“ยิ่งไม่มีหวัง ยิ่งต้องหาทางและทำงานหนัก” สนทนาภาษากวีกับปากกาของวรพจน์ พันธุ์พงศ์

Highlights

  • ก่อนที่เทศกาลบทกวี หรือ Nan Poesie 2 จะเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 1-2 กุมภาพันธ์นี้ ที่ห้องสมุดใจกลางเมืองน่านอย่างบ้านๆ น่านๆ เราก็แอบดอดไปหยิบปากกาของหนึ่ง–วรพจน์ พันธุ์พงศ์ มาคุยถึงงานครั้งนี้

Nan Poesie คืองานที่ หนึ่ง–วรพจน์ พันธุ์พงศ์ นักเขียนมากฝีมือ ปลุกปั้นขึ้นมาร่วมกับเพื่อนอย่าง ต้อม–ชโลมใจ ชยพันธนาการ เจ้าของพื้นที่ใจกลางเมืองน่านอย่างห้องสมุดบ้านๆ น่านๆ 

นักเขียนอย่างเขาจัดงานเทศกาลบทกวีขึ้นมาที่จังหวัดน่าน ที่อยู่อาศัยที่เขาเลือกปักหลักและเรียกว่าบ้านในปัจจุบันด้วยเหตุผลสั้นๆ ที่ว่า ‘เพราะไม่มีใครทำ จึงจำเป็นต้องทำ’

ในวันที่เขาวุ่นๆ กับการเตรียมงาน เราแอบชวนปากกาที่วางอยู่ข้างกายเขาเสมอมาคุยกันถึงงานครั้งนี้

“บทกวีอาจไม่ได้ช่วยอะไรคุณหรอก คุณต่างหากที่ต้องช่วยรักษาวงจรชีวิตของบทกวีไว้ เหมือนเสือน่ะ ไม่มีเสือ แปลว่าบ้านเมืองคุณไม่มีป่า ซึ่งถ้าไม่มีป่า คุณจะเอาน้ำ เอาอากาศบริสุทธิ์มาจากไหน”

ดูจากคำตอบที่แสนคมคาย ปากกาแสนธรรมดาด้ามนี้คงมีแววเป็นกวีได้ดีไม่แพ้นักเขียนหนุ่มผู้เป็นเจ้าของ

เล่าย้อนให้ฟังหน่อยว่าคุณมารู้จักและเป็นปากกาของวรพจน์ได้อย่างไร ในตอนนั้นเขาคลั่งไคล้ในบทกวีมากแค่ไหน

ผมนอนอยู่ในเซเว่นฯ เขามาถึงก็คว้าๆ มาขีดๆ และเดินไปจ่ายตังค์ ให้เดา ท่าทางเขาไม่พิถีพิถันเอาซะเลยกับดินสอปากกา ส่วนใหญ่ที่ใช้ๆ มามักเป็นของที่ญาติมิตรให้ด้วยซ้ำ เรื่องคลั่งไคล้บทกวีมากน้อยแค่ไหน กับเขา ใช้คำว่าเป็นอยู่ เห็นอยู่ น่าจะตรงกว่า

 

‘เป็นอยู่ เห็นอยู่’ ฟังดูคล้ายว่าเขามองสิ่งนี้เป็นเรื่องสามัญของชีวิต อย่างนั้นเขาเคยมีความคิดแวบมาบ้างหรือเปล่าว่าจะได้มาจัดงานเกี่ยวกับบทกวีอย่างในทุกวันนี้

ใครจะคิด ตามความน่าจะเป็น ระหว่างฟุตบอลกับบทกวี เขาน่าจะจัดการเรื่องแรกได้ดีกว่าด้วยซ้ำ

 

งานที่ว่านี้มีจุดเริ่มต้นอย่างไร ปากกาอย่างคุณช่วยแถลงแทนเขาทีจะได้ไหม

เพราะมันไม่มี น่านโปเอซีเลยเกิด เขาไม่ชอบเลยกับทุกการจัดการ อะไรที่ต้องดีลกับผู้คนจำนวนมาก ยิ่งคนจำนวนมากที่ว่าเป็นพวกนักเขียน กวี แต่ด้วยทนไม่ได้กับความไม่มีนั่นแหละ เขาจึงดิ้นรนทำจนมันมี

แต่พอเป็นคำว่า ‘บทกวี’ เราเลยติดภาพว่าคนคงมาร่วมงานอย่างนี้ไม่เยอะ ผลตอบรับในปีแรกเป็นอย่างไร ตรงกับสิ่งที่คาดไว้ หรือทำให้เขาพึงพอใจกับมันหรือเปล่า

แหม คุณ, เปตอง ยังไงปริมาณคนดูก็สู้ฟุตบอลไม่ได้หรอก แต่เมื่อรักจะเล่น เขาก็พยายามแจ้งข่าวถึงกลุ่มคนสนใจ ซึ่งน่าดีใจ ว่างานแรกประสบความสำเร็จมาก

 

เดาว่าเขาคงไม่แคร์กับจำนวนผู้เข้าร่วมงานเท่าไหร่นัก

แคร์สิ มากบ้างน้อยบ้าง ปริมาณสะท้อนคุณภาพอย่างไม่ต้องสงสัย เพียงแต่เราก็ต้องรู้ว่ามันไม่ใช่คำตอบเดียว

 

งั้นอะไรล่ะที่ทำให้วรพจน์เชื่อว่างานนี้จะไปต่อได้ ถึงขนาดจัดขึ้นเป็นปีที่ 2

ใบหน้าแววตาคนมาอ่าน คนมาฟัง และความรู้สึกชื่นใจของตัวคนจัด

ในงานครั้งแรก เราเห็นว่ากิจกรรมของงานนี้มีทั้งศิลปะและดนตรีมาเป็นส่วนผสม ดูเหมือนว่าคำว่าบทกวีของเขาจะแตกต่างออกไปจากที่ใครหลายคนคุ้นเคย นิยามคำว่าบทกวีของวรพจน์เป็นยังไง และทำไมถึงออกแบบกิจกรรมมาเป็นอย่างนั้น

บทกวีคืออะไรสักอย่างที่ทำให้ชีวิตดีขึ้น โลกน่าอยู่ขึ้น ส่วนการจัดงาน แท้จริงเขาสนใจศิลปะทุกแขนง ศิลปะที่ยืนอยู่บนฐานแห่งเสรีภาพ แต่เริ่มต้นและโฟกัสไปที่บทกวีก่อนเพราะตัวมันเล็กที่สุด เบาที่สุด และหากให้ปากกาอย่างผมคายความลับไปมากกว่านี้ก็อาจจะรวมเหตุผลว่ามันใช้เงินน้อยที่สุดเข้าไปได้

 

ในงานไม่เพียงเปิดพื้นที่ให้กวีมืออาชีพ แต่ยังเปิดให้มือสมัครเล่นเข้าร่วมอ่านบทกวีด้วย เขามีเกณฑ์ในการเลือกผลงานผู้เข้าร่วมงาน หรือมีจุดประสงค์อะไรจากกิจกรรมนี้ไหม

ง่ายมาก จุดประสงค์คือเปิดพื้นที่ เปิดโอกาส ส่วนเกณฑ์การคัดสรรวัดกันที่ความน่าสนใจ ใหม่ เข้มข้น หนักแน่น และหลากหลาย

แล้วงานในครั้งนี้จะแตกต่างจากครั้งแรกยังไง จะได้เจออะไรภายในงานบ้าง

แน่นอนการอ่านบทกวีคือเนื้อหาหลักของงาน ดนตรีและจิตรกรรมเป็นองค์ประกอบเสริมสนับสนุน ความแตกต่างอยู่ที่ตัวละครหน้าใหม่ๆ ที่ถูกคัดสรรเข้ามา กับตัวละครเก่าบางส่วนซึ่งยังผลิตงานที่ก้าวหน้า ต่อเนื่อง

 

พอเป็นงานครั้งที่ 2 ความคาดหวังของเขาเปลี่ยนไปจากเดิมบ้างไหม อย่างไร

หวังแค่ว่าจะจัดงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ทุกนาทีในงานมีความหมาย และสนุก

ในความคิดของคุณ บทกวีช่วยอะไรบ้าง ทำไมเราจึงต้องให้พื้นที่หรือพยายามหาที่ทางให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในบ้านเมือง

บทกวีอาจไม่ได้ช่วยอะไรคุณหรอก คุณต่างหากที่ต้องช่วยรักษาวงจรชีวิตของบทกวีไว้ เหมือนเสือน่ะ ไม่มีเสือ แปลว่าบ้านเมืองคุณไม่มีป่า ซึ่งถ้าไม่มีป่า คุณจะเอาน้ำ เอาอากาศบริสุทธิ์มาจากไหน

 

นอกจากว่าจังหวัดน่านจะเป็นถิ่นฐานที่อยู่ปัจจุบันของวรพจน์แล้ว ที่นี่มีองค์ประกอบอะไรเหมาะสมจะให้บทกวีหรือศิลปะเติบโตอีกหรือเปล่า

น่านดินดี และยังมีที่ว่าง มีน้ำ ฟ้า ป่า เขา โดยสรุปคือเหมาะกับการอยู่อาศัย เมืองที่เหมาะกับการอยู่อาศัยย่อมเอื้อต่อการก่อเกิดของความคิดสร้างสรรค์

หากมองเป็นภาพใหญ่ เรามีหวังแค่ไหนจะให้บทกวีหรือศิลปะเติบโตในบ้านเมืองนี้

ไม่มีหวัง แต่ยิ่งเห็นว่าไม่มีนั่นแหละ ยิ่งต้องหาทางและทำงานหนัก

 

หรือบ้านเมืองนี้ควรมีสิ่งใดงอกเงยขึ้นเพื่อสังคมอีกบ้าง

ไม่ต้องมีสิ่งใหม่ก็ได้ แค่สิ่งเก่าหรือคนเก่าๆ ต้องไม่เอาแต่จ้องล้างผลาญ ทำลาย รู้บทบาทหน้าที่ และอยู่ในตำแหน่งแห่งที่ควรอยู่ โตๆ กันแล้ว คงไม่ต้องให้ชี้นิ้วว่าใครบ้างไม่รู้บทบาทหน้าที่ของตัวเอง ในโลกสมัยใหม่

หากเข้าร่วม nan poesie 2 คุณคิดว่าผู้เข้าร่วมงานจะได้อะไรกลับไป

ได้อะไรกลับไป? มันอยู่ที่คุณคาดหวังว่าจะมาเอาอะไร ในนามของผู้จัด สิ่งหนึ่งที่พูดได้คือพื้นที่ เวลา และปรัชญาของ ‘น่านโปเอซี’ มันปลุกให้ตื่น ถามไถ่ และชี้ชวนให้สัมผัสความละเอียดอ่อน

 

สรุปสุดท้ายหน่อย คุณว่าสิ่งที่ทำให้วรพจน์ได้เรียนรู้ในการจัดงานนี้คืออะไร

เขาไม่ได้อยู่คนเดียว

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

ชีวิตต้องมีสีสัน