นโปรแกรมที่ซัพพอร์ตซึ่งกันและกัน”

พื้นที่สาธารณะที่อยู่รอบคนไทย

โจและฟิวส์เกิดและเติบโตที่เมืองไทย จบปริญญาตรีด้านสถาปัตยกรรม และไปเรียนต่อและทำงานด้านสถาปัตยกรรมที่เยอรมนี 

แม้พื้นฐานเป็นสถาปนิก แต่เมื่ออยู่ในประเทศที่มีผังเมืองที่ใส่ใจประชาชน มีขนส่งมวลชนสะดวกสบาย พื้นที่สาธารณะครอบคลุมทั้งเมือง และศิลปะอยู่ในชีวิต นำมาสู่คุณภาพชีวิตที่ดีก็ทำให้ทั้งคู่สนใจเรื่องการพัฒนาเมืองและพื้นที่สาธารณะไปโดยปริยาย

นั่นเป็นเหตุผลที่เมื่อพวกเขากลับเมืองไทยมาก่อตั้งบริษัทสถาปนิก Cloud-floor แกนหลักของพวกเขาจึงประกอบด้วย​ 3 คำคือ สถาปัตยกรรม ศิลปะ และความเป็นเมืองและพื้นที่สาธารณะ 

การสร้างพื้นที่สาธารณะนี่เองคือสิ่งที่พวกเขาอยากทดลองในตึกนี้

“เราคิดว่าพื้นที่สาธารณะในกรุงเทพฯ มีน้อยอยู่แล้ว ยิ่งพื้นที่สาธารณะที่ถูกต้องตามหลักการ เช่น เข้า-ออกได้ตลอด 24 ชั่วโมงโดยไม่มีเงื่อนไขยิ่งมีแค่สองอย่างคือถนนกับแม่น้ำ เราคิดอยู่ 2 ปีว่าจะสร้างกลไกหรือวิธีการยังไงให้เมืองมีพื้นที่สาธารณะเพิ่มขึ้น” ฟิวส์อธิบาย

“เราเคยได้รับโอกาสและเสนอตัวเองหลายๆ ครั้งในการปรับปรุงฟุตพาทให้เดินสะดวก ทางม้าลายที่ทำให้รถหยุดง่ายขึ้น หรือทำสตรีทเฟอร์นิเจอร์สำหรับนั่งพัก ทดลองมาหลายครั้ง ผลตอบรับก็มีทั้งดีและไม่ดีแต่โจทย์จริงๆ ในใจเราคือเพื่อกระตุ้นให้ผู้มีอำนาจเรื่องเมืองเห็นว่าเขาสามารถใช้งานออกแบบทำให้คนมีชีวิตที่ดีขึ้นได้นะ

“แต่หลังจากทดลองทำสั้นๆ เก็บผลลัพธ์ ยื่นฟีดแบ็กให้ทางหน่วยงานภาครัฐ สุดท้ายหลายๆ โปรเจกต์มันละลายแม่น้ำไป ยังไม่นับความยากในเรื่องเงื่อนไขทางกฎหมาย เช่น วันนี้ถ้าเราจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางม้าลายเราก็ต้องแก้พระราชบัญญัติ ต้องพิสูจน์ด้วยสถิติว่าในสภาพแวดล้อมควบคุมทางม้าลายแบบที่เราออกแบบเวิร์กกว่าอันเก่าจริงหรือไม่

“จะเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะว่าเราไม่ได้มีอำนาจ เราก็เลยคิดว่าพื้นที่ The Shophouse 1527 คือตัวอย่างของการสร้างพื้นที่กึ่งสาธารณะรูปแบบหนึ่ง ตอนแรกเราอยากทุบพื้นที่ตรงนี้ให้หมดด้วยซ้ำเพื่อปลูกต้นไม้ ทำเป็นสวนเล็กๆ ในซอกตึก นั่นเป็นความคิดที่สุดโต่งมากๆ แต่เราก็มาบาลานซ์ว่าถ้าอย่างนั้นเรื่องที่พื้นที่เล่าอาจไม่หลากหลายเราจึงปรับพื้นที่เป็นอาร์ตสเปซเพื่อให้คนได้มาแสดงออกความคิดเชิงปรัชญา และพื้นที่นี้อาจส่งต่อประโยชน์ออกไปได้ไกลขึ้น”

ที่สนุกคือแม้ทั้งคู่จะไปใช้ชีวิตอยู่ในเยอรมนีมาหลายปี แต่เป้าหมายสูงสุดของ Cloud-floor กลับไม่ใช่การมีพื้นที่สาธารณะที่ ‘เหมือน’ กับเมืองนอก แต่เป็นการสร้างพื้นที่สาธารณะที่เหมาะสมกับสภาพเมืองและวิถีชีวิตแบบไทยๆ ที่มีรายละเอียดไม่เหมือนที่ใดในโลก

“เวลาพูดถึงพื้นที่สาธารณะ คนมักนึกถึงพื้นที่สาธารณะในเมืองนอกว่าต้องมีจัตุรัสกลางเมือง มีม้านั่ง แต่คำถามคือมันเหมาะกับชีวิตของคนไทยจริงไหม ถ้านำมาใช้ที่เมืองไทยจะช่วยให้ชีวิตคนไทยสบายขึ้นหรือเปล่า เราเลยคิดต่อว่าบางทีอาจมีพื้นที่สาธารณะแบบไทยๆ อยู่ก็ได้ เช่น เก้าอี้พลาสติกเตี้ยๆ แค่ลากมากองรวมกันคนก็มานั่งเมาท์ได้แล้ว นี่เป็นหนึ่งในไอเดียที่เราอยากเอามาต่อยอดในงานต่อๆ ไปของที่นี่”​ โจเล่าด้วยแววตาเป็นประกาย ส่วนฟิวส์ย้ำว่าการทดลองที่ The Shophouse 1527 ทำก็เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ คือการสร้างความรู้มาแบ่งปันกับสังคมเช่นกัน

“การทำสเปซให้สำเร็จกับทำเพื่อทดลองมันไม่เหมือนกัน ถ้าทำเพื่อความสำเร็จเราอาจจะใส่ไอเดียเต็มที่ตั้งแต่แรก แต่ถ้าทำเพื่อทดลอง เราค่อยๆ หย่อนไอเดียลงไปให้พื้นที่มันแตกกิ่งได้ ผิดพลาดได้ หรือสำเร็จก็ได้ และเมื่อมันสำเร็จเราก็เลือกได้ว่าจะไปต่อไหม หรือจะลองอะไรใหม่ๆ เพราะเป้าหมายของเราคือการทดลอง สุดท้ายแม้ทำไป 10 ทางและไม่มีอันไหนเวิร์กเลยยกเว้นทางแรกก็ไม่เป็นไรเพราะเรารู้แล้วว่าใน 10 วิธีการมี 1 วิธีที่สำเร็จ แล้วเราจะได้เป็นกระบอกเสียงให้คนอื่นได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของเรา โดยที่เราจะไม่บอกเขาว่าอย่าทำสิ่งที่เราล้มเหลวนะ เพราะเราเชื่อว่าคนที่ตัดสินแบบนี้ก็ไม่ปล่อยให้คนอื่นเกิดความคิดสร้างสรรค์เหมือนกัน”

“เราหวังว่าพื้นที่ของเราอาจจะทำให้คนกล้าทำพื้นที่แบบนี้มากขึ้น และถ้ามีคนกล้าทำงานแบบนี้ในย่านอื่นๆ เราจะแฮปปี้มากเลย เรารู้สึกว่านั่นก็คือความสำเร็จเหมือนกันในรูปแบบของการที่ช่วยทำให้คนเกิดความคิดว่าการสร้างพื้นที่แบบนี้ไม่ได้ยากขนาดนั้น” โจสรุป

แน่นอนว่าการสร้างพื้นที่สาธารณะไม่ใช่หน้าที่ของคนคนเดียวหรือกลุ่มเดียว แต่ในวันที่ยังไม่มีใครเปลี่ยนแปลงภาพใหญ่ของสังคมได้ ตึกแถวเล็กๆ เพียงคูหาเดียวก็อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีกว่าการที่ไม่มีใครลงมือทำอะไรเลย

“หัวใจที่เราได้เรียนรู้จาก The Shophouse 1527 คือในตอนนี้ที่เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงพื้นที่สาธารณะที่แท้จริงได้ เรายังสามารถทำตัวเอง ทำพื้นที่ตึกแถวของเอกชนให้เป็นประโยชน์กับสาธารณะได้ นี่เป็นโมเดลที่เราเลือกจะไปต่อคือการหันกลับมามองว่าพื้นที่แบบไหนที่เป็นประโยชน์ต่อผู้คน เราว่าหัวใจมันอยู่ที่คน ไม่ได้อยู่ที่ว่าพื้นที่นั้นเป็นของใคร”


The Shophouse 1527

address : 1527 ถนนพระราม 4 แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330

hours : 11:00-19:00 น. (ปิดวันอังคาร)

website : theshophouse1527.com

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐปคัลภ์ ทัศนวิริยกุล

นักเรียนฟิล์มที่มาฝึกงานช่างภาพ รักการถ่ายรูป ชอบกินของอร่อย และชอบใช้เวลากับครอบครัว เพื่อนสนิท คนรัก

ณัฐวัฒน์ ตั้งธนกิจโรจน์

ชื่อโทนี่ แต่พวกเขามักจะรู้จักผมในนาม Whereisone