แดดจัด น้ำแล้ง : ฟาร์มสเตย์ลึกลับกลางป่าน่านที่ใช้แดดและน้ำสร้างวิถีออร์แกนิกยั่งยืน

Highlights

  • ปุ้ม–จุฬาลักษณ์ ทิวกระโทก และ อั๋น–กุลชาติ โหวธีระกุล คือเจ้าของ ‘แดดจัด น้ำแล้ง’ สวนออร์แกนิกและโฮมเสตย์ที่ตั้งอยู่กลางป่าน่านในอำเภอเชียงกลาง พวกเขาคืออดีตคนเมืองกรุงที่พาตัวเองออกมาอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติและพึ่งตัวเองด้วยวิถีออร์แกนิก 
  • แม้จะต้องปรับตัวสูงมากในตอนแรก แต่พวกเขาก็ค่อยๆ ใช้เวลาเรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติด้วยความพอดี ไม่สุดโต่งจนเกินไป จนในปัจจุบันหลายๆ อย่างของ ‘แดดจัด น้ำแล้ง’ เริ่มอยู่ตัวแล้ว
  • ทั้งปุ้มและอั๋นเชื่อว่าสุดท้ายแล้วเราคือประชากรของโลก ถ้าเราอยากทำอะไรหรือใช้ชีวิตแบบไหน เราก็ควรทำ และถ้าเราทำตามแพสชั่นสำเร็จแล้ว คงจะดีไม่น้อยเลยที่เราจะขยับไปช่วยคนอื่น

ในการลงพื้นที่หาข้อมูลทำ a day 231 ฉบับ ‘Nan Journey’ ที่กำลังวางแผงอยู่ตอนนี้ ผมมีโอกาสได้พบ ปุ้ม–จุฬาลักษณ์ ทิวกระโทก และ อั๋น–กุลชาติ โหวธีระกุล แห่ง แดดจัด น้ำแล้ง ที่น่านในบ่ายวันหนึ่งที่แดดจัดมาก

จากข้อมูลที่ถามไถ่คนน่านหลายคน รวมถึงสิ่งที่เจอในอินเทอร์เน็ต ปุ้มและอั๋นคือเจ้าของ ‘แดดจัด น้ำแล้ง’ สวนออร์แกนิกและโฮมสเตย์ที่ตั้งอยู่กลางป่าน่านในอำเภอเชียงกลาง พวกเขาคืออดีตคนเมืองกรุงที่พาตัวเองออกมาอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติและพึ่งตัวเองด้วยวิถีออร์แกนิก ซึ่งวิถีที่ว่า พวกเขาทำมันด้วยตัวคนเดียวทั้งหมดตั้งแต่ปลูกบ้าน เลี้ยงชีพ อาหารการกิน และการใช้ชีวิต ใกล้เข้าสู่ปีที่ 5 แล้วที่พวกเขาพลิกผันชีวิตตัวเองขนาดนี้ 

หากฟังดูคร่าวๆ เรื่องราวของพวกเขานั้นน่าสนใจอยู่แล้ว แต่ประสบการณ์การเปลี่ยนผ่านเหล่านี้ทำให้พวกเขาเรียนรู้อะไรบ้าง การหันหน้าเข้าสู่ธรรมชาติและหันหลังให้กับชีวิตเมือง มันง่ายเหมือนกับที่คิดไว้ไหม–นั่นคือสิ่งที่ผมสงสัยจนพาตัวเองมาสนทนากับพวกเขา

ก่อนจะพบกัน ปุ้มโทรมาย้ำการนัดหมายกับผมด้วยประโยคที่ทำให้ผมเลิกคิ้วสงสัย

“มาตามกูเกิลแมปส์ได้เลยนะคะ พอถึงปากซอยแล้วเดี๋ยวออกไปรับ” 

สารภาพว่าผมแปลกใจอยู่เหมือนกัน เพราะเมื่อเปิดกูเกิลแมปส์ดู ผมไม่เห็นเส้นทางไหนที่ใกล้เคียงกับคำว่า ‘ซอย’ ที่อยู่ใกล้กับ ‘แดดจัด น้ำแล้ง’ ที่ปักหมุดไว้เลย มีเพียงถนนเส้นเล็กที่พาไปหยุดอยู่บริเวณข้างๆ ซึ่งอยู่ห่างจากที่หมายพอสมควร

การเดินทางไปหา แดดจัด น้ำแล้ง ของผมเริ่มขึ้นตอนนั้นนั่นเอง

“เราชอบเล็กๆ เงียบๆ น้อยๆ”

พอขับรถมาตามกูเกิลแมปส์ในบ่ายวันนั้นผมถึงได้เข้าใจ

ถึงโทรศัพท์จะแจ้งผมว่าถึงที่หมายแล้ว แต่หมุดสีแเดงบนหน้าจอกลับอยู่ห่างจากผมไปไกลอยู่เหมือนกัน และทิศทางของที่หมายที่ว่า มองไปก็เห็นแต่ป่าและยอดดอยที่กั้นวิวทิวทัศน์ไว้

ไม่นานนักปลายสายตาผมก็เห็นรถมอเตอร์ไซค์คันหนึ่งขับออกมาจากขอบเขา

“อ้าว นึกว่ามาคนเดียว ตอนแรกว่าจะให้ซ้อนท้ายเข้าไป ถ้างั้นต้องเดินอ้อมเขาไปหน่อยนะ บ้านเราอยู่ด้านหลัง ไม่ไกลมากหรอก” อั๋นกล่าวทักทายเราแบบนั้น ผมและช่างภาพได้แต่มองหน้ากัน และมองแผ่นหลังของอั๋นที่กำลังขับรถนำเราไป

เดินเท้า 15 นาที เราก็ถึงที่หมาย

แม้จะได้เหงื่อจากเส้นทางลาดชันของภูเขาอยู่บ้าง แต่เมื่อเห็นพื้นที่ทั้งหมดของแดดจัด น้ำแล้ง ความน่าสนใจและความร่มรื่นของภาพตรงหน้าก็ทำให้ผมและช่างภาพลืมความเหนื่อยไปอย่างรวดเร็ว

ถ้าจะให้แบ่งแดดจัด น้ำแล้งออกเป็นส่วน ผมคิดว่าที่นี่น่าจะถูกแบ่งออกเป็น 5 ส่วน

ส่วนแรกคือบ้านของปุ้มและอั๋นที่พวกเขาสร้างมันขึ้นมาเองกับมือด้วยงบไม่ถึงแสนบาท

ส่วนที่สองคือห้องทำงานของปุ้ม ห้องที่ผลิตภัณฑ์หลายๆ อย่างของแดดจัด น้ำแล้งเกิดขึ้นที่นี่

ส่วนที่สามคือที่ย้อมผ้าที่มีสีย้อมและผ้ากองรวมอยู่จำนวนมาก

ส่วนที่สี่คือสวนเกษตรที่พวกเขาปลูกพืชเพื่อกินอยู่และค้าขาย

และส่วนสุดท้ายคือกระต๊อบและเต็นท์ด้านหลังที่พอเข้าถึงฤดูท่องเที่ยว บริเวณนี้จะทำหน้าที่เป็นโฮมสเตย์ให้กับผู้ที่สนใจเข้าพัก

“เข้ามานั่งคุยกันในบ้านก่อนดีกว่าค่ะ เสร็จแล้วเดี๋ยวเราพาเดินดูแต่ละที่” ปุ้มผู้ที่รอเราอยู่ก่อนแล้วเชิญชวนให้ผมและช่างภาพเข้าไปนั่งสนทนากันในบ้านของพวกเขา

“ทราบมาว่าคุณเคยอยู่กรุงเทพฯ มาก่อน ทำไมถึงตัดสินใจย้ายมาอยู่กลางป่าแบบนี้” ผมไม่รอช้าเริ่มคำถามแรกและปุ้มอาสาตอบ

“ถ้าจุดเริ่มต้นจริงๆ คือต้องย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 10 ปีก่อนเลยค่ะ ตอนนั้นเราทำงานสายเกษตรอินทรีย์อยู่แล้วและได้มีโอกาสมาที่น่าน ครั้งนั้นเราได้เห็นทั้งภูเขา แม่น้ำแล้วประทับใจมาก และด้วยแผนของเราสองคน เราอยากย้ายออกมาจากกรุงเทพฯ เพื่อมาอยู่กับธรรมชาติอยู่แล้ว พอรู้ว่าพื้นที่ตรงนี้ขายและพอจะซื้อได้ เราก็มาดูและตัดสินใจซื้อ แต่เก็บไว้ตั้ง 4-5 ปีเลยค่ะกว่าจะได้ย้ายมา”

“จริงๆ แล้วเป็นความโง่เขลาเหมือนกันครับ” อั๋นเสริมบทสนทนาด้วยความเห็นทีเล่นผสมจริง

“ตอนนั้นเราชอบด้วยความที่ที่ตรงนี้มันเล็กๆ เงียบๆ น้อยๆ แต่การตัดสินใจแบบฉับพลันแถมไม่ได้คิดวิเคราะห์อะไรทำให้เกิดความลำบากเหมือนกัน ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ต้องมาเริ่มต้นในที่ที่ไม่มีถนน ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำประปา ไม่มีอะไรเลยสักอย่าง

“อย่างวันที่เรามาถึงครั้งแรก วันนั้นแดดแรงมาก บ่อน้ำเก่าในที่ดินนี้ก็ไม่มีน้ำสักหยด แห้งผากติดดิน มองไปรอบๆ ตัว ตอนนั้นก็แทบไม่มีอะไรเลย

“นั่นแหละครับคือเหตุผลที่เราตั้งชื่อที่นี่ว่า ‘แดดจัด น้ำแล้ง’”

“เมื่อการไปสุดทางมันไม่ใช่ เราก็ต้องปรับตัว”

นอกจากต้นทุนพื้นที่ที่ดูเหมือนจะติดลบ ตั้งแต่วันแรกที่ปุ้มและอั๋นย้ายมาอยู่ที่นี่ อุปสรรคน้อยใหญ่ที่คาดไม่ถึงก็เกิดขึ้นตามมาอีกมาก

ในแง่สังคม การที่ใครก็ไม่รู้จากแดนไกลย้ายมาอยู่กลางป่า เลี่ยงไม่ได้ที่พวกเขาจะถูกชาวบ้านในพื้นที่มองด้วยสายตาสงสัย บางคนก็เข้าใจว่าที่นี่เป็นเล้าหมู บางคนเข้าใจว่าปุ้มและอั๋นเป็นคู่รักฤาษี บางคนบอกว่าพวกเขาเป็นสายสืบ หรือหนักสุดคือบางคนตั้งแง่ว่าพวกเขาหนีคดีบางอย่างมา “ตำรวจเคยมาค้นบ้านและล็อกตัวเราด้วย” อั๋นกล่าวติดตลก แต่สุดท้ายแล้วด้วยความที่ทั้งคู่ไม่มีพิษมีภัย พวกเขาจึงเข้ากับชาวบ้านได้ในที่สุด

ปุ้มบอกกับผมว่าอะไรแบบนี้คือเรื่องเล็กน้อย เพราะอุปสรรคใหญ่จริงๆ คือการปรับตัวใช้ชีวิตในแบบที่พวกเขาคิดต่างหาก

“ในความตั้งใจแรก เราอยากมาอยู่ที่นี่โดยการทำแบบเกษตรอินทรีย์ร้อยเปอร์เซ็นต์ เรามาด้วยแพสชั่นล้วนๆ และไปจนสุดทาง แต่ด้วยศักยภาพและทักษะของเราสองคน เราได้ค้นพบว่ามันเป็นไปไม่ได้ ร่างกายเราไม่ได้ถูกฝึกมาให้ทำเกษตรหรืองานหนักได้ 6-8 ชั่วโมงเหมือนชาวบ้าน ทักษะด้านการใช้ชีวิตเราก็มีไม่พอ”

พอมาถึงตรงนี้ อั๋นยกตัวอย่างอธิบายให้ผมเห็นภาพถึงช่วงปีแรกที่พวกเขาย้ายมาอยู่ที่นี่ ทั้งคู่ไม่รู้เลยว่าพระอาทิตย์จะขึ้นไม่เหมือนกันในแต่ละวัน ราวตากผ้ากับแปลงผักที่พวกเขาตั้งใจทำก็ไม่โดนแดดอย่างที่หวังไว้ หรืออย่างน้ำป่าที่หลากเข้ามาในฤดูฝน ทั้งคู่ตกใจกันมากเพราะไม่เคยเห็นมาก่อน พวกเขารีบยกของหนีกันเสียวุ่นวายโดยที่ไม่รู้เลยว่าอีก 2 ชั่วโมงน้ำก็จะไหลไปที่อื่นแล้ว แม้แต่บ้านที่พวกเขาตั้งใจสร้างเอง พวกเขาก็ต้องมาค้นพบความจริงว่าตัวเองไม่ได้เข้าใจทักษะที่จำเป็น

ไฟฟ้ากระแสตรง-กระแสสลับคืออะไร เก็บน้ำฝนด้วยวิธีไหน และจะปั๊มน้ำขึ้นมาใช้อย่างไร ทั้งหมดเกิดเป็นคำถามที่ผิดแผนจากที่พวกเขาคิดไปมาก

“พอเจอแบบนี้แล้วรู้สึกอย่างไร” ผมถามทั้งสองด้วยความสงสัย

“เราไม่ได้รู้สึกลำบากนะ เราคิดแค่ว่าต้องปรับตัว” ปุ้มตอบเราด้วยน้ำเสียงจริงจังก่อนเล่าต่อ

“เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราเจอช่วงแรกทั้งหมดคือประสบการณ์ ถึงมีเรื่องที่ไม่ได้คาดคิดเยอะ แต่เราก็ไม่เคยตั้งคำถามกันว่าเรามาทำอะไรที่นี่ เราเข้าใจว่านี่คือช่วงเริ่มต้นที่เราต้องเรียนรู้ ปรับตัวและหาจุดพอดี

“ชุดความรู้หลักของเกษตรอินทรีย์ที่เราได้เรียนรู้มาคือต้องพึ่งตัวเองให้ได้ ดังนั้นสิ่งที่เราทำคือการเรียนรู้ว่าเราจะอยู่ด้วยตัวเองได้อย่างไร เราต้องรู้จักธรรมชาติตามฤดูกาล อย่างอาหารการกิน พออยู่มาสักพักเราก็เริ่มสังเกตว่าพืชแต่ละชนิดปลูกยังไง เห็ดหรือหน่อไม้ที่ขึ้นตามป่า อันไหนที่กินได้ หรือน้ำยาล้างจาน สบู่ แชมพู เราก็หัดทำเอง เหมือนเราค่อยๆ เปลี่ยนชีวิตให้ล้อไปกับวิถีธรรมชาติ

“แม้กระทั่งอย่างเรื่องค่าใช้จ่าย ช่วงแรกเราทั้งปลูกผักผลไม้กินเองและเอาไปขายแบบสดๆ แต่พอเราหักลบต้นทุนทุกอย่าง เรากลับอยู่ได้แบบพอกินไปวันๆ หนังสือที่อยากอ่านเราก็ซื้อไม่ได้ ดังนั้นเราถึงต้องเปลี่ยนวิธี เราหันมาเน้นแปรรูปผลิตภัณฑ์ เน้นการขายแบบส่งสินค้า และการทำตลาดออนไลน์ในเฟซบุ๊ก รวมถึงการที่เราเปิดบ้านให้มีกิจกรรมเวิร์กช็อป และต่อยอดจนเป็นโฮมสเตย์แบบทุกวันนี้ด้วย”

ถ้าดูจากความเป็นอยู่ของปุ้มและอั๋นในทุกวันนี้ต้องบอกว่าพวกเขาปรับตัวได้มากแล้ว พืชพันธุ์ในสวนหลังบ้านเป็นตัวอย่างที่ดีว่าพวกเขาเข้าใจความเป็นไปของธรรมชาติขนาดไหน ผลิตภัณฑ์ที่พวกเขาขายก็มีตลาดที่ตอบรับอย่างดี หรืออย่างโฮมสเตย์ แม้จะเปิดให้เข้าพักเฉพาะช่วงไฮซีซั่นแต่ที่นี่ก็มีทั้งลูกค้าขาจรและลูกค้าประจำ

ดูแล้วเหมือนแดดจัด น้ำแล้งกำลังเริ่มลงตัวทั้งในแง่ของสถานที่

และชีวิต

“โลกคือบ้านของเรา เราคือประชากรของโลก”

หลังจากนั่งคุยกันสักพัก ปุ้มและอั๋นก็พาผมและช่างภาพเดินชมสถานที่แห่งนี้ในภาพรวม

ระหว่างเดินไปด้วยกัน พวกเขาเล่าให้ผมฟังถึงเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเพิ่มเติม แต่ละเรื่องล้วนเป็นประสบการณ์ที่ถ้าไม่มาอยู่กลางป่าแบบนี้ เราคงไม่รู้เลยว่าธรรมชาติมีเสน่ห์และซับซ้อนยังไง เช่น ชมพู่ลูกเล็กแสนอร่อยที่ผมได้กินสดๆ จากต้น วิธีการขุดลอกทางน้ำให้เลี้ยงที่ดินทั้งผืน คลองที่ตอนแรกเหมือนจะเล่นน้ำได้แต่ก็มาค้นพบทีหลังว่าปนเปื้อนสารเคมี หรือสีย้อมผ้าธรรมชาติที่เกิดจากพืชที่ผมเพิ่งเดินผ่าน ทั้งหมดคือสิ่งที่ปุ้มและอั๋นได้เรียนรู้มาตลอดเกือบ 5 ปีที่แดดจัด น้ำแล้งแห่งนี้

“เราชอบชีวิตแบบนี้นะ ตื่นมาปุ๊บเราสามารถกินกาแฟ ทำอาหาร และทำงานของเราได้โดยเดินไม่กี่ก้าว ที่นี่ไม่เหมือนกรุงเทพฯ ที่เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการเดินทาง สิ่งเหล่านี้คือความสุข หรือการที่เราสามารถอยู่กับธรรมชาติโดยมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ อะไรเหล่านี้มันตอบโจทย์เรา” ปุ้มเล่าให้ผมฟังระหว่างเดินอยู่กลางสวน ก่อนที่ไม่นานเราจะกลับมาที่ตัวบ้านอีกครั้ง

“พออยู่นานๆ แล้วรู้สึกว่าที่นี่คือบ้านหรือยัง” 

ปุ้มและอั๋นนั่งคิดไม่นานก่อนที่อั๋นจะตอบ “เราไม่ได้คิดถึงอะไรแบบนี้ตั้งแต่แรกเลยนะ เราทั้งคู่รู้สึกว่าจริงๆ แล้ว พวกเราไม่ได้เป็นคนที่ไหนเลย เราเป็นประชากรของโลก เราไม่เคยมองว่าตัวเองเป็นคนน่าน เรารู้แค่เราเป็นคนของโลกนี้ที่อยากเป็นตัวเองให้ได้มากที่สุด”

หลังจากสนทนากันเสร็จ ผมและช่างภาพบอกลาปุ้มและอั๋นที่หน้าบ้าน แต่คราวนี้ปุ้มอาสาเดินอ้อมเขามาส่งเราที่หน้าปากซอยด้วย

ระหว่างทาง เราคุยกันอีกนิดหน่อยถึงวิวข้างทางและเมืองน่านในทุกวันนี้ที่เปลี่ยนแปลงไปพอสมควร จากป่าต้นไม้สูงในตอนแรกที่พวกเขามาถึง ปัจจุบันบางส่วนได้กลายเป็นไร่ข้าวโพดที่ใช้สารเคมี สิ่งนี้ตรงกันข้ามกับสิ่งที่ปุ้มเชื่อ แต่เธอก็ลงความเห็นกับผมว่าถึงหลายอย่างจะเปลี่ยนแปลงไป แต่ทุกอย่างยังแก้ไขได้ถ้าทุกคนมีสติและรู้ตัวมากพอ

“สำหรับเรา การอยู่ที่ไหนก็ตามมันไม่ได้ซับซ้อนนะ เราอยู่ที่ไหนเราก็ทำประโยชน์ให้ที่ตรงนั้น อย่างในกรณีของเรา อะไรที่พวกเราทำขึ้นมาเองไม่ได้ อย่างมะกรูดหรือผ้าทอ เราก็จะไปซื้อกับชาวบ้าน แต่จะซื้อแบบไม่ใช้สารเคมีเท่านั้นเพื่อส่งเสริมให้เขามีอาชีพและเข้าใจ

“เราเป็นนักพัฒนามาก่อน ดังนั้นอะไรแบบนี้ฝังหัวพวกเรามาอยู่แล้ว ในเมื่อสิ่งที่เรามีแพสชั่นสำเร็จแล้ว อะไรที่เราเขยิบไปทำหรือช่วยคนอื่นได้ เราก็จะทำโดยไม่รีบร้อน ปล่อยไปตามจังหวะที่ควรจะเป็น”

เดินไม่ทันจะหอบ ผมและช่างภาพก็กลับมาถึงรถที่เราจอดทิ้งไว้ ปุ้มร่ำลากับเราตรงนั้นพร้อมเดินกลับไปสู่ ‘แดดจัด น้ำแล้ง’ ที่ที่เป็นทั้งบ้าน ที่ทำงาน และโรงเรียนชีวิตของเธอ เราเองก็แยกย้ายเพื่อกลับสู่เมืองที่เต็มไปด้วยตึก ควันรถ และการเดินทางอีกครั้ง

ตอนนั้นแสงแดดยามบ่ายยังไม่หายไป ไอความร้อนยังคงระอุขึ้นมาจากผืนดิน แต่แปลกเหมือนกันที่ผมกลับรู้สึกไม่ได้ร้อนรนเท่ากับตอนขามา

เพราะยังไงเสียอีกไม่นาน ต้นไม้ที่กำลังแห้งกรอบก็จะชุ่มฉ่ำด้วยสายฝนแห่งฤดูกาลอีกครั้ง

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!