สูดกลิ่นธรรมชาติให้เต็มปอด โอบกอดและฟังเสียงกระซิบของสายลมที่ ‘Whispering Cafe’

Highlights

  • Whispering Cafe คือคาเฟ่แห่งใหม่ที่มีธรรมชาติโอบล้อมรอบตัว บริหารงานตั้งแต่หน้าร้านยันหลังครัวโดย ปิ๋ม–ศิริลักษณ์ ริ้วบำรุง พี่สาวของ วิทย์–ศิริวิทย์ ริ้วบำรุง นักจัดสวนชื่อดัง เจ้าของคาเฟ่ใกล้ๆ กันอย่าง Little tree 
  • ก่อนจะเปิดเป็นคาเฟ่แห่งนี้ ครอบครัวริ้วบำรุงใช้พื้นที่นี้เป็นที่รองรับต้นไม้ที่เพิ่มขึ้นใหม่ตามความต้องการของคนในครอบครัว เหตุเพราะพื้นที่บ้านและร้านเก่าอย่าง Litle tree รกครึ้มไปด้วยต้นไม้อายุหลายสิบปีจนไร้พื้นที่จะสะสมต้นไม้ใหม่
  • แต่มากกว่าคาเฟ่ สิ่งที่พวกเขาตั้งใจคืออยากให้ที่แห่งนี้ทำให้คนที่มาได้เจอกับความสุขใกล้ตัว
 

สำหรับคนที่โหยหาธรรมชาติอย่างสุดใจ หากมีเวลาว่างในวันเสาร์-อาทิตย์เข้าหน่อย เราจะหลบหนีเมืองกรุงไปที่ไหนได้อีก นอกเสียจากจังหวัดในละแวกใกล้เคียงอย่าง ‘นครปฐม’

แค่นึกภาพว่าตัวเองจะได้หายใจอย่างเต็มปอด ทอดสายตามองไปเห็นต้นไม้ใหญ่ ทุ่งหญ้าโล่งที่มีเหล่าแมลงน้อยใหญ่บินยั่วล้อกับดอกไม้หลากสี นั่งจิบเครื่องดื่มเย็นๆ ให้สายลมที่พัดมาเอื่อยๆ ค่อยๆ ซาบซับขับความร้อนออกจากร่างกาย แล้วละเมียดกินอาหารอร่อยๆ ขณะปล่อยตัวปล่อยใจฟังเสียงของธรรมชาติ

จะมีที่ไหนอีกที่เปิดโอกาสให้ภาพในฝันด้านบนกลายเป็นความจริง ที่ที่อนุญาตให้ธรรมชาติได้โอบล้อมเราอย่างเต็มแรง

จะมีที่ไหนได้อีก หากไม่ใช่ Whispering Cafe

เปิดสวนให้คนได้ใกล้ชิดธรรมชาติ

Whispering Cafe คือคาเฟ่ที่มีธรรมชาติโอบล้อมรอบตัว บริหารงานตั้งแต่หน้าร้านยันหลังครัวโดย ปิ๋ม–ศิริลักษณ์ ริ้วบำรุง พี่สาวของ วิทย์–ศิริวิทย์ ริ้วบำรุง นักจัดสวนชื่อดัง เจ้าของคาเฟ่ใกล้ๆ กันอย่าง Little tree

ก่อนจะมาเปิดเป็นคาเฟ่แห่งนี้ ครอบครัวริ้วบำรุงใช้พื้นที่นี้เป็นที่รองรับต้นไม้ที่เพิ่มขึ้นใหม่ตามความต้องการของคนในครอบครัว เหตุเพราะพื้นที่บ้านและร้านเก่าอย่าง Little tree รกครึ้มไปด้วยต้นไม้อายุหลายสิบปี จนไร้พื้นที่จะสะสมต้นไม้ใหม่

จากร่องสวนที่เจ้าของเก่าใช้ปลูกมะม่วงและฝรั่ง วิทย์ปรับพื้นที่ใหม่ให้ยั่งยืนกว่าของเดิมที่เป็นอยู่ ขุดบ่อ ขุดร่องสวนใหม่ไว้เป็นพื้นที่สำหรับกักเก็บน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมขังและน้ำเค็ม นำมาใช้ประโยชน์ในการรดน้ำต้นไม้ในอนาคต 

พืชพรรณที่คนในครอบครัวชอบก็ล้วนต่างกัน พื้นที่กว่า 9 ไร่ จึงละลานตาไปด้วยดอกไม้ใบหญ้าสารพัดชนิด ปิ๋มใช้พื้นที่ปลูกไม้ดอก วิทย์สนองความชอบด้วยการปลูกต้นไม้ที่ต้องการแดดจัดอย่างพืชทะเลทราย ส่วนพ่อกับแม่ก็รักในไม้ผลและพืชกินได้ 

ทั้งแคกตัส โอลีฟ สับปะรด กล้วย ส้มจี๊ด ตะขบ ดอกดาวเรือง ดอกดาวกระจาย มินต์ โรสแมรี และพืชพรรณอีกหลายต่อหลายชนิดที่เราไม่รู้ชื่อ จึงพากันแทรกตัวปลิวไหวไปตามสายลม อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขในพื้นที่แห่งนี้

หลังเดินชมสวนด้านนอกอยู่นาน กลับเข้ามาในร้านเพื่อชมความเขียวขจีของต้นไม้และการจัดแต่งสวนในบ้านฝีมือวิทย์ได้ไม่นาน เจ้าของผลงานและพี่สาวก็ว่างพอจะมานั่งพูดคุยร่วมโต๊ะกัน

วิทย์บอกให้ฟังว่าจริงๆ แล้วพวกเขาไม่ได้คิดอยากทำคาเฟ่เพิ่มขึ้น ความตั้งใจเดิมคือปิ๋มแค่อยากได้อาคารให้เด็กๆ ได้นั่งพักหลบแดดหลบฝนเวลามีการจัดค่ายกิจกรรมเด็กเท่านั้น

เหมือนจะลืมบอกไปว่านอกจากบทบาทเจ้าของร้านและคนทำขนมแห่ง Little tree แล้ว ปิ๋มยังรับหน้าที่เป็นครูสอนวิชาชีวิตให้เด็กๆ ในชื่อว่า ‘ค่ายจังหวะชีวิต’ เปิดสวนแห่งนี้ต้อนรับน้องๆ หนูๆ รุ่นเยาว์ ชวนกันมาเก็บไข่เป็ด เด็ดผักและผลไม้ในสวนมาทำเป็นอาหารและขนมกินกัน และบ่อยครั้งก็ชวนกันมาทำงานศิลปะจากธรรมชาติเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการ

ทำค่ายอยู่นานหลายปี เวลาเปิดตลาด ทำอีเวนต์ คนก็ถามตลอดว่าเมื่อไหร่จะเปิดพื้นที่ตรงนี้ให้เข้า จนในที่สุดปิ๋มก็เคลียร์วันว่าง ตัดสินใจเปิดสวน ทำเป็นคาเฟ่ที่เปิดเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ให้คนได้เข้ามาสัมผัสธรรมชาติที่เฝ้าดูแลไว้จริงๆ

ด้วยบรรยากาศ ด้วยตัวต้นไม้ ด้วยความร่มรื่น Little tree กับ Whispering Cafe มีความต่างที่ชัดเจนมาก เราปลูกต้นไม้อีกประเภทหนึ่งเลย เป็นแปลงดอกไม้ ต้นไม้ หรือแคกตัสที่ไม่ได้ให้ร่มเงามาก แต่สวยงามด้วยตัวมันเอง การออกแบบอาคาร การคิดคอนเซปต์เมนูทั้งหมดก็มีพี่ปิ๋มเป็นคนดูแล” วิทย์บอก พร้อมเล่าต่อถึงการออกแบบพื้นที่แห่งนี้

เพราะอยากให้อาคารเชื่อมโยงกับธรรมชาติได้มากที่สุด ตัวร้านที่เรากำลังนั่งพูดคุยกันอยู่นี้จึงถูกออกแบบและสร้างขึ้นมาเป็นอาคารทรงเรียบง่าย เน้นเจาะเป็นกระจกและหน้าต่างเป็นช่องแสงให้มากที่สุด เพื่อที่จะได้มีแสงธรรมชาติเข้ามา แถมเวลามองออกไปด้านนอกก็จะได้เห็นวิวสวนเชื่อมโยงกัน 

แค่ได้เห็นใบไม้สีเขียวเข้มตัดกันกับผนังสีขาวดูอบอุ่น เห็นใบไม้ปลิวไหวๆ อยู่ด้านนอก ใจคนมาเยือนก็คงเหมือนได้รับการฟื้นฟูดูแลโดยธรรมชาติ 

“ตอนแรกเราก็กังวลว่าสวนธรรมชาติด้านนอกจะร้อนเกินไป จนลูกค้าจะอยู่แต่ในห้องแอร์” วิทย์เล่าความกังวลในอดีตให้เราฟังด้วยรอยยิ้ม เพราะปัจจุบันพิสูจน์แล้วว่าสิ่งที่เขากลัวไม่มีทางเกิดขึ้นจริง

“ด้วยสี ด้วยรูปทรงของต้นไม้ในสวนมันคงมีเสน่ห์มากพอจะดึงดูดเขาได้” 

หยิบพืชผักมาปรุงเป็นอาหารตามฤดูกาล

แต่หากจะพูดเรื่องการอยู่กับธรรมชาติ เห็นทีในที่แห่งนี้คงจะไม่มีใครสู้ปิ๋มกับวิทย์ได้

ย้อนกลับไปสมัยทั้งคู่ยังเด็ก บ้านสวนคือที่ที่หล่อหลอมให้ความเป็นตัวเองของสองพี่น้องชัดเจนมาจนวันนี้ ทุกอย่างในสวนคือสิ่งที่สามารถนำมากินได้ทั้งหมด 

สมัยนั้นไม่มีของขบเคี้ยว ไม่มีร้านสะดวกซื้อ ขนมที่ได้กินจึงเป็นขนมที่แม่ทำ กล้วยบวชชีก็เก็บกล้วยจากในสวน น้ำกะทิที่ใช้ก็คั้นมาจากลูกมะพร้าวในท้องร่อง ถึงหน้าดอกโสนเมื่อไหร่ก็มีขนมดอกโสนให้กินจนอิ่มหนำแทบทุกวัน 

เพราะเรียนรู้สิ่งเหล่านี้มาแต่เด็ก ปิ๋มจึงซึบซับการเข้าครัวและการใช้วัตถุดิบจากสวนมาทำเป็นอาหารตั้งแต่ตอนนั้น และดูเหมือนว่าตอนนี้เธอกำลังถ่ายทอดสิ่งต่างๆ ออกมาเป็นเมนูอาหารที่ Whispering Cafe อีกที

“ทุกเมนูเราพยายามคิดและดูจากสิ่งที่เรามีในสวน มีกุหลาบ มีอัญชันก็เอามาทำเป็นเครื่องดื่มบ้าง หาพืชผักผลไม้มาวางเพิ่มอยู่ในจานสลัด ไม่ก็เอาดอกไม้กินได้ต่างๆ ไปตกแต่งจานเพิ่มความสวยงาม ใส่ไปเป็นส่วนผสมในเมนูได้สักอย่างสองอย่างก็ดีใจแล้ว” ปิ๋มหัวเราะ ไล่เรียงเมนูที่เธอเสิร์ฟให้ลูกค้าที่มาเยี่ยมเยือน

“อย่างช่วงนี้ในสวนมีสับปะรดเยอะ บางทีเราก็เอามาทำเป็นซัลซ่าสับปะรด หรือส้มจี๊ดที่ปกติจะมีตลอดทั้งปี ช่วงนี้มีมากหน่อยเราก็จะเอามาดองไว้เผื่อใช้ทำเครื่องดื่ม เอามาทำขนม แทนที่จะเป็นเลมอนเคิร์ดก็เปลี่ยนมาเป็นส้มจี๊ดเคิร์ดแทน 

การที่เราได้คิด ได้ลองเล่นว่าจะเอาสิ่งที่มีในสวนไปทำเมนูอะไรให้เข้ากัน ให้อร่อย ทำอาหารตามฤดูกาล ไม่ได้ฟิกซ์ว่าวันนี้ต้องทำเมนูนี้ หนึ่งปีผ่านไปก็ยังเหมือนเดิม ก็นับเป็นอีกเรื่องที่สนุกสำหรับเรา”

ฟังปิ๋มบรรยายสรรพคุณเพียงไม่นาน แอบลอบกลืนน้ำลายได้ไม่เท่าไหร่ พนักงานของร้านก็ยกอาหารเข้ามาเสิร์ฟ

เริ่มจากซุปเห็ดกลิ่นหอมละมุนที่มีรสชาติสุดล้ำลึก คาเปลลินีเส้นเรียวเล็กที่ใส่ไส้กรอกสูตรโฮมเมดฝีมือเพื่อนชาวโปแลนด์ อกไก่ย่างราดซอสอัลมอนด์และใบมินต์ในสวน ไข่เจียวกุ้งซัลซ่ารสชื่นใจ เพราะมีความสดชื่นจากหอม สับปะรด มะเขือเทศ และอโวคาโดใส่มาแบบจัดเต็ม ปิดท้ายด้วยสลัดผักที่มีลูกตะขบจากต้นหน้าร้านมาเป็นวัตถุดิบช่วยเสริมรส พร้อมน้ำสลัดสูตรพิเศษที่ปิ๋มผสมผสานเอาตะไคร้ ใบเตย บรั่นดี ส้มจี๊ด และวานิลลามารวมเข้าด้วยกัน 

ของคาวว่าละลานตาแล้ว แต่ของหวานที่เธอเตรียมมาก็ไม่ได้ถอยทัพ เหล่าเค้กสารพัดแบบกำลังรอเราไปเลือกสรรเลือกชิมเช่นเดียวกัน    

และแทนที่จะตอบคำถามของปิ๋มและวิทย์ที่คอยแวะเวียนสลับกันมาถามว่าอาหารรสชาติโอเคดีหรือเปล่า 

จานเกลี้ยงๆ สะอาดวับตรงหน้าเราคงทดแทนคำตอบได้ดีกว่า

เพื่อให้เห็นว่าความสุขเล็กๆ รายล้อมเราอยู่ทุกวัน

การที่เราทำธุรกิจคาเฟ่มาได้นานขนาดนี้คงเพราะองค์ประกอบทุกอย่างของร้านเกิดมาจากความเป็นเรานี่แหละ เพราะเป็นสิ่งที่เราทำ สิ่งที่เราสนใจ เลยทำให้มีลูกค้าเข้ามา” วิทย์ครุ่นคิดถึงคำตอบ เราชวนเขาถกหลังมื้ออาหารว่าเพราะอะไรธุรกิจคาเฟ่ที่เกิดขึ้นภายใต้ฝีมือของครอบครัวริ้วบำรุงถึงประสบความสำเร็จ  

“เราไม่ได้ศึกษาตำรามาร์เก็ตติ้งอะไรมาเลยก่อนเปิด Little tree ยุคแรกๆ ที่ทำยังเป็นทางลูกรัง ตัดทฤษฎีที่ว่าธุรกิจจะดีได้ต้องมีสถานที่ที่ดี ติดริมถนนอย่างที่เขาว่ามาออกไปได้เลย ตอนนั้นแหละเราเลยได้รู้ว่าบางอย่างก็ไม่ต้องใช้ทฤษฎีเสมอไป 

“เรียนรู้ด้วยการลองผิดลองถูกนี่แหละ ถามว่าตอนเปิดร้านแรกๆ คนมาเยอะตั้งแต่แรกเลยไหมก็ไม่ แต่เพราะเราทำอยู่กับบ้าน ไม่ได้มีค่าพื้นที่ ไม่มีต้นทุน ช่วยๆ กันทำกับครอบครัวโดยที่ไม่ได้คิดว่าการเปิดร้านจะทำให้เติบโตหรือมีชื่อเสียงอะไร เราทำไปในแต่ละวัน แล้วก็ค่อยๆ พัฒนาไป เหมือนได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ เกี่ยวกับการทำธุรกิจคาเฟ่นี้ไปขณะลงมือทำ” 

การเปิด Whispering Cafe ขึ้นมา และยังได้รับความนิยมเช่นเดียวกันกับร้านเก่าไม่ใช่เรื่องลำบากอะไรนัก แม้พวกเขาจะเคยมีฐานลูกค้าเดิมอยู่แล้วก็จริง แต่ถึงอย่างนั้นวิทย์ก็บอกว่าตัวเองและครอบครัวยังต้องพัฒนาธุรกิจต่อไป คิดเสมอว่าจะทำยังไงให้ฐานลูกค้าเหล่านั้นยังคงอยู่ ทำยังไงให้สามารถต่อยอดธุรกิจนี้ได้อีก 

“เรายังมองไปในเรื่องของธุรกิจบ้างนะ แต่พี่ปิ๋มนี่เขาจะมองไปในเรื่องของการใช้ชีวิตมากกว่า ไม่ได้มองเรื่องความเติบโต เขามองว่าทำร้านแล้วต้องมีความสุข ทำแล้วต้องไม่เกินกำลัง ร้านเราเลยไม่ได้เน้นการเติบโตที่รวดเร็วขนาดนั้น

“เรามองว่าชีวิตต้องสมดุล เรายังต้องการเวลาไปทำอะไรหลายๆ อย่าง อยากมีเวลาดูแลลูก มีเวลาทำเรื่องที่ตัวเองสนใจ เพราะถ้าเรามัวแต่เอาเวลาไปทำงานจนละเลยไป ชีวิตมันก็ไม่บาลานซ์”

มากกว่าจะคิดถึงเรื่องกำไรหรือขาดทุน ปิ๋มกลับอยากให้คนที่มาที่นี่ได้ใช้เวลาเดินดูดอกไม้ ซึมซับกับความสวยงามของมัน

“ได้หยุดวันเสาร์-อาทิตย์ เราก็อยากให้เขาพักจากการงานแล้วมาคอนเนกต์กับธรรมชาติ มาฟังเสียงนกในสวน ดูต้นกกริมบึงปลิวโล้ไปเวลาลมพัดมา 

“เราอยากให้เขาเห็นว่าเหล่านี้คือสิ่งสวยงามเล็กๆ ข้างทาง คือความสุขง่ายๆ ที่ไม่ต้องไปหาด้วยเงิน เป็นความสุขเล็กๆ ที่รายล้อมเราอยู่ทุกวัน”

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย

Video Creator

อภิวัฒน์ ทองเภ้า

เป็นลูกชายคนเดียวของพ่อแม่, เป็นศิษย์เก่านิเทศศาสตร์ ม.มหาสารคาม แต่เป็นคนอุดรธานี, เป็นวิดีโอครีเอเตอร์ ประสบการณ์ 2 ปี, เป็นคนเบื้องหลังงานวิดีโอของ a day และเป็นคนปลุกปั้นสารคดี a doc, เป็นคนนอนไม่เคยพอ, เป็นหนึ่ง คือ เป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่ง สรรพสิ่ง คือ ไม่เป็นอะไรเลย, ตอนนี้เป็นหนี้ กยศ. และรับจ้างทั่วไป [email protected]

ชาคริต นิลศาสตร์

อดีตตากล้องนิตยสาร HAMBURGER /ค้นพบว่าตัวเองมีความสุขและสนุกทุกครั้งที่ได้ทำงานภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว

นวภัทร์ นาวาเจริญ

วีดีโอครีเอเตอร์คนที่ชอบเดินจ่ายตลาด