“ปลุกผู้คน ปลูกฝันสู่วันของเรา” บันทึกประวัติศาสตร์เพลงการเมืองคนธรรมดาของวงสามัญชน

Highlights

  • วงสามัญชน เกิดขึ้นจากการรวมตัวของสองนักกิจกรรมชูเวช-แก้วใสจากกลุ่มที่เริ่มเล่นเพลงมหาลัย ไปสู่วงดนตรีของนักกิจกรรม ขับเคลื่อนประเด็นสังคม สิ่งแวดล้อม พื้นที่ทำกิน สิทธิมนุษยชน และเปิดม่านวงดนตรีการเมืองอย่างเป็นทางการในวันที่ความฝันประชาธิปไตยปิดม่านลงหลังรัฐประหาร 2557
  • จนถึงวันนี้ สองเดือนของการชุมนุมทั่วประเทศ วงสามัญชนออกทัวร์มาแล้ว 19 วัน 24 การชุมนุม บทเพลงของสามัญชน, เราคือเพื่อนกัน, คนที่คุณก็รู้ว่าใคร น่าจะกลายเป็นเพลงที่คุ้นชินสำหรับคนที่เคยไปม็อบต่างๆ ในปีนี้
  • รวมบทเพลงของวงสามัญชน เสียงที่กล่อมเกลาอยู่หน้าศาลทหาร สถานีตำรวจ ปลอบประโลมและโอบกอดมวลชนในช่วงที่พวกเขารู้สึกสิ้นหวัง

วันที่ 16 สิงหาคม 2563 ทั่วท้องถนนราชดำเนินสว่างไสวไปด้วยแสงไฟจากโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งโบกไปมาตามจังหวะ บทเพลงของสามัญชน บนเวทีการชุมนุมของกลุ่มประชาชนปลดแอกบนสามข้อเรียกร้องหลักคือ หยุดคุกคามประชาชน, ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และยุบสภา

ก่อนการมาถึงของปี 2563 ปีแห่งการตื่นตัวทางการเมืองของคนวัยรุ่นวัยหนุ่มสาว ย้อนกลับไปปี 2557 ในวันที่หลายคนบอกว่ามืดมน โดยเฉพาะนักคิด นักกิจกรรมทางการเมืองทั้งหลายที่ถูกจับกุมและคุมขัง บทเพลงของสามัญชน คือเพลงที่วงสามัญชนอธิบายว่าเริ่มต้นจากการต้องการโอบกอด ปลอบขวัญ และให้กำลังใจในวันที่พ่ายแพ้

กี่ลมฝันที่พัดละอองโปรยอ่อนมาในกรงขัง คงเหน็บหนาวเงียบเหงาลำพังโปรดฟังเพลงที่เราร้องอยู่

บทเพลงของสามัญชน คือเสียงที่กล่อมเกลาอยู่หน้าศาลทหาร สถานีตำรวจ ปลอบประโลมและโอบกอดมวลชนในช่วงที่พวกเขารู้สึกสิ้นหวัง 

ย้อนกลับไป วงสามัญชน เกิดขึ้นจากการรวมตัวของสองนักกิจกรรม ‘ชูเวช-แก้วใส’ จากกลุ่มที่เริ่มเล่นเพลงมหา’ลัย ไปสู่วงดนตรีของนักกิจกรรม ขับเคลื่อนประเด็นสังคม สิ่งแวดล้อม พื้นที่ทำกิน สิทธิมนุษยชน และเปิดม่านวงดนตรีการเมืองอย่างเป็นทางการในวันที่ความฝันประชาธิปไตยปิดม่านลงหลังรัฐประหาร 2557 

จนถึงวันนี้ สองเดือนของการชุมนุมทั่วประเทศ วงสามัญชนออกทัวร์มาแล้ว 19 วัน 24 การชุมนุม บทเพลงของสามัญชน, เราคือเพื่อนกัน, คนที่คุณก็รู้ว่าใคร น่าจะกลายเป็นเพลงที่คุ้นชินสำหรับคนที่เคยไปม็อบต่างๆ ในปีนี้

ในช่วงเวลาที่แสงไฟในประเทศเริ่มถูกจุด เรานัดพบพวกเขาซึ่งประกอบไปด้วย เจ–ชูเวช เดชดิษฐรักษ์, แก้วใส–ณัฐพงษ์ ภูแก้ว, อาร์ม–ธนัญชัย ไกรเทพ, และ ฟิน–วิศรุต  ตันนพรัตน์ 4 จาก 7 สมาชิกวงสามัญชนเพื่อพูดคุยถึงบทเพลง ดนตรี ความฝัน ผู้ลี้ภัย รัฐสวัสดิการ และประชาธิปไตย

 

นิยามแนวเพลงวงสามัญชนเป็นแบบไหน

แก้วใส : สำหรับเราไม่ได้คิดเลย แค่อยากทำเพลงให้เข้ากับเหตุการณ์ก็เท่านั้น

อาร์ม : เรานิยามว่าเป็นเพลงที่มีเนื้อหาเพื่อชีวิตตรงกับศตวรรษที่ 21 ก่อนหน้านี้เราคุยกันเยอะมากว่าเพื่อชีวิตคืออะไร เป็นแนวดนตรีหรือแนวเพลงกันแน่ เราถกเถียงกันเยอะ พอถอดบทเรียนออกมาแล้วพบว่า เพื่อชีวิตคือเนื้อหา ไม่ใช่แนวดนตรี คือเพลงที่เกี่ยวข้องกับการเมือง สังคม เศรษฐกิจ ที่นี้แนวเพลงเราก็ปล่อย เป็นแนวไหนก็ได้ เป็นทั้งร็อก โฟล์ก เป็นป๊อปปูลาร์มิวสิก

ก่อนหน้านี้เรามีวงส่วนตัวที่ชื่อ ‘อมตะ’ เป็นวง Progressive Metal ดนตรีหนักและซับซ้อน เราเติบโตจากการเรียนดนตรี และการแข่งขันมาตั้งแต่มัธยมจนถึงมหาวิทยาลัย เราทำวงสามัญชนเพราะรู้สึกว่าเรามีจุดร่วมร่วมกันคืออุดมการณ์ เราอยากบันทึกยุคสมัยด้วยเสียงเพลง เราเห็นความอยุติธรรมในสังคมเราจึงอยากต่อต้าน และส่งเสียงด้วยเสียงเพลง นี่เป็นจุดที่ทำให้เรามารวมกัน

ถามว่าเพลงของวงสามัญชนกลมกล่อมและลงตัวไหม เรายังไม่แน่ใจเพราะเป็นการทดลอง เราลองมาตลอด ทำเพลงเพื่อชีวิตแต่ใช้ดนตรีเมทัลสมัยใหม่ หรือดนตรีร็อกสมัยใหม่ ฟังดูอาจทำให้นึกถึงเพลงของ ‘พี่ซัน–มาโนช พุฒตาล’ เราเอาสิ่งที่เติบโตมาผสมกับสิ่งที่เราเจอ จึงออกมาเป็นสิ่งที่คาดไม่ถึง

 

ทำเพลงให้สอดคล้องระหว่างอุดมการณ์และตลาดได้ยังไง

อาร์ม : เราถกเถียงเรื่องนี้กันอยู่ตลอดถึงบทบาทเพลงในการชุมนุมกับเพลงในตลาด ซึ่งส่วนมากเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับความรัก ความฝัน ซึ่งไม่แตะปัญหาเชิงโครงสร้าง 

เพลงในการชุมนุมถูกแต่งมาเพื่ออุดมการณ์หรือเป้าหมายบางอย่างโดยเฉพาะ ตั้งแต่สมัยก่อนจนถึงปัจจุบันก็ยังเป็นแบบนี้ แต่ปรากฏการณ์การชุมนุมของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันก็ทำให้เราเห็นว่าตลาดทั้ง 2 แบบ กำลังใกล้เคียงกันมากขึ้น มีเด็กนักศึกษาเอาเพลงของ ‘พี่ตูน บอดี้แสลม’ ไปร้องบนเวที ซึ่งที่มาของเพลงเราก็ไม่แน่ใจว่าสอดคล้องกับเป้าหมายของน้องนักศึกษาที่ร้องไหม นี่เป็นโจทย์ที่ทำให้เราต้องดูเรื่องน้ำหนัก เราอยากทำดนตรีให้ป๊อปมากขึ้น แต่ก็ยังต้องตั้งอยู่บนเรื่องที่อยากเล่า

แก้วใส : ช่วงแรกเราร้องเพลงไป พร้อมกับอธิบายเนื้อหาไป เพราะเพลงซ่อนนัยบางอย่าง บางทีก็ซ่อนเยอะเกินไป เราเลยต้องอธิบายบริบทของเพลงให้คนฟังอยู่เสมอ

เจ : เพลงยุคแรกๆ ของวงสามัญชนได้เรฟเฟอเรนซ์มาจากเพลงยุค 40 ปีก่อน เพราะตอนแรกกลุ่มเป้าหมายก็มีแต่ป้าเสื้อแดงที่มาม็อบ มีเยาวชนน้อยมาก มันไม่ได้ป๊อปเหมือนตอนนี้ พวกเรายังเป็นตัวประหลาดอยู่เลยตอนนั้น

 

อะไรทำให้วงสามัญชนสามารถพูดอุดมการณ์ของตัวเองได้

แก้วใส : ผมมองว่าตัวเองเป็นนักกิจกรรมที่เล่นกีตาร์ได้ร้องเพลงได้ก็แค่นั้น ไม่กล้าเรียกตัวเองว่าเป็นศิลปิน เพราะคำว่าศิลปิน ฟังดูแล้วเป็นคำใหญ่ สูงส่ง เราคงไม่ถึงขั้นนั้น

อาร์ม : เราไม่ได้วางตัวเองเป็นศิลปินด้วยซ้ำ เรามองตัวเองเป็นนักกิจกรรม เป็นนักดนตรี คำว่าศิลปินมักถูกนิยามว่าเป็นนักปราชญ์ เป็นอาชีพซึ่งสูงส่ง แต่สำหรับเรามองว่าศิลปินคือชนชั้นกรรมาชีพ เพราะไม่มีสวัสดิการอะไรจากรัฐที่ได้เลย มองว่าเป็นคนธรรมดาที่ผลิตงานศิลปะและอยากถ่ายทอดเรื่องราว ที่สำคัญคือศิลปะควรรับใช้ประชาชน

ฟิน : คำว่าศิลปินขึ้นอยู่กับคำนิยามของแต่ละคนว่ามองภาพนั้นเป็นแบบไหน ศิลปินควรทำอะไร ศิลปินบางคนเกิดขึ้นได้ด้วยกีตาร์แค่ 2 คอร์ด กับเนื้อเพลงที่กินใจ สำหรับผมมองว่าพี่แก้วใสก็สามารถเป็นศิลปินได้ ใครก็สามารถเป็นศิลปินได้ 

 

พวกคุณคิดเห็นอย่างไรกับประเด็นที่ศิลปินแสดงออกทางการเมือง

อาร์ม : ถ้าถามว่าศิลปินมีปัญหาไหมกับการแสดงออกทางการเมือง เราคิดว่ามีเยอะมาก พูดอย่างตรงไปตรงมา วงการศิลปินวงการดนตรียังมีสิ่งที่เรียกว่า ‘ระบบอุปถัมภ์’ คนที่ใหญ่โตกว่าไปทางไหน คนตัวเล็กกว่าก็ไหลไปทางนั้น ขัดแย้งไม่ได้ 

ฟิน : สำหรับคนที่ดังแล้วมีปัญหาแน่นอน เพราะเขามีวงมีสังกัดมีนายทุนนายจ้าง

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือการมาถึงของความนิยมทางการเมืองแบบก้าวหน้าที่แมสมากขึ้น มีศิลปินที่ขายภาพลักษณ์ความก้าวหน้ามากขึ้น จะเป็นเนื้อหาหรือแนวเพลงอะไรก็แล้วแต่ สิ่งเหล่านี้ก็ต้องคอยดูและคอยพิสูจน์กันต่อไปในอนาคต หรือต่อให้เชื่อแบบนั้นจริงๆ แต่ถ้าติดอยู่ภายใต้โครงสร้างแบบอุปถัมภ์ เขาก็ยังลำบากในระยะยาว

แก้วใส : ศิลปินนักร้องที่แมสมีข้อจำกัดแน่นอน เขาถูกบังคับด้วยตลาดซึ่งเป็นฐานคนฟัง การทำเพลงเพื่อแสดงออกซึ่งอุดมการณ์ทางการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีผลกับฐานเงินและผลงานแน่นอน แต่ก็ใช่ว่าเขาไม่อยากมา ก็มีศิลปินนักร้องที่เขาอยากมาร้องมาร่วมกับเรา แต่ติดสัญญาจากค่าย ติดข้อผูกพันอื่นๆ เขาบอกเราว่าอยากเป็นกำลังใจให้ วันก่อนก็มีศิลปินที่เขาโพสต์เรื่องการเมือง เรื่องสังคม ถึงขั้นให้คนจ้างยกเลิกงานได้ถ้าไม่เห็นด้วย สิ่งเหล่านี้กำลังขยับมากขึ้น ในขณะที่ศิลปินบางคนที่หากินกับเพลงแนวนี้ อุดมการณ์แนวนี้ตรงๆ แต่ถึงเวลาไม่ขยับเลยก็มี 

อาร์ม : ผมไม่ได้มองว่าทุนนิยมเป็นเรื่องเลวร้าย นี่เป็นเรื่องพื้นฐานของการทำงานดนตรี คือคนต้องอยู่ได้ อย่างเราไปเล่นส่วนมากได้แค่ค่ารถ บางงานค่ารถไม่มีเราก็ไปหาระดมทุนเอง ขายเสื้อ ขายของก็ว่ากันไป เราหาเงินเพื่อจะได้ผลิตเพลง และสื่อสารสิ่งที่เราอยากบอก แต่ขณะที่ทั่วไปกลับกัน

 

 

ในเชิงดนตรี เราจะนำเสนอเรื่องยากๆ ได้ยังไง อย่างเรื่องรัฐสวัสดิการ สิทธิมนุษยชน ใส่เข้าไปในเพลงยังไง เพราะเท่าที่เห็นบางคนก็ทำเพลงเหมือนกัน แต่เล่าไปไม่ถึงโครงสร้างปัญหา

แก้วใส : ไม่แปลก เพราะไม่ใช่ทุกคนที่มีโอกาสลงลึกและสัมผัสปัญหา บางคนเห็นปัญหาผ่านหน้าข่าว หน้าหนังสือพิมพ์ แต่พวกเราเริ่มต้นจากการเป็นนักกิจกรรม เราอยู่ในชุมชน อยู่ในม็อบ ถ้าผมเห็นประเด็นเหล่านี้ผ่านข่าว ผมก็แต่งได้ประมาณนั้นเหมือนกัน แต่จะดีกว่านั้นไหม ถ้าเขาลงมาในพื้นที่จริง ลงมาเห็นปัญหากับตาตัวเอง เขาจะเล่าเรื่องได้ลึกมากกว่านั้น

อาร์ม : อย่างชูเวชเป็นนักกิจกรรมมาก่อนนักดนตรี ส่วนผมเป็นนักดนตรีก่อน ฉะนั้นชูเวชจึงมีฐานไอเดียและความรู้เรื่องสังคมมากกว่า แต่ผมมีศัพท์ทางดนตรีมากกว่า เวลาทำเพลงเราจึงต้องมารวมตัวกันคิด เมโลดี้ของภาษาต่างกันระหว่างไทยกับอังกฤษ รัฐสวัสดิการภาษาอังกฤษคือ welfare state เวลาฟังทำนองจึงยาก เราทดลองกันไปเรื่อยๆ แต่หลักๆ คือพยายามทำให้คำพวกนี้เป็นเรื่องปกติ ผมเติบโตจากวง Pink Floyd หรือ Roger Waters เขาทำเพลงเรื่องการศึกษา เพลงสังคม ในคอนเสิร์ตเพลงแบบนี้ฮิตมากในประเทศเขา แต่เอาเพลงแบบนี้มาร้องในไทยถามว่าสาวจะกรี๊ดไหม นั่นเพราะเราไม่คุ้นเพลงแนวนี้

วิธีของผมคือแต่งเนื้อก่อนทำนอง หรือแต่งเนื้อพร้อมทำนอง ถ้าเป็นวิธีการทั่วไปคือ เขาจะแต่งทำนองเพลงให้เพราะก่อน แล้วจึงหาเนื้อมาใส่ แต่สำหรับเราทำยากมาก คำไม่ได้เข้าปากในทันที จึงใช้การเปลี่ยนคีย์ หรือทำเนื้อไปพร้อมทำนอง อุปสรรคคือไม่คุ้นชินกับภาษาแบบนี้ในเพลงมากกว่า เราก็ต้องทำงานในทางดนตรีมากขึ้น  

 

แล้วทำยังไงถึงจะฟังเพลงที่มีเนื้อหาการเมืองให้สนุก เข้าถึงง่าย

ฟิน : ง่ายที่สุดคือเราต้องไปอยู่กับมัน ผมก็เริ่มต้นจากการเป็นเด็กคนหนึ่งที่ไม่สนใจการเมืองมาก่อน แต่พอได้เริ่มเห็นปัญหา เราก็รู้ว่าบางเรื่องจัดการแบบปัจเจกไม่ได้ ต้องทำเป็นภาพรวม ทำในระดับรัฐ

อาร์ม : ที่เราสัมผัสได้ว่าบ้านเราเพลงส่วนใหญ่เป็นเรื่องความรัก เพราะคนมองว่าเข้าถึงง่าย ไม่ได้เป็นแต่วงการเพลงนะ ละครก็เป็น ภาพยนตร์ก็เป็น อย่างแม่ผม ถ้าเปิดเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสังคม เขาบอกว่าไม่ใช่เพลง เพลงของแม่คือเพลงละคร ท้ายสุดเราไม่ได้ปฏิเสธเพลงรัก แต่คิดว่าควรมีโอกาสให้เพลงแบบอื่นเติบโตขึ้นในสังคมบ้าง   

 

 

เวลาคนพูดว่าดนตรีเปลี่ยนโลกหรือเปลี่ยนสังคม คุณเชื่อในคำนี้ไหม

อาร์ม : ผมไม่ฟันธง ตอนหัดฟังเพลงแรกๆ เราเชื่อ แต่เดี๋ยวนี้ไม่แล้ว เพลงไม่สามารถทำงานในเชิงรูปธรรมได้ ยิ่งเป็นเนื้อหาลอย สันติภาพ ความฝัน แต่ไม่ได้พูดถึงนโยบาย เส้นทางและปัญหาก็ไม่มีทางเปลี่ยนได้ เราจึงอยากเอาวิธีการไปใส่ในเพลง ผมชอบบทสัมภาษณ์ของ ‘พี่โต ซิลลี่ฟูลส์’ เรื่องเพลงที่เปลี่ยนโลก พี่โตตอบว่าไหนหลักฐาน ไม่เห็นเปลี่ยนได้เลย “ถ้าเพลงดีทำไมร้องแล้ววัยรุ่นยังตีกัน”

ฟิน : ผมว่าถ้าช่วยกันคงเปลี่ยนได้ เพลงเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหน ศาสนาใด ชนชั้นนำ ใช้เพลงรณรงค์ความเชื่อของตน เพลงจึงมีเป้าหมายปลายทาง เราเป็นนักรณรงค์ที่ใช้เพลงเป็นเครื่องมือมากกว่า

แก้วใส : ผมเชื่อ ผมจึงทำการเปลี่ยนแปลง เพลงของผมเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง เคยใช้คำใหญ่ว่า “คนเปลี่ยนโลก” ผมไม่รู้ว่าจริงไหม ผมไม่เคยเห็นปลายทาง นั่นจึงเป็นความฝัน ซึ่งความฝันนั้นจะเกิดขึ้นจริงในสักวันแต่อาจไม่ใช่รุ่นผม แต่เราต้องไม่แค่ฝัน เราต้องทำด้วย นิยามว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง แต่จะเป็นจริงได้ไหมคงต้องทำ ทุกคนต้องออกมาช่วยกัน ศิลปินต้องออกมาช่วยกัน

เจ : เพลงเปลี่ยนได้ เพลงเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังของผู้มีอำนาจมาตลอด ศาสนาทุกศาสนามีบทสวด มีอุปกรณ์ประกอบเสียง กษัตริย์ทุกพระองค์มีเพลงประจำตัว ชาติต้องมีเพลงประจำชาติ การหล่อหลอมระบบคุณค่าทางสังคมโดยไอเดียของการ propaganda คือการทำซ้ำ แรกๆ คุณอาจไม่ชอบ พอเริ่มฟังซ้ำๆ ซ้ำจนชินชา เริ่มเกิดความคุ้นเคย ยินยอม และยอมรับ เพราะฉะนั้นการทำซ้ำมันทำให้คนยอมรับ ถ้าคุณอยากขายไอเดียเรื่องคนเท่ากัน การเคารพความแตกต่าง คุณก็สามารถส่งเนื้อหานี้ซ้ำๆ ได้ 

ทำไมบางคนถึงสบายใจกับการเปิดบทสวดระหว่างติดไฟแดง ทำไมถึงเปิดได้เรื่อยๆ โดยไม่ได้รู้สึกเหมือนกับว่าถูกสั่งสอน หรือถูกเลกเชอร์ เพราะเพลงก็มีความสามารถที่จะสอดแทรกอยู่ในจังหวะชีวิตทั่วๆ ไปได้ 

 

คิดว่าเพลงที่เกี่ยวกับสังคม การเมือง ไปอยู่ในบริบทอื่นได้ไหม ที่ไม่ใช่ม็อบ เอาไปฟังตอนรถติดได้ไหม

เจ : ควรเป็นแบบนั้น อย่างเพลง Zombie ของ The Cranberries ยังพูดถึงสงครามในไอร์แลนด์ เป็นเพลงสังคมที่พูดถึงคนที่ห้ำหั่นกันราวกับว่าเป็นซอมบี้ไม่มีจิตวิญญาณ ฆ่ามนุษย์ด้วยกันเอง หรือเพลง Another Brick in The Wall ของ Pink Floyd พูดถึงระบบการศึกษา ผมคิดว่าควรเป็นแบบนั้น อย่างเพลง วังวน ตอนแรกตั้งใจว่าจะแกล้งทำเป็นเหมือนเพลงรักด้วยซ้ำ

 

ในลิสต์เพลงการเมืองในอดีต มีเพลงไหนที่รู้สึกประทับใจบ้างไหม

เจ : เพลง สหาย ของพี่จิ้น กรรมาชน อีกเพลงคือ รักน้อง มันไม่ได้เป็นเพลงที่มีแต่อุดมการณ์ มันคือเพลงที่ผู้ชายคนหนึ่งแต่งให้กับผู้หญิงที่รัก แต่ต้องไปเรียนต่อเมืองนอกเพราะชีวิตการต่อสู้ทางการเมืองแล้วเลิกรากันไป  มันมีมิติเรื่องส่วนตัว เรื่องความสัมพันธ์ ผมคิดว่าสำคัญคือเรายังรู้ว่าเรายังเป็นมนุษย์ธรรมดาที่อ่อนแอได้ บอบบางได้ มันสำคัญกับการต่อสู้ เพราะว่าการที่เราคาดหวังจะให้เพื่อนๆ เข้มแข็งตลอดเวลาในการต่อสู้มันทำให้ขบวนพัง เพราะว่าไม่มีใครตอบสนองความคาดหวังระดับนั้นได้ตลอดเวลา การรับรู้ว่าเพื่อนๆ อ่อนแอได้มันจะมีจังหวะที่เราดูแลกันไง เพราะว่าการเมืองมันไม่ใช่แค่การต่อสู้รุ่นเดียวจบ ปีสองปีก็ตั้งม็อบมาใหม่ มันคือการต่อสู้ทั้งชีวิต

แก้วใส : อย่างผมชอบหลายเพลง ผมโตมากับเพลงเพื่อชีวิต อย่าวคาราบาว คาราวาน ถึงแม้ว่าตัวบุคคลจะเปลี่ยนไป แต่หลายเพลงก็ยังอยู่

เจ : หากศิลปินที่มีอุดมการณ์อีกแบบมาอ่านบทความนี้ ผมก็คิดว่าเขามีโอกาสที่จะเปลี่ยน ผมเองก็เคยคิดเห็นอีกแบบ เคยเป็นเด็กใต้ เด็กภูเก็ตที่โพกผ้าเหลือง อยู่ในม็อบ 5,000 คน และเป็นแกนนำพันธมิตรฯ ภูเก็ต ใครจะไปคิดว่าวันหนึ่งผมจะกลับไปที่ภูเก็ตแล้วก็ไปเป็นคนนำม็อบในตอนนี้ เราเคยเป็นคนที่คุกคามมาก่อน ผมเคยไปต่อยเพื่อนที่ความเห็นทางการเมืองไม่เหมือนกัน ไผ่ยังเคยไปต่อยเพื่อนที่เป็นเสื้อแดงมาก่อนเลย

 

มีอะไรอยากแนะนำคนรุ่นใหม่หรือใครก็ตามที่อยากทำดนตรีการเมืองเหมือนสามัญชนแต่ยังไม่มั่นใจในวิธีการที่จะเลือกและกังวลว่าการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเป็นเรื่องที่ไม่ดี

เจ : การพูดถึงความรักก็ยังเป็นเรื่องของการเมืองได้ เพราะการเมืองคือนิยามการตัดสินใจของสมาชิกในกลุ่มหนึ่ง คนเป็นแฟนกันทะเลาะกันว่าจะไปกินข้าวร้านไหนก็เป็นเรื่องของการเมือง วิธีการคุยให้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะก็ทำได้หลายวิธี ถ้าเป็นในแนวดิ่งก็จะเป็นเรื่องของการรวมอำนาจ กระจายอำนาจ อย่างเช่นเพลง เผด็จเกิร์ล (วง Tattoo Colour) ก็นำเสนอเรื่องนี้ บอกว่าอีกฝ่ายพูดอะไรไม่ได้เลย  

หรือถ้าเป็นในแนวราบก็จะเป็นเพลงที่พูดถึงเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง อย่างเพลง สวัสดีวันจันทร์ (ฟักกลิ้ง ฮีโร่) หรือ ยาใจคนจน (ไมค์ ภิรมย์พร) ก็เป็นเพลงแนวแกน z ที่เป็นแนวทางเลือกที่จะพูดถึงประเด็นสังคมอื่นๆ อย่างเรื่องคนพิการ เรื่อง authority เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องความเชื่อ มีทางเลือกเยอะถ้าจะพูดเรื่องการเมืองจากชีวิตประจำวันที่เจอจริงๆ ไม่จำเป็นว่าจะต้องพูดเรื่องระบอบศักดินาก็ได้ ผมว่าเริ่มจากการสำรวจชีวิตตัวเองว่าเจอเรื่องแย่ๆ อะไร จะมีพลังมากถ้าหากเราได้พูดเรื่องตัวเอง 

แก้วใส : ผมมองว่าเป็นเรื่องของการยืนยันความคิดผ่านการกระทำ อาจจะติดกรอบคนรอบข้าง เราก็ติด แต่เราต้องทะลุกรอบนั้นออกมา ก็ลองทำดูก่อนว่ามันจะเป็นยังไง เราก็ไม่ปฏิเสธว่ามันมีเงื่อนไข แต่ว่ามันก็ไม่ได้บังคับคุณจนต้องเกิดผลร้ายกับตัวเองขนาดนั้น เราแค่ชวนคุณตั้งคำถามแล้วก็ลองทดลองทำดู ค่อยๆ ขยับ ไม่จำเป็นต้องทันทีก็ได้ คนเราสามารถค่อยๆ เติบโตเรียนรู้ที่จะปฏิบัติได้ แล้ววันหนึ่งเราก็จะรู้วิธีการของมัน อย่างในสังคมทุกวันนี้เราก็เห็นแล้วว่าคนกล้าออกมาพูดมากขึ้นแค่ไหน 

ในเชิงของดนตรีมันจะต้องใช้ศิลปะด้วย มันก็เป็นมุมหนึ่งที่คุณสามารถแสดงออกได้ด้วยการใส่สัญลักษณ์ อาจจะช่วยให้กรอบที่ล้อมคุณอยู่มันเบาบางลง ผมคิดว่าทุกคนสามารถทำได้และเห็นด้วย เราต้องการให้ทุกคนออกมามากๆ ค่อยขยับจากเรื่องใกล้ตัวเรื่องประเด็นการศึกษา ครอบครัว สังคม ผมเองก็ไม่ได้เริ่มมาจากการเมืองโดยตรง ผมก็เริ่มมาจากการถ่ายภาพธรรมชาติ แต่งเพลงเกี่ยวกับธรรมชาติมาก่อนที่จะเป็นเพลงการเมือง

เพลงของสามัญชนเป็นเพลงที่บอกถึงปัญหา ทำให้เกิดข้อพิพาท แบบนี้จะถือเป็นเพลงที่ทำให้เกิดความไม่สงบหรือเปล่า

แก้วใส : ถ้าเป็นสังคมประชาธิปไตยมันจะทำได้ครับ มันมีการเห็นต่างอยู่แล้ว แต่ก็ต้องมีวิธีอยู่ร่วมกันที่ไม่ข้ามเส้นแค่นั้นเอง ถ้าความสงบจะเกิดขึ้น ผมว่ามันต้องเกิดจากความพอใจของทุกคน ไม่ใช่บอกให้พอใจว่าต้องอยู่แบบนี้ หรือพอใจแบบนี้ แล้วจงมีความสุข

เจ : ผมเห็นด้วยกับพี่แก้ว ความรุนแรงมันจะเกิดขึ้นเมื่อไม่มีพื้นที่ให้พูดคุย ความขัดแย้งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ การได้ถกเถียงกัน ได้ทะเลาะกับแฟน แต่เมื่อไหร่ที่มีคนหนึ่งบอกว่า “เออ อะไรก็ได้ เธอก็แบบนี้แหละ” บทสนทนาที่ทำให้คนไม่คุยกัน ก็นำไปสู่ความสัมพันธ์ที่มันแย่ลง ถ้ามองในภาพใหญ่ขึ้นเมื่อประชาชนบอกว่าหิว แล้วรัฐบาลบอกว่าให้ทำมาหากินเองสิ ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับรัฐบาลก็จะแย่ลง อาจจะเกิดอาชญากรรม การปล้นการจี้ตามมา

เมื่อเราไม่มีพื้นที่ให้พูดคุย มันก็จะทำให้เกิดความรุนแรงในสังคม เกิดการใช้กำลังของรัฐ เพราะอีกฝ่ายจะถูกมองว่าไม่เชื่อฟัง คนที่ไม่เห็นด้วยกับวงสามัญชนก็สามารถทำเพลงมาได้ว่าไม่เห็นด้วยยังไง อย่างน้อยก็มีพื้นที่ที่ไม่ใช่เป็นความขัดแย้งทางกายภาพหรือมาต่อยกันให้เกิดความรุนแรง ความขัดแย้งไม่ใช่ปัญหาและมันอาจนำเราไปสู่ข้อเสนอใหม่ 

 

คุณคิดเห็นยังไงกับการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ทุกวันนี้

แก้วใส : ดีแล้วครับ เขาก็ทำตามสิทธิเสรีภาพภายใต้รัฐธรรมนูญ ทำต่อไป

อาร์ม : ผมสนับสนุนเต็มที่ เราเห็นเด็กๆ รุ่นใหม่ปราศรัยกันด้วยเนื้อหาที่น่าสนใจ มองจากมุมผู้ใหญ่อาจจะคิดว่าเด็กๆ เหล่านี้ก้าวร้าว แต่ถ้าลองดูที่เนื้อหาจริงๆ เราจะพบว่าสิ่งเหล่านี้ก็ไม่ได้ไกลเกินกว่าประชาธิปไตย น้องทั้งประถมและมัธยมที่ออกมาพวกเขาต่างมีเป้าหมาย ทั้งๆ ที่รู้ว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองมันเสี่ยง

เจ : ผมเป็นแฟนคลับของการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ เรายินดีที่จะสนับสนุนทุกๆ การเคลื่อนไหว ถ้าเป็นเกม ROV เราจะเป็นโรมมิ่งให้คุณเอง

 

สุดท้ายถ้าวันหนึ่งการเมืองดี ปลายทางจะยังมีวงสามัญชนไหม

แก้วใส : คิดว่าไม่ต้องมีวงก็ได้ คิดว่าจบแล้วก็จบ แต่หลังจากนั้นจะกลายเป็นอะไรเราก็เดาไม่ออก แต่ภารกิจของเราที่เป็นงานวัฒนธรรมเพื่อรับใช้ขบวน เราจะปลดลง ผมไม่ได้อยากสถาปนาว่าต้องค้ำฟ้า เพลงมันมาแล้วก็หายไป เป็นเรื่องธรรมดา แต่คงอีกนานเลย (หัวเราะ)

อาร์ม : ส่วนเราคงกลับไปทำสิ่งที่รัก สิ่งที่อยากทำอย่างอื่น ถ้าโครงสร้างสังคมดี มีชีวิตและรัฐสวัสดิการที่มั่นคงเราคงหันไปดูเรื่องอื่น เรื่องชีวิต เรื่องความตาย

ฟิน : พี่แก้วใสเป็นคนที่มีเพลงรักเยอะมาก น่าสนใจมาก ไม่ใช่แค่การเมือง ผมรอฟังวันนั้นอยู่ วันที่พี่แก้วใสทำเพลงรัก

แก้วใส : แต่วันนี้เราคิดว่ายังคงต้องทำงานต่อ วงสามัญชนยังไม่หายไปไหน ถ้าจะหายไปก็มีอยู่สองสามเหตุผล ไม่ตาย ก็โดนจับ หรือหมดแรง

 

ถ้าวันหนึ่งถูกจับขึ้นมาจริงๆ พวกคุณคิดว่าสิ่งที่ทำมันคุ้มค่าหรือเปล่า แล้วกังวลบ้างไหม

อาร์ม : บอกเลยว่ากลัวครับ กลัวมาก แต่มันผิดปกติ ถ้าการแสดงออก เล่นดนตรี ถูกห้ามในยุคที่เขาบอกว่าเป็นประชาธิปไตย เราไม่รู้ว่าคนอื่นในสังคมจะรับรู้ถึงความผิดปกติเหล่านี้ไหมกับการที่เราต้องกลัวเพียงแค่เล่นดนตรี ผิดปกติหรือเปล่าถ้าต้องติดคุกในสังคมที่พยายามบอกและสอนเราว่านี่คือประชาธิปไตย

และเรื่องติดคุกส่วนตัวคิดว่าไม่คุ้ม ไม่มีใครอยากไปอยู่ในคุกหรอก แต่ถ้ามองแบบภาพรวมก็อาจจะนับว่าคุ้มก็ได้ ถ้าติดแล้วมีคนเห็นว่าสังคมไม่ยุติธรรม แต่การเล่นดนตรีแค่นี้เอาถึงคุกเลยเหรอ มันไม่ควรมีใครต้องติดคุกเพราะเรียกร้องประชาธิปไตยโดยสันติ 

เจ : ไม่มีใครแฮปปี้อยู่แล้วที่จะโดน แต่ถ้าถามว่ากังวลไหม ผมคิดว่ามันเลยจุดนั้นมาแล้ว เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าสักวันเราต้องโดน แต่ความเป็นจริงไม่มีใครสมควรโดนจับ มันแปลกๆ เวลาที่เราไม่ได้ทำผิดแต่ต้องโดนจับ ไม่มีความคุ้มค่าในการถูกลิดรอนสิทธิ เราอยากถามกลับไปยังคนที่ทำเรื่องเหล่านี้ว่าคุ้มค่าไหมกับโอกาสประเทศที่เสียไป

แก้วใส : จับไม่กลัว กลัวไม่จับ จับเราไปทำไม แค่ร้องเพลง ผมโกรธมากกว่า และรำคาญด้วย เบื่อ บ้าบอ ผู้ใหญ่แบบไหนกันชอบไล่จับเด็ก ตลก ส่วนเรื่องคุก ถ้าต้องติดผมคิดว่าไม่คุ้มหรอกครับ

ไม่มีใครควรจะติดคุกเพราะออกมาเรียกร้องให้บ้านเมืองนี้ก้าวหน้า

 

วงสามัญชน’s Playlist

บทเพลงของสามัญชน

แก้วใส : เพลงนี้เกิดขึ้นหลังช่วงรัฐประหาร เพื่อนเราถูกเรียกเข้าไปปรับทัศนคติในค่ายทหารตามประกาศคำสั่งของ คสช. เราซึ่งไม่รู้จะทำอย่างไร จึงร่วมกันแต่งและร้องเพลง หลังจากนั้นก็มีอีกหลายเหตุการณ์ทั้ง คดีเจ้าสาวหมาป่า, ดาวดิน และ 14 นักศึกษาชุมนุมต้านรัฐประหาร 57’ ที่ถูกจับหน้าหอศิลป์

เพลงเกิดจากความรู้สึกอึดอัด อยากระบายอยากให้กำลังใจ ชูเวชเป็นคนเขียนเพลง ผมช่วยเกลาเนื้อ อัดลงยูทูปและเฟซบุ๊กเพื่อให้กำลังใจเพื่อนๆ นักกิจกรรม ตอนนั้นเพื่อนๆ เชียร์ให้ใช้ชื่อ บทเพลงของสามัญชน เราเลยใช้ชื่อนั้น พอเพลงออกไปก็มีกระแสของกลุ่มนักกิจกรรมที่ออกมาร้องเพลงนี้กันหลายกลุ่ม

เจ : ตอนที่แต่งเรานึกภาพของคนที่อยู่ในกรงขัง จิตใจคงตุ้มๆ ต่อมๆ เต็มไปด้วยความรู้สึกกังวล ช่วงนั้นดู 12 Years a Slave ทำให้เห็นว่าคนผิวสีตอนที่ถูกขังพวกเขามีบทสวดที่ขอให้ผ่านเรื่องแย่ๆ ผมเลยคิดว่าน่าจะมีเพลงที่นักกิจกรรมนึกถึงเพื่อผ่านช่วงเวลาย่ำแย่ไปให้ได้  กลายเป็นท่อน “กี่ลมฝันที่พัดละออง โปรยอ่อนมาในกรงขัง” คิดว่าความย่ำแย่นั้นไม่ได้อยู่แค่ในกรงขัง คุณก็มี ผมก็มี เราทุกคนมีหมด

แก้วใส : เรารู้สึกดีที่เพลงออกมาช่วงนั้นเพราะหลังจากปี 53 เสียงของพวกเขาหายไปเลย ทั้งโดนปราบ โดนสลาย แถมถูกย้ำด้วยรัฐประหาร เราหวังให้เพลงเป็นเครื่องปลอบประโลมใจ ในจังหวะช่วงเวลานั้น เราไม่รู้ว่าจะสามารถทำอะไรได้ เครื่องมือที่เรามีและสิ่งที่เราทำได้ก็คือเพลง

เจ : ผมดีใจที่เพลงมันทำงาน   

 

เราคือเพื่อนกัน

เจ : ไอเดียเพลงนี้เราหยิบมาจากเพลง สามัญชนคนแม่กลอง เพลงที่พูดถึงปัญหาคนแม่กลองที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายผังเมืองและการจัดการน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมในขณะนั้น “เธอได้ยินเสียงกลองบรรเลงเธอจงกลับไปเรียกไพร่พล นี่คือห้วงทำนองคนสามัญชนคนแม่กลองอย่างเรา”  หลังเหตุการณ์ ‘14 นักศึกษาต้านรัฐประหาร’ ถูกจับ พี่แก้วใสหยิบมาปรับเนื้อใหม่ ตอนนั้น นิ้วกลม–สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ เขียนบทความถึงดาวดินที่ชื่อ ‘เราคือเพื่อนกัน’ และนักกิจกรรมก็ใช้กันมากกลายเป็นแฮชแท็ก เราจึงหยิบคำนี้มาใช้เป็นชื่อเพลง

แก้วใส : เราคือเพื่อนกัน เกิดหลังเหตุการณ์ที่ 14 นักศึกษาถูกจับที่หน้าหอศิลป์ เราเอาไปเล่นครั้งแรก ณ กำแพงประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เราอยากให้เพลงนี้เป็นเพลงที่ฟังแล้วรู้สึกอยากขับเคลื่อน ดนตรีจึงมีความไวมากขึ้น ให้ทำนองปลุกใจและปลุกเร้าคน 

 

ดอก 

เจ : ผมแต่งเพลงนี้ให้กับลูก หลังการแพ้ในประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญฯ 2560 “คงไม่มีคำขอโทษใดที่เธอจะให้อภัย กับสิ่งที่ฉันพลาดไปในวันที่เธอต้องการ” เรามองว่ารัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจไปอีก 20 ปี ยังไงพวกเขาก็ได้รับผลกระทบ เรารู้ว่าจะมีคนมีอำนาจไปอีกยาวนาน จนถึงวันที่ลูกเราเติบโตเป็นวัยรุ่น จนวันที่เขาทำงานเขาก็ยังต้องเจอ เรารู้สึกแย่ เนื้อหาของเพลงพูดถึงพ่อที่ทำดอกไม้ที่กำลังจะให้ลูกหายไป เราเปรียบสิ่งนั้นคือประชาธิปไตย

 

วังวน 

เจ : เราทำเพลงนี้เพราะอยากบรรยายถึงความรู้สึกของญาติและคนรักของคนที่ถูกอุ้มหาย โดยเฉพาะเรื่องราวของครอบครัว ‘นีละไพจิตร’ ที่สูญเสีย ‘ทนายสมชาย’ ไป เขาถูกอุ้มหายไปจากถนนใจกลางกรุงเทพฯ  มีรถวิ่ง มีคนเห็น แต่คนที่ยอมมาเป็นพยานคนเดียวคือสาวโรงงาน กลายมาเป็นท่อน “แด่ความลับที่ซ่อนเก็บไว้ในความทรงจำ แด่ทุกเสียงตะโกนในนั้นที่ต้องเงียบงัน” ความรู้สึกของญาติและเพื่อนของคนที่ถูกอุ้มหาย พวกเขาต้องทำเป็นไม่พูดอยู่นานแค่ไหน สิ่งเหล่านี้เป็นวังวน 

พี่ แบ๋น–ประทับจิต นีละไพจิตร ลูกสาวทนายสมชายเคยเล่าว่า เขาคิดว่าพ่อจะเป็นอย่างไร จะถูกจับใส่ถังไหม ถูกทำร้ายหรือเปล่า จินตนาการเกิดไม่มีที่สิ้นสุด วังวนความรู้สึกเหล่านั้นเกิดขึ้นกับญาติและคนรักของคนที่ถูกอุ้มหาย หรือคนในเหตุการณ์ 6 ตุลาก็ตาม พวกเขายังตกอยู่ในวังวนเหล่านี้ ลุงคนนึงที่รู้จักเล่าว่าจนถึงปัจจุบันเขายังไม่กล้ามองต้นมะขามสนามหลวง เพราะมองทุกครั้งก็นึกถึงวันที่เพื่อนของเขาถูกฆ่าต่อหน้าต่อตา ถูกแขวนแล้วฟาด  

ส่วนชื่อ วังวน ผมได้มาจากการดูหนังเรื่อง Miss Peregrine’s Home for Peculiar Children หนังที่เล่าเรื่องเด็กที่มีพลังวิเศษในบ้านหลังหนึ่ง พวกเขาใช้ชีวิตอยู่ในวนลูปเวลาก่อนเผชิญสงคราม ผมคิดว่าเขาพยายามเปรียบเทียบกับเหยื่อจากสงครามโลก ที่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไหร่ก็ตามแต่ พวกเขายังคงเจอสงครามในทุกๆ วัน ‘ธงชัย วินิจจะกุล’ ยังคงเป็นเด็กคนนั้นที่เห็นเหตุการณ์ที่เพื่อนถูกยิงในธรรมศาสตร์  เหมือนกันกับเรื่องอุ้มหาย เวลาหยุดนิ่งสำหรับเหยื่อ สำหรับญาติ และคนที่รัก 

 

ฝากรักถึงเจ้าผีเสื้อ

เจ : เพลงนี้เป็นเพลงที่เราทำให้เพื่อนที่ต้องโทษเนื่องจากแชร์บทความหนึ่ง ซึ่งทั้งที่บทความนั้นถูกแชร์ไปหลายพัน แต่มีสองคนที่เป็นเพื่อนเราโดน ‘112’ คือ การ์ตูนและไผ่ ส่วนหนึ่งเราคิดว่าสองคนนี้เป็นนักกิจกรรมทางการเมืองที่โดดเด่น คนนึงต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัย อีกคนกลายเป็นนักโทษ เราใส่ท่อน “สักวันหนึ่งเราจะกลับมาพบกับเพื่อนรัก” ตอนที่ร้องเราก็คาดหวังจะได้กลับมาเจอพวกเขาอีกครั้ง   

แก้วใส : จริงๆ เป็นเพลงที่เราแต่งไว้ก่อนหน้านั้นมานาน ก่อนที่จะหยิบมาใช้ ต้นแบบเพลงนี้คือเพลง เดือนเพ็ญ ลองนึกถึงภาพบรรยากาศที่คนอยู่กันคนละฝั่งโขง คนที่มองอยู่ฝั่งตรงข้ามและคิดถึงกันและกัน คิดถึงลูกคิดถึงเมียและญาติพี่น้อง คิดถึงมิตรสหายแต่ข้ามมาไม่ได้ ทำได้เพียงมองพระจันทร์และดวงดาว คิดถึงเพื่อนที่อยู่ต่างประเทศ อยู่ลาว อยู่เขมร และอีกหลายๆ ที่ 

เพลงนี้เราแต่งมาเป็นปีจนมาเจอไผ่ ดาวดิน เราจึงหยิบขึ้นมาใช้ เวลาไปเล่นในคอนเสิร์ต เพลงนี้เราร้องไม่ค่อยจบ ร้องไห้ตลอด เพราะตอนนั้นเพื่อนเราอยู่ในคุก

 

Can’t go back

แก้วใส : เราสนใจกระแสที่ UN ตัดความช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ช่วงนั้นเรามีโอกาสได้ฟังผู้ลี้ภัยทางการเมืองพูด บริบทโลกตอนนั้นมีทั้งผู้ลี้ภัยในซีเรีย โรฮิงญา รวมถึงนักโทษการเมืองไทยด้วยที่ต้องลี้ภัย ทั้งสยาม ธีรวุฒิ, สุรชัย แซ่ด่าน จึงเกิดเป็นเพลงนี้ ยิ่งเกิดเหตุกรณีคุณวันเฉลิม ยิ่งย้ำให้เราอยากทำเพลงนี้ให้ทันกับสถานกาณ์ 

เจ : มันเกิดจากภาพของชาวโรฮิงญา พวกเขาอาศัยอยู่ในรัฐยะไข่  ถูกคุกคาม ไล่ฆ่า ข่มขืน เผาบ้าน เลยต้องขึ้นเรือหนี บางคนมาที่ไทยก็ถูกกระแสโจมตี ไม่ต้อนรับ เกิดคำพูดที่บอกว่าน่าจะปล่อยให้ตายกลางทะเล เอาไปอยู่บ้านไหมล่ะ ทั้งที่จริงๆ แล้วงบประมาณการดูแลพวกเขาไม่ได้มาจากรัฐไทยเลย แถมยังเจอเรื่องขบวนการค้ามนุษย์ซ้ำ เพลง Can’t go back จึงสะท้อนคนที่ไม่สามารถกลับบ้านได้ เพราะไม่มั่นใจเรื่องความปลอดภัย แต่จะไปที่อื่นก็ไม่ได้ การได้ขึ้นฝั่งมันไม่ได้หมายความว่าจะรอด คุณอาจถูกขายเป็นแรงงานทาส โดนฆ่าเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่มีกฎหมายคุ้มครอง น่าเศร้าที่บางคนในสังคมไทยตอนนั้นพูดว่าอยากกำจัดคนเหล่านี้ ความเชื่อความศรัทธาแบบไหนที่ทำให้เราเกลียดพวกเขา

 

คนที่คุณก็รู้ว่าใคร

เจ : ตอนเด็กๆ ผมเป็นแฟนคลับ แฮร์รี่ พอตเตอร์ แล้วผมสงสัยว่าทำไมคนถึงไม่เรียกชื่อของ ทอม มาร์โวโล่ ริดเดิ้ล ตรงๆ เราเองก็ไม่เคยเรียกชื่อผู้มีอำนาจตรงๆ เหมือนกัน เราก็เลยคิดว่าเงื่อนไขการกำหนดคำเรียกมันก็เป็นภาพสะท้อนอำนาจทางวัฒนธรรมที่ถูกสร้างขึ้นมา และยังเป็นเพลงที่ด่าตัวเองตอนเด็กๆ ด้วยว่า เราก็มีความเชื่อจนไปล่าคนที่เห็นต่างเหมือนกัน

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

ชีวิตต้องมีสีสัน