“ใครพูดว่าคนรุ่นใหม่ถูกล้างสมอง เราว่าคนนั้นควรเอาสมองไปล้างบ้าง” วรพจน์ พันธุ์พงศ์

Highlights

  • หนึ่ง–วรพจน์ พันธุ์พงศ์ ย้ายมาอยู่ที่จังหวัดน่านได้หลายปีแล้ว สำหรับเหตุผล เขาบอกว่าไม่มีอะไรมากไปกว่าความอยากในการมีชีวิตที่ดี 
  • กับการงาน ปัจจุบันหนึ่งยังคงทำงานเขียนที่ตอบโจทย์ความหมายในชีวิต แต่ข้อจำกัดหลักในการงานของเขาตอนนี้คือรัฐบาล
  • การต้องคอยมานั่งเซนเซอร์ตัวเองหรือการพูดสิ่งที่อยากพูดไม่ได้นั้น หนึ่งมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่สมควร การเป็นประชาชนในระบอบการปกครองประชาธิปไตย เราควรมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นอย่างเต็มที่ ดังนั้นกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศตอนนี้ เขาไม่ค่อยเห็นความหวังในวัยของตัวเองเท่าไหร่ แต่กับคนรุ่นใหม่ หนึ่งบอกว่า ‘ความหวัง’ นั้นยังมีอยู่เต็มเปี่ยม พวกเขาสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้แน่นอน 

บ่ายวันหนึ่งกลางเดือนสิงหาคม ท่ามกลางบรรยากาศขมุกขมัว ผมพบกับ วรพจน์ พันธุ์พงศ์ ที่หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน

วันนั้นเขาปรากฏตัวที่งานเสวนาในฐานะศิลปินที่ได้รับรางวัลศิลปาธร สาขาวรรณศิลป์

ส่วนผม มาในฐานะผู้ฟังคนหนึ่ง

ผมทดหลายประโยคจากคำบอกเล่าของเขาบนเวทีไว้ในสมุด หลายอย่างเป็นข้อสังเกตและหลายอย่างเป็นประเด็นคำถามที่ผมอยากชวนเขาคุยขยายความ

“อยากมีคุณภาพชีวิตที่ดี เราเลยเลือกไปอยู่น่าน”

“ทุกวันนี้เราไม่เคยเบื่อการเขียนหนังสือเลย”

“เราเป็นนักเขียนที่เอาแต่ใจ เป็นตัวเองมาโดยตลอด”

“ถ้าเรื่องไหนเป็นเรื่องสำคัญและยังไม่มีคนทำ เราอยากจะทำ”

“เราอยู่ในวันเวลาที่ยากลำบากเพราะเรามีสิทธิเสรีภาพต่ำ”

“คิดดูสิ ประเทศนี้เปลี่ยนเราจากนักเขียนสายบันเทิงให้มาเขียนเรื่องการเมืองได้ยังไง”

ตลอดเกือบ 30 ปีที่ผ่านมาในแง่ของการทำงาน วรพจน์ นิยามตัวเองด้วยสองคำง่ายๆ ว่าสื่อมวลชนและนักเขียน แต่อีกหลายคนนิยามตัวเขายิ่งใหญ่กว่านั้นว่าเป็นนักสัมภาษณ์มือหนึ่ง เพราะตั้งแต่เริ่มต้นอาชีพด้วยการเป็นนักข่าว มาจนถึงเป็นคนทำนิตยสารและปัจจุบันกับการเป็นนักเขียนอิสระ ผลงานบนหน้ากระดาษและโลกออนไลน์กว่าพันชิ้นเป็นเครื่องรับประกันอย่างดีถึงฝีมือ ตัวตน และความคิด

ในแง่ของชีวิต หลังจากอยู่กรุงเทพฯ มา 25 ปี ปัจจุบัน วรพจน์ ในวัย 50 ปีย้ายถิ่นฐานไปใช้ชีวิตอยู่ที่จังหวัดน่าน เกือบ 4 ปีแล้วที่เขาเรียกน่านว่าบ้าน และที่นั่นเองคือจุดนัดหมายในการสัมภาษณ์ของเราในอีกหนึ่งสัปดาห์ข้างหน้า

หลังจบการเสวนา ผมแยกตัวออกมาจากงานในระหว่างที่วรพจน์ถูกรุมล้อมด้วยมิตรสหาย อาจเป็นเรื่องบังเอิญที่เมฆฝนเริ่มก่อตัวพอดิบพอดี ผมรีบจ้ำอ้าวหาที่หลบฝน ลัดเลาะผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จนไปได้ที่เหมาะเจาะบริเวณเสาชิงช้าก่อนจะนึกกังวลบางอย่างขึ้นมาในใจ

ผมหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาเช็กพยากรณ์อากาศของจังหวัดน่าน

หน้าจอแสดงผลว่าในช่วงสัปดาห์ที่ผมนัดคุยกับวรพจน์

ทุกวันฝนจะตก

1

นกเหล็กพาผมและช่างภาพเหินฟ้าจากกรุงเทพฯ มาลงจอดที่สนามบินน่านนครตอนเวลาสี่โมงเย็น

ตามคำประกาศของกัปตัน ก่อนเรามาถึงไม่กี่นาทีฝนห่าใหญ่เพิ่งร่วงหล่นลงมาจากฟ้าและทิ้งความเปียกปอนเอาไว้ ภาพน่านที่ปรากฏต่อแขกผู้มาเยือนในวันนี้จึงทั้งเขียวชะอุ่ม ชุ่มฉ่ำ ผสมกับความขมุกขมัว หม่นเศร้า

ผมเช็กกล่องข้อความในมือถือจาก วรพจน์ ที่อัพเดตเมื่อไม่กี่วันก่อน

‘เจอกันที่ร้าน Runway แถวสนามบินตอนเย็นแล้วกัน ตอนนี้ถนนทางเข้าบ้านเราเอารถเข้าไม่ได้’

2

บ้านหลังเล็กของวรพจน์ตั้งตระหง่านอยู่กลางป่า ไม่ไกลจากสนามบินน่านนครเท่าไหร่

ในความตั้งใจแรกเริ่มผมกับช่างภาพคุยกันว่าเราอยากสนทนาและลั่นชัตเตอร์เก็บภาพที่บ้านหลังนั้น แต่ด้วยอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย วันแรกผมจึงมาพบกับนักเขียนหนุ่มเพื่อสนทนาสั้นๆ ที่ร้านอาหารในเมืองแทน

“คุยกันด้านนอกดีกว่า” เขาเจาะจงชวนผมนั่งคุยกันท่ามกลางธรรมชาติ ตอนนั้นเมฆดำเคลื่อนตัวผ่านไปแล้ว เหลือเพียงฟ้าใสพร้อมลมเย็นสบายพัดโบก

“ที่เคยเขียนว่าชอบฝน ตอนนี้ยังชอบอยู่ไหม” ผมเริ่มชวนเขาคุย

“ยังชอบนะ แต่อยากให้สลับกับแดดบ้าง ช่วงที่ผ่านมาฝนตกเยอะ อากาศชื้นแฉะ เราหายใจไม่สะดวก เสื้อผ้ากับผ้าปูที่นอนแทบเอาออกมาตากไม่ได้ ทางเข้าบ้านเป็นโคลนสูง รถธรรมดาเข้า-ออกไม่ได้ อย่างที่นัดกันวันนี้ ตอนแรกก็ไม่รู้จะออกมายังไง” เขาตอบพร้อมชี้ไปที่มอเตอร์ไซค์คู่ใจที่เป็นคำเฉลยของปัญหาที่ว่า ฟังดูแสนลำบากแต่น่าแปลกที่น้ำเสียงและสีหน้าของเขากลับไม่แสดงอารมณ์ใดๆ

“เจอปัญหาบ่อยๆ เข้า มีสักครั้งไหมที่รู้สึกเสียดายที่ย้ายมาน่าน”

“ไม่เลย” เขาตอบเสียงนิ่งเรียบอีกครั้ง

ในความเป็นจริงเกือบ 4 ปีแล้วที่วรพจน์มาลงหลักปักฐานที่นี่ ทั้งหมดไม่ได้เกิดขึ้นปัจจุบันทันด่วน หากแต่ดำเนินอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตั้งแต่การมาลองนอนเต็นท์ตรงที่ดินที่ซื้อไว้เพื่อดูสภาพลมฟ้าอากาศ การเริ่มสร้างกระต๊อบเล็กๆ พร้อมติดตั้งระบบน้ำไฟด้วยตัวเองผ่านการช่วยเหลือจากแฟนหนุ่มของน้องสาว ไล่เรื่อยมาจนถึงการหัดใช้ชีวิตกลางป่าหลังจากอยู่กับแสงสีมายาวนาน

เขาไม่ปฏิเสธว่าตลอดเกือบ 4 ปีที่ผ่านมาคือความลำบาก แต่เขายืนยันกับผมว่านี่คือสิ่งที่เลือกแล้ว

“เอาจริงเราเป็นคนรักสบายนะ ไม่ได้อยากเหนื่อยอยากยากอะไรหรอก แต่เงื่อนไขเราเป็นแบบนี้ น่านคือที่ที่เราเลือก อะไรที่ทำไม่เป็น เราก็ฝึก ถ้ามีปัญหาก็มองเป็นเรื่องขำๆ ไป เพราะรู้อยู่แล้วว่าจะมี ไม่ใช่ไม่รู้”

หากย้อนกลับไปที่สาเหตุว่าทำไมวรพจน์ถึงย้ายออกจากกรุงเทพฯ ปัจจัยหลักคือปัญหาในแง่การใช้ชีวิตที่สูบพลังจากคนเดินดินอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ถ้าเลือกได้ หลายคนอยากจะย้ายออกจากป่าคอนกรีตเสียเต็มประดา แต่ด้วยเหตุผลร้อยแปดพันประการตั้งแต่ความสัมพันธ์ไปจนถึงหน้าที่การงาน คนส่วนใหญ่ยังคงต้องจำทนใช้ชีวิตที่ไม่อาจเรียกว่าดี และอย่าบังอาจเรียกว่าลงตัว

“ถามว่าให้อยู่กรุงเทพฯ ไปจนตายอยู่ได้ไหม เราอยู่ได้นะ เพราะรู้วิธีหมดแล้วว่า 24 ชั่วโมงต้องทำอะไรบ้าง แต่เราเป็นคนบ้านนอก เกิดที่โคราช ดังนั้นกรุงเทพฯ ไม่ใช่บ้านเรา เราเข้ากรุงเทพฯ แค่ไปทำงาน พอถึงจุดหนึ่งที่ทำงานและอยู่ที่อื่นได้ เราก็เลือกที่จะพอ

“สำหรับเรา ถ้าอยากมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่กรุงเทพฯ เราเชื่อว่าต้องมีเงินเดือนประมาณเจ็ดหมื่น ต่ำกว่านั้นก็พออยู่ได้ แต่คุณภาพชีวิตไม่ดีหรอก เจ็ดหมื่นถึงจะได้มาทั้งความสุขสบาย ค่าใช้จ่ายในการแสวงหาความรู้และเปิดหูเปิดตา และศักยภาพที่จะดูแลคุณภาพชีวิตของเรารวมถึงคนที่รัก ซึ่งถ้าถามเรา เราหาไม่ได้แน่นอน

“งานที่เราทำไม่ใช่อาชีพที่ร่ำรวยและเราไม่อยากเปลี่ยนงาน เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นเช่นนี้ กรุงเทพฯ ไม่เหมาะสำหรับเราแล้ว แต่ถ้าหันมามองที่น่านและเทียบด้วยสมการเดียวกัน เงิน 100 บาทที่น่านมีค่ามากกว่าเงิน 100 บาทที่กรุงเทพฯ ดังนั้นด้วยเงินจำนวนเท่ากัน การอยู่ที่น่านน่าจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า

“เราตระหนักว่าในวัยเท่านี้ เรายังมีรูปแบบชีวิตอื่นที่เหมาะสมอยู่ เรามองหาตลอดจนเจอว่าน่าจะเป็นไปได้ อาจต้องใช้ปัญญาและความกล้าหาญอยู่บ้าง แต่เราเลือกที่จะย้ายออกมาเพราะเชื่อว่าชีวิตไม่ได้มีแบบเดียว แม้เงื่อนไขของงานและเงินจะค่อนข้างจำกัด แต่เราจะพยายามถีบตัวเองขึ้นมาเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีเท่าที่สามารถ

“เพราะสิ่งเดียวที่เราต้องการคือการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ดีเราไม่เอา”

3

ดวงอาทิตย์สีแสดแลกเวรกับพระจันทร์สีนวลเด่นเห็นชัด ดวงดาวปรากฏโฉม เข็มนาฬิกาชี้บอกเวลาสองทุ่ม

ด้วยเวลาเท่านี้ถ้าตัดภาพไปที่กรุงเทพฯ แสงสีในเมืองกรุงคงเพิ่งเริ่มส่องสว่างกะพริบไหว ต่างกับวรพจน์ ที่ตามปกติคือเวลาที่เขาเข้านอน

วรพจน์เล่าว่าชีวิตประจำวันของเขาจะเริ่มประมาณตีห้า ถ้ามีงานที่ต้องเขียน เขาจะเขียนที่บ้านช่วงเช้าไปจนถึงบ่ายโมง ( “แค่นั้นก็เยอะและยากมากพอแล้ว”–เขาว่า ) ถ้าวันไหนที่อยากใช้อินเทอร์เน็ต เขาจะออกมาหาร้านกาแฟในเมืองเพื่อใช้ Wi-Fi สำหรับการอัพเดตข่าวสารและเรียนภาษาฝรั่งเศส–กิจกรรมที่เขาเล่าให้ฟังว่าเป็นความสุขในชีวิต หรือในวันว่าง ถ้าไม่อ่านหนังสือ เขาจะอยู่เฉยๆ ทักษะอีกอย่างที่เขาบอกว่าตัวเองทำได้เก่งมาก

“คุณชอบอะไรในการใช้ชีวิตที่น่าน” ผมถาม

“สถานที่ประกอบด้วยสองอย่าง คือคนกับธรรมชาติ คนที่นี่จิตใจดี เพราะอยู่ในสิ่งแวดล้อมและอากาศที่ดี ค่าครองชีพถูก ชีวิตปกติของพวกเขาคือคุณภาพที่ดีอยู่แล้ว ดังนั้นการทำร้ายกันจึงมีน้อยเกินกว่าจะพูด อีกเรื่องคือน่านมีสเปซกว้าง เราชอบที่ว่าง ที่นี่เลยเป็นเหมือนภาพถ่ายที่คนเป็นเพียงจุดเล็กๆ บนฟ้าที่กว้างใหญ่ และที่สำคัญคือคนที่นี่ซาบซึ้งกับศิลปะ”

วรพจน์เล่าว่าจากการสังเกตของเขา คนน่านมีพื้นฐานทางศิลปะอยู่สูง ตั้งแต่บ้านเรือน การใช้ชีวิตไปจนถึงสถานที่ น่านมีหอศิลป์ทั้งของภาครัฐและเอกชนที่อยู่ได้ ศิลปินที่ทำงานศิลปะมีโอกาสมากพอให้เลี้ยงตัวเองไหว และงานกิจกรรมที่จัดอยู่เป็นประจำมีคนมาร่วมสม่ำเสมอ ยกตัวอย่างเช่นเมื่อปีก่อนหน้าที่วรพจน์และครูต้อม (ชโลมใจ ชยพันธนาการ) ร่วมกันเนรมิตงานเทศกาลบทกวี Nan Poesie ให้เกิดขึ้นที่ห้องสมุดบ้านๆ น่านๆ งานเทศกาลครั้งนั้นมีคนเข้าร่วมกว่า 200 คน

“ศิลปะจะเกิดก็ต่อเมื่อคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีเวลา คนน่านมีทั้งสองอย่าง ดังนั้นเลือดเนื้อของพวกเขาจึงมีศิลปะอยู่เข้มข้น บรรยากาศส่งเสริม ข้อมูลส่งเสริม พอเราจัดงานในที่ที่ดีแบบนี้ คนเลยพร้อมและเปิดใจยอมรับ”

อันที่จริงนี่ไม่ใช่ครั้งแรกหรอกที่เขาสร้างพื้นที่ใหม่ๆ ให้คนมารวมกัน เมื่อครั้งยังใส่กางเกงนักเรียนและหลงใหลในกีฬาฟุตบอล เขากับเพื่อนเคยร่วมกันปรับหน้าดินบริเวณทุ่งนารกร้างแถวหมู่บ้านเพื่อสร้างเป็นสนามฟุตบอล และไม่ใช่แค่สนามเดียว เขาบอกผมว่าในชีวิตที่ผ่านมา เขาทำแบบนี้มาไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง

“ถ้าไม่มีสนามให้เล่น และเราพอทำสนามได้ เราก็ทำ เราคิดแค่นั้น

“แน่ล่ะว่าต้นทุนในแต่ละจังหวัดไม่เท่ากัน ตอนนี้เรากล้าพูดว่าต้นทุนทางศิลปะของน่านเดินไป 5-6 แล้ว บางจังหวัดอาจจะยังอยู่ที่ 1 แต่เรารู้สึกว่าถ้าไม่เริ่มทำตั้งแต่ 1 มันยากที่จะเป็น 2-3 นะ

“น่านอยู่ไกลจากกรุงเทพฯ ตั้ง 700 กิโลเมตรแต่ยังทำแบบนี้ได้จากคนแค่สองคน ดังนั้นทำไมจังหวัดอื่นจะทำไม่ได้ล่ะ ถ้าคุณมี 10 คน ทำไมจะทำไม่ได้” เขาย้อนให้ผมคิด

“สิ่งนี้คือความสุข” ผมย้ำตามที่เข้าใจ

“ส่วนหนึ่งใช่ แต่ไม่ได้อยากทำขนาดนั้นหรอก ที่ทำเพราะว่าไม่มีใครทำ นี่ไม่ใช่อาชีพเราด้วยซ้ำ

“อาชีพเราคือนักเขียน”

4

เช้าวันรุ่งขึ้นฝนไม่ตก

ท้องฟ้าน่านสดใสตรงกันข้ามกับคำพยากรณ์ที่ผมดูมาก่อนหน้า แสงแดดจากดวงอาทิตย์กลับมาร้อนระอุราวกับธรรมชาติกำลังพยายามชดเชยความชื้นแฉะของเมื่อวาน

วันนี้ผมนัดเจอกับวรพจน์ในเมืองอีกครั้งเพื่อสนทนากันต่อยาวๆ พร้อมถ่ายรูปแถวคันนาที่เขาชอบซื้อเบียร์ไปนั่งจิบพักผ่อน

แต่ช่วงสาย เสียงโทรศัพท์ผมดังขึ้น

“แดดออกแล้ว ถ้าอยากเข้ามาบ้านก็ได้นะ” เสียงของวรพจน์อยู่ที่ปลายสาย

“หรือถ้าอยากกินเบียร์ด้วยกัน คุณซื้อเข้ามาก็ได้”

วรพจน์

5

ผมเข้าใจสิ่งที่เขาบอกเมื่อวานขึ้นมาทันทีเมื่อมาถึงปากซอยเข้าบ้าน สิ่งที่เห็นคือสภาพพื้นถนนที่เป็นเพียงแค่ทางดินถูกถางไว้คร่าวๆ หลุมบ่อตามทางเจิ่งนองไปด้วยน้ำที่เปลี่ยนดินแห้งให้กลายเป็นโคลนที่ทำรถติดหล่ม โชคดีอยู่บ้างที่วันนี้ถนนบางส่วนถูกถมด้วยหินกรวด ผมถึงเข้ามาได้

แต่พอรถจอดหน้าบ้านเขา สายฝนกลับตกลงมาอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย

“เมื่อเช้ายังมีแดดอยู่เลย พวกคุณพาฝนมาด้วยนี่” เขากล่าวทักทายอย่างอารมณ์ดี พร้อมเชิญให้ผมและช่างภาพเข้าไปหลบฝนในสวนไผ่รำเพย–บ้านของเขาที่ตั้งชื่อตามเพื่อนสนิท (ไผ่–ไม้หนึ่ง ก.กุนที) และชื่อลูกสาวที่เขารัก

“เดี๋ยวนั่งคุยกันตรงนี้ก่อนแล้วกัน ฝนหยุดแล้วค่อยถ่ายรูป” เขานำผมฝ่าฝนตรงไปที่ห้องตรงข้ามบ้านที่เป็นทั้งห้องครัวและห้องสมุด เราสามคนจัดแจงหาที่นั่งและเมื่อได้ที่เหมาะเจาะ แต่ละคนก็เริ่มเทเครื่องดื่มสีเหลืองอำพันลงในแก้วของตัวเอง และเริ่มดื่มอึกแรกของวัน

“คุณสัมภาษณ์คนอื่นมาก็บ่อย พอช่วงหลังๆ ถูกสัมภาษณ์เสียเองรู้สึกยังไงบ้าง” ผมเริ่มตั้งคำถาม

“เราทำงานมาขนาดนี้ ดังนั้นเราเข้าใจเนื้องานอยู่แล้ว เรามีหน้าที่ตอบ ส่วนคุณจะเอาอะไรไปเขียนก็เรื่องของคุณ” อาจจะฟังดูกวนแต่เปล่าเลย น้ำเสียงของเขาเรียบเฉยตามประสบการณ์จริงที่ผ่านมา

16 มีนาคม 2536 คือวันแรกที่วรพจน์เริ่มต้นเส้นทางสายน้ำหมึกโดยการทำงานเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์ ผู้จัดการ หลังจากวันนั้น ทางสายนี้มีแต่จะกว้างและลึกขึ้น ทั้งในแง่ของคุณภาพงานไปจนถึงการขยับขยายมาเริ่มต้นชีวิตคนทำนิตยสารกับ GM, open, WRITER ก่อนจะกลายเป็นนักเขียนอิสระแบบทุกวันนี้

“พอเราชอบอาชีพนี้ มันเหมือนนักบอลที่อยากเล่นให้ดีขึ้น” เมื่อคุยเรื่องงาน ไม่ว่าใครชวนคุย บ่อยครั้งที่เขาจะเปรียบการทำงานกับการเล่นฟุตบอล

“ถ้าตอนแรกฝีเท้าเราอยู่ลีกระดับล่าง เราอยากพัฒนาตัวเองขึ้นมาให้อยู่ระดับไทยลีกให้ได้ ถ้าไทยลีกเล็กเกินไป เราต้องไปเล่นที่ญี่ปุ่น ถ้าญี่ปุ่นเอาไม่อยู่ เราต้องไปเยอรมนี มันเรียกว่าความทะเยอทะยานหรือเปล่า เราไม่รู้นะ รู้แค่ว่างานนี้สนุก ถ้าทำออกมาไม่ดีจะไม่สนุก หรือถ้ามีผลงานเราน้อยในวันที่นิตยสารออก นั่นก็ไม่สนุก”

“เวลาทำงานดี เหมือนยิงประตูได้” ผมเปรียบเปรยตามเขา

“ใช่ เราสะใจ เราไม่ได้สนใจหรอกว่าคนอื่นจะทำมากทำน้อยเพราะเงินเดือนก็ได้เท่าเดิม แต่เราเองนั่นแหละที่อยากทำให้เยอะและดีขึ้น

“เรามองว่างานที่ทำคืองานศิลปะ ดังนั้นเราทำเท่ากับตัวเองเมื่อวานไม่ได้ เราต้องคิดใหม่ไปเรื่อยๆ ผลออกมาคนอื่นจะพอใจไหม เราไม่รู้ รู้แค่ว่าถ้าทำได้เราจะพอใจ บางทีคิดงานดีๆ ออกมาได้เรามีความสุขไปเป็นเดือน มันเป็นความสุขลึกที่ไม่มีใครมารู้กับเราหรอก แต่เราเคยลิ้มรสชาตินั้นแล้ว เรารู้จักความไพเราะนั้นแล้ว ดังนั้นพรุ่งนี้ต้องตั้งใจให้ดีกว่า จะออกมาดีไหมไม่รู้ รู้แค่ต้องเริ่มต้นจากความพยายามให้ดีไว้ก่อน”

ผลงานตลอด 26 ปีที่ผ่านมาของวรพจน์น่าจะเป็นเครื่องยืนยันได้

ตั้งแต่แรกที่ทำงานข่าว ถึงแม้จะเจอแหล่งข่าวเดียวกันกับหนังสือพิมพ์หัวอื่น เขาจะพยายามเขียนถ่ายทอดออกมาให้แตกต่างและลึกกว่าเสมอ หรือตอนที่ย้ายตัวเองมาทำนิตยสาร แทบเป็นเรื่องปกติที่วรพจน์มักขลุกอยู่กับคนที่เขาสัมภาษณ์นานหลายชั่วโมงจนถึงหลายวัน ถึงขนาดพาตัวเองเข้าไปอยู่ในห้องผ่าศพก็เคยมาแล้วเพื่อให้ได้บทสัมภาษณ์ที่เขานิยามว่าต้องดีที่สุดในชีวิตสำหรับคนนั้น–ในเวลานั้น

“ถ้าทำชุ่ยๆ เราเองนั่นแหละที่รู้อยู่แก่ใจ งานที่เราทำมีความหมายต่อบางคนนะ บางครั้งเราไปสัมภาษณ์ตามปกติ แต่พออีกครั้งที่เราไปเจอ เขาตัดหน้ากระดาษบทสัมภาษณ์เก็บใส่กรอบไว้ที่บ้านก็มี งานที่เราทำมีความหมายขนาดนั้น อะไรแบบนี้ทำให้เรารู้ว่าต้องทำให้ดี ทำแบบพอผ่านหรือทำแบบอยู่ๆ ไปไม่ได้

“ถ้าทำงานแบบเช้าชามเย็นชามไปเรื่อยๆ เวลาของคุณจะลดลง ความแข็งแรงของคุณจะลดลง พร้อมกับเด็กใหม่ที่เกิดขึ้นมา ยิ่งถ้าคุณไม่หาความรู้เพิ่มและอยู่กับการกินบุญเก่า สิ่งที่คุณมีจะสวนทางกับความชราที่เพิ่มขึ้น สำหรับเรา การเติบโตของมนุษย์ควรก้าวไปข้างหน้า ถ้ามัวปล่อยนิ่งเฉยดูดาย คุณจะกลายเป็นไดโนเสาร์ผู้พ่ายแพ้ให้กับกาลเวลา เพราะไม่เข้าใจเกมของมัน”

ฝนยังคงตกอยู่ ส่วนภาพฉากหลังคือชั้นหนังสือที่กว่ายี่สิบเล่มบนชั้นคือผลงานของเขา มันทำให้ผมนึกถึงนิยามของคำว่าวินัย

“มันมีความเหนื่อยอยู่แล้วนะ ชอบไม่ได้แปลว่าจะไม่มีปัญหาหรือความทุกข์ ทุกอย่างประกอบกัน เพียงแต่สำหรับเรา 90 เปอร์เซ็นต์คือความชอบ ทุกข์บ้างเหนื่อยบ้างเป็นเรื่องปกติ อดตาหลับขับตานอนหรือปูหนังสือพิมพ์นอนสลบที่ออฟฟิศเป็นประจำ แต่แค่เบียร์ขวดหนึ่งก็กลับมามีแรงแล้ว

“เหมือนเตะบอลน่ะ ออกมาพักข้างสนามสามนาทีก็หาย”

วรพจน์

6

เวลาผ่านไปร่วมชั่วโมงพร้อมกับฝนที่เริ่มซา

ผมตัดสินใจพักการสนทนาเพื่อเริ่มถ่ายรูป หลังจากช่างภาพถ่ายไปสักพัก วรพจน์ขอตัวเข้าไปในบ้านเพื่อเปลี่ยนจากเสื้อสีเทาเป็นสีแสด

“จะได้ตัดกับสีต้นไม้และเห็นชัดขึ้น” เขาแนะนำจากประสบการณ์ตัวเอง

ระหว่างเดินถ่ายตามที่ต่างๆ เขาถือโอกาสเล่าให้ผมฟังถึงจุดอื่นๆ รอบตัวบ้าน ตั้งแต่เรื่องสวนยางที่เขาชอบ เรื่องมดและตะขาบที่แอบเข้ามาในบ้านเป็นประจำ ไปจนถึงเรื่องต้นไม้ที่เขานำมาปลูกตั้งแต่ต้นสูงเท่าหัวเข่าจนปัจจุบันนี้เติบโตไปทัดเทียมกับต้นอื่นๆ ในป่าแล้ว

ภายใต้ร่มไม้ เรายังคงคุยกัน

“เวลาไปสัมภาษณ์ คำบอกเล่าเหล่านั้นทำให้เราเติบโตมากน้อยแค่ไหน”

เขานิ่งคิดนานก่อนจะตอบ “เหมือนมาช่วยยืนยันมากกว่า” 

“เราไม่ใช่คนอิงกลุ่ม ตั้งแต่เด็ก เรามีเชื้ออยู่ประมาณหนึ่งในการตั้งคำถาม อะไรที่คนส่วนใหญ่คิดหรือเฮโลกันไป เราจะยิ่งไม่ทำ สันดานเราคือเวลาใครทำอะไรเยอะๆ เราจะรำคาญ ไม่ต้องมีใครบอกเราว่าต้องคิดหรือทำอะไร เราแค่เป็นตัวของตัวเอง ดังนั้นอะไรที่ได้ยินเลยไม่ได้เปลี่ยนเราแบบฟ้าผ่า หน้ามือเป็นหลังมือขนาดนั้น แต่มันคล้ายๆ กับการสะสมไปเรื่อยๆ”

วรพจน์

เขาเริ่มเล่าอดีตของตัวเองให้ผมเห็นภาพชัดขึ้น

ช่วงมัธยมต้น เด็กชายวรพจน์ตัดสินใจบวชเรียนด้วยตัวเองเพราะอยากประหยัดค่าใช้จ่ายที่บ้าน แต่พอเข้าช่วงมัธยมปลาย แม้จะทำหน้าที่เณรได้ดีแต่เขากลับเลือกสึกออกมา เพราะชอบฟุตบอลและเสียงดนตรีที่ได้ยินข้างวัดมากกว่า หรือในช่วงมหาวิทยาลัยที่เขาเห็นทุกคนต่างตั้งใจร่ำเรียน เขาเลือกที่จะแปลกแยกโดยเรียนแค่พอผ่านแม้รู้ว่าตัวเองทำได้ดีกว่านั้นเพราะเบื่อ สิ่งเหล่านี้มั่นคงอยู่ทั้งในการทำงาน ความคิด และตัวตน

“สิ่งที่เราชอบมักเอียงมาทางความเป็นส่วนตัวมากๆ และไม่ค่อยไปทางคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่ว่ารังเกียจสิ่งที่คนส่วนใหญ่ชอบนะ แต่ธรรมชาติเราเป็นแบบนั้น เหมือนงานเขียนหนังสือ เราไม่อยากพูดให้คน 2 ล้านคนฟัง แต่เราอยากทำงานออกมาแบบเป็นส่วนตัวที่เอาแต่ใจได้มากกว่า ถ้าสุดท้ายคนชอบ 5 ล้านคนก็ดี แต่ถ้ามีคนชอบแค่ 5,000 ก็ช่วยไม่ได้ เพราะเราชอบแบบนี้ เหมือนเราไม่ยึดติดกับคนส่วนใหญ่หรืออะไร เราเป็นพวกพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เราเชื่อว่าทุกอย่างต้องเคลื่อนได้ เริ่มต้น จบได้ และเปลี่ยนได้

“อย่างก่อนหน้าที่จะเข้ามาทำงานสื่อมวลชน หนังสือที่เราอ่านคือผลพวงของยุคคนเดือนตุลาฯ พูดง่ายๆ ว่าพื้นความคิดเรามาจากวรรณกรรมเพื่อชีวิต ภาพเดิมเราถูกหล่อหลอมให้เกลียดบริโภคนิยม เราเชื่อหนักแน่นว่าชาวนาสุดยอด แต่พอเรามาทำงานนักข่าวที่ ผู้จัดการ ที่เป็นหนังสือพิมพ์ธุรกิจ เราได้เห็นอีกด้านหนึ่ง มันเปลี่ยนมุมมองเราใหม่ว่าคนจนเลวๆ ก็มี นายทุนดีๆ ก็มี ความเลวความดีไม่ได้อธิบายด้วยอาชีพ อะไรแบบนี้ทำให้เราขยับเข้าไปสู่พื้นที่และความเชื่อใหม่ๆ หน้าที่การงานสอนบทเรียนให้เราฟังและคุยก่อนที่จะตัดสินคุณค่าในอะไรก็ตาม อย่าฉาบฉวยไปกับเปลือก ดังนั้นสำหรับเรา อาชีพนี้โคตรดีเลย เกือบทั้งหมดของชีวิตเราเลยมีแต่งาน เราอยู่มาด้วยแพสชั่นแบบนี้ที่ไม่เคยลดลง มากเหมือนเดิมตลอดเวลา”

วรพจน์

“ในวันที่สื่อสิ่งพิมพ์เริ่มตายจากไป คุณสั่นคลอนบ้างไหม”

“ตอนแรกฟูมฟายแต่ตอนนี้เราไม่รู้สึกอะไรแล้วล่ะ เพราะในเวลานั้นเราได้สบตากับทุกความเจ็บปวด ได้เห็นว่ารุ่งเรืองคืออะไร ร่วงโรยคืออะไร ทุกอย่างเกิดขึ้นตรงหน้าเราจนไม่รู้สึกคาใจอะไรอีก

“เราพูดกับคนที่เรียนนิเทศศาสตร์หรือวารสารศาสตร์เสมอว่า ถ้าสิ่งพิมพ์จะตายก็ให้ตายไปสิ แต่เราเชื่อว่านักหนังสือพิมพ์หรือคนเขียนหนังสือไม่มีวันตายหรอก เพราะจะตายไม่ตายขึ้นอยู่กับคุณ ถ้าตอนที่มีกระดาษแล้วคุณทำตัวแย่ คุณก็ตาย หรืออย่างตอนนี้ถ้าคุณไม่เต็มที่กับโลกออนไลน์ คุณก็ไม่รอด เราเป็นเม็ดทรายเม็ดหนึ่งในโลกข่าวสารเทคโนโลยีแค่นั้น แค่ปรับตัวและตั้งใจก็พอ”

เสร็จสิ้นการถ่ายรูป เรากลับมานั่งที่เดิม แสงอาทิตย์ลาลับไปสวนทางกับขวดเบียร์เปล่าที่เพิ่มจำนวน เสียงสนทนาของเราเริ่มดังขึ้นในป่าใหญ่

“คุณดูมีชีวิตที่ดี ทั้งในแง่งานและส่วนตัว”

“ชอบทุกอย่างนะ เป็นช่วงชีวิตที่ดีมาก”

“ไม่มีอะไรไม่ดีเลยเหรอ”

“ความเหี้ยประการเดียวของชีวิตตอนนี้คือรัฐบาล”

วรพจน์

7

ผมไม่แปลกใจนักกับคำพูดของวรพจน์

ถ้าตามอ่านงานของเขาในระยะ 5-6 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าเขานำเสนอประเด็นสังคมและการเมืองอยู่บ่อยๆ ทั้งในช่องทางออนไลน์หรือสิ่งพิมพ์

เปล่า, ผมไม่ได้จะมาบอกว่าเขาเชียร์ฝั่งไหนหรือเป็นสีอะไร เพราะถ้าว่ากันตามจริง นั่นเป็นแค่หนึ่งในหลายความเห็นเท่านั้น ยังมีนักคิดนักเขียนอีกมากที่แสดงออกเรื่องการเมืองอย่างโจ่งแจ้ง เบาบ้างหนักบ้างปะปนกันไป แต่ในมุมมองของวรพจน์ สิ่งที่น่ากังวลไม่ใช่เรื่องที่ว่าคุณเห็นชอบกับฝั่งไหน แต่เป็นสิทธิที่จะบอกเรื่องเหล่านั้น ในตอนนี้นักเขียนบางคนถึงกับถูกขู่ตักเตือน บางคนถูกทำร้าย บางคนติดคุก บางคนลี้ภัย หรือที่ร้ายแรงที่สุด บางคนถึงแก่ชีวิต

“ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าทุกยุคทุกสมัย การเป็นสื่อมวลชนหรือนักเขียนมีความยาก-ง่ายทั้งนั้น เราแค่ต้องหาวิธีถ่ายทอดออกมาให้ได้ แต่ถ้าถามเรา เราว่าตอนนี้นักเขียนกำลังอยู่ในวันเวลาที่ยาก เพราะประเทศกำลังอยู่ในวันเวลาที่ยาก มันเป็นภาพสะท้อนกันเสมอ” คำตอบของเขาทำให้ผมหวนนึกถึงคำพูดบนเวทีเสวนาที่หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน

“เราย้ำมาตลอดว่าอาชีพของเราคือการเล่าเรื่องและเราไม่อยากทำอาชีพอื่น เวลาจะเล่าเรื่องอะไร เราจะดูว่าเรื่องนั้นสำคัญหรือเปล่าเพราะถ้าว่ากันตามตรง เราเองมีเวลาจำกัด ดังนั้นในวันเวลาที่แข็งแรง เราอยากเล่าเรื่องที่สำคัญของช่วงเวลานี้ แต่ปัญหาคือเพดานการเล่าเรื่องของประเทศเราในปัจจุบันต่ำมาก เราเป็นมนุษย์ ไม่ใช่สัตว์ ความพิเศษของมนุษย์คือพูดได้เขียนได้ ดังนั้นถ้าไม่ให้เราพูด เราไม่รู้จะนับถือตัวเองจากอะไร”

“หลายคนอาจจะบอกว่าเขียนเรื่องอื่นที่ไม่มีปัญหาก็ได้นี่” ผมเปรยความเห็นที่หลายคนอาจจะคิด

“นั่นเป็นคำบอกที่บัดซบมาก” แม้น้ำเสียงจะยังเรียบเฉย แต่ผมรับรู้ว่าเขาไม่เห็นด้วย

วรพจน์

“ถ้าพูดเรื่องดอกกุหลาบได้ ทำไมเราจะพูดเรื่องทะเลทรายไม่ได้ ถ้าพูดเรื่องน้ำได้ ทำไมเราจะพูดเรื่องฟ้าไม่ได้ สำหรับเรา การมีพื้นที่ต้องห้ามสะท้อนความวิปริตนะ

“มนุษย์มีอำนาจที่จะเดินไปข้างหน้า เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา หรือยูเทิร์นกลับมา แล้วทำไมคุณต้องลิดรอนเสรีภาพของตัวเอง ทำไมต้องปักหัวตัวเองลงและสะกดจิตว่าห้ามเดินไปทางไหน ทำไมคุณทำลายศักยภาพของตัวเองแบบนั้น คุณไม่รู้สึกว่าสิ่งนี้วิปริตเหรอ มันไม่แปลกไปเหรอ” เขาย้อนถามโดยไม่ต้องการคำตอบ

“สิ่งที่เราทำไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการทำตามอาชีพ เราเป็นนักเขียน เราหาวิธีเล่าเรื่องและแสดงความคิดเห็น ถ้าใครไม่เห็นด้วยกับที่เราเขียน คุณแค่เถียงมา เราทำงานในที่แจ้งและใช้ชื่อจริง เราไม่เคยเขียนในที่ลับอยู่แล้ว ถ้าคุณเห็นไม่ตรงกับที่เราเขียน คุณคัดค้านมาสิ ถ้าความเห็นเราแย่จริงๆ เดี๋ยวมันก็พินาศไปเอง หรือไม่ต้องพูดถึงเราก็ได้ ยกตัวอย่างเช่นถ้ารัฐบาลบอกว่าความคิดของนักวิชาการคนนี้อันตราย คุณเขียนตอบโต้เขาไป แสดงความคิดที่ดีออกมา ถ้าความคิดนั้นดีจริง เดี๋ยวความคิดคนอื่นจะตกไปเอง แต่ถ้าความคิดของคุณแย่กว่า นั่นแปลว่าอะไรล่ะ

“สำหรับเรา คำว่า ‘ความคิดอันตราย’ หรือคำว่า ‘ล้างสมอง’ คือสิ่งที่โคตรเชยและบัดซบ เวลาเราได้ยินใครพูดว่าคนหนุ่มสาวหรือเด็กๆ จะโดนล้างสมอง สิ่งแรกที่เราคิดคือไอ้คนพูดต้องเอาสมองไปล้างเสียบ้าง หยากไย่ขึ้นเต็มสมองคุณแล้ว เพราะถ้าคุณคิดว่าปัญญาชนหรืออนาคตของชาติจะโดนล้างสมองได้ง่ายขนาดนั้น เราจะบอกว่าเขาไม่ใช่ควายนะเว้ย และเราจะถามคุณกลับด้วยว่าแล้วที่พูดออกทีวีมาห้าปี ทำไมคนถึงไม่เชื่อ”

“แต่ถ้าไม่พูด คุณจะปลอดภัยกว่าหรือเปล่า” ผมแย้งเพื่อให้เขาขยายความต่อ

“เราเป็นนักเขียน เราต้องทำหน้าที่นักเขียน คุณค่าเราอยู่ตรงนั้น ก่อนหน้านี้เราอยากพูดอะไรเราต้องทำได้ แต่ตอนนี้ถามว่าจะปิดหู ปิดตา มัดปาก ล่ามโซ่ตัวเองอยู่กับบ้านโดยไม่พูดอะไรแล้วจะอยู่ได้ไหม ก็อยู่ได้ เดินชมดอกไม้ กินอิ่ม นอนหลับ แต่ในทางจิตวิญญาณ มันไม่ได้ว่ะ

“เรายืนยันว่าเราไม่ได้อยากติดคุกเลยนะ ไม่ได้อยากลี้ภัย แต่ถ้าให้อยู่ในประเทศนี้แล้วทำตัวเป็นก้อนหิน เราทำไม่ได้เหมือนกัน เราต้องพูดและทำเท่าที่ทำได้ ซึ่งทุกวันนี้พยายามแสดงออกอย่างระมัดระวัง เจียมเนื้อเจียมตัว และสุภาพที่สุดแล้ว

“อย่างเมื่อไม่กี่วันก่อน เราตั้งสเตตัสในเฟซบุ๊กว่า ‘แบงก์พันของไต้หวันเป็นรูปเด็กหญิง-ชายรุมล้อมกันดูแผนที่โลก’ เชื่อไหม เรานั่งคิดอยู่ 5 นาทีว่าจะโพสต์ดีไหม ทั้งๆ ที่นี่คือข้อเท็จจริงสั้นๆ ที่น่าสนใจ เราภาคภูมิใจที่ได้เล่าให้คนฟัง แต่เนี่ย ดูสิ ทำไมต้องมากังวลว่าพูดแค่นี้จะติดคุกด้วย

“ถ้าไม่ให้พูดอะไรเลยแล้วเราจะเป็นนักเขียนไปทำไม เราจะเคารพตัวเองจากอะไร”

เขาย้ำประโยคนี้เป็นครั้งที่สอง

วรพจน์

8

แม้การย้ายมาอยู่น่านจะให้ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขนาดไหน แต่วรพจน์เล่าให้ผมฟังว่าในท้ายที่สุด เขาไม่สามารถผ่อนคลายหรือใช้คำว่าสุขสบายได้เต็มปากเต็มคำ

ปัญหาเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นเป็นเพียงหนึ่งในร้อยปัญหาเท่านั้นสำหรับเขา นอกป่าแห่งนี้ยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นโดยไม่เป็นธรรมและยังดำเนินไปเรื่อยๆ โดยไม่มีใครรู้จุดจบ ในท้ายที่สุดแล้วถ้าผลสรุปออกมาเป็นตรงกันข้ามกับสิ่งที่หวัง เขาบอกผมว่าการพาตัวเองจากไปคงเป็นทางออก

“สำหรับเรา ปัญหาหลักๆ ในประเทศคือโครงสร้างอำนาจ ตอนนี้ระบอบประชาธิปไตยของประเทศเราไม่ชัดเจน เหมือนเราตกลงกันว่าจะเป็นประชาธิปไตย แต่ผู้ใช้อำนาจหลักกลับไม่ใช่ประชาชน ดังนั้นในความเห็นเราคือตอนนี้ระบอบการปกครองกลายเป็นอีกแบบหนึ่ง ทีนี้เลยเกิดภาวะงงๆ ประชาชนงง ผู้ใช้อำนาจงง คนถือปืนเองยังงงเลย (นิ่งคิด) เอาจริงจะเป็นอะไรก็ได้นะ แต่ช่วยชัดเจนกับเราทีเถอะ

“ถ้าผู้ใช้อำนาจจะเป็นเผด็จการก็เป็นไป ขอแค่บอกมา ไม่ใช่มาเป็นเผด็จการแบบเขินๆ อย่างตอนนี้ เราจะมีกฎหมายกันไปทำไมในเมื่อคุณถือปืนอยู่เหนือกฎหมายอยู่ดี ช่วยบอกเรามาเลยว่าต่อจากนี้จะปกครองกันด้วยปืน ไม่ก็ช่วยบอกมาเลยว่าห้ามมีอาชีพนักเขียนในประเทศนี้ หรือจัดเลือกตั้งอย่างเสรีก็ได้ ถ้าผลออกมาว่าคนในประเทศนี้เลือกเผด็จการจริง เรายอมรับนะ และเราจะย้ายไปอยู่ที่อื่น แต่ถามหน่อยเถอะ เลือกตั้งที่ผ่านมามีความยุติธรรมตรงไหน ใครบอกว่านั่นคือความเสรีบ้าง

“ความจริงเราไม่ได้อยากไปไหนหรอก เราชอบเมืองไทยและจังหวัดน่านจะตาย แต่ถ้าสังคมการเมืองแย่จนไม่น่าอยู่หรือเลยมาถึงการที่เราทำอาชีพไม่ได้ เราจะอยู่ได้ยังไง เราไม่อยากเป็นช่างไม้ เราไม่ได้อยากไปขับรถสาธารณะเสียหน่อย แต่อาชีพเราไม่ปลอดภัยเลยว่ะ

“ทุกวันนี้เราโมโหทุกครั้งเวลาเห็นถนนเข้าบ้านตัวเอง พอโครงสร้างอำนาจไม่ชัดเจน ครึ่งๆ กลางๆ แบบนี้ รัฐบาลเลยใช้อำนาจผิดๆ ประชาชนไม่ใช่สิ่งสำคัญอันดับแรกของประเทศนี้อีกแล้ว เราไม่ได้สร้างชาติโดยส่งเสริมให้ประชาชนมีศักยภาพอีกต่อไป โครงสร้างอำนาจทำให้เราบริหารการเงินโดยเอาไปซื้อปืน ซื้อรถถัง กลายเป็นเรื่องปัจเจกว่าใครแข็งแรงพอจะสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ แต่ภาพรวมจะเป็นยังไงก็ให้ตามมีตามเกิด”

วรพจน์

“รู้สึกยังไงเวลาคนบอกว่าตอนนี้ประเทศไทยควรสามัคคี เราไม่ควรมีเรื่องกันแล้ว” ผมยกคำพูดของนายกรัฐมนตรีมาถามเขา

เขาถอนหายใจยาวก่อนจะพูดด้วยเสียงเบื่อหน่าย “เราไม่ได้อยากมีเรื่องนะ เรื่องน่ะมีอยู่แล้ว ที่สำคัญคือคุณนั่นแหละเป็นคนก่อเรื่อง เราอยู่บ้านที่น่านและไม่ได้หาเรื่องเองเลย

“เรื่องเหล่านี้ต้องพูดได้ ถกเถียงได้ เราควรคุยกันในที่แจ้งเวลามีปัญหา ในความเห็นเรา ความขัดแย้งและความเห็นต่างคือเรื่องปกติ คุณจะกลัวอะไรกับความเห็นต่าง ใช่ เรารู้ว่าในกาลสมัยหนึ่ง ความสามัคคีคือเรื่องจำเป็น แต่ในความเห็นเรา สิ่งสำคัญในยุคนี้คือการที่มนุษย์แต่ละคนทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีมากกว่า

“เรารู้ว่าหลายคนคงรู้สึกว่าเราเป็นพวกฮาร์ดคอร์ หัวรุนแรง บ้าการเมือง หรือหาเรื่องใส่ตัว นั่นเป็นสิทธิเสรีภาพของคุณ เราไม่ว่าอะไร แต่ถ้าคุณรับรู้และเห็นความเป็นจริงที่เกิดขึ้นแบบที่เราเห็น คุณจะเข้าใจว่าเนื้อหาจริงๆ ของประเทศนี้คืออะไร คุณจะเข้าใจว่าไผ่ ดาวดินทำแบบนั้นเพราะอะไร แต่ถ้าคุณไม่รู้ คุณจะพิพากษาเขาโดยไม่ได้มองให้ละเอียด คุณจะเริ่มไม่รู้สึกต่อบางเรื่อง จิตใจจะด้านชาและหยาบไปเรื่อยๆ จนมืดบอดและกลายเป็นก้อนหินในที่สุด ซึ่งเราไม่อยากให้ประเทศไทยเป็นแบบนั้น”

ในห้วงนั้น แสงจันทร์สลัวเกินกว่าที่ผมจะมองเห็นหน้าเขาชัด แต่ผมเดาว่าภายใต้แสงเงานั้น วรพจน์คงทำหน้าเรียบเฉยตามเคยสวนทางกับตัวอักษรในใจที่คุกรุ่นพร้อมร่ายเรียงออกมาสื่อสาร รอเพียงแค่จังหวะเวลาที่เหมาะสม

“ทำไมการเล่าเรื่องที่อยากเล่าถึงจำเป็นต่อชีวิตคุณขนาดนี้” ผมถามขึ้นท่ามกลางความเงียบ

“เราคิดเสมอว่าเป้าหมายชีวิตเราไม่ใช่ความสุข ความสุขเป็นเหมือนกลางคืน กลางวัน อากาศร้อน อากาศหนาว เวลามาจะสลับกับความทุกข์ปะปนกันไป มันเป็นเรื่องปกติ ดังนั้นถ้าเลือกได้ เราอยากมีความหมายมากกว่า และอีกไม่นานหรอกมั้ง เราคงต้องตาย ในเมื่อเวลามีจำกัด เราอยากทำงานที่มีความหมายอย่างน้อยก็กับตัวเอง และถ้าคนอื่นเห็นความหมายนั้นด้วยเราก็ดีใจ แต่ถ้าไม่เห็นก็ไม่เป็นไร เรารู้ตัวในสิ่งที่ทำอยู่”

“การมีหลักการแบบนี้ทำให้คุณมีความสุขกับสิ่งอื่นน้อยลงไหม” ผมถามซ้ำ

“ความสุขอยู่ที่การได้เลือกนะ ไม่ได้อยู่ที่การครอบครอง เราไม่ได้วางความสุขตัวเองไว้ที่อย่างอื่น เราพาชีวิตตัวเองไปอยู่ในจุดที่ได้เลือกเสมอ เพราะชีวิตมีเรื่องที่เราเลือกไม่ได้ปะปนมามากพอแล้ว ดังนั้นเวลาเราเลือกได้ เราควรเลือกให้ถึงที่สุด

“เพราะถ้าคุณมีชีวิต คุณควรได้เลือกให้ถึงที่สุด”

บทสนทนาของเราที่สวนไผ่รำเพยหยุดลงตรงนี้

9

หลังจากพูดคุยกันจนมืดค่ำ วรพจน์ชวนผมดูการแข่งขันระหว่างฟุตบอลทีมชาติไทยกับทีมชาติเวียดนามต่อที่ร้านกาแฟของเพื่อนบ้าน

“วันนี้โค้ชคนใหม่ เราว่าน่าดู คุณอยากไปดูไหม” เขาว่า

ผมไม่ปฏิเสธ

เพียงไม่กี่นาที ผม ช่างภาพ และเขา ย้ายตัวเองจากกลางป่าออกมาที่ร้านกาแฟหน้าปากซอย

ตลอด 90 นาที เกมเป็นไปอย่างสูสี ทีมชาติไทยภายใต้การนำของโค้ชคนใหม่มีพัฒนาการสมกับที่หลายคนคาดหวัง แม้ผลสุดท้ายสกอร์จะจบลงที่ 0-0 แต่โดยรวมแล้วนักเตะทุกคนต่างสามัคคีและทำหน้าที่ของตัวเองได้เป็นอย่างดี

หลังจบการแข่งขัน เราตัดสินใจจัดการน้ำสีเหลืองอำพันขวดสุดท้ายพร้อมกับที่ผมถามคำถามสุดท้าย

“คุณยังหวังที่จะเห็นประเทศนี้ดีขึ้นไหม”

“เรารู้นะว่ามนุษย์ควรดำรงอยู่ด้วยความหวัง แต่สำหรับยุคของเรา เราไม่ค่อยเห็นความหวังแล้วว่ะ ความจริงที่อยู่ตรงหน้าดูยาก ดูเหนื่อย ดูนานกว่าจะแก้ได้ และไม่ใช่เวลาอันสั้นแน่ๆ ในเวลาที่เหลือเราคงต้องทำหน้าที่และยืนยันความเป็นมนุษย์ของตัวเองต่อไปแม้รัฐจะไม่ส่งเสริมใดๆ เลยก็ตาม

“ต่างกับคนหนุ่มสาวในยุคนี้ที่เราเห็นความหวังมากๆ พวกเขาโตมาในเทคโนโลยีที่ดี พร้อมกับสังคมที่ผู้ใหญ่ทำอะไรโจ่งแจ้งเสียเหลือเกิน ดังนั้นเขาจะเข้าใจคำว่าประชาธิปไตยได้เร็วกว่าเราและมีความหวังมากกว่า ถึงตอนนี้ผู้ใหญ่หลายคนจะใช้อำนาจไม่เป็นธรรมในการล้วงลูกไปเปลี่ยนข้อมูลตำราเรียนในโรงเรียน เราว่าไม่ได้ผลหรอก โดนเด็กยุคนี้หลอกหมดแหละ เพราะเทคโนโลยีอยู่ในมือพวกเขา

“เราแนะนำว่าถ้าหมดเวลา คุณวางมือไปเถอะ เดี๋ยวเด็กจะวิ่งชนเอา อย่าไปขวางเขาเลย คุณจะไปสู้อะไรเขาได้ เขาแค่อายุน้อยกว่า คนเรามีหน้าที่ในวันเวลาหนึ่งแค่นั้น ถ้าหมดแล้วก็วาง แผ่นดินไม่ล่มสลายหรอกถ้าไม่มีคุณ

“คุณไม่ได้สำคัญขนาดนั้น”

วรพจน์

10

ดึกคืนนั้น ผมและช่างภาพขับรถออกมาจากบ้านของ วรพจน์ ได้อย่างราบรื่น

ไม่รู้ว่าเขาสังเกตเห็นไหม แต่ท่ามกลางความมืดมิด ฟ้าเมืองน่านค่อยๆ เปลี่ยนไป เมฆสีส้มจางลงช้าๆ พระจันทร์และดวงดาวเริ่มออกมาเจิดจรัสสว่างไสว

ในที่สุด ฝนก็หยุดตกแล้ว

วรพจน์

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

ชีวิตต้องมีสีสัน