ตามนัดหมาย ผมควรพบ สุพจน์ ธีระวัฒนชัย ที่โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง สาขาพระราม 3 เวลาบ่ายสอง แต่ในความเป็นจริงเรากลับบังเอิญเจอกันก่อนหน้านั้นเวลาเที่ยงตรง
ไม่สิ, ใช้คำว่า ‘เจอกัน’ อาจไม่ถูกนัก แต่เป็นผมเองที่เห็นเขาเดินอยู่ไกลๆ ในห้างสรรพสินค้าระหว่างรอการสัมภาษณ์
“ผมไปทำงาน ไปกินไก่ย่าง พอดีอยากปรับสูตรไก่ย่างที่ร้านสักหน่อย” เมื่อเจอกันในช่วงบ่าย สุพจน์เล่าให้ผมฟังถึงการปรากฏตัวที่ห้างไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้า
ร้าน–เขาหมายถึงที่ที่เรากำลังนั่งคุยกัน โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดงคือร้านอาหารที่สุพจน์สร้างขึ้นด้วยหยาดเหงื่อท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2541 และประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว ในปีนี้โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดงกำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 22 พร้อมจำนวนลูกค้าทั้งสามสาขาเฉลี่ยรวมกันประมาณวันละพันคนและจำนวนพนักงานในตัวเลขเดียวกัน
งาน–เขาหมายถึงสิ่งที่ตัวเองยินดีลงทุนลงแรงและซื่อสัตย์ต่อมัน การทำร้านอาหารคืองานของเขา ดังนั้นอะไรที่เกี่ยวข้องกับโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง สุพจน์ตั้งมั่นกับตัวเองว่าต้องรู้ให้จริงและลึกที่สุด เขาจะไม่ยอมปล่อยผ่านรายละเอียดใดๆ ให้หลุดรอดสายตา แม้เรื่องที่ว่าเป็นแค่เมนูไก่ย่างในร้านก็ตาม
เมื่อปลายปีที่แล้วเรื่องราวของร้าน งาน และเส้นทางชีวิต ของสุพจน์ถ่ายทอดลงในหนังสือ เมื่อความจนเฆี่ยนตีผม โดยปลายปากกาของวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ความเรียงขนาด 200 หน้านี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีทั้งในแง่ยอดขายและคำชื่นชม ชื่อของเขาถูกพูดถึงเป็นวงกว้างในฐานะของเจ้าของธุรกิจร้านอาหารที่ประสบความสำเร็จ และเหตุนี้เองคือวาระที่ทำให้ผมมาพบเขาถึงที่
แต่เปล่า, ผมไม่ได้ให้เขาเล่าเรื่องราวในหนังสือให้ฟังอีกรอบ ผมอยากสืบเสาะลงไปภายใต้ตัวอักษรเหล่านั้นมากกว่า
การเติบโตในครอบครัวที่ฐานะยากจน การทำงานด้วยความเหนื่อยยาก ความล้มเหลวที่รุนแรงถึงขั้นล้มละลาย ความละเอียดจัดในทุกจุดของชีวิต และความสำเร็จที่เราเห็นกันในปัจจุบัน–ในช่วงเวลาเหล่านี้เขารู้สึกนึกคิดยังไงกันแน่ และอะไรคือแก่นแท้ที่ทำให้ชายคนหนึ่งลุกขึ้นสู้กับความจนจนหยดสุดท้าย
เมื่อทุกอย่างพร้อม เครื่องอัดเสียงเริ่มทำงาน สุพจน์กลับยกมือเบรกทุกอย่างไว้ และเริ่มเชื้อเชิญผมเข้าสู่โลกของเขา
“คุณอยากจิบเบียร์สักหน่อยไหม เบียร์ที่นี่อร่อยที่สุดในประเทศไทยนะ”
เจ้าของโรงเบียร์ชวนทั้งที มีหรือที่ผมจะปฏิเสธ
แก้วที่หนึ่ง
รอไม่นาน เบียร์โคโลญ 0.3 ลิตรในแก้วเย็นเฉียบก็มาวางอยู่ตรงหน้า
เมื่อแรกจิบผมค้นพบว่าสิ่งที่สุพจน์ว่าไว้ไม่ใช่ถ้อยคำที่เกินไปนัก เบียร์สดจากแท็บของโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดงแก้วนี้หมักบ่มออกมารสชาติขมกำลังดี ซ่านำ นุ่มตาม ดื่มแล้วลื่นคอ อร่อยสมกับที่เขาโฆษณาไว้
“สำหรับผมเบียร์เป็นโจทย์ที่ง่ายเพราะการรักษามาตรฐานทำได้ง่าย โรงเบียร์เราใช้ brewer เป็นคนเยอรมันตั้งแต่เปิดร้านจนถึงตอนนี้ ตัวผมเองก็ blind test สุ่มชิมทุกวัน เราไม่ทรยศสินค้า เราซื่อสัตย์ต่อมัน ดังนั้นเบียร์ร้านผมต้องรสชาติเหมือนเดิม ต่างกับอาหารที่ต้องพัฒนาตลอดเวลา”
สุพจน์ไม่ได้เรียนจบเชฟ เขาเรียนจบคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนำซ้ำประสบการณ์การทำงานของเขาก่อนหน้าโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดงก็ไม่เกี่ยวกับอาหารสักนิด (ใกล้เคียงที่สุดคือการช่วยแม่ทำกับข้าวที่บ้าน) แต่ในวันที่โรงเบียร์แห่งนี้เกิดขึ้นสุพจน์ตั้งใจตั้งแต่แรกว่าจะเปลี่ยนจากนายไม่รู้ให้เป็นนายรอบรู้ เขาต้องรู้ลึกรู้จริงให้มากที่สุดกับสิ่งที่ตัวเองทำ อะไรที่ไม่ทราบเขาจะศึกษาหรือใครที่มีวิชาเขาจะถาม ถึงขนาดไปลงเรียนวิชาการจัดการร้านอาหารที่มหาวิทยาลัยในวัยห้าสิบกว่าเขาก็ทำมาแล้ว
“ผมมักเปรียบเทียบเรื่องงานกับการหุงข้าว” หลังจากจิบเบียร์อึกใหญ่ เขาเริ่มอธิบายให้ผมฟัง
“ถ้าคุณอยากกินข้าวสวยที่หอมนุ่ม หนึ่งคือคุณจำเป็นต้องรู้จักเมล็ดพันธ์ุข้าว สองคือคุณต้องรู้ว่าตอนหุงต้องใส่น้ำมากหรือน้อยเพื่อให้เหมาะสมกับเมล็ดพันธุ์ของคุณ ไม่ใช่หนึ่งข้อนิ้วเหมือนกันหมด สามคือพอหุงเสร็จคุณต้องมาทดสอบคุณภาพอีกว่าข้าวที่ได้ดีพอหรือไม่ ดังนั้นคุณต้องรู้ว่าข้าวที่หุงดีควรเป็นยังไง เสร็จแล้วยังไม่พอ สี่คือคุณต้องคิดต่อว่าเสิร์ฟข้าวที่หุงมาแบบไหน ห้าคือแล้วหลังจากนั้นลูกค้าควรกินข้าวคุณด้วยวิธีการอะไร ช้อนกับตะเกียบต่างกันไหม
“คุณต้องใส่ความตั้งใจลงไปในสิ่งเหล่านี้ คุณต้องคิดเยอะๆ และลองทำ ต่อให้วันนี้ยังหุงได้ไม่ดี พรุ่งนี้ก็หุงใหม่ ถ้าไม่ดีอีกก็ไม่เป็นไร มะรืนหุงใหม่ ขอแค่คุณรู้ว่าที่ผ่านมาไม่ดีตรงไหน ตั้งใจไปเถอะ หุงต่อไปเถอะ ทำพลาดไปเถอะ ร้านไม่เจ๊งหรอก แต่ร้านจะเจ๊งแน่ๆ ถ้าคุณไม่ใส่ใจแม้แต่จะหุงข้าวให้หอมนุ่ม”
ไม่ใช่แค่ข้าว ในความเป็นจริงสุพจน์ใส่ใจศึกษาทุกรายละเอียดของโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดงในระดับที่เขายกตัวอย่างให้ฟังเสมอการพิสูจน์คำกล่าวนี้ทำได้ไม่ยาก แค่ลองชวนคุยถึงอาหารในร้าน เขาจะเล่าให้ฟังอย่างละเอียดยิบด้วยแววตาเป็นประกายพร้อมข้อมูลจากความใส่ใจที่มีมาตลอดสองทศวรรษ
“อย่างไก่ย่างตอนนี้มีปัญหาอะไร” ผมถามถึงต้นตอที่ทำให้เราเจอกันก่อนหน้าเวลานัดหมาย
“ผมเคลียร์ความสงสัยในใจไม่ออกว่าทำไมไก่ย่างร้านผมขายไม่ดี ทั้งที่ผมว่าอร่อย แต่ผมสงสัยว่าตัวเองอร่อยอยู่คนเดียวหรือเปล่า ดังนั้นถ้าอยากแก้ไก่ย่างผมก็ไปกินไก่ย่าง เจ้าไหนเด่นตรงไหนผมจะครูพักลักจำและพาทีมไปลองกิน ก่อนเข้ามาคุยกับคุณผมเพิ่งตัดสินใจบอกทีมให้แก้ไข คือให้ใช้ไก่บ้านตะนาวศรีเหมือนเดิมแต่หมักกระเทียมพริกไทยแบบโบราณ ไม่ใช่มาโรยตอนท้าย สำคัญคือเอาไปย่างแบบแห้ง นี่ให้เขาลองไปทำดูก่อน ทำเสร็จแล้วมาลองกินกัน
“อะไรแบบนี้กลายเป็นตัวผมไปแล้ว ทุกวันนี้เวลาไปนั่งร้านอาหารมันอดไม่ได้ที่จะมองหา เช่น เวลาเห็นผักคะน้าผมอดไม่ได้ที่จะรู้สึกว่าที่นี่หั่นคะน้าสวย เขาหั่นเฉียงแบบคนแต้จิ๋ว ถ้าเอาไปผัดและใส่น้ำมันหมูเยอะๆ จะอร่อยมาก ผมดูวัตถุดิบด้วยสายตาแบบนี้ หรือเวลาเจอของอร่อยผมอดไม่ได้ที่จะคิดว่า เฮ้ย ร้านเราต้องทำให้อร่อยแบบนี้ได้สิวะ เราเดินทางกันมาขนาดนี้แล้ว ถ้าตั้งใจเราต้องทำได้สิ”
ปัจจุบันโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดงมีเมนูใหม่ทุกๆ สามเดือน ครั้งละ 3-4 เมนู ที่มาของอาหารแต่ละเมนูล้วนมาจากความคิดและการสร้างสรรค์ของสุพจน์และทีมงาน จากเมนูใหม่ทั้งหมดนั้น ที่ผ่านมามีเมนูที่สุพจน์นิยามว่า ‘เข้าเป้า’ อยู่ประมาณครึ่งต่อครึ่ง แต่เมนูที่ได้รับความนิยมสูงจนได้บรรจุในเมนูหลักมีแค่ 1 ใน 10
แม้เป็นสัดส่วนที่น้อย แต่ด้วยจำนวนเท่านี้สุพจน์กลับบอกผมว่านี่คือความสำเร็จแล้ว
“ผมและทีมไม่เคยหยุดนิ่ง ผมคิดเสมอว่าเราต้องพัฒนาไปให้ไกลเกินกว่าที่ลูกค้าคาดหวัง เราต้องคิดต้องทำตลอด และผมคิดว่าลูกค้าเองก็สัมผัสได้ว่าร้านเรามีความเคลื่อนไหวอยู่เรื่อยๆ
“แม้มีเมนูที่ล้มเหลวบ้าง แต่ผมให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ลูกน้องผมสามารถเดินมาเสนอไอเดียเมนูใหม่หรืออะไรก็ตามกับผมได้ ลูกน้องสามารถเถียงผมได้ และถ้าผมผิดผมพร้อมพูดว่า ‘พี่พลาดแล้ว ถอยออกมาแก้ไขกันดีกว่า’ ถึงเป็นหัวหน้าแต่ผมผิดได้ เพราะสิ่งที่สำคัญกว่าคือพัฒนาการของร้าน
“ร้านนี้มีเวทีให้ลูกน้องผมขึ้นชกเสมอ ไม่ต้องคิดหรอกว่าตัวเองชกเก่งหรือเปล่า ขึ้นไปชกบนเวทีเถอะ มันดีกว่าชกลมอยู่บ้านแน่ๆ ต่อให้แพ้ เราจะได้สรุปว่าตัวเองแพ้เพราะอะไร และยกหน้าเราจะแพ้น้อยลง ผมไม่ได้บอกว่าชนะนะ แต่เราจะแพ้น้อยลงแน่ๆ เราจะแพ้ไปเรื่อยๆ จนถึงวันที่เริ่มชนะ และหลังจากนั้นแหละที่เราจะมาฉลองความสำเร็จกัน”
“มีเมนูที่อยากปรับปรุงช่วงนี้อีกไหม” ผมถาม
สุพจน์ชี้ไปที่หนึ่งในเมนูบนป้ายหน้าร้าน และนี่เป็นเมนูแนะนำที่ลูกค้าชื่นชอบติดอันดับต้นๆ
“ผมนัดกับทีมว่าในการประชุมครั้งหน้า เราจะแก้ต้มยำกุ้งน้ำข้นกันสักหน่อย ผมว่ามันจ๊าบได้กว่านี้
“นี่ไง ผมต้องไม่อยู่กับที่ ถ้าไม่เริ่มก้าวที่หนึ่ง เราจะมีก้าวที่สิบได้ยังไง”
แก้วที่สอง
‘โรงเบียร์แบบนี้อยู่ได้ไม่เกิน 2 ปีหรอก’
นี่ไม่ใช่ประโยคที่สุพจน์พูด แต่เป็นประโยคที่เขาได้ยินจนชินหูในช่วงปีแรกที่เปิดโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง
ย้อนกลับไปเมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดงถือเป็นร้านอาหารที่จุดกระแสและสร้างความนิยมในสังคมได้รวดเร็วมาก แม้เป็นร้านขนาดใหญ่ แต่ในเวลาไม่นานความนิยมของร้านก็พุ่งสูงจนมีคนจองคิวเต็มแทบทุกวัน นั่นเองที่นำมาซึ่งคำครหาว่าโรงเบียร์นี้จะเป็นเหมือนพลุที่ส่องแสงสว่างก่อนจะดับวูบโดยไว มันจะเหมือนกับร้านอาหารอื่นๆ ที่มักยืนระยะไม่ได้เพราะความเปลี่ยนแปลงและความสำเร็จที่ผ่านเข้ามาเร็วเกินไป
“ถ้าคุณรู้ว่าสิ่งที่คุณสร้างมาจะมีอายุแค่ 2 ปี คุณจะทำยังไง” สุพจน์ถามผมโดยไม่ต้องการคำตอบ “ผมโดนขู่มาตลอดว่าร้านนี้คงอยู่ได้ไม่นาน ได้ยินแบบนั้นผมก็กลัวสิ มันอยู่ได้แค่ 2-3 ปีเองเหรอวะ ผมไม่ยอมหรอก ผมจะสู้ และสิ่งที่ผมทำคือการดูแลร้านสุดฤทธิ์
“นึกออกไหมว่าผมคือผู้ให้กำเนิดร้าน นั่นแปลว่าอะไร นั่นแปลว่าผมเห็นเสาทุกต้นตั้งแต่ออกซ์ เชื่อม ผมเห็นการสร้างตั้งแต่ขั้นตอนการตอก เห็นรายละเอียดทุกอย่าง ผมยังจำได้ว่าห้องน้ำและแคชเชียร์ยุคแรกเป็นยังไง หรืออย่างบาร์ที่คุณเห็นผมยังจำได้ว่าตอนแรกมันไม่ได้สวยงามขนาดนี้ แต่พอเราตั้งใจทำ ร้านก็ค่อยๆ โตขึ้น ผมเองก็มีกำลังมากขึ้น ดังนั้นพอถึงจุดหนึ่ง ร้านต้องดูดีขึ้น อาหารต้องดีตาม หรือตรงไหนเริ่มผุพัง ผมก็ต้องรีบลุยแก้ไข เสาทุกต้น เก้าอี้ทุกตัว ต้องได้รับการดูแล
“ร้านนี้ทำงานและหาเงินให้ผม อย่าว่าแต่ผมคนเดียวเลย โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดงดูแลลูกน้องผมอีกเป็นพันคน ที่นี่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ ความฝัน และความหวัง ดังนั้นผมต้องทำให้ดีที่สุดเท่าที่พึงกระทำได้ ผมอาจไม่ได้ใหญ่โตจนถึงขนาดช่วยประเทศนี้ได้ แต่ผมตั้งใจทำร้านเพื่อช่วยคนที่อยู่กับผมได้ และผมเป็นคนที่ช่วยคนใกล้ตัวก่อนคนไกลตัวเสมอ”
“ทุกวันนี้เวลาเห็นร้านคุณรู้สึกยังไง” ผมถาม
“เหมือนเห็นลูกตัวเอง” สุพจน์ตอบเร็วโดยแทบไม่ต้องคิด
ถ้ายึดจากคำพูดของเขา สุพจน์มีลูกที่ชื่อโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง 3 สาขาแล้ว สาขาพระราม 3 ที่เรานั่งกันอยู่คือสาขาแรก สาขาที่สองคือแจ้งวัฒนะ และสาขาที่สามคือรามอินทรา จากร้านอาหารที่ออกแบบการสร้างอาคารให้คล้ายถังเบียร์ ปัจจุบันสิ่งที่สุพจน์ทำขยายใหญ่ไปไกลกว่านั้นมาก คำโปรยบนหนังสือ เมื่อความจนเฆี่ยนตีผม น่าจะเป็นคำจำกัดความถึงตัวเขาที่ตรงที่สุด–‘ชายผู้สร้างสรรค์อาณาจักร’
“ทำมากว่า 20 ปีจนใหญ่โตขนาดนี้ รู้สึกว่าร้านอยู่ตัวแล้วหรือยัง”
“ไม่” สุพจน์ส่ายหัวทันที ก่อนจะอธิบายให้ผมฟัง
“คุณจิ้มมาได้เลย ยังมีอีกหลายเรื่องที่ผมไม่รู้ อย่างไก่ย่างผมก็ยังไม่รู้ หรือส้มตำปลาร้าผมก็ไม่รู้ แอบบอกคุณก่อนก็ได้ว่าเดี๋ยวร้านผมจะมีส้มตำปลาร้าเป็นเมนูใหม่ ผมเป็นคนที่ไม่กินปลาร้านะ แต่พอร้านจะขายผมก็ต้องกินและรู้ให้ได้ว่าปลาร้าที่สะอาดและอร่อยอยู่ที่ไหน รสชาติเป็นยังไง ทุกวันนี้ผมต้องชิมไปเรื่อย ไม่ได้อยากกินขนาดนั้นหรอก แต่นี่คืองาน
“ผมมีอะไรต้องทำอีกเยอะ ทุกวันนี้เวลาเห็นหน้าลูกน้อง ผมพูดกับตัวเองตลอดว่า ‘ไอ้พจน์ มึงอย่าเพิ่งเป็นอะไรนะ’ ไม่ได้แปลว่าร้านนี้อยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีผม แต่ผมอยากอยู่เพื่อชวนพวกเขามาลองทำอะไรหลายๆ อย่างด้วยกัน ผมอยากเห็นพวกเขาลองผิดลองถูก ดังนั้นทุกวันนี้ผมคิดแต่ว่าทำยังไงถึงอยู่ได้นานที่สุด มันเกินจากคำว่ารับผิดชอบมาแล้วล่ะ มันกลายเป็นคำว่าหน้าที่ไปแล้ว
“ร้านเราจะประชุมกันทุกวันอังคารและผมประกาศเรื่องนี้กับลูกน้องอยู่เรื่อย ผมมักบอกพวกเขาเสมอว่า ‘ใครตื่นแล้วไม่อยากมาทำงานมาบอกพี่นะ’ เพราะสำหรับผมนั่นคือสัญญาณอันตรายแล้ว แต่ถ้าคุณตื่นแล้วอยากมาทำงาน แบบนี้สิเราถึงจะร่วมงานกันได้ เพราะไม่เคยมีสักวันที่ผมตื่นมาแล้วไม่อยากทำงาน ยังไงผมก็จะทำ จริงๆ งานนี้คืองานผม แต่ผมทำไม่ไหวจึงจำเป็นต้องมีพวกคุณ ดังนั้นต่อให้เหลือผมคนเดียวหรือต่อให้ร้านอาหารในประเทศนี้ต้องปิดทั้งหมด ผมยืนยันว่าโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดงจะปิดเป็นร้านสุดท้าย
“ให้มันรู้กันไปสิ ผมจะสู้และเดิมพันกับร้านนี้แหละ”
แก้วที่สาม
บทสนทนาท่ามกลางเครื่องดื่มสีเหลืองอำพันมักผ่านไปไวเสมอ
กับครั้งนี้ก็เช่นกัน หลังจากบทสนทนาของเราผ่านไปไม่นานนัก โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดงก็ถึงเวลาเปิดทำการ ลูกค้าเริ่มทยอยเข้าร้านจนหนาตา เสียงพูดคุยสังสรรค์เริ่มดังหนาหู กลิ่นเบียร์หอมฟุ้งและกลิ่นอาหารเย้ายวนอวลอยู่ในบรรยากาศ
“ทุกวันนี้ทุกคนเห็นแต่ด้านสวยงาม แต่จริงๆ โรงเบียร์เคยเจอวิกฤตนะ คุณอยากฟังไหม” ระหว่างนั่งมองภาพที่เกิดขึ้นตรงหน้า สุพจน์เสนอตัวเล่าเรื่องให้ผมฟัง
เป็นอีกครั้ง ที่มีหรือผมจะปฏิเสธ
“ผมแยกวิกฤตที่เคยเกิดขึ้นกับโรงเบียร์ออกเป็น 2 อย่าง คือวิกฤตภายนอกกับวิกฤตภายใน สองอย่างนี้ต่างกัน วิกฤตภายนอกจะกว้างแต่ตื้น ส่วนวิกฤตภายในจะแคบแต่ลึก
“สำหรับวิกฤตภายนอก หลักๆ มี 2 เหตุการณ์คือตอนที่เกิดวิกฤตทางการเมืองและน้ำท่วม ด้วยความที่เนื้อแท้คนไทยเป็นคนชอบสังสรรค์ ธุรกิจโรงเบียร์จึงสัมพันธ์กับอารมณ์ของสังคม ดังนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่สังคมตึงเครียดเราจะได้รับผลกระทบแน่ๆ ในเวลานั้นเหตุการณ์ร้ายแรงจนถึงขั้นที่บางสาขาต้องปิดชั่วคราว ลูกน้องผมแทบไม่มีรายได้ แต่ผมเลือกที่จะไม่เอาใครออก ภาษาผมคือเราต้องประคองกันไป อย่างตอนน้ำท่วมสิ่งที่ผมทำคือการเปิดสาขารามอินทราให้เป็นโรงอาหารแจกจ่ายชาวบ้าน เพราะนอกจากได้ช่วยชาวบ้าน ผมถือว่าในอีกทางหนึ่งผมได้ช่วยให้ลูกน้องมีงานทำและมีข้าวกิน ผลออกมาคือมันสนุกและชื่นใจมาก สุดท้ายเราก็ผ่านมันมาได้
“แต่กับวิกฤตภายใน นี่เป็นปัญหาที่ลึก ถ้าเอากรณีที่เห็นได้ชัดที่สุดคือลูกน้องผมถูกดึงตัว ไม่ว่าจะนักร้อง นักดนตรี ฝ่ายการจัดการ หรือคนครัว ผมโดนมาหมดแล้ว แต่สิ่งที่ผมทำคือต้องตั้งสติ จริงๆ ปัญหานี้แก้ไม่ยาก แค่หาคนแทน เพียงแต่มันต้องใช้เวลาเพราะการทำให้คนเป็น specialist ต้องใช้เวลาประมาณ 6 เดือน ดังนั้นผมแค่ต้องอดทนและเชื่อมั่นว่าร้านจะไม่ล่มสลาย ผมแค่ต้องสร้างคนขึ้นมาใหม่”
“ไม่โกรธหรือที่ลูกน้องหนีไป” ผมถาม
“ห้ามโกรธ คุณต้องไม่โกรธเขา คุณลองคิดดูดีๆ เป็นเพราะผมหรือเปล่าที่เลี้ยงดูเขาได้ไม่ดีเขาถึงไม่อยากอยู่กับผม เป็นเพราะผมหรือเปล่าที่เป็นนายที่ไม่ดีเขาถึงต้องไปหานายใหม่ ผมเป็นนายที่แย่มากหรือเปล่าที่ให้บางอย่างกับเขาไม่ได้ ดังนั้นผมต้องทำความเข้าใจเขานะ ไม่ใช่โกรธ”
ตามปกติแล้วแต่ละโซนของโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดงจะมีบริกรที่รับผิดชอบแยกกันอย่างชัดเจน สำหรับโต๊ะที่เรานั่งกันอยู่วันนี้คนรับ-ผิดชอบคือพนักงานที่มีอายุงาน 6 ปี สุพจน์บอกผมว่าจำนวนปีเท่านี้ยังถือว่าน้อย เพราะด้วยความที่สาขาพระราม 3 เป็นสาขาแรกหลายคนจึงอยู่ที่นี่ไม่ต่ำกว่าสิบปี คนที่อยู่มานานที่สุดคือตั้งแต่เปิดร้าน หรือแม้กระทั่งคนที่เคยอยู่ออกไปอยู่ที่อื่น และกลับมาอยู่ที่โรงเบียร์ต่ออีกก็มี
ต้องรับมือกับความผันผวนทั้งปัจจัยภายนอกและภายในขนาดนี้ เขาไม่เหนื่อยบ้างเหรอ–ผมสงสัย
“ถ้าคุณเอาจริงเอาจัง อาชีพทำร้านอาหารคืออาชีพที่เหนื่อยมากๆ นี่เป็นธุรกิจที่คู่แข่งเยอะ ดังนั้นคุณจะอยู่นิ่งกับที่ไม่ได้ ถามว่าผมเหนื่อยไหม ผมเหนื่อยอยู่แล้ว แต่ผมไม่ได้ทำทุกอย่างนี้ด้วยตัวคนเดียว ผมมีทีมที่ดี ความสุขของพวกเราไม่ใช่แบบระเริงชน แต่เป็นความสุขที่เกิดจากการทำงานอย่างเข้มข้น”
“มีคนมาปรึกษาคุณเรื่องการทำร้านอาหารบ่อยไหม”
“เยอะมาก ช่วง 5 ปีแรกมีแทบทุกวัน และเกือบทั้งหมดผมจะบอกว่าถ้าอยากรู้จริงๆ ลองมาฝึกงานกับผม 2 เดือน”
“มีคนมาไหม”
“ไม่เคยมี” สุพจน์ขมวดคิ้วก่อนตอบด้วยน้ำเสียงจริงจัง
“ผมคิดนะว่าถ้ามาทำงานกับผม 2 เดือนยังทำไม่ได้คุณจะเอาเวลาที่ไหนไปดูแลร้านวะ คุณฝันอยากมีร้านอาหาร แต่คุณไม่อยากลงแรงและอุทิศให้มัน คุณอยากมีร้านอาหารเป็นงานอดิเรกแค่นั้นน่ะหรือ หรือคุณอยากลงทุนให้คนอื่นบริหาร ผมถามหน่อยว่าคุณจะเอาเงิน 2 ล้านไปฝากผีฝากไข้กับคนอื่นเนี่ยนะ อย่าหาเรื่องเลย คิดดีๆ และเก็บเงินไว้เถอะ ไว้ตั้งใจทำจริงๆ ค่อยมาคุยกัน”
ผมไม่แปลกใจนักที่สุพจน์มักเตือนใครก็ตามที่อยากเริ่มต้นธุรกิจด้วยคำพูดเหล่านี้ เพราะก่อนหน้าก่อเกิดอาณาจักรโรงเบียร์ที่ประสบความสำเร็จ ในช่วงหนึ่งของหนังสือ เมื่อความจนเฆี่ยนตีผม ระบุไว้ชัดเจนว่าเขาเองเคยเป็นคนนั้น
เป็นชายหนุ่มวัยยี่สิบปลายที่นั่งร้องไห้คนเดียวกับขวดสุราในโรงงานร้าง
โรงงานที่เขาทำเจ๊งคามือ
แก้วที่สี่
ปี 2530 สุพจน์ที่เพิ่งเรียนจบจากมหาวิทยาลัยเริ่มต้นงานแรกในชีวิต คือการเป็นเจ้าของกิจการเสื้อยืดภายใต้แบรนด์ ‘แยมแอนด์ยิม’
ในฐานะเถ้าแก่ที่ยังหนุ่ม ไม่แปลกที่ใครหลายคนในตอนนั้นต่างมองว่าสุพจน์เริ่มต้นเร็วเกินไป แต่ด้วยความที่เขาช่วยกิจการทำเสื้อของแม่มาตั้งแต่ประถม นี่จึงเป็นสิ่งที่เขาถนัดที่สุด ยิ่งในตอนเริ่มต้นแยมแอนด์ยิมได้รับความนิยมติดลมบนภายในเวลาไม่กี่เดือน เงินจำนวนมหาศาลที่เข้ามายิ่งทำให้สุพจน์เดินหน้าเต็มกำลังด้วยความมั่นใจและพลังทั้งหมดที่เขามี
จากร้านแรกที่เกิดขึ้นในปีที่ก่อตั้ง หนึ่งปีต่อมาสุพจน์เปิดร้านที่สอง ตามมาด้วยร้านที่สามในปีถัดไป ไม่กี่ปีหลังจากนั้นเขาย้ายจากการทำเสื้อที่บ้านไปสู่โรงงานขนาดใหญ่เพื่อรองรับความต้องการที่มากขึ้น แยมแอนด์ยิมกลายเป็นแบรนด์เสื้อยืดขึ้นห้าง กิจการของเขาโตไปอย่างไม่หยุดยั้งโดยที่สุพจน์ไม่รู้ตัวว่ามีฝันร้ายรอเขาอยู่เบื้องหน้า
ไม่ถึง 2 ปีหลังจากที่สุพจน์ย้ายการผลิตไปที่โรงงานใหญ่ การก้าวไปข้างหน้าโดยไม่ระวังหลังทำให้ธุรกิจของสุพจน์มีเงินสดหมุนเวียนในระบบไม่มากพอ เงินจากเสื้อยืดที่ขายได้ไม่สามารถโปะงบดุลบัญชีให้เกิดกำไร รายรับที่น้อยลงสวนทางกับรายจ่ายที่มีแต่จะมากขึ้นทุกเดือน สุดท้ายสุพจน์ก็แบกรับสิ่งที่เขาสร้างมาไม่ไหว เขาตัดสินใจหยุดวงจรอุบาทว์โดยปิดกิจการแยมแอนด์ยิมเมื่อปี 2537
ในวันที่ก้าวออกมา เขามีหนี้สินติดตัวอยู่ 29.8 ล้านบาท
“แยมแอนด์ยิมเปลี่ยนชีวิตผม” สุพจน์เริ่มเท้าความให้ฟัง
“ผมขึ้นชกบนเวทีครั้งแรกโดยไม่รู้เหนือรู้ใต้ แม้ไม่ไร้เดียงสาแต่ตอนนั้นผมไม่รู้ว่าตัวเองเด็กเกินไปในการทำธุรกิจนี้ ผมมองโลกด้านเดียวเกินไป ดีก็ดีเกินไป เลวก็เลวเกินไป และผมถอยไม่เป็น ผมมีแต่ไปข้างหน้าโดยไม่สนใจรอบข้างแม้แต่น้อย สุดท้ายผมจึงล้มเหลว มันรุนแรงถึงขั้นล้มละลาย และไม่ใช่แค่กับเงิน แต่มันล้มละลายถึงภายในจิตใจ
“ผมโทษตัวเองหมด ในหัวผมเอาแต่คิดว่า ‘ถ้าวันนั้น กู…’ คิดวนไปซ้ำๆ ในวันนั้นผมก้าวต่อไปไม่ได้ ทุกอย่างพังทลายและยิ่งแย่ลงเรื่อยๆ ผมจมปลักและดำดิ่งอยู่กับความเศร้าของตัวเอง”
“ในหนังสือบรรยายว่าคุณร้องไห้อยู่คนเดียวในโรงงานร้าง ในตอนนั้นคุณคิด… ”
“ผมคิดฆ่าตัวตาย” สุพจน์ชิงตอบก่อนจะจบคำถาม “ในเวลานั้นผมไม่อยากทำอะไรแล้ว ผมยอมจำนนแล้ว ผมคิดถึงขั้นว่าจะฆ่าตัวตายยังไง หนึ่ง กูไม่ผูกคอแน่ๆ ไม่อยากชักกระแด่ว สอง กูไม่เอาปืนยิงหัวแน่ๆ เดี๋ยวเดือดร้อนคนข้างหลังอีกว่าเอาปืนมาจากไหน ดังนั้นต้องข้อสาม ผมคิดจะกินยานอนหลับแล้วตายไปซะ เพราะก่อนหน้านั้นเคยกินยานอนหลับเป็นสิบเม็ดและหลับข้ามวันมาแล้ว ผมคิดไปไกลขนาดนั้น”
“ทำไมสุดท้ายคุณถึงไม่ทำ” ผมถาม
ชายตรงหน้าผมเงียบไปพักใหญ่ก่อนตอบด้วยเสียงหนักแน่น
“ผมพบว่าตัวเองอยากมีชีวิตต่อ ผมอยากมีเวลาและโอกาสที่ได้พิสูจน์ตัวเอง ผมรู้ว่าภายใต้ความพ่ายแพ้มันเกิดจากความผิดพลาดหลายเรื่อง แต่ผมมั่นใจว่าทั้งหมดนั่นไม่ได้เกิดจากความเลว กูไม่ใช่คนเลว กูแค่อยากได้ใคร่มี อยากไปทางลัดและหาเงินเร็วๆ จนล้มเหลว กูพลาดแต่กูไม่เลว ดังนั้นผมขอแค่โอกาสที่จะมีชีวิตต่อ เพราะผมรู้ว่าผมยังทำได้
“ความล้มเหลวเป็นเรื่องลึกลับที่ไม่มีใครอยากเจอ แต่ถ้าต้องเจอคุณต้องคิดว่าจะลุกขึ้นมาได้ยังไง และเมื่อผ่านไปแล้วคุณต้องสรุปบทเรียนจากความล้มเหลวให้ได้ นี่เป็นเรื่องยิ่งใหญ่ของมนุษย์ เพราะถ้าคุณผ่านด่านเหล่านี้ได้ ความล้มเหลวนี่แหละจะทำให้คุณมีโอกาสประสบชัยชนะ
“ผมชอบเปรียบเรื่องนี้กับการประดาบ ครั้งแรกที่คุณชักดาบออกมาประลองยุทธ์คุณอาจแพ้ แต่เชื่อเถอะว่านั่นจะทำให้คุณรอบคอบขึ้นในครั้งต่อไป คุณจะรู้ว่าจุดอ่อนของตัวเองอยู่ตรงไหน ที่สำคัญคือดาบน่ะยิ่งใช้ยิ่งคม ยิ่งประลองยุทธ์คุณยิ่งก้าวอย่างระมัดระวัง อะไรแบบนี้กระมังที่เป็นเหมือนแส้บางๆ ที่เฆี่ยนตีผมให้ตื่นตัวตลอดเวลา หลังจากนั้นพอผมได้มีโอกาสเริ่มทำโรงเบียร์ ผมถึงทำด้วยความรู้สึกว่าตัวเองต้องยกการ์ดสูง คุณจะเรียกสิ่งที่ผมเป็นทุกวันนี้ว่าความละเอียดก็ได้ ความระวังตนก็ได้ หรือเรียกว่าความหวาดกลัวก็ได้ เพราะผมยอมรับว่าผมยังกลัวไปหมดจนถึงตอนนี้
“ถ้าให้คิดทบทวน ผมว่าที่ผ่านมาตัวเองล้มเหลวมากกว่าสำเร็จเยอะ น้อยคนจะรู้ว่าโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดงเคยเปิดสาขาที่ต่างประเทศแต่ต้องปิดไป เปิดสาขาในห้างก็เจ๊ง หรือผมเองเคยไปเปิดร้านอาหารฮ่องกงขนาดเล็กเมื่อไม่กี่ปีก่อน ร้านนั้นก็ล้มเหลวจนทำให้เงินผมหายไป 20 ล้านบาท วันที่เลิกกิจการผมยังมานั่งร้องไห้คนเดียวตอนตี 4 ท่ามกลางโต๊ะเก้าอี้ที่ขนมาเก็บอยู่เลย ผมล้มเหลวหลายเรื่องจนน่าตกใจ ตรงกันข้ามกับชัยชนะที่ในความเป็นจริงผมชนะแค่เวทีเดียวคือที่นี่
“ไม่เคยมีสักวันที่ผมคิดว่าตัวเองเก่ง เวลาใครชมว่าเก่งผมก็ไม่รู้สึกตาม เพราะผมรู้ดีว่าตัวเองล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงมาหลายเวที แต่เหตุนั้นแหละทำให้เวลาคนอื่นคิดสิบตลบผมต้องคิดร้อยตลบ เวลาคนอื่นคิดร้อยตลบผมต้องคิดพันตลบ ความล้มเหลวเป็นเหมือนเกราะที่ปกป้องผม ถ้าไม่แม่นยำ ไม่มั่นใจ ผมไม่ควักเงิน เพราะขนาดแม่นยำและมั่นใจผมยังมีโอกาสผิดพลาดเลย”
“อะไรคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้คุณลุกขึ้นมาได้ในแต่ละครั้ง” ผมสงสัย
“ดีเอ็นเอของผมมั้ง อดีตสอนให้ผมเป็นคนไม่ยอมแพ้”
แก้วที่ห้า
ก่อนหน้าที่เรื่องราวในโลกธุรกิจของสุพจน์จะเริ่มขึ้น โลกทั้งใบของเขาไม่ใช่สิ่งที่น่าอภิรมย์เท่าไหร่
ในวันที่คำนำหน้าของเขายังเป็นเด็กชาย สุพจน์เติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่ฐานะไม่สู้ดีนัก พ่อและแม่ของเขาต้องดิ้นรนปากกัดตีนถีบเพื่อเลี้ยงลูกทั้ง 5 คน แต่ความลำบากตรงนั้นเทียบไม่ได้กับบาดแผลทางจิตใจ ในช่วงประถมพ่อและแม่ของเขาต้องแยกทางกันเพราะปัญหาชู้สาวและการทำร้ายร่างกาย ในเวลานั้นสุพจน์รับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นทุกอย่างและเห็นเรื่องนี้เกิดขึ้นกับตา
“ตอนผม 8 ขวบ ผมจำได้ว่าทุกวันพุธคือวันที่ผมหวาดผวา ไม่รู้เพราะอะไรแต่ทุกวันพุธผมจำได้ว่าพ่อต้องตีแม่ คืนนั้นผมจะไม่หลับ ผมต้องแอบฟังเสียงพ่อเข้าบ้าน ฟังเสียงเขาขึ้นบันได เสียงเขาเปิดประตูเข้าห้อง เสียงขึ้นเตียง (เงียบคิด) และมันก็เกิดขึ้น ในตอนนั้นผมทำได้แค่บอกห้าม ผมทำอะไรไม่ได้มากเพราะยังเด็กเกินไป มันเป็นภาพหลอนจนถึงตอนนี้นะ ทุกวันนี้ลูกน้องในร้านจะรู้ว่าห้ามพูดตะโกนเสียงดัง ผมไม่ชอบ เพราะมันคล้ายกับเสียงที่ได้ยินในอดีต”
ไม่ใช่แค่เรื่องเสียงหรอก หลังจากเรื่องแย่ๆ ในวันนั้น สุพจน์ยังต้องรับมือกับบาดแผลวัยเด็กอีกหลายครั้ง ชะตาชีวิตพาเขา พี่น้อง และแม่ ออกมาเผชิญโลกด้วยต้นทุนที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดินโดยปราศจากเสาหลักของครอบครัวอย่างพ่อ
“พ่อผมแยกไปมีครอบครัวใหม่ ชีวิตช่วงนั้นโคตรลำบาก ผมต้องช่วยแม่ทุกอย่างในกิจการเสื้อ ครั้งหนึ่งบ้านเราเคยจนมากถึงขนาดต้องซื้อก๋วยเตี๋ยวชามหนึ่งกับเกาเหลาอีกชามหนึ่งมาแบ่งกันกิน 6 คน ผมได้กินแค่ถั่วงอกกับน้ำซุป หรืออย่างตอนเรียนมัธยมผมต้องหิ้วปิ่นโตไปกินข้าวเที่ยงที่โรงเรียนทุกวัน คุณรู้ไหม ผมแม่งเกลียดปิ่นโตอันนั้นฉิบหาย มันเป็นปิ่นโตอะลูมิเนียมที่ฝาปิดไม่สนิท น้ำข้าวต้มร้อนๆ จะกระฉอกออกมาใส่ขา และข้าวเที่ยงของผมมีแค่ข้าวต้มใส่ซีอิ๊วกับทอดมันสามชิ้น ไม่เคยมากกว่านั้น”
“ตอนนั้นเคยเบื่อชีวิตตัวเองบ้างไหม”
“มันไม่ใช่ความเบื่อ แต่เป็นการตั้งคำถามว่าพ่อแม่กูตัวจริงไปไหน สาเหตุเพราะตอนเด็กๆ พ่อแม่เคยแซวว่าเก็บผมมาเลี้ยงจากโรงขายถ่าน พอโตขึ้นแล้วลำบากมากๆ ผมจึงได้แต่คิดนิทานหลอกเด็กกับตัวเองว่าพ่อแม่ที่แท้จริงของผมคงรวย วันหนึ่งเขาจะมารับ เวลาเดินผ่านโรงขายถ่านแต่ละที ผมคิดตลอดว่าหรือจะเป็นที่นี่วะ แต่มันก็เป็นความคิดที่ช่วยให้เราผ่านพ้นไปวันๆ แค่นั้น ผมเหนื่อยเท่าไหร่แต่สุดท้ายก็ต้องทน เพราะพอพ่อหายไปผมรู้ว่าเสาหลักของครอบครัวต้องเป็นพี่ชายคนโตอย่างผมแน่ๆ ผมต้องเสียสละ เพราะถ้าผมไม่ทำหน้าที่นี้คงไม่มีใครทำแล้ว”
บทบรรยายในหนังสือ เมื่อความจนเฆี่ยนตีผม เป็นหลักฐานยืนยันอย่างดีถึงสิ่งที่สุพจน์ทำ เขาเป็นเสาหลักของครอบครัวที่คอยช่วยแม่ในธุรกิจเสื้อและเริ่มหัดทักษะพ่อค้าตั้งแต่ตอนนั้น ความเสียสละของสุพจน์มีมากถึงขนาดที่ว่าครั้งหนึ่งเขาตั้งใจลาออกจากโรงเรียนเพื่อมาช่วยแม่ทำงานเต็มเวลา แต่เหตุการณ์นั้นไม่เกิดขึ้นเพราะแม่ของเขาร้องไห้ห้ามไว้ สุดท้ายพวกเขาค่อยๆ จับมือฝ่าฟันปัญหาและเริ่มลืมตาอ้าปากได้ในที่สุด
จนเวลาล่วงเลยถึงช่วงที่สุพจน์เข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย ตอนนั้นเองที่จู่ๆ พ่อของเขาก็กลับมา
“เรื่องราวเหล่านี้ส่งผลต่อคุณยังไงบ้าง”
“ถ้าพ่อเลี้ยวซ้ายผมเลี้ยวขวา พ่อทำอะไรผมทำตรงกันข้าม ผมถือว่าสิ่งที่พ่อเลือกคือผิดหมด เหตุนั้นทำให้ผมมีปัญหากับพ่อเยอะมาก บาดแผลในตัวผมที่เกิดจากพ่อมีมากเสียจนเหวอะหวะ ผมเคยอยู่ในจุดที่ต้องพาแม่ไปดาดฟ้าและหนีไปบ้านข้างๆ เพราะพ่อเอามีดไล่ฟัน คราวนั้นต้องไปขึ้นโรงขึ้นศาลและผมอายชาวบ้านฉิบหาย”
“สามารถเปิดเผยเรื่องพ่อของคุณในบทสัมภาษณ์ได้แค่ไหน” ผมถามเพื่อขอคำยืนยัน
“แล้วแต่คุณเห็นว่าสมควร เพราะพ่อผมจากไปแล้ว” สุพจน์บอกข้อเท็จจริงที่ผมไม่ทราบมาก่อน
“พ่อผมจากไปเมื่อปี 2560 แต่เขาเริ่มป่วยมาก่อนหน้านั้น 12 ปี ระหว่างนั้นผมเป็นคนดูแลและรับผิดชอบชีวิตพ่อมาตลอด ผมออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดและดูแลเขาอย่างดียิ่ง เคยมาย้อนคิดกับตัวเองเหมือนกันว่าผมคงทำไปเพราะอยากชดใช้กรรมที่เคยว่าเขา แต่ในวันที่เขาสิ้นลมผมไม่ร้องไห้ ผมเข้าไปกราบที่อกและจูบที่หน้าผาก ผมกระซิบบอกพ่อว่า ‘ขอบคุณป๊าที่ทำให้ผมเป็นแบบทุกวันนี้ เพราะถ้าป๊าไม่เป็นป๊า ผมไม่มีทางเป็นแบบนี้ได้’
“นี่ไม่ใช่การโยนบาปให้พ่อ เพราะทุกอย่างมันผ่านไปแล้ว บาดแผลทั้งหมดที่ผมมีเปลี่ยนแปลงเป็นฮอร์โมนชีวิตให้ผมเติบโต ผมกับพ่อคล้ายกับขนมจีนที่เจอน้ำยาที่แรงที่สุด ผมกล้าพูดว่าผมเป็นแบบนี้ได้เพราะอดีตที่ผ่านมา
“การที่ผมรู้สึกว่า ‘ตัวเองไม่เก่ง แต่ต้องเก่งขึ้น’ ก็เพราะผมเจอเรื่องนี้มา หรือการที่ผมชอบช่วยเหลือคนอื่นก็เพราะตอนนั้นไม่มีใครช่วยเหลือผม แม้แต่เรื่องที่ผมมักช่วยคนใกล้ตัวก่อนคนไกลตัวก็มาจากการที่ผมเห็นว่าพ่อดีกับทุกคนยกเว้นครอบครัวตัวเอง ลามไปจนถึงเรื่องเล็กๆ อย่างการที่ผมยังชินกับการกินข้าวต้มราดซีอิ๊ว และชอบกินก๋วยเตี๋ยวแบบสั่งพิเศษ นี่ก็น่าจะใช่เหมือนกัน ทั้งหมดนี้ล้วนเกิดจากปมและบาดแผลทั้งนั้น
“อดีตเฆี่ยนตีผม และตัวตนของผมไม่ได้หล่นมาจากฟ้า”
แก้วที่หก
“ผมจะเล่าเรื่องสุดท้ายให้คุณฟัง”
ในช่วงท้ายของการสนทนา สุพจน์เกริ่นนำกับผมด้วยประโยคนี้ก่อนจะยื่นโทรศัพท์ของเขาให้ผมดู บนหน้าจอปรากฏรูปของสุพจน์ในชุดเสื้อกันหนาวยืนถ่ายรูปคนเดียวอยู่หน้าป้ายตัวอักษรภาษาญี่ปุ่นและภาษาอังกฤษที่มีคำว่า ‘University’
“ผมเพิ่งไปญี่ปุ่นมา และวันสุดท้ายก่อนผมกลับ ผมเดินทางไปตามหามหาวิทยาลัยที่น้องชายผมเคยเรียน น้องผมเป็นคนเรียนเก่งมาก เขาสอบชิงทุนไปเรียนที่ญี่ปุ่นได้ตั้งแต่ปริญญาตรีจนจบดอกเตอร์ที่มหาวิทยาลัยนี้ แต่ผมเคยถามเขาว่าไม่อยากกลับไปเยี่ยมที่เรียนเก่าบ้างเหรอ เขาตอบว่าไม่ ผมไม่ได้พูดอะไรแต่เก็บความรู้สึกไว้ กลายเป็นว่าล่าสุดผมเพิ่งดั้นด้นไปที่นั่นมา โดยที่ตอนแรกผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าไปทำไม
“พอผมไปยืนอยู่หน้าป้าย ผมถามตัวเองนะ ว่ากูพยายามมาที่นี่ทำไมวะ ขนาดน้องชายผมยังไม่อยากมา แต่นี่ผมถามน้องจนรู้ว่าต้องนั่งรถไฟลงป้ายไหน เดินตามหาจนพบสถานที่ที่ผมจำได้ว่าเป็นหอพักของน้องผม ผมยืนมองมันและคิดอยู่นานว่าเพราะอะไร สุดท้ายผมก็ค้นพบคำตอบ
“นี่ผมไม่ได้มาที่นี่เพื่อดูร่องรอยน้องชายตัวเองนี่หว่า ผมมาเพื่อดูร่องรอยความยากจนของตัวเองต่างหากเล่า
“ในตอนที่น้องชายผมเรียนอยู่ที่นี่ ผมไม่เคยมาหาเขาได้เพราะผมไม่มีเงินทั้งๆ ที่ผมอยากมามาก หรือถ้าผมดันทุรังมาครอบครัวผมต้องเดือดร้อน น้องชายผมต้องลำบากมาดูแลอีก ผมเพิ่งมาบรรลุเรื่องนี้ตอนยืนอยู่หน้ามหาวิทยาลัยนั้นนั่นเอง ผมเพิ่งเข้าใจจริงๆ ว่าตอนนี้ผมเป็นเหมือนคนป่วยที่ต้องการการบำบัดแก้ปมในอดีต ฟังแบบนี้แล้วคุณว่าผมป่วยไหม”
ผมส่ายหน้าปฏิเสธเป็นคำตอบด้วยความสัตย์จริง ก่อนถามเขาถึงความรู้สึกในตอนนั้น
“มันกำซาบ เหมือนผมได้รู้รูปธรรมที่ชัดเจนที่สุดว่าอดีตหล่อหลอมผมยังไงบ้าง ที่ผ่านมาผมอาจเฆี่ยนตีและเรียกร้องจากตัวเองในหลายๆ เรื่อง แต่ในที่สุดวันนี้ผมก็หลุดพ้นจากความจนได้ ผมพาตัวเองมายืนอยู่ตรงนั้นได้ ดังนั้นกับทุกอย่างที่ผมเป็นผมรู้สึกว่าตัวเองเกิดมาคุ้มแล้ว ถ้าชีวิตผมเป็นภาพยนตร์หนึ่งเรื่อง มันคลุกเคล้าทั้งน้ำตา เสียงหัวเราะ เสียงร้องไห้ ความสำเร็จ และความล้มเหลว ทั้งหมดนี้ผสมกันหลากหลายรสชาติ และมันครอบคลุมสิ่งที่มนุษย์คนหนึ่งพึงพบ”
แก้วตรงหน้าเราสองคนพร่องเบียร์ไปนานแล้ว เข็มนาฬิกาบอกเวลาหนึ่งทุ่มตรง เป็นสัญญาณว่าการแสดงบนเวทีของโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดงกำลังจะเริ่มต้น มวลอารมณ์ของลูกค้าในร้านกำลังสนุกสนาน เสียงปรบมือดังขึ้นเป็นระยะ ผสมกับเสียงหัวเราะเฮฮาจากหลากหลายโต๊ะ
ผมถามคำถามสุดท้ายกับสุพจน์ก่อนที่เขาจะกลับคืนสู่อาณาจักรของตัวเอง
“ถ้าให้มองย้อนกลับไปในชีวิตทั้งหมด คุณพอใจกับที่ผ่านมาไหม”
“ผมใช้คำว่าตัวเองโชคดีดีกว่า ทุกวันนี้ผมโชคดีที่ได้ทำสิ่งที่อยากทำ มีทรัพย์ มีโอกาส มีจังหวะ และมีกำลังพอช่วยเหลือคนอื่น ข้างหลังผมอาจมีแผลเยอะ แต่แผลเหล่านั้นแห้งแล้ว อาจมีแผลเป็นหลงเหลืออยู่บ้าง แต่โดยรวมผมถือว่าตัวเองมีชีวิตที่ดี ไม่ใช่แค่เงินทอง แต่มันเป็นความรู้สึกคุ้มค่าที่ได้เกิดมา คุ้มค่าที่เคยจน คุ้มค่าที่เคยโดนแส้เฆี่ยนตี และคุ้มค่าที่ยืนหยัด
“ถามว่าทางที่ผมเดินมายากลำบากไหม ยากลำบากนะ แต่เฮ้ย ผมพบว่าทางนี้มีดอกไม้ข้างทางว่ะ ผมแวะชื่นชมและดมมัน ผมไม่เคยเดินในทางที่แห้งแล้งเป็นทะเลทราย เพราะอะไรรู้ไหม เพราะตัวเรานี่แหละคือคนที่กำหนดชีวิตว่าจะเดินในทะเลทรายหรือทุ่งดอกไม้ และไม่ว่าเลือกทางไหนมันจะหล่อหลอมให้เราเป็นเราแบบทุกวันนี้
“ชีวิตเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกทางเดินได้ สิ่งสำคัญคือผมซื่อสัตย์ต่อความเชื่อของตัวเองเสมอ ผมได้ลองทุกอย่างแล้ว ผมได้เดินและพิสูจน์ในสิ่งที่ตัวเองเชื่อทุกอย่าง ดังนั้นทุกวันนี้มันจึงเป็นความรู้สึกอิ่มเอิบ ผมไม่ต้องการอะไรอีกเพราะผมพยายามทำมันมาหมดแล้ว”
“บางทีอาจเป็นแค่การทำให้ต้มยำกุ้งจ๊าบขึ้น” ผมเสริมเขาก่อนเราจากกัน
สุพจน์หัวเราะเสียงดัง ก่อนจะตอบพร้อมรอยยิ้มบนใบหน้าแดงระเรื่อ
“และผมว่าผมทำได้แน่นอน”